1.
“เขาคือนักการเมืองที่มีคนชอบมากสุดในโลกนี้” – บารัก โอบามา อดีตประธานาธิบดีสหรัฐอเมริกา
50.9% – 49.1% คือตัวเลขคะแนนเสียงที่ประชาชาติบราซิลโหวตให้ ลูอิส อีนาซียู ลูลา ดา ซิลวา (Luiz Inácio Lula da Silva) หรือ ลูลา เอาชนะ ฌาอีร์ โบลโซนารู (Jair Bolsonaro) ประธานาธิบดีคนปัจจุบัน คะแนนฉิวเฉียด แม้สังคมบราซิลจะดูวุ่นวาย เพราะมีกลุ่มขวาจัดไม่ยอมรับผล ปิดถนนวุ่นวาย แต่พลันที่โบลโซนารูประกาศยอมรับการเปลี่ยนถ่ายอำนาจ ความลุ้นระทึก ไม่เพียงเฉพาะในบราซิล แต่ยังรวมถึงทั้งโลกก็เบาใจลงได้ในระดับหนึ่ง
เนื่องจากก่อนหน้านี้ ตัวประธานาธิบดีพูดย้ำเสมอว่าจะไม่ยอมรับผลการเลือกตั้ง เพราะอาจมีการโกง ไม่ยอมเปลี่ยนถ่ายอำนาจ และอาจใช้กำลังสารวัตรทหาร ซึ่งเป็นหน่วยงานที่มีอำนาจมาตั้งแต่สมัยทหารปกครองประเทศ ในการปราบประชาชนเพื่อจะได้อยู่ต่อ
อย่างไรก็ดี เจตจำนงค์ของประชาชนบราซิลและชนชั้นนำดูเหมือนจะลงตัว พวกเขาตัดสินใจเลือกเส้นทางแห่งรัฐธรรมนูญ ไปตามกระบวนการประชาธิปไตย แม้โบลโซนารูจะไม่ยอมรับความพ่ายแพ้ แต่เขาก็ยอมส่งต่ออำนาจที่ยิ่งใหญ่นี้แก่ลูลา
ว่าที่ประธานาธิบดีคนใหม่ หน้าเก่า มีชีวิตที่โลดโผนน่าสนใจ เส้นทางนักการเมืองของเขามีสีสันมากมายเป็นอย่างยิ่ง มีทั้งคนนิยม และคนไม่ชอบ แต่เขาคือผู้นำพาคนนับร้อยล้านคนในบราซิลให้หลุดพ้นความยากจน
จะมีมนุษย์คนใดที่สร้างความเปลี่ยนแปลงได้ถึงขนาดนี้ สมดังที่โอบามากล่าวไว้ เขาคือประธานาธิบดีซึ่งมีคนนิยมมากสุดในโลกเบี้ยวๆ ใบนี้
2.
คงไม่มีใครคิดว่าลูกชาวนายากจน เส้นทางชีวิตจะพลิกผันได้ขนาดนี้ ลูลามีชีวิตลำเค็ญแต่เด็ก ครอบครัวไม่เคยได้กินอิ่ม การศึกษาไม่มีวันได้รับอย่างเต็มที่ เด็กน้อยต้องออกจากโรงเรียนตั้งแต่ยังเล็ก กว่าจะเริ่มอ่านหนังสือได้ ก็อายุ 10 ขวบไปแล้ว และเส้นทางต่อจากนั้นของหนูน้อยคนนี้ คือเริ่มหางานทำ
ช่วงเวลานั้น แม่พาเขาและพี่น้องมาอยู่ห้องเช่าซอมซ่อหลังบาร์เหล้า ตอนกลางคืน พวกขี้เมามักจะมาปลดทุกข์และอาเจียนแถวนั้น และเมื่อฝนตก หนูและกบก็จะเต็มถนน
นั่นคือภูมิหลังชีวิตของลูลา ลูลาไม่ค่อยได้พบพ่อผู้ติดเหล้า เหมือนกับคนจนหลายล้านคนทั่วโลกที่มีแต่ความฝัน แต่ไร้ซึ่งหนทาง ก่อนจบลงที่ความเมา กรึ่มเพื่อคลายใจ สุดท้ายพ่อของลูลาก็ตายเพราะพิษสุราเรื้อรัง
ขณะที่เด็กคนอื่นฝันถึงการเรียนไปให้ไกล และมีชีวิตดังที่คาดหวัง แต่ลูลาเริ่มหาเงินจากการขัดรองเท้า ก่อนย้ายไปทำงานในโรงงาน เมื่ออายุ 17 ปี ลูลาเสียนิ้วก้อยมือซ้ายจากอุบัติเหตุในโรงงาน เป็นใบประกาศนียบัตรที่ประทับด้วยเลือดและความเจ็บปวด มันคือบาดแผลที่ย้ำเตือนความต้อยต่ำของมนุษย์
ตอนที่นิ้วก้อยขาด เขารีบไปโรงพยาบาลเพื่อรักษา ปรากฏว่าชีวิตคนจนยังถูกซ้ำเติมจากสังคมสุดเฮงซวย ไม่มีใครสนใจแรงงานประสบอุบัติเหตุ เขาต้องไปโรงพยาบาลหลายแห่งในสภาพบาดเจ็บ กว่าจะมีคนสนใจ และให้ความกรุณารักษาให้
ชะตากรรมของลูลายังไม่จบสิ้นเพียงเท่านี้ ดูเหมือนพระเจ้าจะทอดทิ้งเขาอย่างหนัก ต่อมาลูลาในวัยหนุ่มสูญเสียภรรยาที่คบกันมา 2 ปีด้วยโรคตับอักเสบ ขณะอุ้มท้องลูกชายคนแรก ซึ่งมีอายุครรภ์ 8 เดือน เหตุการณ์นี้สร้างความบอบช้ำให้กับลูลาอย่างมาก
อย่างไรก็ดี แม้จะเจอเรื่องเลวร้ายมากมาย แรงงานหนุ่มลูลาในขณะนั้นก็ยังสนใจฟุตบอลมากกว่าการเมือง จนเมื่อน้องชายของเขาถูกลักพาตัว และถูกรัฐทรมานในช่วงเผด็จการครองเมือง นั่นจึงเป็นฟางเส้นสุดท้าย ที่ทำให้ลูลาบอกว่าพอกันที!
เหตุการณ์เหล่านี้ หล่อหลอมจนกลายเป็นจุดเปลี่ยนสำคัญที่ทำให้ลูลาเริ่มสนใจการเมือง เขาอยากให้ชีวิตของกรรมกรดีขึ้นกว่านี้ ความโหดร้ายที่พบเจอ ต่อเติมประกายไฟแห่งความหวังให้กับแรงงานหนุ่มอย่างมาก
หลังจากอดกลั้นกับทุกอย่างมามากแล้ว ราวกับเขื่อนที่จุน้ำแห่งความไม่พอใจ ทั้งเงินเดือนอันน้อยนิด สิทธิที่ย่ำแย่ ชีวิตที่สุดเฮงซวย รัฐที่ไม่เหลียวแล แต่ยังเสือกรังแกเพื่อนร่วมชาติ เมื่อทุกอย่างระอุจนระเบิด ราวกับเขื่อนแตก น้ำไหลบ่า คนตาสว่าง เขาไม่ใช่คนเดิมอีกต่อไป สุดท้ายมันได้ผลักดันลูลาในวัย 25 ปี เข้าสู่เส้นทางการเมืองอย่างจริงจัง
เพราะความทุกข์ยากที่เขาต้องเผชิญ เป็นเพราะการเมืองที่เล่นกันอยู่ไม่กี่คน สร้างความมั่งคั่งไม่กี่ราย แต่ทอดทิ้งเพื่อนร่วมชาติเป็นจำนวนมากให้เจอความเลวร้ายลำบากนี้ ดังนั้น ลูลาจึงตั้งใจว่าต้องทำให้ชีวิตแรงงานดีกว่านี้ให้ได้ ไม่มีมนุษย์คนไหนอยากเจ็บปวด ไม่มียาวิเศษแก้ปัญหานี้ได้ แต่เพื่อชีวิตที่ดี ลูลาจึงต้องทุ่มกายทุ่มใจไปกับงานการเมือง ถ้าไม่ต่อรอง ถ้าไม่มีอำนาจ แล้วความเปลี่ยนแปลงจะมาถึงได้อย่างไร
3.
ในปี 1975 บราซิลใต้เงาเผด็จการ ได้พบกับผู้นำสหภาพแรงงานเหล็กคนใหม่ ลูลาได้รับการเลือกจากเพื่อนร่วมงานนับแสนคน สหภาพจากองค์กรที่เป็นมิตรกับรัฐบาลอำนาจนิยม ก็ค่อยๆ แปรสภาพสู่กลุ่มการเมืองอิสระ และถอยห่างจากเผด็จการ ลูลาเริ่มพาสหภาพก่อการประท้วงหยุดงาน ท้าทายรัฐบาลทหาร หลังจากนั้น 5 ปี ลูลาและเพื่อนร่วมอุดมการณ์ก่อตั้งพรรคแรงงาน นับเป็นครั้งแรกในประเทศนี้ที่มีพรรคสังคมนิยมเกิดขึ้น
พรรคแรงงานแห่งนี้รวมพลังคนจากสหภาพ ปัญญาชน ศิลปิน คนหนุ่มสาวผู้มีแนวคิดเสรีนิยม ทั้งผู้ปฏิบัติและนักทฤษฎี ซึ่งกลายเป็นพลังที่ถาโถมสั่นคลอนระบอบเผด็จการ และทำให้คนจนจำนวนมากในบราซิลเล็งเห็นความหวัง และเชื่อว่าตนเองมีชีวิตที่ดีได้ เพราะคนที่เหมือนตนเอง เดินเข้าสู่เส้นทางการเมือง และบอกว่าจะทำให้คนจนมีชีวิตที่ดีขึ้น
แต่เส้นทางไม่ง่ายดังที่คิด เหมือนกับชีวิตของลูลาที่ต้องพบเจออุปสรรคและความลำบากมากมายตั้งแต่เด็ก เขาลงสนามเลือกตั้ง และบอกกับประชาชนว่าเขาพร้อมเป็นประธานาธิบดี แต่ก็ไม่ชนะถึง 3 ครั้งด้วยกัน แตกต่างจากโบลโซนารู ที่ถอดเครื่องแบบทหารมาเล่นการเมือง และชนะเลือกตั้งเสมอ เพราะครองใจชนชั้นนำ
อย่างไรก็ดี ทุกความพ่ายแพ้ล้วนคือบทเรียนที่ต้องถอดเสมอ ลูลารู้ดีว่า หากจะชนะเลือกตั้งได้ เขาต้องประสานแนวร่วมกับส่วนอื่นๆ ในสังคม การทรนงท้าทายทางการเมืองดูจะเป็นเรื่องยากที่จะกุมอำนาจรัฐ ในประเทศที่คนรวยสุดๆ กับคนจนมากๆ เขาค่อยๆ ประสานหาเสียง ออกนโยบายที่เน้นอุดมการณ์ของพรรคแรงงาน แต่ไม่สุดโต่งจนเกินไป
ในปี 2002 ความพยายามครั้งที่ 4 ก็ประสบความสำเร็จ คนบราซิลมีฉันทามติ ลูลา เด็กยากจนที่ต้องเผชิญชีวิตสุดลำบาก เส้นทางที่ขรุขระมากมาย วันนี้เขาเป็นประธานาธิบดี ผู้นำสูงสุดของประเทศ
คนบราซิลนับล้านคนได้เห็นชีวิตหนหลังของลูลา มันทำให้คนจนจำนวนมากไว้ใจ
“ทุกคนคิดว่า ผู้ชายคนนี้เหมือนเราเลย เขาเจอเรื่องเลวร้ายแบบเดียวกับที่พวกเราเจอเลย”
ประสบการณ์ร่วมนี้ ทำให้บราซิลยอมรับลูกชาวนา แรงงาน กรรมกร อย่างลูลา เข้าสู่อำนาจ ใครจะเชื่อว่าบุตรชายแห่งครอบครัวจนๆ ในอดีต จะมาไกลถึงเพียงนี้ ทุกสายตาจับจ้อง ลมปากแห่งนักการเมืองได้ถูกใจสังคมนี้แล้ว จากนี้ถึงเวลาแห่งการลงมือทำ
4.
บางทีอาจไม่ต้องตอบคำถามว่าลูลาเป็นประธานาธิบดีแบบไหน แต่ในปี 2010 เมื่อเขาลงจากตำแหน่ง ผลโพลในบราซิลแจ้งว่า คนยังนิยมในตัวลูลาถึง 90% นับเป็นนักการเมืองที่มีคนรักอย่างมาก
ลูลาพัฒนาชีวิตความเป็นอยู่ สร้างระบบสาธารณูปโภค สร้างเศรษฐกิจที่เอื้อให้คนนับล้านหลุดพ้นจากความยากจน ทำให้หลายคนได้ลืมตาอ้าปาก ได้ฝันถึงโลกที่ดีกว่า และได้เห็นมันเป็นจริง
ไม่เพียงเท่านั้น เขายังพาบราซิลไปสู่การเป็นผู้เล่นสำคัญในเวทีระดับโลก กลายเป็นรัฐบุรุษในสายตาชาวโลก บราซิลมีศักดิ์ศรีอย่างภาคภูมิ ได้เป็นเจ้าภาพฟุตบอลโลกและเจ้าภาพโอลิมปิก คนในประเทศก็มีชีวิตที่ดีขึ้น ขณะที่ไปเที่ยวต่างประเทศ ก็ไม่อายที่จะบอกว่า “ฉันเป็นคนบราซิล”
อย่างไรก็ดีหาใช่ว่าศัตรูของลูลาจะไม่มี เส้นทางการต่อสู้ที่ชนกับเผด็จการทหาร ศัตรูการเมือง และพวกชนชั้นนำที่ไม่ชอบแนวทางการบริหารงานแบบเอียงซ้ายนั้นไม่ง่าย เพราะนั่นคือการทำให้คนที่กอบโกยขูดรีดเดือดร้อนกว่าเดิม ยังไม่นับภาษีที่ต้องจ่าย และระบบที่ต้องโปร่งใส
หลังลงจากตำแหน่ง ศัตรูของเขาก็ยัดข้อหา และในปี 2018 รัฐบุรุษแห่งบราซิลก็ถูกศาลตัดสินจำคุกในข้อหาเรียกรับสินบน ซึ่งบุคคลที่ดำเนินการเล่นงานเขา ต่างได้รับผลตอบแทนทางการเมืองกันหมด โทษตัดสินจำคุก 9 ปี ทำให้อดีตประธานาธิบดีผู้ยิ่งใหญ่ของบราซิลต้องกลายเป็นนักโทษ
แต่ลูลาเผชิญชีวิตที่โลดโผนมาตั้งแต่เด็ก สู้อย่างไม่ท้อถอยทุกวินาที แม้ไม่มีต้นทุนให้พลาด ให้ทดลอง เขาใช้กายและหัวใจขับเน้นเส้นทางชีวิต มันก็แค่คุก ดังที่มีคนเคยบอกไว้ว่า การติดคุกนั้น ไม่สำคัญว่าจะกี่ปี เราจะติดแค่ 2 วันเท่านั้น คือวันแรกที่เข้าไป กับวันสุดท้ายที่เราออกมา
ช่วงเวลานั้นฝ่ายขวาครองอำนาจ โบลโซนารูสั่งรื้อมรดกหลายอย่างของลูลา ทั้งการทำลายป่าแอมะซอน และเมื่อโควิด-19 ระบาด ผู้นำคนนี้ก็ทำในสิ่งที่ทั้งโลกไม่ทำกันหมด จนทำให้คนบราซิลจำนวนมากต้องตายจากวิกฤตนี้ ยังไม่นับความคลั่งเพ้อ และพูดจากระแหนะกระแหนระบบเลือกตั้งของบราซิลที่เป็นเครื่องนับคะแนน แทนการกากบาท จนมีคนจำนวนหนึ่งไม่เชื่อใจระบบเลือกตั้ง ส่งผลให้สังคมมีการแบ่งฝักแบ่งฝ่ายอย่างชัดเจน และทุกฝ่ายต่างมีอคติฐานคิดแตกต่างกันแบบคุยกันไม่รู้เรื่อง ซึ่งเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นในประเทศประชาธิปไตยหลายชาติ ถือเป็นบททดสอบของระบอบการเมืองนี้อีกครั้ง
อย่างไรก็ดี ความบ้อท่าและย่ำแย่ของโบลโซนารู ก็ทำให้สังคมบราซิลได้สติ
หลังจากติดคุกไปกว่า 580 วัน ศาลสูงสุดก็พลิกกลับคำตัดสิน เพราะเห็นว่าการพิจารณาลงโทษในเรื่องการเรียกรับสินบนนี้ เป็นไปด้วยอคติ ในเดือนพฤศจิกายน 2019 ลูลาจึงได้รับอิสรภาพ ต่อมาเขาก็ประกาศกร้าวจะลงชิงตำแหน่งประธานาธิบดี ฝ่ายซ้ายและคนที่มีเหตุผลก็หวังให้ลูลาไปยัดเยียดความปราชัยทางการเมืองครั้งแรกให้กับโบลโซนารู
และในที่สุดคนบราซิลก็ทำได้สำเร็จ เอาชนะในระบอบเผด็จการได้อย่างงดงาม ลูลาจึงได้กลับมาเป็นประธานาธิบดีอีกครั้ง และจะเริ่มทำงานในวันที่ 1 มกราคม ปีหน้า ลูลาในวัย 77 ปี ได้บอกนักข่าวตอนรู้ผลเลือกตั้งว่า
“เรากำลังเข้าสู่ช่วงเวลาใหม่ของสันติภาพ ความรัก และความหวัง”
5.
อย่างไรก็ดีการเลือกตั้งครั้งนี้ถือว่าคะแนนฉิวเฉียดมาก ไม่ใช่ว่าคนบราซิลจะปลื้มลูลาอย่างล้นพ้น หลังผลการเลือกตั้งออกมา มีพวกขวาจัดคลั่ง ประกาศปิดถนน ก่อความวุ่นวาย บางคนเรียกร้องให้กองทัพคุมอำนาจ เพราะผลการเลือกตั้งไม่บริสุทธิ์มีการโกง ซึ่งข้อกล่าวหานี้ คือคำโกหกที่ไร้หลักฐานความจริง
ช่วงเวลานั้น ทั้งโลกต่างติดตาม แม้กองทัพยืนยันว่าความวุ่นวายก่อการประท้วงของพวกขวาจัดนี้ เป็นหน้าที่ของตำรวจไปจัดการ ส่งสัญญาณว่า พวกเขาจะไม่ทำอะไรผิดกฎหมาย หรือทะลึ่งทำรัฐประหารให้อายเกียรติศักดิ์แห่งวิชาชีพ จนกระทั่งโบลโซนารูยอมรับการเปลี่ยนผ่าน หลังถูกกดดันจากคนใกล้ตัวและชนชั้นนำ จึงได้โล่งอกกันไปทั้งโลก
การเลือกตั้งที่บราซิล สะท้อนให้เห็นว่า พวกเขาให้ประชาธิปไตยที่อาจเว้าแหว่งชนะ ดีกว่าให้อำนาจนิยมที่ดูน่าเกรงขาม แต่เต็มไปด้วยความไร้ประสิทธิภาพ ได้กุมอำนาจมีชัย นี่คือบทเรียนสำคัญที่เราควรเข้าใจเสียที
ตอนนี้ลูลารู้ดีว่าสภาเต็มไปด้วยกลุ่มการเมืองของโบลโซนารู หลายเมืองใหญ่ๆ มีฐานเสียงที่ไม่ใช่ฝ่ายซ้าย ดังนั้นการบริหารงานครั้งนี้จึงเป็นเรื่องท้าทาย เพราะต้องเผชิญกับกลุ่มต่อต้าน คนไม่เห็นด้วย จึงเป็นเรื่องที่น่าสนใจมากว่า บราซิลจะเป็นอย่างไรต่อไป ภายใต้การกลับมาของลูลา
ว่าที่ประธานาธิบดี ลูกหลานคนจน ผู้เผชิญอุปสรรคมากมาย แต่เขาก็ฝ่าฟันมาได้ นี่จะเป็นแบบทดสอบอีกครั้ง สำหรับลูลา ชายชราที่ปราศรัยด้วยประโยคสุดงดงาม หลังทราบผลคะแนนว่า
“ผมจะเป็นผู้นำของประชาชาติบราซิลทั้ง 215 ล้านคน ไม่เพียงแค่คนที่เลือกผมเท่านั้น จะไม่มีบราซิล 2 อัน เราคือประเทศเดียวกัน คนหนึ่งใจ ชาติที่ยิ่งใหญ่เพียงหนึ่งเดียว”
ข้อมูลอ้างอิง
- https://www.theguardian.com/world/2022/oct/31/luiz-inacio-lula-da-silva-brazil-presidency-election-profile
- Who is Lula? What to know about Brazil’s next president – The Washington Post
- https://www.nytimes.com/live/2022/10/30/world/brazil-presidential-election?smid=fb-share
- https://www.nytimes.com/2022/09/29/world/americas/lula-bolsonaro-brazil-election.html
- https://www.nytimes.com/2022/11/01/world/americas/bolsonaro-protest-brazil-election.html
- http://news.bbc.co.uk/2/hi/americas/2367851.stm
- https://www.bbc.com/thai/international-63459355