นาฬิกาต้นแบบนี้ เป็นงานวิจัยนวัตกรรมจากกรอบความร่วมมือของกรมการแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข และมหาวิทยาลัยมหิดล เพื่อสร้างอุปกรณ์ต้นแบบสำหรับติดตามเก็บค่าข้อมูลทั้ง อุณหภูมิ อัตราการเต้นของหัวใจ และออกซิเจนในเลือดอย่างต่อเนื่อง สำหรับจัดส่งข้อมูลเข้าศูนย์วิจัยสถานการณ์โควิด-19 เพื่อประเมินเกณฑ์กลุ่มเสี่ยงที่ประกอบด้วยผู้ป่วยที่มีอาการไม่มากทั้งอยู่ที่โรงพยาบาลและเฝ้าระวังอยู่ที่บ้าน
รวมทั้งการศึกษาวิจัยการใช้ปัญญาประดิษฐ์ (AI) เพื่อพยากรณ์กลุ่มที่ไม่แสดงอาการ ซึ่งเป็นผู้ติดเชื้อที่สามารถเป็นผู้แพร่เชื้อได้ โดยกลุ่มเสี่ยงเหล่านี้ก่อให้เกิดความหวั่นวิตกว่าจะทำให้เกิดการระบาดระลอกที่สองของเชื้อโควิด-19 ดังเช่นสถานการณ์ที่เกิดขึ้นแล้วในหลายๆประเทศนอกจากนี้ ยังเป็นอันตรายที่ก่อให้เกิดความสุ่มเสี่ยงต่อการควบคุมโรคได้
โดยในวันที่วันที่ 21 เมษายน 2563 ที่ผ่านมา คณะที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ได้มอบนาฬิกาต้นแบบ และสนับสนุนงานนวัตกรรมนาฬิกาติดตามผู้ป่วยที่เข้าเกณฑ์สอบสวนโรค หรือ PUI (Patient Under Investigation) ตลอดจนหน้ากากอนามัย (Surgical Mask) จำนวน 10,000 ชิ้น ให้กับโรงพยาบาลราชวิถี เพื่อใช้ติดตามเก็บค่าข้อมูลผู้ป่วยและกลุ่มเสี่ยงโรคโควิด-19
ธนัตถ์ ศรุติอังกูร คณะที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กล่าวว่า นวัตกรรมนาฬิกาติดตามผู้ป่วยนี้จะเป็นเครื่องมือหนึ่งที่มีส่วนช่วยเพิ่มโอกาสที่ประเทศไทยเปลี่ยนผ่านจากมาตรการ ‘กึ่งล็อกดาวน์’ เข้าไปสู่มาตรการ ‘สร้างเสถียรภาพ’ ในอนาคตได้
Tags: อุปกรณ์การแพทย์, นาฬิกา, โคโรนาไวรัส, โควิด-19