“เฮ่ยนิว เดี๋ยวเราไปกินข้าวกัน”

ฮั้ว -ธิป ศรีสกุลไชยรัก สตาร์ทรถดัทสันสีเขียว ยุคปี ’70 ช้าๆ ออกจากบ้าน แทนที่จะเป็นโฟล์คตู้รุ่นบราซิลที่เขาเพิ่งถอยออกมาจากอู่ ดัทสันคันนี้เขาไม่ขาย แม้จะมีคนติดต่อขอซื้อมาหลายราย “มันเป็นเรื่องของจิตใจว่ะ รถคันนี้พ่อกูซื้อช่วงที่ทำงานสร้างเนื้อสร้างตัว มันไม่ใช่รถเก่าทั่วไป” เหตุผลของฮั้ว ทำให้ผมนึกถึงบทสนทนาก่อนหน้านี้ ที่เพื่อนของผมพูดถึงความเป็นของแท้ของวัตถุ (Authenticity) กับจิตวิญญาณที่มีความเก่าคร่ำของเวลา (Patina of Age) เหมือนตึกเก่าที่มีชีวิตชุมชนไหลเวียนอยู่รอบๆ เปรียบเทียบกับอาคารเก่าเชิงท่องเที่ยวที่บูรณะขึ้นมาใหม่ ซึ่งเป็นเพียงสิ่งก่อสร้างที่ดูไร้วิญญาณ

“มึงออกจากโรงเรียนตอน ม.3 เพื่อนๆ แปลกใจกันหมดว่า มึงคิดอะไรของมึง ถึงไปเรียนอุเทนถวาย (สถาบันเทคโนโลยีราชมงคล วิทยาเขตอุเทนถวาย) ” ผมเท้าความย้อนกลับไปเมื่อ 30 ปีก่อน ซึ่งเป็นการเริ่มบทสนทนาของเราในบ่ายวันอาทิตย์

“ตอนนั้นกูไม่มีทิศทางในชีวิต จบ ม. 3 แล้วสอบเข้า ม.4 ไม่ติด กูเสียใจมาก แต่ก็นั่นแหละ ตอนเรียนก็ไม่ได้ตั้งใจเรียน กูยังจำได้นะ แม่กูถามว่า ‘รู้ไหม เรียนไปทำไม’ กูตอบว่า ‘ไม่รู้’ เพราะกูไม่รู้จริงๆ ว่าเราจะเรียนไปทำไม ช่วงนั้นพ่อกูอยู่ในวงการรับเหมา เลยแนะนำให้ไปเรียนอุเทนถวาย กูก็เอาวะ หาที่เรียน

“จำได้ว่าเดินไปซื้อใบสมัครสอบเข้าโรงเรียนเซนต์ดอมินิก ดอนบอสโก อุเทนฯ จนถึงเตรียมอุดมฯ ซื้อใบสมัครทุกโรงเรียน แต่มึงเชื่อไหม ทุกโรงเรียนสอบวันเดียวกันหมด กูเลือกสอบอุเทนฯ ไม่รู้หรอกสถาปัตย์ฯ เรียนอะไร แต่ก็เลือกเรียนเพราะวาดรูปพอได้ แม่กูเขาจะใช้เส้นสายให้ได้เรียนต่ออัสสัมชัญ แต่กูก็คิดว่า เข้าเรียนต่อแล้วยังไง กูก็เรียนไม่ได้อยู่ดี มึงก็รู้เมื่อก่อนกูเป็นยังไง”

ฮั้วไล่เรียงอดีตให้ฟัง ผมฟังพลางนึกถึงภาพเพื่อนคนนี้ในวัยเด็ก ใส่รองเท้าหนังหัวแหลม ถือกระเป๋าหนังที่เอาคลิปหนีบกระดาษหนีบกระเป๋าไว้ให้แบนราบ พร้อมรอยยิ้มที่เหมือนวันนี้

“แล้วเป็นไงต่อ ชีวิตมึง”

“เป็นจุดเปลี่ยนของชีวิตกูเลย อยู่โรงเรียนดีแล้วไม่ตั้งใจ จากแวดล้อมด้วยลูกพ่อค้า พวกพี่สาวกูเรียนมาแตร์ฯ เซนต์โยฯ ส่วนกูไปเป็นเด็กช่าง อยู่โรงเรียนใหม่ เด็กอุเทนฯ คิดว่ากูมาจากสังคมที่สูงกว่า อยู่นอกอุเทนฯ สังคมแวดล้อมที่นั่นทำให้กูรู้สึกด้อย มีงนึกออกไหม เพื่อนส่วนใหญ่ปากกัดตีนถีบ ทุกคนมีปัญหากันหมด ต้องหาเลี้ยงตัวเอง บางคนเดินมาเรียนจากห้วยขวาง พอมาเรียนที่นี่ กูก็รู้สึกสำนึก เลยตั้งใจเรียน ที่นี่ทำให้กูรู้สึกโตเป็นผู้ใหญ่ เรียนโรงเรียนวิชาชีพทำให้ทำงานไปด้วยเรียนไปด้วยได้ รับเขียนแบบ อะไรแบบนี้ กูแทบไม่ต้องขอเงินพ่อแม่เลย”

“แล้วเคยไปตีกับช่างกลโรงเรียนอื่นบ้างไหม”

“ไม่นะ เพื่อนดี เพราะเพื่อนรู้ว่ากูไม่ใช่แนวนั้น กูเป็นนักเรียนประเภททำงานส่ง เตะบอล โดดเรียน และมักมีเหตุให้ไม่ได้ไป อาจารย์เรียกคุยอะไรแบบนี้ แต่มีคืนหนึ่ง ตอนนั้นตี 3 ทำธีสีสเสร็จ จะเดินกลับบ้านที่สะพานหัวช้าง ออกจากอุเทนฯ หมาหอนกันระงม กูไม่สนใจเพราะเดินกลับบ้านดึกๆ บ่อย พอออกจากโรงเรียน มีรถมา 2 คันมาจอด วัยรุ่นลงมา 8 คน กูรู้เลยว่าโดนแน่ พวกนั้นรุมกระทืบแบบกูไม่ต้องเดินเองเลย ขยับไปด้วยแรงถีบ จากหน้าโรงเรียนจนถึงเภสัชจุฬาฯ กูไม่ได้นอนทั้งคืน ไม่มีแรง ก็ภาวนาในใจว่าไม่ให้ถึงตายละกัน ถือว่าเป็นวันซวย “มานึกอีกที-วันรุ่งขึ้นเป็นวันเกิดของโรงเรียนช่างกลอีกโรงหนึ่ง เด็กใหม่ๆ ต้องทำผลงานลงหนังสือพิมพ์ กูนี่แหละผลงานของพวกมัน ตอนนอนกองอยู่กับพื้น กูเห็นมันหยิบอาวุธ ก็คิดว่าจะหันตรงไหนให้มันแทง เอาแบบเจ็บไม่หนัก แต่โชคดีเป็นหิน มันเอามาทุบหัวจนสลบ ฟื้นมาอีกทีตอนตี 4  เดินกลับบ้าน เลือดออกตา ก็ไม่เท่าไร เพราะพวกนั้นยังเด็ก อีกอย่างกูไม่สู้ไง ถ้าสู้-พวกที่เหลือในรถคงเอาของหนักลงมาลุยกับกู ซึ่งกูคงตายไปแล้ว”

เราผลัดกันเล่าเรื่องอดีตให้กันฟัง ตั้งแต่จำความกันได้ตอน 6 ขวบ ไล่เรียงไปตามลำดับเวลา เล่าถึงเพื่อนคนอื่นๆ และวกกลับมาเรื่องชีวิตของฮั้วที่เติบโตมาเป็นสถาปนิก ขณะสั่งเบียร์ขวดต่อมาที่ร้านริมแม่น้ำเจ้าพระยา…สายเดียวกับที่ไหลผ่านโรงเรียนของเราเมื่อวัยเยาว์

สิ่งที่ผมสนใจ คือชีวิตหลังจากนั้นที่ดูเหมือนฮั้วมุ่งหน้าไปตามความรู้สึกของตัวเอง จากโรงเรียนช่างอุเทนถวาย ฮั้วเรียนต่อปริญญาตรี และทำงานในไซต์ก่อสร้าง ซึ่งใช้เวลาไม่นานเขาก็พบว่า มันไม่ใช่ที่ทางของเขา แม้ว่าจะคุ้นเคยกับการทำงานแบบนี้มาตั้งแต่เป็นวัยรุ่น เพราะพ่อของเขาก็เป็นช่างรับเหมาเช่นเดียวกัน ฮั้วจึงเปลี่ยนไปทำงานในบริษัทที่ปรึกษาโครงการก่อสร้าง ที่ก็ให้ความรู้สึกไม่ต่างจากงานที่ผ่านมา กระทั่งชีวิตนำพาเขาไปเป็นอาจารย์ที่สถาบันเทคโนโลยีราชมงคล สุพรรณบุรี ซึ่งในที่สุด ฮั้วก็พบที่ทางของเขา

จากนั้นเมื่อค้นพบตัวเองว่าต้องการอะไรในชีวิต เขาจึงเรียนต่อปริญญาโท สาขาสถาปัตยกรรมและชุมชน จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

เราคงปฏิเสธไม่ได้ว่าชนชั้นทางสังคมหรือการยึด ‘ยี่ห้อ’ ของสถาบันการศึกษานั้นมีอยู่จริง จากสังคมโรงเรียนคริสต์ไปสู่การเป็นนักเรียนช่าง และจากนักเรียนช่างไปเรียนสถาบันอย่างจุฬาฯ ทำให้เขาต้องปรับตัวอยู่พอสมควร และดูเหมือนปมนี้จะติดอยู่ในความรู้สึกของเขาไปอีกระยะหนึ่ง ในรั้วมหาวิทยาลัย เขาทำตัวเรียบร้อยที่สุดในชีวิต ตั้งใจเรียนเพื่อหวังว่ารุ่นน้องๆ ที่ตามออกมาจากอุเทนฯ จะได้รับการยอมรับ หากพวกเขาต้องการไปต่อทางการศึกษาในสถาบันแห่งนี้ การเรียนของฮั้วเป็นที่น่าพอใจมาก กระทั่งสามารถเรียนต่อปริญญาเอกได้สบายๆ ถ้าเขาต้องการ

หากพิจารณาถึงชีวิตในระยะยาว ความจริงแล้วทุกสิ่งที่เกิดขึ้นไม่ใช่เรื่องบังเอิญ การเรียนรู้ชีวิตผ่านสังคมอันหลากหลายทำให้เขาสามารถทำงานกับคนได้หลายระดับในสังคม ทั้งชาวบ้าน นักวิชาการ นักธุรกิจ ที่เขาต้องพบเจอในอนาคต ราวกับว่าชีวิตได้ตระเตรียมวางแผนล่วงหน้าให้เขาไว้แล้ว ขณะที่เจ้าของชีวิตยังไม่รู้ตัว

“ตอนเรียนจุฬาฯ กูไม่ค่อยมั่นใจ ทำตัวสุภาพที่สุดในชีวิต ตัดผมสั้น แต่งตัวเรียบร้อย ตั้งใจเรียน แต่มึงเข้าใจไหมว่า เราขำกันคนละเรื่อง ขำแบบกูมันเถื่อนๆ หน่อย” เขาเล่าพร้อมเสียงหัวเราะ ที่มีร่องรอยของวัยเด็กซ่อนอยู่ในเค้าหน้าและแววตา

*

ผมรู้ตัวตั้งแต่สั่งเบียร์ขวดแรกที่ร้านอาหารริมแม่น้ำเจ้าพระยาแล้วว่า เย็นนี้คงอีกยาวและสนุก เมื่อผมเริ่มเล่าเรื่องชีวิตของผมบ้าง สลับกับฟังเขาบรรยายเรื่องการเป็นครู ซึ่งยังคงเป็นเส้นทางที่เขาเลือก ฮั้วไปเป็นอาจารย์อยู่ที่คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ และการทำงานสถาปัตยกรรมอนุรักษ์ โดยเริ่มต้นที่เชียงราย เมื่อเขาออกแบบคุกเก่าเพื่อปรับเปลี่ยนเป็นสวนสาธารณะตุงและโคมเฉลิมพระเกียรติ โครงการนี้ผ่านไปด้วยดี เป็นที่น่าพอใจ เพียงแต่ความคิดที่ว่า สถาปัตยกรรมเชิงอนุรักษ์ควรจะทำงานอย่างมีส่วนร่วมกับคนในชุมชน เริ่มฝังรากอยู่ในความคิดของเขา ซึ่งเริ่มเป็นรูปเป็นร่างเมื่อเขาลงมือทำโครงการอนุรักษ์ศาลาเก่าที่วัดคูเต่า จังหวัดสงขลา ในเวลาต่อมา

“แล้วมึงไปทำโปรเจ็กต์วัดคูเต่าได้ยังไง”

“ตอนนั้นกูลาออกจากการเป็นที่ปรึกษาโครงการฯ ที่กรุงเทพฯ เพราะไม่ได้ใช้ความรู้ทางวิชาการที่เรียนมา กูบอกเมียกูว่าทนไม่ไหว หากชีวิตมันเลือกได้ อย่างน้อยก็ควรได้ทำงานที่มันภูมิใจกับตัวเองมากกว่านี้ อยากทำอะไรที่มันสมศักดิ์ศรี คิดว่าจะกลับไปสอนที่มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ แต่พอที่สถาบันอาศรมศิลป์เขาเปิดรับอาจารย์ เลยไปสมัคร

“กูไปเป็นอาจารย์ที่อาศรมศิลป์อยู่พักหนึ่ง ก็ไปเจอศาลาเก่าที่วัดคูเต่า เพียงแต่ว่าตอนนั้นนโยบายของสถาบันฯ เขาจะเน้นเรื่องที่อยู่อาศัยของคนรายได้น้อย งานอนุรักษ์ยังไม่อยู่ในเป้าหมาย กูก็ไปคุยกับผู้อำนวยการว่า อยากทำโปรเจ็กต์นี้ ทำคนเดียวก็ได้ ตอนนั้นคิดว่า ถ้าไม่ได้ทำก็คิดว่าจะลาออก”  

“อะไรที่มีพลังขนาดนั้นที่ทำให้มึงสนใจถึงขนาดจะลาออกจากงาน ก็มึงเพิ่งจะลาออกจากงานมาไม่ใช่เหรอ”

“กูค่อยๆ เรียนรู้ตัวเอง ค้นหาว่าชอบอะไร มนุษย์ทุกคนก็ค้นหาว่าตัวเองเกิดมาทำไมใช่ไหม เรียนอัสสัมฯ เข้าโบสถ์ก็รู้ไงว่าอาคารเก่ามีคุณค่าขนาดไหน สร้างใหม่ก็ไม่ได้แบบนี้ พ่อแม่เล่าเรื่องสังคมในอดีตให้ฟัง ชุมชนที่ผูกพัน กูไม่ได้คิดว่าต้องกลับไปเหมือนเดิม 100 เปอร์เซ็นต์ แต่คิดว่าถ้าคนเราเปิดใจคุยกัน ความเอื้อเฟื้อ น้ำใจไมตรี มันก็จะเกิดมีขึ้นได้ แต่ที่กูกล้าบอกกับผู้อำนวยการ เพราะกูไม่มีอะไรจะเสีย ดีกว่าไม่ได้พูด ถ้าเขาเห็นคุณค่าตรงกัน กูก็ได้ทำ ถ้าเขาไม่ให้ก็ไม่เป็นไร ไม่มีใครผิด แต่กูได้พูดสิ่งที่กูต้องการไปแล้ว”

“ถ้าตอนนั้นเขาไม่เห็นด้วย จะทำไง”

“ก็ออก”

“มีทางเลือกอื่นในชีวิตไหม”  

“ไม่มี ถ้าเห็นคุณค่าไม่ตรงกันก็ไม่เป็นไร สิ่งที่เขาให้ความสำคัญมันก็สำคัญจริงๆ ที่อยู่ของคนจนน่ะ เพียงแต่กูให้คุณค่ากับการอนุรักษ์  ไม่มีใครผิด ไม่ได้โกรธกัน ถ้าไม่ได้ทำกูก็ออก กูกล้ายืนอยู่บนคุณค่าที่กูเห็น คนเดียวก็ทำ ไปดิ้นรนหาวิธีทำเอาดาบหน้า ก็วัดดวงไป”

โชคดีที่เพื่อนผมได้รับอนุมัติให้ทำโครงการนี้ พร้อมทางสถาบันอาศรมศิลป์ส่งนักศึกษามาช่วยงาน

“จากการทำงานกับชาวบ้านที่วัดคูเต่า กูรู้สึกชีวิตมีความหมาย…สนุกมาก กูไม่ใช่คนเก่งมากอะไร แต่พวกเราทำให้เขารื้อฟื้นคุณค่ากับรากของเขา ในขณะเดียวกันก็ทำมาหากินเลี้ยงปากท้องไปด้วย ทำให้ชาวบ้านไม่ลืมสิ่งดีๆ อาศรมศิลป์สอนว่า นักวิชาการต้องเปลี่ยนท่าที ไม่ใช่ไปบอกเขาให้ทำอะไร แต่ต้องฟังชาวบ้าน ความสำคัญคือแลกเปลี่ยนความเห็นกัน แล้วก็ไม่ใช่ตามใจเขาทั้งหมด ถ้าเรารักเขา อะไรไม่ดีเราก็ต้องบอก ทั้งข้อดีข้อเสีย”

แล้วโครงการสถาปัตย์เชิงอนุรักษ์หลายๆโครงการก็เริ่มเข้ามาในการดูแลของเขา พร้อมๆ กับการสะสมองค์ความรู้ไปทีละขั้นทีละตอน: ชุมชนท่าม่วง กาญจนบุรี, วัดตองปู ลพบุรี, ชุมชนเก่าเมืองปอน แม่ฮ่องสอน, ชุมชนริมน้ำ จันทบุรี, เมืองเก่าอู่ทอง สุพรรณบุรี, เชียงคาน เลย, เมืองเก่า สงขลา, เกาะยาวน้อย พังงา

จาก 10 กว่าปีที่ผ่านมา ฮั้วบรรยายสรุปให้ฟังว่า การทำงานทำให้เขาเรียนรู้เครื่องมือในการทำงานสถาปัตย์อนุรักษ์อย่างมีส่วนร่วมกับชุมชน ตั้งแต่การเข้าไปฟังชาวบ้าน การเสนอทางเลือกทางสถาปัตยกรรม การหาทางออกและผลลัพธ์ร่วมกับชาวบ้าน เพื่อที่จะสร้างความทรงจำร่วมขึ้นมาใหม่จากรากขาดหายไปเพราะระบบทุนนิยม ที่เรียกร้องให้มนุษย์หาเงินเพื่อเลี้ยงปากเลี้ยงท้อง โดยคิดถึงสิ่งอื่นๆ น้อยลง

“ทำงานชุมชนคือ ไปเข้าใจเขาก่อน อย่าเพิ่งเอาความคิดเราเข้าไปใส่เขา แล้วเรามาดูว่าจะเชื่อมสิ่งที่ชาวบ้านเป็นกับสิ่งที่เราให้คุณค่าได้ยังไง จนมันเชื่อมกันได้ เราไม่มีวันรู้เท่าชาวบ้านในชุมชน การที่เราไปคุยกับชาวบ้าน เพื่อขอคุยว่าเรารู้อะไรแล้วให้เขาชี้แนะว่าถูกไหม คือให้เกียรติเขาเป็นอันดับแรก เราทำหน้าที่เป็นตัวเชื่อมประสานให้สิ่งต่างๆ เกิดขึ้น เพราะคนที่เป็นเจ้าของจริงๆ คือชาวบ้าน” เขายืนยัน

*

6 ปีก่อน เราเคยมีโอกาสได้นั่งคุยกันริมแม่น้ำจันท์ ขณะที่ฮั้วกำลังทำโปรเจ็กต์ชุมชนริมน้ำที่จันทบุรี เมื่อมาได้คุยกับภายหลัง ฮั้วบอกว่าโครงการโรงแรมบ้านหลวงราชไมตรี เป็นความลงตัวอย่างมากทั้งในด้านสถาปัตยกรรม ความเป็นชุมชน ภาครัฐ นักธุรกิจ การท่องเที่ยว และเศรษฐกิจในชุมชน ซึ่งความจริงในกระบวนการทำงาน เขาต้องต่อรองกับหลายสิ่งหลายอย่างตั้งแต่ความไม่เข้าใจระหว่างกลุ่มคนในชุมชน อิทธิพลท้องถิ่น ความไม่เข้าใจของภาครัฐ และธรรมชาติของนักธุรกิจ แต่ความคิดในการริเริ่มโครงการนี้เกิดขึ้นจากคอนเซปต์ที่นอกเหนือไปจากความขัดแย้งเหล่านี้ ด้วยบังเอิญมันได้กลายเป็นความสนใจระดับประเทศไปแล้ว

“ตอนแรกคิดว่าซื้ออาคารเก่า เอามาปรับปรุงแล้วขาย ส่วนที่เป็นกำไรก็แบ่งให้ชุมชน แต่อย่างที่บอก อาคารเก่าไม่มีความผูกพันกันในชุมชนก็เป็นเหมือนร่างที่ไร้วิญญาณ แต่กูคิดว่ายังดีกว่าไม่ได้ทำ เผอิญชาวบ้านอยากทำมากกว่านั้น เราว่ามันน่าจะมีช่อง เพราะถ้าทำอาคารเก่าเป็นโรงแรม กำไรมันก็ตกอยู่กับเจ้าของอาคาร ชาวบ้านก็เหมือนไม่ได้อะไร เราน่าจะรวมตัวกันทำสิ่งดีๆ กับชุมชนได้ การไล่คนอื่นออกไปมันไม่ได้แก้ปัญหา การแก้ปัญหาคือทำสิ่งดีๆ ขึ้นมา”

“แล้วทำไมถึงเลือกอาคารเก่าของหลวงราชไมตรี ตึกอื่นๆ ก็มีให้เลือก”

“เราไม่ได้เลือกเขา เขาเลือกเรา” ฮั้วตอบอย่างชัดเจน

หลังจากลงพื้นที่ประมาณ 5 ปี พูดคุยกับชาวบ้าน และพัฒนาสายสัมพันธ์ของชุมชน ในที่สุดความคิดที่จะทำวิสาหกิจชุมชน (Social Enterprise) ก็เดินทางไปถึงเจ้าของบ้าน นำไปสู่การพูดคุย และก่อร่างสร้างโรงแรมหลวงราชไมตรีในที่สุด โดยมีชุมชนเป็นเจ้าของอย่างน่าภาคภูมิใจ มันจึงคล้ายเป็นอนุสาวรีย์ของความร่วมมือกันระหว่างสถาปัตยกรรม ชุมชน เศรษฐกิจ โดยรากที่เคยขาดหายไป ถูกเชื่อมโยงด้วยความงาม และความทรงจำ เพื่อร้อยรัดความสัมพันธ์ของคนในชุมชนไว้อีกครั้ง

“ถามหน่อย มึงคิดยังไงกับชุมชนป้อมพระกาฬ”

“ตามหลักแล้ว ไม่ควรมีคนเข้าไปอยู่อาศัยในโบราณสถาน แต่คนอยู่ร่วมกับโบราณสถานได้ เช่นที่บาหลี อยู่ในโบราณสถาน คือใช้ชีวิตอยู่ในนั้น อันนี้กูไม่เห็นด้วย แต่อยู่ร่วม คือใช้โบราณสถานในพิธีกรรมต่างๆ เป็นต้น อันนี้กูเห็นด้วย กูก็เลยไม่ได้ไปช่วยเขามากในเรื่องนี้ สำหรับกู การมีส่วนร่วมก็เรื่องหนึ่ง แต่ไม่ใช่ทั้งหมด ใครมาถาม กูก็แสดงความเห็นตรงๆ แลกเปลี่ยนกันได้ ก็แบบนี้แหละ มีคนเกลียดบ้าง ชอบบ้าง เป็นธรรมดา”

*

“เฮ่ยนิว เดี๋ยวคุยเสร็จ เราไปกินข้าวกัน”

“เออได้ มึงไปเปลี่ยนเสื้อ ให้กูถ่ายรูปก่อน”

“ต้องเปลี่ยนด้วยเหรอวะ แบบนี้ไม่ได้เหรอ”

“เอาหล่อๆ หน่อย”

“มึงจะถ่ายรูปกูในฐานะอะไร”

“สถาปนิกนักอนุรักษ์….”

 

ธิป ศรีสกุลไชยรัก | สถาปนิกนักอนุรักษ์ สถาบันอาศรมศิลป์

Medium Format 6×6

Black and White Negative Film

Fact Box

โครงการอนุรักษ์วัดคูเต่า จังหวัดสงขลา ได้รับรางวัลอาคารอนุรักษ์ดีเด่น ประจำปี 2554 จากสมาคมสถาปนิกสยามในพระบรมราชูปถัมภ์

โครงการอนุรักษ์บ้านหลวงราชไมตรี ได้รับ Award of Merit จากองค์การยูเนสโก ปี 2558 และได้รับรางวัลอาคารอนุรักษ์ศิลปสถาปัตยกรรมดีเด่น ประจำปี 2558 จากสมาคมสถาปนิกสยามในพระบรมราชูปถัมภ์

Tags: , , , ,