วันที่ 12 ธันวาคมนี้จะมีการเลือกตั้งทั่วไปในสหราชอาณาจักร แพลตฟอร์มออนไลน์เป็นอีกพื้นที่หนึ่งที่พรรคการเมืองใช้หาเสียง เฟิร์ส ดราฟต์ (First Draft) องค์กรอิสระที่ทำงานวิจัยเกี่ยวกับประเด็นข้อเท็จจริงและความไว้วางใจในยุคดิจิทัลเพิ่งเปิดเผยผลการตรวจสอบโฆษณาทางการเมืองบนเฟซบุ๊กว่า โฆษณาของพรรคอนุรักษนิยมอังกฤษหลายพันชิ้นหรือคิดเป็นสัดส่วน 88% จากโฆษณาทั้งหมดของพรรคมีเนื้อหา misleading หรือทำให้คนเข้าใจผิด

ทั้งนี้ จากรายงานของ ฟูล แฟกต์ (Full Fact) องค์กรตรวจสอบข้อเท็จจริงที่หลายหน่วยงานใช้ และซึ่งได้รับการว่าจ้างจากเฟซบุ๊กให้รับมือแก้ปัญหาเรื่องข้อมูลหลอกลวงบนแพลตฟอร์ม ซึ่งพบว่า จากการเข้าระบบ Facebook’s Ad Library แสดงให้เห็นว่า ในช่วง 12 วันก่อนจะถึงการเลือกตั้ง พรรคอนุรักษนิยมระดมโฆษณาทางเฟซบุ๊กราว 7,000 ชิ้น เฉพาะช่วงเวลาระหว่าง 27 พฤศจิกายน – 3 ธันวาคมใช้เงินไปแล้วมากกว่า 50,000 ปอนด์

นอกจากนี้ เฟิร์ส ดราฟต์ก็ดาวน์โหลดโฆษณา 6,749 ชิ้นจากพรรคระหว่าง 1-4 มีนาคม และพบว่า มี 88% หรือ 5,952 ชิ้นที่อ้างถึงระบบประกันสุขภาพ การตัดภาษี และข้อมูลเกี่ยวกับพรรคแรงงาน ซึ่งเข้านิยาม Misleading หรือทำให้เข้าใจผิด โดยองค์กรฟูล แฟกต์

ตัวอย่างของโฆษณาที่มีเนื้อหาที่สร้างความเข้าใจผิด เช่น มีโฆษณา 500 ชิ้น รวมทั้งที่บอกว่าพรรคอนุรักษนิยมจะสร้างงานให้พยาบาลเพิ่มขึ้น 50,000 ตำแหน่ง และมีโฆษณา 5,000 ชิ้นที่บอกว่า พรรคจะสร้างโรงพยาบาลใหม่อีก 40 แห่ง รวมทั้งคำกล่าวอ้างที่ว่า ถ้าเจเรมี คอร์บิน พรรคแรงงานได้เป็นนายกรัฐมนตรีจะมีการเก็บภาษีเพิ่มขึ้นอีก 2,400 ปอนด์ ซึ่งปรากฎ 4,028 ครั้งในโฆษณาของพรรค

ทั้งนี้ ไม่ใช่ทุกชิ้น ที่เนื้อหาที่จะทำให้เข้าใจผิดไปปรากฏในภาพหรือคำโปรยในเฟซบุ๊ก แต่มีโฆษณาอย่างน้อย 54% หรือคิดเป็น 3,646 ชิ้น ที่มีลิงก์นำไปสู่เว็บเพจที่มีเนื้อหาประเภทที่ทำให้คนเข้าใจผิด

เมื่อตรวจสอบโฆษณาของพรรคแรงงาน พบว่าโฆษณาทางเฟซบุ๊กน้อยกว่ามาก เฟิร์ส ดราฟต์ยังไม่เจอเนื้อหาที่สร้างความเข้าใจผิด อย่างไรก็ตาม ฟูล แฟกต์ ติดป้ายว่า ‘ไม่น่าเชื่อถือ’ ในคำกล่าวอ้างที่ว่าด้วยนโยบายของพรรคแรงงาน แต่ละครอบครัวจะประหยัดเงินได้ 6,700 ปอนด์

อย่างไรก็ดี ไม่นานมานี้เฟซบุ๊กเพิ่งออกมาประกาศว่า โฆษณาของซีกการเมือง จะได้รับยกเว้นจากการตรวจสอบข้อเท็จจริง (fact-checking) โฆษกของเฟซบุ๊กกล่าวว่า ไม่คิดว่าบริษัทเอกชนอย่างเฟซบุ๊กควรจะเซ็นเซอร์นักการเมือง แนวทางของเฟซบุ๊กเน้นการเปิดเผยความโปร่งใส เพื่อให้ทุกคนเห็นโฆษณาทางการเมืองทุกชิ้น และรู้ว่ามาจากไหน “ผู้มีสิทธิเลือกตั้ง นักข่าว ผู้ตรวจสอบข้อเท็จจริงสามารถตั้งคำถามจากคำกล่าวอ้างที่นักการเมืองพูดได้ และให้พวกเขารับผิดชอบได้ ซึ่งไม่ได้หมายความว่าพรรคการเมืองและนักการเมืองจะพูดอะไรก็ได้บนเฟซบุ๊ก” 

นอกจากนี้ เฟซบุ๊กไม่อนุญาตให้โฆษณาที่มีภาพ วิดีโอ หรือบทความ ที่ได้รับการตรวจสอบจากโปรแกรมตรวจสอบข้อเท็จจริงของเฟซบุ๊กแล้วว่าไม่ถูกต้องอยู่บนเฟซบุ๊ก นอกจากนี้ยังดำเนินการกับเนื้อหาที่ก่อให้เกิดความรุนแรง หรือสร้างความเข้าใจผิดแก่ผู้มีสิทธิเลือกตั้งได้

 

ที่มา​:

Tags: , , , , , , ,