“การเดินทางทำให้หัวใจของเรากว้างขวาง” 

อยู่ๆ ประโยคนี้ก็ผุดขึ้นมาขณะกำลังอ่าน เถื่อน 100 หนังสือเล่มใหม่ของ วรรณสิงห์ ประเสริฐกุล แน่นอนว่ามันเกี่ยวกับการเดินทาง ด้วยคำว่า ‘เถื่อน’ ที่เหมือนเป็นสัญลักษณ์การเดินทางของเขาไปแล้ว และแน่นอนว่า เถื่อน นั้นไม่เหมือนใครและน่าตื่นตาตื่นใจ ชวนให้หัวใจเต้นแรงตั้งแต่จุดหมายปลายทางที่เขาเลือกไป

เถื่อน 100 เป็นสตอรี่บุ๊กที่รวมภาพถ่าย 100 ภาพ ขณะเดินทางตลอดระยะเวลา 10 ปีที่ผ่านมาของ วรรณสิงห์ ประเสริฐกุล ชายหนุ่มผู้ที่มีความสามารถหลากหลาย แต่มักจะถูกจดจำในฐานะนักทำสารคดี เจ้าของรายการทีวี เถื่อนทราเวล ที่พาคนดูไปรู้จักสถานที่ที่ยากจะเข้าถึงและดูอันตราย อย่างพื้นที่เขตสงครามหรือผืนป่าแอมะซอน

ฉันค่อนข้างตื่นเต้นกับหนังสือเล่มนี้ของเขาตั้งแต่หน้าแรกๆ ที่เปิดอ่าน เพราะไม่ใช่แค่ภาพถ่ายสวยๆ ที่บันทึกโมเมนต์ ณ ขณะนั้นไว้ แต่ยังมีเรื่องราวสั้นๆ ที่เกิดขึ้นเบื้องหลังภาพเหล่านั้นด้วย ซึ่งทำให้ทุกภาพมีชีวิตขึ้นมา ถ้าเป็นภาพพอร์เทรต ก็เหมือนได้จ้องตาเข้าไปในคนๆ นั้นขณะฟังบทสนทนา ถ้าเป็นภาพธรรมชาติหรือสิ่งสร้างของมนุษย์ก็เหมือนกับว่าได้ไปยืนอยู่ตรงนั้นจริงๆ 

วรรณสิงห์แบ่งเรื่องราวการเดินทางของเขาออกเป็น 4 หมวด คือ มนุษย์ พิภพ สงคราม และอารยธรรม มันคงเป็นเรื่องปกติที่หนังสือเกี่ยวกับการเดินทางสักเล่มจะประกอบด้วยเรื่องของ คน ธรรมชาติ และอารยธรรม แต่เพราะเป็นวรรณสิงห์ คนที่เดินทางไปทำสารคดีใน war zone มาแล้วหลายพื้นที่ สงครามจึงเป็นหมวดใหญ่ที่แยกออกมาโดยเฉพาะ แม้ว่าภาพถ่ายในหมวดสงครามนี้อาจจะซ้อนทับกับอีกสามหมวดก็ตาม 

เริ่มด้วย ‘มนุษย์’ วรรณสิงห์พาเราไปพบเรื่องราวและมีบทสนทนากับเจ้าของใบหน้าที่ปรากฏบนภาพถ่าย ล้วนเป็นคนที่เราอาจไม่มีวันพบเจอในชีวิตของเรา หรือหากเจอเข้าจริงๆ เราอาจกลัวจนไม่กล้าเอ่ยคำทักทาย อย่าง ชนเผ่ามนุษย์กินคนในเกาะปาปัว หรืออดีตนักฆ่า Sicario ในโคลอมเบีย ทว่าน้ำเสียงและการเล่าเรื่องที่ไม่ตัดสินของวรรณสิงห์ทำให้คนอ่านอย่างฉันรู้สึกว่า พอกระเทาะเปลือกแห่งอคติและกรอบศีลธรรมของสังคมออกแล้ว ฉันกำลังอ่านเรื่องของมนุษย์คนหนึ่งมีเลือดเนื้อ มีหัวใจ และอยากมีชีวิตที่ดีที่ไม่ได้แตกต่างจากเราเลย 

คล้ายกับวรรณสิงห์ต้องการจะบอกนักอ่านของเขาว่า “เนื้อแท้ที่ทุกคนมีเหมือนกันคือความเป็นมนุษย์” ไม่ใช่แค่ภาพและเรื่องราวในหมวดนี้เท่านั้น แต่มันกระจายอยู่ในภาพถ่ายทั้ง 100 ภาพ และเรื่องราวทั้ง 100 เรื่อง ที่ชวนให้เราตั้งคำถามว่า เมื่อแก่นแท้ของเราเหมือนกันแล้ว จะแบ่งแยกว่าเป็นพวกเขา พวกเรา เพื่ออะไร  

ต่อมาที่ ‘พิภพ’ รวมภาพถ่ายทิวทัศน์ ภูมิประเทศต่างๆ และปรากฏการณ์ธรรมชาติอันน่าตื่นตาตื่นใจกับความสวยงามและความมหัศจรรย์ที่โลกใบนี้เป็นผู้สร้างขึ้น ที่ทั้งชีวิตฉันอาจไม่มีโอกาสได้เห็น ตั้งแต่ภูเขาที่สูงที่สุดจนมองลงมาเห็นก้อนเมฆลอยต่ำกว่าไปถึงผืนดินที่อยู่ต่ำที่สุด จากที่ที่หนาวที่สุดจนทุกอย่างปกคลุมด้วยน้ำแข็งไปถึงทะเลทรายร้อนระอุ 

ฉันรู้สึกว่าวรรณสิงห์ช่างโชคดีเหลือเกินที่มีโอกาสได้ไปเห็นโลกกว้างขนาดนี้ มีหลายภาพถ่ายที่เป็นปรากฏการณ์ธรรมชาติที่เกิดขึ้นได้ยาก แต่เขาสามารถจับภาพมาได้ นับว่าเป็นการไปอยู่ถูกที่ถูกเวลา หรือไม่อย่างนั้นก็เกิดจากการเฝ้ารอหรือดั้นด้นไปหาอย่างอดทน 

หากธรรมชาติจะสอนอะไรเราได้ก็คงเป็นสิ่งนี้แหละ สิ่งสำคัญที่ต้องอดทนรอคอยและต้องมีสายตาที่สังเกตสังกามากพอเท่านั้นจึงจะเห็น 

มาถึง ‘สงคราม’ ที่วรรณสิงห์ตั้งใจเสนอภาพ ‘ความเป็นมนุษย์’ ให้เด่นกว่าการเมืองและความขัดแย้ง ฉันค่อนข้างชอบภาพหมวดนี้เป็นพิเศษ เพราะมันแตกต่างไปจากความคาดหวังจะได้เห็นเมื่อพูดถึงพื้นที่ที่ยังอยู่ในภาวะสงคราม วรรณสิงห์นำเสนอชีวิตของผู้คนในพื้นที่สงครามให้เราเห็น ไม่ใช่เลือด น้ำตา เสียงปืน รถถัง อย่างที่เราเคยชิน แต่คือภาพของคนที่พยายามจะมีชีวิตให้ปกติที่สุดท่ามกลางซากปรักหักพังและอนาคตที่ยังมองไม่เห็น 

ภาพชุดนี้เราจะได้เห็นวัยรุ่นหน้าตายิ้มแย้มในสวนสนุกกลางกรุงแบกแดด กับบทสนทนาที่บอกเล่าว่าพวกเขาก็มีชีวิตเหมือนวัยรุ่นคนอื่นทั่วโลก แม้จะอยู่ท่ามกลางอันตรายรอบด้าน พ่อค้าปลาชาวโซมาเลียที่ในมือถือปึกเงินหนากว่าก้อนอิฐ ที่พยายามจะอยู่ให้ได้ท่ามกลางเศรษฐกิจล่มสลายมานับสิบปี รอยยิ้มของเด็กๆ ชาวซีเรียที่แย่งกันมาอยู่หน้ากล้องในค่ายผู้ลี้ภัยชายแดนตุรกี หลังจากสูญเสียครอบครัวให้กับสงคราม

เราได้เห็นคนที่มีความหวัง คนที่หมดหวัง มีทั้งเรื่องทำให้อมยิ้ม และหดหู่ สะเทือนใจกับชะตากรรมที่พวกเขาไม่ได้เป็นผู้เลือก แต่กระนั้น ทุกเรื่องราวก็บ่งบอกถึงความเป็นมนุษย์เต็มเปี่ยมที่ความเลวร้ายของสงครามก็ไม่อาจพรากไปได้ 

ปิดท้ายด้วย ‘อารยธรรม’ รวมเรื่องราวและภาพถ่ายสิ่งสร้างของมนุษย์ ทั้งที่เป็นวัตถุและไม่ใช่วัตถุ ที่บอกเล่าวิถีชีวิตของผู้คนจากที่ต่างๆ บนโลก หากเนื้อแท้ที่เรามีเหมือนกันคือความเป็นมนุษย์แล้ว สิ่งที่ต่างกันคือวิถีชีวิตที่ถูกหล่อหลอมมาจากสิ่งแวดล้อมรอบตัวที่แตกต่างกัน 

หากหมวด มนุษย์ และ สงคราม เป็นการบอกว่า ทุกคนมีความเป็นมนุษย์เหมือนกันแล้ว ภาพหมวดนี้ก็เหมือนจะบอกว่า วิถีชีวิตที่แตกต่างหลากหลายคือความสวยงามของมนุษย์ แม้ว่าขณะเดียวกันมันก็เป็นชนวนให้เกิดความขัดแย้ง แบ่งแยกเป็นพวกเรา พวกเขา จนเกิดเหตุการณ์น่าเศร้ามากมายในประวัติศาสตร์ แต่อย่างไรมันก็ยังงดงามหากหัวใจของเราเปิดกว้างพอ

เมื่อพลิกไปถึงหน้าสุดท้าย ฉันยังนึกถึงประโยคนั้น “การเดินทางทำให้หัวใจของเรากว้างขวาง” 

ใช่ อ่านหนังสือมากมายอาจไม่เปิดหัวใจเราได้เท่าการเดินทางสักครั้ง แต่สำหรับ เถื่อน 100 เล่มนี้ นอกจากจะเปิดโลกอีกใบหนึ่งให้ฉันได้ทำความรู้จักในเบื้องต้นแล้ว เรื่องราวทั้ง 100 เรื่องผ่านสายตาผู้ชายที่เดินทางมาอย่างโชกโชน ยังทำให้ฉันได้กลับมาใคร่ครวญกับตัวเองอีกครั้งและเกิดคำถามวนเวียนในหัวกับชีวิตที่ผ่านมา

แม้จะยังหาคำตอบไม่ได้ แต่นั่นอาจเป็นขั้นแรกที่ทำให้หัวใจเราเปิดกว้างขึ้นก็ได้

Tags: ,