รัฐสภาอเมริกันกำลังผลักดันร่างกฎหมายสนับสนุนประชาธิปไตยในฮ่องกง ประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ ยังไม่ประกาศท่าทีว่าพร้อมจะลงนาม ผู้นำสหรัฐฯ จะประกาศใช้หรือไม่ อาจขึ้นกับผลเจรจาการค้า ทำเนียบขาวอาจมองฮ่องกงเป็นแค่เบี้ยต่อรองกับจีน

เมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา วุฒิสมาชิก 2 คนออกโรงเร่งรัดให้วุฒิสภาเร่งผ่าน ‘รัฐบัญญัติประชาธิปไตยและสิทธิมนุษยชนฮ่องกง’ ท่ามกลางสถานการณ์การประท้วงที่ดูรุนแรงขึ้นเรื่อยๆ

เมื่อเดือนตุลาคม สภาผู้แทนราษฎรสหรัฐฯ ลงมติเห็นชอบร่างกฎหมายที่มีเนื้อหาใกล้เคียงกันนี้แล้ว สำหรับร่างที่เสนอในวุฒิสภานั้น ถ้าสภาสูงโหวตผ่าน ทั้งสองสภาคงต้องหารือเพื่อให้ได้ข้อสรุปเป็นฉบับเดียวก่อนส่งให้ประธานาธิบดีลงนาม

จนถึงขณะนี้ ทำเนียบขาวยังไม่แสดงท่าทีว่ายินดีจะประกาศใช้หรือเปล่า นักวิเคราะห์บอกว่า การตัดสินใจของทรัมป์อาจไม่เกี่ยวกับคุณค่าประชาธิปไตย แต่ขึ้นกับข้อพิจารณาด้านผลประโยชน์แห่งชาติล้วนๆ

ขอเสียงเอกฉันท์

เมื่อวันพฤหัสบดีที่แล้ว (14 พ.ย.) วุฒิสมาชิก จิม ริช ประธานคณะกรรมาธิการวิเทศสัมพันธ์ กับวุฒิสมาชิก มาร์โก รุไบโอ หนึ่งในกรรมาธิการร่วมคณะ แถลงเรียกร้องให้วุฒิสภาผ่านร่างกฎหมายฉบับนี้ด้วยเสียงเอกฉันท์

วุฒิสภาสหรัฐฯ ยังไม่ได้กำหนดวันออกเสียงลงมติ ทั้งสองจึงขอให้สภาสูงเร่งบรรจุวาระพิจารณาให้ความเห็นชอบโดยเร็ว หลังจากสภาล่างได้โหวตผ่านร่างกฎหมายที่มีบทบัญญัติทำนองเดียวกันนี้ไปแล้วตั้งแต่เมื่อกลางเดือนตุลาคม

เนื้อหาหลักของกฎหมายฉบับนี้ ก็คือ กำหนดให้รัฐมนตรีต่างประเทศสหรัฐฯ จัดทำรายงานการประเมินเป็นรายปี ว่า ฮ่องกงยังคงมีความเป็นอิสระในการปกครองตนเองภายใต้หลักการ ‘หนึ่งประเทศ สองระบบ’ หรือไม่

ที่ผ่านมา ภายใต้กฎหมายว่าด้วยฮ่องกงของสหรัฐฯ ซึ่งประกาศใช้ตั้งแต่ก่อนหน้าฮ่องกงกลับเป็นของจีน ฮ่องกงได้รับสถานะพิเศษด้านการค้าจากสหรัฐฯ เพราะกฎหมายดังกล่าวยอมรับว่า ฮ่องกงกับจีนแยกเป็นเอกเทศจากกัน

มาตรการด้านการค้าที่สหรัฐฯ บังคับใช้กับจีน จึงไม่ครอบคลุมถึงฮ่องกง โดยเฉพาะมาตรการด้านภาษีศุลกากร

ดังนั้น ด้วยสถานะพิเศษดังกล่าว สินค้าที่ฮ่องกงส่งออกไปยังสหรัฐฯ จึงไม่ต้องจ่ายภาษีนำเข้าในอัตราเดียวกับที่จีนต้องจ่ายในสงครามการค้า

ทว่าภายใต้ร่างกฎหมายที่กำลังผลักดันกันในสภาคองเกรสนี้ ถ้าสหรัฐฯ ประเมินว่า ฮ่องกงขาดความเป็นอิสระเนื่องจากจีนละเมิดหลักการหนึ่งประเทศ สองระบบ วอชิงตันจะต้องเพิกถอนสถานะพิเศษของฮ่องกง

การสูญเสียสถานะที่ว่านี้ย่อมส่งผลลดทอนความได้เปรียบในการแข่งขันทางเศรษฐกิจของฮ่องกง ดังนั้น กฎหมายฉบับนี้จึงเป็นเครื่องมือที่จะทัดทานจีน ไม่ให้เข้าแทรกแซงการบริหารของรัฐบาลฮ่องกง

นอกจากนี้ กฎหมายดังกล่าวยังกำหนดให้คว่ำบาตรเจ้าหน้าที่ของฮ่องกงที่ละเมิดสิทธิมนุษยชนด้วย เจ้าหน้าที่คนไหนละเมิดจะไม่ได้รับอนุญาตให้เดินทางเข้าสหรัฐฯ

ด้วยบทบัญญัติเหล่านี้ เห็นได้ชัดว่า มีเจตนาที่จะช่วยปกป้องสิทธิเสรีภาพของชาวฮ่องกง นั่นเอง

ข้อเสนอเพิ่มเติม

ในวันเดียวกับที่วุฒิสมาชิกทั้งสองออกโรงเร่งรัดกฎหมายฉบับนี้ อีกองค์กรหนึ่งของสภาคองเกรสได้เสนอแนะมาตรการเพิ่มเติม ด้วยเจตนาอย่างเดียวกัน

คณะกรรมการศึกษาความสัมพันธ์ด้านความมั่นคงและเศรษฐกิจสหรัฐฯ -จีน (USCC) เสนอในรายงานประจำปี ว่า กฎหมายฉบับใหม่ควรมีข้อบัญญัติอีก 2 ข้อ

ข้อแรก ถ้าจีนส่งทหารเข้าไปปราบปรามผู้ประท้วงในฮ่องกง สหรัฐฯ ต้องเพิกถอนสถานะพิเศษของฮ่องกง ข้อที่สอง กฎหมายต้องกำหนดให้กระทรวงต่างประเทศสหรัฐฯ จัดทำมาตรวัดระดับความเป็นอิสระของฮ่องกง

ข้อเสนอเหล่านี้ก็คือการเสริมแต่งมาตรการในกฎหมายที่กำลังชงกันอยู่ในสภาให้เป็นรูปธรรมชัดเจนยิ่งขึ้น ก่อนที่จะส่งให้ประธานาธิบดีลงนามประกาศใช้

รอดูใจ ‘ทรัมป์’

ประเมินกันว่า กฎหมายฉบับนี้คงผ่านวุฒิสภาสหรัฐฯ ได้ไม่ยาก และคงผ่านขั้นตอนการรวมเป็นฉบับเดียวกับเวอร์ชั่นของสภาผู้แทนราษฎรได้ในระยะต่อไป ทว่าท้ายที่สุดแล้ว ทรัมป์จะยับยั้งหรือเปล่า นั่นยังน่าสงสัย

ไรอัน เฮส อดีตเจ้าหน้าที่กระทรวงต่างประเทศ และเจ้าหน้าที่สภาความมั่นคงแห่งชาติ ปัจจุบันเป็นนักวิจัยของสถาบันบรุคกิง หน่วยงานคลังสมองในสหรัฐฯ บอกกับนิวยอร์กไทมส์ ว่า สหรัฐฯ ควรปรามปักกิ่งไม่ให้ใช้กำลัง และทำให้จีนต้องจ่ายในราคาแพงหากริบเอาสิทธิเสรีภาพไปจากชาวฮ่องกง

อย่างไรก็ดี ต้องไม่ลืมว่า ทรัมป์ไม่เคยพูดเชียร์ประชาธิปไตย แทบไม่เคยเอ่ยถึงสิทธิมนุษยชน ที่สำคัญ ยังไม่เคยออกหน้าในประเด็นฮ่องกง

นิวยอร์กไทมส์รายงานอ้างเจ้าหน้าที่อเมริกันคนหนึ่ง ซึ่งเปิดเผยว่า เมื่อเดือนมิถุนายน ระหว่างพูดคุยทางโทรศัพท์กับประธานาธิบดีสีจิ้นผิง ทรัมป์บอกกับผู้นำจีนว่า เขาจะไม่แตะเรื่องฮ่องกงตราบเท่าที่การเจรจาการค้าระหว่างประเทศทั้งสองยังเดินหน้าไปด้วยดี

เฮสบอกว่า ทรัมป์เป็นนักต่อรอง เขาอาจมองกฎหมายฉบับนี้เป็นแค่ไม้เด็ดเอาไว้กดดันจีนให้ยอมถอยในประเด็นพิพาททางการค้า ไม่ได้แคร์อย่างแท้จริงว่าฮ่องกงจะมีประชาธิปไตยหรือเปล่า ถ้ามีแนวโน้มว่าสหรัฐฯ กับจีนจะบรรลุข้อตกลง เขาอาจไม่ยอมเซ็นก็เป็นได้

ถึงตอนนั้น ทรัมป์อาจชูคำขวัญ อเมริกาต้องมาก่อน!

 

อ้างอิง:

New York Times, 3 November 2019

Reuters, 14 November 2019

Reuters, 15 November 2019

 

ภาพ: ฮ่องกง 20 ต.ค. 2019 REUTERS/Kim Kyung-Hoon

Tags: , , ,