เข้าสู่ปลายเดือนกันยายนที่บรรยากาศทางการเมืองคึกคักขึ้นเล็กน้อย เพราะพรรคการเมืองต่างๆ ทยอยจัดประชุมพรรคได้แล้ว เราจึงเริ่มเห็นตัวละครทั้งเก่าและใหม่ออกมาขยับตัว เช่นที่ลูกชายหัวแก้วหัวแหวนของนายหัวชวน – ปลื้ม-สุรบถ หลีกภัย ประกาศร่วมเป็นสมาชิกพรรคประชาธิปัตย์ แม้กระทั่งคนที่เราคุ้นเคยอย่างพลเอกประยุทธ์ ก็ประกาศตัวแล้วว่าสนใจการเมือง
และที่คนเขาบอกว่าดูละครแล้วย้อนดูตัว มันก็เป็นอย่างนั้นจริงๆ ท่ามกลางกระแสละครสุดฮิตอย่าง ‘เลือดข้นคนจาง’ ที่เบาะแว้งกันเรื่องแย่งชิงสมบัติของตระกูล ในแง่ข่าวก็มีเรื่องศึกไผ่ทอง ไอติม (ขอเป็นกลางด้วยการสะกดแบบนี้) รถเข็นที่เรารักที่จะโบก ไม่เคยรู้เลยนะว่าเบื้องหลังความอร่อยนั้นพี่น้องเขาทะเลาะกัน
The Momentum รวบรวมเรื่องราวที่ผู้คนสนใจกันในรอบสัปดาห์มาฝาก
“ผมสนใจการเมือง” แล้วคนเลือกตั้งสนใจผมหรือยัง? ผลโพลล์หลากสำนักกับผลลัพธ์ที่แตกต่าง
จากที่เคยบอกว่า “ผมไม่ใช่นักการเมือง” และเปลี่ยนมาเป็น “ผมเป็นนักการเมือง” ล่าสุดมีความ ‘คืบหน้า’ ครั้งใหม่ เมื่อพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา ออกมาบอกว่า “ผมสนใจการเมือง”
ก็เพิ่งกลางเดือนนี้เองที่คณะรักษาความสงบแห่งชาติเริ่มคลายล็อก ให้พรรคการเมืองต่างๆ สื่อสารกับสมาชิกและพูดคุยถึงอุดมการณ์และแนวทางของพรรคได้มากขึ้น เว้นแต่ยังห้ามหาเสียงอยู่ ซึ่งนอกจากความเคลื่อนไหวของพรรคต่างๆ แล้ว พลเอกประยุทธ์ หัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ผู้เป็นหัวเรือหลักในการวางกติกาทางการเมือง ก็ประกาศออกมาเองด้วยเช่นกันว่า “ผมสนใจการเมือง”
แล้วที่ทางของพลเอกประยุทธ์จะโผล่มาให้เห็นในรูปแบบใด เขาตอบนักข่าวไว้ว่า ก็อยากให้กฎกติกาต่างๆ ที่คสช. วางไว้ เช่น กฎหมายกว่าสามร้อยฉบับ และยุทธศาสตร์ชาติ ได้รับการปฏิบัติจริง แต่นี่ไม่ใช่การสืบทอดอำนาจ
ความสนใจทางการเมืองของพลเอกประยุทธ์ ก็เจอกับจังหวะข่าวที่รับลูกกันดี และกลายเป็นเรื่องขำขันกันไปทั้งสัปดาห์กับการเล่นโหวตนายกฯ ในดวงใจ เรื่องราวเริ่มมาจากที่นิด้าโพลล์สำรวจความเห็นว่า “ท่านอยากให้ใครเป็นนายกรัฐมนตรีตามกฎหมายการเลือกตั้งในการเลือกตั้งครั้งต่อไป” ผลออกมาว่า พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา ได้คะแนนมาอันดับหนึ่งที่ 29.66% ตามมาด้วยคุณหญิงสุดารัตน์ เกยุราพันธุ์ ที่ได้ 17.51%
ที่จริงนิด้าก็ทำโพลล์แบบนี้มาเป็นครั้งที่ 4 แล้วในปี 2561 นี้ ทุกครั้งก็ได้ผลออกมาว่า พลเอกประยุทธ์คะแนนมาเป็นที่หนึ่ง แต่ถ้าสังเกตลึกลงไป ในบรรดา 1,251 คนในเครือข่ายผู้ตอบโพลล์นิด้านั้น เส้นกราฟความนิยมของพลเอกประยุทธ์ดิ่งลงเรื่อยๆ จากที่ได้ 38.64% ในครั้งแรก ลดลงเหลือ 32.24%, 31.26% และ 29.66% ในครั้งล่าสุด
ซึ่งหากจะยึดโพลล์นิด้าเป็นสรณะ คนที่น่ากังวลเห็นจะเป็นค่ายพรรคประชาธิปัตย์ ที่อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ จากที่เคยได้อันดับ 3 มาต่อเนื่อง แต่โพลล์ล่าสุดของเดือนกันยายนนี้ ถูกธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ ชิงเข้ามาเป็นอันดับ 3 ดันอภิสิทธิ์ลงไปให้เป็นอันดับ 4 แทน
เมื่อผลโพลล์ของนิด้าออกมาเช่นนี้ สำนักอื่นๆ ก็เอาอย่างบ้าง เช่น สถานีโทรทัศน์ ONE ช่อง 31 ในเครือแกรมมี่ ก็ลองตั้งคำถามในเฟซบุ๊ก คำถามง่ายๆ ไม่ซับซ้อนว่า “สมมติว่า ‘บิ๊กตู่’ ลงเล่นการเมือง” ตัวเลือกมีแค่สองอย่างคือ “เลือก” กับ “ไม่เลือก” มีผู้โหวตทั้งสิ้น 345,500 ราย ปรากฏว่า มีผู้โหวตเลือกพลเอกประยุทธ์เพียง 12% และ มีผู้ไม่เลือกสูงถึง 88%
ผลออกมาแบบนี้ คนอาจทำให้คนออกแบบโพลล์นิด้าเขินๆ ไปบ้างนิดหน่อย
อีกสถาบันหนึ่ง มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ทำแบบสอบถามกับกลุ่มตัวอย่าง 5,000 คน ปรากฏว่า คะแนนอันดับหนึ่งคือ ทักษิณ ชินวัตร ที่ได้ 24% ตามด้วยธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ 19% อภิสิทธ์ เวชชาชีวะ 10% ส่วน ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร และ ประยุทธ์ จันทร์โอชา ได้คะแนนเท่าๆ กันที่ 6%
อย่างไรก็ดี มวลชนก็ทำได้เพียงลองเล่นเลือกตั้งกันผ่านโพลล์เฟซบุ๊ก คลิกเมาส์กดคียบอร์ดกันไป แต่หากจะหาโอกาสเข้าคูหากากบาทให้กับชื่อลุงตู่-ประยุทธ์ แฟนๆ คงไม่มีโอกาสนั้น เพราะเขาคงไม่ลงเล่นการเมืองในระบบ แต่ถ้าอยากให้พลเอกประยุทธ์กลับมา ก็คงต้องสืบเสาะกันไป ว่ามีพรรคใดจะเสนอชื่อประยุทธ์เป็นนายกคนนอกกันบ้าง
ปลื้ม-วีอาร์โซ ลูกชาย ชวน หลีกภัย สมัครเข้าพรรคประชาธิปัตย์ โชว์ภาพการเมืองของคนรุ่นใหม่ ตามขนบเก่าๆ ที่มีมา
“ขอสามคำ” ถึงพรรคประชาธิปัตย์หน่อย คำตอบของคุณจะเป็นสามคำไหน แต่สำหรับ ปลื้ม-สุรบถ หลีกภัย พิธีกรเจ้าของคำถามฮิตในรายการวีอาร์โซ (VRZO) พูดเอาไว้ว่า “เรา-ตั้ง-ใจ” พร้อมประกาศช่วยงานพรรคประชาธิปัตย์เต็มตัว
ลูกชายหัวแก้วหัวแหวนของชวน หลีกภัย อดีตนายกรัฐมนตรี และประธานที่ปรึกษาพรรคประชาธิปัตย์ สมัครเข้าเป็นสมาชิกพรรคเมื่อ 26 กันยายน 2561 โดยจะเข้ามาช่วยงานตามความเชี่ยวชาญ ซึ่งคือด้านการสื่อสารการเมือง ที่เขามั่นใจว่าจะสามารถสื่อสารเรื่องการเมืองให้ง่าย เข้าถึงกลุ่มวัยรุ่นได้
เรียกได้ว่านี่เป็นยุคสมัยที่ไม่ว่าพรรคไหนต่างก็งัดเอาภาพลักษณ์ ‘คนรุ่นใหม่’ ออกมาต่อสู้กันเพื่อช่วงชิงเสียง First Vote ซื้อใจวัยรุ่นที่กำลังจะเลือกตั้งครั้งนี้เป็นครั้งแรก แต่ละพรรคต่างเปิดตัวความ ‘ใหม่’ ในแบบของตน หากไม่ใช่ใหม่ทางประสบการณ์การเมืองแบบ ธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ แห่งพรรคอนาคตใหม่ ก็เป็นทางเลือกใหม่จากพรรคเล็กๆ อย่างพรรคสามัญชนที่เน้นทำงานกับนักเคลื่อนไหวในพื้นที่ทั่วประเทศ ส่วนสูตรการเมืองของพรรคเก่าก็ดังที่เห็น เช่นที่พรรคประชาธิปัตย์ใช้วิธีดึงลูกหลานนักการเมืองที่มีหน้ามีตาในสังคมมาแทนภาพลักษณ์ใหม่ๆ ตั้งแต่ ไอติม-พริษฐ์ วัชรสินธุ หลานชายของหัวหน้าพรรคอย่าง อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ก่อนจะมาถึง ปลื้ม-สุรบท ลูกชายของชวน หลักภัย ผู้มีอิทธิพลในประชาธิปัตย์
ในขณะที่ต่างฝ่ายต่างก็จับตากันว่า หากมีการเลือกตั้งรอบนี้ ด้วยกลไกกฎหมายที่ คสช.ออกแบบมา เป็นไปได้ยากที่จะมีพรรคการเมืองเข้มแข็ง หรือจะมีพรรคที่ได้เสียงข้างมากพรรคเดียว จึงแน่นอนว่า พรรคใหญ่ที่ดูเหมือนไม่มีทางไปด้วยกันได้คงต้องยอมจับมือกันเป็นพรรคร่วมรัฐบาล แต่มองอย่างไรก็ดูไม่มีส่วนผสมที่ลงตัวและเป็นไปได้เลย เรื่องนี้เมื่อนักข่าวถามสุรบถว่า คิดว่าจะจับมือกับเพื่อไทย พรรคขั้วตรงข้ามที่บาดหมางกันมายาวนานได้ไหม สุรบถตอบว่า จะจับมือกันเป็นรัฐบาลหรือไม่นั้น เป็นเรื่องของผู้ใหญ่ภายในพรรค แต่ในยุคของเขา ประชาธิปัตย์กับเพื่อไทยนั่งคุยกันได้สบาย
นี่อาจเป็นอีกครั้งที่ความเห็นต่างในเชิงอุดมการณ์อาจจะถูกมองข้ามแล้วละลายทิฐิผ่านน้ำเสียงของคนมาใหม่ที่ไม่ได้แบกความขัดแย้งรุ่นพ่อเอาไว้บนบ่า แต่ความปรองดองกับการมีอุดมการณ์จะเป็นเรื่องที่ไปด้วยกันได้หรือไม่นั้น การก้าวข้ามความขัดแย้งกับการแสวงประโยชน์ทางการเมืองแตกต่างกันอย่างไร รวมไปถึงการมีหุ่นหน้าใหม่ๆ ภายใต้กรอบกติกาซับซ้อนที่คนรุ่นปู่วางเอาไว้ให้ จะสร้างการเมืองใหม่ไปได้ขนาดไหน ดูรวมๆ แล้วดูจะไม่ง่ายเลยที่การเมืองไทยจะพลิกโฉมสู่ยุคใหม่ได้ในเร็ววันนี้
ศึกไผ่ทอง – พ่อยกกิจการให้ลูกชาย? ฝ่ายลูกสาวฟ้องกลับ ออกไปตั้งใหม่ อย่ามาใช้คำว่าไผ่ทองเหมือนกันให้เสียชื่อ
ในสัปดาห์ที่ศึกสายเลือดในตระกูลจิระอนันต์ ในละคร เลือดข้นคนจาง กำลังเข้มข้น ศึกไอศกรีมไผ่ทองก็มีรสชาติเข้มข้นไม่แพ้กัน เพราะจู่ๆ เพจ ไผ่ทองไอสครีม ก็ลงรูปประกาศเตือนระวังของปลอม ของแท้ต้องสะกดด้วย ส. เสือ เท่านั้น
แต่เอ๊ะ โลโก้ที่ว่าปลอมนั้น เราก็เห็นมาแต่เด็ก แปลว่าที่ผ่านมา คุณหลอกดาวหรือ!? พอโยนกระทู้ถามอย่างนี้ หลายสำนักข่าวอาสายื่นไมค์ไปเคลียร์ให้หายข้องใจ
ความจริงก็ออกมาว่า นี่คือศึกในตระกูลชัยผาติกุล มีตัวละครเป็น พ่อ แม่ ลูกชายสองคน และลูกสาวหกคน ภายใต้ธุรกิจกงสีที่มีชื่อ ‘ไผ่ทองไอสครีม’ เป็นแบรนด์ติดหู แต่ตัวละครสำคัญในเรื่องนี้ ฝ่ายน้ำเงินคือลูกสาวคนโตที่ชื่อ สุนีย์ (จะเรียกว่า ฝ่าย ส. ตามตัวสะกด สนับสนุนโดยแม่) ปะทะ ฝ่ายแดง (ฝ่าย ศ.) คือ บุญชัย ลูกชายคนที่ 6 ที่กล่าวกับไทยรัฐออนไลน์ ว่าตนเป็นลูกที่สืบสานธุรกิจจากพ่อ หลังจากปี 2526 พ่อแบ่งสมบัติให้ลูกชายสองคนของครอบครัว จากพี่น้องทั้งหมดแปดคน (ยังไม่ใช่มรดกนะ เพราะพ่อยังไม่ตาย) แต่พี่ชายไม่เลือกธุรกิจขายไอศกรีมเพราะเป็นงานหนัก และเลือกทรัพย์สินอื่นไปแทน
“ตอนนั้นผมอายุ 17-18 ปี … แต่ผมก็รับ และก็เริ่มทำงานที่โรงงาน ตอนนั้นทำงานตั้งแต่ตี 4 ถึงเที่ยงคืน เหนื่อยมาก”
เหตุการณ์ที่บุญชัยอ้างถึงในตอนนั้น ยังเป็นช่วงเวลาที่กิจการใช้ชื่อพี่สาวสองคนเป็นเจ้าของ และเขาบอกว่าเมื่อตนบรรลุนิติภาวะ ก็ได้ทำธุรกรรม ‘ซื้อคืน’ เพื่อเป็นเจ้าของโรงงาน แต่ในปี 2530 แม่กลับยึดกิจการและบังคับให้โอนคืนให้แม่ แต่เขาไม่ยอม แม่และพี่สาวทั้งหลายจึงย้ายเครื่องจักรไปเปิดที่อื่น ส่วนตนได้กลับมาฟื้นกิจการในโรงงานเก่าตั้งแต่ปลายปี 2541 และเปิดใหม่ได้ในปี 2543 และได้ใช้ชื่อที่สะกดต่างกันว่า ไผ่ทองไอศครีม ซึ่งคล้ายกับของเก่ามาก
“ต้นปี 2561 ก็ได้รับคำฟ้อง ที่แม่ฟ้องผม เรียกค่าเสียหาย ที่นำแบรนด์ไผ่ทองไปใช้”
ฟังเรื่องเล่าจากมุมแดงมาแล้ว ลองมาหันหน้าฟังเรื่องเล่าจากมุมน้ำเงิน รตา ลูกสาวคนสุดท้องเล่าว่า อันที่จริง ไผ่ทองไอสครีม เป็นของครอบครัว โดยสุนีย์ (ข่าวบางแห่งสะกด สุณี) พี่สาวของตน เป็นผู้คิดคำว่า ‘ไผ่ทองไอสครีม’ โดยใช้ไอศกรีมสะกดด้วย ส.เสือ เพื่อสร้างกิมมิค และใช้ ส. เพื่อให้พ้องกับอักษรนำของชื่อ สุนีย์ ส่วนปรีชา ลูกคุณโตเป็นคนจ้างช่างมาวาดภาพต้นไผ่และตราสินค้า พี่ชายพี่สาวทั้งสองมองว่าตราสินค้าเป็นของครอบครัว
ส่วนเรื่องพ่อยกกิจการให้ลูกชายคนที่ 6 นั้น รตาตอบว่า ไม่เชื่อ! ไม่ใช่!
“ถ้าพ่อยกให้ ทำไมพ่อเปิดบริษัทใช้ชื่อพ่อ คือ หจก.ไผ่ทองซีกิมเซ็ง ไม่เปิดบริษัทชื่อลูกชายที่ยกให้” (ขอหมายเหตุว่า ไผ่ทองซีกิมเซ็ง จดทะเบียนบริษัทเมื่อปี 2541โดยมีพ่อเป็นหนึ่งในกรรมการขณะนั้น) รตายังอ้างถึงการจดตราสินค้า เมื่อ พ.ศ. 2526 (ปีที่บุญชัยอ้างว่ามีการแบ่งสมบัติ)
ส่วนบุญชัยนั้นแยกไปเปิดบริษัทชื่อเอสซีเค (จดทะเบียนปี 2546) ทำกิจการจำหน่ายรถยนต์ ซึ่งตอนหลังก็เพิ่งมาเปลี่ยนชื่อเป็น ไผ่ทองไอศครีม ตอนพ่อเสียชีวิตเมื่อปี 2557 แม้จะทำโรงงานขายไอศกรีมมาก่อนนั้นแล้ว เพราะพ่อเคยห้ามไว้ว่าอย่าขายไอศกรีมในชื่อเดียวกัน
ส่วนโลโกที่เป็นประเด็นกันอยู่นั้น ฝ่ายลูกสาว ไปรับเปลี่ยนโลโกใหม่ในปี 2541 โลโกต้นไผ่ที่เราเห็นว่าคุ้นนั่นคือโลโกที่ใช้มาระหว่างปี 2535-2541
เราคงยังสรุปอะไรไม่ได้ในตอนนี้ เพราะต่างฝ่ายต่างอ้างความเป็นเจ้าของแบรนด์ด้วยต่างเหตุผลกัน นั่นคือ ฝ่ายลูกชายอ้างว่าพ่อยกให้ และโรงงานที่ตั้งอยู่นั้นเป็นโรงงานดั้งเดิม ฝ่ายลูกสาว (และแม่) อ้างว่าเป็นธุรกิจกงสีที่ครอบครัวทำร่วมกันมาอยู่ก่อนแล้ว มีแค่บุญชัยที่แยกไปตั้งกิจการใหม่และใช้ชื่อเลียนแบบของเดิม
ส่วนฝ่ายไหนสะกดถูก ราชบัณฑิตก็คงต้องบอกว่าผิดทั้งคู่จ้า เพราะคำนี้ต้องสะกดว่า ไอศกรีม
ประเด็นร้อนแรงขึ้นมา เพราะเมื่อกลางปี 2561 นี้เอง ไผ่ทองไอสครีม (ฝ่ายลูกสาวที่ยื่นจดตราสินค้าก่อน) ได้ยื่นฟ้อง ไผ่ทองไอศครีม กรณีละเมิดตราสินค้า ปัจจุบันคดียังอยู่ในศาล
ในปี 2560 ไผ่ทองซีกิมเซ็ง (ฝ่าย ส.) มีรายได้รวม 75 ล้านบาท คิดเป็นกำไร 1.8 ล้าน (หลังเสียภาษี) ส่วน ไผ่ทองไอศครีม (ฝ่าย ศ.) มีรายได้รวม 36 ล้านบาท ขาดทุน 3.5 ล้านบาท
หากสงสัยว่าขาดทุนจากตัวเลขไหน ลองไปส่องในงบกำไรขาดทุน ฝ่ายหลังระบุต้นทุนขาย 34 ล้านบาท และค่าใช้จ่าย 5 ล้านบาท ในขณะที่ไผ่ทองซีกิมเซ็ง ระบุต้นทุนขาย 72 ล้าน และค่าใช้จ่าย 1 ล้านบาท หากใครมีต่อมสงสัยโตเป็นพิเศษ ให้ไปดูรายละเอียดกันได้ที่นี่
ไอศกรีมมีรสหวานๆ แต่พล็อตเรื่องแย่งชิง ‘ไผ่ทอง’ นี้ฟังดูเผ็ดปนขม ผู้ชมทางโซเชียลมีเดียได้แต่ปูเสื่อรอชม และบ่นอุบอิบว่า ไม่ว่าจะแบรนด์ไหน ก็เรียกไม่ทันจะได้ซื้อทุกที
ไปสยามต้องแต่งตัวแพง และประดับด้วยดอกมุราคามิ คือความฮิตของวัยรุ่นไทยสมัยนี้
ไม่ว่ากี่ยุคกี่สมัย อยากรู้ว่าเทรนด์แฟชั่นหรืออะไรกำลังฮิตสำหรับวัยรุ่น ก็ต้องไปสำรวจที่สยาม ซึ่งในรอบสัปดาห์ที่ผ่านมามีกระแสคลิป ‘ไปสยาม แต่งตัวร่วมแสน !!!’ และดอกไม้มุราคามิหลากสีที่กลายเป็นเครื่องประดับสุดฮิต ที่ถูกพูดถึงอย่างมากในโลกโซเชียล
คลิป ‘ไปสยาม แต่งตัวร่วมแสน!!!’ ถูกทำโดยเพจเฟซบุ๊ก หมิง ขั้วโลก ที่พาไปสำรวจเทรนด์แฟชั่น ว่าวัยรุ่นไทยในสมัยนี้เขานิยมแต่งตัวแบบไหน ไอเท็มชิ้นไหนกำลังมาแรง และสิ่งที่ไม่ธรรมดาของคลิปนี้คือ มูลค่าไอเท็มแต่ละชิ้นที่วัยรุ่นไทยมีติดตัว ตั้งแต่รองเท้า เสื้อผ้า กระเป๋า ที่บางชิ้นเป็นของแบรนด์เนมราคาหลักหมื่น ถึงขั้นที่บางคนราคาตั้งแต่หัวจรดเท้าร่วมแสนบาท
หลังจากคลิปนี้เผยแพร่ออกไปก็มีคนแชร์ร่วมแสนคนและคอมเมนต์อีกหลักหมื่น ล้วนมีความเห็นที่หลากหลาย ไม่ว่าจะเชิงต่อว่า แสดงความเป็นห่วงเด็กสมัยนี้ว่าใช้เงินเกินตัว ฟุ่มเฟื่อย ของที่ใช้อยู่เป็นเงินของพ่อแม่ ส่วนอีกกระแสก็บอกว่าเป็นสิทธิ์ส่วนบุคคล และแต่ละครอบครัวจะให้เงินลูกไปซื้อของอะไรก็ได้
ส่วนอีกหนึ่งเทรนด์ฮิตคือการติดดอกมุราคามิที่ส่วนใดส่วนหนึ่งของร่างกาย ไม่ว่าจะเป็นที่เสื้อ หรือกระเป๋า สาเหตุที่อยู่ดีๆ ดอกมุราคามิก็เกิดฮิตขึ้นมา เนื่องจากกระแสดาราศิลปิน เช่น โมบายล์ BNK48 โทนี่ รากแก่น และศิลปินเกาหลี จียง G-Dragon แห่งวง BigBang หยิบเอาดอกไม้หน้ายิ้มหลายสีนี้มาติดบนเสื้อผ้า
ดอกมุราคามิเป็นผลงานการออกแบบของทาคาชิ มุราคามิ (Takashi Murakami) ศิลปินป๊อปอาร์ตของญี่ปุ่น ที่เคยร่วมงานกับแบรนด์ดังๆ เช่น Marc jacobs, Louis Vutton และ Uniqlo มาแล้ว โดยผลงานส่วนใหญ่ได้แรงบันดาลใจมาจากการ์ตูนอะนิเมะของญี่ปุ่น
ด้วยกระแสความฮิตทำให้ราคาของดอกมุราคามิจากเดิมที่ราวๆ 600-700 บาท บางที่รับพรีออเดอร์หรือขายกันเกินพันบาทไปแล้ว
ก็เรียกว่าทั้งสองกระแสถือเป็นเทรนด์ของวัยรุ่นไทยในปี 2018 นี้
โปรดอย่าตื่นตระหนัก กทม.เก็บค่าที่จอดรถ 66 สาย ทั่วกรุงเทพฯ เป็นแค่ระเบียบเก่าที่ออกมานานแล้ว
วันที่ 26 ก.ย. 2561 เว็บไซต์ราชกิจจานุเบกษา เผยแพร่ประกาศกรุงเทพมหานคร เรื่องกำหนดที่จอดยานยนตร์และอัตราค่าธรรมเนียมจอดยานยนตร์ ลงนามโดย พลตำรวจเอก อัศวิน ขวัญเมือง ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร เนื้อหาระบุว่า เป็นการสมควรปรับปรุงประกาศกรุงเทพมหานคร ว่าด้วยการกำหนดที่จอดยานยนตร์ และอัตราค่าธรรมเนียมจอดยานยนตร์ให้เหมาะสมยิ่งขึ้น อาศัยอำนาจตามความในข้อ 5 และข้อ 11 แห่งข้อบัญญัติกรุงเทพมหานคร เรื่อง การจัดระเบียบ การจอดยานยนต์ พ.ศ. 2536 จึงกำหนดที่จอดยานยนต์และอัตราค่าธรรมเนียมจอดยานยนต์ไว้
ประกาศฉบับดังกล่าวมีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 27 กันยายน 2561 เป็นต้นไป โดยมีการระบุรายละเอียดธรรมเนียมจอดรถในถนน 66 สายทั่วกรุงเทพฯ เช่น ถนนข้าวสาร ซอยนานา ถนนเจริญกรุง ถนนพาหุรัด เป็นต้น ในอัตราตั้งแต่ 5-80 บาท
ทันทีที่มีประกาศเรื่องการเก็บค่าที่จอดรถทั่วกรุงเทพฯ 66 สาย ก็เกิดเป็นข้อกังวลและข้อสงสัยให้กับประชาชนว่า ข้อเท็จจริงดังกล่าวเป็นอย่างไร จนกทม. ต้องออกมาชี้แจงว่านี่เป็นเรื่องเดิม แค่เอามารวมเป็นประกาศเดียวกัน และยังเก็บในอัตราค่าธรรมเนียมเดิม
วันที่ 27 กันยายน ด้านเกรียงยศ สุดลาภา รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร (กทม.) ออกแถลงข่าวว่าจริงๆ แล้วเป็นเพียงการรวบรวมแต่ละประกาศก่อนหน้านี้ให้มาอยู่ในฉบับเดียวกัน ซึ่งก็เป็นถนน 66 เส้นตามเดิม และอัตราค่าจอดรถก็เป็นไปตามเดิมตั้งแต่ปี 2535
แต่มีข้อแตกต่างในการจัดเก็บค่าจอดรถเพิ่มหนึ่งแห่ง คือ ถนนราชดำริ จากเดิมที่ยกเว้นการจัดเก็บค่าจอดรถบริเวณถนนราชดำริสำหรับยานยนต์ทุกประเภทใน 3 ช่วงเวลา คือ 04.00 – 08.00 น. และ 17.00 – 19.00 น. และในวันอาทิตย์ ตั้งแต่เวลา 17.00 – 24.00 น. เหลือเพียง 04.00 – 08.00 น.ของทุกวัน โดยพิจารณาจากหลักเกณฑ์สถิติที่ประชาชนที่มาใช้บริการจอดรถยนต์ในช่วงเช้าเวลาออกกำลังกายที่มีจำนวนมาก
ทั้งนี้การออกประกาศจัดเก็บค่าจอดรถบนถนนสายต่างๆ เป็นการจัดระเบียบเมืองและป้องกันผู้แอบอ้างเรียกเก็บค่าที่จอดรถบนถนนสาธารณะ ซึ่งปัจจุบัน กทม. มีเจ้าหน้าที่กองรายได้ สำนักการคลัง จำนวน 71 ราย ดูแลการจัดเก็บค่าที่จอดรถบนถนน 66 สาย โดยประชาชนสังเกตเจ้าหน้าที่ได้ว่า ขณะปฏิบัติหน้าที่จะแต่งเครื่องแบบ กทม. ชุดข้าราชการสีกากี และมีบัตรเจ้าหน้าที่คล้องคอ และเมื่อจัดเก็บค่าจอดรถแล้ว จะมีใบเสร็จรับเงินให้ทุกครั้ง
อย่างไรก็ดี รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครยอบรับว่า กทม. มีรายได้จากการจัดเก็บค่าจอดรถเฉลี่ยปีละประมาณ 11 ล้านบาท ที่ผ่านมาประชาชนส่วนใหญ่ยังไม่ทราบถึงกฎระเบียบดังกล่าว เนื่องจากมีจำนวนเจ้าหน้าที่ไม่เพียงพอต่อถนนทั้ง 66 สาย ขณะนี้อยู่ระหว่างการศึกษาแนวทางการให้ภาคเอกชนเข้าบริหารจัดการแทน กทม.