แม้สังคมไทยจะเปิดกว้างเรื่องความหลากหลายทางเพศมากขึ้น อีกทั้งร่างกฎหมายสมรสเท่าเทียมก็เพิ่งผ่านวาระแรกไปเมื่อเดือนเมษายนที่ผ่านมา แต่ก็ไม่ได้หมายความว่าความไม่เท่าเทียมต่างๆ ซึ่งเกิดขึ้นกับกลุ่มผู้มีความหลากหลายทางเพศจะมลายหายไปจนหมดสิ้น ซึ่งหนึ่งใน LGBTQIA+ ที่ได้รับผลกระทบเชิงลบจากปัญหานี้คือกลุ่มคนข้ามเพศ (Transgender)

ปัจจุบันผู้หญิงข้ามเพศ (Transwoman) ไม่ได้รับการยอมรับจากคนบางกลุ่มว่าเป็น ‘ผู้หญิง’ อีกทั้งยังโดนตีตราและด้อยค่าด้วยค่านิยมอันล้าสมัย รวมถึงถูกเลือกปฏิบัติเพราะมาตรฐานความงาม (Beauty Standard) ทำให้คนที่หน้าตาดีมักได้รับสิ่งที่เหนือกว่า ยิ่งไปกว่านั้น กระบวนการและข้อกฎหมายยังคงไม่ยุติธรรมสำหรับผู้หญิงข้ามเพศ สิ่งเหล่านี้คือความไม่เท่าเทียมที่กดทับพวกเธอมาโดยตลอด

ดังนั้นซีรีส์ผู้หญิงถึงทุกคน (Women’s Letters) จึงอยากมอบพื้นที่ให้ผู้หญิงข้ามเพศได้บอกเล่า ‘สิ่งที่ผู้หญิง(ข้ามเพศ) คนนี้อยากได้’ จากคนรอบข้าง สังคมภายนอกและภาครัฐ เพื่อแสดงจุดยืนว่า ‘Transwomen Are Women’ ผ่านการพูดคุยกับ เปเปอร์-พรีดา นามวงศ์ ผู้หญิงข้ามเพศ วัย 22 ปี ซึ่งปัจจุบันทำงานเป็นอินฟลูเอนเซอร์ แต่กว่าจะมาถึงจุดนี้ การเป็นผู้หญิงข้ามเพศในสังคมไทยก็มิใช่เรื่องง่ายเลย

คุณเริ่มนิยามตัวเองว่าเป็น ‘ผู้หญิงข้ามเพศ’ หรือ ‘Transwoman’ ตั้งแต่เมื่อไร 

ผู้หญิงข้ามเพศหรือ Transwoman คือคนที่อยากเป็นผู้หญิง และผ่านการผ่าตัดแปลงเพศจากชายเป็นหญิงเรียบร้อยแล้ว ซึ่งเราเริ่มนิยามตัวเองว่าเป็นผู้หญิงข้ามเพศหลังจากผ่าตัดแปลงเพศ ถ้าคนต่างชาติเข้ามาถามเรื่องอัตลักษณ์ทางเพศ เราก็จะบอกว่า I’m trans ไปตามตรง

‘ผู้หญิงข้ามเพศ’ คือ ‘ผู้หญิง’ ไหม 

เอาจริงๆ เรื่องนี้เรารู้สึกว่าไม่ว่าจะเป็นเพศอะไร นิยามตัวเองว่าอย่างไร หรือคนอื่นจะมองว่า ‘Transwoman เป็นผู้หญิง’ หรือไม่ สุดท้ายคนอื่นก็ควรจะให้เกียรติตัวเองในฐานะมนุษย์คนหนึ่งอยู่ดี ไม่ใช่แค่ trans แต่อัตลักษณ์ทางเพศอื่นๆ ในกลุ่ม LGBTQIA+ ก็ควรได้รับการปฏิบัติที่ดีเหมือนคนปกติทั่วไป แม้แต่ผู้หญิงและผู้ชายก็ควรปฏิบัติต่อกันอย่างเหมาะสม เพราะสิ่งนี้คือมารยาททางสังคม

การเปิดเผยว่าเป็น LGBTQIA+ นำมาซึ่งผลกระทบเชิงลบหรือไม่

เราไม่ได้เปิดตัว (Come Out) โดยการประกาศต่อสังคมวงกว้าง แต่คนรอบข้างส่วนใหญ่ทราบอยู่แล้วว่าเราเป็น Transwoman เพราะเราก็เป็นตัวเองในแบบที่อยากเป็น ซึ่งการเปิดเผยว่าเป็น LGBTQIA+ ทำให้เราโดนล้อมาตั้งแต่เด็ก ช่วงแรกโดนล้อจากเพื่อนที่โรงเรียน ญาติ และลูกพี่ลูกน้อง เนื่องจากเขาเห็นเราเล่นกับผู้หญิง 

แน่นอนว่าเรารู้สึกไม่ดี และไม่ชอบการโดนล้อ เพราะตอนเด็กๆ เราไม่รู้ว่า ‘สิ่งที่เราเป็น’ มันคืออะไร เราแค่อยากเป็นผู้หญิง และอยากอยู่กับผู้หญิง เมื่อก่อนจึงเลือกที่จะตอบโต้อีกฝ่าย เพราะไม่เข้าใจว่าทำไมเขาต้องล้อเช่นนั้น คำล้อเหล่านั้นส่งผลกระทบหนักมาก ทำให้เกิดบาดแผลในใจ แต่เมื่อโตขึ้นก็เข้าใจว่า การถูกเรียกว่า ‘ไอตุ๊ด’ ไม่ใช่คำด่าที่เราต้องเจ็บปวด เพราะเราเป็นตุ๊ดจริงๆ และนั่นคือเพศของเรา เหมือนกับถ้าเราด่าผู้ชายคนอื่นว่าไอผู้ชาย เขาก็ไม่รู้สึกแย่ เพราะมันคือเพศของเขา 

‘การยอมรับจากครอบครัว’ คือสิ่งที่ผู้หญิงข้ามเพศอยากได้หรือไม่

อยากได้แน่นอน เพราะสถาบันครอบครัวสำคัญมาก เด็กจะโตมาเป็นอย่างไรนั้นขึ้นอยู่กับการเลี้ยงดูของครอบครัว พ่อแม่หรือผู้ปกครองจึงควรมอบความรัก และเข้าใจในสิ่งที่ลูกเป็น เพราะการเป็น LGBTQIA+ ไม่ใช่โรคภัยที่ต้องรักษา ทั้งยังเปลี่ยนแปลงตามความต้องการผู้อื่นไม่ได้ ดังนั้น พ่อแม่เพียงแค่ต้องยอมรับในตัวลูก หากได้รับการยอมรับจากครอบครัว เราก็ไม่จำเป็นต้องแคร์สายตาใคร 

แล้วครอบครัวให้การยอมรับและสนับสนุนคุณในการเป็น Transwoman ไหม

ตอนเด็กๆ เราไม่กล้าบอกพ่อแม่อย่างตรงไปตรงมา เพราะไม่รู้ว่าถ้า Come Out แล้วเขาจะรับได้ไหม รวมถึงเราไม่อยากให้คนอื่นล้อว่าเป็นตุ๊ดเพราะกลัวพ่อรู้ แต่ครอบครัวก็เริ่มมองออกมากขึ้นเรื่อยๆ ว่าเราเป็น LGBTQIA+ เพราะพ่อเคยจับได้ว่าเราใส่เสื้อชั้นในไปโรงเรียน แม่เคยเห็นเราใส่ส้นสูงที่บ้าน และอีกหลายๆ เหตุการณ์ที่เราไม่ได้ปิดบัง 

ส่วนใหญ่จะพูดคุยเรื่องนี้กับแม่มากกว่า ซึ่งแม่เปรียบเหมือนสะพานที่ช่วยคุยกับพ่อให้อีกทีหนึ่ง เพราะเมื่อก่อนพ่อดุมาก ด้วยความที่เป็นครอบครัวคนจีน รวมถึงค่อนข้างเกลียดตุ๊ดเกลียดกะเทย เนื่องจากในสมัยก่อน ถ้าเป็น LGBTQIA+ จะทำงานได้ไม่กี่อาชีพ เช่น ช่างแต่งหน้า ช่างทำผม หรือสไตลิสต์ ซึ่งมีรายได้ไม่มั่นคงเท่าการทำธุรกิจของครอบครัว

ความจริงแล้ว พ่อแค่เป็นห่วงความเป็นอยู่ของเราในอนาคต เปเปอร์จึงพยายามทำให้พ่อเห็นว่า เราอยู่ในสังคมนี้ได้ คนอื่นชื่นชมเรา และไม่ได้เกลียดชัง Transwoman อย่างที่เขากังวล หลังจากพูดคุยปรับความเข้าใจกัน พ่อแม่ก็ยอมรับในสิ่งที่เราเป็น ต่อให้คนอื่นจะล้อหรือด่าเราอย่างไร เราก็ไม่ได้สนใจหรือกลัวอะไรแล้ว เพราะคนที่เราแคร์ที่สุดคือคนในครอบครัว

Transwoman ต้องเผชิญกับความคาดหวังจากสังคมแบบไหนบ้าง 

สังคมไทย เป็นสังคมที่หล่อหลอมความคิดว่า ‘ถ้าจะเป็น LGBTQIA+ ก็ต้องเก่งเพื่อให้สังคมยอมรับ’ ผู้หญิงข้ามเพศจึงถูกคาดหวังให้ประสบความสำเร็จ เช่น เพื่อนของเปเปอร์ไม่กล้าบอกครอบครัวว่าเป็น Transwoman แต่อยากให้พ่อแม่ยอมรับ เขาจึงพยายามเรียนหนังสือให้เก่งเพื่อพิสูจน์ตัวเอง ทั้งที่จริงๆ แล้ว LGBTQIA+ ไม่จำเป็นต้องพิสูจน์ตัวเองเพื่อใคร ไม่จำเป็นต้องเก่งหรือประสบความสำเร็จ เพราะทุกคนควรมีความรับผิดชอบในชีวิตตัวเอง และต่อสังคมอยู่แล้ว ซึ่งไม่ได้ขึ้นอยู่กับว่าเป็นเพศอะไร อีกทั้งความคาดหวังนั้นอาจส่งผลให้เกิดความเครียดสะสมตามมา

ถ้าผู้หญิงข้ามเพศไม่อยากทำตามความคาดหวังของสังคมล่ะ

ในมุมของเรา ถ้าไม่อยากทำ เราก็จะไม่ทำ เพราะเราไม่จำเป็นต้องทำในสิ่งที่ตัวเองไม่ต้องการ เพื่อให้คนอื่นสบายใจ นี่คือชีวิตเรา นี่คือตัวเรา ขอแค่ได้รับการยอมรับจากครอบครัวก็เพียงพอแล้ว เราไม่ได้สนใจว่า สังคมจะพูดอะไรกับเรา

ความเจ็บปวดของการเป็นผู้หญิงข้ามเพศในสังคมไทยคืออะไร 

การกล่าวโทษ LGBTQIA+ ผ่านการนำเสนอข่าว ถ้าผู้หญิงหรือผู้ชายทำผิด จะพาดหัวข่าวด้วยชื่อของผู้กระทำผิด เช่น นางสาว A ขโมยเงิน หรือนาย B เป็นโจร ต่างจากการนำเสนอข่าวเกี่ยวกับผู้หญิงข้ามเพศ ซึ่งพาดหัวข่าวว่า ‘กะเทยโหด’ จับผู้ชายไปทรมาน ซึ่งทำให้ภาพลักษณ์ของ LGBTQIA+ ยังคงไม่เปลี่ยนไปในสังคมไทย

ภาพจำของ ‘ผู้หญิงข้ามเพศ’ ที่สังคมสร้างขึ้นเป็นอย่างไร 

ในละครไทยส่วนใหญ่ ผู้หญิงข้ามเพศ เกย์ กะเทย หรือ LGBTQIA+ ยังต้องรับบทเป็นตัวตลก ทำไม LGBTQIA+ จึงไม่ได้รับบทบาทอื่นๆ บ้าง คนที่รับชมสื่อแบบนี้ก็จะปลูกฝังค่านิยมที่บิดเบี้ยวต่อไปให้คนรุ่นหลัง เช่น สอนลูกว่าอย่าเป็นกะเทย กะเทยโหดมาก หรือกะเทยประกอบอาชีพอื่นไม่ได้ นอกจากช่างแต่งหน้า 

สิ่งเหล่านี้ถือเป็นการสร้างภาพจำแบบเหมารวมผ่านสื่อบันเทิงไทย ทั้งที่ความจริงแล้ว LGBTQIA+ มีหลากมิติหลายรูปแบบ ไม่ต่างจากหญิงชายที่มีทั้งคนดีและไม่ดี อีกทั้งยังมีเส้นทางของตัวเอง และสามารถประกอบอาชีพต่างๆ ได้มากมาย การสร้างและส่งต่อภาพจำผิดๆ เช่นนี้มาเป็นระยะเวลานาน ทำให้สังคมไทยไม่เคยยอมรับ LGBTQIA+ จริงๆ เสียที

สิทธิในการเข้าทำงานของผู้หญิงข้ามเพศเป็นเช่นไร

ในอดีต สังคมไทยยังไม่ได้เปิดกว้างขนาดนี้ แต่ในปัจจุบัน ผู้หญิงข้ามเพศโดนกดทับสิทธิในการเข้าทำงานน้อยลง แต่ยังคงมีบางองค์กรที่ล้าสมัยหรือหัวโบราณ โดยไม่คำนึงถึงความเท่าเทียมทางเพศ อย่างเราเองเคยมีผลงานการแสดงซีรีส์มาก่อน เราก็อยากให้ผู้หญิงข้ามเพศ และ LGBTQIA+ ได้รับโอกาสเป็นนักแสดงนำ หรือแสดงบทบาทอื่นๆ ที่ไม่ใช่แค่ตัวตลกหรือตัวละครรอง

เคยถูกเลือกปฏิบัติจากผู้อื่น เพียงเพราะเป็น Transwoman หรือไม่ 

เราไม่ค่อยเจอการเลือกปฏิบัติ ส่วนหนึ่งอาจเป็นเพราะมาตรฐานความงาม (Beauty Standard) ปฏิเสธไม่ได้ว่าสิทธิพิเศษที่ได้รับจากความงาม (Beauty Privillege) ยังคงเกิดขึ้นในกลุ่มคนข้ามเพศ (Transgender) ทำให้คนในคอมมูนิตี้ได้รับสิ่งต่างๆ อย่างไม่เท่าเทียม

เพื่อนของเปเปอร์ซึ่งเป็น Transwoman เคยถูกเลือกปฏิบัติจากผู้อื่น โดยเรากับเพื่อนคนนั้นยืนต่อคิวเพื่อเข้างานอีเวนต์งานหนึ่ง แต่การ์ดรักษาความปลอดภัยอนุญาตให้เราเข้างานได้คนเดียว พร้อมพูดว่า “คนสวยเข้าไปก่อนเลย” ในขณะที่เพื่อนกลับโดนตรวจสอบหลายอย่าง และไม่ได้รับอนุญาตให้เข้าร่วมงาน ซึ่งการ์ดไม่ได้บอกเหตุผลที่ทำแบบนั้น เราจึงไม่เข้าใจว่าทำไมเพื่อนเข้าร่วมงานไม่ได้ ทั้งๆ ที่พวกเราก็มาด้วยกัน ซึ่งก็คงไม่มีใครเห็นด้วยหากต้องเจอเหตุการณ์แบบนี้ แต่สุดท้ายเราก็ทำอะไรไม่ได้ นอกจากเดินออกมาจากงานนั้น นี่คือหนึ่งในตัวอย่างของ Beauty Privillege ที่เกิดขึ้นในสังคมไทย

เล่าประสบการณ์เทกฮอร์โมนและการผ่าตัดแปลงเพศให้ฟังหน่อย

เริ่มเทกฮอร์โมนตั้งแต่ช่วงมัธยม คิดว่าวิธีนี้น่าจะเป็นวิธีที่ดี เพราะเห็นรุ่นพี่ LGBTQIA+ สวยขึ้นจากการเทคฮอร์โมน นอกจากนี้ ในช่วงมัธยมยังมีความคิดอยากผ่าตัดแปลงเพศมาโดยตลอด จึงตัดสินใจผ่าตัดก่อนเริ่มเรียนมหาวิทยาลัย ซึ่งเปเปอร์ได้รับส่วนลดในการผ่าตัดจากการเป็นพรีเซนเตอร์ของคลินิก แต่ค่าใช้จ่ายราคาเต็มน่าจะประมาณ 6 แสนบาท ซึ่งเป็นราคาที่สูงมาก ทำให้หลายๆ คนที่ต้องการผ่าตัดแปลงเพศไม่สามารถเข้าถึงบริการทางการแพทย์นี้ เนื่องจากมีเงินไม่เพียงพอ การข้ามเพศจึงอาจทำได้ยากขึ้น

หลังจากผ่าตัดแปลงเพศ เราเดินไม่ได้หนึ่งเดือน ทำให้ผอมและขาลีบมาก แต่ผลลัพธ์ก็ออกมาดี คิดว่าตัวเองเลือกไม่ผิด ทุกวันนี้ก็ใช้ชีวิตปกติ ไม่ต้องดูแลหรือระวังแผลเป็นพิเศษแล้ว จริงๆ ตอนแรกก็รู้สึกกลัว แต่เราอยากทำมากกว่า มันเป็นความเจ็บที่เรายอมเจ็บ เรารู้ว่าสักวันหนึ่งก็ต้องเจอเหตุการณ์แบบนี้ เพราะฉะนั้น ทำทุกอย่างตามที่ใจต้องการในช่วงชีวิตที่ยังสามารถทำได้ดีกว่า ต่อให้ย้อนเวลากลับไปได้อีกครั้ง เปเปอร์ก็จะตัดสินใจทำเหมือนเดิม เพราะเราอยากเป็นผู้หญิง เรารู้สึกว่านี่คือตัวตนของเรา

Transwoman เข้าถึงบริการทางสุขภาพอย่างเหมาะสมหรือไม่ 

คิดว่าไม่เหมาะสม การเข้าถึงข้อมูลนั้นยากลำบากตั้งแต่เรื่องเทคฮอร์โมน เนื่องจากตอนนั้นไม่มีข้อมูลที่น่าเชื่อถือ มีแต่เว็บไซต์ยาคุมลาวหรือฮอร์โมนม้า ผู้หญิงข้ามเพศจึงต้องไขว่คว้าหาข้อมูลด้วยตนเอง

เราเคยกินยาคุมเกินขนาด เพราะคิดว่าการกินยาคุมปริมาณมากจะทำให้สวยขึ้นอย่างรวดเร็ว ส่งผลให้สมองล้า พูดจาไม่รู้เรื่อง และไม่เข้าใจที่คนอื่นพูด จนคุณแม่ต้องพาไปโรงพยาบาล เราจึงรู้วิธีการรับประทานยาคุมที่ถูกต้องและปลอดภัย ซึ่งเหตุการณ์นั้นส่งผลกระทบต่อร่างกายมาจนถึงทุกวันนี้ เราจะรู้สึกสมองล้าทุกครั้งที่พักผ่อนไม่เพียงพอ ดังนั้น ถ้าวิชาสุขศึกษามีข้อมูลเหล่านี้ หรือคุณครูสอนเรื่องนี้ในโรงเรียนก็ถือเป็นเรื่องที่ดี เพราะกลุ่มเด็ก LGBTQIA+ จะได้ไม่เทคยาคุมแบบผิดวิธี 

อีกทั้งตอนที่เปเปอร์ตัดสินใจผ่าตัดแปลงเพศ ข้อมูลเกี่ยวกับเรื่องนี้มีน้อยมาก และคนที่เคยผ่าตัดก็มีจำนวนน้อยมากเช่นกัน มันคงจะดีกว่านี้ ถ้าภาครัฐหรือโรงพยาบาลเผยแพร่ข้อมูลที่ละเอียด ถูกต้อง รวมถึงกระจายข้อมูลเป็นวงกว้าง

มองเรื่อง ‘คำนำหน้านาม’ ของผู้หญิงข้ามเพศอย่างไร ที่วันนี้เป็นข้อถกเถียงขึ้นมา

อยากให้ผู้หญิงข้ามเพศสามารถเปลี่ยน ‘คำนำหน้านาม’ ตามอัตลักษณ์ทางเพศของตนเองได้ ประเด็นนี้นับเป็นสิ่งที่สะท้อนความเจริญของประเทศ เพราะเพื่อนสัญชาติอังกฤษซึ่งเป็น Transwoman สามารถใช้ ‘Miss’ เป็นคำนำหน้าชื่อในบัตรประชาชนได้แล้ว 

คำนำหน้าชื่อที่ไม่ตรงตามอัตลักษณ์ทางเพศ ส่งผลให้เกิดปัญหาในการเดินทางข้ามประเทศ และการทำธุรกรรมต่างๆ ซึ่งเป็นหนึ่งในคุณภาพชีวิตที่ประชาชนควรจะได้รับ ล่าสุดเราเดินทางไปฮ่องกง เตรียมข้อมูลทุกอย่างครบถ้วน แต่กลับไม่ผ่านการคัดกรองของ ตม. (ตำรวจตรวจคนเข้าเมือง) เพราะคำนำหน้าชื่อในบัตรประชาชนซึ่งเป็น ‘Mister’ นั้นขัดแย้งกับบุคลิกและลักษณะภายนอกของเรา ในขณะที่แม่ซึ่งเดินทางไปด้วยกันกลับผ่านการตรวจสอบจากเจ้าหน้าที่

ส่วนประเด็นคำนำหน้าชื่อที่แตกต่างกันระหว่างคุณปอย (ตรีชฎา หงษ์หยก) กับผู้หญิงข้ามเพศคนอื่นๆ เปเปอร์มองว่าเรื่องนี้เกี่ยวข้องกับ Beauty Privilege ในสังคมไทย ซึ่งเป็นเรื่องปกติที่ไม่ควรปกติ เนื่องจากคนไทยยังยึดติดกับ Beauty Standard ทำให้คนที่หน้าตาตรงตามมาตรฐานความงามของสังคมนั้นได้รับสิ่งที่ดีหรือเหนือกว่าคนอื่น อย่างไรก็ตาม ปัญหานี้ไม่ได้เกิดขึ้นเฉพาะในกลุ่ม Trans จึงจำเป็นต้องแก้ไขค่านิยมของสังคมในวงกว้าง

จากคำกล่าวที่ว่า “หากผู้หญิงข้ามเพศได้รับอนุญาตให้เปลี่ยนคำนำหน้านามเป็น ‘นางสาว’ ผู้หญิงข้ามเพศอาจหลอกลวงผู้ชาย” คุณมีความเห็นต่อเรื่องนี้อย่างไร

ถามว่าเรื่องแบบนั้นเกิดขึ้นได้ไหม ก็อาจเกิดขึ้นได้ แต่มันเป็นเพียงเรื่องปัจเจกเท่านั้น ไม่ใช่ผู้หญิงข้ามเพศทุกคนที่จะต้องการเปลี่ยนคำนำหน้าชื่อเพื่อทำเช่นนั้น แม้แต่เพศสภาพอื่นยังมีทั้งคนดีและไม่ดีปะปนกัน จึงไม่ควรอ้างเหตุผลนี้เพื่อคัดค้านการเปลี่ยนคำนำหน้าชื่อตามอัตลักษณ์ทางเพศ

อยากให้ภาครัฐแก้ไขปรับเปลี่ยนกฎหมายเพื่อ Transwoman อย่างไรบ้าง

อยากให้ภาครัฐปรับเปลี่ยนกฎหมายเกี่ยวกับ ‘คำนำหน้านาม’ โดยยึดตามอัตลักษณ์ทางเพศ เพราะเรามองว่าไม่มีเหตุผลอะไรที่จะไม่เปลี่ยน มันเป็นสิ่งง่ายๆ ที่ภาครัฐสามารถช่วยให้ Trans ดำเนินชีวิตได้สะดวกมากขึ้น และทำให้ประเทศของเราเจริญขึ้นเช่นกัน 

นอกจากนี้ กระบวนการทางกฎหมายเกี่ยวกับคดีล่วงละเมิดทางเพศ และการข่มขืนยังคงเป็นปัญหาสำหรับ Transwoman โดยกฎหมายไทยควรคุ้มครองผู้หญิงข้ามเพศมากกว่านี้ เนื่องจากเมื่อผู้หญิงข้ามเพศแจ้งความว่าโดนข่มขืน ตำรวจกลับบอกเหยื่อว่า “ก็ยอมๆ เขาไปสิ” อาจเพราะเจ้าหน้าที่ตำรวจมีอายุมาก และยังยึดถือความเชื่อเก่าๆ ซึ่งมองว่า ผู้หญิงข้ามเพศชอบอ่อยผู้ชายก่อน หรือตั้งคำถามว่า Transwoman สมยอมเองหรือเปล่า เราไม่เข้าใจว่า ทำไมคดีล่วงละเมิดทางเพศที่เกิดขึ้นกับกลุ่ม LGBTQIA+ จึงไม่ใช่เรื่องใหญ่ในสายตาของเจ้าหน้าที่รัฐ

ร่างกฎหมายสมรสเท่าเทียมผ่านวาระแรกแล้ว ในฐานะ ‘ผู้หญิงข้ามเพศ’ คุณรู้สึกอย่างไรบ้าง

ตอนที่มีประกาศว่าร่างกฎหมายสมรสเท่าเทียมผ่านวาระแรกแล้ว ทั้งตัวเราและเพื่อนๆ LGBTQIA+ ดีใจกันมาก เพราะสมรสเท่าเทียมเป็นกฎหมายพื้นฐานของประเทศชาติที่ควรยกระดับมากขึ้น โดยสมรสเท่าเทียมไม่ได้เกี่ยวเนื่องกับการสมรสเพียงอย่างเดียว แต่ยังเกี่ยวข้องกับสิทธิต่างๆ ในฐานะคู่สมรส เช่น สิทธิในการจัดทรัพย์สินทรัพย์ร่วมกัน สิทธิในการเซ็นยินยอมเพื่อรับการรักษาพยาบาล และสิทธิในการรับมรดก เป็นต้น

อย่างไรก็ตาม ภาครัฐควรแก้ไขกฎหมายหมวดครอบครัว โดยเพิ่มคำว่า ‘บุพการีลำดับแรก’ เพื่อรับรองสิทธิในการก่อตั้งครอบครัวและดูแลบุตรของเพศหลากหลาย ในเมื่อการสมรสไม่ได้จำกัดเพศแล้ว คู่รัก LGBTQIA+ ก็ควรได้รับสิทธิในการสร้างครอบครัวอย่างเหมาะสม บางครอบครัวอาจมีพ่อสองคน แม่สองคน หรือคำนิยามอื่นๆ ซึ่งขึ้นอยู่กับการตกลงของแต่ละครอบครัว 

เพราะกฎหมายควรปรับเปลี่ยนให้สอดคล้องกับสังคมที่เปลี่ยนไป

Fact Box

  • เมื่อหลายปีที่แล้ว เปเปอร์ พีรดาเคยได้รับฉายาว่า ‘นางฟ้าอัสสัมชัญ’ ปัจจุบันได้รับความนิยมว่าเป็น ‘ขวัญใจแซฟฟิก’ ซึ่งเธอยินดีและเข้าใจ เพราะมองว่าเป็นความลื่นไหลทางเพศ 
  • ในฐานะผู้หญิงข้ามเพศ ‘การให้เกียรติซึ่งกันและกัน’ คือสิ่งที่เปเปอร์อยากบอกกับสังคมมากที่สุด
  • การเทกฮอร์โมนคือการรับ ‘ฮอร์โมนเพศตรงข้าม’ หรือ ‘ฮอร์โมนเพศที่ต้องการ’ เข้าสู่ร่างกายของตนเอง เพื่อให้สรีระร่างกายเกิดการเปลี่ยนแปลงตามเพศที่ต้องการ
Tags: , , , , , , , ,