1. การเมืองไทยยังร้อนระอุ กลุ่มราษฎร ‘ยกระดับการชุมนุม’ แน่นอน

สถานการณ์บ้านเมืองในรอบปีที่ผ่านมาได้สร้างปรากฏการณ์ใหม่หลายอย่าง อะไรที่ไม่เคยได้เห็นก็ได้เห็นมากขึ้น ทั้งการชุมนุมของกลุ่มคณะราษฎร การสลายการชุมนุมโดยเจ้าหน้าที่รัฐ การสาวไส้เครือข่ายนายทุนกับข้าราชการ และการวิพากษ์สถาบันกษัตริย์แบบตรงไปตรงมา ทำให้คนไทยหันมาสนใจการเมืองมากขึ้น และตระหนักใหม่ว่าการเมืองไม่ใช่เรื่องไกลตัวอย่างที่เคยเข้าใจอีกต่อไป

แล้วทิศทางการเมืองไทยในปีนี้จะเดินไปอย่างไรต่อ? จะร้อนแรงมากขึ้นหรือคลี่คลายลง? จะกดดันมากขึ้นหรือทวีความตึงเครียดจนถึงขีดสุด?

สติธร ธนานิธิโชติ ผู้อำนวยการสำนักนวัตกรรมเพื่อประชาธิปไตย สถาบันพระปกเกล้า วิเคราะห์ทิศทางการเมืองไทยปี 2021 ว่า ปีนี้กลุ่มคณะราษฎรและผู้ร่วมชุมนุมจะมีการ ‘ยกระดับ’ แน่นอน 

“ตอนนี้ถ้าพูดเรื่อง ‘ยกระดับ’ ขอแบ่งเป็น 2 กระบวนการ คือกลุ่มที่ขยับเพดานเรื่องปฏิรูปสถาบันกษัตริย์ จะขยับขึ้นไปอีกเรื่อยๆ จนไม่รู้ว่าไปถึงจุดไหน กับกลุ่มที่เริ่มปลุกประเด็นเรื่องค้อน เคียว และ Republic  (การเปลี่ยนประเทศให้เป็นระบอบสาธารณรัฐ) ที่จะยกระดับแบบเปิดประเด็นใหม่เลยไปจากระบอบประชาธิปไตย แต่รูปแบบการยกระดับทั้งสองแบบจะยังเชื่อมโยงกันอยู่

“การยกระดับเรื่องการปฏิรูปสถาบันฯ คงต้องทบทวนอีกครั้ง ม็อบเคยพูดเรื่องทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ จนถึงเดินขบวนไปสถานทูตเยอรมัน ตอนนี้แทบไม่มีประเด็นอะไรให้ยกแล้ว แทนที่จะยกระดับไปเรื่อยๆ ก็อาจจะหันมาเจาะรายละเอียดเป็นรูปธรรมชัดเจนชนิดที่จับต้องได้ น่าจะทำให้คนที่เป็นแนวร่วมหรือผู้สนับสนุนรู้สึกถึงความคืบหน้า

“เมื่อพูดถึง Republic หรือค้อน เคียว สิ่งเหล่านี้ไปกับสถาบันกษัตริย์ไม่ได้อยู่แล้ว รวมถึงวลี ‘ถ้าไม่ยอมปฏิรูปคงต้องปฏิวัติ’ ที่ยังมีผู้ชุมนุมบางส่วนไม่ตอบรับเรื่องนี้ เกิดการพูดคุยภายในกลุ่มผู้ขับเคลื่อนและผู้สนับสนุน คำว่า ‘ทุนนิยม’ ‘เศรษฐกิจ’ ‘เสรีนิยม’ ถูกหยิบยกมาพูดถึงมากขึ้น เป็นโอกาสดีที่จะได้วิพากษ์เชิงความคิด ประกอบกับการพักม็อบและการระบาดของโควิด-19 อีกระลอกในช่วงนี้ ทำให้มีเวลามากที่จะพอถกเถียง นำไปสู่การเคลื่อนไหวของการชุมนุมกลุ่มอื่นๆ ที่ไม่ได้อยากมุ่งเป้าไปยังสถาบันฯ เพียงอย่างเดียว

สติธรบอกต่อว่า การชุมนุมที่ไต่ระดับมาตั้งแต่ช่วงกลางปี 2020 จนถึงปลายปี และหยุดพักไประยะหนึ่ง หลังจากนี้อาจได้เห็นแนวร่วมการชุมนุมที่ไม่ได้มุ่งเน้นไปยังการยกระดับมากขึ้น หลายแนวร่วมจะคู่ขนานกันไป หากรัฐบาลรับมือกับการชุมนุมได้ไม่ดี อาจเกิดจุดบรรจบของสองกลุ่มจนเกิดม็อบใหญ่ เพราะจากการชุมนุมที่ผ่านมา หลายๆ กลุ่มมีประเด็นร่วมมากขึ้น พวกเขาจะระเบิดพลังเป็นการชุมนุมก้อนใหญ่ ตรงนี้ขึ้นอยู่กับยุทธวิธีของม็อบด้วยว่าจะรักษา ‘โมเมนตัม’ ของตัวเองไว้ได้หรือไม่ 

“ถ้ารัฐบาลรอดพ้นปี 2020 มาได้ ในปีนี้ก็ไม่ได้มีอะไรยาก ไม่มีเหตุผลให้ไปไหน คาดการณ์ว่าเขาจะอยู่ได้ในระดับ ‘หล่อเลือกได้’ ถ้าไม่อยากอยู่แล้วก็เป็นเพราะเขาเลือกเอง ไม่ใช่เป็นเพราะใครทำให้ต้องออก ถ้าลาออกอาจทำเพื่อล้างไพ่ เพื่อรักษาอำนาจ หรือเพื่ออะไรก็ตาม และส่วนนี้เป็นคำตอบที่คนจะเกลียดมาก แต่คงปฏิเสธไม่ได้

“แม้จะถูกกดดันเยอะ เขา (พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา, นายกรัฐมนตรี) ก็จะปรับตัวได้ แค่อยู่แบบไม่สะดวกสบายเกินไปเท่านั้น การจะได้ไปต่อหรือไม่ ไม่ได้ขึ้นอยู่กับพลังภายนอกอย่างเดียว แต่ยังหมายถึงกลุ่มการเมืองที่มาแทนว่ามีพลังพอไหม วันนี้ถ้าเขาลงจากตำแหน่งแล้วจะยังไงต่อ เพื่อไทยหรือก้าวไกลเป็นรัฐบาลได้จริงหรือ พลังอาจยังไม่พอ เพราะอีกฝ่ายผนึกกันแน่นจนต่อให้ไม่ใช่ประยุทธ์ ก็ยังมีคนอื่นในขั้วอำนาจเดิมมาแทนที่อยู่ดี” ผู้อำนวยการสำนักนวัตกรรมเพื่อประชาธิปไตย สถาบันพระปกเกล้า กล่าว

2. ท่องเที่ยวช็อต แรงงานข้ามสาย และการใส่ใจสุขภาพที่เปลี่ยนไป

ดร. สมประวิณ มันประเสริฐ ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่ ผู้บริหารสายงานวิจัยและหัวหน้าทีมวิจัยเศรษฐกิจ ธนาคารกรุงศรีอยุธยา จำกัด (มหาชน) หรือ BAY ได้วิเคราะห์ภาพรวมของสถานการณ์เศรษฐกิจไทยในปี 2020 และปี 2021 ไว้อย่างน่าสนใจ

ดร. สมประวิณ กล่าวว่า ผลกระทบด้านเศรษฐกิจที่จะเกิดขึ้นในปี 2021 ล้วนเกี่ยวเนื่องมาจากการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ในปี 2020

“ประการแรก ผลกระทบที่ใหญ่ที่สุดคือ ด้านการท่องเที่ยว นี่เป็นปีแรกที่ไทยเราขาดรายได้จากการท่องเที่ยวจากชาวต่างชาติไปอย่างสิ้นเชิง (คิดเป็น 13% ของ GDP) และทิศทางรายได้ของการท่องเที่ยวจากชาวต่างชาติยังคงจะลดลง จนกว่าจะมีการแจกจ่ายวัคซีนป้องกันโรคโควิด-19 ได้ทั่วถึง คาดการณ์ว่าจะต้องใช้เวลาตลอดทั้งปี 2021 ส่งผลให้สภาพเศรษฐกิจไทยในวันนี้ค่อนข้างที่จะเปราะบาง ต้องค่อยๆ ฟื้นตัวอย่างค่อยเป็นค่อยไป และพึ่งพาการท่องเที่ยวภายในประเทศเสียก่อน แต่จะเป็นแค่เพียงเทรนด์ระยะสั้น หากผ่านโควิดไปแล้ว วัคซีนได้ครบแล้ว การท่องเที่ยวจะกลับมาเป็นแบบเดิม แต่อย่างไรก็ตาม ยอดนักท่องเที่ยวก็อาจจะน้อยลงกว่ายุคก่อนโควิด-19

“ในส่วนของผู้ประกอบการรายย่อยและรายใหญ่ การพักชำระหนี้ในปี 2020 อาจจะส่งผลต่อไปถึงปี 2021 เนื่องจากหนี้ที่เกิดขึ้นของกลุ่ม SME นั้นมาจากรายได้ที่หายไปในช่วงโควิด-19 แต่รายจ่ายยังคงมีอยู่ ทางสถาบันการเงินมีความจำเป็นต้องออกนโยบายเพื่อช่วย SME ในการผ่อนชำระหนี้ เพื่อให้กลุ่ม SME อยู่รอด แต่ ณ ปัจจุบัน หนี้ที่เกิดขึ้นนั้นยังไม่นับว่าเป็นหนี้เสีย และยังไม่ส่งผลต่อเศรษฐกิจในภาพรวมมากนัก

“นอกจากนี้ ในปี 2021 อาจมีการเปลี่ยนแปลงของแรงงานในหลายภาคส่วน เนื่องจากกิจกรรมทางเศรษฐกิจของประเทศไทยประกอบไปด้วยภาคอุตสาหกรรม ภาคการเกษตร และภาคบริการเป็นหลัก ส่วนที่ได้รับผลกระทบจากโควิด-19 มากที่สุดในปีนี้ ได้แก่ ภาคบริการ ทำให้แรงงานส่วนใหญ่ต้องหันไปประกอบอาชีพอื่นเป็นการชั่วคราว เช่น เป็นไรเดอร์ในบริษัท food delivery ต่างๆ ขณะที่ภาคบริการยังไม่มีการฟื้นตัวภายในเวลาอันใกล้ อาจส่งผลให้แรงงานจากภาคบริการกระจายตัวไปอยู่ภาคอุตสาหกรรมอื่นมากขึ้น คาดว่าจะเป็นภาคการเกษตร หวังว่าการที่แรงงานจากภาคบริการหันไปทำงานในภาคการเกษตรจะเกิดการเปลี่ยนจากการทำเกษตรในรูปแบบดั้งเดิม มาเป็นการเกษตรที่นำเทคโนโลยีเข้ามาช่วยเพื่อเพิ่มผลิตผลและมูลค่าในการทำการเกษตรมากขึ้น”

ในเรื่องเทรนด์การดูแลสุขภาพของผู้คนในปี 2021 จะเปลี่ยนไป จากให้ความสำคัญกับ ‘การรักษา’ มาเป็นให้ความสำคัญกับ ‘การป้องกัน’ มากกว่าเดิม ทั้งในเรื่องของอาหารการกิน สุขอนามัย และหันมาหลีกเลี่ยงการสัมผัส สวมหน้ากากอนามัย และรักษาระยะห่างมากขึ้น เนื่องจากประสบการณ์ social distancing ในช่วงการแพร่ระบาดของปี 2020 

“ในเรื่องของเทคโนโลยี ถึงแม้ว่าปี 2020 จะเป็นปีที่มีการเกิด digitalization มากที่สุดอีกปีหนึ่ง แต่ในแง่มุมของการลงทุนนั้น ถึงแม้ cryptocurrency จะเป็นเทรนด์ที่กำลังได้รับความนิยมเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ แต่สำหรับในปี 2021 cryptocurrency ยังคงทำหน้าที่เป็น ‘ทางเลือกในการลงทุน’ เท่านั้น เนื่องจากคุณสมบัติสำหรับการเป็น ‘สื่อกลางในการแลกเปลี่ยน’ ยังไม่ครบถ้วน ปัจจุบันจึงทำหน้าที่เพียงแค่การแลกเปลี่ยนระหว่างกัน (peer to peer) ยังไม่สามารถใช้เป็นสกุลเงินในการจับจ่ายใช้สอยได้”

3. วิกฤตโควิด-19 จะดีขึ้น ถ้าประชาชนได้รับ ‘วัคซีน’ อย่างทั่วถึงสิ้นปีนี้

โรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 หรือโควิด-19 เป็นโรคอุบัติใหม่ที่กำลังสร้างปัญหาไปทั่วโลก และยังไม่มีทีท่าว่าจะจัดการได้ หนึ่งในคำถามที่ถูกถามมากที่สุดตอนนี้คือ ทั่วโลก รวมถึงประเทศไทย จะเข้าสู่ภาวะปกติเมื่อไหร่ และ ‘วัคซีน’ จะเป็นทางออกของวิกฤตหรือไม่

ดร. ศุภวุฒิ สายเชื้อ ที่ปรึกษากลุ่มธุรกิจการเงินเกียรตินาคินภัทร จะมาวิเคราะห์สถานการณ์แพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ในไทย และความคืบหน้าเรื่องวัคซีนโควิด-19 รวมไปถึงกระแสสุขภาพที่หน้าจับตามองในปี 2021 นี้

ดร. ศุภวุฒิ เผยว่า ในปี 2021 ทั่วโลกจะให้ความสำคัญในเรื่องสุขภาพเป็นอันดับต้นๆ เพราะทุกคนทราบกันแล้วว่า หากมีระบบภูมิคุ้มกันที่ไม่แข็งแรงจะทำให้เกิดอาการอื่นแทรกซ้อนได้ 

“การให้ความสำคัญในเรื่องสุขภาพเป็นเรื่องที่ดี แต่อยากให้ทุกคนระมัดระวังเรื่องอาหารการกินให้มากยิ่งขึ้น ควรออกกำลังกายควบคู่กับการกินอาหารที่เป็นประโยชน์ อย่ากินอาหารอย่างเดียวจนทำให้น้ำหนักขึ้น เพราะเมื่อหลายคนมีน้ำหนักตัวที่เพิ่มมากขึ้น ความอ้วนจะส่งผลกระทบต่อระบบภูมิคุ้มกันอย่างแน่นอน และอาจส่งผลให้ระบบภูมิคุ้มกันทำงานมากจนเกินไป จนกลายเป็นภูมิคุ้มกันที่สร้างความอักเสบที่รุนแรง และหันมาทำร้ายร่างกายตัวเองได้ เช่น เส้นเลือดรั่ว เกิดอาการลิ่มเลือด หรือการที่อยู่เฉยๆ แล้วมีอาการน้ำท่วมปอด นอกจากนี้เสี่ยงที่จะป่วยเป็นโรคอื่นๆ อีกด้วย เช่น โรคหัวใจ โรคเบาหวาน และโรคมะเร็ง”  

ในเรื่องกระแสสุขภาพที่น่าจับตามองของปีนี้ ดร. ศุภวุฒิ กล่าวว่า การใช้เทคโนโลยีเอ็มอาร์เอ็นเอ (Messenger RNA) ในการผลิตวัคซีนโควิด-19 ของไฟเซอร์-บิออนเทค และโมเดอร์นา เป็นเทคโนโลยีสมัยใหม่ที่น่าจับตามองอย่างมาก เนื่องจากเป็นเทคโนโลยีที่ทำให้เซลล์มนุษย์สามารถผลิตโปรตีนที่มีลักษณะคล้ายไวรัสโคโรนา เพื่อให้ระบบภูมิคุ้มกันของมนุษย์ได้รู้จักลักษณะของไวรัสตัวนี้ด้วยเซลล์ของมนุษย์เอง

นอกจากการผลิตวัคซีนโควิด-19 แล้ว เทคโนโลยีนี้ยังสามารถผลิตโปรตีนในมนุษย์เพื่อรักษาโรคอื่นๆ ได้อีกด้วย เพราะเดิมทีการใช้เทคโนโลยีเอ็มอาร์เอ็นเอไม่ได้มีจุดประสงค์เพื่อทำวัคซีนโควิด-19 เท่านั้น แต่เทคโนโลยีดังกล่าวก่อตั้งมาเพื่อช่วยรักษาโรคหัวใจ โรคมะเร็ง และโรคปอดอักเสบเรื้อรัง จึงเป็นเทคโนโลยีทางการแพทย์ที่น่าจับตามองเป็นอย่างมาก

สำหรับสถานการณ์วัคซีนโควิด-19 ดร. ศุภวุฒิ มองว่า ประเทศที่พัฒนาแล้วจะมีวัคซีนแจกจ่ายให้กับประชาชนในประเทศตัวเองอย่างทั่วถึงภายใน 2-3 เดือนแรกของปีนี้ ส่วนประเทศไทยที่มีกำลังซื้อวัคซีนไม่มาก อาจจะต้องรอการกระจายวัคซีนให้ทั่วถึงประมาณปลายปี 2021

“คาดว่าประเทศจะกลับเข้าสู่สภาวะปกติได้ ต้องใช้เวลาอย่างน้อย 18 เดือน”

ดร. ศุภวุฒิ อธิบายต่อว่า ภายหลังการกระจายวัคซีนอย่างทั่วถึงทั้งประเทศที่พัฒนาแล้ว และประเทศกำลังพัฒนา จะส่งผลให้เกิด 2 เหตุการณ์

“หนึ่ง ประชาชนมีความกลัวในการฉีดวัคซีน และอาจทำให้เกิดการ ‘ระบาดระลอกใหม่’ หลังการฉีดวัคซีนโควิด-19 ด้วยเทคโนโลยีเอ็มอาร์เอ็นเอ ทำให้เกิดผลข้างเคียงในหลายคน เพราะเอ็มอาร์เอ็นเอเป็นเทคโนโลยีที่มีความละเอียดอ่อน จึงต้องหุ้มวัคซีนเอ็มอาร์เอ็นเอด้วยไขมัน เพื่อไม่ให้วัคซีนถูกทำลายในเส้นเลือด จึงส่งผลให้หลายคนมีอาการแพ้ตัวเคลือบเอ็มอาร์เอ็นเอ เช่น มีอาการแพ้ ผื่นลมพิษ หายใจไม่ออก และอาเจียน อาจส่งผลให้หลายคนกลัวและไม่กล้าใช้วัคซีนตัวนี้ และจะส่งผลให้เกิดการระบาดระลอกต่อมาได้

“สอง ไม่มีใครทราบอายุการทำงานของวัคซีน อาจส่งผลให้เกิดการระบาดอีกครั้งได้ เนื่องจากไม่มีใครทราบว่าวัคซีนสามารถกระตุ้นภูมิคุ้มกันของร่างกายได้นานแค่ไหน หลายคนคาดการณ์ว่าวัคซีนสามารถกระตุ้นภูมิคุ้มกันได้ 6 เดือน หรือ 1 ปี แล้วต้องทำการฉีดซ้ำ จึงอาจส่งผลให้เกิดการระบาดอีกครั้งได้”

ดร. ศุภวุฒิ ยังกล่าวต่ออีกว่า ไวรัสโคโรนา 2019 มีการกลายพันธุ์อยู่ตลอดเวลา จากสถิติแล้วไวรัสโคโรนาจะกลายพันธุ์เดือนละครั้งหรือสองครั้ง ซึ่งเป็นเรื่องปกติของไวรัส แต่หากมีการกลายพันธุ์บ่อยๆ อาจส่งผลให้ไวรัสมีลักษณะที่รุนแรงกว่าเดิมได้ เช่น การกลายพันธุ์ล่าสุดของโควิด-19 ที่เรียกว่า B117 ส่งผลให้ไวรัสสามารถแพร่กระจายเชื้อได้ดีขึ้นประมาณ 70% หากมีการกลายพันธุ์ในลักษณะนี้ต่อไป อาจทำให้ตัวไวรัสสามารถหลีกเลี่ยงระบบภูมิคุ้มกันของร่างกายได้ แต่หากโชคดี โควิด-19 ก็จะกลายพันธุ์เป็นลักษณะที่ตายไปจากมนุษย์ก็ได้เช่นกัน เฉกเช่นเดียวกับไวรัสเมอร์ส

4. วงการบอลไทยเจอวิกฤตหนักแน่ ถ้าไม่มีมาตรการช่วยเหลือ

ปี 2020 ที่เพิ่งผ่านพ้นไป สำหรับวงการกีฬาแล้วถือเป็นปีที่สาหัสสากรรจ์ไม่เบา จากสถานการณ์โรคโควิด-19 ระบาดอย่างหนัก ลากยาวตั้งแต่ช่วงต้นปีถึงท้ายปี จนเริ่มฟื้นกลับมาได้ช่วงเดือนกันยายน ทว่าเพียง 3 เดือน โรคโควิด-19 ก็กลับมาแพร่ระบาดอีกระลอก สร้างความลำบากใจแก่ผู้ประกอบการวงการกีฬาอีกครั้ง

โดยเฉพาะฟุตบอล กีฬายอดนิยมอันดับหนึ่งของชาวไทย เม็ดเงินทุกบาททุกสตางค์สำหรับบริหารทีม ค่าจ้างนักกีฬา ค่าจ้างทีมงานสตาฟฟ์โค้ช ล้วนต้องเป็นไปตามหลักสัญญาเดิม สวนทางกับรายได้จากสปอนเซอร์ ค่าถ่ายทอดสด และค่าเข้าชมที่ลดฮวบแบบอย่างเห็นได้ชัด

สุรเดช มั่นวิมล คอมเมนเตเตอร์ชื่อดังผู้คลุกคลีในแวดวงไทยลีกมาอย่างยาวนาน ได้ออกมาประเมินสถานการณ์ของฟุตบอลไทยในยุคโควิด-19 ว่า

“วงการฟุตบอลก็เหมือนหลายภาคส่วนที่หนีไม่พ้นจากผลกระทบของโควิด-19 เรื่องนี้เป็นโจทย์ท้าทายของสมาคมฟุตบอลไทยที่ต้องหาทางแก้ให้ได้ ปีที่ผ่านมาเราก็ได้เห็นแล้วว่าวิธีการจัดการของสมาคมไม่ค่อยโอเคเท่าไหร่นัก ทั้งการพักโปรแกรมแข่งขันฟุตบอลลีกออกไป 5-6 เดือน เพราะคิดว่าช่วงเวลาที่หยุดพัก โควิด-19 จะบรรเทาลง แต่กลายเป็นว่าโควิด-19 ก็ยังไม่ได้หมดไป ทำให้การพักโปรแกรมเสียเวลาไปโดยเปล่าประโยชน์ และส่งผลกระทบต่อโครงสร้างปฏิทินฤดูกาลการแข่งขันปีหน้า

“ดังนั้น เมื่อเหตุการณ์แบบนี้กลับมาอีกรอบ สมาคมก็ต้องวางแผน มองภาพให้กว้างมากกว่าเดิม คุยกับสมาชิกสโมสรให้มากขึ้น เพื่อหาทางออกที่ดีที่สุด ทุกวันนี้สโมสรได้รับผลกระทบเยอะ ทั้งเงินทุน รายได้จากสปอนเซอร์หายไปหมด หลายสโมสรไม่ได้มีเงินสำรอง ไม่ได้มีการบริหารจัดการแบบมืออาชีพกันทุกทีม 

“ที่ผ่านมา หลายสโมสรใช้วิธีขอความร่วมมือจากนักเตะ สตาฟฟ์โค้ช บุคลากรภายในทีม ลดเงินเดือน 25-50% เพื่อประคับประคองทีมให้อยู่ได้ สิ่งนี้ก็สะท้อนกลับไปถึงฝ่ายผู้บริหารสมาคมอีกว่าจะมีวิธีช่วยเหลือทีมเหล่านี้อย่างไร ถ้าจะยืดเวลาแข่งขันหนีโควิดออกไปอีก คงไม่ต่างอะไรกับการย่ำอยู่กับที่ สโมสรจะหาทางออกให้อยู่รอด ควรต้องได้รับการช่วยเหลือจากสมาคมด้วย เพราะตอนนี้นโยบายช่วยเหลือที่ออกมาก็มีแต่นโยบายที่ออกมาโดยทางสมาคมเอง ไม่ได้ผ่านมติโดยตรงกับทางสโมสร ฉะนั้น ปีหน้าวงการฟุตบอลไทยถือว่ายังหน้าเป็นห่วงอยู่มากๆ” 

สุรเดชยกตัวอย่าง 5 สโมสรใหญ่ในไทยลีกที่ยังยืนอยู่ได้ มีแต่ทีมระดับชั้นนำ เช่น บุรีรัมย์ ยูไนเต็ด, เอสซีจี เมืองทองยูไนเต็ด, บีจี ปทุมยูไนเต็ด, การท่าเรือ เอฟซี, ราชบุรี มิตรผล ทีมเหล่านี้ต่างมีเจ้าของสโมสรระดับผู้บริหารองค์กรชั้นนำ มีสปอนเซอร์รายใหญ่ให้การสนับสนุนทั้งสิ้น 

ในทางกลับกัน สโมสรเล็กๆ ระดับรากหญ้าที่ปราศจากต้นทุน จะสามารถอยู่รอดได้อย่างไรหากไม่มีการช่วยเหลือของสมาคม แตกต่างกับเจลีกของประเทศญี่ปุ่นที่มีเงินช่วยเหลือสมาชิกแต่ละรายให้กู้ได้สูงถึง 350 ล้านเยน (ตกทีมละ 100 ล้านบาท) แถมมีเวลาผ่อนชำระเพิ่มเป็น 3 ปี 

ทั้งหมดนี้ไม่ได้เป็นการสะท้อนภาพรวมของกีฬาฟุตบอลไทยเพียงวงการเดียว แต่ยังตั้งคำถามไปยังวงการกีฬาอื่นๆ อีกว่า จำเป็นหรือไม่ที่ทางสมาคมกีฬาต่างๆ หรือรัฐบาล จะต้องยื่นมือเข้าช่วยเหลือในสภาวะฉุกเฉินที่เศรษฐกิจพังพินาศจากโรคระบาดเช่นนี้

5. ปีนี้เป็นปีที่วงการศิลปะ​วิกฤต​หนักที่สุดเท่าที่เคยเจอมา

ปีที่ผ่านมา เหตุการณ์การระบาดของโควิด-19 ได้เข้ามาดิสรัปต์ทุกภาคส่วนของสังคมและทั้งโลกให้เปลี่ยนโฉมหน้าไปตลอดกาล หลายแวดวงได้รับผลกระทบอย่างหนัก เช่นเดียวกับแวดวงศิลปวัฒนธรรมที่ต้องเกิดการหยุดชะงักครั้งใหญ่ โดยเฉพาะอุตสาหกรรมภาพยนตร์และดนตรี ยังไม่นับรวมถึงการเข้ามามีบทบาทสำคัญของผู้ให้บริการแพลตฟอร์มออนไลน์ต่างๆ ที่เปลี่ยนพฤติกรรมผู้บริโภค 

หากมองเข้ามาในสังคมไทย โควิด-19 ไม่ได้แค่เปลี่ยนภูมิทัศน์สื่อ แต่มันยังเปลือยให้เห็นต้นตอของปัญหาบางอย่างที่ผู้สร้างสรรค์ศิลปะต้องพบเจอ 

‘กอล์ฟ’ – ธัญญ์วาริน สุขะพิสิษฐ์ อดีต​สมาชิก​สภาผู้แทนราษฎร​ พรรคก้าวไกล อดีตนายกสมาคมผู้กำกับภาพยนตร์ไทยคนที่ 5 ผู้กำกับภาพยนตร์ นักเขียนบท และนักแสดง จะมาให้ความคิดเห็นที่มีต่อภาพรวมของแวดวงศิลปวัฒนธรรมในประเทศไทยเมื่อปีที่ผ่านมา รวมถึงคำถามสำคัญว่า แวดวงศิลปวัฒนธรรมในบ้านเราจะเดินหน้าต่อไปอย่างไรในปี 2021 กับโลกที่ไม่มีวันเหมือนเดิมอีกต่อไป

“ภาพรวม​ของวงการศิลปะ​ในปีที่ผ่านมา เรียก​​ได้ว่าเป็นจุดเปลี่ยน​สำคัญ​ในหลายๆ เรื่อง​ ทั้งเรื่องการถูกจำกัดสิทธิ​เสรีภาพ​ในการแสดงออกเรื่องประชาธิปไตย​ การเรียกร้อง​สิทธิ​ขั้นพื้นฐาน​ของประชาชนในประเทศ​นี้กลับโดนหน่วยงานรัฐตั้งข้อหาต่างๆ ทำร้ายคนเห็นต่างทางการเมือง​

“การชุมนุมใหญ่ครั้งนี้​แตกต่าง​จากการชุมนุม​ในครั้งที่ผ่านๆ มา​ ครั้งนี้​เราจะเห็นข้อเรียกร้อง​จากทั้งกลุ่มคนทำงานศิลปะ​แขนงต่างๆ รวมตัวกัน​ ซึ่งข้อเรียกร้อง​ก็จะเป็น​เรื่อง​เสรีภาพในการแสดงออก​ ความมั่นคงทางอาชีพ​ศิลปิน​ที่ไม่มีสวัสดิการ​​ใดๆ มารองรับ​ แต่พอโดนพิษโควิด-19​ ก็เป็นอาชีพแรกๆ ที่โดนผลกระทบ ​และขาดการได้รับการเยียวยา​อย่างทั่วถึง​ รวมถึงการถูกผูกขาดทางธุรกิจ​ กลายเป็นว่าถ้าเราจะทำงานศิลปะ​ อย่างเช่นภาพยนตร์​ เราต้องทำตามนายทุนเจ้าของโรงภาพยนตร์​ที่ผูกขาดไว้แต่ฝ่ายเดียว

“ถ้าเราหาทุนทำหนังอิสระอย่างที่เราอยากทำ ก็จะโดนเรื่องข้อจำกัดการเข้าโรงฉายจนผู้สร้างอิสระต้องพ่ายแพ้และล้มหายตายจากไป​ ขณะที่นายกรัฐมนตรี​ รัฐบาล​ กระทรวง​วัฒนธรรม​ กระทรวง​พาณิชย์​ ต่างก็พูดอยู่เสมอว่า​ จะใช้งานศิลปะ​เหล่านี้เป็นสินค้าวัฒนธรรม​นำประเทศ​สู้กับนานาประเทศ​ แต่ขาดความรู้​ความเข้าใจ​ที่จะเข้ามาแก้ปัญหา​นี้อย่างจริงจัง เราเชื่อว่างานศิลปะ​คือ​วิถี​แห่งความเห็นต่าง​ แต่มีสิ่งเดียวที่คนทำงานศิลปะ​ทุกคนต้องเห็นเหมือนกัน​คือ​ เสรีภาพ​ทางการแสดงออกที่ไม่ควรถูกจำกัด”

ในฐานะผู้ที่คลุกคลีในอุตสาหกรรมภาพยนตร์มานาน ธัญญ์วารินมองว่า ผลกระทบ​จากพิษ​โควิด-19​ ต่อวงการศิลปะ​นั้นไม่ใช่แค่ประเทศ​ไทยที่โดน​ โดยเฉพาะภาพยนตร์​นั้นโดนไปเต็มๆ​ ไม่ว่าจะเป็นธุรกิจ​โรงภาพยนตร์​ เทศกาล​ภาพยนตร์​ ผู้สร้าง​ภาพยนตร์​ ต่างได้รับผลกระทบกันถ้วนหน้าอย่างไม่อาจหลีกเลี่ยง​

“ก่อนหน้าโควิด วงการก็ถูกการเข้ามาของแพลตฟอร์ม​ออนไลน์เข้ามาเปลี่ยนวัฒนธรรม​การดูหนังของคนทั่วโลก​ ยิ่งทำให้ผู้สร้างภาพยนตร์​ต้องหันมาหาคำตอบกับตัวเองว่า ภาพยนตร์​คืออะไร​ ภาพเคลื่อนไหว​จำเป็นต้องฉายในโรงภาพยนตร์​อย่างเดียวหรือไม่​ สินค้า​ สปอนเซอร์​ต่างๆ ก็หันไปให้เงินสนับสนุน​ในการสร้างภาพยนตร์​ออนไลน์​กันมากมาย​ มนตร์ขลัง​ของการชมภาพยนตร์​ในโรงกำลังจะล่มสลาย​ พิษโควิดก็มาตอกฝาโลงซ้ำอีก​ ทำให้ส่งผลกระทบโดยตรงต่อรายได้​การเข้าฉายของภาพยนตร์​ ซึ่งน่าจะเป็นผลไปอีกนาน เพราะวัคซีน​โควิดก็ยังไม่ได้​แปลว่าฉีดแล้วมันจะหายจากโรคนี้

“ปีนี้น่าจะเป็นปีที่งานศิลปะ​เจอวิกฤต​หนักที่สุดเท่าที่เคยเจอมา ทั้งความเปลี่ยนแปลงวัฒนธรรม​ของการดูหนังจากโรงหนังมาเป็นมือถือ​ แล้วยังเจอพิษโควิดอีก วงการดนตรีก็พังไม่แพ้กัน​ การชมคอนเสิร์ต​กำลัง​กลับมาเป็นที่นิยมและสร้างรายได้​อีกครั้ง ก็กลับต้องแพ้ต่อพิษโควิด​ แถมยังส่งผลกระทบ​ไปสู่นักร้องน้อยใหญ่ที่ใช้สถานบันเทิง​เป็นที่ประกอบ​อาชีพ ก็ต้องโดนสั่งปิด ซึ่งอนาคตอันใกล้ก็ยังไม่มีทางลืมตาอ้าปากได้ง่าย​ๆ”

ธัญญ์วารินคาดการณ์ถึงทิศทางวงการศิลปวัฒนธรรมในเมืองไทยปี 2021 ว่า สิ่งที่ศิลปินและ​คนทำงานศิลปะ​แขนงต่างๆ ต้องเผชิญคือ​ จะหาเงินมาดำรงชีพจากการทำงานศิลปะ​แบบสื่อสารออนไลน์​ได้อย่างไร​ 

“แน่นอนว่าออนไลน์​เป็นช่องทาง​ที่จะสามารถ​เข้าถึงกลุ่มเป้าหมาย​ของงานเราได้ดีกว่าเมื่อก่อน ซึ่งน่าจะง่ายด้วยซ้ำ แต่เนื่องจากว่าทุกวันนี้​ใครๆ ก็ทำคอนเทนต์​ขายงาน​ ขายเนื้อหา​ ขายงานศิลปะกันได้ไม่ยาก​ แต่ที่ยากคือในขณะที่ช่องทางมีมากมายเป็นล้าน คนจะสนใจงานเราได้อย่างไร​ และเราต้องไม่หารายได้​ทางเดียว​ ต้องทำหลายอาชีพ​เพื่อหาช่องทางเลี้ยง​ชีพของเราให้ได้​ ซึ่งหนทางต่อจากนี้ไม่มีคำว่าง่ายแน่นอน

“สิ่งที่เราอยากเห็นคือ​ ถ้าการเมือง​ดี เราจะมีนายกรัฐมนตรี​ที่เข้าใจหน้าที่ของตัวเองว่าต้องทำทุกอย่าง​เพื่อให้ประชาชนไทยอยู่ดีกินดี ไม่ใช่ทำเพื่อพวกพ้อง เอื้อประโยชน์​ให้กับนายทุนผูกขาด​ ถ้าการเมือง​ดี เราจะมี​รัฐมนตรี​กระทรวง​วัฒนธรรม​ กระทรวงศึกษา​ธิการ​ กระทรวง​พาณิชย์​ ที่เข้าใจปัญหา​ของงานศิลป​วัฒนธรรม​อย่างแท้จริงว่า​ การที่เราจะสามารถ​ใช้วัฒนธรรม​เป็นสินค้าที่จะทำให้ประเทศไทย​เป็นที่รู้จักและเป็นที่ต้องการได้นั้น​ ไม่ได้เกิดจากการทุ่มงบประมาณ​แผ่นดิน​ไปกับงานอนุรักษ์​วัฒนธรรม​ที่ไม่ทำให้เกิดรายได้​แต่อย่างใด​ และก็ไม่สามารถทำให้คนไทยรักวัฒนธรรม​ไทยจากใจจริง​ได้ด้วยการบังคับ​ ไม่สมควร​อย่างยิ่งที่จะใช้งบประมาณ​แผ่นดิน​ไปกับการแช่แข็ง​ทางวัฒนธรรม”

6. ‘สงครามการค้าจีน-สหรัฐฯ และโควิด-19’ ระเบิดสองลูกที่ชี้ชะตาเศรษฐกิจโลก

ปี 2020 เป็นปีแห่งหายนะที่ทั่วโลกต่างต้องเผชิญกับเหตุการณ์ใหญ่ๆ ตลอดทั้งปี ชนิดที่มนุษยชาติแทบไม่มีเวลาพักหายใจ 

เริ่มตั้งแต่ไฟไหม้ป่าที่ออสเตรเลีย ความขัดแย้งระหว่างสหรัฐฯ-อิหร่าน ที่เกือบนำไปสู่สงครามโลกครั้งที่ 3 เหตุประท้วง Black Lives Matter การระเบิดที่ท่าเรือเบรุต เลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐฯ ที่วุ่นวายที่สุดในประวัติศาสตร์ รวมถึงการแพร่ระบาดครั้งใหญ่ของโรคโควิด-19 ที่สร้างแรงสั่นสะเทือนทางเศรษฐกิจให้นานาประเทศ

เมื่อตั้งคำถามว่า โลกในปี 2021 จะต้องเจอกับอะไรอีกบ้าง? 

ดร. อาร์ม ตั้งนิรันดร ผู้อำนวยการศูนย์จีนศึกษา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย วิเคราะห์ว่า ปัจจัยที่ต้องติดตามอย่างใกล้ชิดในปีนี้คือสถานการณ์ภายในของสหรัฐอเมริกา เนื่องจากมีส่วนกำหนดความสัมพันธ์ของอเมริกาในเวทีโลก ต้องรอดูว่าทางสหรัฐฯ จะสามารถจัดการกับสถานการณ์โควิด-19 จนคลี่คลายได้เมื่อไหร่ หากวิกฤตภายในประเทศยังไม่เรียบร้อย โจ ไบเดน ประธานาธิบดีสหรัฐอเมริกาคนล่าสุด คงต้องให้ความสำคัญกับสถานการณ์ภายในประเทศก่อนที่จะออกมาสู้กับจีน หรือเล่นบทบาทผู้นำบนเวทีโลก 

“แม้ว่าตอนนี้ทางสหรัฐฯ จะเริ่มฉีดวัคซีนโควิด-19 ให้กับประชาชนแล้ว แต่ก็ยังอยู่เพียงแค่ระยะเริ่มต้นเท่านั้น ยังมีหลายอย่างที่เรายังไม่รู้แน่ชัด เช่น ภูมิต้านทานจะอยู่ได้ถึงเมื่อไหร่ คนที่ฉีดแล้วจะยังคงเป็นพาหะแพร่เชื้อได้หรือไม่ ยังมองไม่เห็นชัดเจนว่าโรคโควิด-19 จะจบลงภายในปีนี้หรือไม่ แต่ถ้าไบเดนสามารถจัดการวิกฤตโควิดภายในสหรัฐฯ ได้เร็ว สหรัฐฯ เองก็จะมีกำลังในการออกมาสู้กับจีน และสร้างบทบาทนำในเวทีโลก 

“ส่วนเรื่องความสัมพันธ์ระหว่างสหรัฐฯ กับจีน การเป็นคู่แข่งในเชิงยุทธศาสตร์จะเป็นเรื่องระยะยาว ไม่แตกต่างจากสมัย โดนัลด์ ทรัมป์ ประธานาธิบดีสหรัฐอเมริกาคนก่อนมากนัก ถ้าสถานการณ์ภายในสหรัฐฯ ยังไม่ดีขึ้น ไบเดนเองคงต้องอยู่ในลักษณะเชิงรับมากกว่าเชิงรุก แต่ถ้าสถานการณ์ภายในดีขึ้น ไบเดนก็มียุทธศาสตร์เชิงรุกที่เคยพูดไว้ว่าจะหาพันธมิตรรวมกลุ่มจัดการกับจีน จะใช้เงินลงทุนมหาศาลกับเทคโนโลยียุคใหม่ และเทคโนโลยีพลังงานสะอาด รวมถึงการสร้างเครือข่ายพันธมิตรในเอเชียมากขึ้น” 

ดร. อาร์ม มองว่าเศรษฐกิจจีนจะแซงสหรัฐฯ ได้เมื่อไหร่นั้น ขึ้นอยู่กับการเติบโตของเศรษฐกิจสหรัฐฯ ถ้าเศรษฐกิจของสหรัฐฯ ยังย่ำแย่เนื่องจากพิษโควิด-19 จีนก็ยิ่งสามารถแซงหน้าได้เร็ว 

“ถ้าตามที่คนคาดการณ์กันไว้ จีนก็จะแซงได้ช่วงปี 2030 หรือเร็วกว่านั้น แต่คำว่า ‘แซง’ ในความหมายนี้ก็คือสองประเทศนี้จะมีกำลังทางเศรษฐกิจในระดับที่เท่าเทียมกันแล้ว ไม่ได้แซงในลักษณะที่จีนจะกลายมาเป็นผู้นำโลกแทนที่สหรัฐฯ ในขณะเดียวกัน ถ้าดูที่จีดีพีต่อหัว จีนยังตามสหรัฐฯ อยู่หลายขุม”

นอกจากนี้ สิ่งที่น่าจับตานอกเหนือจากเรื่องโควิด-19 คือนโยบายของไบเดนต่ออิหร่าน ว่าจะกลับมาใช้นโยบายเหมือนสมัยอดีตประธานาธิบดี บารัก โอบามา หรือไม่ รวมทั้งนโยบายของไบเดนที่มีต่อสภาวะโลกร้อนด้วย

 ดร. อาร์ม ประเมินว่า โจ ไบเดน น่าจะนำข้อตกลงนิวเคลียร์กับอิหร่านกลับมา รวมถึงทุ่มงบเต็มที่กับเรื่องการแก้ปัญหาโลกร้อน ซึ่งเทรนด์เรื่องโลกร้อนก็น่าจะกลับมาเป็นเทรนด์สำคัญในยุคของไบเดน

“ปี 2021 จะยังไม่กลับสู่สภาวะปกติ จะเป็นยุคที่เราเผชิญความท้าทายมากกว่าเดิมอีกด้วยซ้ำ โดยเฉพาะช่วงต้นปี เพราะว่าเราจะเผชิญกับระเบิดถึง 3 ลูกด้วยกัน หนึ่ง คือโควิด-19 ที่กลับมาระบาดภายในประเทศ สอง คือโควิด-19 ในโลกที่ยังไม่เรียบร้อย จึงยังทำให้เปิดการท่องเที่ยวไม่ได้ และสาม คือความตึงเครียดทางเศรษฐกิจที่ต่อเนื่องมานาน จนทำให้เราไม่มีพละกำลังทางเศรษฐกิจเหมือนเดิม เพราะฉะนั้น ผมคิดว่าครึ่งปีแรกคงมีความท้าทายสูงมาก

“ส่วนเรื่องปัจจัยความผันผวนระดับโลกที่สำคัญที่สุดก็คือ โควิด-19 และสงครามการค้าที่ดูเหมือนจะไม่จบง่ายๆ แต่ว่าสองสิ่งนี้มีความสัมพันธ์กันอยู่ เพราะว่าถ้าสถานการณ์โควิด-19 ดีขึ้น สงครามการค้าก็มีท่าทีว่าจะกลับดุเดือดขึ้นมา ถ้าสถานการณ์โควิด-19 นั้นยังไม่แน่ไม่นอนอยู่ แต่ละประเทศก็ต้องสนใจแก้ไขปัญหาภายในของตัวเองก่อน

“เรื่องสงครามการค้า ไทยเราก็คงต้องเล่นบทบาทเชิงรุกมากขึ้นในเกมการเมืองโลก เราไม่สามารถเลือกข้างได้อย่างชัดเจน ต้องรักษาสมดุลความสัมพันธ์ของทั้งสองมหาอำนาจ และต้องเข้าใจในการเจรจาว่าเราควรมีจุดยืนอย่างไรในประเด็นต่างๆ เพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุด” ผู้อำนวยการศูนย์จีนศึกษา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ทิ้งท้ายไว้อย่างน่าคิด

Tags: , , , , ,