เครื่องหมาย ‘บวก’ ในโลโก้สะท้อนถึงคุณภาพและความน่าเชื่อถือของแบรนด์ Tissot มาตั้งแต่ปี 1853 ปัจจุบันเป็นนาฬิกาที่มีจำหน่ายในกว่า 160 ประเทศทั่วโลก เข้าถึงลูกค้าในแทบทุกกลุ่ม ด้วยวัสดุ ฟังก์ชัน และดีไซน์ที่ทันสมัย เหนือกาลเวลา ตามปรัชญาของแบรนด์ที่ยึดถือมาตลอด นั่นคือ ‘Innovators by Tradition’

ชาร์ลส์-เฟลิเซียง ทิสโซต์ (Charles-Félicien Tissot) และบุตรชาย ชาร์ลส์-เอมิล (Charles-Émile) ก่อตั้งบริษัท Charles-Félicien Tissot & Fils ขึ้นที่เลอ โลค (Le Locle) เมืองขนาดเล็กที่สุดอันดับสามของสวิตเซอร์แลนด์ มีห้องประกอบและจำหน่ายนาฬิกา

แคตตาล็อกของ Tissot หลากหลายด้วยนาฬิกาพกและนาฬิกาแขวน ที่ส่วนใหญ่ประกอบตัวเรือนด้วยทอง เป็นนาฬิกาคุณภาพที่ได้การยอมรับทั้งในและต่างประเทศ พร้อมได้รับเกียรติบัตรรางวัลหลายต่อหลายครั้ง ระหว่างงานเวิลด์ แฟร์ในปี 1900 ซาราห์ เบิร์นฮาร์ดต์ (Sarah Bernhardt) นักแสดงที่มีชื่อเสียงในยุคนั้น เคยซื้อนาฬิกาแขวนที่ทำจากทองคำ 18 กะรัตของ Tissot จนกลายเป็นข่าวดัง

นับแต่ปี 1853 ที่ก่อตั้ง นาฬิกา Tissot ถูกส่งออกไปจำหน่ายถึงสหรัฐอเมริกา และนับแต่ปี 1858 ยังมีการส่งนาฬิกาไปจำหน่ายให้กับราชวงศ์ของรัสเซียด้วย ความสัมพันธ์ที่ดีไม่ใช่เพียงการทำธุรกิจ หากชาร์ลส์ บุตรชายของชาร์ลส์-เอมิล ทิสโซต์ ยังเดินทางไปเปิดบริษัทที่กรุงมอสโกในปี 1885 ด้วย นอกจากเป็นตัวแทนของแบรนด์ในต่างแดนแล้ว ต่อมาเขายังสร้างครอบครัวกับภรรยาชาวรัสเซียนอีกด้วย กระทั่งล่วงถึงเหตุการณ์ปฏิบัติตุลาคมในปี 1917 Tissot กลายเป็นผู้ครองตลาดใหญ่สุดในอาณาจักรรัสเซีย และเป็นแบรนด์ที่ราชสำนักของพระเจ้าซาร์เลือกใช้

ต้นทศวรรษ 1910s Tissot เริ่มผลิตนาฬิกาข้อมือสำหรับสตรีขึ้นครั้งแรก เป็นนาฬิกาอัญมณีทำจากทองคำ ทองคำขาว และประดับเพชร ล้ำหน้าก่อนที่แฟชั่นนาฬิกาจะถึงยุคเฟื่องฟู ในช่วงเวลาระหว่างสงครามโลกครั้งที่หนึ่งและสอง Tissot ยังออกแบบนาฬิกาข้อมือสำหรับบุรุษอีกเช่นกัน สไตล์ศิลปะอาร์ตนูโวและอาร์ต เดโคกลายเป็นเอกลักษณ์ของนาฬิกา Tissot ที่ใครๆ จดจำ

ขณะเดียวกัน Tissot ยังโดดเด่นด้านนวัตกรรมทางเทคนิคที่สำคัญ ด้วยการออกแบบผลิตนาฬิกาข้อมือที่ไม่ใช้แม่เหล็กเรือนแรกของโลกขึ้น จากนั้นในปี 1917 ก็ขยับขยายเป็นโรงงานผู้ผลิต

ปี 1930 Tissot ได้รวมตัวกันกับ Omega และอยู่ภายใต้การดูแลของ SSIH (Société Suisse pour l’industrie horlogère S.A) ทำให้ขอบข่ายทางการตลาดเปิดกว้างมากขึ้น เป็นทางเลือกให้กับลูกค้านาฬิกามากขึ้น

จุดเปลี่ยนสำคัญอีกครั้งของ Tissot เกิดขึ้นในปี 1983 เมื่อนิโคลาส์ จี. ไฮแยค (Nicolas G. Hayek) แนะนำหนทางกู้วิกฤตอุตสาหกรรมนาฬิกา ให้มีการรวมกิจการ Tissot เข้าเป็นส่วนหนึ่งของเครือบริษัท SMH ซึ่งต่อมาในปี 1998 ได้เปลี่ยนเป็น Swatch Group

และนับตั้งแต่ปี 1996 ที่ฟรองซัวส์ เทียโบด์ (François Thiébaud) ดำรงตำแหน่งผู้บริหาร Tissot ก็เริ่มเบนเข็มเข้าสู่โลกของกีฬามากขึ้น ด้วยบทบาทผู้สนับสนุนอย่างเป็นทางการ และผู้ร่วมจัดกิจกรรมด้านกีฬาประเภทต่างๆ ไม่ว่าการแข่งขันบาสเก็ตบอล NBA, FIBA หรือ CBA การแข่งขันจักรยาน Tour de France และ UCI Cycling World Championships การแข่งขันจักรยานยนต์ MotoGPTM และ FIM Superbike World Championship รวมถึงการแข่งขันรักบี้ RBS 6 Nations Championship, TOP14 และ European Rugby Champions Cup and Challenge Cup หรือรายการกีฬาระดับโลกสาขาฟันดาบ ฮ็อคกีน้ำแข็ง และรายการฟุตบอลลีกของออสเตรเลีย AFL (Australian Football League)

ส่วนกีฬาแข่งรถนั้น Tissot มีประวัติศาสตร์บันทึกไว้ตั้งแต่ปี 1958 เมื่อฮาร์รี ซไวเฟล (Harry Zweifel) นักแข่งรถคนดังของสวิตเซอร์แลนด์ ได้ส่งภาพถ่ายพร้อมลายเซ็นให้ Tissot พร้อมประโยค “Meine Tissot ist an jedem Rennen dabei.” (นาฬิกา Tissot อยู่เคียงข้างผมในทุกการแข่งขัน) จนเป็นที่รับรู้กันว่า Tissot เป็นนาฬิกาที่นักแข่งรถเลือกใช้

กระทั่งต่อมา Tissot ได้พัฒนาออกแบบนาฬิกา Tissot PR 516 ขึ้นเพื่อตอบสนองความต้องการของผู้ชายที่มีใจรักในความเร็วของเครื่องยนต์ ซึ่งนับเป็นนาฬิการุ่นที่ได้รับความนิยมสูงสุดรุ่นหนึ่งในคอลเล็กชันของ Tissot

และ Tissot PR 516 ได้รับการยืนยันอย่างเป็นทางการอีกครั้ง เมื่อเฮนรี แบรดลีย์ (Herry Bradley) นักแข่งรถในตำนาน เขียนชื่อนาฬิการุ่นนี้ที่เขาสวมลงสนามแข่งบนรถแฟร์รารีของเขา คราวที่ไปแข่งรายการเซาธ์ อเมริกัน แรลลี ปี 1968 และอีกราวหกปีถัดจากนั้น Tissot ก็เริ่มให้การสนับสนุนกีฬาแข่งรถอย่างเต็มตัว ด้วยการเป็นผู้สนับสนุนทีมเรโนลต์ อัลไพน์อย่างเป็นทางการ ในรายการแรลลีที่มอนติ คาร์โล

และในเวลาต่อมา Tissot ยังเป็นผู้สนับสนุนทีมปอร์เช, โลตัส  และเซาเบอร์ เมอร์เซเดสด้วยเช่นกัน

เรื่องราวของนาฬิกา Tissot ที่เกี่ยวข้องกับกีฬาหลากประเภทนั้น ถูกกำหนดด้วยไลน์ผลิตภัณฑ์ที่แบ่งประเภทแตกต่างกันไป อาทิ ภายใต้ชื่อ Tissot T-Sport มีนาฬิกาแนวสปอร์ต รวมไปถึงกีฬาทางน้ำที่ออกแบบมาเป็นซีรีส์ สร้างมิติใหม่ที่ทรงพลัง ด้วยความมีสไตล์ที่ไม่เหมือนใคร และแต่ละรุ่นจะเชิดชูกีฬายอดนิยม เป็นนาฬิกาคุณภาพสูงสัญชาติสวิส ภายใต้เรือนกระจกแซฟไฟร์ที่แข็งแกร่ง เป็นแรงบันดาลใจให้แฟนกีฬา รวมทั้งนักกีฬาด้วย

ซีรีส์ยอดนิยมในไลน์ T-Sport มีตั้งแต่ T-Sport PRC 200 เป็นซีรีส์นาฬิกาสปอร์ตโครโนกราฟที่มีนาฬิกาอัตโนมัติรุ่นต่างๆ และที่เป็นควอร์ตซ์-โครโนกราฟ, T-Sport PRS 516 นาฬิกาสปอร์ตโครโนกราฟอีกซีรีส์ ที่ไม่ว่าจะสายสเตนเลสหรือสายยาง หน้าปัดสีขาวหรือสีดำ ทุกรุ่นมีรสนิยมสอดคล้องกันกับ PRS 516 หรือ T-Sport Quickster ซีรีส์นาฬิกาโครโนกราฟแนวสปอร์ตที่ดีไซน์ฉีกแนวไปจากซีรีส์อื่นๆ ด้วยสีสันและวัสดุ เรียกได้ว่าเป็นนาฬิกาสปอร์ตสำหรับใครที่ชื่นชอบดีไซน์สมัยใหม่ 

Tissot T-Touch เป็นคอลเล็กชันที่สร้างความฮือฮาให้กับวงการในปี 1999 เป็นนาฬิกาสวิสที่เพียบพร้อมด้วยรูปลักษณ์และฟังก์ชันใหม่ ในปี 2014 ยังเผยนวัตกรรมนาฬิกาที่มีการใช้พลังงานแสงอาทิตย์เป็นครั้งแรกอีกด้วย นาฬิกา T-Touch Solar วางตำแหน่งตัวเองเป็นนาฬิกาสำหรับนักกีฬาและนักผจญภัย ที่ไม่เพียงใช้เป็นเครื่องบอกเวลา แต่ยังสามารถใช้วัดสภาพลมฟ้าอากาศ หรืออุณหภูมิได้อีกด้วย 

Tissot T-Race เป็นคอลเล็กชันนาฬิกาที่ได้รับแรงบันดาลใจจากกีฬาแข่งมอเตอร์ไซค์ในการออกแบบ ด้วยสไตล์ทรงพลังและสีสันที่สดใส ทำให้นาฬิกาไลน์นี้เป็นที่ชื่นชอบของนักบิดแถวหน้า

และ Tissot Chrono XL เป็นนาฬิกาไลน์ใหม่ในหมวดหมู่นาฬิกาแนวสปอร์ตของ Tissot หน้าปัดโครโนกราฟ กลไกควอร์ตซ์ ตัวเรือนสเตนเลส 316 กระจกแซฟไฟร์ป้องกันรอยขีดข่วน หน้าปัดสีดำแสดงดัชนีและตัวเลขอารบิกที่เคลือบด้วยวัสดุเรืองแสง Superluminova เส้นผ่าศูนย์กลางตัวเรือน 45 มิลลิเมตร เน้นความสปอร์ตของ Tissot Chrono XL ได้อย่างเด่นชัด

‘Innovators by Tradition’ คำขวัญของแบรนด์ Tissot ยังคงสืบต่อ พร้อมการสร้างนวัตกรรมตอบสนองเทรนด์และความสนใจของทุกกลุ่มเป้าหมายในกว่า 160 ประเทศทั่วโลก

จึงไม่น่าแปลกใจเลยที่นาฬิกา Tissot สามารถครองใจผู้คน ด้วยยอดจำหน่ายกว่า 4 ล้านเรือนต่อปี

Tags: , ,