เมื่อเวลา 05.45 ของวันที่ 17 กรกฎาคม 2562 นายธานัท ธนวัชรนนท์ หรือทอม ดันดี ได้รับการปล่อยตัวจากเรือนจำพิเศษกรุงเทพ หลังได้รับการพระราชทานอภัยโทษ โดยมีภรรยา ญาติและเพื่อนมารอต้อนรับ

สำหรับ ทอม ดันดี เป็นหนึ่งในนักร้องเพลงเพื่อชีวิตเพียงไม่กี่คนที่ออกมาเคลื่อนไหวทางการเมือง เมื่อการเมืองไทยเกิดความขัดแย้ง โดยเลือกที่จะเข้าร่วมกับกลุ่มแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ (นปช.) ทอม ดันดี เดินทางขึ้นปราศรัยบนเวทีตามต่างจังหวัดทั้งก่อนและหลังการสลายการชุมนุม นปช. เมื่อปี 2553 

ภายหลังคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ทำการรัฐประหารเมื่อวันที่ 22 พฤษภาคม 2557 ทอม ดันดีถูกจับกุมจากการที่ไม่ไปรายงานตัวตามประกาศ คสช. ในเดือนกรกฎาคม 2557 และถูกนำตัวไปฝากขังที่ศาลทหาร ก่อนที่จะได้รับการประกันตัวออกมา หลังจากนั้นไม่นาน ตำรวจและทหารราว 20 นาย ได้เข้าจับกุมเขาที่บ้านพักในจังหวัดเพชรบุรี สืบเนื่องมาจากกรณีที่รายการวิทยุเรดการ์ด เรดิโอ นำคลิปยูทูบที่เขาขึ้นปราศรัยเมื่อวันที่ 6 พฤศจิกายน 2556 มาออกอากาศ และคลิปบนยูทูบที่เขาปราศัยในงาน ‘แรงงานสร้างบ้านแป๋งเมือง’ เมื่อวันที่ 13 พฤศจิกายน 2556 ทำให้ทอมถูกศาลพิพากษาว่ากระทำความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 และ พ.ร.บ. คอมพิวเตอร์ฯ มาตรา 14(3) 

จนถึงวันที่ 1 มิถุนายน 2559 ศาลอาญาได้พิพากษาจำคุกเขาในความผิดตามกฎหมายอาญา มาตรา 112 เป็นเวลา 15 ปี จากความผิด 3 กรรม ได้แก่ หมิ่นพระมหากษัตริย์ (พระบาทสมเด็จพระมหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร) หมิ่นพระราชินี (สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง) และโพสต์คลิปวิดีโอลงยูทูบ จำเลยรับสารภาพลดโทษกึ่งหนึ่งเหลือ 7 ปี  6 เดือน 

ต่อมาเมื่อวันที่ 11 กรกฎาคม 2559 ศาลทหารได้อ่านคำพิพากษาในคดี 112 อีกหนึ่งคดี โดยศาลสั่งจำคุก 5 ปีแต่รับสารภาพจึงลดโทษให้ 1 ใน 3 เหลือจำคุก 3 ปี 4 เดือน และให้นับโทษต่อจากคดีของศาลอาญา รวมแล้วจำคุก 10 ปี 10 เดือน นอกจากนี้แล้วยังมีคดี 112 อีก 2 คดี แต่ศาลราชบุรีและศาลลำพูนได้ตัดสินยกฟ้องทั้งสองคดี ก่อนได้รับการพระราชทานอภัยโทษครึ่งหนึ่งเมื่อเดือนพฤษภาคมที่ผ่านมา เหลือโทษจำคุกอีก 5 ปี 5 เดือน ซึ่งขณะนี้จำคุกมาแล้ว 5 ปี 8 วัน จึงเข้าเกณฑ์พระราชทานอภัยโทษและปล่อยตัวในวันนี้

ทั้งนี้ ตลอดระยะเวลากว่า 2 ปีที่ต่อสู้คดี ทอม ดันดีไม่เคยได้รับสิทธิในการประกันตัว สุดท้าย เขายอมรับสารภาพแทนการต่อสู้คดีให้ถึงที่สุด โดยทอม ดันดีเคยแถลงต่อศาลว่า ตนเป็นนักร้อง ไม่ใช่นักรบ ไม่เคยคิดจะกระทำความผิด ตนได้รับความทุกข์ทรมานแสนสาหัส ไม่ประสงค์ที่จะต่อสู้คดีอีกต่อไป เพื่อความสบายใจขอให้ตัดสินลงโทษได้เลย

ทอม ดันดีเคยไปศึกษาต่อที่ประเทศฝรั่งเศสนานกว่า 6 ปี ในระหว่างนั้นทอมมีโอกาสได้พบกับนายปรีดี พนมยงค์ และสนิทชิดเชื้อกับครอบครัวของปรีดี ก่อนกลับมายึดอาชีพนักดนตรีแนวเพื่อชีวิต ก้าวแรกบนถนนสายดนตรีทอม ดันดีเข้าร่วมงานกับวงซูซู ก่อนผันตัวมาเป็นศิลปินเดี่ยวและประสบความสำเร็จอย่างมากในยุคที่ดนตรีเพื่อชีวิตเฟื่องฟู ทอม ดันดีเป็นเจ้าของผลงานเพลงอย่าง อย่างนี้ต้องตีเข่า มันเขี้ยว และ เหรียญกล้าหาญ 

ทอม ดันดีเคยให้สัมภาษณ์กับเว็บไซต์ข่าวประชาไทว่า ตลอดระยะเวลาที่อยู่ในเรือนจำตนยึดคติประจำใจอยู่ 3 อย่าง กินง่าย นอนง่าย เข้าใจง่าย และหันมาใช้ธรรมะเป็นที่พึ่งเยียวยาตัวตนและประโลมตัวเองว่าสิ่งที่เกิดขึ้นมีสาเหตุมาจาก ‘กรรมเก่า’ โดยทุกๆ คืน ทอม ดันดีจะใช้เวลาอย่างน้อย 1 ชั่วโมงเพื่อนั่งสมาธิ 

ทอม ดันดียังเล่าให้ประชาไทฟังอีกว่า ระยะเวลากว่า 2 ปีในเรือนจำ เขามีโอกาสพานพบ พูดคุยและแลกเปลี่ยนกับนักโทษมากมาย ทำให้แต่งเพลงได้มากกว่า 3,000 เพลง ทั้งยืนยันว่า หากพ้นโทษเมื่อใด พร้อมที่จะกลับมารังสรรค์ผลงานเพลงต่อไป

อ้างอิง

https://prachatai.com/journal/2018/04/76196

https://prachatai.com/journal/2018/03/76154

https://freedom.ilaw.or.th/case/585

Tags: ,