ศาลชั้นต้นสหรัฐอเมริกาในนิวยอร์กตัดสินว่า การบล็อคผู้ใช้ทวิตเตอร์ของประธานาธิบดี โดนัลด์ ทรัมป์เนื่องจากความคิดทางการเมืองที่แตกต่าง เป็นเรื่องผิดกฎหมาย

ทรัมป์มีบัญชีทวิตเตอร์ชื่อ @RealDonaldTrump ใช้ทวีตเนื้อหาสารพัด ทั้งประกาศนโยบาย และโจมตีฝ่ายตรงข้าม เขามีผู้ติดตาม 52.2 ล้านคน และทวีตข้อความมากกว่า 37,600 ครั้งนับแต่เขาเริ่มใช้เมื่อมีนาคม 2009 คนที่ถูกทรัมป์บล็อค มีทั้งนักเขียนนิยายชื่อดังอย่าง สตีเฟน คิง และแอนน์ ไรซ์  หรือนางแบบและนักแสดง หนึ่งในโจทก์บอกกับสถานีโทรทัศน์ CNBC ว่า มีผู้ใช้ทวิตเตอร์ที่ได้รับการตรวจสอบ (verified Twitter users) 150 บัญชีที่ถูกทรัมป์บล็อค และมีอีกบัญชีผู้ใช้อื่นๆ อีกอย่างน้อยหลายร้อยบัญชีที่ถูกเขาบล็อค

ผู้พิพากษาศาลชั้นต้นแห่งมลรัฐนิวยอร์ก นาโอมิ ไรซ์ บุชวาลด์ (Naomi Reice Buchwald) ตัดสินเมื่อวันพุธที่ 23 พ.ค.ว่า โซเชียลมีเดียถูกออกแบบมาให้เป็นเวทีอภิปรายสาธารณะ (public forum) เพราะสาธารณะเข้าถึงได้ การแสดงความคิดเห็นต่อบัญชีทวิตเตอร์ของประธานาธิบดีและเจ้าหน้าที่รัฐคนอื่นๆ จึงสามารถกระทำได้ ศาลระบุว่า การบล็อคผู้ใช้ทวิตเตอร์ไม่ให้แสดงความคิดเห็นนั้น เป็นการละเมิดสิทธิในการแสดงความคิดเห็น ภายใต้บทบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญฉบับที่ 1 (First Amendment)

บุชวาลด์กล่าวเพิ่มเติมว่า เธอไม่ยอมรับข้อโต้แย้งจากฝั่งกระทรวงยุติธรรมที่ว่า ประธานาธิบดีมีสิทธิบล็อคผู้ติดตามในทวิตเตอร์เพราะเป็น ‘เสรีภาพในการสมาคม’ ของเขา รวมทั้งข้อโต้แย้งที่ว่า บัญชีนั้นเป็นทวิตเตอร์ส่วนตัวของทรัมป์ ซึ่งเธอเห็นว่า ทรัมป์ใช้บัญชีนี้เป็นช่องทางแสดงความคิดเห็นเกี่ยวกับนโยบายสาธารณะ ด้วยท่าทีในฐานะประธานาธิบดี และข้อความที่ปรากฏในบัญชีนี้ก็ที่มีสิ่งที่ต้องเป็นประธานาธิบดีเท่านั้นจึงจะทำได้

นอกจากนี้ บุชวาลด์ปฏิเสธข้อโต้แย้งอัยการจากกระทรวงยุติธรรมว่า ทรัมป์ใช้สิทธิตาม First Amendment หรือ บทบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญฉบับที่ 1 ว่าทรัมป์มีสิทธิบล็อคคนที่เขาไม่อยากจะมีปฏิสัมพันธ์ด้วยได้

“ขณะที่เราต้องตระหนักและละเอียดอ่อนต่อสิทธิตามบทบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญฉบับที่ 1 ของประธานาธิบดี แต่เขาไม่สามารถใช้สิทธินี้ด้วยวิธีที่ละเมิดสิทธินี้ของคนที่วิจารณ์เขา” เธอกล่าว

ผู้พิพากษากล่าวว่า ทรัมป์สามารถเลือก ‘mute’ (ปิดเสียง) ได้ ตัวเขาจะไม่เห็นข้อความของคนเหล่านี้ที่เขาไม่อยากเห็น วิธีนี้ยังทำให้ผู้คนยังโต้ตอบกับทรัมป์ได้โดยไม่ได้ละเมิดสิทธิในการแสดงความเห็น

อย่างไรก็ดี คำตัดสินครั้งนี้ เป็นการตีความกฎหมาย แม้ศาลจะวินิจฉัยว่า การที่ประธานาธิบดีไปบล็อคทวิตเตอร์ของคนต่างๆ เป็นเรื่องขัดต่อกฎหมาย แต่ศาลชั้นต้นก็ไม่ได้มีคำสั่งว่าให้ทรัมป์ต้องปลดบล็อค

ยูจีน โวโลค (Eugene Volokh) อาจารย์ด้านกฏหมายมหาวิทยาลัยแคลิฟอร์เนีย ลอสแองเจลิส ซึ่งเชี่ยวชาญเรื่องบทบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญฉบับที่ 1 กล่าวว่า ผลของการตัดสินใจนี้ไปไกลเกินกว่าทรัมป์ “มันอาจจะใช้ได้กับเจ้าหน้าที่ของรัฐหลายระดับทั่วประเทศ”

ทนายจากกระทรวงยุติธรรมซึ่งเป็นตัวแทนของทรัมป์ในคดีนี้กล่าวว่า “ด้วยความเคารพ เราไม่เห็นด้วยกับคำตัดสินของศาล และจะพิจารณาว่าจะดำเนินการอย่างไรต่อไป”

ผู้ยื่นฟ้องคดีนี้คือสถาบันไนท์ เฟิร์สท์ อะเมนด์เมนท์ (Knight First Amendment Institute) แห่งมหาวิทยาลัยโคลัมเบีย และผู้ใช้ทวิตเตอร์กลุ่มหนึ่ง หนึ่งในนั้นคือ ฟิลิปป์ โคเอ็น อาจารย์สังคมวิทยา มหาวิทยาลัยแมรีแลนด์  ซึ่งถูกทรัมป์บล็อค เมื่อเดือนมิถุนายนปีที่แล้ว หลังจากที่โพสต์รูปภาพของประธานาธิบดีพร้อมข้อความว่า ‘เผด็จการที่ไร้ความสามารถและทุจริต’ (Corrupt Incompetent Authoritarian) เขาบอกว่า ยินดีมากกับคำตัดสินที่ออกมา

“คำตัดสินของศาลเพิ่มความศรัทธาต่อระบบขึ้นมาบ้าง” เขากล่าว

ขณะที่ สจ๊วร์ต เบนจามิน (Stuart Benjamin) อาจารย์ด้านรัฐธรรมนูญ มหาวิทยาลัยดุ๊ก ไม่เห็นด้วยกับคำตัดสินที่บอกว่า บัญชีทวิตเตอร์ของทรัมป์และเจ้าหน้าที่รัฐเป็นพื้นที่อภิปรายสาธารณะ เช่นเดียวกับ โนอาห์ เฟลด์แมน (Noah Feldman) นักวิชาการด้านกฎหมายมหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ดที่กล่าวว่า นี่เป็นการตัดสินที่ผิด เพราะการกำหนดว่าอะไรเป็นเวทีสาธารณะ รัฐบาลต้องเป็นเจ้าของหรือควบคุมได้ แต่ในกรณีนี้ ทวิตเตอร์ควบคุมบัญชีของทรัมป์

ส่วนทรัมป์แย้งว่า ศาลไม่มีอำนาจในการออกคำสั่งโดยตรงต่อประธานาธิบดี

ทวิตเตอร์ซึ่งเป็นแพลตฟอร์ม แต่ไม่ได้เป็นส่วนหนึ่งของคดีนี้ ปฏิเสธที่จะให้ความเห็น

 

ที่มา:

Tags: , ,