ชีวิตของ ‘แจง’ ฐิตินบ โกมลนิมิ นั้น เรียบง่ายและเป็นไปตามครรลอง เรียนมัธยมฯ ที่โรงเรียนสตรีวิทยา ปริญญาตรีที่มหาวิทยาลัยราชภัฏสวนดุสิต ชีวิตของเธอวนเวียนอยู่ไม่ไกลไปกว่าย่านวิสุทธิกษัตริย์ ราชดำเนิน สามเสน จากนั้นโลกของเธอกว้างขึ้นเมื่อแจงเริ่มต้นวิชาชีพนักข่าวที่หนังสือพิมพ์ มติชน ด้วยการเป็นนักข่าวประจำกระทรวงสาธารณสุข

แม้ว่าเธอจะไม่ได้ร่ำเรียนมาทางวารสารศาสตร์โดยตรง แต่ในช่วงเวลาสิบปีที่เธอค่อยๆ เรียนรู้ไปทีละเล็กละน้อย กระทั่งเธอแสดงวีรกรรมในฐานะนักข่าวด้วยการทำข่าวเชิงสืบสวนกรณีคอร์รัปชั่นในกระทรวงสาธารณสุข กรณีนี้ทำให้ข้าราชการระดับสูงหลายคน และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงฯ ถูกปลดจากตำแหน่ง กระทั่งนำไปสู่การยุบพรรคการเมืองบางพรรค การทำงานข่าวชิ้นนี้ทำให้เธอได้รับรางวัลอิศรา อมันตกุล อันเป็นผลตอบแทนต่อการทุ่มเททำงานอย่างเอาจริงเอาจัง

จากนั้นแจงก็ลาออกเพื่อไปเรียนต่อปริญญาโทสตรีศึกษา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ซึ่งต่อมาความสนใจและความรู้ได้นำพาเธอไปทำงานกับผู้หญิงที่ได้รับผลกระทบจากความรุนแรงในสามจังหวัดชายแดนใต้

ชีวิตที่ 1

ด้วยความไม่มีข้อมูลเชิงลึกในสถานการณ์ความรุนแรงภาคใต้ที่ประทุขึ้นครั้งใหม่ราวปี 2547 และด้วยความรับผิดชอบทางวิชาชีพเพื่อไปสู้กับความไม่รู้ แจงเป็นหนึ่งในทีมนักข่าวรุ่นบุกเบิกที่ลงไปจัดตั้งสำนักข่าวอิศรา โดยการสนับสนุนของสมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์ฯ และจากหนังสือพิมพ์ค่ายใหญ่

สิบกว่าปีที่ผ่านมา ในช่วงเวลาที่ความรุนแรงเกิดขึ้นอย่างต่อเนื่อง เธอทำงานเป็นบรรณาธิการข่าวในพื้นที่สามจังหวัดชายแดนใต้ ขณะเดียวกันก็ทำงานเป็นบรรณาธิการหนังสือเล่มอีกจำนวนหนึ่ง รวมไปถึงมีส่วนร่วมในการสร้างนักข่าวพลเมือง ด้วยความตั้งใจที่อยากให้ชาวบ้านในพื้นที่มี ‘เสียงเล่า’ ของตัวเอง นอกจากนี้ เธอยังมีส่วนในการจัดตั้งและพัฒนาศักยภาพวิทยุชุมชน เมื่อพิจารณาแล้วเห็นว่าสื่อวิทยุเข้าถึงประชาชนในพื้นที่มากกว่าสื่อสิ่งพิมพ์

ผมฟังแจงเล่าอย่างต่อเนื่องถึงการทำงานของเธอแล้ว ต้องขอหยุดเพื่อไล่เลียงสิ่งที่เธอทำตามลำดับเวลา เพราะหลายสิ่งที่เธอทำนั้นซ้อนทับไขว้กันไปมาในไทม์ไลน์ของช่วงเวลาเดียวกัน

ชีวิตและการทำงานของแจงนั้นเข้มข้นและมีสีสัน แม้จะเป็นสีสันที่ค่อนข้างหม่นหมองอยู่ก็ตาม เมื่อเธอเล่าว่าช่วงเวลาหนึ่งต้องช่วยทีมฐานข้อมูล ‘นั่งนับศพ’ เพื่อทำข้อมูลของผู้เสียชีวิตทุกคนในสังกัดศูนย์เฝ้าระวังสถานการณ์ภาคใต้ (Deep South Watch) แม้จะเป็นการทำงานที่น่าหดหู่ แต่นั่นก็เป็นเรื่องสำคัญที่ต้องเก็บข้อมูลอย่างละเอียดเพื่อตรวจสอบกับศูนย์ประสานงานวิชาการให้ความช่วยเหลือผู้ได้รับผลกระทบจากเหตุการณ์ความไม่สงบจังหวัดชายแดนใต้ (ศวชต.)

การทำงานในพื้นที่ภาคใต้นั้นท้าทายมากต่อการเป็นผู้หญิงนับถือพุทธ ท่ามกลางความเคร่งครัดของวิถีของชาวมุสลิม เธอเล่าความรู้สึกช่วงแรกๆ ที่ลงไปทำงานที่นั่นว่าเธอวางตัวค่อนข้างลำบาก และต้องปรับตัวให้เข้ากับสังคมที่มีวัฒนธรรมชายเป็นใหญ่ จนบางครั้งเธอต้องแสดงตัวบ้างเพื่อยืนยันการดำรงอยู่ของตัวเองในวงสนทนาที่เหมือนเธอไม่มีตัวตน จนเมื่อเข้าใจบทบาทและพบพื้นที่ของตัวเองซึ่งสามารถทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพมากกว่า แจงจึงเริ่มขยับไปอยู่หลังฉาก ทำหน้าที่บรรณาธิการ คอยประสานงาน รวบรวมข้อมูล และวิเคราะห์สถานการณ์ รวมไปถึงงานหลังบ้านอีกสารพัด ตั้งแต่การเขียนโครงการ การหาทุน ฯลฯ

ชีวิตที่ 2

เมื่อแจงเล่าชีวิตเธอต่อจากตรงนี้ ผมเริ่มไม่มั่นใจแล้วว่าคนเราสามารถเกิดใหม่ได้กี่ครั้งในชีวิตหนึ่ง หากการเกิดใหม่หมายถึงการเปลี่ยนแปลงของชีวิต แจงบอกว่าเธอกำลังมีชีวิตที่ 3 ที่น่าสนใจคือ เธอเริ่มนับชีวิตใหม่เมื่อเกิดวิกฤตในชีวิต เพราะช่วงเวลานั้นทำให้เธอได้อยู่กับตัวเองมากขึ้น ตั้งคำถามกับตัวเอง เพื่อครุ่นคิด และจัดองค์ประกอบชีวิตใหม่ แม้ว่ามันจะเศร้าก็ตามที

เหมือนหนอนผีเสื้อที่กำลังอยู่ในวงจรของการเป็นดักแด้ ก่อนที่จะเปลี่ยนตัวเองเป็นผีเสื้อกระหยับปีก

ผมนั่งฟังแจงเล่าถึงชีวิตที่ 2 และ 3 ให้ฟัง

เธอย่างเข้าสู่ชีวิตที่ 2 ในเช้าวันหนึ่งของปี 2552 ขณะโดยสารรถตู้สำนักข่าวแห่งหนึ่งเพื่อเดินทางไปปัตตานี

“ที่ชุมพร” เธอเล่าให้ฟังว่าชีวิตเธอเปลี่ยนไปจากอุบัติเหตุรถคว่ำ

“กะโหลกร้าว ใบหน้าซีกซ้ายได้รับผลกระทบรุนแรง”

มีการเตรียมย้ายเธอมาที่กรุงเทพฯ แต่เธอปฏิเสธการรักษา

“เรารู้สึกไม่ไหว ไม่พร้อม รู้สึกเจ็บปวด เลือดออกข้างใน หมอต้องการเอาเลือดที่คั่งภายในออก แต่เราไม่ยอม ที่ปฏิเสธเพราะอาการตอนนั้นกึ่งเป็นกึ่งตาย เราไม่อยากพิการ ไม่อยากทรมาน จะตายก็ให้ตายไปเลย สุดท้ายหมอที่ ม.อ. (มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์) ขึ้นมาช่วยผ่าตัดรักษาจนหาย แล้วขึ้นมาทำศัลยกรรมที่โรงพยาบาลในกรุงเทพฯ”

“เราพักฟื้นอยู่ 6 เดือน นั่งถอนหายใจทิ้ง นั่งคิดว่าจะทำอะไรดี เดินก็ไม่ได้ มีผ้าพันแผลรอบหัว ดามจมูก ต้องหายใจทางปาก หลังอุบัติเหตุ เราใช้ชีวิตตึงมาก รู้สึกว่าเวลามีน้อย จะตายเมื่อไรไม่รู้ อยากทำอะไรต้องรีบทำ อ่านหนังสือเยอะมาก แล้วก็กังวลว่าสมองจะเป็นไรไหม จะทำงานเขียนหนังสือได้เหมือนเดิมไหม”

นั่นเป็นจุดเริ่มต้นที่ทำให้เธอเริ่มงานที่สามจังหวัดชายแดนใต้อย่างเข้มข้น ซึ่งต่อมากลายเป็นชีวิตเกือบทั้งหมดของเธอ จนไม่เหลือเวลาสำหรับชีวิตส่วนตัว หลายปีต่อมา แจงดูแลจิตใจตัวเองด้วยการทำงานหนัก ขณะเดียวกันก็ทำงานเยียวยาผู้ตกเป็นเหยื่อของความรุนแรง ด้วยการลงพื้นที่อบรมการเขียนเรื่องเล่า โดยให้ผู้ประสบความรุนแรงเล่าเหตุการณ์และลงมือเขียนด้วยตัวเอง (โดยมีพี่เลี้ยงคอยสนับสนุน) จุดประสงค์เพื่อทำให้พวกเขาหลุดพ้นจากภาวะระทมทุกข์ และให้โอกาสตัวเองที่จะดำเนินชีวิตต่อไปด้วยความเข้มแข็งเท่าที่จะเป็นไปได้

ทั้งหมดทั้งมวลนั้น เธอนำมาถอดบทเรียนและเล่าประสบการณ์ว่าด้วยการทำงานของสื่อมวลชนในพื้นที่เสี่ยงภัย การทำความเข้าใจต่อสถานการณ์ความรุนแรง และการเยียวยาผู้ตกเป็นเหยื่อของความรุนแรง เผยแพร่ออกมาเป็นหนังสือจำนวนหนึ่งซึ่งเธอหอบมาฝากผมสิบกว่าเล่ม

หลังรอยยิ้ม เป็นหนังสือเล่มหนึ่งในจำนวนสิบกว่าเล่มที่แจงฝากมาให้อ่าน ซึ่งเป็นโครงการสานเสวนาเพื่อเยียวยาผู้ตกเป็นเหยื่อความรุนแรง ไม่ว่าจะโดยสถานการณ์ โดยเจ้าหน้าที่รัฐ หรือโดยกระบวนการยุติธรรม เรื่องราวจำนวน 20 เรื่องผ่านการเล่าของพวกเขาเอง เรื่องราวของเขาเหล่านั้นเป็นเหมือนการตื่นขึ้นมาจากฝันร้ายที่จู่โจมเข้ามาโดยไม่ทันตั้งตัว กระทั่งพบว่าฝันร้ายนั้นกลับกลายมาเป็นความจริงที่ไม่อาจบิดพลิ้ว การสูญเสียแบบฉับพลันที่ผมได้อ่านจากประสบการณ์ของผู้สูญเสียผู้คนอันเป็นที่รัก ทำให้พวกเขาต้องระทมทุกข์อยู่กับอาการหัวใจสลาย ชีวิตของพวกเขาเหมือนเปลวไฟที่อ่อนแรงและพร้อมจะดับวูบลง

“ความตายไม่น่ากลัวเท่ากับการมีชีวิตที่ถูกกดทับ ไม่มีทิศทาง ของบรรดาแม่ม่ายและผู้ต้องหาคดีความมั่นคง ชีวิตมันไม่จบ บางครั้งตายไปยังดีกว่า” แจงเล่าให้ฟังย้อนกลับไป ขณะเดินทางเก็บข้อมูลของผู้คนเหล่านั้น

ผมรู้สึกวูบๆ ในใจ ถอนหายใจหนักๆ บ่อยครั้ง เจ็บปวด และบางครั้งมีก้อนสะอื้นมาจุกอยู่ที่คอ กับเรื่องราวของ รอฮีมะ สิเดะ, นุรีซาร์นิยะ, อา แอเสาะ ปูแทน, รุสนานี เจาะเลาะ, เจ๊ะมัสนา โตะมะ, เจ๊ะซูไฮลา โตะมะ, ฮามือเสาะ หะยีเจ๊ะสนิ, นาวารี ดิง, ฟาซีลา มะรอเซ็ง และคนอื่นๆ ชะตากรรมและเสียงร้องไห้ที่ไม่เคยได้ยินของพวกเขา ทำให้ผมต้องหยุดอ่านเป็นระยะๆ ครั้งแล้วครั้งเล่าเพื่อทำใจให้พร้อมที่จะอ่านเรื่องราวของพวกเขาต่อไป เมื่อชีวิตอันปกติสุขและสันติถูกพราก ทุกข์ระทมจากความตายของบุคคลอันเป็นที่รัก ความอดทนอดกลั้นต่อการถูกเข้าใจผิด มีเพียงศรัทธาต่อความเชื่อทางศาสนาเท่านั้นให้ยึดเหนี่ยว เพื่อที่จะดำเนินชีวิตต่อไป เพื่อความรับผิดชอบต่อคนที่รักที่ยังมีชีวิตอยู่

เรื่องเล่าเพียงไม่กี่หน้าของแต่ละคนสรุปชีวิตของพวกเขาที่ทนทุกข์มาตลอดสิบกว่าปี กระทั่งพวกเขายอมรับชะตากรรมและความสูญเสียที่พวกเขาไม่ได้มีส่วนทำให้เกิดขึ้นอย่างเข้าใจ และพร้อมที่จะให้โอกาสกับชีวิตอีกครั้ง กระนั้นชีวิตยังไม่จบ แจงคิดว่าพวกเขาควรที่จะมีอนาคตที่ดี เธอจึงเริ่มต้นทำงานโครงการหลักสูตรเยียวยาผู้ประสบภัยชายแดนใต้ร่วมกับอาจารย์เมตตา กูนิง (อดีตผู้อำนวยการ ศวชต.)  

ชีวิตที่ 3

ชายแดนใต้พรากชีวิตส่วนตัวของเธอไปมาก ส่วนหนึ่งเกิดจากการทำงานเพื่อพิสูจน์ตัวเองในสนามของการทำข่าว แจงจึงพยายามเอาบทบาทมาครอบตัวเอง พยายามเข้มแข็ง ซึ่งจิตแพทย์บอกว่าอาจมีผลต่อสภาพจิตใจเดิมของเธอ ในช่วงเวลานั้น โรคซึมเศร้าได้เล่นงานเธออย่างช้าๆ เงียบเชียบ และต่อเนื่อง มารู้ตัวอีกที ชีวิตของเธอก็เปลี่ยนไปแล้ว โลกดูชืดชา เธอรู้สึกว่าไม่มีพื้นที่ของตัวเอง รู้สึกเหมือนชีวิตกำลังพังทลาย เธอยอมรับว่าเคยคิดจะฆ่าตัวตายเหมือนกัน เพราะมีบางภาวะที่เสียศูนย์ จำทางไม่ได้ หลงทางในกรุงเทพฯ กลับบ้านไม่ถูก มือสั่นจนเขียนหนังสือไม่ได้ ไม่รู้ว่าจะใช้ชีวิตต่อไปอย่างไร ตอนนั้นชีวิตร่วงดิ่ง เธอคิดวิธีฆ่าตัวตายไว้หลายแบบ แต่โชคดีที่ไม่ตัดสินใจทำ

ผมนึกไม่ออกว่าแจงรู้สึกอย่างไร เมื่อเธอบอกว่าชีวิตเหมือนดิ่งลงไปในความเวิ้งว้างไร้ขอบเขต

“เราว่ามันมีร่องรอยของโรคช่วงที่เราทำต้นฉบับเล่ม หลังรอยยิ้ม ตอนแรกเราคิดว่าเป็นภาวะซึมเศร้าจากการอยู่กับต้นฉบับ อ่านไปร้องไห้ไป รู้สึกไม่ไหว และเราไม่สามารถทำให้เสร็จตามกำหนดภายในหนึ่งปี แต่ใช้เวลาไปถึงสองปี ช่วงนั้นกังวลเรื่องต้นฉบับ ต้องตรวจทานกันหลายรอบ แล้วคิดมากเรื่องการจะเปิดเผยชื่อผู้เขียนว่ามันจะมีผลต่อคดีไหม หรือละเมิดศาลไหม อะไรพวกนี้ ต้องส่งต้นฉบับไปให้ทนายหรือผู้พิพากษาช่วยอ่าน ทางกายภาพ คิดว่าเป็นออฟฟิศซินโดรม เพราะมีอาการปวดกล้ามเนื้อ หายใจไม่ออก สะดุ้งตื่นกลางดึก มือเท้าชา เหนื่อยอ่อน กระทั่งเพื่อนสังเกตว่าน่าจะสะท้อนมาจากภาวะข้างใน และแนะนำให้ไปหาหมอ หลังจากวันหนึ่งเกิดอาการหายใจไม่ออก เกร็งไปทั้งตัว และที่หนักหนาคือเมื่ออาจารย์เมตตาเสียชีวิต”

เช่นเดียวกับวิธีการที่แจงช่วยชาวบ้านที่ภาคใต้ให้ได้รับการเยียวยา นั่นคือเริ่มจากการยอมรับความจริงในชีวิตเสียก่อน จากนั้นจึงเริ่มแก้ปัญหาไปทีละขั้นทีละตอน คล้ายๆ กับสิ่งที่แจงบอกไว้เกี่ยวกับสถานการณ์ในภาคใต้ว่า เราต้องหยุดสงครามความเป็นอื่น หยุดความเกลียดชังให้ได้เสียก่อนที่มันจะพัฒนาเป็นสงครามกลางเมือง แน่นอน การณ์คงไม่ได้ง่ายขนาดนั้น แต่นับเป็นการเริ่มต้นที่ดี และคงไม่ต่างอะไรกับการที่แจงยอมรับว่าตัวเองป่วยเป็นโรคซึมเศร้า ยอมรับว่าความป่วยไข้นี้เป็นส่วนหนึ่งในชีวิต อย่างน้อยที่สุด สันติภาพจะเกิดขึ้นในใจของเราเอง

เธอบอกว่า “ยอมรับเลยว่าเป็นโรคซึมเศร้า เพื่อที่จะมีคำอธิบายสักชุดว่าเราเป็นอะไร ทำไมเราไม่เหมือนเดิม การยอมรับว่าเจ็บป่วยนี่เป็นทางถอยทางเดียวที่บอกว่าเรายังมีคุณค่าอยู่ การยอมรับว่าเราป่วย ทำให้เราหวังว่าเมื่อได้รับการรักษาแล้ว เราอาจจะดีขึ้นสักวัน”

เธอตัดสินใจรักษากาย โดยหยุดงานทุกอย่าง เอาตัวเองออกห่างจากสถานการณ์ภาคใต้ ปฏิเสธงานหลายชิ้น หยุดใช้ social media ปิดการติดต่อจนบางครั้งเพื่อนๆ เกิดอาการกังวลว่าเธอจะเป็นอะไรไหม (แต่เธอยืนยันว่าจะทำแบบนี้) กินยานอนหลับพักผ่อนให้มากเพื่อให้ร่างกายและจิตใจได้พักฟื้น

การรักษาใจ เธอเข้าคอร์สอบรมการภาวนาสั้นๆ กับพระไพศาล วิสาโล “เราไปปรึกษาจิตแพทย์ ซึ่งเขาให้ยานอนหลับเพื่อให้ร่างกายได้พัก สิ่งที่ทำให้รู้สึกดีขึ้นมากคือการเรียนรู้กับนักการละครกลุ่มมะขามป้อม เขาสอนให้แยกระหว่างความรู้สึกกับความคิด การแยกให้เป็นทำให้เรารู้ทันตัวเอง และเขาสอนให้เราร้องไห้ มันทำให้เราดีขึ้นมาก”

ขณะนั่งคุยกัน แจงบอกว่าอาการของเธอดีขึ้นมากแล้ว

.

ผมขอนัดแจงเป็นครั้งที่ 2 เพื่อถ่ายภาพในอีกหนึ่งเดือนถัดมา เธอนัดผมที่ศูนย์การเรียนรู้ธนาคารแห่งประเทศไทย ย่านวิสุทธิ์กษัตริย์ที่เธอคุ้นเคย หลังถ่ายภาพ เราเดินไปดูบริเวณภายนอกของวังบางขุนพรหมและวังเทวะเวสม์ที่อยู่ใกล้ๆ กัน เธอเป็นคนเดินช้า ละเลียดในรายละเอียด เย็นวันนั้นแสงสวย อากาศดี ทำให้ผมนึกถึงที่เธอพูดว่า “ให้เราเดินไปหาแสงบ้างใช่ไหม” เมื่อผมขอให้เธอยืนหน้ากล้องในแสงแดดบ่าย

.

“พร้อมจะกลับไปทำงานภาคใต้ไหม” ผมถาม

“เราอยากกลับไปทำหลักสูตรเยียวยาฯ ไม่รู้ว่าเข้มแข็งพอหรือเปล่า แต่รู้สึกว่าเราต้องทำให้เสร็จ”

ฐิตินบ โกมลนิมิ | นักข่าว | บรรณาธิการ

Medium Format Camera 6 x 6 | Black and White Negative Film

Fact Box

ฐิตินบ โกมลนิมิ ได้รับรางวัลอิศรา อมันตกุล สำหรับข่าวยอดเยี่ยม ปี 2541 ‘โค่นขบวนการงาบยาสาธารณสุข 1,400 ล้านบาท’ จากกรณีทุจริตการจัดซื้อยาและเวชภัณฑ์ กระทรวงสาธารณสุข

ปี 2548 ร่วมจัดตั้งสำนักข่าวอิศรา

ปี 2549 ร่วมก่อตั้งศูนย์เฝ้าระวังสถานการณ์ภาคใต้ (Deep South Watch)

หลังรอยยิ้ม: เรื่องเล่าเพื่อพลิกฟื้นตัวตนและชุมชนชายแดนใต้, ฐิตินบ โกมลนิมิ บรรณาธิการ, สำนักพิมพ์เครือข่ายผู้หญิงภาคประชาสังคมเพื่อสันติภาพชายแดนใต้ และองค์กรภาคี, 2560

Tags: , , ,