ในโลกของการ ‘จิ้น’ ดูเหมือนว่าอะไรก็เกิดขึ้นได้ ซึ่งจากการพูดคุยในงานเสวนา ‘ริอ่าน’ ที่ว่าด้วยเรื่อง ‘แฟนฟิค’ (fanfiction—เรื่องแต่งโดยแฟนๆ ของนิยาย หนัง หรือกลุ่มคนนั้นๆ อีกทีหนึ่ง) หรือนิยาย Y พบว่าเรื่องราวสามารถดำเนินไปได้โดยไม่ต้องอิงกับความเป็นจริง เพราะแฟนฟิคร่วมสมัยมีจุดกำเนิดจากการจิ้น อันหมายถึงการนึกฝันเอาว่า ตัวละครในนิยาย ในการ์ตูนหรือ ดาราเซเลบที่มีชื่อเสียง จะมีความสัมพันธ์แบบอื่นๆ มากกว่าที่ปรากฏในตัวบท  ในข่าว ในโลกจริง แฟนฟิคจึงเป็นพื้นที่เปิดโล่งให้อะไรเกิดขึ้นก็ได้ เช่นผู้ชายสองคนมารักกัน ผู้ใหญ่มารักกับเด็ก กับสัตว์ กับคนครึ่งสัตว์ หรือกระทั่งผู้ชายท้องได้

คุณอรรถ บุนนาคอธิบายเรื่องนี้ไว้อย่างน่าสนใจว่า อันที่จริง โครงสร้างของนิยายรักก็คือคู่รักและอุปสรรค ในอดีตอุปสรรคของคู่รักอาจจะเป็นเรื่องของชนชั้น หรือวัย หรือแม้แต่ระยะทาง แต่ในโลกสมัยใหม่ที่ชนชั้นหรือการเมืองถูกท้าทายไปหมดแล้ว อุปสรรคเดิมๆ เหล่านั้นไม่น่าสนใจอีกต่อไป อุปสรรคจึงเคลื่อนย้ายไปสู่เรื่องเพศ เรื่องปัจเจกภายใน อุปสรรคใหม่ๆ ทำให้เรื่องรักยังคงความเป็นรักต้องห้าม เป็นรักที่ซาบซึ้ง เพราะต้องฝ่าฟันอุปสรรคนานาเพื่อที่จะรัก เช่นเดียวกับอุปสรรคล่าสุดของคู่รักจากหนังเรื่องนี้ แม้มันจะไม่ได้มีหน้าตาเป็นแฟนฟิคหรือฟิค Y ก็ตาม

นี่คือหนังที่ว่าด้วยความรักของ เคนจิ หนุ่มเนิร์ดหนังที่ตอนนี้เป็นผู้ช่วยผู้กำกับในสตูดิโอหนังแห่งหนึ่ง ทุกคืนหลังเลิกงาน เคนจิจะไปดูหนังที่โรงหนังโรแมนซ์ ขอเหมาโรงรอบดึกเพื่อดูหนังขาวดำเก่าเก็บเรื่องหนึ่ง หนังที่ถูกสร้างมาเพื่อให้ถูกลืม หนังว่าด้วยเจ้าหญิงมิยูกิ กับสามสหายหมี นก เสือ และการหนีออกจากวัง ทุกคืนเคนจิจะดำดิ่งลงในหนังเรื่องนั้น หลงรักเจ้าหญิงมิยูกิอย่างถอนตัวไม่ขึ้น จนคืนหนึ่ง เจ้าของโรงหนังบอกว่านี่คงเป็นครั้งสุดท้าย เพราะเขากำลังจะขายหนังเรื่องนี้ทิ้ง

ในโมงยามนั้นเอง การหนีของเจ้าหญิงมิยูกิก็ประสบความสำเร็จ หากไม่ใช่การหนีออกจากวังไปเที่ยวแต่เป็นการหนีจากโลกในหนังออกมาโลกจริง เป็นผู้หญิงขาวดำในโลกสี และเคนจิต้องคอยปกป้องเธอ ดูแลเธอที่เป็นเจ้าหญิงเอาแต่ใจและมองเขาในฐานะคนรับใช้

 

อุปสรรคไม่ได้มาแค่เพียงเรื่องว่าเธอเป็นคนขาวดำเขาเป็นคนสี แน่นอนว่าทั้งคู่ค่อยๆ ตกหลุมรักกัน เธอข้ามมาเพราะเธอเห็นเขามาดูหนังทุกคืนแต่ปากแข็งไม่ยอมบอก หากอุปสรรคใหญ่โตกว่าคือ การที่เธอสามารถข้ามมายังโลกนี้ได้นั้นแลกกับการที่เธอจะไม่สามารถสัมผัสกับใครในโลกนี้ได้ หากเธอแตะตัวกับใครเธอจะสูญหายไปตลอดกาล

กล่าวให้ถึงที่สุด อุปสรรคของคู่รักในหนังเรื่องนี้ จึงไม่ใช่ตัวละครหนีออกมาจากหนังมารักกับคนจริงๆ แต่อุปสรรคของหนังคือเรื่องของความรักที่ปราศจากเซ็กส์

คล้ายคลึงกับอีกเรื่องหนึ่งอย่าง We Married As Job ละครที่ดังที่สุดในประเทศญี่ปุ่นในปี 2016 ละครว่าด้วยหนุ่มเนิร์ดกับสาวงามตกงาน ตัดสินใจแต่งงานกันเพื่อที่จะได้อยู่ด้วยกัน ในฐานะของนายจ้างกับลูกจ้าง การแต่งงานเป็นการทำธุรกิจที่มีสัญญาชัดเจนว่าหญิงสาวรับจ้างเป็นแม่บ้านแบบอยู่ในบ้าน เพื่อดูแลบ้านให้กับชายหนุ่มโดยไม่มีสิ่งอื่นใดมากกว่านั้น การแต่งงานคือสัญญาจ้าง การฮันนี่มูนคือทริปบริษัท และเมื่อพวกเขาเริ่มตกหลุมรักกัน เธอก็เริ่มเปลี่ยนสัญญาไปเป็นลักษณะของหุ้นส่วน หรือในที่สุดเมื่อถึงจุดที่เหมาะควรจะเป็นสามีภรรยาจริงๆ เธอก็ต้องคิดกับประเด็นว่าการทำงานบ้านโดยไม่ได้รับเงินเดือนในฐานะภรรยา คือการกดขี่ขูดรีดแรงงานเอาฟรีๆ หรือไม่

อาจฟังดูแล้วไร้สาระสำหรับคู่รัก หากละครทั้งสิบตอน มีอุปสรรคอยู่ที่การพยายามหักห้ามใจในความรักที่ไม่มีเซ็กส์มาเกี่ยวข้อง เพราะเซ็กส์ทำให้ความสัมพันธ์ยุ่งยาก ขณะที่ความรักก็ทำให้ความสัมพันธ์ซับซ้อนไม่ตรงไปตรงมา อธิบายไม่ได้และเต็มไปด้วยการเอารัดเอาเปรียบและความเสียสละซึ่งถูกซ่อนไว้ในนามของความรัก

มีการวิเคราะห์เกี่ยวกับความโด่งดังของละครเรื่องนี้ ว่ามาจากการที่มันโดนใจหนุ่มสาวญี่ปุ่นในปัจจุบันที่ไม่เชื่อถือเรื่องการแต่งงาน หรือความรักอีกแล้ว พวกเขากว่าครึ่งไม่มีคนรัก ลามเลยไปถึงไม่มีเซ็กส์ อย่างน้อยก็ไม่มีความสัมพันธ์แบบสอดใส่ ละครเรื่องนี้คือการฉายภาพของคนหนุ่มสาวปัจจุบัน ที่ความรัก หรือความสัมพันธ์โรแมนติกแบบที่เป็นอุดมคติของคนรุ่นก่อนหน้ากลายเป็นภาระและปัญหาชีวิตที่ต้องจัดการ  แม้ในที่สุดหนังจะตีสองหน้าว่าถึงอย่างไรเสียความรักก็ชนะทุกอย่างอยู่ดีนั่นเอง

ความรักแบบปราศจากเซ็กส์เลยกลายเป็นแฟนตาซีที่น่าสนใจ ที่มากไปกว่านั้นคือความรักที่ปราศจากคนรัก  ปรากฏการณ์ของการตามคลั่งไอดอล การแต่งงานกับฟิกเกอร์จากการ์ตูน หรือตุ๊กตายาง อาจฟังดูพิลึก แต่เราสามารถอธิบายความรักแบบนั้นได้ในละครเรื่องนี้ และหนังเรื่องนี้

ความรักของเคนจิที่มีต่อเจ้าหญิงมิยูกิ ในฐานะ คนรับใช้ที่ไม่อาจแม้แต่จะกอดหรือกุมมือหญิงคนรักได้ จึงไม่ใช่อื่นใดนอกจากเรื่องแฟนตาซีเพ้อฝันของผู้ชายเนิร์ด ของโอตาคุที่พยายามขัดถูความสัมพันธ์ชนิดใหม่ๆ ของพวกเขากับ ไอดอล กับ ฟิกเกอร์ กับอนิเมะ  ให้กลายเป็นความโรแมนติก ให้การ ‘จิ้น’ ตัวเองกับสิ่งเหล่านี้เป็นเรื่องงดงามของความรักไม่ใช่คนเพี้ยนบ้าๆ บอๆ การเสียสละตัวเองที่จะไม่มีความสัมพันธ์ทางกาย กลายเป็นความรู้สึกคล้ายการเป็นนักบวชปฏิบัติธรรมทำให้ความรักนั้นเป็นรักที่บริสุทธิ์กว่าการแต่งงานซึ่งเป็นจุดจบ เป็นอุดมการณ์ของรัฐสมัยใหม่ที่ประนีประนอมต่อความรัก หากมองว่าผู้คนในอดีตไม่ได้แต่งงานเพราะความรักแต่เป็นการแต่งงานเพราะผลประโยชน์ทางสังคม ความรักเคยเป็นโรคมาก่อนด้วยซ้ำ ก่อนที่สังคมสมัยใหม่จะยอมให้ภายใต้กรอบคิดของการผลิตลูกหลาน สืบพันธุ์ และสร้างรากฐานให้กับการผลิต ส่งต่อจริยธรรมแบบชนชั้นกลางเพื่อมาขับเคลื่อนทุนในยุคต่อไป  

ความรักที่ไม่มีความสัมพันธ์ทางกายในยุคสมัยปัจจุบัน จึงเป็นการท้าทายด้วยการไม่สืบพันธุ์ และเป็นความโรแมนติคสมัยใหม่ (กว่า) (ในขณะที่ในอดีต ความรักเริ่มจากการไม่สัมพันธ์ทางกายและเดินไปสู่ความสัมพันธ์ทางกาย) ความรักคือการฝึกตน ความรักกับไอดอลที่ไม่เคยเป็นของเรา กับตุ๊กตาที่ไม่ตอบโต้เรา ไม่ใช่รูปแบบความรักที่ทำให้ผู้ชายไม่ต้องดูแลหญิงอันเป็นที่รัก ไม่ใช่ความรักแบบสะดวกสบายของโอตาคุหน่ายสังคม แต่มันคือความรักที่ต้องการทะนุถนอมเอาใจใส่ การรักกับเจ้าหญิงที่ไม่ตอบโต้ การเรียกร้องของเจ้าหญิงจากโลกขาวดำ ก็เป็นเช่นความเงียบใบ้ของตุ๊กตา การทุ่มเงินและเวลาตามไอดอล มันเรียกร้องวัตรปฏิบัติเยี่ยงนักบวชเคร่งศาสนา โบยตีตนเอง เสียสละตนเอง และมันคือความโรแมนติกที่แท้

เราจึงอาจมองได้ว่าหนังเรื่องนี้คือภาพฉายความรักอันโรแมนติคของชายผู้เสียสละเพื่อหญิงที่ตนรัก แต่หญิงที่ตนรักไม่ใช่ผู้หญิงสามมิติที่มีเรือนร่างให้รักอีกต่อไป รูปถ่ายเว้นระยะในหนังจึงเป็นความโรแมนซ์ขั้นสูงสุดของคู่รักนอกบริบทคู่นี้

แต่หนังปฏิวัติขนาดนั้นหรือเปล่า คำตอบก็อาจจะไม่ เช่นเดียวกันกับละคร We. Married As Job เพราะไคลแมกซ์สูงสุดของหนังคือสัมผัสทางกาย แต่แน่นอนว่าสัมผัสทางกายก็เป็นไปเพื่อที่จะคงไว้ซึ่งระเบียบของการไม่สัมผัสทางกายด้วยการทำให้มันเป็นกฏของการเสียสละอีกครั้งหนึ่ง แต่เป็นการเสียสละแบบชายเป็นใหญ่มากๆ นั่นคือการเสียสละเมื่อผู้ชายไม่สามารถคุ้มครองปกป้องได้อีก มันไม่ต่างกับการโดดเข้ากองไฟตายตามสามี

มันจึงเป็นหนังรักที่ร่วมสมัยมากๆ แม้หนังจะย้อนไปในอดีตยุคหกศูนย์ แต่ในขณะเดียวกันก็เช่นเดียวกับหนังรักจำนวนมากของญี่ปุ่น มันเป็นไปเพื่อเสริมวัฒนธรรมปิตาธิปไตยในรูปแบบใหม่ๆ สำหรับคนหนุ่มที่ไม่ได้มี ‘ความเป็นชาย’ แบบเดิม (การออกแบบตัวละครเคนจิ คือตัวละครแบบภาพฝันของชาวคุ หนุ่มหล่อเหนียมอายใจรักจริงและเป็นคนดีจากภายใน) อย่างไรก็ตามการที่หนังเปิดช่องให้เราอธิบายเรื่องนี้ ก็ทำให้หนังนั้นน่าสนใจมากๆ เช่นกัน

หมายเหตุ

ฟังงานเสวนาดังกล่าวได้ที่นี่

https://youtu.be/RbfG6NnI3Lc

We Married As Job

http://asianwiki.com/The_Full-Time_Wife_Escapist

Tags: , , , ,