ผมนั่งรถบัสร่วม 7 ชั่วโมงจากกรุงเบอร์ลิน ข้ามพรมแดนมุ่งหน้าไปทางทิศตะวันออกเข้าสู่ประเทศโปแลนด์ แวะเปลี่ยนรถที่เมืองพอซแนน (Poznan) เพื่อขึ้นเหนือสู่ชายฝั่งทะเลบอลติก โดยมีปลายทางอยู่ที่เมืองท่าสำคัญชื่อกดัญสก์ (Gdansk) เมืองที่ชื่ออาจจะไม่คุ้นหูสำหรับคนไทย และไม่ได้อยู่ในแผนท่องเที่ยวหลักของยุโรป เพราะถ้าพูดถึงเมืองท่องเที่ยวของโปแลนด์ เมืองคราคุฟ (Krakov) ทางตอนใต้ หรือเมืองหลวงอย่างกรุงวอร์ซอ (Warsaw) ดูจะมีชื่อเสียงโด่งดังกว่า
แต่สำหรับใครที่ชื่นชอบวรรณกรรมเรื่อง กลองสังกะสี (The Tin Drum) ของกึนเทอร์ กรัสส์ (Gunter Grass) นักเขียนรางวัลโนเบลชาวเยอรมัน กดัญสก์ซึ่งเป็นฉากหลังของเรื่องราวต่างๆ ในนวนิยายย่อมเป็นจุดหมายปลายทางที่อยากจะไปเยือนสักครั้ง
เมืองกดัญสก์ตั้งอยู่บนชายฝั่งทะเลบอลติก บนปากแม่น้ำสำคัญสองสาย คือวิสตูลา (Vistula) และมอตลาวา (Motlawa) เมืองแห่งนี้จึงกลายเป็นเมืองท่าที่สำคัญมาตั้งแต่ศตวรรษที่ 10 โดยมีสินค้าส่งออกสำคัญคืออำพันและอิฐแดง
หากถูกปกครองโดยชาวโปล เมืองแห่งนี้จะถูกเรียกว่า ‘กดัญสก์’ แต่หากผู้ปกครองเป็นชาวเยอรมัน ก็จะเรียกเมืองนี้ว่า ‘แดนซิก’ (Danzig) ในช่วงต้นศตวรรษที่ 20 เมืองแห่งนี้อยู่ภายใต้การปกครองของเยอรมนี แต่หลังจากสิ้นสุดสงครามโลกครั้งที่หนึ่ง ประเทศผู้แพ้สงครามอย่างเยอรมนีจึงสูญสิ้นอำนาจเหนือดินแดนแห่งนี้ โดยในสนธิสัญญาแวร์ซายระบุให้เมืองแดนซิกและเมืองรอบๆ เป็นอิสระจากทั้งเยอรมนีและโปแลนด์ และเรียกว่าดินแดนนี้ว่าเขตปกครองอิสระแห่งเดนซิก (Free City of Danzig)
ตัวเมืองเก่ากดัญสก์
เมืองเก่ากดัญสก์นั้นงดงามเกินกว่าที่ผมคาดหวังไว้มาก แม้ว่าบางส่วนจะเป็นตึกที่สร้างขึ้นใหม่หลังจากที่ได้รับความเสียหายอย่างหนักในช่วงสงครามโลกครั้งที่สอง โดยเฉพาะบริเวณริมน้ำ ที่ในอดีตเคยคึกคักไปด้วยเรือขนส่งสินค้า ปัจจุบันถูกปรับเปลี่ยนเป็นพื้นที่สาธารณะสำหรับให้ชาวเมืองและนักท่องเที่ยวสำหรับนั่งเล่นเดินเล่น ส่วนในลำคลองก็เหลือเพียงเรือสำหรับนักท่องเที่ยว เช่นเดียวกับตึกรามบ้านช่องที่แปรเปลี่ยนจากโกดังเป็นร้านอาหารหรือโรงแรม
จากฝั่งเมืองเก่า เมื่อเดินออกจากประตูเมืองแล้วข้ามสะพาน ก็จะมาถึงจุดที่เรียกว่า เวสเตอร์พลาเต (Westerplatte) ซึ่งในอดีต เป็นจุดที่ใช้ขึ้นลงสินค้า ตรงจุดนี้เองที่กระสุนนัดแรกของสงครามโลกครั้งที่สองลั่นขึ้น
วันที่ 1 กันยายน 1939 กองทัพนาซีเคลื่อนพลเข้ายึดครองโปแลนด์โดยเริ่มต้นจากเมืองกดัญสก์ และสมรภูมิแรกของสงครามโลกครั้งที่สองก็เป็นที่รู้จักในนาม ‘สมรภูมิแห่งเวสเตอร์พลาเต’ (Battle of Westerplatte) โดยทหารชาวโปแลนด์ 182 นาย เข้าสู้รบกับกองทัพนาซีอย่างสุดความสามารถและต้านทานไว้ได้ถึง 7 วัน
หลังจากยึดครองเมืองกดัญสก์ได้สำเร็จ กองทัพนาซีก็เคลื่อนพลลงใต้มุ่งสู่กรุงวอร์ซอ ภายในเวลาไม่ถึงหนึ่งเดือน ประเทศโปแลนด์ก็หายไปจากแผนที่ ขณะที่เขตปกครองอิสระแห่งเดนซิกก็ถูกเปลี่ยนชื่อเป็นเมืองแดนซิก ตามแบบฉบับเยอรมันนิยม
บริเวณริมน้ำเวสเตอร์พลาเต
ไม่ไกลจากตัวเมืองเก่า คือที่ทำการไปรษณีย์เก่า เมื่อครั้งกองทัพนาซียกพลเข้ายึดครอง เจ้าหน้าที่ไปรษณีย์ชาวโปล 57 คนซึ่งมีอาวุธติดตัวเพียงเล็กน้อยได้ร่วมกันต่อต้านกองทัพนาซีที่มีทั้งรถถังและปืนใหญ่ พวกเขาถูกปิดล้อมอยู่ในอาคารเป็นเวลากว่า 15 ชั่วโมงก่อนจะยอมมอบตัว โดยมีจำนวนหนึ่งเสียชีวิตระหว่างการสู้รบ และอีก 6 คนหลบหนีไปได้ระหว่างการมอบตัว เจ้าหน้าที่ไปรษณีย์ที่มอบตัวถูกตัดสินประหารชีวิตเพื่อเป็นตัวอย่างให้ชาวโปลเห็นว่า การต่อต้านกองทัพนาซีนั้นมีจุดจบที่ความตาย
สภาพอาคารในปัจจุบันบางส่วนยังคงมีร่องรอยของกระสุนที่กองทัพนาซียิงถล่มเมื่อกว่า 80 ปีก่อน ขณะที่ลานด้านหลัง ซึ่งเจ้าหน้าที่ไปรษณีย์ชาวโปลออกมามอบตัว กลายเป็นภาพประวัติศาสตร์ยังคงถูกรักษาไว้ในสภาพเดิม และการต่อสู้ครั้งนั้นก็กลายเป็นแรงบันดาลใจของกลุ่มเคลื่อนไหวต่อต้านนาซีตลอดช่วงสงครามโลกครั้งที่สอง เช่นเดียวกับพนักงานไปรษณีย์ที่เสียชีวิต ก็กลายเป็นวีรบุรุษของชาวกดัญสก์ตราบจนทุกวันนี้
ที่ทำการไปรษณีย์เก่า
อนุสาวรีย์ด้านหน้าที่ทำการไปรษณีย์ รำลึกถึงวีรกรรมการต่อต้านกองทัพนาซี
เมื่อสงครามสิ้นสุด กองทัพรัสเซียก็เข้าปลดปล่อยโปแลนด์จากการยึดครองของกองทัพนาซีในปี 1945 และเมืองแดนซิกก็ถูกเปลี่ยนชื่อเป็นกดัญสก์อีกครั้ง
ก่อนสงครามโลกครั้งที่สอง กดัญสก์มีประชากรประมาณ 250,000 คน โดยมีทั้งชาวโปล ชาวเยอรมัน ชาวยิว รวมถึงชาวคาชูเบียน (ชาติพันธุ์ท้องถิ่นแถบนั้น) เมื่อนาซีเข้ายึดครองก็ส่งชาวยิวกว่า 2,000 คนไปที่ค่ายกักกัน ต่อมาเมื่อรัสเซียเข้ามามีอำนาจ ก็สั่งให้ชาวเยอรมันราว 120,000 คนย้ายออกจากเมือง และย้ายชาวโปลจากภูมิภาคอื่นเข้ามาอยู่แทน เนื่องจากต้องการพัฒนากดัญสก์ให้เป็นเมืองท่าสำคัญของโลกคอมมิวนิสต์
สำหรับชาวเยอรมันที่ต้องย้ายออกไป บางส่วนก็ย้ายไปอยู่ในเยอรมนีตะวันออกซึ่งอยู่ใกล้กับบ้านเกิด แต่ก็มีบางส่วนที่เลือกย้ายไปอยู่ในเยอรมนีตะวันตกซึ่งอยู่คนละขั้วการเมืองกับโปแลนด์ จึงทำให้ชาวเยอรมันจากกดัญสก์จำนวนมากไม่มีโอกาสกลับมายังบ้านเกิดของตนอีกเลยจนกระทั่งสิ้นสุดสงครามเย็นในอีกสี่สิบกว่าปีให้หลัง
เด็กน้อยชาวเยอรมันชื่อ กึนเทอร์ กรัสส์ เกิดเมื่อปี 1927 ครอบครัวมีกิจการร้านขายของในเมืองกดัญสก์ เมื่อรัสเซียเข้ามายึดครอง กรัสส์ในวัยยี่สิบกว่าปีก็ตัดสินใจย้ายไปอยู่ในเยอรมนีตะวันตก เข้าทำงานในเหมืองแร่ ก่อนจะเรียนรู้การแกะสลักซึ่งกลายเป็นจุดเริ่มต้นที่ทำให้เขาสนใจโลกศิลปะ และตัดสินใจเข้าศึกษาที่วิทยาลัยศิลปะแห่งเมืองดุสเซลดอร์ฟ (Düsseldorf) ตามด้วยมหาวิทยาลัยศิลปะแห่งกรุงเบอร์ลินในเวลาต่อมา และหลังจากนั้น เขาก็ใช้ชีวิตอยู่ในเบอร์ลินตะวันตกแทบจะตลอดทั้งชีวิต ผลิตผลงานศิลปะออกมาเป็นจำนวนมาก แต่สิ่งที่ทำให้เขาเป็นที่รู้จักไปทั่วโลกคืองานวรรณกรรม โดยเฉพาะอย่างยิ่งการกลั่นกรองประสบการณ์ของตัวเองในช่วงสงครามออกมาเป็นผลงานชิ้นเอก กลองสังกะสี ซึ่งตีพิมพ์ครั้งแรกเมื่อปี 1959 ในภาษาเยอรมัน
กลองสังกะสี เป็นเรื่องราวของ ออสการ์ แมตเซรัท (Oskar Matzerath) เด็กชายผู้รู้เดียงสาตั้งแต่เกิด เขามีพ่อเป็นชาวเยอรมัน และแม่มีเชื้อสายคาชูเบียนเช่นเดียวกับกรัสส์ ความสามารถพิเศษของออสการ์คือการส่งเสียงกรีดร้องที่รุนแรงถึงขั้นทำให้แก้วแตกได้ ในวันคล้ายวันเกิดครบรอบสามขวบ หลังจากได้กลองสังกะสีเป็นของขวัญ ออสการ์ก็ตัดสินใจหยุดการเจริญเติบโตของตัวเองไว้แค่นั้น เป็นผู้ใหญ่ในร่างเด็กสามขวบตลอดเวลาหลายปีให้หลัง
อนุสาวรีย์เทพเจ้าเนปจูน สัญลักษณ์ของเมืองกดัญสก์
ฉากหลังของ กลองสังกะสี คือสงครามโลกครั้งที่สองและเมืองกดัญสก์ ครั้งหนึ่ง กรัสส์เคยให้สัมภาษณ์ว่าการเขียนหนังสือเล่มนี้ ส่วนหนึ่งก็เพื่อเป็นการเดินทางในจินตนาการย้อนกลับไปยังบ้านเกิดของเขา เพราะในความเป็นจริง ในยุคสงครามเย็น เรื่องนี้เป็นไปไม่ได้ นอกจากนี้ กรัสส์ยังผนวกเหตุการณ์จริงในประวัติศาสตร์หลายเหตุการณ์เข้ามาไว้ในเรื่อง โดยเฉพาะอย่างยิ่งการขึ้นสู่อำนาจของนาซี โดย อัลเฟรด แมตเซรัท (Alfred Matzerath) พ่ออย่างเป็นทางการของออสการ์ ก็เข้าเป็นสมาชิกพรรคนาซี และชื่นชมฮิตเลอร์อย่างสูงเช่นเดียวกับคนเยอรมันส่วนใหญ่ในเวลานั้น ขณะที่แจน บรอนสกี (Jan Bronski) ลูกพี่ลูกน้องของแม่ผู้ซึ่งออสการ์คิดว่าน่าจะเป็นพ่อที่แท้จริงของเขา ก็ถูกจับกุมและประหารชีวิตจากเหตุการณ์ ณ ที่ทำการไปรษณีย์
หลังจากนั้น ออสการ์ก็ใช้ชีวิตในช่วงสงครามร่วมกับกลุ่มคนแคระ ซึ่งก็คือคนที่ตัดสินใจหยุดการเติบโตเช่นเดียวกับเขา โดยร่วมเดินทางไปกับคณะโชว์สร้างความสุขให้กับเหล่าทหารเยอรมันท่ามกลางการทำลายล้างของสงคราม และเมื่อสงครามโลกสิ้นสุดลง ออสการ์ซึ่งเป็นชาวเยอรมันก็ไม่สามารถใช้ชีวิตในกดัญสก์ที่เป็นบ้านเกิดได้ เขาย้ายไปทำงานที่ดุสเซลดอร์ฟ ซึ่งเป็นชะตากรรมเดียวกันกับกรัสส์นั่นเอง
ออสการ์อาศัยอยู่ในเยอรมนีตะวันตกในฐานะนักดนตรีแจ๊ซผู้โด่งดังจากความสามารถชั้นเลิศในการตีกลอง ส่วนกรัสส์กลายเป็นศิลปินและนักเขียนชื่อก้อง ก่อนที่ในท้ายที่สุด ออสการ์ลงเอยด้วยการใช้ชีวิตอยู่ในโรงพยาบาลสำหรับผู้ป่วยทางจิต และนวนิยายทั้งเล่มก็คือการบันทึกเรื่องราวชีวิตของเขาจากห้องขังนั่นเอง ขณะที่กรัสส์ก็กลั่นกรองประสบการณ์และความรู้สึกในช่วงสงครามของตัวเองออกมาเป็นวรรณกรรมอมตะชื่อ กลองสังกะสี
นวนิยายเรื่องนี้ได้รับการยกย่องให้เป็นหนึ่งในนวนิยายสัจนิยมมหัศจรรย์ (Magical Realism) ที่ดีที่สุดเล่มหนึ่งของโลก เคียงข้างกับ หนึ่งร้อยปีแห่งความโดดเดี่ยว (One Hundred Years of Solitude) ของกาเบรียล การ์เซีย มาร์เกซ (Gabriel Garcia Marquez) และ เด็กเที่ยงคืน (Midnight’s Children) ของซัลมาน รัชดี (Salman Rushdie)
โศกนาฏกรรมของหลายชีวิตใน กลองสังกะสี ที่กรัสส์ถ่ายทอดผ่านเรื่องราวเหนือธรรมชาติ สามารถสะท้อนความโหดร้ายของสงครามได้อย่างสมจริง ฉากเหนือจริงต่างๆ กลายเป็นสัญลักษณ์ที่ถูกตีความไปต่างๆ นานา ไม่ว่าจะเป็นการหยุดเติบโตของออสการ์ การที่ออสการ์ต้องพกกลองสังกะสีไว้กับตัวตลอดเวลา ความรักแบบลุ่มหลงมัวเมา รวมไปถึงเหตุการณ์แปลกๆ อย่างการตายของแอนนา บรอนสกี (Anna Bronski) แม่ของออสการ์ ซึ่งเกิดจากการกินปลามากเกินไป!!!
หลังจาก กลองสังกะสี กรัสส์เขียนนวนิยายอีกสองเรื่องที่มีฉากหลังเป็นเมืองกดัญสก์ คือ แมวและหนู (Cat and Mouse) ในปี 1961 และ ปีของสุนัข (Dog Years) ในปี 1963 ก่อนที่นวนิยายทั้งสามเล่มจะถูกจัดให้เป็น ‘ไตรภาคแห่งแดนซิก’ (Triology of Danzig) ซึ่งกลายเป็นผลงานที่สร้างชื่อให้กับกรัสส์ และทำให้เขาเป็นที่รู้จักไปทั่วโลกวรรณกรรม
นอกจากรางวัลโนเบลสาขาวรรณกรรมในปี 1999 กรัสส์ยังได้รับรางวัลต่างๆ อีกมากมาย เช่น Georg Büchner Prize ซึ่งเป็นรางวัลสูงสุดในโลกวรรณกรรมภาษาเยอรมัน และได้รับเชิญเข้าสู่ Royal Society of Literature ในปี 1995 ขณะที่เมืองกดัญสก์ซึ่งเป็นบ้านเกิด ก็ยกย่องให้เขาเป็นพลเมืองกิตติมศักดิ์ (Honorary Citizenship)
รูปของกรัสส์ในร้านกาแฟย่านเมืองเก่ากดัญกส์
นอกจากวรรณกรรมและบทละคร ความคิดเห็นทางการเมืองก็เป็นอีกสิ่งที่กรัสส์สื่อสารกับสาธารณชนอยู่บ่อยครั้ง อีกทั้งยังตีพิมพ์หนังสือรวมบทความเกี่ยวกับการเมืองออกมาหลายเล่ม ด้วยความที่เขาเป็นคนสำคัญและมีผู้คนชื่นชอบเป็นจำนวนมาก ความเห็นของเขาจึงได้รับความสนใจอย่างกว้างขวางอยู่เสมอ
แต่จุดเปลี่ยนสำคัญอีกครั้งของกรัสส์เกิดขึ้นในปี 2006 เมื่อเขาให้สัมภาษณ์หนังสือพิมพ์ภาษาเยอรมันฉบับหนึ่งเกี่ยวกับหนังสืออัตชีวประวัติของเขาที่กำลังจะตีพิมพ์ออกมาในชื่อ Peeling the Onion โดยกรัสส์บอกเล่าถึงอดีตที่ปิดบังมาเนิ่นนาน คือ ในช่วงปลายของสงครามโลกครั้งที่สอง กรัสส์ในวัย 17 ปีได้เข้าเป็นสมาชิกของหน่วย Waffen-SS ของนาซี ซึ่งขัดแย้งกับสิ่งที่เขาบอกกล่าวมาตลอดว่า ตนเองถูกเกณฑ์เข้าไปช่วยงานในหน่วยต่อต้านอากาศยานเพียงช่วงสั้นๆ และไม่ได้มีความนิยมในพรรคนาซี แต่ความจริงที่เขาเปิดเผยคือการเข้าร่วมกับฝ่ายนาซี เมื่อสิ้นสุดสงคราม เขาตกเป็นเชลยสงครามในค่ายของสหรัฐอเมริกาถึงสองปี ซึ่งเมื่อมีคนไปตรวจสอบรายชื่อเชลยสงคราม ก็พบชื่อของเขาจริงๆ ประวัติการทำงานและการร่ำเรียนศิลปะที่ดุสเซลดอร์ฟจึงไม่ได้ยาวนานอย่างที่เขาเคยกล่าวอ้าง
หลังจากบทสัมภาษณ์ถูกเผยแพร่ กระแสชื่นชมยกย่องซึ่งดำเนินมาตลอดหลายทศวรรษก็กลับกลายเป็นการวิพากษ์วิจารณ์อย่างรุนแรง เลซ วาเลซา (Lech Walesa) วีรบุรุษประชาธิปไตยและประธานาธิบดีคนแรกของโปแลนด์ที่มาจากการเลือกตั้ง เรียกร้องให้กรัสส์คืนตำแหน่งพลเมืองกิตติมศักดิ์ให้กับเมืองกดัญสก์ เนื่องจากเขาคือหนึ่งในกลุ่มคนที่ทำร้ายประชาชนชาวกดัญสก์และชาวโปล นักวิจารณ์วรรณกรรมหลายคนมองว่าถ้าเขาเปิดเผยเรื่องนี้เร็วกว่านี้ ก็ไม่มีทางที่รางวัลโนเบลจะตกถึงมือของเขา รวมถึง กลองสังกะสี ก็อาจจะไม่ได้รับความนิยมในฐานะวรรณกรรมต่อต้านสงครามดังเช่นที่เป็นมา
กรัสส์ชี้แจงในภายหลังว่าช่วงเวลาดังกล่าว เขาเป็นผู้ใช้แรงงานซึ่งมีชีวิตที่ยากลำบากในช่วงสงคราม เมื่อมีหมายเรียกให้ไปทำงานให้กับรัฐบาล เขาจึงไม่ปฏิเสธ ตอนนั้นเขาไม่รู้ว่าจะต้องเข้าร่วมกับหน่วย Waffen-SS กว่าจะรู้ก็เมื่อเขาเดินทางไปรายงานตัวที่เมืองเดรสเดน (Dresden) และการที่เขาปิดบังเรื่องดังกล่าวมาตลอดชีวิต ก็เป็นแรงบันดาลใจสำคัญที่ทำให้เขาอยากเขียนอัตชีวประวัติของตนเอง เพราะรู้ดีว่าสักวันหนึ่งเรื่องนี้ก็ต้องถูกเปิดเผย นอกจากนี้ ประสบการณ์ในค่ายเชลยสงครามนี่เองที่ทำให้เขาเข้าใจถึงความโหดร้ายของนาซี อย่างไรก็ตาม กรัสส์ดูจะไม่ได้รับการให้อภัยจากหลายฝ่าย และการเคลื่อนไหวทางการเมืองตลอดหลายทศวรรษของเขาก็กลายเป็นเรื่องไร้น้ำหนักโดยสิ้นเชิง
กรัสส์เสียชีวิตในปี 2015 ท่ามกลางเสียงวิพากษ์วิจารณ์ตลอดทศวรรษสุดท้ายของชีวิต อย่างไรก็ตาม นักเขียนคนดังอย่าง ซัลมาน รัชดี เขียนไว้อาลัยถึงเขาลงในนิตยสาร The New Yorker โดยเล่าถึงการได้พบกับกรัสส์ครั้งแรกในปี 1982 ในฐานะนักเขียนหนุ่มที่ขอเข้าพบนักเขียนใหญ่ นอกจากนี้ รัชดียังระบุว่า เขาสนใจที่ผลงานของกรัสส์มากกว่าอดีตของเขา กลองสังกะสี ยังคงเป็นวรรณกรรมต่อต้านนาซีที่ดีที่สุดเท่าที่เคยมีมา และต่อให้ไม่มี กลองสังกะสี กรัสส์ก็สมควรได้รับการยกย่องอยู่ดี
ประตูเมืองเก่ากดัญสก์
โบสถ์เซนต์แมรี่ ก่อสร้างตั้งแต่ศตวรรษที่ 19
Fact Box
ชื่อเขตปกครองอิสระแดนซิก (Free City of Danzig) ปรากฏครั้งแรกตั้งแต่ยุคที่นโปเลียนทำสงครามเอาชนะอาณาจักรปรัสเซีย และกำหนดให้พื้นที่นี้เป็นเขตปกครองอิสระ เนื่องจากไม่ต้องการให้การเมืองเข้ามายุ่งเกี่ยวกับการค้าของเมืองท่าแห่งนี้มากนัก