แม้จะเป็นสิ่งที่เราร่ำเรียนมาตั้งแต่เด็กว่าในกระบวนการสังเคราะห์แสงของต้นไม้จะช่วยลดก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์และผลิตก๊าซออกซิเจนออกมา แต่ปัญหาโลกร้อนอันเป็นผลมาจากการที่โลกผลิตก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์สู่ชั้นบรรยากาศมากจนเกินไป ก็ยังเป็นปัญหาที่ยังแก้ไม่ตก 

ล่าสุดผลการศึกษาจาก The Intergovernmental Panel on Climate Change (IPCC) ที่ตีพิมพ์ในวารสารวิทยาศาสตร์ ก็ได้ออกมาตอกย้ำการแก้ปัญหานี้ด้วยวิธีที่เรารู้กันอยู่แล้ว นั่นก็คือ ต้องปลูกต้นไม้ให้มากๆ แต่ว่าต้องมากเท่าไรล่ะ? ผลการศึกษาสรุปว่าโลกนี้ยังมีพื้นที่ว่างมากพอ พอๆ กับพื้นที่ของประเทศสหรัฐอเมริกาให้เราปลูกต้นไม้ได้ และถ้าเราทำได้ เราจะสามารถลดก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ในชั้นบรรยากาศแอทโมสเฟียได้ถึง 25% ซึ่งนี่จะกลายเป็นทางรอดของโลกในการต่อสู่กับภาวะโลกร้อน 

โดยตัวเลขที่ชัดเจนมากไปกว่านั้นก็คือ หากเราต้องการจะลดอุณหภูมิไม่ให้สูงขึ้นไปอีก 1.5 องศาเซลเซียส ภายในปี 2025 เราต้องปลูกต้นไม้เป็นบริเวณพื้นที่ประมาณ 2.4 พันล้านเอเคอร์ ถึงจะสามารถหยุดยั้งการเพิ่มขึ้นของอุณหภูมิของโลกได้ 

นักวิทยาศาสตร์จากสถาบัน ETH ในเมืองซูริค ประเทศสวิตเซอร์แลนด์ใช้วิธีที่เรียกว่า photo-interpretation เพื่อตรวจสอบข้อมูลการสังเกตการณ์ป่าไม้กว่า 78,000 แห่งครอบคลุมทั่วโลก ด้วยการใช้ซอฟต์แวร์แผนที่ Google Earth พวกเขาสามารถพัฒนาแบบจำลองการคาดการณ์เพื่อทำแผนที่ศักยภาพในการปลูกต้นไม้ระดับโลกได้

พวกเขาพบว่า นอกจากต้นไม้ที่มีอยู่พื้นที่ที่ปรากฏอยู่แล้ว รวมถึงต้นไม้ในเขตเพาะปลูกและต้นไม้ในเขตเมือง โลกยังสามารถรองรับพื้นที่ปลูกต้นไม้เพิ่มเติมได้ถึง 0.9 พันล้านเฮกแตร์ (หรือ 2.22 พันล้านเอเคอร์)

และเมื่อต้นไม้เหล่านี้เจริญเติบโตขึ้น พวกมันจะสามารถดึงคาร์บอนไดออกไซด์ประมาณ 200 กิ๊กกะตันไปใช้ในกระบวนการสังเคราะห์แสงได้ ซึ่งจำนวนก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์นี้ถือเป็นสองในสามจากก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ที่เกิดขึ้นจากกิจกรรมของมนุษย์ที่ถูกปล่อยสู่ชั้นบรรยากาศนับตั้งแต่การปฏิวัติอุตสาหกรรม หรือคิดเป็นหนึ่งในสี่ของปริมาณก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ทั้งหมดในอากาศ

ถ้าเราทำตอนนี้ เราจะสามารถลดก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ในชั้นบรรยากาศได้มากถึง 25% ซึ่งเท่ากับปริมาณของก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ที่มีอยู่แล้วเมื่อกว่า 100 ปีก่อนนักวิจัยกล่าว

นอกจากนี้นักวิจัยยังได้ระบุประเทศ 6 ประเทศแรกที่ยังมีพื้นที่มากพอที่จะปลูกต้นไม้ได้ ทั้งรัสเซีย 151 ล้านเฮกตาร์ สหรัฐอเมริกา 103 ล้านเฮกตาร์ แคนาดา 78 ล้านเฮกตาร์ ออสเตรเลีย 58 ล้านเฮกตาร์ บราซิล 50 ล้านเฮกตาร์ และจีน 40 ล้านเฮกตาร์ 

แต่อย่างไรก็ตาม ก็ยังมีหลายคนออกมาให้ความเห็นวิพากษ์วิจารณ์ผลการศึกษาครั้งนี้ว่าไม่ใช่ทางออกที่ดีที่สุด หนึ่งในนั้นคือศาสตราจารย์ไมลส์ อัลเลน จากมหาวิทยาลัยอ็อกฟอร์ด ซึ่งกล่าวว่า

การฟื้นฟูด้วยการปลูกต้นไม้อาจจะเป็นหนึ่งในกลยุทธ์ที่มีประสิทธิภาพมากที่สุดแต่มันก็ยังห่างไกลจากทางออกที่ดีที่สุดในการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศที่มีอยู่เพราะในขณะเดียวกันเรายังไม่สามารถลดการใช้เชื้อเพลิงฟอสซิลให้เหลือศูนย์ลงได้ศาสตราจารย์ไมลส์ อัลเลนกล่าว 

รวมไปถึงอีกหนึ่งคนซึ่งก็คือศาสตราจารย์ไซมอน ลูวิส จากมหาวิทยาลัยลอนดอนคอลเลจ ซึ่งกล่าวว่า

การประมาณการว่าหากปลูกต้นไม้ 900 ล้านเฮกตาร์จะสามารถจัดเก็บคาร์บอนไดออกไซด์ได้ 205 พันล้านตันนั้นสูงเกินไป และขัดแย้งกับการศึกษาก่อนหน้านี้หรือแบบจำลองสภาพภูมิอากาศศาสตราจารย์ไซมอน ลูอิสจากมหาวิทยาลัยคอลเลจลอนดอนกล่าว

รวมไปถึงศาสตราจารย์มาร์ติน ลูคาจ จากมหาวิทยาลัยรีดดิ้ง ซึ่งออกมาสนับสนุนความคิดเห็นของศาสตราจารย์ไซมอนว่าการปลูกต้นไม้เพื่อดูดซับคาร์บอนไดออกไซด์สองในสามของปริมาณคาร์บอนไดออกไซด์ที่มนุษย์สร้างขึ้นในปัจจุบันนั้นฟังดูดีเกินไปที่จะเป็นจริง” 

เพราะแม้จะมีการปลูกต้นไม้ตามจำนวนนั้นเกิดขึ้น แต่ในขณะเดียวกันมนุษย์ก็ยังผลิตก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ในรูปแบบต่างๆ จากกิจกรรมที่เกิดขึ้นบนโลกทั้งภาคอุตสาหกรรม ภาคการเกษตร ฯลฯ ซึ่งมันอาจจะไม่ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงใดๆ 

อ้างอิง:

https://www.bbc.com/news/science-environment-48870920?ns_source=facebook&ns_campaign=bbcnews&ns_mchannel=social&ocid=socialflow_facebook&fbclid=IwAR2u-ym2-RrCsYdPzp3VTYSf605KPxKLbTd7IwiiT0BZcYJJfpppkm4PhA0

https://www.theguardian.com/environment/2019/jul/04/planting-billions-trees-best-tackle-climate-crisis-scientists-canopy-emissions

https://www.abc.net.au/news/science/2019-07-05/climate-change-tree-planting-carbon-dioxide/11267556