ขึ้นชื่อว่าเป็นดราม่า ใช่ว่าจะมีแต่มุมให้เผือก แต่ทุกเรื่องล้วนแทรกสาระให้ครุ่นคิดส์ทั้งนั้น Trending This Week สัปดาห์นี้ มีตั้งแต่ — ดราม่าคดีข่มขืนที่เกาะเต่า — แม้เริ่มเรื่องว่ามันลามเลียภาพลักษณ์ประเทศไทย แต่ลงท้ายไปหวยลงที่ชาวเน็ตโดนฟ้องคดีพ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ ตามมาด้วย — ดราม่าดารา #มิ้งโป๊ะแตก — ที่แม้วันนี้มีเฉลยแล้ว แต่สิ่งที่จะตราตรึงไปนานไม่แพ้กันก็คือสุ้มเสียงของเหล่ากองเชียร์ที่ออกมาให้โอวาททางศีลธรรมเอาไว้หลายบท เรื่องหญิงๆ ชายๆ ยังไปโผล่ใน – ดราม่าวงการตำรวจหญิง — ที่มีแนวโน้มว่าโอกาสที่ผู้หญิงจะสมัครเข้าบรรจุเป็นตำรวจดูเป็นไปได้ยากขึ้นอีก ตามด้วย –ดราม่าการตลาดไนกี้ ที่แบรนด์ยักษ์ใหญ่หยิบเอาเซเลบที่มีทั้งคนชอบมากและเกลียดมากมาเป็นพรีเซนเตอร์

ไปดูกันเลยว่าเรื่องฮิตติดเทรนด์สัปดาห์นี้เป็นอย่างไร The Momentum คัดสรรมาเสิร์ฟเป็นประจำทุกสัปดาห์

1. เรื่องไทยๆ ดังไปทั่วโลก จากปมเกาะเต่าสู่ปัญหาพ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ

เรื่องคงไม่แดงถ้าไม่เป็นข่าวในสื่อหัวสีของอังกฤษอย่าง เดอะซัน และ เดลี่เมล ที่ลงข่าวเมื่อวันที่ 21 สิงหาคมที่ผ่านมา ว่ามีนักท่องเที่ยวสาวชาวอังกฤษ ใช้ชื่อว่า Issy อายุ 19 ปี บอกว่าถูกข่มขืนและชิงทรัพย์ที่เกาะเต่าตั้งแต่ 26 มิถุนายน 2561 เธอไปแจ้งความแล้ว แต่เจ้าหน้าที่ตำรวจไม่รับเรื่อง รับแจ้งความก็เฉพาะกรณีของหายเท่านั้น

ด้วยเกาะเต่าเป็นสถานที่ฮอตฮิตสำหรับนักท่องเที่ยว ทำให้เรื่องนี้ก็ดังกระฉ่อนพอสมควรและเป็นที่วิพากษ์วิจารณ์กันมากมาย และข่าวนี้เป็นข่าวใหญ่ที่อังกฤษ ออสเตรเลีย และนิวซีแลนด์ด้วย

จากนั้น เพจเฟซบุ๊ค CSI LA ก็เอาข่าวที่ว่ามาเผยแพร่อีกทอดเมื่อ 3 กันยายนที่ผ่านมา โดยโพสต์ข้อมูลไทม์ไลน์ที่แม่ของผู้เสียหายเล่ารายละเอียดการติดต่อสถานทูตอังกฤษประจำประเทศไทยและตำรวจท่องเที่ยว เกี่ยวกับกรณีที่ลูกสาวของเธอโดนข่มขืน แต่ตำรวจไม่รับแจ้งความโดยให้เหตุผลว่าอยู่คนละท้องที่กัน

ใครที่ยังคุ้นๆ ชื่อ เพจ CSI LA แต่นึกไม่ออก เพจนี้คือเพจที่เคยออกมาเปิดข้อมูลต่างๆ ซึ่งส่วนใหญ่เป็นเรื่องฉาวโฉ่ เช่นที่ไปซูมภาพข้อมือของ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) และรองนายกรัฐมนตรี ที่ยกมือขึ้นมาบังแดดขณะจะถ่ายรูปแล้วดันไปเห็นว่าใส่นาฬิกายี่ห้อหรูราคาเกิน 7 หลัก จึงไปเทียบกับรายการแจกแจงบัญชีทรัพย์สินที่พบว่าไม่ตรงกัน จนเป็นเรื่องเป็นราวให้ครหาเรื่องความโปร่งใสกันไปหลายเดือน

มารอบนี้ เพจ CSI LA เผยแพร่เนื้อหาและความกังวลต่อคดีที่เกาะเต่า รวมถึงแสดงความไม่มั่นใจในการปฏิบัติงานของเจ้าหน้าที่ตำรวจ และเมื่อผู้เสียหายให้ข้อมูลเพิ่มเติมถึงรายละเอียดจุดเกิดเหตุ ร้านอาหาร บาร์ และสถานที่ที่เกี่ยวข้อง กลับไม่มีข้อมูลที่ได้จากกล้องวงจรปิด ซึ่งทางเพจก็วิเคราะห์ว่า เรื่องนี้ดูจะด่วนสรุปและด่วนจบเกินไป ทั้งที่ยังไม่มีการสอบปากคำจากผู้เสียหายเลย

หลังจากข้อมูลต่างๆ เผยแพร่ไป เรื่องราวก็ไปถึงมือสื่ออิสระรุ่นใหญ่ โดย สุทธิชัย หยุ่น ก็จัดไลฟ์ สัมภาษณ์หลายฝ่าย เช่น แม่ของผู้เสียหาย นายกเทศมนตรีของเกาะเต่า CSI LA และ พล.ต.ต. สุรเชษฐ์ หักพาล รองผู้บัญชาการตำรวจท่องเที่ยว

พอข่าวเริ่มมาคุ ตำรวจก็ดูจะมีน้ำโห เพราะเล่นแพร่ข่าวกันจนจะทำลายภาพลักษณ์เกาะเต่าและการท่องเที่ยวของไทยไปยับเยิน ยิ่งมีความหลังที่ต้องยอมรับว่ามีคดีแล้วคดีเล่าที่นักท่องเที่ยว (โดยเฉพาะชาวอังกฤษ) มาเกิดเรื่อง ณ ที่แห่งนี้แล้วรู้สึกไม่ได้รับความยุติธรรม เมื่อคิดแบบนี้แล้ว ดูเหมือนประเด็นจะไม่ใช่แค่เรื่องภาพลักษณ์การท่องเที่ยว แต่เป็นเรื่องภาพลักษณ์วงการตำรวจและกระบวนการยุติธรรมไทยเลยทีเดียว

จนเวลา 21.38 นาที ของวันที่ 3 กันยายน เพจ ‘สุรเชษฐ์ หักพาล’ ที่เชื่อว่าเป็นเพจของ พล.ต.ต. สุรเชษฐ์ หักพาล รองผู้บัญชาการตำรวจท่องเที่ยว หรือ ‘รองโจ๊ก’ โพสต์ข้อความและรูปการออกหมายจับ “คนแชร์ข้อมูลเท็จเกาะเต่า แหม่ม 19 กุเรื่องข่มขืน นายประมุข เจ้าของเพจ อ่วม พาลูกเพจซวยด้วยออกหมายจับตามชื่อสกุลจริง รวมทั้งสิ้น 13 ราย” พร้อมทิ้งท้ายให้บทเรียนว่า “จำไว้ดีดี เช็คก่อน แชร์  ทำความเสื่อมเสียมาสู่ประเทศไทย”

ต่อมา เวลา 23.46 น. วันที่ 4 กันยายน เพจ CSI LA ก็แชร์เฟซบุ๊กที่แฟนเพจคนหนึ่งโพสต์ว่า มีผู้แชร์ข้อมูลเกาะเต่าจากเพจ CSI LA แล้วถูกจับและเตรียมส่งไปดำเนินคดีที่ สภ.เกาะเต่า อ.เกาะสมุย และล่าสุด มีการจับตัวผู้แชร์ข้อมูลจากเพจ CSI LA ได้แล้ว 9 คนจากหมายจับ 11 คน โดยอีกสองคนคือ เจ้าของเพจ CSI LA และเจ้าของเพจเฟซบุ๊ค Samui Times

มาฟังข้อมูลฟังตำรวจ พล.ต.ต. สุรเชษฐ์ ยังให้สัมภาษณ์ผ่านเพจอีจันเกี่ยวกับคดีนี้ว่า พบพิรุธหลายอย่าง โดยในคลิปคำให้สัมภาษณ์ซึ่งใจความประโยคอาจไม่สมบูรณ์ทั้งหมด แต่ปะติดปะต่อได้ความว่า พบพิรุธเรื่องสถานที่เกิดเหตุ ว่าเป็นชายหาดยามน้ำขึ้นสูงถึงเข่า จึงฟังดูเป็นไปไม่ได้ว่าจะถูกข่มขืนในสถานที่และเวลาตามที่แจ้ง พบพิรุธว่าหญิงสาวชาวอังกฤษไปบอกคนอีกคนหนึ่งว่าเสียใจว่าแม้จะมีแฟนอยู่แล้วแต่ยังไปมีอะไรกับ ‘มาร์ติน’ และพล.ต.ต. สุรเชษฐ์ยังแสดงความเห็นว่า นักท่องเที่ยวที่มาเที่ยวแล้วไม่มีเงินก็จะมาแจ้งความว่าถูกข่มขืนเพื่อกลับไปเบิกเงินประกัน หรืออีกกรณีคือ ในบางประเทศ หากถูกข่มขืน รัฐบาลจะอนุญาตให้สามารถทำแท้งได้ ดังนั้น บางกรณีนักท่องเที่ยวมาเที่ยว เมา แล้วมีเซ็กซ์โดยไม่ใส่ถุงยางแล้วกลัวท้อง ก็จะหาวิธีให้สามารถกลับไปรับยาได้ (คาดว่าหมายถึงยาทำแท้ง) และยังมีประเด็นที่เจ้าตัวเดินทางจากเกาะเต่าไปเกาะพงันในวันถัดมาอีก

คงต้องช่วยกันทำความเข้าใจกันหน่อยว่าตำรวจเองมีภาระเยอะ อีกทั้งคดีที่หลักฐานไม่มากพอ ดูไม่มีมูล ก็ไม่จำเป็นต้องรับไว้ อย่างไรก็ดี แม้เหตุหลักที่ทำให้บอกไม่รับคดีจะเป็นเพราะเหตุเกิดคนละท้องที่กับสถานีตำรวจที่แจ้งความ แต่ฟังจากคำให้สัมภาษณ์ของ พล.ต.ต. สุรเชษฐ์ ก็ดูจะมีหลักคิดเบื้องหลังอื่นๆ ที่ทำให้เชื่อได้ว่าเรื่องนี้ไม่มีมูล เช่น ฟ้องคดีเอาประกัน หรือหาเหตุผลไปทำแท้ง ฯลฯ อย่างไรก็ตาม หากจะกู้ภาพลักษณ์กระบวนการยุติธรรมไทยในสายตานานาชาติได้จริง ในกรณีที่มีคดีข่มขืนมาแจ้งความ แทนที่ฝ่ายผู้พิทักษ์สันติราษฎร์จะบอกปัดไป อย่างน้อยก็น่าจะให้คำแนะนำ ช่วยส่งต่อคดี แล้วสืบสวนสอบสวนเต็มกำลัง จริงเท็จอย่างไรก็มาวัดกัน

จากปัญหาคดีอาชญากรรมและภาพลักษณ์การท่องเที่ยว เรื่องเหล่านี้ยังไม่ทันคลี่คลาย แต่หวยมาตกลงที่คนวิจารณ์ที่โดนฟ้องคดีพ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ เสียอย่างนั้น แม้ยังจับตัวคนโพสต์ต้นทางไม่ได้ แต่ พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ เปิดช่องให้รัฐไทยจับคนแชร์ข้อมูลได้ ผู้ต้องหาราว 11-13 คนจึงกำลังจะโดนฟ้องคดีว่านำเข้าข้อมูลเท็จจนทำให้คนตื่นตระหนก ตัวอย่างข้อมูล ‘เท็จ’ ตามที่ พล.ต.ต.สุรเชษฐ์ เปรยเอาไว้ ก็เช่นที่เพจ CSI LA บอกว่า เกิดเหตุวางยา และข่มขืน ทั้งที่ยังไม่มีข้อมูล ส่วนกล้องวงจรปิดในที่เกิดเหตุพัง ที่แท้แล้วไม่ใช่! กล้องไม่ได้พัง แต่เมมโมรี่ถูกเซฟทับไปแล้วเท่านั้นเอง

เชื่อว่าถ้าคดีนี้มีไปต่อ ผู้พิพากษาเจ้าของคดีคงต้องคิดหนัก เพราะแม้จะฟ้องกันที่เรื่อง ‘เท็จ’ แต่ถ้าตำรวจไม่ทำคดีเกาะเต่าต่อ แล้วจะเอาข้อมูลจากไหนมาเคาะถูกผิด

ตลกร้ายที่หากเรื่องนี้มีคนผิด ก็คงได้ใช้โอกาสช่องโหว่กฎหมายไปกลับลอยหน้าลอยตาอยู่ที่ไหนสักแห่ง ส่วนคนที่แสดงความเห็นในโลกออนไลน์กลับถูกเล่นงาน เท่านี้ก็น่าจะเห็นว่า ผู้มีอำนาจหน้าที่ให้ความสำคัญกับสิ่งใดเป็นพิเศษ

โดยสรุปแล้ว มากไปกว่าภาพลักษณ์เรื่องการท่องเที่ยวไทย งานนี้ยังมีเรื่องภาพลักษณ์ของวงการตำรวจที่ต้องรักษา จริงๆ แล้ว พี่ตำรวจน่าจะได้แต้มต่อหากรับคดีเอาไว้พิจารณา จะมองว่ามีคนมาแกล้งแจ้งความหรืออย่างไรก็จะได้มีข้อมูลที่สืบสวนสอบสวนเป็นพื้นฐาน หากพบจริงว่ามีการฟ้องคดีเพื่อหวังผลทางอื่น ก็จะได้ช่วยกันคิดมาตรการอุดช่องโหว่ให้ตรงจุด เอาสรรพกำลังที่จะมาไล่จับคนวิจารณ์ไปทำข้อสรุปคดีที่ว่านี้ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องจริงใจหรือจริงโจ้ แต่ก็น่าจะเสริมสร้างภาพลักษณ์ได้ดีกว่าการจับคนวิจารณ์เป็นไหนๆ

ไม่เช่นนั้นแล้ว สังคมก็จะมองการกระทำของตำรวจในรอบนี้ ว่าใช้พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ เพื่อหวังปิดปากเสียงวิจารณ์ จับให้กลัว จะได้เลิกแชร์กันเสียที แต่นั่นไม่ใช่วัตถุประสงค์ของกฎหมายนะ จริงไหม?

2. ใครไม่แตก #มิ้งโป๊ะแตก ชวนสำรวจแอททิจูดชาวเน็ตกับประเด็นดัง

นับเป็นเรื่องเผ็ดแซ่บที่ละครเรื่องไหนก็ให้ไม่ได้ และก็ไม่ใช่แค่ตอนเดียวจบ แต่เรื่องของ กัปตัน-ชลธร กับ มิ้ง-ศวภัทร ค่อยๆ ดำเนินเรื่องไปทีละเปลาะให้เราได้เสพกันหลายระลอก ชาวเน็ตที่เฮโลกันออกความคิดเห็นถล่มกัปตันในช่วงแรกๆ ก็ดูเหมือนจะต้องพลิกจุดยืนไปตามๆ กัน

จากจุดเริ่มต้นที่ดาราหนุ่มถูกถล่มยับว่าเป็นลูกแหง่ไร้ความรับผิดชอบ ผ่านทางแฮชแท็ก #กัปตันชลธร จนกระทั่งมีแฮชแท็ก #มิ้งโป๊ะแตก โผล่ออกมาช่วยเขาเอาไว้ก่อนจะจมดิน รวมถึงข้อมูลจากฝั่งเพื่อนสนิทของกัปตันที่ขาเม้าท์ต้องไม่พลาด ล่าสุดนี้ อย่างที่หลายคนคาดการณ์ไว้ มิ้งออกมายอมรับแล้วว่าเธอโกหกเรื่องท้องและแท้ง เพราะรักฝ่ายชายมากและอยากรั้งเขาเอาไว้หลังจากเลิกรากัน (แต่ยังไม่วายทิ้งประโยคปริศนาไว้ในช่องคอมเมนต์ของอินสตาแกรมว่า “there is a lot of behind the scene”)

ตลอดระยะเวลาตั้งแต่เดือนมิถุนายนที่เรื่องฟูขึ้นมา เราพบความคิดเห็นของชาวเน็ตที่หลากหลายและสะท้อนค่านิยมของคนไทย ซึ่งมีอยู่สองสามประเด็นที่น่าหยิบมาพูดถึง

มุมมองต่อเซ็กซ์และการแสดงความรับผิดชอบต่อเซ็กซ์ พบว่ามีวัยรุ่นไทยจำนวนไม่น้อยที่ยังมองว่า เมื่อมีเซ็กซ์กันแล้ว ฝ่ายชายจะต้องรับผิดชอบฝ่ายหญิง โดยเฉพาะเมื่อฝ่ายหญิงตั้งครรภ์ ความเห็นกระแสนี้นับว่ามาแรงตั้งแต่ก่อนคดีพลิก คดีพลิกแล้วก็ยังมีโผล่มาอยู่ประปราย หลายคอมเมนต์มาในรูปแบบ “ได้แล้วทิ้ง” หรือ “ยังไงก็เคยจิ้มเขาอยู่ดี” แม้จะดูหวังดีต่อเพศหญิง แต่นี่คือการมองว่า การมีเซ็กซ์ที่แม้เป็นการยินยอมก็ยังเท่ากับว่าผู้หญิงเป็นฝ่าย ‘เสีย’ ส่วนผู้ชายเป็นฝ่าย ‘ได้’ ซึ่งนับว่าน่าเศร้าใจแทนหลายฝ่ายที่พยายามรณรงค์เรื่องความเท่าเทียมทางเพศกันจนปากเปียกปากแฉะ

ต่อกันที่มุมมองเรื่อง ‘ความเป็นหญิง’ ขณะที่หลายคอมเมนต์เรียกมิ้งว่านังงูพิษ ผู้หญิงบางส่วนเลือกแสดงความเห็นใจต่อมิ้งเพราะเป็นผู้หญิงด้วยกัน หรือที่ผู้ชายบางคนเห็นอกเห็นใจถึงขนาดอาสาเป็นพ่อของลูกแทนกัปตัน ช่องโหว่นี้อาจคล้ายกับที่ทำให้มีกระแสตีกลับของ #metoo เมื่อความเหลื่อมล้ำระหว่างเพศหญิงกับเพศชายฝังแน่นยาวนาน จนผู้หญิงมีภาพที่ดูเป็นเหยื่อซึ่งชวนปกป้อง และผู้หญิงบางคนเลือกหาผลประโยชน์จากข้อนี้ อย่างที่พล็อตหนังเฟมินิสม์หลายเรื่องหยิบไปทำ

และแน่นอน เมื่อคดีพลิกขนาดนี้ ฝ่ายที่เคยด่าฝ่ายชายไว้หนักๆ ก็ต้องออกมาขอโทษขอโพยหน้าแห้งกันไป ซึ่งน่าจะเป็นเรื่องที่ช่วยเยียวยาจิตใจกัปตันได้ไม่น้อย คนเคยด่าก็พลอยได้ยืดอกสารภาพบาป แยกย้ายกันไปใช้ชีวิตต่อ

แต่นี่คงไม่ใช่ครั้งแรกที่ชาวเน็ตไปถล่มใครต่อใคร และคงมีหลายกรณีที่ความจริงอีกด้านไม่มีโอกาสได้ถูกเปิดเผย การด่าก่อนแล้วถ้าผิดก็ค่อยออกมาขอโทษนั้น ดูจะเป็นเพียงการแก้ปัญหาที่ปลายเหตุและแทบจะสายเกินไป ดังนั้นที่น่าไตร่ตรองกันจริงๆ จังๆ น่าจะเป็นการเข้าไปถล่มด่าใครสักคนอย่างไม่ลืมหูลืมตาตั้งแต่ต้นเสียมากกว่า โดยเฉพาะเมื่อมันเป็นเรื่องส่วนตัวที่ยากจะใช้มาตรวัดเรื่องศีลธรรมของใครสักคนมาเที่ยวตัดสินคนอื่น

 

3. ปิดประตูนักเรียนนายร้อยตำรวจหญิง นักสิทธิฯ ห่วงคดีเกี่ยวกับเพศจะไม่มี พนง. สอบสวนหญิงคอยดูแล

ต่อไปจะไม่มีนักเรียนนายร้อยตำรวจหญิงแล้ว? ข่าวนี้ชวนให้นึกถึงข่าวโรงเรียนแพทย์ญี่ปุ่นกีดกันไม่ให้ผู้สมัครหญิงเข้าเรียนได้ ที่เพิ่งเป็นเรื่องโจษจันกันไปไม่นาน

เมื่อวันเสาร์ที่แล้ว (1 ก.ย. 61)  เพจ พนักงานสอบสวนหญิง ได้โพสต์รูปเอกสารบันทึกข้อความของสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ที่ระบุว่าในปีการศึกษา 2562 เป็นต้นไป จะไม่มีการรับสมัครบุคคลภายนอก (หญิง) เป็นนักเรียนนายร้อยตำรวจ (นรต.) และบุคคลภายนอกเข้าเป็นนักเรียนเตรียมทหาร ในส่วนของตำรวจ รวมทั้งหมด 280 อัตรา

นี่หมายความว่า โอกาสที่ผู้หญิงจะได้ก้าวไปสู่ตำแหน่ง ‘นายร้อยตำรวจ’ นั้น ถูกปิดประตูไปหนึ่งช่องทาง ซึ่งหากดูตามระเบียบการปี 2561 พบว่าการรับสมัครบุคคลภายนอก (หญิง) มีทั้งหมด 57 อัตรา และการรับสมัครข้าราชการตำรวจ (หญิง) จำนวน 10 อัตรา (เทียบกับบุคคลภายนอกเพศชาย 30 อัตรา)

วันที่ 5 ก.ย. พล.ต.อ.จักรทิพย์ ชัยจินดา ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ (ผบ.ตร.) ออกมาเปิดเผยว่า ตั้งแต่ปีการศึกษา 2562 เป็นต้นไป สำนักงานตำรวจแห่งชาติจะเปิดรับนักเรียนนายร้อยตำรวจที่มาจาก ‘นักเรียนเตรียมทหาร’ คือต้องผ่านโรงเรียนเตรียมทหารเท่านั้น เพื่อให้สอดรับกับมติกระทรวงกลาโหมและสภาการศึกษาโรงเรียนเตรียมทหาร ที่ทุกเหล่าทัพรับแต่ นตท. เข้าเหล่า

เงื่อนไขที่ต้องเป็น นตท. มาก่อนนี้ ทำให้ผู้หญิงหมดสิทธิ์เป็นนักเรียนนายร้อยตำรวจ จากที่มีโอกาสนี้ในช่วงเวลาสั้นๆ เพียง 10 ปี คือเริ่มตั้งแต่ปี 2552 ในยุคของ พล.ต.อ.พัชรวาท วงษ์สุวรรณ ที่เปิดโครงการให้ผู้หญิงเข้าเรียนใน รร.นายร้อยตำรวจสามพราน จังหวัดนครปฐม เป็นครั้งแรกในรอบ 107 ปีนับตั้งแต่ก่อตั้งโรงเรียนนายร้อยตำรวจ โดยมีคุณสมบัติในการสมัครคือเรียนจบ ม. 6 หรือเป็นตำรวจชั้นประทวนมาก่อน อายุไม่เกิน 25 ปี

เมื่อเกิดประเด็นนี้ขึ้นมา แน่นอนว่าองค์กรสิทธิสตรีไม่อยู่เฉย แสดงความเป็นห่วงว่าต่อไปนี้ คดีที่เกี่ยวกับเพศอาจขาดแคลนพนักงานสอบสวนหญิงไปดูแล เพราะปัจจุบัน จำนวนพนักงานสอบสวนหญิงก็ไม่พออยู่แล้ว (มีอยู่ราวๆ 400 คน จากพนักงานสอบสวนทั้งหมด 8,000 คน) หากยุติการรับนักเรียนนายร้อยตำรวจหญิง ก็จะส่งผลต่อคดีเกี่ยวกับเด็กและสตรีในอนาคตอย่างแน่นอน

“การมีพนักงานสอบสวนหญิงช่วยได้มาก เพราะเหยื่อความรุนแรง ถูกล่วงละเมิด หรือถูกข่มขืน มักลังเลที่จะแจ้งความ แต่หากเรามีพนักงานหญิงจะช่วยทำให้ผู้เป็นเหยื่อมีความสบายใจที่จะแจ้งหรือให้ปากคำมากกว่า” อุษา เลิศศรีสันทัด ผู้อำนวยการมูลนิธิผู้หญิง กล่าวไว้กับบีบีซีไทย

ทางด้านสำนักงานตำรวจแห่งชาติก็โต้กลับว่า อย่างไรก็ยังมีการรับพนักงานสอบสวนหญิงที่ต้องทำคดีเกี่ยวกับคดีทางเพศอยู่ตามเดิม เหมือนจะบอกกลายๆ ว่า ผู้ที่ท้วงติงเหล่านี้ไปเป็นห่วงไม่ถูกจุด

“ขอยืนยันว่า การตัดสินใจในเรื่องดังกล่าวจะไม่เป็นการตัดสิทธิการเข้ารับราชการตำรวจของผู้หญิง เพราะมีช่องทางอื่นๆ ที่ผู้หญิงสามารถเข้ามาเป็นเจ้าหน้าที่ตำรวจ เช่น การเปิดรับบุคคลภายนอกที่มีคุณวุฒิในสาขาต่างๆ” รองโฆษกสำนักงานตำรวจแห่งชาติกล่าว

พูดอย่างนี้ เราก็ต้องมาทบทวนอีกรอบว่า เส้นทางสู่การเป็นพนักงานสอบสวน ที่ผู้หญิง (ซึ่งเป็นนักเรียนเตรียมทหารไม่ได้อยู่แล้ว) จะไปได้นั้นยังมีทางไหนเหลืออยู่บ้าง

  1. สอบเป็นตำรวจระดับสัญญาบัตรก่อน โดยมีวุฒินิติศาสตรบัณฑิต แล้วค่อยโอนมาเป็นพนักงานสอบสวนหญิง
  2. สอบตรงเข้ามาเป็นพนักงานสอบสวนหญิง ตามที่ สตช. เปิดสอบ โดยมีวุฒินิติศาสตรบัณฑิต หรือบางครั้งก็ต้องมีวุฒิเนติบัณฑิตด้วย
  3. สอบเข้าชั้นประทวนของสำนักงานตำรวจแห่งชาติ วุฒินิติศาสตรบัณฑิต แล้วสอบภายในเพื่อมาเป็นตำรวจสัญญาบัตร แล้วโอนย้ายมาเป็นพนักงานสอบสวนอีกที

ทุกช่องทางที่ว่านี้ ต้องมาสอบเพื่อให้ได้ใบประกอบวิชาชีพพนักงานสอบสวนจากสถาบันส่งเสริมงานสอบสวน ระยะเวลาหนึ่งปี แล้วจึงได้เป็นพนักงานสอบสวน

อ่านดูแล้วก็ยังพอมีหวังใช่ไหม โดยเฉพาะการสอบตรง ที่ถ้าสอบได้ก็ได้เป็นแน่ๆ ไม่ต้องมารอโอนย้าย แต่เหตุการณ์ที่เพิ่งเกิดขึ้นก่อนหน้านี้ บอกเราว่าเส้นทางไม่ได้สวยหรูขนาดนั้น

เพราะการประกาศรับสมัครพนักงานสอบสวน ระหว่างวันที่ 1-22 มิถุนายน 2561 ที่ผ่านมาสดๆ ร้อนๆ เป็นการรับสมัครพนักงานสอบสวนชายล้วนจำนวน 250 อัตรา สร้างความไม่พอใจในระลอกแรกไปแล้วว่า ผู้หญิงจบเนติบัณฑิตมาเยอะแยะ ทำไมถึงไม่รับ แต่ทางรองโฆษก สตช. ให้เหตุผลว่า ตอนนี้ทั่วประเทศกำลังขาดแคลนพนักงานสอบสวน จะรับผู้หญิงมา ผู้หญิงก็ลาออกกันบ่อย เพราะต้องรับภาระหน้าที่ทางครอบครัวมากกว่าชาย (เหตุผลคุ้นๆ นะ)

งานนี้ จากที่เคยพูดปัดไปคราวก่อนว่า เดี๋ยวค่อยรอพนักงานสอบสวนหญิงจาก นรต. หญิง ก็ได้ ตอนนี้กลับเป็นไปไม่ได้เสียแล้ว เพราะการยกเลิกรับ นรต. หญิงที่กล่าวมา

ส่วนประเด็นที่องค์กรสิทธิสตรีต่างๆ วิจารณ์ว่า การยกเลิกรับ นรต. หญิง เป็นการลิดรอนสิทธิสตรี พล.ต.อ.จักรทิพย์ กล่าวว่า องค์กรไหนที่มาว่า ต้องให้องค์กรเหล่านี้ไปดูเหตุการณ์ภาคใต้ พวกนักสิทธิไปดูการทำร้ายคนบริสุทธิ์ที่ภาคใต้ ไปอยู่ตรงนั้นบ้าง อย่าเอาแต่จับจ้องตำรวจ ทั้งที่ไม่ได้ทำอะไร เรียกได้ว่าพูดแบบนี้ อีกฝั่งคงเกาหัวว่าเอามาเกี่ยวกันได้อย่างไร

อีกความคิดเห็นที่น่าสนใจที่บีบีซีได้ไปสัมภาษณ์มา คือความเห็นจากนายจะเด็จแห่งมูลนิธิหญิงชายก้าวไกล ที่ว่าโรงเรียนนายร้อยตำรวจเหมือนเป็นแหล่งสร้างเครือข่ายในวงการตำรวจ ถ้าผู้หญิงถูกตัดโอกาสตรงนี้ไป ก็เหมือนปิดโอกาสในเส้นทางอาชีพขึ้นสู่ตำแหน่งสูงๆ โดยปริยาย

แค่ข่าวเดียวก็มีเรื่องให้คับข้องใจหลายเรื่อง ตั้งแต่การตัดโอกาสทางสายอาชีพของผู้หญิง การลดทอนความสำคัญของบทบาทพนักงานสอบสวนหญิงที่มีต่อคดีเกี่ยวกับเพศ ที่ผู้เป็นเหยื่อมักเป็นเด็กและสตรี และสุดท้ายก็คือ ข้ออ้างเดิมๆ ที่ว่า ผู้หญิงมีบทบาทหน้าที่อย่างไรในสังคม และก็ควรอยู่ตรงนั้นต่อไป

ที่น่ากลัวคือ พื้นที่ตรงนั้นช่างอยู่ห่างไกลกับกระบวนการยุติธรรม ซึ่งถูกปักป้ายว่าเป็นพื้นที่ของผู้ชาย

 

4. กระแสบอยคอตไนกี้ หลังดึง คอลิน แคเปอร์นิค อดีตผู้เล่น NFL เป็นพรีเซนเตอร์ครบรอบ 30 ปีของแคมเปญ Just do it

กลายเป็นกระแสบอยคอตไนกี้ไปทั่วโลกออนไลน์ เมื่อไนกี้ตัดสินใจเลือก คอลิน แคเปอร์นิค (Colin  Kaepernick) อดีตควอเตอร์แบคของทีมซาน ฟรานซิสโก โฟร์ตี้ไนน์เนอร์ส (San Francisco 49ers) เป็นพรีเซนเตอร์โฆษณาครบรอบ 30 ปีของแคมเปญ Just do it

ประเด็นอยู่ที่ว่าในปี 2016 คอลิน แคเปอร์นิค สมัยยังเป็นนักกีฬาอเมริกันฟุตบอลสังกัดทีมซาน ฟรานซิสโก โฟร์ตี้ไนน์เนอร์ส เลือกที่จะนั่งชันเข่าหนึ่งข้างเพื่อเป็นสัญลักษณ์ต่อต้านการเลือกปฏิบัติต่อคนผิวสีในอเมริกา แทนการยืนทำความเคารพเพลงชาติสหรัฐฯ ก่อนการแข่งขันที่เป็นธรรมเนียมปฏิบัติมาช้านาน ผลคือ มีทั้งฝ่ายที่เห็นด้วยและไม่เห็นด้วยกับการกระทำดังกล่าว และกลายเป็นการแสดงออกในเชิงสัญลักษณ์ของนักกีฬาผิวสีคนอื่นๆ ใน NFL ในเวลาต่อมา

ส่วนคอลิน แคเปอร์นิค คงไม่ต้องบอกว่าเกิดอะไรขึ้นกับเขา เพราะหลังจากนั้นเจ้าตัวกลายเป็นนักกีฬาไร้สังกัดมาเป็นเวลากว่าหนึ่งปี ทั้งที่อายุเพียงแค่ 30 ปี เท่านั้น

สำหรับแคมเปญ Just do it ที่มีอายุครบรอบ 3 ทศวรรษของไนกี้ เปิดตัวเป็นภาพขาวดำที่เห็นแต่ใบหน้าของแคเปอร์นิคพร้อมกับข้อความระบุว่า “Believe in something. Even if it means sacrificing everything.” จงเชื่อมั่นในบางสิ่ง แม้มันจะหมายถึงการเสียสละทุกสิ่ง

หลังจากที่ภาพโฆษณาถูกปล่อยออกไป ก็สร้างความไม่พอใจให้กับชาวเน็ตผู้ไม่ชอบแคเปอร์นิคเป็นทุนเดิม ออกมาเผารองเท้าและถุงเท้าของไนกี้ พร้อมติดแฮชแท็ค #NikeBoycott เชิญชวนให้คนไม่เห็นด้วยแบนสินค้าของไนกี้

แม้แต่โดนัลด์ ทรัมป์ ประธานาธิบดีสหรัฐฯ ยังแสดงความไม่เห็นด้วยผ่านทางทวิตเตอร์ ทำนองว่ามันเป็นแคมเปญโฆษณาที่แย่เอามากๆ และไนกี้กำลังถูกฆ่าและบอยคอตโดยคนที่ไม่พอใจ ซึ่งก่อนหน้านี้ทรัมป์ก็เคยต่อว่าแคเปอร์นิคและนักกีฬาผิวสีคนอื่นๆ ที่นั่งชันเข่าแทนการยืนเคารพเพลงชาติอเมริกาก่อนเริ่มเกมแล้วว่าเป็นพวกที่ไม่เคารพธงชาติอเมริกา และถ้าทำไม่ได้ก็ควรจะไปหางานอื่นทำเสีย

ขณะที่ จิโน่ ฟิซานอตติ รองประธานด้านแบรนด์ไนกี้ฝั่งอเมริกาเหนือ ออกมาเปิดเผยกับ ESPN ว่า “คอลินเป็นหนึ่งในนักกีฬาที่สร้างแรงบันดาลใจให้กับยุคสมัยนี้ ผู้ซึ่งใช้ประโยชน์จากพลังของกีฬาในการช่วยโลกขับเคลื่อนไปข้างหน้า”

นักวิเคราะห์หลายฝ่ายมองว่า โฆษณาตัวนี้ของไนกี้สร้างมุมมองสองด้าน คือคนที่เห็นด้วย กับคนที่ไม่เห็นด้วย พวกเขาอาจจะโกรธแค่ไม่นาน และลืมมันไปในที่สุด และการเลือกแคเปอร์นิคเป็นพรีเซนเตอร์ในครั้งนี้ เนื่องจากดูที่จุดยืนและมุมมองของนักกีฬาที่มีต่อสังคม ซึ่งก็สอดคล้องกับแคมเปญดังกล่าว

แม้กระแสจะแรง แต่เชื่อว่าแบรนด์ระดับโลกน่าจะคิดคำนวณทางการตลาดมาแล้ว ด้านหนึ่งเพราะคนแอฟริกัน-อเมริกันรุ่นใหม่ก็ใช้จ่ายกับเสื้อผ้าและรองเท้ามากขึ้น และแม้เสียงก่นด่าจะดังแค่ไหน แต่ถ้านับความถี่ที่ถูกพูดถึงในสื่อ ก็ได้มวลชนช่วยปลุกกระแสให้แบรนด์เป็นที่จดจำ ซึ่งคุ้มเห็นๆ

5. รับมือรวดไม่ได้พัก ญี่ปุ่นเจอไต้ฝุ่นเชบีซัดแรงสุดใน 25 ปี ตามด้วยแผ่นดินไหวรุนแรงที่ฮอกไกโด

เป็นช่วงเวลาที่ต้องการความแข็งแกร่งทางจิตใจมากมายสำหรับชาวญี่ปุ่น ที่เพียงสัปดาห์เดียว ก็เจอทั้งพายุไต้ฝุ่นเชบีที่ว่ากันว่ารุนแรงที่สุดในรอบ 25 ปี ที่ซัดเข้าโอซากาเมื่อวันอังคารที่ 4 กันยายนที่ผ่านมา เรื่องยังไม่คลี่คลายดี สองวันถัดมาก็เจอแผ่นดินไหวครั้งรุนแรงขนาด 6.7 แม็กนิจูด ที่เกาะฮอกไกโด

เริ่มจากพายุไต้ฝุ่นเชบี ซึ่งเป็นภาษาเกาหลีที่แปลว่านกนางแอ่น เข้าถล่มญี่ปุ่นที่เกาะชิโกกุ ทางตะวันตกของประเทศญี่ปุ่น ตามด้วยเกาะฮอนชู ด้วยแรงลมรุนแรงราว 172 กิโลเมตรต่อชั่วโมง ความรุนแรงระดับนี้ ซัดจนท่าอากาศยานคันไซเสียหายและต้องระงับการให้บริการชั่วคราว อาคารบ้านเรือนถูกทำลายเสียหาย ประชาชนหลายพันคนไม่มีไฟฟ้าใช้ และทางการต้องสั่งอพยพประชาชนกว่า 1 ล้านคน ไปอยู่ในสถานที่ที่ปลอดภัย ล่าสุด มีผู้เสียชีวิตแล้ว 11 ราย บาดเจ็บอีกกว่า 600 ราย

สำหรับกรณีแผ่นดินไหวที่ฮอกไกโด ซึ่งตั้งอยู่ทางตอนเหนือของญี่ปุ่น จุดศูนย์กลางแผ่นดินไหวอยู่ที่เมืองโตมาโกไม ความรุนแรง 6.7 แม็กนิจูดนี้มีจุดศูนย์กลางลึกลงไปใต้ดิน 37 กิโลเมตร แรงสั่นสะเทือนที่นานที่สุดกินเวลาหนึ่งนาทีเศษ ทำให้บ้านเรือนเสียหาย ประชาชนไม่มีไฟฟ้าใช้ ระบบการสื่อสารถูกตัด การขยับตัวของเปลือกโลกยังทำให้เกิดดินถล่ม แถมยังมีอาฟเตอร์ช็อคอย่างต่อเนื่อง ปัจจุบัน มีผู้เสียชีวิตแล้ว 9 รายและมีผู้สูญหายจำนวนกว่า 33 ราย และบาดเจ็บอีกราว 130 ราย

(ที่มาภาพ: JIJI PRESS / AFP)

Tags: , , , , , , , , , , , ,