ในนวนิยาย On the Road ของแจ็ค เคอรูแอค ภาค 4 ที่เป็นบันทึกการเดินทางของเขากับ นีล คาสซาดี จากแมนฮัตตัน ผ่านเดนเวอร์ ลงมายังเม็กซิโก ซิตี้ สะท้อนภูมิประเทศตอนบนค่อนไปทางทิศตะวันออกของประเทศเม็กซิโกได้ดี – นี่คือดินแดนที่เต็มไปด้วยทะเลทรายเวิ้งว้าง ทิวต้นกระบองเพชร และเมืองที่ตั้งอยู่ในหุบเขาลูกแล้วลูกเล่า ซึ่งมาพร้อมกับภูมิอากาศเกินคาดเดาที่สวิงไปมาระหว่างความร้อนระอุของที่ราบ และอากาศเย็นสบายบนภูเขา

จริงอยู่ เราไม่สามารถนำบทบรรยายของเคอรูแอค มาเคลมว่านี่คือภูมิประเทศตอนบนของประเทศเม็กซิโกได้ทั้งหมด แต่การเดินทางด้วยรถบัสผ่านทะเลทรายทางตอนกลางของประเทศจากเม็กซิโก ซิตี้ ไปยังซานมิเกล เดอ เอเยนเด (San Miguel de Allende) ในหุบเขาเซียร่า มาเดร (Sierra Madre) ก็ทำให้ฉันนึกถึงบันทึกของนักเขียนคนนี้จับใจ

แม้จะไม่ได้ขับรถล่องใต้จากสหรัฐอเมริกามาเองแบบในหนังสือ (ก็ไม่ได้มีเวลาเป็นสินทรัพย์อะไรขนาดนั้น – ฉันนั่งเครื่องบินจากนิวยอร์กมาลงเม็กซิโก ซิตี้ ค่ะ) แต่นี่คือบทบันทึกการเดินทางสั้นๆ จากเม็กซิโก ซิตี้ ไปยังเมืองชื่อยาวที่กล่าวไปในย่อหน้าที่แล้ว

ฉันเริ่มต้นจากท่ารถ Mexico Norte ในเม็กซิโก ซิตี้ ท่ารถนี้เป็นท่ารถไปยังตอนเหนือของประเทศ อารมณ์คล้ายกับสถานีขนส่งหมอชิตที่กรุงเทพฯ แต่วุ่นวายน้อยกว่า รถบัสใช้เวลาเกือบ 4 ชั่วโมง จากตัวเมืองอันพลุกพล่านของเม็กซิโก ซิตี้ ผ่านชานเมืองที่เป็นชุมชนแออัดบนภูเขา และทุ่งกว้างอันแห้งแล้ง ที่ซึ่งดูเหมือนจะไม่มีเมืองใดๆ รออยู่ แต่นั่นล่ะ เผลอหลับตื่นเดียว โชเฟอร์ก็พาเราไต่ขึ้นมาโผล่เมืองหลากสีสันที่ตั้งอยู่กลางโอบล้อมของภูเขา เมืองที่ดูเหมือนเป็นเมืองเก่าแก่ในยุโรปใต้มากเสียกว่าอยู่ในเม็กซิโก

San Miguel de Allende อ่านว่า ซานมิเกล เดอ เอเยนเด ค่ะ เป็นการสะกดแบบสเปน ซึ่งตอนซื้อตั๋วที่ท่ารถ และบอกเขาไปว่า ซานมิเกล เดอ อัลเลนเด ตามความคุ้นเคยจากการถอดเสียงภาษาอังกฤษ พี่คนขายก็เกาหัวอยู่นาน จนต้องเขียนให้ดู เขาจึงร้องอ๋อ และสะกดให้ฟังอย่างที่บอก เมืองนี้ตั้งอยู่ทางตะวันตกเฉียงเหนือของเม็กซิโก ซิตี้ ในรัฐกวานาคัวโต (Guanajuato) ซึ่งอยู่ตอนกลางของประเทศพอดี

นี่คือเมืองเล็กๆ ที่แต่เดิมเป็นที่ตั้งของค่ายทหารสเปน เป็นเส้นทางหลักเชื่อมเหมืองขุดแร่เงินแห่งต่างๆ แถมยังรุ่งเรืองในอุตสาหกรรมสิ่งทอ นั่นทำให้ต้นศตวรรษที่ 16 นับตั้งแต่อาณานิคมสเปนมาสร้างเมืองไว้ เมืองนี้จึง ‘ดูรวย’ กว่าเมืองอื่นๆ ในภูมิภาค เต็มไปด้วยโบสถ์และอาคารสถาปัตยกรรมแบบบาโรค กอธิค และนีโอคลาสสิก บ้านเรือนเปี่ยมสีสัน – สีเหลือง เขียว ชมพู ส้ม แสด แบบที่ว่าในเมื่อธรรมชาติสร้างดวงตาของมนุษย์ให้สามารถแยกแยะเฉดสีออกจากกันได้แล้ว คุณจะสร้างบ้านให้มีแต่สีขาวๆ เทาๆ จืดๆ เรียบๆ ไปทำไม เสียชาติเกิด อะไรทำนองนั้น

ภูมิทัศน์ของซานมิเกลฯ คล้ายกับกวานาคัวโต เมืองหลวงของรัฐ กล่าวคือเป็นเมืองเก่าแก่ที่สเปนมาสร้างไว้ร่วมสมัยเดียวกัน เป็นเมืองมรดกโลกเหมือนกัน หากต่างกันก็ตรงที่ซานมิเกลฯ ถือเป็นแลนด์มาร์กสำคัญของประวัติศาสตร์เม็กซิโกยุคใหม่ เพราะเป็นเมืองเมืองแรกที่ชาวเม็กซิกันประกาศอิสรภาพจากสเปนในช่วงต้นศตวรรษที่ 19 โดยการนำของนายพล อิงนาซิโอ เอเยนเด ชื่อ ‘เอเยนเด’ ที่อยู่ท้ายชื่อเมืองก็คือชื่อที่ถูกตั้งเป็นเกียรติแก่นายพลท่านนี้

บ้านของนายพลเอเยนเดยังคงตระหง่านให้เห็นอยู่ใกล้ๆ กับจัตุรัสกลางเมือง ในรูปแบบของพิพิธภัณฑ์ประวัติศาสตร์ (ไม่ไกลจากกันคืออนุสาวรีย์ของนายพลท่านนี้บนหลังม้า) เช่นเดียวกับอาคารบ้านเรือนและโบสถ์คาทอลิกแห่งอื่นๆ ที่มีอายุตั้งแต่ 200-500 ปี ซึ่งแต่ละแห่งก็ได้รับการอนุรักษ์ไว้อย่างดี กล่าวคือ รักษาสภาพดั้งเดิมไว้ ไม่มีการต่อเติมใดๆ อาจจะมีโทรมบ้างตามสภาพ หากก็ให้บรรยากาศของการใช้พื้นที่อย่างแท้จริงดี

อย่างที่บอกว่าเมืองนี้เป็นเมืองเล็กๆ ทันทีที่ลงจากรถบัสที่สถานีขนส่งชานเมือง ก็สามารถเรียกแท็กซี่สีเขียว (แต่ถ้ากลัวโดนชาร์จก็เรียกอูเบอร์มาได้) ให้ไปส่งที่โรงแรม ซึ่งไม่ว่าจะพักโรงแรมไหนในเขตเมืองเก่า ก็สามารถเดินเท้าถึงกันได้หมด ทริปนี้จึงไม่ต้องกังวลเรื่องการจำสายรถเมล์ หรือการต้องมาสะกดชื่อสถานที่บอกแท็กซี่ใดๆ

เช่นนั้นแล้ว การท่องเที่ยวเมืองนี้ทำได้ง่ายสุดคือหยิบแผนที่แล้วเดินมันไปเรื่อยๆ แต่ถ้าจะให้มีแพทเทิร์นก็แนะนำให้เริ่มเดินจากจัตุรัสกลางเมือง ซึ่งเดินไปเจอง่ายมาก เดินวนไปวนมา หลงทางสักพัก เดี๋ยวก็กลับมาเจอจนได้ เพราะที่จัตุรัสเป็นที่ตั้งของโบสถ์ La Parroquia de San Miguel Arcángel โบสถ์ที่ทำจากหินสีชมพู สูงชะลูดไม่ว่าจะอยู่มุมไหนของเมืองก็เห็น

ทั้งนี้ การเดินเล่นในซานมิเกลฯ สิ่งที่คุณจะพบเห็นก็คือบ้านเรือนสีสันฉูดฉาดตามตรอกซอยและเนินเขา (ที่หลายบ้านนิยมปลูกเฟื่องฟ้าหรือไม่ก็กระบองเพชรไว้หน้าบ้าน น่ารักมากๆ) ร้านรวงและคาเฟ่ที่มักจะตั้งอยู่ในอาคารแถวที่เรียงต่อกัน โดยมีสวนหย่อมตั้งอยู่ภายในแนวอาคารประหนึ่งจัตุรัสขนาดย่อมในตึกแถวอีกต่อหนึ่ง (และจัตุรัสส่วนใหญ่ก็มักมีน้ำพุเล็กๆ ตั้งอยู่ น่ารักมากๆ อีกเช่นกัน) ตลาดท้องถิ่นที่ซ่อนตัวอยู่ในตึกแถว สวนสาธารณะ สนามสู้วัวกระทิงขนาดกะทัดรัด เนินเขาที่เป็นจุดชมทิวทัศน์ และที่เหลือก็คือโบสถ์ โบสถ์ และโบสถ์

ใช่ค่ะ เมืองเล็กๆ เมืองนี้มีโบสถ์มากกว่าเซเว่นอีเลฟเว่นบนถนนสุขุมวิทเสียอีก สถิตอยู่ทุกมุมถนน เดินหลงไปทางไหนก็เจอ มีตั้งแต่โบสถ์ใหญ่ๆ อย่างโบสถ์สีชมพูกลางเมืองที่กล่าวไปแล้ว ยันโบสถ์ไซส์กะทัดรัดที่ไม่ได้หรูหราอะไรมาก แต่ฟังก์ชั่นก็พร้อมสำหรับชาวบ้าน โบสถ์มีเยอะจนจำชื่อและรูปพรรณไม่ได้ ที่พอจะจำได้คือ Templo de Nuestra Señora de la Salud ที่ด้านหน้าคล้ายเปลือกหอยเชลล์ อยู่ใกล้ๆ กับอนุสาวรีย์นายพลพ่อเมืองคนนั้น และโบสถ์ Templo de las Monjas โบสถ์สีเหลืองที่มีโดมขนาดใหญ่ เป็นอีกสัญลักษณ์ของเมือง

กระนั้น ท่ามกลางโบสถ์จำนวนอนันต์ที่เบียดเสียดอยู่ในเมืองเมืองนี้ ฉันกลับจำโบสถ์ Templo de Santa Ana ได้ดีที่สุด ค่าที่ว่าโบสถ์นี้อินดี้กว่าเพื่อนบ้าน เพราะในขณะที่โบสถ์อื่นๆ แพรวพราวด้วยปูนปั้นและกระจกสีนั่นนี่ โฆษณาให้พระผู้เป็นเจ้ากันสุดฤทธิ์ โบสถ์นี่กลับมาแบบมินิมัล เรียบๆ มีประตูหนึ่งบานและช่องหน้าต่างอยู่สองบาน ไม่ตบแต่งอะไรเลย จะกลมกลืนกับเพื่อนบ้านเขาอย่างเดียวคืออาคารทั้งหลังฉาบทาด้วยสีเหลืองเจิดจ้า แต่ที่เหลือราวกับจะบอกคนอื่นด้วยภาษิตพุทธว่า ‘สวรรค์อยู่ในอกฯ’ ไม่ได้อยู่ที่ façade ของโบสถ์แต่อย่างใด

และความที่โบสถ์มีมากเสียเหลือเกิน ท้ายที่สุด การมาเที่ยวเมืองนี้ของฉันจึงไม่ได้แวะเข้าไปในโบสถ์ที่ไหนสักแห่งเลย! เพราะเอาเวลาส่วนใหญ่ไปเดินตามตรอก ส่องบ้านคนนั้นบ้านคนนี้เสียเป็นส่วนใหญ่ เดินเหนื่อยๆ ก็เข้าไปนั่งพักในสวนหย่อมใจกลางแถวอาคารที่ส่วนใหญ่ได้รับการปรับเปลี่ยนให้เป็นคาเฟ่แสนชิลล์

คำถามที่ตอบยากที่สุดคือ ไปเมืองนี้ ต้องไปดูอะไร ที่ไหน หรือทำกิจกรรมอะไร เป็นคำถามที่ต้องใช้เวลาอยู่นาน เพราะตอบด้วยความสัตย์จริงว่า จัตุรัสที่เป็นแลนด์มาร์คของเมืองก็ไม่ได้สวยเว่อร์วังอะไร โบสถ์ก็เช่นกัน (หากเทียบกับโบสถ์กอธิคในยุโรปที่สวยเฉียบขาดกว่าเยอะ) พิพิธภัณฑ์และแกลเลอรี่ศิลปะก็ไม่ได้มีอะไรโดดเด่น กระนั้น แต่ในทุกองค์ประกอบที่กล่าวไป เมื่อรวมกับบ้านเรือนสีสันฉูดฉาดที่ชาวบ้านยังคงใช้ชีวิตอยู่จริง ซ้อนทับไปกับความเคลื่อนไหวของนักท่องเที่ยว นั่นทำให้ฉันบอกกับเพื่อนทุกคนว่า ถ้าไปประเทศเม็กซิโก ต้องไม่พลาดเผื่อเวลาสักสองถึงสามวันเที่ยวเมืองนี้

อย่างที่กล่าวไว้ตอนต้น เมืองนี้ทำให้ฉันคิดถึงนิยายเรื่อง On the Road ของแจ็ค เคอรูแอค ไม่ใช่แค่ลักษณะร่วมทางภูมิประเทศของเม็กซิโก ดังที่นักเขียนบรรยาย แต่เป็นข้อเท็จจริงที่ว่า นีล คาสซาดี เพื่อนรักของเคอรูแอค และเป็นตัวละครที่เป็นศูนย์กลางของนิยายที่เขียนขึ้นจากบันทึกการเดินทางจริงของผู้เขียนเล่มนี้ ก็มาเสียชีวิตที่เมืองเมืองนี้ด้วย

นั่นเป็นเหตุการณ์ให้หลังหลายปีจากบันทึกการเดินทางไปเม็กซิโกครั้งแรกในหนังสือของเคอรูแอค ในเดือนกุมภาพันธ์ปี 1968 นีลเดินทางมางานเลี้ยงฉลองงานแต่งงานของเพื่อนที่นี่ ในค่ำคืนหลังจากปาร์ตี้ นีลในชุดเสื้อยืดและกางเกงยีนส์พยายามเดินเท้าเลียบทางรถไฟเพื่อมุ่งหน้าไปยังเมืองถัดไป หากเพราะเป็นค่ำคืนที่ฝนตกและอากาศเหน็บหนาว นั่นทำให้เช้าวันต่อมาเขาถูกพบริมทางรถไฟด้วยอาการจับสั่นอย่างโคม่า ก่อนจะเสียชีวิตในเวลาต่อมาที่โรงพยาบาล – ชีวิตของนักเดินทางชาวอเมริกันที่บ้าระห่ำที่สุดคนหนึ่งก็จบลงเช่นนั้น

นั่นล่ะค่ะเป็นเหตุผลว่าทำไมพอฉันมาที่ซานมิเกลฯ ฉันจึงนึกถึงหนังสือเล่มนี้ นึกถึงเรื่องราวการเดินทาง และบรรทัดสุดท้ายของหนังสือที่แจ็คเขียนไว้ว่า

“…I think of Neal Cassady, I even think of Old Neal Cassady the father we never found, I think of Neal Cassady.”

Fact Box

  • มีบริษัทรถบัสสองแห่งที่ให้บริการเดินรถไปยังซานมิเกลฯ ได้แก่ ETN กับ Primera Plus รถดีทั้งคู่ ใหม่ สะอาด แลดูปลอดภัย (เขาจำกัดความเร็วด้วยค่ะ) เบาะเอนนอนได้ แถมยังมีจอภาพยนตร์ให้ดูทุกที่นั่งอีก สนนราคาไป-กลับ ที่นั่งละราวๆ 1,500 บาท
  • จากสถานีขนส่งในซานมิเกลฯ สามารถเรียกรถแท็กซี่และรถประจำทางให้บริการรับ-ส่งจากสถานีรถบัสเข้าไปในตัวเมือง (ราคารอบละไม่เกิน 100 บาท) หรือเรียกอูเบอร์ซึ่งจะตกอยู่ที่ราวๆ 50-70 บาท ทั้งนี้แนะนำให้เดินเที่ยวแต่ย่านใจกลางเมือง
  • ประโยคปิดท้ายบทความ นำมาจากหนังสือ On the Road เวอร์ชั่น Original Score ซึ่งเป็นเวอร์ชั่นต้นฉบับ ก่อนกระบวนการบรรณาธิการ และก่อนที่แจ็ค เคอรูแอค จะเปลี่ยนชื่อ Neal Cassady ที่เป็นชื่อจริง ไปเป็น Dean Moriarty ทั้งนี้ นิยาย On the Road เวอร์ชั่น Original Score กำลังจะมีฉบับแปลภาษาไทย เร็วๆ นี้
Tags: , , ,