“ต้องมีเหยื่ออีกกี่คน ปัญหาความรุนแรงจึงจะถูกแก้ไขอย่างจริงจังเสียที”
ในวันนี้ข่าวคดีฆาตกรรมและการทำร้ายร่างกายผู้หญิงเกิดขึ้นแทบทุกวัน ปัญหาที่เกิดขึ้นนำไปสู่คำถามที่ว่า อาชญากรรมนี้กลายเป็นเรื่องปกติในสังคมแล้วหรือ เพราะเหตุใด ปัญหานี้จึงยังคงเกิดขึ้นซ้ำแล้วซ้ำเล่า และไม่มีท่าทีจะลดน้อยลง จนกลายเป็นปัญหาเรื้อรังที่ฝังรากลึกในสังคมไทย ทั้งที่มีเคสตัวอย่างจำนวนมากจากคดีที่ผ่านมาเป็นบทเรียน
ในบทความนี้ ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของซีรีส์ผู้หญิงถึงทุกคน (Women’s Letters) จึงขอบอกเล่าความเจ็บปวดและบาดแผลของผู้หญิงที่ต้องเผชิญกับความรุนแรงในความสัมพันธ์คู่รัก พร้อมทำความเข้าใจแง่มุมต่างๆ ของอาชญากรรมนี้ผ่านสายตาของ ‘มูลนิธิหญิงชายก้าวไกล’ ซึ่งทำงานเพื่อช่วยเหลือผู้หญิงที่ตกเป็นเหยื่อความรุนแรงมาโดยตลอด
‘ผู้หญิง’ เหยื่อความรุนแรงในความสัมพันธ์คู่รัก
มูลนิธิหญิงชายก้าวไกลรวบรวมสถิติความรุนแรงทุกปีจากข่าวหนังสือพิมพ์ และข่าวออนไลน์เป็นหลัก จำนวน 11 ฉบับ ได้แก่ ไทยรัฐ เดลินิวส์ ข่าวสด คมชัดลึก สยามรัฐ ไทยโพสต์ แนวหน้า มติชน ผู้จัดการ บ้านเมือง และเนชั่น รวมถึงข่าวจากรายการทีวีและการเผยแพร่ข่าวผ่านเฟซบุ๊ก
พบว่ากรณี ‘ผู้หญิงได้รับความรุนแรงจากคู่รัก’ มีแนวโน้มสูงขึ้นทั้งในสื่อกระแสหลักและสื่อออนไลน์ โดยความรุนแรงในที่นี้จะแบ่งออกเป็น 2 ส่วน ได้แก่ ความรุนแรงระหว่างคู่รักที่ยังไม่ได้แต่งงานกัน และความรุนแรงที่เกิดขึ้นในครอบครัว อาทิ ความรุนแรงระหว่างสามีภรรยา ความรุนแรงที่เกิดขึ้นกับบุตร เป็นต้น
จากสถิติ ‘สถานการณ์ข่าวความรุนแรงในครอบครัวปี 2565’ ชี้ชัดว่ามีการใช้ความรุนแรงในครอบครัวเพิ่มขึ้น 3 เท่า จาก 6 ปีที่แล้ว เมื่อปี 2559 รวบรวมข้อมูลได้ 466 ข่าวต่อปี แต่ในปี 2565 จำนวนพุ่งสูงขึ้น 1,131 ข่าวต่อปี
ในขณะที่สถิติข่าวคดีฆาตกรรมคนรักก็เพิ่มสูงขึ้นด้วยเช่นกัน โดยเหยื่อส่วนใหญ่มักเป็น ‘เพศหญิง’ ที่ได้รับความรุนแรงจากสามีหรือคนรัก กรณีสามีกระทำต่อภรรยา คิดเป็น 73.7% (จำนวน 157 จาก 213 ข่าว) กรณีฝ่ายชายกระทำต่อฝ่ายหญิง 63.3% (จำนวน 69 จาก 109 ข่าว) อย่างไรก็ตาม การใช้ความรุนแรงเกิดขึ้นกับเหยื่อที่เป็นเพศสภาพอื่นเช่นกัน แต่ยังเป็นจำนวนที่น้อยกว่าเพศหญิง
อาจเรียกได้ว่า กรณี ‘ผู้หญิงเสียชีวิตเพราะโดนคนรักฆ่า’ ยังคงเกิดขึ้นเรื่อยๆ เป็นช่วงๆ ถือเป็นสถิติที่ค่อนข้างถี่และสูงขึ้น หากสังเกตรายการข่าวในโทรทัศน์จะพบว่า มีการนำเสนอข่าวทำร้ายผู้หญิงแทบทุกวัน อาชญากรรมนี้เกิดจากหลากหลายมูลเหตุ โดย ‘ความหึงหวงและระแวง’ เป็นมูลเหตุอันดับหนึ่งในการก่อเหตุ กรณีสามีฆ่าภรรยา คิดเป็น 55% และกรณีการฆ่ากันในคู่รักแบบแฟน คิดเป็น 55.3% มูลเหตุรองลงมาคือ ‘ฝ่ายชายตามง้อ แต่ฝ่ายหญิงไม่ยอมคืนดีด้วย’ กรณีสามีฆ่าภรรยา คิดเป็น 26.9% และกรณีการฆ่ากันในคู่รักแบบแฟน คิดเป็น 21%
(หมายเหตุ: สถิติทั้งหมดในบทความนี้อ้างอิงจาก ‘สรุปข้อมูลสถานการณ์ข่าวความรุนแรงในครอบครัวปี 2565’ ของมูลนิธิหญิงชายก้าวไกล)
คำบอกเล่าของผู้หญิงที่ตกเป็นเหยื่อความรุนแรง
บัว (นามสมมติ) หญิงวัย 24 ปี อาชีพว่างงาน ผู้มีประสบการณ์ได้รับความรุนแรงจากอดีตคนรัก เผยว่า โดนทำร้ายร่างกายทั้งหมด 3 ครั้ง จากการทะเลาะกัน ซึ่งฝ่ายชายเป็นฝ่ายเริ่มลงมือทำร้ายร่างกายด้วยการกระชากที่ลำตัวและตบหน้าก่อนทุกครั้ง และเมื่อเธอพยายามตอบโต้เพื่อปกป้องตัวเอง แต่กลับถูกทำร้ายหนักขึ้นกว่าเดิม เช่น ฝ่ายชายเริ่มตบก่อน ตนจึงตบกลับ แต่ฝ่ายชายก็ตบแรงขึ้นกว่าเดิม
นับตั้งแต่โดนทำร้ายร่างกาย เธอทนอยู่ในความสัมพันธ์นี้ประมาณ 1 ปี จากนั้นจึงตัดสินใจเลิกรากับผู้ชายคนนั้น เมื่อออกจากความสัมพันธ์นี้ได้แล้ว การโดนคนรักทำร้ายร่างกายกลายเป็นปมในชีวิต หากมีความรักครั้งใหม่ แล้วฝ่ายชายใช้ความรุนแรงกับเธอเหมือนครั้งนี้ ก็จะเลือกเดินออกมาในทันที
“ตอนบอกเลิก เราอยากออกมาจากความสัมพันธ์นี้ให้เร็วที่สุด เราไม่เอาแล้ว ไม่อยากอยู่กับอะไรแบบนี้อีกแล้ว เพราะมีปัญหาหลายอย่างสะสมมานาน ทั้งปัญหาการพูดจาไม่ดี การทำร้ายร่างกาย การติดพนัน และการนอกใจ รวมถึงกังวลเรื่องลูก” – คำกล่าวของบัว ผู้หญิงที่เป็นเหยื่อจากการใช้ความรุนแรง
ความรุนแรงหลากหลายรูปแบบ
จะเด็จ เชาวน์วิไล ผู้อำนวยการมูลนิธิหญิงชายก้าวไกล กล่าวว่า คนในสังคมไทยอาจเคยชินกับความรุนแรงที่เป็นรูปธรรม เช่น การทำร้ายร่างกาย การฆาตกรรม การบาดเจ็บ หรือพิการ แต่แท้จริงแล้ว ระดับความรุนแรงเริ่มต้นตั้งแต่ความรุนแรงด้านจิตใจ เช่น การแสดงความไม่พอใจผ่านการนิ่งเฉย หรือไม่แสดงปฏิกิริยา เพื่อทำให้อีกฝ่ายอึดอัดหรือไม่สบายใจ การใช้อำนาจควบคุมชีวิตของภรรยา บังคับให้ภรรยาปฏิบัติตามที่ตนเองต้องการ การใช้คำพูดทำร้ายจิตใจอีกฝ่าย เช่น การพูดไม่ดี ใช้คำหยาบ ด่าทอ หรือใช้คำพูดกดดันฝ่ายหญิง รวมถึงการทำลายข้าวของ หรือทรัพย์สินของฝ่ายหญิง สิ่งเหล่านี้ล้วนไม่ใช่ความรุนแรงที่เป็นรูปธรรม แต่ส่งผลกระทบต่อสภาพจิตใจของเหยื่อ และเป็น ‘สัญญาณเตือน’ ที่สะท้อนถึงความรุนแรงระดับที่สูงกว่า
ยิ่งไปกว่านั้น ถ้าไม่มีการแก้ไขปัญหาดังกล่าว การใช้ความรุนแรงก็จะหนักขึ้นเรื่อยๆ ไปจนถึงความรุนแรงด้านร่างกาย นอกจากนี้ในกรณีของครอบครัว แม้ความรุนแรงจะเริ่มต้นจากคู่สามีภรรยา แต่ปัญหาอาจลุกลามมากขึ้น ส่งผลให้เกิดการทำร้ายสมาชิกครอบครัวคนอื่นๆ ร่วมด้วยทั้ง ลูก พ่อแม่ หรือญาติ
“ช่วงก่อนทำร้ายร่างกาย เขาจะด่าทอด้วยคำหยาบคาย คำพูดที่รุนแรง และทำลายข้าวของ เช่น ขว้างหรือทุบโทรศัพท์ ตอนนั้นเรายังเด็ก และเพิ่งมีแฟนคนแรก จึงไม่นึกว่า ความรุนแรงนั้นจะมาถึงตัวเราในวันหนึ่ง” คำกล่าวของบัว ผู้หญิงที่เป็นเหยื่อจากการใช้ความรุนแรง
ถอดถุงยางโดยไม่ได้รับการยินยอม=ข่มขืน
ทั้งนี้ จะเด็จระบุว่า ผู้ชายในสังคมชายเป็นใหญ่อาจละเมิดข้อตกลงเรื่อง ‘การสวมถุงยางอนามัย’ ในการมีเพศสัมพันธ์ โดยคิดว่า ‘ในเมื่อมีความสัมพันธ์กันถึงระดับนี้แล้ว แค่ถอดถุงยางจะเป็นอะไรไป’
ซึ่งความคิดดังกล่าว จะเด็จถือว่าเป็นความคิดที่ผิด เนื่องจากการใส่ถุงยางคือวิธีการคุมกำเนิด และป้องกันโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ หากผู้ชายถอดถุงยางขณะมีเพศสัมพันธ์โดยผู้หญิงไม่ยินยอม จะส่งผลให้ผู้หญิงรู้สึกไม่สบายใจและวิตกกังวล ถือเป็นการใช้ความรุนแรง ละเมิดสิทธิ และ เข้าข่าย ‘ข่มขืน’ ในทันที เพราะทั้งสองฝ่ายไม่ได้ตกลงกันด้วยเงื่อนไขนี้ตั้งแต่ต้น และผู้หญิงไม่ได้ยินยอมที่จะมีเซ็กซ์แบบไม่ใส่ถุงยาง
ทำไมผู้หญิงจึงทนอยู่ในความสัมพันธ์ที่ใช้ความรุนแรง
“เราคิดจะเลิกตั้งแต่เกิดความรุนแรงขึ้นครั้งแรก เก็บข้าวของออกมาจากห้องพักเขาแล้ว แต่อดีตคนรักมาขอโทษและขอคืนดีพร้อมร้องไห้ เมื่อเห็นแบบนั้น เราก็ใจอ่อนและให้อภัย เพราะตอนนั้นยังรักเขาอยู่” บัวเล่า
บัวมองว่าการใช้ความรุนแรงไม่ใช่เรื่องปกติ เพราะก่อนอยู่ในความสัมพันธ์นี้ เธอเคยคิดว่าถ้าโดนคนรักทำร้ายร่างกาย ตัวเองคงรับไม่ได้แน่นอน แต่เมื่ออยู่ในสถานการณ์นี้จริงๆ แม้ตนจะโกรธและเสียใจกับสิ่งที่เขาทำ รวมถึงมีความคิดที่จะเดินออกมา แต่สุดท้ายก็กลับไปคืนดีกับเขา พร้อมพูดคุยกับเขาอย่างจริงจังว่า การใช้ความรุนแรงเป็นสิ่งผิด และตนไม่ต้องการให้เขาทำเช่นนั้นอีก แต่ความรุนแรงกลับยังคงเกิดขึ้นในความสัมพันธ์
นอกจากนี้ บัวยังเล่าอีกว่าตัดสินใจไปหาหมอที่คลินิก หลังโดนทำร้ายร่างกายครั้งที่ 3 โดยให้เหตุผลกับแพทย์ว่าของหนักหล่นใส่ร่างกาย แต่แพทย์รู้ว่าแผลลักษณะนี้เกิดจากการใช้ความรุนแรง จึงถามว่าต้องการแจ้งความหรือไม่ ซึ่งตนยืนยันจะไม่แจ้งความ เพราะตอนนั้นเกิดความรู้สึกกลัวขึ้นมา
“ถ้าแจ้งความแล้ว ตำรวจจะคุ้มครองเราได้ไหม เราจะโดนอดีตคนรักทำร้ายร่างกายหนักกว่าเดิมไหม มันจะกลายเป็นเรื่องใหญ่ที่ควบคุมไม่ได้หรือเปล่า และเรายังอยู่ในวังวนความรู้สึกผูกพัน จึงไม่อยากให้ฝ่ายชายติดคุก” คำกล่าวของบัว ผู้หญิงที่เป็นเหยื่อจากการใช้ความรุนแรง
จากการเก็บรวบรวมข้อมูลและการทำงานของมูลนิธิหญิงชายก้าวไกล จะเด็จเผย 6 เหตุผลที่ผู้หญิงอดทนอยู่ในความสัมพันธ์ที่มีความรุนแรง
1. กลไกทางกฎหมายไม่เอื้อให้ผู้หญิงออกจากความสัมพันธ์ที่ใช้ความรุนแรง เนื่องจากกฎหมายไทยมีจุดอ่อน คือ การมุ่งเน้นไปที่การไกล่เกลี่ย แต่ไม่ได้ให้ความสำคัญกับการจัดการปัญหาโดยตรง อีกทั้งเจ้าหน้าที่ตำรวจส่วนใหญ่ยังมองว่า ปัญหาการใช้ความรุนแรงเป็นเรื่องส่วนตัว เรื่องในครอบครัว หรือเป็นปัญหาที่คนภายนอกไม่อยากเข้าไปยุ่งเกี่ยว บางครั้งก็ไม่รับแจ้งความ หรือพยายามไกล่เกลี่ยให้ผู้หญิงยอมความ ทำให้ผู้หญิงซึ่งเป็นเหยื่อเลือกที่จะไม่แจ้งความหรือร้องทุกข์
2. ผู้หญิงอยู่ในภาวะความกลัว เช่น กรณีถูกข่มขู่และคุกคามจากอดีตสามีหรือคนรัก ผู้ชายบางคนเป็นคนที่มีอิทธิพล หรือประพฤติตัวเป็นอันธพาล จึงข่มขู่ฝ่ายหญิงว่าห้ามเอาเรื่องความรุนแรงไปบอกใคร ทำให้ผู้หญิงไม่กล้าขอความช่วยเหลือจากคนอื่น หรือเดินออกจากความสัมพันธ์นี้ เพราะกลัวตัวเองและลูกจะถูกทำร้าย
3. ผู้หญิงตัดสินใจให้โอกาส เพราะในบางกรณี ฝ่ายชายใช้ความรุนแรงตอนดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ แล้วกลับมาเป็นคนดีและมีสติหลังจากสร่างเมา หรือบางกรณี ฝ่ายชายตามง้อขอคืนดี ขอโทษฝ่ายหญิง หรือบอกว่าสิ่งที่เกิดขึ้นเป็นสิ่งที่เขาทำผิดพลาดไปแล้ว ทำให้ผู้หญิงเชื่อว่า ถ้าให้โอกาสผู้ชายอีกครั้ง เขาอาจจะปรับเปลี่ยนนิสัยนี้
4. ไม่มีพื้นที่ปลอดภัยสำหรับผู้หญิงที่เป็นเหยื่อ เพราะคนภายนอกมักตั้งคำถามและกล่าวโทษฝ่ายหญิง เช่น “ผู้ชายใช้ความรุนแรงเพราะผู้หญิงทำให้เขาไม่พอใจก่อนหรือเปล่า” หรือ “คนที่มีปัญหาคือตัวผู้หญิงเอง” รวมถึงแนะนำให้ผู้หญิงอดทนต่อไป เป็นต้น ผู้หญิงจึงไม่บอกปัญหานี้กับใคร เพราะไม่อยากถูกกล่าวโทษว่า เธอเป็นภรรยาหรือคนรักที่ไม่ดี
5. ผู้หญิงคิดว่าต่อให้บอกคนอื่นก็คงไม่มีใครเชื่อ เนื่องจากฝ่ายชายที่ใช้ความรุนแรงเป็นคนที่มีภาพลักษณ์ดูดี มีอำนาจ และได้รับการยอมรับจากสังคม ทำให้คนอื่นมองว่า ผู้ชายแบบนี้เป็นคนดี และไม่น่าจะทำร้ายผู้หญิง ผู้หญิงจึงทนอยู่ในความสัมพันธ์นี้ต่อไป
6.กังวลเรื่องลูก ว่าลูกจะเป็นอย่างไร หรือใช้ชีวิตอย่างไร รวมถึงผู้หญิงบางคนไม่ได้ทำงานนอกบ้าน การเดินออกจากความสัมพันธ์จึงไม่ใช่เรื่องง่ายของผู้หญิงที่มีลูกแล้ว เพราะหากเลิกราหรือหย่าร้างกัน ผู้หญิงจะกังวลว่า ตัวเองจะหาทำงานได้หรือไม่ และจะหาเงินสำหรับเลี้ยงดูลูกได้เพียงพอไหม
หากไร้การจัดการที่เหมาะสม ความรุนแรงไม่เคยหยุดที่ครั้งแรก
เรื่องนี้ จะเด็จมองว่า หากเกิดความรุนแรงในครอบครัวขึ้นแล้วหนึ่งครั้ง มีโอกาสที่จะเกิดครั้งต่อไปและรุนแรงขึ้นเรื่อยๆ
เนื่องจากมีหลายกรณีที่เหยื่อขอคำปรึกษาจากมูลนิธิ แต่ยังไม่กล้าตัดสินใจ เมื่อกลับไปอยู่กับฝ่ายชาย เหยื่อก็ต้องเผชิญกับความรุนแรงเช่นเดิม เพราะฝ่ายชายไม่ได้รับโทษทางกฎหมายหรือบทเรียนใดๆ ทำให้เขามองว่า วันหนึ่งผู้หญิงก็จะกลับมาหาเขาอยู่ดี เขาจึงใช้อำนาจเหนือกว่าต่อไป หากไม่มีการจัดการที่เหมาะสม ความรุนแรงจะยิ่งเพิ่มขึ้น และอาจนำไปสู่การทำร้ายถึงชีวิต
ดังนั้นจึงไม่ควรคาดหวังให้ผู้ชายเปลี่ยนแปลงด้วยตนเอง แต่ควรใช้กลไกทางกฎหมายหรือกระบวนการปรับพฤติกรรมเพื่อแก้ไขปัญหานี้
ซึ่งหากจะจัดการโดยมองไปถึงรากปัญหาและปัจจัยกระตุ้นที่ก่อให้เกิดความรุนแรง จะเด็จ มองว่าคือเรื่อง ‘การใช้อำนาจ’ เนื่องด้วยการบ่มเพาะของสังคมไทย ตั้งแต่สถาบันครอบครัว สถาบันการศึกษา และสื่อมวลชนที่ยังคงแฝงแนวคิดความไม่เท่าเทียมของชายหญิง หลายครอบครัวอาจปรับเปลี่ยนทัศนคตินี้บ้างแล้ว แต่ครอบครัวไทยส่วนใหญ่ยังมองว่า เมื่อแต่งงานไปแล้ว ผู้หญิงต้องเป็นฝ่ายรับใช้สามี เช่น การทำงานบ้าน และการเลี้ยงดูบุตร ไม่ว่าผู้หญิงจะทำงานมาหนักขนาดไหน ก็ต้องรับผิดชอบงานในบ้านและรับใช้สามี ต่างจากผู้ชายที่ต่อให้ไม่ทำสิ่งเหล่านี้ก็ไม่โดนตำหนิ ส่งผลให้ผู้ชายมีอำนาจเหนือกว่าผู้หญิงในชีวิตคู่
ในขณะที่ชายไทยถูกปลูกฝังว่า ผู้ชายต้องดูแลครอบครัว แต่สิ่งที่มากไปกว่าการดูแลคือ ‘การเป็นเจ้าข้าวเจ้าของ’ เพราะผู้ชายมักคิดว่า ภรรยาและครอบครัวคือ ‘สมบัติ’ ของเขา และเขาคือคนตัดสินทุกอย่างในบ้าน นำมาสู่การใช้อำนาจที่เหนือกว่า เช่น กรณีผู้หญิงได้รับความรุนแรง เพราะฝ่ายชายหึงหวง ไม่อยากให้ฝ่ายหญิงไปยุ่งกับคนอื่น และฝ่ายหญิงต้องอยู่กับเขาเท่านั้น
นอกจากนี้ จะเด็จยังกล่าวอีกว่า ปัจจัยกระตุ้นที่ทำให้ปัญหาการใช้ความรุนแรงลุกลามและเพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ คือ ‘ภาวะความเครียดจากเศรษฐกิจ’ ซึ่งส่งผลให้เกิดความรุนแรงได้เช่นกัน เพราะเมื่อเศรษฐกิจไม่ดีแล้วคนตกงาน ปัญหาด้านการงานและการเงินที่ไม่มั่นคง อาจนำมาสู่การปะทะหรือทะเลาะกันระหว่างคู่รัก
รวมถึงปัจจัยกระตุ้นจากการดื่ม ‘เครื่องดื่มแอลกอฮอล์’ ซึ่งสถิติความรุนแรงในครอบครัวเกิดจากต้นเหตุนี้สูงถึง 30.7% เนื่องจากในสังคมชายเป็นใหญ่ ผู้ชายมักมองว่า การไปดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์คือการเข้าสังคม ในทางกลับกัน ถ้าผู้หญิงเป็นฝ่ายไปสังสรรค์ เธอจะถูกกล่าวโทษว่าเป็นผู้หญิงไม่ดี ส่งผลให้เกิดความขัดแย้ง เพราะผู้หญิงมองว่า ผู้ชายนำเงินสำหรับเลี้ยงดูลูกไปใช้อย่างสิ้นเปลือง
หญิงไทยจำนวนมากต้องเผชิญกับความรุนแรง เพราะชายเป็นใหญ่ แต่การใช้ความรุนแรงกลับไม่ใช่เรื่องใหญ่
“ส่วนใหญ่เขาจะโทษว่า เราเป็นคนเริ่มทะเลาะก่อน เพราะเราพูดจี้ใจดำเขามากเกินไป เขาจึงโมโหและลงมือทำร้ายร่างกาย เขาไม่ยอมรับว่าตัวเองผิดที่ใช้ความรุนแรง” บัวเล่า
หากพิจารณาสาเหตุที่หญิงไทยจำนวนมากได้รับความรุนแรงจากคนรักซึ่งเป็นผู้ชาย จะเด็จระบุว่า เกิดจากโครงสร้างทางสังคมแบบอำนาจนิยมและชายเป็นใหญ่ ซึ่งปลูกฝังให้ผู้ชายมีอำนาจเหนือกว่าผู้หญิงตั้งแต่ในครอบครัว สอนให้ลูกผู้ชายเหนือกว่า ต้องเป็นชายชาตรีและผู้นำ สอนให้ลูกผู้หญิงทำงานบ้าน
อีกทั้งผู้หญิงยังประกอบอาชีพที่มีอำนาจต่อรองน้อย ไม่ว่าจะเป็นอำนาจทางการเงินและอำนาจทางสังคม รวมถึงยังไม่มีทางเลือกมากนัก โอกาสในการเป็นผู้นำในระดับชุมชน ท้องถิ่นหรือระดับอื่นๆ สำหรับผู้หญิงยังคงมีน้อย ทำให้พื้นที่ในการต่อสู้ของผู้หญิงที่เป็นเหยื่อมีข้อจำกัดค่อนข้างมาก เพราะโครงสร้างสังคมไม่เปิดรับผู้หญิงเข้ามาเป็นส่วนสำคัญของการแก้ไขปัญหา
ทัศนคติของผู้คนในสังคมที่มองว่า การใช้ความรุนแรงเป็นเพียงปัญหาระดับปัจเจก หรือเป็นเรื่องเล็ก และกล่าวโทษว่าเป็นความผิดของเหยื่อ สังเกตได้ว่า คดีการใช้ความรุนแรงหรือฆ่าผู้หญิงนั้นเกิดขึ้นทุกวันจนเหมือนกลายเป็นเรื่องปกติในสังคม ด้านสื่อมวลชนให้ความสนใจเป็นช่วงๆ ต่อคดีที่รุนแรงมาก หรือในบางคดีที่ฝ่ายหญิงได้รับความรุนแรงมาก่อน จึงลงมือฆ่าสามีหรือลูก สังคมก็จะวิจารณ์ฝ่ายหญิงว่าเป็นคนไม่ดี โดยลืมตั้งคำถามไปว่า ทำไมผู้หญิงคนนั้นจึงทำร้ายลูก เธอได้รับความรุนแรงมาก่อนหน้านี้หรือไม่ จากสถิติในปี 2565 พบว่า ‘สามีทำร้ายทุบตีเป็นประจำ’ คือมูลเหตุอันดับหนึ่งในการก่อเหตุกรณีข่าวภรรยาฆ่าสามี คิดเป็น 55.6%
หรือแม้กระทั่งในละครน้ำเน่ายังคงฉายภาพจำซ้ำๆ ซึ่งผู้หญิงถูกทำร้าย หรือผู้หญิงไม่มีบทบาทสำคัญ แต่เป็นตัวละครที่ต้องคอยแย่งผู้ชาย ส่งผลให้บทบาทของผู้หญิงในสังคมไทยไม่ค่อยพัฒนามากเท่าที่ควร ส่วนระบบการศึกษาก็ล้าหลัง เพราะยังไม่มีหลักสูตรที่กล่าวถึงบทบาทของเพศสภาพต่างๆ อย่างเท่าเทียม
อำนาจทางสังคมยังคงผูกติดกับเพศชาย เพราะผู้ชายมีบทบาททางสังคมมากกว่าผู้หญิงมาอย่างยาวนาน ไม่ว่าจะเป็นเรื่องการทำงาน หรือเรื่องการเมือง โดยผู้ควบคุมอำนาจรัฐส่วนใหญ่เป็นเพศชาย แม้ในปัจจุบันจะมีนักการเมืองรุ่นใหม่ที่เป็นผู้หญิง หรือกลุ่ม LGBTQIA+ รวมถึงกลุ่มคนรุ่นใหม่ซึ่งตื่นตัวเรื่องความเท่าเทียมทางเพศมากขึ้น แต่ยังไม่ใช่ปริมาณที่เพียงพอ หรือมีอำนาจมากพอจะคานอำนาจเก่าของอีกฝ่าย ทำให้ไม่อาจกำหนดทิศทาง และสร้างการเปลี่ยนแปลงอย่างมีนัยสำคัญ ส่งผลให้บทบาทของผู้หญิงในสังคมไทยไม่อาจเปลี่ยนไปได้อย่างรวดเร็ว ปัญหาความรุนแรงที่เกิดขึ้นกับเพศหญิงจึงไม่ถูกแก้ไข และสะสมอยู่คู่กับสังคมไทยโดยที่สถิติไม่เคยลดลง
ผลกระทบเชิงลบ ราคาที่เหยื่อ (จำใจ) ต้องจ่าย
ด้านผลกระทบ จะเด็จชี้ให้เห็นว่า การใช้ความรุนแรงในความสัมพันธ์ส่งผลกระทบเชิงลบต่อผู้หญิงที่เป็นเหยื่อ 3 ประการ ได้แก่
1. ผลกระทบด้านร่างกาย เช่น บาดเจ็บ พิการ และถึงขั้นเสียชีวิต
2. ผลกระทบด้านจิตใจ โดยเหยื่อหลายคนมีปัญหาความเครียด ความกลัว วิตกกังวล รวมถึงเป็นโรคซึมเศร้า จึงต้องเข้ารับการรักษากับจิตแพทย์ รับประทานยานอนหลับ และยาสำหรับโรคซึมเศร้า
3. ผลกระทบด้านเศรษฐกิจ เนื่องจากผู้หญิงบางคนไม่ได้ประกอบอาชีพขณะอยู่ในความสัมพันธ์นั้น จึงหางานทำยากหลังเลิกรากับฝ่ายชาย หรือเหยื่อบางคนต้องออกจากงานเพราะได้รับความรุนแรง หรือกรณีที่ผู้หญิงต้องหาเงินเพื่อเลี้ยงดูลูกเพียงฝ่ายเดียว
ทั้งค่ารักษาพยาบาลด้านร่างกายและจิตใจ รวมถึงมูลค่าทางเศรษฐกิจที่สูญเสียไป ล้วนแล้วแต่เป็น ‘ราคาที่เหยื่อต้องแบกรับ’ แต่บาดแผลในจิตใจของเหยื่อนั้นยากที่จะประเมินเป็นเงินตรา
หน่วยงานช่วยเหลือเหยื่อที่ได้รับความรุนแรง
จะเด็จกล่าวว่า การอยู่ในความสัมพันธ์ที่ใช้ความรุนแรงต่อไป จะทำให้ผู้หญิงถูกทำร้ายมากขึ้น จึงอยากให้ผู้หญิงเชื่อว่า ตนเองไม่สมควรได้รับความรุนแรง และสามารถออกจากความสัมพันธ์นี้ได้ โดยขอความช่วยเหลือจากเพื่อนสนิท พ่อแม่ ครอบครัว คนที่ไว้ใจ หรือหน่วยงานต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง
ไม่ว่าจะเป็นหน่วยงานเอกชนอย่างมูลนิธิหญิงชายก้าวไกล และหน่วยงานต่างๆ ของรัฐ เช่น โทรแจ้ง 1300 เพื่อติดต่อกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ หรือขอความช่วยเหลือจากสถานพยาบาลกระทรวงสาธารณสุข หรือศูนย์พึ่งได้ (One Stop Crisis Center) ซึ่งเป็นศูนย์บริการช่วยเหลือเด็กและครอบครัวในภาวะวิกฤตจากความรุนแรงที่มีตั้งแต่ระดับอำเภอ
“ถ้าเป็นเราตอนนี้ เราจะตัดสินใจแจ้งความ เพราะเราไม่สมควรโดนอะไรแบบนี้จากผู้ชายคนหนึ่ง มันไม่จำเป็นต้องใช้ความรุนแรงเลย พูดคุยกันดีๆ ก็ได้” บัวเล่า
จุดอ่อนกฎหมาย เน้นรักษาความสัมพันธ์ มากกว่ายุติปัญหาและคุ้มครองเหยื่อ
ขณะที่ด้านกฎหมายไทยยังคงมีจุดอ่อน โดยจะเด็จ ระบุว่า พ.ร.บ.คุ้มครองความรุนแรงในครอบครัวปี 2550 ให้ความสำคัญกับความสัมพันธ์ในครอบครัว ดังนั้น เมื่อเกิดการร้องเรียนคดีใช้ความรุนแรงขึ้น เจ้าหน้าที่รัฐจึงยังยึดถือแนวคิดเดิม ซึ่งคือการรักษาความสัมพันธ์ระหว่างคนในครอบครัว โดยบอกให้ผู้หญิงอดทน หรือกลับไปเชื่อมสัมพันธ์กับสามีเพื่อลูก ซึ่งมีหลายคดีที่ผู้หญิงถูกทำร้ายซ้ำเดิมหลังจากกลับไปคืนดีกับฝ่ายชาย กลไกเช่นนี้จึงทำให้ไม่อาจแก้ไขปัญหาเหยื่อผู้หญิงได้รับความรุนแรง
ทั้งที่แท้จริงแล้ว พ.ร.บ.ดังกล่าวต้องคุ้มครองผู้ถูกกระทำ ซึ่งในที่นี้คือเหยื่อที่เป็นผู้หญิง โดยเน้นให้ผู้หญิงมีอิสระในการเลือกว่าจะรักษาหรือยุติความสัมพันธ์ ถ้าผู้หญิงต้องการยุติความสัมพันธ์ กระบวนการทางกฎหมายต้องช่วยเหลือตามความประสงค์ของเหยื่อ แต่ถ้าผู้หญิงตัดสินใจจะรักษาความสัมพันธ์ ภาครัฐต้องมีกระบวนการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมฝ่ายชายอย่างจริงจังและชัดเจน ซึ่งต้องรับรองได้ว่า ผู้ชายจะไม่ใช้ความรุนแรงกับเหยื่อดังเดิม
ในทางกลับกัน ถ้าฝ่ายชายมีพฤติกรรมใช้ความรุนแรงอีก เขาจะต้องถูกจัดการตามกฎหมายในทันที เพราะมีหลายกรณีที่แม้เหยื่อผู้หญิงจะฟ้องศาลครอบครัว ซึ่งศาลออกคำสั่งคุ้มครองชั่วคราว เช่น ห้ามไม่ให้ฝ่ายชายที่ใช้ความรุนแรงเข้าใกล้หรือไปยุ่งวุ่นวายกับเหยื่อ รวมทั้งปรับพฤติกรรมของฝ่ายชายอย่างการดื่มเหล้าหรือปัญหาด้านอารมณ์
แต่สุดท้ายเจ้าหน้าที่ตำรวจกลับไม่ได้ปฏิบัติตามคำสั่งของศาล ทำให้ฝ่ายชายยังสามารถตามรังควาน ข่มขู่ และทำร้ายฝ่ายหญิงได้อีก ส่งผลให้ผู้หญิงที่เป็นเหยื่อบางคนไม่กล้าไปแจ้งความ เพราะกลัวว่าตำรวจจะไม่สามารถคุ้มครองเธอได้ และเธออาจจะโดนทำร้ายหนักขึ้นกว่าเดิม
‘ความรุนแรงในความสัมพันธ์’ ปัญหาเชิงโครงสร้างที่ภาครัฐควรเร่งแก้ไข
จะเด็จย้ำว่า ภาครัฐต้องมองว่าปัญหาความรุนแรงเป็น ‘ปัญหาเชิงโครงสร้าง’ และเป็นเรื่องใหญ่ โดยรัฐบาลต้องมีนโยบายระดับประเทศเพื่อแก้ไขปัญหานี้อย่างจริงจัง สิ่งที่น่าเป็นห่วงคือ หน่วยงานรัฐมักนิ่งเฉยต่อคดีผู้หญิงได้รับความรุนแรงจนเสียชีวิต มีเพียงหน่วยงานเอกชนที่ออกมาต่อสู้และปกป้องเหยื่อ ดังนั้น จึงอยากให้หน่วยงานรัฐเร่งแก้ไขปัญหานี้ผ่าน 5 แนวทาง
1. ภาครัฐต้องหยุดนิ่งเฉยต่อคดีใช้ความรุนแรง โดยประชาสัมพันธ์และรณรงค์ให้ประชาชนรับรู้ว่า การใช้ความรุนแรงไม่ใช่เรื่องปกติ และเป็นสิ่งผิดกฎหมาย รวมถึงนโยบายของภาครัฐจะแก้ไขปัญหานี้อย่างต่อเยื่องได้อย่างไร มิใช่ประชาสัมพันธ์เรื่องนี้ในวันยุติความรุนแรงต่อสตรีสากลเพียงวันเดียว เพื่อให้ผู้หญิงที่เป็นเหยื่อได้รับการคุ้มครองอย่างเหมาะสม
2. ด้านกระบวนการทางกฎหมาย สำนักงานตำรวจแห่งชาติต้องปรับเปลี่ยนทัศนคติของเจ้าหน้าที่ โดยให้มองว่าคดีการใช้ความรุนแรงไม่ใช่เรื่องในครอบครัว หรือเรื่องส่วนตัว และตำรวจจำเป็นต้องรับแจ้งความคดีเหล่านี้
3. ภาครัฐต้องแก้ไขปัญหานี้อย่างเป็นระบบ โดยเชื่อมโยงการทำงานของหน่วยงานต่างๆ ทั้งสำนักงานตำรวจแห่งชาติ กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ กระทรวงสาธารณสุข และหน่วยงานอื่นๆ ที่ช่วยเหลือผู้หญิงอย่างจริงจัง
4. ภาครัฐต้องจัดตั้งอาสาสมัครเพื่อเฝ้าระวังความรุนแรงในชุมชนอย่างชัดเจน หากมีความรุนแรงเกิดขึ้นในครอบครัวหรือความสัมพันธ์คู่รัก อาสาสมัครต้องลงพื้นที่เพื่อเฝ้าระวังและแก้ไขไม่ให้เกิดปัญหาความรุนแรงซ้ำไปซ้ำมา
5. กระทรวงศึกษาธิการต้องตื่นตัวกับเรื่องนี้มากยิ่งขึ้น โดยบรรจุเรื่องเพศวิถี ความเท่าเทียมทางเพศ และการใช้ความรุนแรงลงในหลักสูตรการเรียนตั้งแต่ระดับประถมศึกษา มัธยมศึกษา ไปจนถึงระดับมหาวิทยาลัย เพื่อเปลี่ยนแปลงค่านิยมเดิม และปลูกฝังทัศนคติที่ถูกต้องให้แก่เด็กรุ่นใหม่
อย่างไรก็ตาม ประชาชนในสังคมไม่ควรมองว่า ความรุนแรงของคู่รักเป็นเรื่องส่วนตัว หากพบเห็นการใช้ความรุนแรง ต้องรีบแจ้งให้หน่วยงานรับทราบถึงปัญหา เพื่อนำไปสู่การยุติความรุนแรงได้อย่างรวดเร็วที่สุด
เพราะปัญหาการใช้ความรุนแรงคือ ‘อาชญากรรม’ ที่สร้างบาดแผลในใจ ความบอบช้ำทางกาย รวมถึงพรากชีวิตของผู้หญิงหลายคนต่อปี การใช้ความรุนแรงจึงไม่ใช่เรื่องปกติ เรื่องปัจเจก หรือเรื่องเล็กๆ แต่เป็นปัญหาใหญ่ที่สังคมและภาครัฐต้องตื่นตัวและช่วยกันแก้ไขปัญหานี้ เพื่อไม่ให้มีเหยื่อซึ่งได้รับความรุนแรงจากคนรักเพิ่มมากขึ้น
Tags: Womens Letters, ผู้หญิงถึงทุกคน, เหยื่อความรุนแรง, มูลนิธิหญิงชายก้าวไกล, Sexual Violence, Gender, ผู้หญิง