คุณคงเคยได้ยิน หรือกระทั่งเคยใช้คำว่า Filter Bubble เพื่อพูดถึงปรากฏการณ์บนโลกออนไลน์
จากจุดกำเนิดแรกที่ Eli Pariser นักกิจกรรมประเด็นอินเทอร์เนตได้เสนอคำนี้ไว้ในปี 2011 ในหนังสือ ‘The Filter Bubble: What the Internet is Hiding From You’ ในสิบปีที่ผ่านมา คำคำนี้เติบโตขึ้นทั้งทางความหมายและความนิยม มันกลายสภาพจากคำที่ใช้ในวงนักวิชาการแคบๆ เป็นคำที่ใช้กันในวงกว้าง ใช้แพร่หลายในบทสนทนาระหว่างเพื่อนฝูง เช่น เราอาจเตือนเพื่อนว่า “อย่าอยู่แต่ในบับเบิล ให้ออกมาดูบ้างว่าคนอื่นเขาคิดยังไง” หรือในคอมเมนต์ตามโซเชียลมีเดีย เราก็เห็นว่ามักจะมีการอ้างถึงคำคำนี้อยู่บ่อยๆ (แต่ก็นั่นแหละครับ ผมอาจโดน Filter Bubble ให้เห็นแต่คำว่า Filter Bubble เองก็ได้!)
เหตุการณ์ในช่วงเกือบทศวรรษที่ผ่านมาทำให้เราเห็นปรากฏการณ์และผลลัพธ์ของตัวกรองฟองสบู่ชัดเจนขึ้น
เรารู้แล้วว่า เมื่ออัลกอริธึมพยายามเอาใจเรา ด้วยการเสนอแต่สิ่งที่เราชอบ และกรองสิ่งที่เราไม่ชอบ ไม่สนใจ หรือรังเกียจออกไปนั้น — ผลลัพธ์จะเป็นอย่างไรทั้งในเชิงปัจเจกและเชิงสังคมโดยรวม
ในเชิงปัจเจก นั่นอาจทำให้เราปิดกั้นสมองและหัวใจแน่นหนาขึ้น เราเปิดรับต่อความเห็นที่แตกต่างลดลง ซึ่งหากถอยออกมามองในมุมสังคมโดยรวม การที่เราเปิดรับความเห็นที่แตกต่างลดลงและเสพแต่ความคิดเห็นและข้อมูลที่สนับสนุนความเชื่อของตนนั้น ก็ยิ่งทำให้สังคมมีความสุดขั้วมากขึ้น รอมชอมกันน้อยลง อย่างเบาะๆ การที่เห็นไม่ลงรอยกันสักเรื่อง (“ถ้าไม่ใช่พวกเรา ก็ต้องเป็นศัตรู”) นั้น อาจทำให้สังคมจมปลัก ไม่ก้าวไปข้างหน้า แต่หากความสุดขั้วรุนแรงขึ้นไปกว่านั้น สังคมก็อาจเดินถอยหลังได้ด้วยซ้ำ
ปรากฏการณ์ตัวกรองฟองสบู่ไม่ได้เกิดขึ้นกับขั้วการเมืองฟากใดฟากหนึ่ง แต่อาจเกิดขึ้นได้กับทั้งฝ่ายซ้ายและฝ่ายขวา มันอาจเกิดในลักษณะต่อต้านกันระหว่างสองฟาก หรือต่อต้านกันภายในฟากเดียว (เช่น บางประเด็นที่เห็นไม่ตรงกันก็จะไม่รับฟังกันเลย แม้จะอยู่ในฟากโดยรวมเดียวกันก็ตาม)
คำถามคือ มีวิธีอะไรไหมที่จะช่วยให้กำแพงของเราบางและฟองสบู่ของเราจางลง มีเครื่องมืออะไรบ้างที่ทำให้เรา ‘เอาใจเขามาใส่ใจเรา’ ได้ง่ายขึ้น
ผมไม่ได้กำลังจะบอกว่าพวกเราควรเอาความปรองดองเป็นเป้าหมาย—แต่ประเด็นคือ เราจะรับฟังหรือเข้าใจคนที่มีความคิดแตกต่างจากเรา เพื่อให้เราขึ้นรูปความคิดของตัวเองได้อย่างสมบูรณ์ขึ้นอย่างไร
…
ในช่วงการเลือกตั้งสหรัฐอเมริกาที่ผ่านมา เคยมีผู้ทำการทดลองแสดงฟีดเฟซบุ๊กของคนที่ตั้งใจจะเลือกเดโมแครต กับคนที่ตั้งใจจะเลือกรีพับลิกัน ว่าทั้งสองฝ่ายรับสารแตกต่างกันอย่างไร ข่าวที่ทั้งสองฝ่ายเห็นย่อมแตกต่างกัน อาจจากทั้งความสมัครใจ (เช่น กดไลก์เพจที่เป็นสื่อที่เข้ากับความคิดของตนเองไว้) หรือเกิดจากอัลกอริธึม (เช่น กดไลก์เพจข่าวไว้ทั้งสองฝั่ง แต่ว่าฟีดโชว์ฝั่งที่เข้ากับความเชื่อของตัวเองมากกว่าเพราะมันเรียนรู้จากรสนิยม) ผลลัพธ์ที่ได้ค่อนข้างตื่นตา และทำให้เราเข้าใจได้ว่า ‘ภาวะทวิภพ’ มีอยู่จริง
ไม่นานมานี้มีความพยายามอีกครั้งหนึ่งบนแพลตฟอร์มที่ต่างออกไป TheirTube คือชื่อของโครงการนั้น
TheirTube (Their.Tube) คือ เครื่องจำลองตัวกรองฟองสบู่บนยูทูบ โทโมะ คิฮาระ เริ่มต้นโครงการนี้ด้วยความงุ่นง่านใจหลังถกเถียงกับเพื่อนที่คิดว่าภาวะการเปลี่ยนแปลงสภาพอากาศเป็นข่าวปลอม และ 9/11 เกิดจากการสมคบคิด เพื่อนคนนี้คิดว่าหน้ายูทูบของทุกคนโชว์ฟีดแบบเดียวกัน ทุกคนได้รับข้อมูลข่าวสารเหมือนกัน พอพวกเขาแลกเปลี่ยนหน้ายูทูบของกันและกันให้อีกฝ่ายดู จึงต่างตกใจมากที่ฟีดทั้งสองไม่เหมือนกันเลย นั่นเป็นจุดที่คิฮาระคิดได้ว่าเราควรมีเครื่องมือเพื่อกระแทกฟองสบู่ที่รายล้อมตัวเราโดยไม่รู้ตัว
บนยูทูบ อัลกอริธึมเป็นตัวขับเคลื่อนว่าเราจะเลือกดูอะไรมากถึง 70% และมันเป็นสาเหตุที่ทำให้ผู้ชมบนมือถือสามารถดูยูทูบติดต่อกันได้มากกว่า 60 นาทีโดยเฉลี่ย สถิตินี้กำลังบอกกับเราว่าอัลกอริธึมของยูทูปทำงานได้ดีมาก — อาจดีเกินไปด้วยซ้ำ
TheirTube จึงทำหน้าที่จำลองฟีดยูทูบของคน 6 ลักษณะขึ้นมาให้เราได้เห็น 6 ลักษณะที่ว่าประกอบไปด้วย: Fruitarian (ชาวกินผลไม้) Prepper (คนที่เชื่อว่าโลกจะแตกและเตรียมตัวพร้อมรับมือ) Liberal, Consevative, Conspiracist (คนที่เชื่อในทฤษฎีสมคบคิด) และ Climate Denier (คนที่ไม่เชื่อเรื่องการเปลี่ยนแปลงสภาพอากาศ)
ฟีดของคนทั้ง 6 นี้แตกต่างกันโดยสิ้นเชิง เช่นฟีดของ Prepper จะแนะนำวิดีโออ่าน ‘วิธีการสร้างบ้านไม้อย่างรวดเร็ว’ ‘มีดพับสวิสที่ดีที่สุด’ ‘หน่วย Navy SEAL / CIA พกอะไรในกระเป๋า’ ขณะที่ฟีดของ Conspiracist จะประกอบไปด้วย ‘การแหกคุกอัลคาทราซ’ หรือ ‘ความลับของวงการเครื่องสำอาง’
บนทวิตเตอร์มีโครงการคล้ายกันที่อนุญาตให้เรา ‘ลองเป็นคนอื่น’ ด้วยการแสดงฟีดของคนคนนั้นขึ้นมา (ตามรายการที่เขา follow) ในรูปแบบลิสต์ โครงการนี้ชื่อว่า Vicarously (https://vicariously.io/) น่าเสียดายที่ในขณะที่เขียนบทความนี้ Vicarously กำลังถูกระงับการเข้าถึงจาก Twitter ด้วยเหตุผลที่ว่า ‘ผิดเงื่อนไขการใช้งาน’
แม้โครงการในลักษณะนี้ไม่อาจแก้ปัญหา Filter Bubble ได้เด็ดขาด แต่อย่างน้อยมันก็ทำหน้าที่เป็นตัวย้ำเตือนให้เราเห็นได้ชัดเจนจะตาว่าทุกสิ่งที่เราคิดว่าเป็นสามัญสำนึก เป็นความเชื่อ ‘ปกติ’ และเป็นของตายนั้น — สำหรับคนอื่น มันอาจไม่ใช่อย่างนั้น