คุกกวนตานาโมยังมีอยู่ และโดนัลด์ ทรัมป์ เพิ่งลงนามให้คุกโหดแห่งนี้เปิดทำการต่อไป

โดนัลด์ ทรัมป์ เพิ่งลงนามในคำสั่งเปิดคุกกวนตานาโมต่อ เขาประกาศในการแถลงผลงานและนโยบายประจำปีต่อสภาคองเกรส  (State of the Union) เมื่อวันที่ 30 ม.ค. ที่ผ่านมา ในประกาศนี้ เขายังเติมข้อความสดๆ เพิ่มจากร่างที่ทีมงานเตรียมไว้ให้ด้วยว่า “ในอนาคต นักโทษคดีก่อการร้ายจะถูกส่งมาที่นี่”

คุกกวนตานาโมนี้ตั้งอยู่บนพื้นที่ 45 ตารางไมล์บนฐานทัพเรือสหรัฐฯ ในประเทศคิวบา เปิดทำการเมื่อปี 2002 ในสมัยของประธานาธิบดีจอร์จ ดับเบิลยู. บุช

ที่แห่งนี้เป็นที่คุมขังทั้งนักโทษและผู้ต้องสงสัยในคดีก่อการร้าย โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ผู้ต้องสงสัยจากเหตุการณ์ 9/11 คุกแห่งนี้เป็นเหมือนดินแดนแห่งฝันของเหล่านักสืบข่าวกรอง มีสิ่งอำนวยความสะดวกสำหรับปฏิบัติกับนักโทษในแบบที่ไม่ต้องอยู่ภายใต้กฎหมายสหรัฐฯ นักโทษที่ถูกคุมขังอาจต้องอยู่ที่นี่ไปเรื่อยๆ โดยยังไม่มีการพิจารณาคดี ไม่มีโอกาสได้พบญาติและทนาย

ในอีกด้านหนึ่ง ที่นี่ถูกมองว่าเป็นรอยด่างของสหรัฐอเมริกา เพราะเป็นที่ที่ละเมิดสิทธิมนุษยชนรุนแรง โดยเฉพาะการทรมานผู้ถูกกักกัน

แต่ทรัมป์เดินหน้าประกาศเปิดคุกต่อตามที่เขาหาเสียงไว้ก่อนเลือกตั้ง ซึ่งสวนทางกับนโยบายของอดีตประธานาธิบดีโอบามาที่พยายามจะปิดคุกแห่งนี้ให้ได้ภายในปีแรกที่เขาดำรงตำแหน่ง แต่ทำไม่สำเร็จ

อาจกล่าวได้ว่า นักโทษที่ถูกส่งไปอ่าวกวนตานาโมในช่วงเปิดคุกเมื่อ 16 ปีก่อน เป็นผลพวงมาจากเหตุการณ์ 9/11 ที่แห่งนี้เคยมีนักโทษราว 800 คน ก่อนจะถูกส่งตัวย้ายไปที่อื่น และเมื่อมาถึงยุคของโอบามา เขาก็สั่งย้ายนักโทษจำนวนกว่า 200 คนให้ออกจากคุกโหดแห่งนี้ แต่ยังคงเหลือนักโทษอีก 41 คนที่นี่

โดยล่าสุด ตลอดปีที่แล้ว (2017) ยังไม่มีนักโทษรายใหม่ที่ถูกส่งตัวมาที่นี่ เรียกได้ว่า แม้คุกจะยังดำเนินการอยู่ แต่มีการสร้างเงื่อนไขที่ทำให้การส่งตัวนักโทษมาที่นี่เป็นไปได้ยาก ในทางปฏิบัติ การพิจารณาว่าจะส่งนักโทษรายใหม่เข้าไป ต้องผ่านการพิจารณาจากคณะกรรมการที่แต่งตั้งในยุคสมัยของโอบามาก่อน

อย่างไรก็ดี การจะสั่งปิดคุกกวนตานาโมยังเต็มไปด้วยอุปสรรค โดยเมื่อปี 2015 สภาคองเกรสออกกฎหมายห้ามไม่ให้นักโทษจากอ่าวกวนตานาโมกลับเข้าสหรัฐฯ ซึ่งนั่นทำให้การปิดคุกในสมัยโอบามาทำได้ยากขึ้น ท้ายที่สุดแล้ว นักโทษที่อยู่ในคุกแห่งนี้ต้องถูกขังอยู่ที่นี่ตลอดชีวิต หรือมีคำสั่งทางกฎหมายให้ประหารชีวิต

กลับมาดูสถานการณ์ปัจจุบัน ทรัมป์เองแม้จะประกาศนโยบายแน่วแน่ว่าจะทำสิ่งตรงข้ามกับโอบามา คือรักษาคุกแห่งนี้เอาไว้ แต่นักวิชาการด้านกฎหมายมหาวิทยาลัยเท็กซัสที่ศึกษาเรื่องนโยบายการกักขังของกระทรวงยุติธรรมบอกว่า คำสั่งของทรัมป์ไม่มีอะไรใหม่ที่จะมาเปลี่ยนแปลงอุปสรรคทางกฎหมายและนโยบายได้ นี่คือเหตุผลที่ว่าทำไมจึงไม่มีใครถูกส่งตัวมาที่นี่เลยในปี 2017

อุปสรรคที่ว่าเกี่ยวข้องกับกลุ่มไอเอส กฎหมาย และระบบศาลทหาร

ทั้งนี้ การส่งผู้ต้องสงสัยไอเอสมาที่คุกกวนตานาโมจะมีความเสี่ยงทางกฎหมาย ต่างจากการส่งตัวผู้ต้องสงสัยอัลกออิดะฮ์และตาลีบันที่สหรัฐฯ ประกาศสงครามด้วยอย่างเป็นทางการ ซึ่งในทางทฤษฎี สภาคองเกรสอาจแก้ปัญหาโดยอนุญาตให้ใช้กำลังทหารกับกลุ่มไอเอส และดูเหมือนทรัมป์จะสนับสนุนให้ใช้แนวทางนี้

แต่สภาคองเกรสก็โต้เถียงประเด็นนี้มาตั้งแต่ปี 2014 แล้วว่า ควรจะดำเนินการอย่างไรกับกลุ่มไอเอส ไม่มีมติที่เป็นเอกฉันท์เกี่ยวกับการทำสงคราม ไม่ว่าจะเป็นระยะเวลา ขอบเขตที่แน่ชัด และการเพิ่มกำลังทหาร นักโทษในคุกกวนตานาโมมีสิทธิที่จะยื่นคำร้องให้ศาลพิจารณาว่าการคุมขังนี้ถูกกฎหมายหรือไม่

ทางเลือกต่อมาคือการใช้ศาลทหาร แต่เนื่องจากการดำเนินการด้วยระบบศาลทหารต้องมีขั้นตอนการพิจารณาคดีหลายปี ทรัมป์รู้ปัญหานี้จึงใช้ศาลพลเรือนกับกรณีผู้ต้องสงสัยว่าเป็นผู้ก่อการร้ายในนิวยอร์ก เขาเคยทวีตว่า อยากจะส่งผู้ก่อการร้ายที่โจมตีนิวยอร์กไปที่คุกกวนตานาโม (ซึ่งมีสถานะเป็นคุกทหาร) แต่จากสถิติแล้วกระบวนการใช้เวลานานเกินไป ควรจะดำเนินการให้เร็ว และให้ลงโทษประหารชีวิต

ที่สุดแล้ว ทรัมป์สั่งให้จิม แมททิส (Jim Mattis) รัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ทำข้อเสนอเชิงนโยบายภายใน 90 วัน ว่าจะทำอย่างไรกับผู้ต้องสงสัยว่าจะเป็นผู้ก่อการร้าย รวมถึงจัดทำนโยบายในการส่งผู้ต้องสงสัยไปที่เกาะกวนตานาโม

 

 

ที่มา:

https://www.nytimes.com/2018/01/31/us/politics/trumps-order-to-keep-guantanamo-open-faces-familiar-obstacles-to-refilling-it.html

https://www.newyorker.com/magazine/2016/08/01/why-obama-has-failed-to-close-guantanamo

http://www.foxnews.com/politics/2018/01/26/what-is-guantanamo-bay.html

https://www.cnbc.com/2018/01/30/trump-signs-executive-order-to-keep-guantanamo-bay-prison-open.html

Tags: , , , , ,