ที่กิน

ที่เที่ยว

ที่พัก… อ้าว! ลืมที่ช็อปฯ ไปได้ยังไง

ส่วนสุขภาพน่าจะเป็นเรื่องสุดท้ายที่เรานึกถึงตอนเตรียมตัวจะไปเที่ยวต่างประเทศกัน หรือบางคนอาจไม่ได้คิดถึงเลยก็เป็นไปได้

เปล่า! นี่ผมเปล่าจะขายประกันสุขภาพต่อนะครับ เพียงแต่เมื่อเร็วๆ นี้ ผมได้มีโอกาสไปศึกษาดูงาน (ถ้าเป็นหมอด้วยกันจะเรียกว่า “elective” หรือการเรียนวิชาเลือกในสาขาเฉพาะทางที่สนใจ) ที่คลินิกเวชศาสตร์ท่องเที่ยวและการเดินทาง (travel clinic) มา เลยอยากจะชวนทุกคนมาทำความรู้จักคลินิกนี้กัน

คลินิกฯ อยู่ที่โรงพยาบาลเวชศาสตร์เขตร้อน ม.มหิดล

ก่อนอื่นเลยก็ต้องแนะนำตำแหน่งที่ตั้งของคลินิกนี้ใช่ไหมครับ เพราะขนาดหมอหลายคนก็น่าจะยังไม่รู้จักเหมือนกัน เนื่องจากเวชศาสตร์การเดินทางและท่องเที่ยว (travel medicine) เป็นสาขาเฉพาะทางที่เพิ่งเปิดสอนเมื่อปี 2557 หรือไม่นานมานี้เอง เป็นสาขาสำหรับให้คำปรึกษาสุขภาพของนักท่องเที่ยวหรือผู้ที่กำลังจะเดินทางต่างประเทศ รวมถึงการรักษาอาการเจ็บป่วยในผู้ที่เดินทางกลับมา (returned travelers) แล้วด้วย

ใครที่นั่งรถเมล์ผ่านไปผ่านมาแถวอนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิบนถนนราชวิถีเป็นประจำ น่าจะเคยเห็นอนุสาวรีย์ ‘พระราชบิดา’ -พระบรมราชชนกในรัชกาลที่ 9 อยู่ฝั่งตรงข้ามกับโรงพยาบาลพระมงกุฏฯ และป้าย ‘คณะเวชศาสตร์เขตร้อน’ ทางซ้ายมือของพระองค์ท่านอยู่บ้างนะครับ

ภาพที่ 1 แผนที่โรงพยาบาลเวชศาสตร์เขตร้อน ที่มาภาพ: www.thaitravelclinic.com

เอาเป็นว่าถ้าตั้งหลักกันที่อนุสาวรีย์ฯ เดินผ่านหน้าโรงพยาบาลราชวิถี มาทางโรงพยาบาลเด็ก เลยมาอีกนิดก็จะถึงตึกสีแดงเลือดหมูของคณะสาธารณสุขศาสตร์ พร้อมกับป้ายบอกทาง ‘โรงพยาบาลเวชศาสตร์เขตร้อน’ เดินเข้าไปข้างใน จะเจอตึก 17 ชั้นของโรงพยาบาล

กดลิฟต์ขึ้นมาที่ชั้น 3 ก็ถึง travel clinic ที่ว่า

ความเสี่ยงขึ้นอยู่กับประเทศอะไรอยู่ตรงไหน

การดูงานในวันแรก แทบจะเรียกได้ว่าเหมือนผมกลับไปอยู่ในห้องเรียนวิชาภูมิศาสตร์สมัยมัธยมฯ  ได้เรียนรู้อีกครั้งว่าประเทศที่อาจารย์พูดถึงอยู่ตรงไหน เพราะทุกประเทศบนโลกสามารถเป็นจุดหมายปลายทางของนักท่องเที่ยวได้ทั้งนั้น เช่น

ประเทศแทนซาเนีย (Tanzania) อยู่ในทวีปแอฟริกาตะวันออก และต้องรู้จักชื่อสถานที่ท่องเที่ยวในประเทศด้วย ยกตัวอย่าง อุทยานแห่งชาติเซเรนเกตี (Serengeti) ที่นักท่องเที่ยวนิยมไปดูการอพยพของฝูงสัตว์ ซึ่งความจริงแล้วเป็นผืนป่าเดียวกันกับเขตอนุรักษ์แห่งชาติมาไซมารา (Masai Mara) ของประเทศเคนยา (Kenya) เพียงแต่มีเส้นสมมติขีดกั้นเท่านั้น

ภาพที่ 2 แผนที่ระบบนิเวศเซเรนเกติ-มารา (ซ้ายมือ) ซึ่งครอบคลุมพื้นที่ของทั้งประเทศแทนซาเนียและเคนยา แต่แผนที่คำแนะนำการฉีดวัคซีนป้องกันไข้เหลือง (ขวามือ) ระบายสีเฉพาะพื้นที่ประเทศเคนยา ทั้งที่ฝูงสัตว์ไม่จำเป็นต้องใช้หนังสือเดินทางข้ามประเทศ

เล่าให้ฟังแล้วก็อย่าขำแรงนะครับว่า ผมจำตำแหน่งของเกาะมาดากัสการ์ (Madagascar) สลับกับหมู่เกาะกาลาปาโกส (Galapagos) ที่ชาลส์ ดาร์วิน เดินทางไปแล้วกลับมาเขียนทฤษฎีวิวัฒนาการ ทั้งที่สองเกาะนี้อยู่กันคนละทวีปเลย (ถ้าคุณครูวิชาสังคมของผมมาอ่านเจอก็ต้องขอโทษที่ครูสอนแล้วไม่จำด้วยนะครับ)

อ่อ ผมมีคำถามครับ

ว่า “ทัชมาฮาลตั้งอยู่ที่เมืองอะไร”

ติ๊กต๊อก

ติ๊ก…ต๊อก…

“เฉลยก็คือเมืองอัครา (Agra)” ตอบถูกกันมั้ยครับ

คำถามนี้เป็นของอาจารย์ในห้อง โดยเอาภาพถ่ายที่แกเคยไปเที่ยวมาให้ทายชื่อสถานที่กัน  ซึ่งทัชมาฮาล ซึ่ง 1 ใน 7 สิ่งมหัศจรรย์ของโลก ใครก็ตอบได้ เลยต้องมีคำถามเพิ่ม แต่ผมและหมอคนอื่นอีกสี่คนที่มาดูงานพร้อมกันไม่มีใครรู้มาก่อนเลย แกเลยแนะนำให้ทุกคน “หาเวลาไปเที่ยวบ้าง”

การเป็นหมอประจำคลินิกเกี่ยวกับการท่องเที่ยวย่อมถูกคาดหวังให้ไปเที่ยวมาเยอะมากเป็นธรรมดา แต่แกยืนยันว่าเป็นไปไม่ได้ที่จะเคยไปมาแล้วทุกที่ แต่ก็ต้องรู้จักชื่อสถานที่และชื่อเมืองที่นักท่องเที่ยวจะไป

จากการนั่งสังเกตการตรวจคนไข้ (ที่สุขภาพดีไม่เจ็บไม่ป่วย) อาจารย์ก็จะถามถึงแผนการเดินทางคร่าวๆ ก่อนว่าจะไปเที่ยวประเทศอะไรบ้าง แล้วให้คนไข้ลงรายละเอียดอีกที เช่น ไปเมืองไหน ออกนอกเมืองหรือเปล่า จากเมืองนี้แล้วไปเมืองไหนต่อ ซึ่งนักท่องเที่ยวบางคนที่เตรียมตัวมาดีก็อาจกางแผนคุยกับอาจารย์เลยก็มี เพราะแต่ละที่มีความเสี่ยงทางด้านสุขภาพ (โดยเฉพาะโรคภัยไข้เจ็บ) แตกต่างกัน

โรคที่คุ้นๆ หรือไม่แน่ใจว่าเคยเรียนมารึเปล่า

ว่าแล้วเชื้อโรคที่อาจารย์ภาควิชาจุลชีววิทยาและภาควิชาปรสิตวิทยาเคยสอนเมื่อสมัยเรียนชั้นปีที่ 3 ก็โบกไม้โบกมือทักทายผมอีกครั้ง หลังจากที่ไม่ได้เจอกันนานมาก เพราะเป็นเชื้อโรคในต่างประเทศ เหมือนบังเอิญเดินสวนกับเพื่อนเก่า เอ…หน้าตาคุ้นๆ ใช่คนที่เคยรู้จักกันมาก่อนรึเปล่า จะทักก็กลัวผิดคน แต่ครั้งนี้อาจารย์เป็นคนแนะนำให้รู้จักกับเพื่อนคนนั้นอีกรอบ

เช่น โปรโตซัวทริพาโนโซมา (Trypanosoma)  อ๋อ…นึกออกแล้วว่าเพื่อนคนนี้หน้าตาคล้ายกับใบไม้เป็นโรคใบหงิกงอ ย้อมติดสีม่วงเข้มบนพื้นหลังเม็ดเลือดแดงสีชมพูอ่อนนี่เอง

โปรโตซัวนี้มีพาหะเป็นแมลงวันเซทซี (Tsetse fly) ที่จะบินจากฝูงสัตว์เข้ามากัดเรา ถ้าแมลงมีเชื้อนี้อยู่ในตัวก็อาจถ่ายทอดเชื้อสู่ร่างกาย ทำให้เป็นโรคเหงาหลับ (sleeping sickness หรือ African trypanosomiasis)

แมลงชนิดนี้จะพบได้ในประเทศแอฟริกาใต้ทะเลทรายสะฮาราลงมา (sub-saharan) แต่ไม่ถึงแอฟริกาใต้ ดังนั้นคนที่จะไปเที่ยวที่ Serengeti หรือ Masai mara (ยังจำกันได้อยู่ใช่ไหมครับว่าที่ไหนอยู่ประเทศอะไร) จึงมีความเสี่ยงต่อโรคนี้ และต้องรู้จักวิธีการป้องกันตัว

ภาพที่ 3 โปรโตซัวทริพาโนโซมา และแมลงวันเซทซี อ่านไม่ผิดครับ เป็นแมลงวันที่ดูดเลือดคน

นอกจากนี้ยังมีชื่อโรคที่ไม่แน่ใจว่าเคยเรียนมาหรือเปล่า (เกรงใจครูบาอาจารย์ของผมอยู่เหมือนกัน) เพราะเป็นโรคที่ไม่พบในประเทศไทย แต่นักท่องเที่ยวมีโอกาสได้รับเชื้อ แล้วกลับมาแสดงอาการที่ไทยได้ ยกตัวอย่างโรคไข้เหลือง (yellow fever), โรคพยาธิตา (loiasis) พบมากทางแอฟริกาตะวันตก เช่น กาบอง (Gabon) แคเมอรูน (Cameroon), โรคไลม์ (Lyme disease) ในอเมริกาพบทางตะวันออกเฉียงเหนือ เช่น นิวยอร์ก (New York) เพนซิลเวเนีย (Pennsylvania) ในเขตชานเมืองและป่า เป็นต้น

วัคซีนป้องกันโรคไข้เหลือง และวัคซีนอื่นๆ

นักท่องเที่ยวส่วนใหญ่มักรู้จักคลินิกนี้ เพราะจะต้องมาขอรับวัคซีนไข้เหลืองก่อนเดินทางไปยัง 29 ประเทศในทวีปแอฟริกา และ 13 ประเทศในทวีปอเมริกาใต้ ซึ่งเป็นเขตระบาดของโรคไข้เหลืองตามประกาศของกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) ล่าสุดเมื่อปี 2560

เพราะเป็นโรคที่มีอัตราตายสูง 20-50% จึงต้องฉีดวัคซีนป้องกันโรคก่อนเดินทางอย่างน้อย 10 วัน และเพื่อป้องกันไม่ให้ ‘นำเข้า’ เชื้อไวรัสไข้เหลืองกลับมาแพร่ต่อในประเทศไทย

สาเหตุที่ สธ. กลัวมากจนต้องประกาศเป็นกฎกระทรวง และต้องมีการกักกันโรคในผู้ที่เดินทางไปยังเขตระบาด แต่ไม่ได้รับการฉีดวัคซีน ก็เนื่องจากไวรัสไข้เหลืองกับไวรัสเดงกีที่ทำให้เกิดโรคไข้เลือดออกในบ้านเราเป็นกลุ่มเดียวกัน และยังติดต่อผ่านยุงลายเหมือนกันด้วย

ลำพังโรคไข้เลือดออกก็ยังคุมการระบาดไม่ค่อยอยู่แล้ว ถ้ามีโรคไข้เหลืองเข้ามาอีกก็คงรับมือกันไม่ไหวแน่นอน

นอกจากวัคซีนโรคไข้เหลืองที่คนไข้ต้องการและต้องฉีดแล้ว หมอที่ travel clinic จะถามถึงประวัติวัคซีนที่คนไข้เคยได้รับมาก่อนหน้านี้ด้วย เพื่อนำมาพิจารณาประกอบกับความเสี่ยงของพื้นที่ว่ายังขาดเหลือวัคซีนตัวใดอีกบ้าง เช่น วัคซีนโรคไวรัสตับอักเสบเอ วัคซีนไข้ไทฟอยด์ วัคซีนพิษสุนัขบ้า

ภาพที่ 4 แผนที่คำแนะนำการฉีดวัคซีนป้องกันไข้เหลืองสำหรับทวีปอเมริกาใต้ ของศูนย์ควบคุมและป้องกันโรคแห่งสหรัฐฯ (CDC)  ซึ่งเพิ่มเติมพื้นที่เมืองรีโอเดจาเนโรขึ้นมาตั้งแต่ปี 2017 เนื่องจากมีการระบาด แต่ทั้งนี้ตามประกาศ สธ. กำหนดให้ผู้ที่เดินทางไปประเทศบราซิลต้องได้รับการฉีดวัคซีนป้องกันโรคไข้เหลืองอยู่แล้ว

ผมสังเกตว่าชาวต่างชาติที่มารับบริการจะมีสมุดสีเหลือง (yellow book) ของวัคซีนป้องกันไข้เหลือง กับสมุดวัคซีนอื่นๆ พกติดตัวมาด้วยทำให้ทบทวนประวัติการฉีดวัคซีนได้ถูกต้องและรวดเร็ว ในขณะที่คนไทยจะใช้การจำ บางวัคซีนก็อาจจำไม่ได้ สำหรับวัคซีนพื้นฐาน หมอก็อาจใช้วิธีการประเมินจากอายุของคนไข้

เช่น วัคซีนรวมคอตีบ-บาดทะยักจะได้รับการฉีดกระตุ้นเข็มสุดท้ายที่โรงเรียนตอน ป.6 หากตั้งครรภ์ก็จะได้รับการฉีดกระตุ้นอีกครั้ง (หมออาจถามอายุของลูก), คนไทยที่เกิดก่อนปี 2530 จะยังไม่ได้รับวัคซีนไข้สมองอักเสบเจอี (JE) เพราะเป็นปีที่เริ่มฉีดในไทยจากจังหวัดในภาคเหนือก่อน และค่อยๆ เพิ่มจนครอบคลุมทั้งประเทศในปี 2543

สำหรับคนที่ต้องการตรวจสอบประวัติการฉีดวัคซีนของตัวเอง ก็คงต้องถามคุณแม่ว่า “ยังเก็บสมุดเล่มสีชมพูไว้อยู่หรือไม่” ถ้าโชคดี ยังไม่ถูกชั่งกิโลฯ ขายไปแล้ว ก็สามารถเปิดดูที่เจ้าหน้าที่บันทึกไว้ โดยจะอยู่หน้าท้ายๆ ของสมุดครับ

“วัคซีนที่หมอแนะนำ คุณ…จะฉีดหรือไม่ฉีดก็ได้นะคะ” อาจารย์ชี้แจงคนไข้ภายหลังจากแนะนำวัคซีนที่ควรฉีดเพิ่ม 2-3 ตัว เพราะไม่ใช่วัคซีนบังคับ และทุกวัคซีนที่ฉีดเป็นราคาที่คนไข้ต้องจ่ายเอง “เพียงแต่หมอไม่อยากให้คุณป่วยจากโรคที่ป้องกันได้เท่านั้น”  

แต่ก็ขึ้นกับว่านักท่องเที่ยวยอมรับความเสี่ยงได้มากน้อยแค่ไหน

การเดินทางไม่ได้มีแบบเดียวกับเราเสมอไป

ถ้าพูดถึงการท่องเที่ยวแถบเทือกเขาหิมาลัย ไม่ว่าจะเป็น ABC (Annapurna base camp) หรือ EBC (Everest base camp) ผมก็จะนึกถึงการเดินเขาหรือ trekking เพียงอย่างเดียว ซึ่งการขึ้นที่สูงมากกว่า 2,500 เมตร และอยู่บนนั้นเป็นเวลานาน จะมีความเสี่ยงต่อการเกิดโรคแพ้ที่สูง (acute mountain sickness) ได้

การป้องกันมีทั้งการปรับตัวและการกินยาที่นักท่องเที่ยวน่าจะรู้จักชื่อการค้าว่า ‘Diamox’ ซึ่งมีผลข้างเคียงและอาจเกิดอาการแพ้ยาได้

อาจารย์ในห้องเลยมีคำถามสมมติขึ้นมาว่า “ถ้าคนไข้แพ้ยา หรือไม่อยากกินยาป้องกันจะมีวิธีอื่นแนะนำไหม”

พี่หมอที่มาเรียนต่อเฉพาะทางก็เสนอคำแนะนำคนไข้ต่างๆ นานา แต่ก็ยังไม่ถูกใจอาจารย์เสียทีเดียว เพราะถ้าเป็นอาจารย์จะถามเขาก่อนว่า “จำเป็นต้องไป ABC หรือ EBC แค่ไหน”

“ถ้าเขาบอกว่าอยากไป เพราะอยากไปเห็น EBC สักครั้งในชีวิต”

“ก็ยังมีอีกทางที่แนะนำเขาได้ คือการนั่งเฮลิคอปเตอร์ขึ้นไป” ทันทีที่ได้ยินคำเฉลย ก็นึกขำในใจว่าทำไมเราถึงนึกวิธีนี้ไม่ถึง “อ้าว! ถ้ามีตังค์ ทำไมจะทำไม่ได้”

“การเดินทางของแต่ละคนเป็นอะไรที่ไม่เหมือนกัน บางคนอยากเดินขึ้นไปเป็นความภาคภูมิใจ แต่บางคนขอแค่ได้ไปถึง ก็ต้องมีทางเลือกให้เขา” ประสบการณ์การทำงานของอาจารย์ทำให้ผมเห็นการท่องเที่ยวอีกแบบหนึ่งที่ไม่เหมือนกับพ็อกเก็ตบุ๊กเล่าประสบการณ์ท่องเที่ยวของนักเขียนหลายคน

นอกจากนี้ การมาดูงานที่นี่ก็ทำให้ผมได้รู้จัก ‘การเดินทาง’ ในแบบอื่นซึ่งก็ไม่เท่ากับ ‘การท่องเที่ยว’ เสมอไป ไม่ว่าจะเป็นนักเรียนที่จะไปแลกเปลี่ยนหรือไปเรียนต่อต่างประเทศ คนที่จะไปทำงานที่ต่างประเทศ เช่น นักวิจัยโรคที่เดินทางไปยังพื้นที่ระบาดของโรค นักนวดบำบัด (massage therapist) ที่ทำงานบนเรือสำราญ หรือผู้ติดตาม อาทิ คนครัวประจำตัวเอกอัครราชทูต รวมถึงอาสาสมัครขององค์การระหว่างประเทศ

โดยสังเขปแล้ว

สุขภาพเป็นอีกเรื่องที่อยากให้ทุกท่านนึกถึงไว้ก่อนจะไปเที่ยวต่างประเทศ ผู้อ่านหลายท่านน่าจะยังไม่เคยรู้จักคลินิกนี้มาก่อน แต่ถ้าหากท่านใดมีแผนการเดินทางแล้วก็สามารถไปขอรับคำปรึกษาด้านสุขภาพกับ travel clinic ก่อนได้ เป็นต้นว่าจะต้องเตรียมตัวอย่างไร มีข้อควรระวังอะไรบ้าง หรือถ้าหากเดินทางกลับมาแล้วมีอาการผิดปกติก็สามารถไปขอรับการรักษาได้เช่นกัน

Tags: , , , ,