คุณอาจเคยได้ยินเรื่องนี้ – เรื่องของทุ่งหญ้า และวัว และชาวนา และโศกนาฏกรรม
ปี 1968 การ์เรตต์ ฮาร์ดิน (Garett Hardin) เล่านิทานที่จับใจคนฟังทั่วทั้งโลก เป็นนิทานเรื่องทุ่งหญ้าแห่งหนึ่ง ชาวนาทั้งหมู่บ้านใช้ทุ่งหญ้าแห่งนี้ร่วมกัน ตอนเช้าตรู่ชาวนาต่างจูงฝูงวัวของตนมาเล็มหญ้าในทุ่งหญ้าก่อนพาพวกมันกลับบ้านเมื่อตกเย็น
หากเราคิดในมุมของชาวนาหนึ่งคน ย่อมเห็นได้ไม่ยากว่ายิ่งเขาพาวัวจำนวนมากเท่าไร มาเล็มหญ้าก็ยิ่งดี ยิ่งวัวมากเขายิ่งได้ประโยชน์ แต่หากชาวนาคนหนึ่งพาวัวจำนวนมากๆ – เช่นสักหนึ่งพันตัว – มาเล็มหญ้า แล้วมีเหตุผลอะไรที่ชาวนาคนอื่นจะไม่ทำตาม? ทุกคนก็คงคิดว่า งั้นฉันก็เอามั่ง แกพามาหนึ่งพันตัวฉันจะพามาหนึ่งพันหนึ่งตัว ฯลฯ
หากทุกคนทำเช่นนี้ สุดท้ายทุ่งหญ้าก็จะรกร้างเพราะหญ้าเติบโตไม่ทัน และจะไม่มีวัวของชาวนาหน้าไหนที่ได้กินหญ้าอีกต่อไป
ชาวนาทุกคนต่างได้ประโยชน์จากการเพิ่มวัวอีกสักหนึ่งตัว แต่ความเสียหายเกิดที่เกิดขึ้นจากการเพิ่มจำนวนวัวนี้ถูกแบ่งปันไปอย่างถ้วนทั่วให้ชาวนาทุกคน หากชาวนาคิดอย่างมีเหตุมีผล (อย่างที่เรียกว่าเป็น ‘Rational Being’) พวกเขาก็จะคิดว่าควรเพิ่มพูนประโยชน์ให้ตนเองสูงสุด แต่การเพิ่มพูนประโยชน์ให้ตนเองสูงสุดนั้นกลับส่งผลร้ายไม่เว้นหน้า
การ์เรตต์ ฮาร์ดิน เรียกสิ่งนี้ว่าเป็นโศกนาฏกรรมของทรัพย์สินร่วม (Tragedy of the Commons)
ข้อดีของโมเดลนี้ในการคิดต่อยอดคือ มันมีความยืดหยุ่น เราอาจแทนทรัพยากรร่วมเป็นพื้นที่สาธารณะ เม็ดเงิน ความสะอาดของท้องทะเล ฝูงปลาหรือการเข้าถึงสื่อก็ได้
แล้วกับสื่อล่ะ?
มีผู้จับโมเดลนี้มาอธิบายปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นกับสื่ออยู่หลายต่อหลายครั้ง เช่น Charles Warner จาก Huffington Post จับเรื่องนี้เข้ากับ “การเสนอให้เข้าถึงเนื้อหาฟรีบนโลกออนไลน์” ก่อนหน้านี้ผู้อ่านหนังสือพิมพ์อย่าง The New York Times หรือ Washington Post จะต้องจ่ายเงินเพื่ออ่านหนังสือ แต่เมื่อโลกออนไลน์เข้ามา พวกเขาก็เริ่มเสนอให้ผู้คนสามารถอ่านเนื้อหาได้ฟรีเพื่อแลกกับเม็ดเงินโฆษณาและ ‘ลูกตา’ ของผู้ชม เมื่อเจ้าหนึ่งเปิดฟรี เจ้าที่ไม่เปิดฟรีก็เดือดร้อนและสูญเสียรายได้ที่ควรจะได้ส่วนนี้ไป จึงต้องเปิดให้ใช้ฟรีด้วย จนทำให้ทั้งวงการมีรายได้ลดลงเพราะทุกคนเปิดให้อ่านฟรีกันหมดและกลายเป็นปัญหาแบบงูกินหาง Warner เขียนบทความนี้ในปี 2010 แต่ปัจจุบันปัญหาได้ถูกบรรเทาลงแล้วเพราะทุกเจ้าต่างไหวตัวทันและกลับมาใช้โมเดลอย่าง Paywall แทนด้วยความเชื่อมั่นในคุณภาพของเนื้อหาของตน ขณะที่เปิดฟรีในบางบทความเพื่อขับเคลื่อนทราฟฟิกเข้าสู่เว็บไซต์
นั่นคือ หากเจ้าหนึ่งตั้ง ‘มาตรฐาน’ ใหม่แล้ว เจ้าอื่นอาจต้องทำตามมาตรฐานนั้นเพราะกลัวว่าจะไม่สามารถสร้างประโยชน์ให้ตนเองสูงสุด อย่างไรก็ตาม ด้วยการนี้ ทุกคนจะเสียประโยชน์ในท้ายที่สุดหากไม่มีการเปลี่ยนแนวโน้มพฤติกรรม
ปัญหาเรื่อง Paywall นี้อาจจะไกลจากไทยไปเสียหน่อย เพราะสื่อในไทยแทบไม่มีโมเดลอื่นในการหาเงินออนไลน์ นอกจากโมเดลรับโฆษณา (อาจมีการรับงานหน่วยงานต่างๆ เพื่อจุนเจือในบางส่วน)
อีกครั้งหนึ่งที่มีผู้จับโมเดลโศกนาฏกรรมของทรัพย์สินร่วมเข้ากับวงการสื่อที่อาจใกล้กับไทยเข้ามาคือเรื่องคุณภาพของคอนเทนต์ สื่ออย่าง Poynter เขียนไว้ว่าในที่นี้ทรัพยากรก็คือคอนเทนต์คุณภาพดี เมื่อมีสื่อที่ทำคอนเทนต์คุณภาพต่ำ (แต่สามารถดึงดูดสายตาผู้คนได้เป็นจำนวนมาก) นั่นก็เป็นการตั้งมาตรฐานใหม่ที่ดึงดูดให้ทุกคนทำคอนเทนต์คุณภาพต่ำ พาดหัวแรง ผลิตง่าย (อย่างที่ยุคหนึ่งมีคลิกเบท) ตามไปด้วย
ผมคิดว่าในมุมของประเทศไทย ในธุรกิจสื่อที่ขาดโมเดลรายได้อื่นนอกจากการโฆษณา ยังสามารถมองสื่อผ่านโศกนาฏกกรรมของทรัพย์สินได้อีกทางหนึ่ง ผ่านเลนส์การยอมสูญเสียจรรยาบรรณ ตัวอย่างเช่น เดิมทีบรรณาธิการสื่อกับฝ่ายขายจะมี “กำแพงกระจก” กั้นอยู่ กล่าวคือจะรู้ว่าแต่ละฝ่ายทำอะไร แต่จะไม่ก้าวก่ายกันและกันมาก แล้วจะเกิดอะไรขึ้นหากกระจกนั้นถูกยกออก หากบรรณาธิการทำหน้าที่เป็นฝ่ายขายเสียเองในบางสื่อ นั่นจะทำให้ปัญหาด้าน Conflict of Interest พุ่งสูงขึ้นหรือไม่
หากบรรณาธิการมีความสัมพันธ์กับนายทุนผู้ลงโฆษณาในระดับใกล้ชิดสนิทสนมร่วมโต๊ะรับประทานอาหารกันและชื่นชมออกสื่อ นั่นย่อมทำให้เกิดคำถามว่าสื่อนั้นจะยังสามารถรายงานข่าวได้อย่างตรงไปตรงมาไหมหากธุรกิจนั้นๆ มีเรื่องอื้อฉาวหรือเรื่องที่ขัดต่อผลประโยชน์ของประชาชน หากสื่อมีความสัมพันธ์กับนักการเมืองในระดับที่แทบเรียกได้ว่ามี “เรตราคาสำหรับการฟอกขาว” โดยแฝงตัวมาเป็นข่าวที่ไม่มีแม้คำว่าโฆษณากำกับ เราจะเชื่อใจอะไรได้หรือ
สุดท้ายแล้ว ประชาชนคือลูกค้าของสื่อหรือไม่ หรือเป็นเพียงสินค้าให้สื่อนั้นฉกฉวยเอาไปขายความสนใจให้กับสปอนเซอร์ เมื่อมาตรฐานของสื่อถูกฉุดให้ตกต่ำลงด้วยสื่อรายหนึ่ง ผู้ลงโฆษณาจะคาดหวังการปฏิบัติอย่างเดียวกัน เช่น บังคับให้เขียนเข้าข้าง ปกปิดเรื่องอื้อฉาว และสามารถ “ซื้อได้ คุยกันได้” จากสื่อรายอื่นหรือไม่ ในขณะที่หากสื่อรายอื่นไม่ทำตาม ก็อาจถูกตัดออกจากการสนับสนุนในคราวต่อๆ ไป จึงต้องแข่งกัน “เอาใจ” ลูกค้าโดยละเลยหน้าที่ที่มีต่อประชาชน ในขณะที่หากเทียบกัน เมื่อสื่อมีความเข้มแข็งเป็นปึกแผ่น การรายงานข่าวโดยอิสระย่อมทำได้ แม้จะเป็นข่าวของลูกค้าที่ซื้อโฆษณาในหน้าถัดมาก็ตาม
นั่นคือ สื่อรายหนึ่งสามารถฉุดมาตรฐานของวงการให้ต่ำลงได้ หากสื่อรายนั้นมีผู้ติดตามมากพอ เพราะผู้ลงโฆษณา นายทุน และรัฐจะคิดว่า “ในเมื่อสื่อนี้ยังทำได้ ทำไมสื่ออื่นถึงเรื่องมาก” และตัดสื่ออื่นๆ ออกจาก “กองมรดก”
แน่นอน นี่ไม่ใช่ปัญหาใหม่ เป็นปัญหาที่เกิดขึ้นมาโดยตลอด แต่สิ่งที่เราควรระลึกไว้คือ มันเกิดขึ้นในยุคสื่อออนไลน์มากขึ้น อาจเป็นเพราะความที่สื่อออนไลน์ไม่ได้เก็บเงินผู้อ่าน ดังนั้นหากไม่ระวังและยึดมั่นในหลักการ พันธกิจต่อผู้อ่านก็อาจเจือจางลงและประชาชนก็จะถูกลดรูปไปเป็นเพียงตัวเลขอิมเพรสชั่นเท่านั้น ในขณะที่ลูกค้าของจริงของสื่อคือผู้ลงโฆษณา ซึ่งทรงอิทธิพลและ “เลือกได้” มากขึ้นเรื่อยๆ
หากไม่มีความตั้งใจจะหยุดกระบวนการที่เกิดขึ้นนี้ และปล่อยให้ดำเนินต่อไป ภาวะการกินหญ้าเกินควรของวัวก็อาจพาให้เราไปสู่จุดที่สุดท้ายแล้วสื่อไม่มีความหมายอะไร ไม่ทำหน้าที่ในการคานอำนาจต่อผู้เปี่ยมทรัพยากร และเป็นเพียงกระบอกเสียงของนายทุนและรัฐเท่านั้น เมื่อนั้น โศกนาฏกรรมคงไม่เกิดขึ้นแต่กับทรัพย์สินร่วมเท่านั้น แต่จะเกิดขึ้นกับประชาชนทุกคน
เมื่อมาตรฐานถูกเซ็ตขึ้นใหม่ อาจต้องอาศัยการเปลี่ยนแนวคิดและพลังจากภาคประชาชนรวมถึงสื่อที่ยังผดุงจรรยาบรรณเท่านั้นที่จะพาเราออกจากวังวนนี้ได้
Tags: Tragedy of the Commons