เว้นจากการสอบสวนโรคในชุมชนมานาน (เพราะก่อนหน้านี้ผู้ป่วยทั้งหมดถูกกักกันตั้งแต่แรกใน State quarantine) สัปดาห์ที่ผ่านมาทีมปฏิบัติการสอบสวนควบคุมโรคต้องลงพื้นที่ถึง 3 กรณีพร้อมกันตามที่ปรากฏเป็นข่าว กล่าวคือ กรณีทหารอียิปต์ที่จังหวัดระยอง กรณีบุตรของอุปทูตซูดานที่กรุงเทพฯ และกรณีหญิงไทยในกรุงเทพฯ ที่ได้รับการส่งต่อไปยังโรงพยาบาลศิริราช ซึ่งกรณีหลังสุดนี้ผลการตรวจทางห้องปฏิบัติการซ้ำไม่พบเชื้อ (ถ้าพบเชื้อขึ้นมาจริงจะเป็นเรื่องใหญ่มาก เพราะผู้ป่วยไม่มีประวัติเดินทางไปต่างประเทศมาก่อนเลย

สถานการณ์โควิด-19 ในประเทศไทยขณะนี้จึงยังจำกัดอยู่เฉพาะผู้ป่วยที่นำเข้าจากต่างประเทศ (imported case) แต่ผลกระทบที่เกิดขึ้นแทบประเมินค่าไม่ได้ ทั้งทางด้านสาธารณสุข และเศรษฐกิจ จึงควรมีการสรุปบทเรียนเพื่อป้องกันไม่ให้เกิดกรณีนี้ขึ้นซ้ำอีก

สรุป Timeline และมาตรการควบคุมโรค

  ก่อนอื่นผมขอสรุป Timeline กรณีบุตรของอุปทูตฯ ที่ ศบค. (ศูนย์บริการสถานการณ์แพร่ระบาดของโรคติดต่อเชื้อไวรัสโคโรนา 2019) แถลงตลอดสัปดาห์ที่ผ่านมา เพื่อความเข้าใจที่ตรงกันก่อน โดยครอบครัวของอุปทูตประกอบด้วยภริยา และบุตรอีก 4 คน 

ทั้งหมดได้รับการตรวจหาเชื้อก่อนเดินทางในวันที่ 7 กรกฎาคม 2563 ผลไม่พบเชื้อ 

เมื่อมาถึงประเทศไทยในวันที่ 10 กรกฎาคม 2563 ก็ได้รับการตรวจหาเชื้อซ้ำอีกครั้งที่ด่านควบคุมโรคติดต่อระหว่างประเทศ แต่เจ้าหน้าที่ได้อนุญาตให้เดินทางต่อไปยังที่พักในกรุงเทพฯ และถึงคอนโดวันเอ็กซ์ สุขุมวิท 26 เวลา 9.25 .

จนกระทั่งเวลา 11.20 . อุปทูตได้รับแจ้งว่าบุตร 1 ใน 4 คนผลพบเชื้อ จึงพาบุตรเดินทางไปโรงพยาบาล 

โดยระหว่างนั้นเวลา 13.00 . ได้แวะเข้าไปหยิบเอกสารที่สถานทูต ซึ่งตั้งอยู่ที่อาคารโอเชียนทาวเวอร์ 1 เขตคลองเตย 

ส่วนบุตรนั่งรออยู่ในรถกับคนขับรถ จนกระทั่งถึงโรงพยาบาลพญาไท นวมินทร์ในเวลาประมาณ 14.20 .

  สำหรับอุปทูตถือเป็นผู้สัมผัสความเสี่ยงสูง จึงถูกกักกันเพื่อติดตามอาการจนครบ 14 วันและได้รับการตรวจหาเชื้อในวันที่ 16 กรกฎาคม 2563 ผลไม่พบเชื้อ (ตามแนวทางการสอบสวนโรคจะเก็บตัวอย่างในวันที่ 5 เป็นต้นไป นับจากวันที่สัมผัสผู้ป่วยครั้งแรก) ในขณะที่คนขับรถก็ได้รับการตรวจแล้วผลไม่พบเชื้อเช่นกัน ประกอบกับผู้ป่วยรายนี้ไม่มีอาการ ดังนั้นโอกาสในการแพร่เชื้อจึงต่ำมาก มาตรการสำหรับคอนโดฯ และอาคารสำนักงานคือการทำความสะอาดพื้นผิวสัมผัส เช่น ราวประตู ราวบันได ปุ่มกดลิฟต์ เป็นประจำ ซึ่งเจ้าของสถานที่ควรปฏิบัติต่อมาจากช่วงที่มีการระบาดเป็นวงกว้างอยู่แล้ว ส่วนผู้ที่ไม่ได้สัมผัสผู้ป่วยโดยตรง แต่อยู่ในสถานที่และเวลาเดียวกันกับผู้ป่วยถือว่ามีความเสี่ยงต่ำ ไม่ต้องกักตัว เพียงแต่สังเกตอาการของตัวเอง สวมหน้ากากอนามัยหรือหน้ากากผ้าเมื่อออกจากบ้าน และล้างมือให้บ่อย

  เย็นวันจันทร์ที่ 13 กรกฎาคม 2563 ผมรับรู้ได้ถึงความโกรธของทุกคนที่แสดงเกรี้ยวกราดออกมาในสังคมออนไลน์ และโดยเฉพาะสมาชิกคอนโดฯ เดียวกับอุปทูตที่โทรศัพท์เข้ามาต่อว่านิติบุคคลจนสายไหม้’ (ไม่ต่างจากสายด่วนกรมควบคุมโรค 1422) เพราะจากเดิมที่ไม่มีความเสี่ยงต่อการติดเชื้อมามากกว่า 1 เดือน พวกเขากลับกลายเป็นผู้ที่มีความเสี่ยงโดยไม่ทันตั้งตัว และต้องเคร่งครัดการปฏิบัติตัวเพื่อป้องกันการติดเชื้อเหมือนเดิม 

ถึงแม้ ศบค. จะเตือนว่าการ์ดอย่าตกแต่ผมก็เข้าใจหลายคนว่าในเมื่อไม่มีการตรวจพบผู้ป่วยภายในประเทศมาเป็นระยะเวลาหนึ่งแล้ว การป้องกันตัวบางอย่างก็ยืดหยุ่นขึ้น เปรียบเทียบได้กับนักมวยที่ไม่มีคู่ชกแล้ว การตั้งการ์ดต่อก็ทำให้เมื่อย และอาจลดมือลงบ้างในบางเวลา

สรุปบทเรียนกรณีอุปทูตฯ

1. การเดินทางเข้ามาในราชอาณาจักรสำหรับคณะทูต

บุคคลในคณะทูตเป็น 1 ใน 11 กลุ่มคนที่ได้รับการอนุญาตให้เดินทางเข้ามาในราชอาณาจักรตาม ข้อกำหนด ออกตามความในมาตรา 9 แห่ง พรก.การบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน .. 2558 (ฉบับที่ 12) โดยต้องปฏิบัติตามเงื่อนไขที่ระบุในคำสั่ง ศบค.’ ที่ 7/2563 เรื่อง แนวทางปฏิบัติตามข้อกำหนดฯ  (ฉบับที่ 6) ซึ่งถ้าใครเปิดอ่านประกาศคำสั่งนี้ครั้งแรกจะรู้สึกว่าเงื่อนไขของแต่ละกลุ่มคล้ายกันมาก แต่ถ้าเปรียบเทียบระหว่างบุคคลในคณะทูตกับกลุ่มอื่นจะเห็นความแตกต่างกันชัดเจน ไม่ว่าจะเป็นการตรวจหาเชื้อ หรือสถานที่กักกัน ซึ่งแสดงให้เห็นถึงประเด็นอ่อนไหวที่กระทรวงการต่างประเทศ (กต.) จะต้องคุ้มครองสิทธิ์ของคณะทูต เช่น Freedom of movement ไม่สามารถจำกัดการเดินทางของคณะทูตได้ 

แต่สถานการณ์การระบาดของโควิด-19 น่าจะเป็นความจำเป็นที่ทุกประเทศเข้าใจว่าคณะทูตจะต้องปฏิบัติตามระเบียบของประเทศที่ต้องเป็นมาตรฐานเดียวกับกลุ่มบุคคลอื่น ซึ่งเท่าที่ได้รับฟังจากตัวแทน กต. มา ก็ใช้การขอความร่วมมือมากกว่าการบังคับคณะทูต

2. การตรวจหาเชื้อและการรอผลการตรวจที่สนามบิน

ความแตกต่างของระเบียบการตรวจหาเชื้อระหว่างบุคคลในคณะทูตกับกลุ่มอื่นที่เดินทางเข้าประเทศระยะยาวคือ คณะทูตจะได้รับการตรวจหาเชื้อเพียง 1 ครั้งที่ช่องทางเข้าออกระหว่างประเทศ ซึ่งในกรณีนี้คือในวันแรกที่ด่านควบคุมโรคติดต่อระหว่างประเทศ ในขณะที่กลุ่มอื่น เช่น ผู้มีสัญชาติไทย นักเรียนนักศึกษา หากเข้าสู่การกักกันใน State quarantine จะได้รับการตรวจหาเชื้อ 2 ครั้ง คือระหว่างวันที่ 3-5 และระหว่างวันที่ 11-13 ของระยะเวลาที่ถูกกักกัน ซึ่งตามหลักระบาดวิทยาแล้วช่วงที่มีโอกาสตรวจพบเชื้อมากที่สุดคือตั้งแต่วันที่ 5 เป็นต้นไป นับจากวันที่ได้รับเชื้อ เพราะเชื้อจะต้องใช้ระยะเวลาในการฟักตัวและการติดเชื้อส่วนหนึ่งมักไม่แสดงอาการ (Asymptomatic infection) 

ดังนั้นการตรวจในวันแรกเพียงครั้งเดียวจึงไม่สามารถสร้างความมั่นใจได้ว่าคณะทูตจะไม่ติดเชื้อ ถึงแม้จะได้รับการตรวจหาเชื้อก่อนเดินทางไม่เกิน 72 ชั่วโมงแล้ว แต่ก็มีโอกาสได้รับเชื้อระหว่างเดินทางอยู่ดี ทว่าถ้าทาง กต.จะยืนยันให้มีการตรวจหาเชื้อเพียงครั้งเดียวที่สนามบิน ก็ต้องให้คณะทูตรอฟังผลการตรวจที่สนามบินก่อน หากผลพบเชื้อก็จะเข้าสู่กระบวนการแยกกักโรคทันที เพื่อป้องกันไม่ให้มีการแพร่เชื้อให้กับผู้สัมผัสในชุมชน ซึ่งจากประกาศของ กต. เมื่อวันที่ 14 กรกฎาคม 2563 ได้ขอความร่วมมือในคณะทูตรอที่สนามบินจนกว่าจะทราบผลการตรวจแล้ว หากผลเป็นลบก็ต้องเดินทางไปยังสถานที่กักกันโดยไม่แวะที่ใด

3.สถานที่กักกัน

เป็นความแตกต่างอีกประเด็นหนึ่งในระเบียบดังกล่าว กล่าวคือ กลุ่มที่เดินทางเข้าประเทศระยะยาวกลุ่มอื่นจะถูกกักกันในสถานที่ที่เจ้าพนักงานควบคุมโรคติดต่อกำหนดซึ่งก็คือ State quarantine (SQ) หรือ Alternative state quarantine (ASQ) ในขณะที่บุคคลในคณะทูตจะเข้ากักกันในที่พำนักของบุคคลภายใต้การควบคุมดูแลของหน่วยงานต้นสังกัดซึ่งไม่มีการกำหนดมาตรฐานเหมือน SQ หรือ ASQ ว่าจะต้องมีคุณสมบัติอะไรบ้าง สถานที่กักกันของคณะทูตจึงอาจเป็นบ้านพักในพื้นที่ของสถานทูต บ้านเดี่ยวที่แยกออกมาต่างหาก คอนโดมีเนียมที่คณะทูตเช่าอยู่ก่อนแล้ว หรือโรงแรมที่จองเอง ขึ้นกับความต้องการของคณะทูตแต่ละประเทศ ทำให้เกิดปัญหาอย่างกรณีอุปทูตฯ และนักการทูตตะวันตกขึ้นมา เพราะสถานที่กักกันมีพื้นที่ส่วนกลางร่วมกับผู้อื่น และไม่มีการจัดการขยะติดเชื้อ 

ดังนั้น ศบค.จะต้องมีการกำหนดคุณสมบัติของที่พำนักให้เป็นไปในทางเดียวกันกับกลุ่มอื่น หรือขอความร่วมมือให้คณะทูตเข้าพักใน ASQ จนครบ 14 วันก่อน ซึ่ง ศบค.ก็ต้องมีการจัดหา ASQ ในราคาที่เหมาะสมกับเศรษฐสถานะของแต่ละประเทศด้วย ส่วนนิติบุคคลคอนโดมิเนียมก็สามารถกำหนดรายละเอียดในสัญญาการเช่าว่าผู้เช่าจะต้องเข้าสู่กระบวนการกักกันโรคก่อนได้ หรือมีสิทธิ์ยกเลิกการจองได้ เพราะไม่เกี่ยวกับความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ

4.การประเมินความเสี่ยงและการจัดการตามความเสี่ยงต่อการติดเชื้อ

นอกจากความโกรธของประชาชนที่มีต่อ ศบค.แล้ว สิ่งที่เกิดขึ้นคือความกังวลและความตระหนกว่าตนเองจะติดเชื้อ หรือจะมีการระบาดระลอกสองภายในประเทศ สิ่งที่ทีมปฏิบัติการสอบสวนควบคุมโรคทำคือการติดตามผู้สัมผัส (Contact tracing) ตามเส้นทางที่ผู้ป่วยเดินทาง แล้วประเมินว่าผู้สัมผัสคนนั้นมีความเสี่ยงต่อการติดเชื้อสูงหรือต่ำ ซึ่งโดยสรุปจะพิจารณาจาก 5 องค์ประกอบ คือ 

(1) ลักษณะการสัมผัส จะต้องเป็นการพูดคุยกันต่อหน้าหรือสัมผัสสิ่งคัดหลั่งของผู้ป่วย 

(2) ระยะห่าง จะต้องเป็นการสัมผัสในระยะใกล้ชิดต่ำกว่า 1 เมตร 

(3) ระยะเวลา ความเสี่ยงจะเพิ่มขึ้นตามระยะเวลาที่สัมผัสนานกว่า 5-15 นาที 

(4) การระบายอากาศ การสัมผัสในสถานที่ปิดจะมีความเสี่ยงสูงกว่าในสถานที่ที่มีอากาศถ่ายเทสะดวก 

(5) การป้องกันตัวเองที่เหมาะสม ซึ่งสำหรับคนทั่วไปคือการสวมหน้ากากอนามัย แล้วแจ้งให้กับเจ้าตัวทราบ หากเป็นผู้ที่มีความเสี่ยงสูงจะต้องกักกันตัวเอง และได้รับการตรวจหาเชื้อ ส่วนผู้ที่มีความเสี่ยงต่ำหรือไม่มีความเสี่ยง สามารถใช้ชีวิตได้ตามปกติ โดยไม่ต้องตรวจหาเชื้อ แต่ต้องเคร่งครัดการสวมหน้ากากอนามัย การล้างมือให้บ่อย และสังเกตอาการตนเองเป็นระยะเวลา 14 วัน 

ทว่าการสร้างความเชื่อมั่นของรัฐบาลกลับเป็นการตรวจหาเชื้อ โดยไม่คำนึงถึงความเสี่ยงของแต่ละคน เช่น ประชาชนที่อาศัยในคอนโดฯ ทำให้สิ้นเปลืองค่าใช้จ่ายประมาณ 2,500 บาทต่อคน ดังนั้น ศบค.จะต้องมีแผนรับมือเหตุการณ์ลักษณะนี้ในอนาคต

 5.การสื่อสารชื่อของสถานที่ที่พบผู้ป่วย

การแถลงข่าวของ ศบค.มักจะปกปิดชื่อสถานที่ที่เกี่ยวข้องกับผู้ป่วยในการแถลงข่าวครั้งแรก เช่นเข้าพักที่คอนโดแห่งหนึ่ง กทม.” (บางครั้งก็อยู่ระหว่างการสอบสวนโรค) ความคลุมเครือนี้ทำให้ประชาชนวิตกกังวลว่าเป็นสถานที่ใดและตนเองได้เดินทางไปสถานที่นั้นในช่วงเวลาเดียวกันกับผู้ป่วยหรือไม่ และเมื่อไม่มีการแถลงชื่อสถานที่จากฝ่ายที่น่าเชื่อถือก็ทำให้เกิดข่าวลือว่าเข้าพักที่คอนโดฯเดินทางไปที่สถานีรถไฟฟ้า…” ซึ่งไม่ตรงกับความเป็นจริงและสร้างความสับสนให้กับประชาชนในช่วงกลางคืนของวันที่ 13 กรกฎาคม 2563  (ทีมปฏิบัติการฯ ต้องยึดหลักการความลับของเอกชนและไม่สามารถเปิดเผยชื่อสถานที่ให้กับสื่อมวลชนโดยตรง

แต่ในช่วงค่ำของวันนั้นทางนิติบุคคลของคอนโดฯ ได้ติดประกาศแจ้งสมาชิกในคอนโดฯ ให้ทราบแล้วว่าเป็นคอนโดฯ เดียวกับที่ ศบค.แถลง และวันรุ่งขึ้นก็มีผู้บริหารของกรมควบคุมโรคลงพื้นที่ยังคอนโดฯ ดังกล่าว ทำให้ไม่เป็นความลับอีกต่อไป 

ดังนั้นเมื่อมองเหตุการณ์ทั้งหมดในภาพรวม จึงไม่มีความจำเป็นต้องปกปิดชื่อสถานที่ที่เกี่ยวข้องกับผู้ป่วยเลย และความชัดเจนของ Timeline กิจกรรมและสถานที่ต่างหากที่จะช่วยลดความตื่นตระหนกและข่าวปลอมลงได้

  บทเรียนในข้อ 1-3 เป็นความรับผิดชอบของ ศบค.โดยตรง ในฐานะผู้ออกข้อกำหนดและคำสั่งที่เกี่ยวข้องกับมาตรการการเดินทางเข้ามาในราชอาณาจักร ซึ่งประชาชนคาดหวังให้มีการปรับปรุงแก้ไขระบบไม่ให้เกิดความผิดพลาดเช่นนี้ขึ้นมาอีก 

ส่วนข้อ 4-5 เป็นการสื่อสารในภาวะวิกฤตที่ต้องอาศัยทั้งหลักระบาดวิทยาและจิตวิทยา รวมถึงต้องเป็นการสื่อสารที่ทันต่อสถานการณ์ด้วย เพราะการสื่อสารผ่านสังคมออนไลน์สามารถแพร่กระจายข่าวได้รวดเร็ว (เร็วกว่าการแพร่เชื้อโควิด-19 เสียอีก) แต่สิ่งที่เร็วกว่านั้นก็คือความต้องการการได้รับข้อมูลของประชาชน 

จึงเป็นความท้าทายของระบบราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน และเป็นความท้าทายของทีมปฏิบัติการสอบสวนควบคุมโรคด้วยที่จะต้องรวบรวมข้อมูลให้ถูกต้อง ครบถ้วน และทันเวลา  

Tags: ,