คนไร้บ้านนอนติดเชื้อโควิด-19 อยู่ข้างถนน

ผู้สูงอายุติดเชื้อโควิด-19 หาเตียงไม่ได้

หญิงท้องแก่ติดโควิด-19 ไร้ที่รักษา

และหลายคนที่ติดโควิด-19 ตายคาบ้าน…

คือภาพจำย้อนกลับไปในช่วงที่ยอดผู้ป่วยโควิด-19 ทุบสถิติใหม่ สร้าง New High รายวัน จนผู้ป่วยล้นโรงพยาบาล มีผู้เสียชีวิตเป็นจำนวนมาก ประชาชนต่างหาเตียงกันจ้าละหวั่น ในวิกฤตนั้นเป็นที่ประจักษ์ว่า ‘เส้นด้าย’ กลายเป็นคนกลุ่มแรกๆ ที่ประชาชนนึกถึง เป็นที่พึ่งของปุถุชนคนธรรมดาผู้ไร้เส้นไร้สายที่ต้องการเข้าถึงระบบสาธารณสุข – อันเป็นสิทธิขั้นพื้นฐานของพลเมือง

 จากกลุ่มอาสาสมัครขนาดเล็กสู่มูลนิธิที่ออกมาช่วยเหลือผู้ติดเชื้อโควิด-19 อย่างเต็มที่ ด้วยเป้าหมายเพิ่มโอกาสการมีชีวิตรอดของประชาชนในช่วงวิกฤตโรคระบาด ไม่ว่าจะเป็นการเคลื่อนย้ายผู้ป่วย จัดหาเตียง จัดส่งถังออกซิเจน ส่งถุงยังชีพ ตั้งจุดตรวจหาเชื้อโควิด-19 ฯลฯ จนมาถึงวันนี้ ที่สถานการณ์โควิด-19 เริ่มผ่อนคลายไปพร้อมๆ กับมาตรการต่างๆ ของประเทศไทย ทั้งการเปิดประเทศรับนักท่องเที่ยว หรือประชาชนสามารถเลิกสวมหน้ากากอนามัยตามสมัครใจได้

The Momentum ไปเยือนมูลนิธิเส้นด้าย สถานที่อันเป็นฐานที่มั่นในการรับส่งผู้ป่วยโควิด-19 มากกว่า 100 เที่ยวต่อวัน และยังคงเตรียมพร้อมเสมอ ไม่ว่าจะเป็นรถรับส่งที่จอดรออยู่ในมูลนิธิ ถังออกซิเจน รวมไปถึงถุงยังชีพ 

3 บุคลากรหลักของเส้นด้าย คริส โปตระนันทน์ ประธานมูลนิธิและผู้ร่วมก่อตั้ง, เจตน์-ภูวกร ศรีเนียน รองประธานและผู้ร่วมก่อตั้ง และแอคชัน-อนุกูล ทรายเพชร ผู้อำนวยการมูลนิธิ ร่วมกันพูดคุยถึงสารพัดเรื่องราวเกี่ยวกับโควิด-19 ย้อนรอยไปตั้งแต่ยังเป็นกลุ่มอาสาสมัครขนาดเล็ก เผชิญอุปสรรคต่างๆ ในการทำงาน สู่การเป็นมูลนิธิที่ขยายสาขาไปทุกภูมิภาคทั่วประเทศ ไปจนถึงวันนี้ ในวันที่โควิด-19 กลายเป็นโรคประจำถิ่น แล้วอะไรคือเป้าหมายต่อไปของ ‘เส้นด้าย’ เจตน์-ภูวกร ศรีเนียน, คริส โปตระนันทน์, แอคชัน-อนุกูล ทรายเพชร เรียงลำดับจากซ้ายไปขวา

[1] ‘เป็นเส้นเป็นสาย’  ให้ประชาชน

‘เส้นด้าย’ หรือ ‘Zendai’ มีความหมายมาจากความต้องการเสียดสีและสะท้อนภาพการมีเส้นสายของอภิสิทธิ์ชนที่ได้รับการรักษาโควิด-19 เป็นอันดับแรก ในขณะที่ประชาชนคนธรรมดาต่างต้องดิ้นรน ตะเกียกตะกาย กลุ่มเส้นด้ายจึงเกิดขึ้นเพื่ออาสาเป็นเส้นเป็นสายให้กับประชาชนทั่วประเทศในการเข้าถึงระบบสาธารณสุข

คริสเล่าว่า “ชื่อเส้นด้ายส่งสารได้อีกแบบคือ คนจนในชุมชุนจะชอบคอนเซปต์ที่ทุกคนเป็นเส้นเล็กๆ มารวมกัน จากเส้นด้ายกลายเป็นเชือก เราเป็นแบบนี้เพราะวันแรกที่เปิดให้บริการ เราไม่มีอะไรเลย ต้องขอรับบริจาคโทรศัพท์มือถือเครื่องเก่าๆ มีคนส่งมาให้จำนวน 20 เครื่อง ใช้ได้บ้างไม่ได้บ้าง แต่เราก็ได้คอลเซ็นเตอร์ขึ้นมา มันเลยเหมือนกับว่าทุกคนนำทรัพยากรมารวมกันและปล่อยให้เราจัดการ ทำไปทำมากลายเป็นว่าเราจัดการได้ดีกว่ารัฐบาลเสียอีก 

“เส้นด้ายไม่ได้อยากให้โลกนี้มีโควิด-19 ไปตลอดชีวิต จริงๆ เราตั้งใจทำเรื่องระบบสาธารณสุข ทำเรื่องเส้นของคนไม่มีเส้น ทำเรื่องความเหลื่อมล้ำ จึงตัดสินใจลงมือสร้างโมเดลให้รัฐบาลดูว่าต้องทำแบบไหน และคุณก็มาทำต่อให้ดี ผมจะได้ย้ายไปทำเรื่องอื่น” 

[2] วันแรกที่รับมือกับโควิด-19

“วันแรกที่เส้นด้ายเปิดให้บริการเป็นอย่างไรบ้าง” เราถาม

เจตน์ – ภูวกร: “วันแรกขับรถเอง” 

คริส: “ วันแรกพี่เจตน์กับผมแทบทะเลาะกัน (หัวเราะ)” 

เจตน์ – ภูวกร “คือเขาพยายามจัดระบบ แต่ผมว่าวันนั้นมันยังไม่มีระบบอะไรหรอก ผมมีความรู้สึกว่าถ้าเราอยากจะบริหารเราต้องลงไปขับรถเอง”

คริส: “ผมพยายามจัดระบบ แต่จริงๆ มันไม่มีคนขับ พี่เจตน์เลยต้องลงไปขับรถเอง”

นี่คือภาพการให้บริการวันแรกในฐานะกลุ่มอาสาสมัครเส้นด้าย ช่วงเวลาที่โควิด-19 ยังเป็นสิ่งน่ากลัว สังคมต่างตื่นตระหนก ไม่รู้วิธีการรับมือที่ถูกต้องและผู้สัมผัสมีโอกาสติดเชื้อค่อนข้างสูง จึงไม่มีใครกล้ายื่นมือเข้าช่วยเหลือ ส่งผลให้ผู้ป่วยโควิด-19 กลายเป็นคนป่วยที่โดดเดี่ยว 

เจตน์ – ภูวกร: “ในตอนแรกยังไม่มีการรักษาที่ชัดเจน ไม่รู้จะทำอย่างไร แต่ประชาชนก็ติดเชื้อโควิด-19 เป็นจำนวนมาก นอกจากเส้นด้ายจะช่วยเหลือทั่วไปแล้ว เรายังอยากทำให้ผู้ป่วยมีความรู้สึกดี มีพลัง และทำให้พวกเขารู้ว่าไม่ได้อยู่อย่างโดดเดี่ยว โดยปกติแล้วเส้นด้ายจะมีถุงยังชีพให้ผู้ป่วย ซึ่งมีอาหารและยาอยู่แล้วแต่เราก็มานั่งคิดกันว่าจริงๆ แล้วผู้ป่วยเขาต้องการอะไร” 

เจตน์ – ภูวกรย้อนถามเราว่า “ถ้าเป็นคุณ คุณจะให้อะไรกับพวกเขา” 

  “ยา ของกิน ขนม” เราตอบ

คริสเฉลยว่า “จริงๆ แล้วผู้ป่วยเขาไม่ได้อยากได้แค่ของกิน เพราะช่วงแรกคนป่วยจะกินข้าวไม่อร่อย จมูกเสีย ไม่ได้กลิ่น ในถุงยังชีพส่วนมากเลยเป็นขนมหวานเพราะคุณไม่ได้กลิ่น มันเลยเหลือสิ่งเดียวคือของหวาน ก็จะมีพวกช็อกโกแลต วิตามินซีเข้ามาด้วย” 

เจตน์ – ภูวกร: “เรามีการแนบจดหมายน้อยด้วย” 

คริส: “คือการบริการของเรามันข้องเกี่ยวกับเชื้อที่อันตราย มันจึงไม่มีจังหวะได้เจอหน้าพูดคุยกันเลย คนป่วยออกมาจากบ้านปุ๊บก็ขึ้นรถที่มีคนสวมใส่ชุด PPE รออยู่และปิดประตูทันที เราเลยรู้สึกว่าสิ่งที่มันหายไปคือ human touch พอเป็นแบบนี้ก็รู้สึกว่าไม่ใช่แล้ว ก็เลยให้เพื่อนเราคนหนึ่งเขียนจดหมายมา 4 ฉบับเพื่อแนบไปกับถุงยังชีพด้วย” 

[3] ตัดสินใจด้วยหลักมนุษยธรรม คือทำเลย

ปัญหาหลายอย่างที่เส้นดายประสบตั้งแต่ช่วงแรกของการทำงานจนนำไปสู่การถอดบทเรียนที่สามารถติดกระดุมเม็ดแรกได้ถูกต้อง นั่นคือ ปัญหาการรับโทรศัพท์ไม่ทัน หรือสายไม่ว่าง 

แอคชัน – อนุกูลเล่าปัญหานี้ให้ฟังว่า ในช่วงแรกเบอร์โทรศัพท์ที่นำมาใช้เป็นเบอร์กลางจดทะเบียนเป็นเบอร์ส่วนตัว ไม่ได้ถูกคิดขึ้นมาเพื่อรับรองระบบสายคู่ตั้งแต่แรก ดังนั้นช่วงแรกที่มีคนโทรเข้ามาใช้บริการเฉลี่ยเบอร์ละ 2-3 พันราย จึงเกิดปัญหาประชาชนโทรไม่ติด กลายเป็นเครียดและความกดดันที่ไม่สามารถรับมือกับผู้ป่วยจำนวนมากในแต่ละวันได้ 

ท้ายที่สุดแอคชั่น – อนุกูลก็ทำการศึกษาหาข้อมูลจนพบเครื่องมือสำหรับจัดการสายที่ไม่ได้รับ ซึ่งมี Dashboard บันทึกรายละเอียดการโทรเข้า-ออกในแต่วันละวันว่ามีกี่สาย แต่ละเบอร์โทรมาจำนวนกี่ครั้ง ในเวลาใดบ้าง หลังจากนั้นจึงจัดตั้งทีมอาสาสมัครขึ้นมา 2 ทีม คือ 1.ทีมโทรกลับ และ 2. ทีมคอลเซ็นเตอร์เพื่อรับสาย

  แอคชัน – อนุกูล: “ปัญหาใหญ่ของสังคมตอนนั้นคือปัญหาโทรไม่ติด เพราะประชาชนเซจากรัฐบาลมาหาเรา แน่นอนว่าโทรหาเส้นด้ายก็โทรไม่ติดบ้าง หรือรอสายนานบ้าง แต่ถ้าคุณรอเส้นด้ายสักหน่อยจะมีคนโทรกลับหาคุณแน่นอน นี่จึงถือเป็นกระดุมเม็ดแรกที่เราติดถูก เพราะตอนนั้น สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ  (สปสช.) ระบบของเขายังไม่มีมนุษย์เลย” 

  คริส: “เราเคยทำระบบแบบนี้มาก่อน และรู้ว่ามันไม่โอเค ไม่มีใครอยากคุยกับแชทบอต ทุกคนอยากคุยกับมนุษย์ ขนาดแชทยังอยากแชทกับมนุษย์เลย”

      แอคชัน – อนุกูลถอดบทเรียนจากการทำงาน ‘หลังบ้าน’ ของเส้นด้าย พบว่า ระบบใหญ่หรือระบบหลัก โดยเฉพาะระบบสาธารณสุขของประเทศที่เหมือนจะไม่สามารถจัดการและรองรับปัญหาของโควิด-19 ได้ มาจากสองสาเหตุหลัก คือ 

หนึ่ง นโยบายในการรักษาจัดการโควิด-19 ไม่ชัดเจน

สอง ปัญหาการสั่งการ เนื่องจากโควิด-19 เป็นประสบการณ์ใหม่ของทุกคน จึงไม่มีใครกล้าสั่งการ

นอกจากนี้ ระบบสาธารณสุขหลักจะตัดสินใจบนพื้นฐานหลักการแพทย์ที่เต็มไปด้วยรายละเอียด เช่น การจัดประเภทผู้ป่วยสีเขียว เหลือง แดง และยังต้องถกเถียงถึงรายละเอียดปลีกย่อยเป็นต้นว่า ผู้ป่วยสีแดง ต้องแดงแบบไหน ฯลฯ

ดังนั้น ข้อดีของเส้นด้ายคือการตัดสินใจบนพื้นฐานหลักมนุษยธรรม นั่นคือ ‘ทำเลย’

เจตน์-ภูวกร ศรีเนียน

เจตน์ – ภูวกรเล่าว่า “ผมจำได้ว่ามีเคสหนึ่ง วันนั้นเส้นด้ายมีทีมงานไปกัน 4 คน ไปรับเคสฉุกเฉินบริเวณบางซื่อ เป็นคนแก่ที่อาการหนักอาจเสียชีวิตในบ้านได้ มันเลยเกิดการถกเถียงว่า พวกเราพาผู้ป่วยไปโรงพยาบาลเลยดีไหม เพราะโรงพยาบาลอยู่ไม่ไกล ตอนนั้นความเห็นถูกแบ่งออกเป็นสองฝั่ง คือ ฝั่งหนึ่งไม่อยากพาคนป่วยไปเอง ต้องรอสถาบันการแพทย์ฉุกเฉินแห่งชาติ (สพฉ.) สายด่วน 1669  อีกสองคนบอกผู้ป่วยอาการหนัก จะตายอยู่แล้ว ถ้ายังรอ 1669 เขาตายแน่นอน ซึ่งคนที่ไม่เห็นด้วยก็โทรศัพท์ถึง 1669 เรื่อยๆ แต่เขาก็ไม่มาสักที 

“เราจึงตัดสินใจว่าพาเขาไปโรงพยาบาลเถอะ เพราะถ้าอยู่ตรงนี้ผู้ป่วยตายแน่นอน แม้สุดท้ายเขาก็ตายอยู่ดี แต่พวกเราก็พยายามจนเสี้ยวสุดท้ายเพื่อให้เขามีโอกาสรอด นี่แหละคือจุดเปลี่ยนที่ทำให้เส้นด้ายต้องสร้างทีมฉุกเฉินขึ้นมา หลังจากนั้นพวกเราก็เข้าไปอยู่ในความเป็นความตายของประชาชน แต่ก็แปลกนะที่เคสเหล่านี้มันหล่นมาที่เราได้อย่างไรก็ไม่รู้” 

คริส: “ถ้าพูดถึงภาครัฐมันยาก เพราะรัฐมีหลายคน เส้นด้ายมีจำนวนคนน้อยกว่า ปัญหาเลยน้อยกว่า รัฐเวลาเขาจะทำอะไรจะตัดสินใจผ่านคณะกรรมการ ซึ่งแต่ละคนก็จะมีเขียว เหลือง แดงกันคนละแบบ ต้องบอกก่อนว่าผมเป็นนักกฎหมาย จึงรู้ว่าอันไหนทำได้อันไหนทำไม่ได้ สมมติถ้าผมช่วยคนป่วยแล้วสุดท้ายเขาเสียชีวิต เราไม่มีเจตนาอยู่แล้ว มันไม่มีความผิดอาญาในลักษณะนั้น ผมก็จะบอกทีมเสมอว่าอันไหนเราสามารถทำได้ อันนี้เสี่ยงน้อย อันนี้เสี่ยงมาก อันไหนที่เราทำและมันเสี่ยงน้อยแต่สามารถช่วยเหลือชีวิตคนได้ ก็ทำสิ จะรออะไร” 

 [4] ผลประโยชน์บนวิกฤตโรคระบาด

“หลายคนมักพูดว่าการจัดการช่วงโควิด-19 ที่ผ่านมา ‘เละเทะ’ ยิ่งกว่าภาพที่เห็นเสียอีก ในฐานะที่เส้นด้ายเข้ามาในช่วงเวลาความเป็นความตายของมนุษย์โดยตรง มีความเละเทะอะไรที่ประชาชนยังไม่รับรู้อีกไหม?” เราถาม

“กั๊กผล RT-PCR” คริสตอบทันที 

เขาเล่าต่อว่า หลังจากที่เส้นด้ายเข้ามาข้องเกี่ยวในระบบสาธารณสุข ทำให้เห็นว่าระบบสาธารณสุขให้ความสำคัญกับเรื่องเงินและผลประโยชน์เป็นหลัก ไม่ว่าจะเป็นโรงพยาบาลเอกชน แล็บที่ตรวจหาเชื้อ หน่วยงานรัฐ หรือบางกลุ่มอาสาสมัคร จึงกลายเป็นว่าต่างฝ่ายต่างเอาผลประโยชน์ของตัวเองเป็นที่ตั้ง ส่งผลให้คนไข้ไม่ได้รับการดูแลอย่างสูงสุด 

กรณีของการตรวจ RT-PCR เพื่อเข้ารับการรักษาในช่วงแรกๆ ของการแพร่ระบาดของโควิด-19 สิ่งที่เกิดขึ้นคือแล็บตรวจของเอกชน หรือแล็บบางแห่งของรัฐก็รับจ้างตรวจหาเชื้อให้กับ สปสช. โดยจะได้รับเงินจำนวน 1,600 บาทต่อการตรวจผู้ป่วยหนึ่งราย

คริสตั้งคำถามว่า หากเปิดให้มีหน่วยงานอื่นๆ เข้ามาช่วยตรวจเชื้อ ราคาค่าตรวจก็จะลดลง แต่สิ่งเหล่านี้ก็ไม่เกิดขึ้น นั่นเป็นเพราะต่างพยายามรักษาผลประโยชน์จากรายได้ดังกล่าว

เรายังไม่วายสงสัยว่า หากการรับตรวจหาเชื้อโควิด-19 จะทำให้ได้เงินเพิ่มจากรัฐ แต่ทำไมการหาสถานที่รับตรวจ RT-PCR ในช่วงแรกจึงเป็นไปอย่างยากเย็นยิ่ง

คริสตอบว่า “ช่วงแรกที่ไม่มีโรงพยาบาลไหนแย่งรับผู้ป่วยโควิด-19 เพราะความไม่แน่นอนของการเบิกเงินจากรัฐบาล ประกอบกับตอนนั้นรัฐบาลมีนโยบายออกมาว่า ตรวจพบเชื้อที่ไหนต้องรักษาที่นั่น และตอนนั้นยังไม่มีการตรวจหาเชื้อแบบ ATK ต้องหาเชื้อผ่านการตรวจ RT-PCR เท่านั้น
“ประเด็นคือโรงพยาบาลเอกชนจำนวนมากเขาไม่ถนัดการขอเบิกเงินกับสิทธิบัตรทอง หรือที่เรียกกันว่าสิทธิ์ UCEP (Universal Coverage for Emergency Patients) เขาชำนาญกับการเบิกสิทธิ์ประกันสังคม ชำนาญกับการเบิกสิทธิ์เอกชน เบิกเงินสด และเขาไม่แน่ใจว่าถ้ารักษาโควิด-19 แล้ว หลวงจะเบิกเงินให้ช้าหรือเร็วแค่ไหน ก็เลยกลัวกันว่าถ้าตรวจเจอจนทำการรักษาหาย แต่หลวงไม่ให้เบิกหรือไม่จ่ายจะทำอย่างไร พวกโรงพยาบาลเลยพากันขึ้นป้ายว่า น้ำยาหมด งดตรวจ ไม่รับตรวจ

“ที่ผมยกตัวอย่างมา เป็นเรื่องที่ผมเจอระหว่างโรงพยาบาลเอกชนแห่งหนึ่งกับชุมชนและกับเขต คือตอนนั้นมีการระบาดที่ชุมชนริมคลองซึ่งโรงพยาบาลอยากเข้ามาตรวจหาเชื้อโควิด-19 ในชุมชม ชุมชนก็อยากตรวจ เส้นด้ายก็พร้อมประสานงานให้ แต่ปรากฏว่ามีโทรศัพท์จากหน่วยงานราชการหน่วยหนึ่งโทรมาและพูดว่า ‘คุณเป็นใคร คุณจะมาตรวจนี่คุณต้องผ่านผม ผมเป็นผู้ดูแลว่าใครจะได้ตรวจก่อน ไม่ใช่อยู่ๆ จะมาร้องแรกแหกกระเชออยากตรวจก็ได้ตรวจหรือ’

“ในสายตาเรา เฮ้ย นี่มันบ้ามาก คลั่งมาก เราฟังและรู้สึกว่ามันไม่ใช่แล้ว และเขาอ้างว่าถ้ามีแผนจะต้องไปตรวจที่ไหนต้องผ่านทุกอย่างกลับมาที่เขา นี่ละ การตัดสินใจของราชการมันเป็นแบบนี้” 

เจตน์ – ภูวกร: “เคสที่พูดถึงนี่ หลังคุยกับเราเสร็จปุ๊บ เขาขอเวลา 1 สัปดาห์จะประชุมอีกที และจะให้คำตอบ ต้องรออีกสัปดาห์นะ คิดดู” 

คริส โปตระนันทน์

คริส: “หรือเขาอาจจะไม่มีนอกมีในก็ได้ อาจจะคิดว่านี่คือขั้นตอนทางกฎหมาย เป็นอำนาจของเขาเขาเลยต้องต้องสงวนไว้ แต่สิ่งที่เกิดขึ้นคือการที่ประชาชนจะได้รับประโยชน์กลับไม่ได้ อีกเรื่องคือผลการตรวจ RT-PCR ปกติแล้วอย่างต่ำๆ ต้องรอผลตรวจ 2-3 วัน พวกเขาให้เหตุผลว่าทำช้า แต่ตอนหลังกลับไม่ยอมส่งผลให้คนไข้เลย 3-7 วันก็ไม่ส่ง เพราะกลัวว่าถ้าส่งผลตรวจให้เดี๋ยวคนไข้จะไปรักษาตัวที่อื่น พอไม่ได้รักษาที่โรงพยาบาลตัวเอง ตัวเองก็จะไม่ได้เงิน พอไม่ได้เงินก็จะไม่มีเงินทอนให้กับคนตรวจ

“กลายเป็นว่าคนตรวจเป็นหน้าด่านของเอเยนต์ เขาผูกขาดความเป็นนายหน้า และทุกสิ่งที่เส้นดายทำคือเข้าไป disrupt ทุกอย่าง เหมือนมาทำลายระบบนี้ และเราก็บอกพี่น้องประชาชนว่า ใครจะไปรักษาที่ไหนสามารถมาคุยกับเราได้  เราจะคุยประสานกับโรงพยาบาลให้เอง จนตอนหลังบางโรงพยาบาลถามคนไข้ว่าเอาผลตรวจไปทำไม จะเอาไปให้เส้นด้ายใช่ไหม”

เจตน์ – ภูวกร “สมมติว่าคนไข้ ไปตรวจโรงพยาบาล ก. และวินาทีนั้นเตียงเขาเต็ม เขาก็จะไม่ยอมให้ผลตรวจกับคุณ รอให้เตียงว่างก่อน เพราะเดี๋ยวคุณไปรักษาที่โรงพยาบาล ข. เลยขอกั๊กผลตรวจไว้ก่อน รอห้องว่างแล้วคุณค่อยมา มีการขู่ด้วยว่าถ้าคุณไปที่อื่น หากกลับมาขอรักษาที่เดิมเราจะตัดคิวคุณนะ เป็นการกดดันคนติดเชื้ออีกรอบ” 

คริส: “ตอนนั้นเราก็ขู่เลยว่า ถ้าใครไม่ให้ผลตรวจเส้นด้ายจะพาไปแจ้งความฐานพยายามฆ่า หลังจากนั้นคนป่วยไปถึงก็บอกว่าจะเอาผลตรวจให้เส้นด้าย ถ้าไม่ให้นะฉันจะไปแจ้งความ เท่านั้นแหละส่งผลตรวจให้อย่างเร็วเลย (หัวราะ)”

เจตน์ – ภูวกร: “บางคนตายไปแบบไม่ได้ผลตรวจก็มี บางคนหายจากโควิด-19 แล้วก็ยังไม่ได้ผลตรวจก็มี คิดดู” 

[5] ส่งเสริมระบบ Primary Care และมุ่งสร้างอาสาสมัครรุ่นใหม่

วันนี้ที่สถานการณ์โควิด-19 ไม่ใช่วิกฤตอีกต่อไป แต่คลี่คลายเป็นโรคประจำถิ่น ซึ่งตัวแทนเส้นด้ายทั้ง 3 คนยืนยันกับเราว่า เส้นด้ายไม่มีความต้องการให้โลกนี้มีโควิด-19 ไปตลอด สิ่งที่พวกเขาริเริ่มและทำคือการสร้างโมเดลที่สามารถแก้ปัญหาสังคม และแสดงให้รัฐบาลเห็นว่า เรื่องนี้รัฐก็ทำได้ และหากเมื่อไรที่สถานการณ์โควิด-19 ในประเทศหมดไป เส้นด้ายก็พร้อมที่จะเดินหน้าแก้ไขปัญหาอื่นๆ อีก

คริสย้ำชัดว่า “ปัญหาที่มันเกิดมันต้องได้รับการแก้ไข เราเป็นเพียงส่วนหนึ่งที่เข้าไปช่วยเหลือผลักดันให้เกิดการเปลี่ยนแปลงทางระบบ ยกตัวอย่างที่มันจะเสียดสีพี่ตูน (อทิวราห์ คงมาลัย — ตูน บอดี้สแลม) หน่อยคือ ให้พี่ตูนวิ่งให้ตายอย่างไรโรงพยาบาลก็ไม่ดีขึ้น ระบบสาธารณสุขก็ไม่ดีขึ้น มันต้องไปมากกว่านั้น มันต้องเปลี่ยน ที่เราจะทำคือไม่ใช่แค่วิ่ง อันนี้ผมไม่ได้อยากจะตัดสินมูลนิธิไหน แต่มันมีศัพท์ในวงการมูลนิธิคือ บางความคิดบางคนที่มีผลประโยชน์กับปัญหา เขาก็อยากให้มีปัญหานี้ไปตลอด แต่เส้นด้ายไม่ได้คิดแบบนั้นเราไม่ได้อยากให้มีโควิด-19 ไปตลอด เราไม่ได้อยากจะหากินกับปัญหาสังคม

Primary Care หรือระบบสาธารณสุขปฐมภูมิ จึงเป็นก้าวต่อไปของเส้นด้าย

ปกติแล้ว อาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน (อสม.) และอาสาสมัครสาธารณสุขกรุงเทพมหานคร (อสส.) ถือเป็น ‘ด่านหน้า’ ของ Primary Care ในระบบสาธารณสุขของรัฐ แต่เมื่อประสบกับปัญหาโควิด-19 กลับไม่อาจรับมือได้ดีนัก หรือภาพสะท้อนทั่วไปจากการที่ประชาชนต่างต้องเข้าคิวรักษาตามโรงพยาบาลของรัฐอย่างเนืองแน่น

แอคชัน – อนุกูล: “ส่วนตัวผมคิดว่าประเทศจะไม่สามารถฟื้นฟูเศรษฐกิจได้ถ้าประชาชนมีสุขภาพที่ไม่ดี Primary Care สามารถแบ่งการรักษาออกเป็น 3 ระดับ ยกตัวอย่างเช่น การล้างแผล ปวดหัว ตัวร้อน ความดัน และฉีดยาเบาหวาน ควรจะอยู่ในระดับชุมชน อสส.หรือ อสม.เพื่อให้โรงพยาบาลที่มีหมอเก่งๆ ได้วิจัยเคสยากๆ ซึ่งจะส่งผลดีต่อประชาชนด้วย เพราะถ้าหมอได้วิจัยขั้นสูง เราก็มีโอกาสได้รับการรักษาในอนาคตที่ดีขึ้น 

“จากการทำงานหนึ่งปีที่ผ่านมา ผมเห็นว่าการฝึกหรือเลือกบุคคลมาทำหน้าที่ อสส.และ อสม. ควรเป็นบุคคลที่มีประสิทธิภาพ ที่ผ่านมาแค่ตรวจ ATK มันเห็นได้ชัดเลยว่า อสส.หรือ อสม.บางคนฝึกยากมาก การเพิ่มสกิลล์มันต้องใช้เวลาและใช้ทรัพยากรเป็นอย่างมาก”

เจตน์ – ภูวกร: “การพัฒนาคน พัฒนาอาสาสมัคร เป็นอีกเรื่องที่เรามุ่งทำ แม้ว่าเส้นด้ายจะไม่ใช่องค์กรที่มีชื่อเสียงอะไร แต่เราก็คิดว่าว่าองค์กรนี้สามารถสร้างแรงบันดาลใจให้คนได้ จากช่วงที่ผ่านมาเราจะเห็นได้ว่าคนรุ่นใหม่ หรือใครก็ตามที่รู้สึกอยากจะทำดี ใช้คำนี้ได้ไหม (หัวเราะ) หรืออยากทำอะไรสักอย่างเพื่อส่วนรวมเพื่อสังคม เขาจะเริ่มรู้สึกว่าไม่อยากใช้คำว่าทำดีเท่าไร ไม่อยากเป็นองค์กรบุญ องกรค์การกุศล แต่ก็อยากทำอะไรสักอย่างเพราะเชื่อมั่นในคุณค่ามนุษย์ ต้องการทำให้มนุษย์มีคุณค่า 

“เราเลยอยากมาทำตรงนี้ ซึ่งเรียกมันว่าอาสาสมัครรูปแบบใหม่ เป็น  New Normal จะไม่ใช่แบบเดิมๆ อีกต่อไป ไม่ได้คิดถึงบุญกุศล แต่คิดถึงประโยชน์ และเป็นสถานที่ฝึกคน นี่เป็นเป้าหมายอีกอย่างที่ใหญ่พอๆ กับคำ Primary Care คือสิ่งที่เราจะผลักดัน” 

แอคชัน-อนุกูล ทรายเพชร

คริส: “สิ่งนี้เป็นสิ่งที่เราเจอเยอะหมือนกันคือ คนที่ทำเพื่อสังคมหรือกลุ่มคนที่เรียกว่า Volunteership มันไม่มีที่ไป คนไม่มีทางออก เหมือนคิดว่าพออยากจะทำดีให้สังคมแต่ไม่ได้มองอะไรที่มันใหญ่ขึ้น ซึ่งในต่างประเทศมีอาสาสมัครเยอะมาก นักกฎหมายก็เป็นอาสาสมัครได้ มาช่วยว่าความให้คนจนและเป็นสิ่งที่ดีต่อสังคม ดีกับตัวเขา และคนอื่นก็ได้รับความช่วยเหลือ แต่กลายเป็นว่าเรื่องอาสาสมัครในบ้านเรากลับไม่มีใครทำจริงจัง ไม่ได้พัฒนากันเป็นขั้นเป็นตอน” 

แอคชัน – อนุกูล: “เรื่องของการจัดการอาสาสมัครในประเทศไทยยังไม่มีโปรแกรมจัดการอาสาสมัครที่ดี ที่รองรับคนอยากทำงานอาสาสมัครหลายๆ รูปแบบ คนทำงานอาสาสมัครมีทั้งระยะสั้น ระยะกลาง ระยะยาว อยาก volunteer ไปตลอดหรือเป็นอาสาสมัครมืออาชีพ เช่น เอาวิชาชีพตัวเองมาอาสาสมัคร และองค์กรต้องออกแบบอาสาสมัครเพื่อบริการสังคม ซึ่งในเมืองไทยมีองค์กรน้อยมากที่รับอาสาสมัครในระยะยาว

“อาสาสมัครแต่ละคนเขาก็มีความสนใจ มีความชอบที่แตกต่างกัน จนบางทีเราตามเขาไม่ทัน แต่เรารู้เลยเขาทำด้วย passion ล้วนๆ และเวลาที่คนเราทำอะไรด้วยใจรัก งานมันจะออกมาดี มันงดงามมาก” 

  คริสทิ้งท้ายว่า “สิ่งนี้เราจะพยายามทำให้ดีที่สุด มันเป็นเรื่องใหม่สำหรับเรา การบริการคนเป็นเรื่องยาก เราจะรับอาสาสมัครให้ได้เยอะขึ้น และอยากสร้างคนที่คิดถึงคนอื่นในประเทศนี้ให้เยอะขึ้น ผมไม่อยากจะให้มีคำพูด เช่น ขับรถชนคนตายข้างถนน ชนมอเตอร์ไซค์แล้วถอยหลังไปทับให้มันตายจะได้ไม่มีเรื่อง หรือไม่กล้าลงไปช่วยคนเพราะกลัวจะมีเรื่อง เดี๋ยวเขาหาว่ากูเป็นคนชนหรือเปล่า ฯลฯ

“เมืองไทยถูกเรียกว่าเมืองยิ้ม เมืองบุญ —แม่งไม่จริง เพราะไม่มีใครยุ่งกับใคร เวลาผมอยู่เมืองนอก คนไทยเป็นคนที่รักกันดีที่สุด ดูโอบอ้อมอารี แต่เวลาที่ดูแย่ที่สุดหรือเวลาเห็นอะไรแบบนี้ มันไม่ใช่เรื่องของกู เราไม่อยากให้คุณค่าตรงนี้มันอยู่ในใจคนไทยไปมากกว่านี้ ภาษาอังกฤษเรียก compassison หรือ empathy แปลว่าเห็นอกเห็นใจ ให้เรารู้สึกว่าพ่อเรากับพ่อเขาก็ไม่ต่างกัน “นี่คือสิ่งที่เราจะสร้างกับอาสาสมัครรุ่นใหม่ อาสาสมัครเขาสามารถทำอะไรก็ได้ บางคนชอบน้ำท่วม ชอบเรื่องสุนัข เราก็ช่วยพัฒนาคนก็ให้เป็นความถนัดในชีวิตของพวกเขา 

“นี่คือสิ่งที่เส้นด้ายอยากไปให้ถึง”

Fact Box

  • ‘เส้นด้าย’ จากกลุ่มอาสาสมัครรับส่งผู้ป่วยโควิด-19ให้ประชาชนแบบไม่เสียค่าใช้จ่ายสู่มูลนิธิที่ขยายสาขาไปทั่วภูมิภาค
  •  คริส โปตระนันทน์ เป็นนักกฎหมาย เป็นหนึ่งในผู้ร่วมจัดตั้งพรรคอนาคตใหม่ สู่ประธานมูลนิธิและผู้ร่วมก่อตั้งมูลนิธิเส้นด้าย
  • เจตน์-ภูวกร ศรีเนียน ทำธุรกิจส่วนตัวเป็นหนึ่งในผู้ร่วมจัดตั้งพรรคอนาคตใหม่ สู่รองประธานและผู้ร่วมก่อตั้งมูลนิธิเส้นด้าย
  • แอคชัน-อนุกูล ทรายเพชร ทำธุรกิจเพื่อสังคม (Social Enterprise) สู่ผู้อำนวยการมูลนิธิเส้นด้าย
Tags: , , , ,