ความตายของจอร์จ ฟลอยด์นำพาความโกลาหล และความเปลี่ยนแปลงสู่สหรัฐอเมริกา จากการชุมนุมประท้วงต่อต้านการใช้ความรุนแรงของเจ้าหน้าที่ตำรวจกับคนผิวดำ ไปสู่การจลาจลในเมืองต่างๆ ของหลายรัฐ รวมถึงการรื้อถอน ทำลายอนุสาวรีย์อันเป็นสัญลักษณ์สื่อถึงการเหยียดสีผิวและชาติพันธุ์

ล่าสุด เมื่อเดือนมิถุนายนที่ผ่านมา มีการรื้อถอนรูปปั้นของอดีตประธานาธิบดีธีโอดอร์ รูสเวลต์ (Theodor Roosevelt) ที่บริเวณด้านหน้าพิพิธภัณฑ์ประวัติศาสตร์ธรรมชาติในนครนิวยอร์กออกไป

อนุสาวรีย์ที่สร้างแล้วเสร็จเมื่อปี 1940 เป็นรูปปั้นธีโอดอร์ รูสเวลต์นั่งบนม้า ที่ข้างขาทั้งสองข้างมีรูปปั้นชนเผ่าอินเดียนแดงและแอฟริกันเคียงขนาบ เคยตกเป็นประเด็นโต้เถียงมาก่อนหน้านี้หลายปีแล้วว่า เป็นหลักฐานทางประวัติศาสตร์ที่เคลือบแฝงนัยการเหยียดสีผิวและชาติพันธุ์ เพียงแต่ไม่มีการตัดสินใจทำการใด จนกระทั่งการตายของชายผิวดำจากการกระทำของตำรวจผิวขาวในรัฐมินนิโซตากลายเป็นจุดเปลี่ยน

ประวัติศาสตร์ของสหรัฐอเมริกาเริ่มต้นขึ้นในยุคที่การเหยียดสีผิวและชาติพันธุ์ยังเป็นเรื่องปกติธรรมดา จอร์จ วอชิงตัน (George Washington) เคยมีทาสในครอบครอง 50 คน มาร์ธา แดนดริดจ์ (Martha Dandridge) ภริยาของเขานำพาทาสอีก 80 คนเข้ามาในชีวิตคู่ ประธานาธิบดีแห่งสหรัฐอเมริกา 10 ใน 12 คนมีความเห็นว่าการถือครองทาสเป็นเรื่องดี สองคนที่ไม่เห็นด้วยก็คือจอห์น อดัมส์ (John Adams) ประธานาธิบดีคนที่สอง และบุตรชายของเขาจอห์น ควินซี (John Quincy) ประธานาธิบดีคนที่หก

ประธานาธิบดี 16 คนแรกของสหรัฐอเมริกามีทาสรับใช้ในครอบครองจนกระทั่งสิ้นสุดสงครามกลางเมืองในวันที่ 18 ธันวาคม 1865 เมื่อมีการเลิกทาสอย่างเป็นทางการ

…..

ธีโอดอร์ รูสเวลต์ ก้าวขึ้นครองตำแหน่งประธานาธิบดีแห่งสหรัฐอเมริกาลำดับที่ 26 ในปี 1901 มรดกตกทอดของเขากลายเป็นการงัดข้อกันของพรรคการเมืองมาจนถึงทุกวันนี้ 

รูสเวลต์เป็นลูกชายของครอบครัวพื้นเพเดิมจากเนเธอร์แลนด์ที่มีฐานะมั่งคั่ง ถือกำเนิดเมื่อปี 1858 ในนครนิวยอร์ก เคยติดตามพ่อของเขาเดินทางไปตามที่ต่างๆ ทั่วโลกเพื่อทำธุรกิจการค้า กระทั่งพ่อของเขาเสียชีวิตอย่างฉับพลันในปี 1876

แม้จะมีรกรากอยู่ทางชายฝั่งตะวันออกและสำเร็จการศึกษาจากมหาวิทยาลัยฮาร์เวิร์ด แต่เขากลับฝักใฝ่ในธรรมชาติ สนใจที่จะพัฒนาจุดอ่อนสำหรับป่าตะวันตก ระหว่างปี 1884-1886 เขาโยกย้ายไปใช้ชีวิตในไร่ที่นอร์ธ ดาโกตา เพื่อเขียนเรื่องราวชีวิตในป่าให้กับนิตยสาร รวมทั้งหนังสืออีกสามเล่ม ได้แก่ Hunting Trips of a Ranchman, Ranch Life and the Hunting-Trail และ The Wilderness Hunter ก่อนกลับสู่นิวยอร์กและเข้าสู่เส้นทางการเมือง

ในปี 1886 รูสเวลต์ลงสมัครรับเลือกตั้งตำแหน่งนายกเทศมนตรีนครนิวยอร์กสังกัดพรรครีพับลิกัน แต่ล้มเหลว เมื่อสงครามต่อต้านสเปนปะทุขึ้นในปี 1898 รูสเวลต์ก็สร้างชื่อให้ตัวเองในฐานะผู้พันกองอาสาสมัคร ‘Rough Riders’ หลังจากนั้นเขาก็กลายเป็นวีรบุรุษสงคราม และได้รับเลือกเป็นผู้ว่าการรัฐนิวยอร์กในเวลาต่อมา

สองปีถัดจากนั้นรูสเวลต์ผู้มีชื่อเสียงก็เข้าชื่อเป็นคู่แข่งขันตำแหน่งรองประธานาธิบดีแห่งสหรัฐอเมริกา เคียงข้างวิลเลียม แม็คคินลีย์ (William McKinley) ผู้สมัครตัวเต็งของพรรครีพับลิกัน แต่หลังจากแม็คคินลีย์เสียชีวิตจากการฆาตกรรมในปี 1901 รูสเวลต์ก็ก้าวขึ้นรับตำแหน่งประธานาธิบดีคนที่ 26 ด้วยวัยเพียง 42 ปี นับเป็นประธานาธิบดีที่อายุน้อยที่สุดของสหรัฐอเมริกา

ธีโอดอร์เท็ดดีรูสเวลต์ที่ดูเหมือนจะฝักใฝ่ในเรื่องการอนุรักษ์ธรรมชาติ ทว่าที่ด้านหน้าพิพิธภัณฑ์ประวัติศาสตร์ธรรมชาติในนครนิวยอร์กก็สะท้อนให้เห็นถึงทัศนคติเรื่องการเหยียดสีผิวและชาติพันธุ์ของเขาอยู่ เมื่อมองย้อนกลับไปถึงพื้นฐานทางครอบครัวฐานะมั่งคั่ง เป็นส่วนหนึ่งของสังคมชั้นสูงที่เข้าใจตรงกันในคำจำกัดความของลิลลีขาวอีกทั้งในคำพูดหรือข้อเขียนของเขายังมีคนค้นพบใจความระหว่างบรรทัด ที่เขามีความเชื่อมั่นลึกๆ ในเผ่าพันธุ์ผิวขาว แม้รูสเวลต์จะต่อต้านในเรื่องทาสแต่เขาไม่ได้เห็นความสำคัญของความเสมอภาคระหว่างชาติพันธุ์รูสเวลต์มองว่าประชากรส่วนหนึ่งของสหรัฐอเมริกาที่เป็นคนผิวดำยังเป็นปัญหาที่ต้องได้รับการแก้ไข

ปี 1913 ประธานาธิบดีรูสเวลต์รวบรวมงานวิจัยธรรมชาติในบราซิล บทความ ‘Brazil and the Negro’ ของเขาตีพิมพ์ลงในนิตยสาร Outlook เดือนกุมภาพันธ์ปีถัดมา อธิบายให้ชาวอเมริกันรับรู้ว่า บราซิลมีแผนการที่จะกำจัดปัญหาเผ่าพันธุ์ผิวขาวและชาวนิโกรด้วยการทำให้เผ่าพันธุ์ของนิโกรหายไป และกลมกลืนเป็นคนผิวขาว

สิ่งที่เกิดขึ้นในบราซิลเป็นไปตามกฎธรรมชาติว่าด้วยการผสมผสานเผ่าพันธุ์และชนชั้น รูสเวลต์บรรยายว่า อีกไม่กี่ยุคถัดจากนั้น สัดส่วนของคนผิวดำจะค่อยๆ ถูกดูดซับไปจนกระทั่งเหลือปริมาณที่น้อย ในไม่ช้านิโกรจะไม่เหลืออยู่ในบราซิลอีกเลย

ชาวนิโกรจะเป็นฝ่ายที่ถูกดูดซับ ไม่ใช่คนผิวขาวรูสเวลต์ยังบรรยายในบทความต่ออีกว่า การผสมผสานเกิดขึ้นเฉพาะในสังคมชนชั้นที่สามเท่านั้น และสังคมชั้นสูงของคนผิวขาวยังคงเป็นชนชั้นปกครองต่อไป และบางครั้งอาจมีสายเลือดอินเดียนแดงระดับแถวหน้าเข้ามาปะปนซึ่งไม่ใช่เรื่องเลวร้าย หากเป็นข้อได้เปรียบด้วยซ้ำ

…..

ความคิดของธีโอดอร์ รูสเวลต์ยังคงสืบทอดต่อมาคล้ายประเพณีของผู้นำแห่งทำเนียบขาว เช่น วิลเลียม โฮเวิร์ด ทัฟต์ (William Howard Taft) ที่ได้ขึ้นเป็นประธานาธิบดีในปี 1909 เผยความคิดเรื่องการเหยียดสีผิวตั้งแต่การปราศรัยเมื่อเริ่มเข้ารับตำแหน่ง เกี่ยวกับกฎหมายว่าด้วยสิทธิชาวนิโกร

หรือสมัยของวูดโรว์ วิลสัน (Woodrow Wilson) ที่เข้ารับตำแหน่งตั้งแต่ปี 1913 ยิ่งทำให้การแบ่งแยกสีผิวชัดเจนมากขึ้น ด้วยกฎหมายห้ามคนผิวดำใช้สถานที่สาธารณะร่วมกับคนผิวขาว ไม่ว่าสถานที่ราชการ สำนักงาน หรือห้องน้ำ จนถึงกฎหมายห้ามคนผิวดำแต่งงานกับคนผิวขาว

แม้ในยุคนี้ อาจจะไม่มีกฎหมายห้ามเป็นลายลักษณ์อักษร แต่การเหยียดสีผิวและชาติพันธ์ุ ก็ใช่ว่าจะจบสิ้นไปจากสังคมได้ ตราบใดที่มนุษย์ยังมีอคติต่อกัน ไม่ว่าใครคนนั้นจะเป็นระดับผู้นำหรือเพียงแค่พลเมือง

อ้างอิง:    

https://www.zeit.de/gesellschaft/zeitgeschehen/2020-06/rassismus-new-york-naturkundemuseum-statue-theodore-roosevelt-entfernung

https://www.spiegel.de/geschichte/us-geschichte-ist-donald-trump-der-erste-rassist-im-weissen-haus-a-bab58a95-108c-46c4-b1f9-5ac834ce78d9?fbclid=IwAR1uH49bum4GO_z63y6HoZX-l52wQbsbJjJes3A1YKHgOX8SMjjR5oCOmSQ

https://www.welt.de/kultur/history/gallery13725689/Theodore-Roosevelt-1858-1919-26-US-Praesident.html

Tags: ,