ในสัปดาห์นี้ ประธานาธิบดีผู้ชูแนวทางเอกภาคีจะระดมเสียงสนับสนุนในเวทีพหุภาคี เพื่อผลักดันนโยบายต่างประเทศอเมริกันที่ยังไม่เกิดผล ทั้งประเด็นจีน เกาหลีเหนือ อิหร่าน ต้องคอยดูว่า ผู้นำที่เข้าร่วมการประชุมสหประชาชาติจะขานรับ ‘โดนัลด์ ทรัมป์’ แค่ไหน อย่างไร
แวดวงการทูตพูดกันหนาหูขึ้นเรื่อยๆ ว่า อเมริกากำลังสูญเสียสถานะพี่ใหญ่ เพราะทรัมป์นำพาสหรัฐฯ ตีตัวออกห่างจากกิจการโลก เช่น การเปลี่ยนแปลงของภูมิอากาศ หันกลับไปสนใจผลประโยชน์เฉพาะตัวเป็นด้านหลัก
นอกจากเปลี่ยนจุดเน้นในเป้าหมาย สหรัฐฯ ในยุคทรัมป์ยังแปลงจุดเน้นในวิธีการด้วย แนวทางขับเคลื่อนกิจการระหว่างประเทศด้วยความร่วมมือหลายฝ่าย ถูกแทนที่ด้วยการกระทำฝ่ายเดียวในหลายกรณี อาทิ ถอนตัวจากข้อตกลงนานาชาติฉบับต่างๆ
ทรัมป์นั่งเก้าอี้ประธานาธิบดีเกือบ 3 ปีแล้ว ถ้าไม่นับเรียลลิตี้โชว์ ‘จับมือครั้งประวัติศาสตร์’ กับผู้นำเกาหลีเหนือ พูดได้ว่า รัฐบาลของเขายังไม่มีผลงานโดดเด่นในด้านการต่างประเทศ แม้กระทั่งนโยบายที่ชูเป็นจุดขาย เช่น พาทหารอเมริกันในแถบตะวันออกกลางกลับบ้าน ก็ยังไม่เป็นจริง มิหนำซ้ำยังจะเสริมกำลังในบางจุดอีกต่างหาก
ขึ้นชื่อว่ารัฐมหาอำนาจย่อมมีวาระร้อยแปดต้องผลักดัน ทว่าความสำเร็จนั้นต้องอาศัยเสียงขานรับจากนานาประเทศ น่าสนใจว่า ผู้นำที่ชูคำขวัญ ‘อเมริกาต้องมาก่อน’ จะได้รับปฏิกิริยาตอบสนองแบบไหนเมื่อเรียกร้องให้สมาชิกยูเอ็นร่วมด้วยช่วยกัน สะสางปมท้าทายที่บั่นทอนสันติภาพโลก
ฉีกข้อตกลง
ตั้งแต่เข้ากุมทำเนียบขาวเมื่อเดือนมกราคม 2017 ทรัมป์นำสหรัฐฯ ถอนตัวจากคณะกรรมาธิการสิทธิมนุษยชนของสหประชาชาติ ถอนตัวจากองค์การยูเนสโก ถอนตัวจากข้อตกลงแก้โลกร้อน ถอนตัวจากข้อตกลงนิวเคลียร์อิหร่าน รวมถึงคัดค้านข้อตกลงว่าด้วยคนเข้าเมืองของยูเอ็น
การกระทำฝ่ายเดียวต่อความร่วมมือหลายฝ่ายเช่นนี้ กลายเป็นภาพจำที่โลกรับรู้ ซึ่งส่งผลลดทอนสถานะผู้นำของสหรัฐฯ ในเวทีโลก แต่ผู้นำที่เดินนโยบายแบบเอกภาคีคนเดียวกันนี้กำลังขอแรงให้นานาชาติช่วยกันรับเผือกร้อนในหลายประเด็น
เจ้าหน้าที่อาวุโสคนหนึ่งในรัฐบาลสหรัฐฯ บอกว่า ระหว่างไปร่วมการประชุมสหประชาชาติที่นิวยอร์กเป็นเวลา 3 วัน ทรัมป์จะหยิบยกประเด็นเสรีภาพทางศาสนาในวันจันทร์ ซึ่งเชื่อกันว่าคงพาดพิงถึงเรื่องชาวมุสลิมอุยกูร์ในจีน
จากนั้นในวันอังคาร เขาจะเน้นย้ำสถานะผู้นำโลกของสหรัฐฯ ในสุนทรพจน์ต่อหน้าสมัชชาใหญ่ ปิดท้ายวันพุธด้วยประเด็นเวเนซุเอลา ซึ่งความวุ่นวายของการเมืองภายในได้ขับประชาชนนับล้านออกจากประเทศ
อย่างไรก็ดี ประเด็นที่หลายฝ่ายจับตามองเป็นพิเศษในสัปดาห์นี้ คือ เรื่องอิหร่าน แหล่งข่าวรายนี้บอกว่า เรื่องอิหร่านจะเป็นหัวข้อหลักที่ทรัมป์จะหยิบยกขึ้นพูด เพื่อเชิญชวนให้อภิปรายถึงแนวทางตอบโต้ร่วมกันภายหลังเหตุโจมตีโรงกลั่นน้ำมันในซาอุดีอาระเบีย ซึ่งรัฐบาลวอชิงตันและริยาดห์เชื่อว่า เป็นฝีมือของเตหะราน
ขอแรงเพื่อนมิตร
การโจมตีซึ่งใช้โดรนและจรวดเมื่อวันเสาร์ที่แล้ว ทำให้กำลังการผลิตของซาอุดีอาระเบียหายไปครึ่งหนึ่ง จึงดันราคาน้ำมันในตลาดโลกพุ่งสูง เพราะตลาดวิตกถึงปัญหาขาดแคลนเชื้อเพลิง เมื่อพันธมิตรสำคัญในตะวันออกกลางถูกโจมตีเข้าที่หัวใจของประเทศเช่นนี้ มีหรือสหรัฐฯ จะนิ่งเฉยให้เสียเหลี่ยมลูกพี่ ปฏิบัติการตอบโต้จึงตามมาเมื่อวันศุกร์
ทรัมป์ตอบโต้อิหร่านใน 2 รูปแบบ คือ ส่งกำลังทหารไปเสริมในซาอุดีอาระเบีย เพื่อคุ้มกันสาธารณูปโภคด้านน้ำมันของบริษัทอารัมโกไม่ให้ถูกโจมตีทางอากาศอีก ขณะเดียวกัน ยังเพิ่มมาตรการคว่ำบาตรต่อธนาคารกลางของอิหร่านด้วย โดยกล่าวหาว่าเป็นท่อน้ำเลี้ยงของบรรดากลุ่มก่อการร้าย
แม้ในชั้นนี้ยังใช้แค่มาตรการเชิงรับ แต่รัฐบาลสหรัฐฯ บอกว่า ปฏิบัติการรุกทางการทหารยังคงเป็นตัวเลือกที่จะพิจารณา
ความสัมพันธ์สหรัฐฯ-อิหร่านคงจะยังไม่กระเตื้องตราบเท่าที่ทั้งสองฝ่ายยังตกลงกันไม่ได้เกี่ยวกับประเด็นนิวเคลียร์
ทรัมป์ต้องการให้อิหร่านยอมจัดทำข้อตกลงฉบับใหม่ที่ครอบคลุมถึงการพัฒนาขีปนาวุธและบทบาทของอิหร่านในตะวันออกกลาง แต่ผู้นำสูงสุดของอิหร่าน อะยาตุลเลาะห์ อาลี คาเมเนอี บอกว่า เตหะรานจะไม่เจรจาแบบสองฝ่าย เว้นแต่สหรัฐฯ กลับเข้าร่วมในข้อตกลงนิวเคลียร์ปี 2015 ถึงตอนนั้น ค่อยมาเจรจาหลายฝ่ายพร้อมคู่สัญญาอื่นๆ คือ อียู อังกฤษ ฝรั่งเศส เยอรมนี รัสเซีย และจีน
สหรัฐฯ ต้องการให้นานาชาติร่วมแรงคว่ำบาตรเพื่อกดดันอิหร่าน ท่าทีของผู้นำโลกจะเป็นอย่างไรต้องคอยดูกัน ในวันพุธ (25 ก.ย.) ประธานาธิบดีอิหร่าน ฮัสซัน รุฮานี มีกำหนดจะพูดในที่ประชุมยูเอ็น เราอาจได้เห็นท่าทีจากมหาอำนาจต่างๆ รวมทั้งพวกพี่เบิ้มในภูมิภาค
ทรัมป์เป็นคนตลก
บุคลิกท่าทาง นิสัยใจคอ ของคนเป็นผู้นำประเทศ ถือเป็นตัวแปรความสำเร็จในงานการทูตไม่น้อยไปกว่าทักษะในการเจรจาต่อรอง ทรัมป์เป็นคนที่น่าโอภาปราศรัยด้วยหรือเปล่า พูดจาน่าฟังไหม คำตอบอาจเป็นว่า ‘ไม่’
เจ้าตัวแย้มกับผู้สื่อข่าวถึงถ้อยแถลงที่จะไปพูดที่นิวยอร์กในสัปดาห์นี้ ว่า “เราจะบอกว่าสหรัฐฯ เป็นประเทศที่ยิ่งใหญ่ที่สุดในโลก แข็งแกร่งกว่ายุคไหนๆ ดีเลิศกว่าสมัยใดๆ” และ “คนอเมริกันมีประธานาธิบดีที่ยอดเยี่ยมที่สุดในประวัติศาสตร์”
คนฟังฟังแล้วจะตอบสนองอย่างไร ต้องคอยดูกัน เมื่อปีที่แล้ว ในเวทีเดียวกันนี้ ผู้ฟังพากันฮาครืนเมื่อทรัมป์พูดว่า เขา “ประสบผลสำเร็จยิ่งกว่ารัฐบาลแทบทุกชุดในประวัติศาสตร์ของประเทศของเรา” รุ่งขึ้น หนังสือพิมพ์พาดหัวทำนองเดียวกันว่า “โลกหัวเราะทรัมป์”
ในวันจันทร์ ทรัมป์จะไม่ร่วมเวทีประชุมระดับผู้นำว่าด้วยโลกร้อน ซึ่งจัดโดยเลขาธิการสหประชาชาติ ในเวทีกลุ่มจี-7 ที่ฝรั่งเศส เมื่อเร็วๆ นี้ ทรัมป์ ซึ่งสนับสนุนการใช้เชื้อเพลิงฟอสซิล เบือนหน้าหนีพลังงานทดแทน ก็ไม่เข้าร่วมประชุมในหัวข้อการเปลี่ยนแปลงของภูมิอากาศเช่นกัน
ดังนั้น คงไม่ต้องลุ้นว่า ทรัมป์จะขานรับเสียงเรียกร้องของขบวนการเคลื่อนไหวที่จุดประกายโดยหนูน้อยชาวสวีเดน เกรตา ธันเบิร์ก หรือไม่ เพราะนั่นคงไม่อยู่ในสายตาชำเลืองแล
ถ้าเวทียูเอ็นปีนี้จบลงด้วยพาดหัวข่าว “โลกหัวเราะทรัมป์” อีก สถานะผู้นำโลกของอเมริกาคงนับว่าย่ำแย่จริงๆ.
อ้างอิง:
AFP via Yahoo! News, 22 September 2019
ภาพ: REUTERS/Carlos Barria TPX
Tags: โดนัลด์ ทรัมป์, เกาหลีเหนือ, จีน, ยูเอ็น, เวเนซุเอลา, ซาอุดีอาระเบีย, อิหร่าน, สหรัฐอเมริกา