ปรากฏว่า ผลเจรจาระหว่างผู้นำสหรัฐฯกับเกาหลีเหนือสนองความต้องการของจีนอย่างไม่คาดคิด แต่กลับทำให้รัฐบาลเกาหลีใต้กับญี่ปุ่นต้องลุ้น ว่าประธานาธิบดีทรัมป์มีเจตนาอย่างไรกับชาติพันธมิตรทั้งสอง

การพบกันของประธานาธิบดีสหรัฐฯ โดนัลด์ ทรัมป์ กับผู้นำสูงสุดเกาหลีเหนือ คิมจองอึน ที่สิงคโปร์เมื่อวันที่ 12 มิถุนายน ได้ข้อสรุปที่ตอบโจทย์ของทั้งสองฝ่าย วอชิงตันได้รับคำมั่นเรื่องการปลดอาวุธนิวเคลียร์ เปียงยางได้รับคำมั่นเรื่องหลักประกันความมั่นคง

โดนัลด์ ทรัมป์ และคิมจองอึน (ภาพเมื่อ 12 มิถุนายน 2018 โดย REUTERS/Jonathan Ernst)

ทั้งสองประเด็นเป็นข้อเรียกร้องหลักของการยุติวิกฤตนิวเคลียร์บนคาบสมุทรเกาหลี ถ้าฟังแค่นี้ดูคล้ายกับว่าเรื่องราวกำลังใกล้บทอวสาน

ทว่าตรงกันข้าม ความขัดแย้งที่ดำเนินมานานตั้งแต่สงครามเกาหลีเมื่อช่วงปี 1950-1953 เพิ่งจะเห็นแสงของสันติภาพเพียงรำไร และต้องไม่ลืมด้วยว่า โลกเคยผิดหวังมาแล้วหลายครั้ง

นับแต่นี้ ความหวังถึงสันติภาพบนคาบสมุทรเกาหลี การผ่อนคลายความตึงเครียดในย่านเอเชียตะวันออกเฉียงเหนือ ขึ้นกับความคืบหน้าในการหารือ หยั่งท่าที และเจรจาขั้นรายละเอียดระหว่างประเทศที่เกี่ยวข้อง ทั้งสหรัฐฯ จีน เกาหลีเหนือ เกาหลีใต้ และญี่ปุ่น

ความที่ปมนิวเคลียร์เกาหลีเหนือต้องคลี่คลายด้วยการเจรจาหลายฝ่าย การหาข้อยุติจึงต้องแสวงจุดสมประโยชน์ร่วมกัน

หากมุ่งหมายในสันติภาพถาวร กระบวนการนี้ต้องก่อให้เกิดผลอย่างน้อย 2 อย่าง คือ สร้างสถาปัตยกรรมทางอำนาจที่สมดุล มีกรอบกติกาและกลไกสำหรับการประสานความร่วมมือในการสร้างสันติภาพ  เหล่านี้วงการทูตเรียกกันว่า ‘peace regime’

นั่นเป็นโจทย์ยากในระยะข้างหน้า ยังยากจะคาดเดาได้ว่า ‘ระบอบสันติภาพ’ จะบังเกิดได้หรือไม่ และจะไปได้ตลอดรอดฝั่งหรือเปล่า

ฉะนั้น ในตอนนี้ คงต้องตั้งต้นด้วยการหยิบผลเจรจาเมื่อสัปดาห์ที่แล้วขึ้นมาพลิกซ้ายพลิกขวา กลับหน้ากลับหลัง ส่องดูแต่ละแง่มุม

ผู้เชี่ยวชาญพูดกันว่า งานนี้ คู่เจรจาหลักต่างได้ในสิ่งที่อยากได้ จีนเจอส้มหล่น ทิ้งให้เกาหลีใต้กับญี่ปุ่นงุนงงว่า อเมริกาจะโอนคืนภาระป้องกันตนเองให้พันธมิตรหรืออย่างไร

 

สัญญาใจ

ภายหลังการพบกันของประธานาธิบดีสหรัฐฯกับผู้นำเกาหลีเหนือ ทั้งสองลงนามในถ้อยแถลงร่วมฉบับหนึ่ง สรุปสาระสำคัญของการหารือได้ 4 ข้อ สองข้อแรกมีเนื้อหาเป็นหลักการกว้างๆ คือ สองฝ่ายจะสร้างความสัมพันธ์ขึ้นใหม่ และทั้งสองจะร่วมกันสร้างระบอบสันติภาพ

ข้อสามเป็นไฮไลต์ นั่นคือ เกาหลีเหนือให้คำมั่นที่จะดำเนินการเพื่อมุ่งสู่การปลดอาวุธนิวเคลียร์ ส่วนข้อสี่พูดถึงความร่วมมือในการค้นหาและส่งกลับซากของเชลยศึกและทหารที่สูญหายในสงครามเกาหลี

ในแง่สถานะของเอกสาร นี่ไม่ใช่ข้อตกลงหรือสนธิสัญญาในความหมายของกฎหมายระหว่างประเทศ แต่เป็นการแสดงเจตนาทางการเมือง เป็นการการรับปากซึ่งกันและกัน จึงไม่มีผลผูกพัน ไม่มีบทลงโทษฝ่ายที่เบี้ยว

ในแง่เนื้อหา ถ้อยแถลงเขียนถึงแต่ละประเด็น ทั้งเรื่องการสร้างความสัมพันธ์ ระบอบสันติภาพ การปลดอาวุธ และการค้นหาร่างของทหารอเมริกัน โดยไม่มีรายละเอียด เช่น เริ่มเมื่อไร กำหนดเสร็จเมื่อใด ทำอย่างไร มีขั้นตอนแบบไหน

อย่างไรก็ตาม รูปแบบและเนื้อหาของเอกสารเป็นแบบนี้ ไม่ถือว่าแปลก รัฐทั้งหลายมักเลือกใช้วิธีเขียนข้อสรุปแบบกว้างๆ พูดเฉพาะหลักการ ไม่ระบุข้อตกลงแบบจำเพาะเจาะจง เมื่อต้องเจอกับประเด็นเจรจาที่ยากและอ่อนไหว

ความยากของประเด็นเจรจาในครั้งนี้ ยังทำให้ผลสรุปที่ออกมานั้นเป็นแบบ “เธอก็ได้ ฉันก็ได้ แบ่งๆ กันไป”   ซึ่งเป็นวิธีแสดงความปรารถนาดีต่อกัน อันเป็นหัวเชื้อสำหรับขับเคลื่อนการเจรจาให้เดินหน้าต่อไป

 

‘ทรัมป์-คิม’ เก็บแต้ม

ข้อสรุปจากการเจรจานั้น นอกจากปรากฏในถ้อยแถลง ยังรวมถึงสิ่งที่ทรัมป์และรัฐมนตรีต่างประเทศสหรัฐฯ ไมค์ ปอมเปโอ พูดขยายความในเวลาต่อมาด้วย เมื่อประมวลทั้งหมดแล้ว เห็นได้ว่า แต่ละฝ่ายต่างได้ในสิ่งที่เป็นผลประโยชน์หลักของตัว

สิ่งที่คิมได้ คือ คำประกาศของทรัมป์ที่จะระงับการซ้อมรบระหว่างทหารอเมริกันกับทหารเกาหลีใต้ รวมทั้งจะลดกำลังประจำการ จนกระทั่งถึงขั้นถอนทหารกลับบ้าน

ทรัมป์บอกว่า การคงกำลัง 32,000 นายไว้ในเกาหลีใต้ และซ้อมรบขนาดใหญ่ปีละหลายครั้งอย่างที่ทำกันมา นับเป็นการสิ้นเปลือง และเป็นการ ‘ยั่วยุ’ ซึ่งนับเป็นครั้งแรกที่ประธานาธิบดีสหรัฐฯ พูดตามคำประณามของเกาหลีเหนือที่ว่า การเล่น ‘เกมสงคราม’ ถือเป็นการยั่วยุ

นอกจากนี้ คิมยังได้ในสิ่งที่คุณปู่และบิดาไม่เคยได้ นั่นคือ การประชุมสุดยอดกับสหรัฐฯ ทั้งในระดับผู้นำแบบสองต่อสอง และแบบขยายวงเต็มคณะโดยมีผู้นำนั่งโต๊ะร่วมกับเจ้าหน้าที่ระดับสูงของทั้งสองฝ่าย ซึ่งเป็นการแสดงถึงสถานะที่เท่าเทียมกับประธานาธิบดีอเมริกัน

ข้อหลังนี้ คิมเก็บกลับไปโฆษณา เรียกศรัทธาจากประชาชนและชนชั้นนำ ได้เต็มกระเป๋า

ฝ่ายทรัมป์ก็โกยเครดิตในบ้านได้เช่นกัน เพราะไม่เคยมีผู้นำสหรัฐฯคนไหนที่ผ่อนคลายความตึงเครียดกับเกาหลีเหนือได้จนถึงขั้นที่ผู้นำเปียงยางตกลงขึ้นโต๊ะพูดจาหารือด้วย และผู้นำอเมริกันคนก่อนๆ ก็เกี่ยงที่จะพบกับผู้นำของ ‘รัฐอันธพาล’

ในมุมของประเทศ อเมริกาได้รับสัญญาใจที่จะปลดอาวุธ รวมทั้งทำลายโรงงานทดสอบเครื่องยนต์ขับดันขีปนาวุธ โดยวอชิงตันไม่ได้ลดหย่อนจุดยืนในเรื่องการคว่ำบาตร ปอมเปโอยืนกรานว่า มาตรการนี้จะคงไว้จนกว่าเปียงยางจะปลดนิวเคลียร์โดยสิ้นเชิงแล้วเท่านั้น

จีนหยิบชิ้นปลามัน

นักสังเกตการณ์มองว่า จีนไม่ได้เข้าร่วมในวงพูดคุยที่สิงคโปร์ แต่ปักกิ่งได้ลาภลอย เพราะผลเจรจาเป็นไปตามแนวทางที่จีนเสนอ ซึ่งสอดคล้องกับผลประโยชน์ของจีนเอง

คิมจองอึนขณะเดินทางกลับไปยังเกาหลีเหนือ (ภาพเมื่อ 13 มิถุนายน 2018 โดย North Korea’s Korean Central News Agency)

แม้จีนอาศัยเกาหลีเหนือเป็นรัฐกันชน ถ่วงดุลอำนาจของสหรัฐฯ ที่แผ่เหนือเกาหลีใต้รวมถึงญี่ปุ่น แต่จีนก็ต้องการให้คาบสมุทรเกาหลีมีเสถียรภาพ

ความขัดแย้งบนคาบสมุทรก่อภาระแก่จีน เพราะต้องคอยประคองระบอบปกครองของเปียงยางไม่ให้ล่มสลาย ทั้งด้วยเหตุด้านเศรษฐกิจหรือด้านความมั่นคง จีนจึงเป็นมิตรที่ค้ำจุนเกาหลีเหนือตลอดมา

จีนไม่อยากให้เกาหลีเหนือเดินบนเส้นทางนิวเคลียร์ เพราะเป็นการล่อเป้า ซึ่งยิ่งเป็นการเพิ่มภาระขึ้นอีก ถ้าวันไหนเปียงยางถูกสหรัฐฯ และพันธมิตรบุกถล่มเพื่อเปลี่ยนแปลงระบอบ จีนย่อมต้องรองรับชาวเกาหลีเหนือนับล้านที่หนีภัยการสู้รบ

ดังนั้น ปักกิ่งจึงเสนอสูตร ‘ระงับ-แลก-ระงับ’ นั่นคือ สหรัฐฯระงับการซ้อมรบแลกกับเกาหลีเหนือระงับการพัฒนานิวเคลียร์ ซึ่งไม่เคยมีประธานาธิบดีสหรัฐฯคนไหนเอาด้วยกับแนวทางถอดชนวนวิกฤตแบบที่ว่านี้

การลดบทบาททางทหารของสหรัฐฯ ในเกาหลีใต้ ดังที่ทรัมป์ขานรับข้อเสนอของจีน และเผอิญตรงกับจุดยืน ‘อเมริกาต้องมาก่อน’ ของทรัมป์เองด้วย จึงเข้าทางจีนพอดิบพอดี

นักสังเกตการณ์บอกด้วยว่า จีนอาจเจอโชคสองชั้น ในวันข้างหน้า ถ้าเปียงยางปลดอาวุธร้ายแรง สองเกาหลีปรองดองกันได้ อเมริกาย่อมไม่จำเป็นต้องคงกองกำลังไว้ป้องปรามเกาหลีเหนืออีก

เมื่อถึงวันนั้น โซลอาจหันไปกระชับไมตรี เพิ่มการค้าการลงทุนกับปักกิ่ง เพราะความเป็นประเทศบ้านใกล้ ส่วนอเมริกาก็จะถอยห่างออกจากคาบสมุทรเกาหลีในมิติของความมั่นคง

 

เกาหลีใต้-ญี่ปุ่น ไม่ทันตั้งตัว

คำพูดของทรัมป์ที่บอกว่า สหรัฐฯ จะระงับการเล่นเกมสงครามไว้ก่อน และต้องการลดจำนวนทหารอเมริกันในเกาหลีใต้ สร้างความวิตกแก่รัฐบาลโซลและโตเกียว

กระทรวงกลาโหมของเกาหลีใต้แถลงว่า โซลจะถามไถ่ไปทางอเมริกาว่า ที่ทรัมป์พูดนั้นหมายความว่าอย่างไร มีเจตนาอะไร ขณะที่รัฐมนตรีกลาโหมของญี่ปุ่น อิตสุโนริ โอโนะเดระ บอกเมื่อวันพุธว่า “การซ้อมรบและกองทหารสหรัฐฯในเกาหลีใต้ มีบทบาทสำคัญยิ่งยวดต่อความมั่นคงในเอเชียตะวันออก”

สหรัฐฯ กับเกาหลีใต้ซ้อมรบร่วมกันหลายรูปแบบในแต่ละปี เช่น เกมสงคราม Key Resolve เมื่อเดือนมีนาคม ใช้ทหารอเมริกัน 23,700 นาย เกาหลีใต้ 300,000 นาย และการฝึก Exercise Ulchi Freedom Guardian เมื่อเดือนสิงหาคมปีที่แล้ว ซึ่งเป็นฉากจำลองสถานการณ์ด้วยคอมพิวเตอร์ ใช้ทหารของทั้งสองประเทศรวม 17,500 นาย

อย่างไรก็ดี ผู้รู้บางคนบอกว่า ยังไม่มีอะไรน่าวิตก ทรัมป์พูดอย่างนั้นอาจเป็นแค่ลูกเล่น บีบให้เกาหลีใต้ควักกระเป๋าออกค่าใช้จ่ายในการซ้อมรบให้มากกว่าเก่า และเมื่อทศวรรษ 1990 สหรัฐฯ เคยระงับมาแล้วหลายครั้ง เพื่อแลกกับการรับปากของเปียงยางที่จะปลดนิวเคลียร์

นักวิเคราะห์ยังบอกด้วยว่า สหรัฐฯ คงไม่ล้มเลิกความเป็นพันธมิตรกับเกาหลีใต้และญี่ปุ่น เพราะในเบื้องลึกแล้ว สหรัฐฯ ไม่ได้ต้องการถ่วงดุลเกาหลีเหนือมากเท่ากับถ่วงดุลจีน

จีนต่างหากที่เป็นเป้าหลักของอเมริกาในยุทธศาสตร์ป้องปรามในย่านเอเชีย-แปซิฟิก  เพราะจีนกำลังแผ่อิทธิพลและทวีบทบาทในทุกมิติ โดยเฉพาะในด้านการทหาร

ทรัมป์ยังอยู่ในตำแหน่งอีกหลายปี เราอาจได้เห็นลีลาการทูตฉบับนักธุรกิจอีกหลายฉาก คิมยังหนุ่มด้วยวัยแค่ 34 เราอาจได้เห็น ‘หัวโจกรัฐอันธพาล’ สร้างสันติภาพ

 

อ้างอิง:

Tags: , , , , , ,