“มันเป็นเรื่องของศาสนา อย่าไปสงสัย เดี๋ยวจะบาปเอา”
ประโยคดังกล่าวถือเป็นสารตั้งต้นของ วรรธนพงศ์ วงศ์วรรณ ในการตัดสินใจหยิบเรื่องราวของการทำ ‘พุทธพาณิชย์’ มาบอกเล่าผ่าน สาธุ ผลงานซีรีส์เรื่องแรกที่ร่วมกับเน็ตฟลิกซ์ (Netflix) เนื่องจากที่ผ่านมา วรรธนพงศ์มีความสงสัยเกี่ยวในการหากินกับวัดของผู้คน แต่กลับไม่ได้คำตอบที่ทำให้รู้สึกคลี่คลาย มีเพียงแค่คำบอกปัดแบบขอไปทีโดยยกเรื่องบุญ-บาปมาอ้าง
นั่นจึงเป็นเหตุให้เขานำประเด็นที่ติดอยู่ในใจ มาสร้างเป็นสถานการณ์สมมติผ่านซีรีส์ดังกล่าวว่า หากคนนำช่องโหว่ทางศาสนามาใช้หากินเพื่อกอบโกยผลประโยชน์ ผลลัพธ์จะออกมาหน้าตาเป็นแบบไหน
ในการสัมภาษณ์กับทาง The Momentum ครั้งนี้ วรรธนพงศ์ไม่เพียงแค่พุดคุยถึงประเด็นและความสงสัยในพุทธพาณิชย์อันเป็นสารตั้งต้นของเรื่อง แต่ยังเจาะลึกถึงวิธีการออกแบบเนื้อเรื่องและตัวละคร ทำไมเรื่องราวต้องดำเนินโดยกลุ่มวัยรุ่น 3 คน ทำไมต้องเกี่ยวข้องกับเรื่องคริปโตเคอร์เรนซี รวมถึงพระสายปฏิบัติอย่างพระดล มีความสำคัญอย่างไรในมุมมองของผู้กำกับรายนี้
ไอเดียตั้งต้นของซีรีส์สาธุเริ่มขึ้นมาได้อย่างไร
ต้องเกริ่นก่อนว่า ผมเติบโตในครอบครัวที่เป็นชาวพุทธ ทั้งที่บ้านและญาติคนอื่นๆ ก็นับถือศาสนาพุทธหมดเลย อีกทั้งผมยังเรียนในโรงเรียนรัฐบาลอีก ดังนั้น สิ่งที่ผมเรียนตลอดในช่วงวัยเด็กคือวิชาพุทธศาสนา ต้องท่องบทสวดเหมือนเดิมมาตลอดสิบสองปีของชีวิต
แล้วผมเป็นเด็กที่โตในจังหวัดอุบลราชธานี ซึ่งเป็นจังหวัดที่มีวัดเยอะเป็นอันดับต้นๆ ของประเทศ ผมจึงมีโอกาสไปวัดหลากหลายแบบมาก ตั้งแต่วัดป่าที่ตั้งอยู่ในพื้นที่ทุรกันดารและมีพระอยู่เพียงรูปเดียว จนถึงวัดที่อยู่ในเมือง มีสิ่งปลูกสร้างในเขตวัดเยอะหน่อย เพื่อให้มันตอบโจทย์ชาวพุทธในเมือง
พอผมมาลองเปรียบเทียบระหว่างวัดสองแบบนี้ เลยฉุกคิดถึงช่องโหว่บางอย่างว่า จะเกิดอะไรขึ้น หากมีกลุ่มคนที่คิดไม่ดีอาศัยช่องโหว่นั้น เพื่อเข้าไปหาผลประโยชน์กับวัด
เมื่อก่อนผมก็ถามนะ ถามคนในครอบครัวเนี่ยแหละ แต่สิ่งที่เขาตอบกลับมาเสมอ คือ “อย่าไปคิดแบบนั้นสิ อย่าไปมองแบบนั้นสิ มันไม่ดี” ทั้งที่เราอยากได้คำตอบที่เป็นเหตุผลอะไรบางอย่างกลับมา แต่กลับได้คำตอบที่คลุมเครือแทน เรื่องนี้ก็เลยเป็นสิ่งที่ติดอยู่ในใจผมมาตลอด
จนวันหนึ่งที่มีโอกาสมาลองเขียนบทซีรีส์จริงๆ เรื่องนี้เลยกลับเข้ามาในความคิดอีกครั้ง ก็เลยเริ่มตั้งโจทย์และลองออกแบบดูว่า การเจาะช่องโหว่และการเข้าไปหาผลประโยชน์ในวัดจะทำออกมาในรูปแบบไหนได้บ้าง
จนถึงเมื่อไรที่ความสงสัยเรื่องพุทธศาสนานำไปสู่การเขียนและพัฒนาบทซีรีส์
เริ่มจากตอนที่ผมไปพูดคุยกับทางสตูดิโอบางเจ้าแบบไม่เป็นทางการเมื่อห้าถึงหกปีก่อน แต่ด้วยความที่เรื่องนี้มันละเอียดอ่อนมากๆ หลายที่เลยมองว่าการจะทำเรื่องแบบนี้ออกมาคงไม่ใช่เรื่องดีเท่าไร โปรเจกต์นี้ก็เลยยังไม่คลอดสักที
จนวันที่ Netflix Thailand ก่อตั้งขึ้นมา ผมก็เลยไปพูดคุย หยิบประเด็นนี้มาเล่าให้ฟังอีกรอบ แล้วอาจด้วยความที่คราวนี้เราคุยกับสตูดิโอที่มาจากต่างประเทศ เขาเลยเปิดกว้างเรื่องนี้ สามารถหยิบเรื่องแบบนี้มาพูดได้
ในวันนั้นคุณพูดคุยกับเน็ตฟลิกซ์อย่างไร
ในความจริงผมมีเรื่องนี้ (สาธุ) กับอีกเรื่องหนึ่งที่อยากเล่า ซึ่งวันที่ไปคุยกับพี่สิน (ยงยุทธ ทองกองทุน ผู้อำนวยการฝ่ายคอนเทนต์ประจำประเทศไทยของเน็ตฟลิกซ์) จริงๆ ก็ชั่งใจอยู่ว่าจะเล่าเรื่องอะไรดี แต่ก็คิดว่าไหนๆ คุยกับสตูดิโอที่มาจากต่างประเทศ เลยคิดว่าจะลองเอาเรื่องพุทธพาณิชย์ไปเสนอเขาดู เลยเขียนไว้เป็นข้อๆ ลำดับเรื่องตั้งแต่ต้นจนจบเลยว่าเรื่องราวเป็นอย่างไร ซึ่งก็เกี่ยวกับสถานการณ์ของศาสนาพุทธในสังคมตลอดหลายปีที่ผ่านมาว่า เกิดอะไรขึ้นบ้าง เปลี่ยนแปลงไปในทางไหนบ้าง
การกำกับซีรีส์ครั้งแรกของคุณเป็นอย่างไรบ้าง
เอาเข้าจริงผมชอบทำงานประเภทนี้มากกว่านะ เพราะเรื่องนี้มันมีประเด็น มีสิ่งที่อยากจะเล่าเยอะจริงๆ ดังนั้น การใช้จังหวะและความเร็วแบบซีรีส์มาเล่าทำให้ผมนำเสนอประเด็นหลากหลายและครบถ้วนมากขึ้น หากเทียบกับตอนที่ทำโฆษณาที่ต้องยิงให้แม่น กระชับ และตรงประเด็น แต่คราวนี้เราผ่อนหนักผ่อนเบาได้ตามใจกว่า
ทำไมในสาธุจึงหยิบเรื่องพุทธพาณิชย์มาผูกโยงกับการลงทุนคริปโตเคอร์เรนซี
สำหรับผมไอเดียนี้เกิดขึ้นเพราะนึกถึงคำว่า ‘เจเนอเรชัน’ ก่อน
คือผมรู้สึกว่าคนสมัยก่อนเขามีมุมมองอะไรบางอย่างที่ดูแตกต่างจากคนยุคนี้ แต่จริงๆ มันคือเรื่องเดียวกันเลย ซึ่งเรื่องที่ผมว่าก็คือเรื่องพุทธพาณิชย์ ที่คล้ายคลึงกับการทำธุรกิจสตาร์ทอัพและการลงทุนในคริปโตเคอร์เรนซี
นั่นเลยเป็นโจทย์ที่น่าสนใจว่า ถ้าเกิดเราเอากลุ่มวัยรุ่นยุคนี้ที่มีความรู้เรื่องการตลาด มาจับกับธุรกิจยุคก่อนอย่างพุทธพาณิชย์ ผลจะเป็นอย่างไร และที่สำคัญคือ จะเป็นการทำธุรกิจโดยไม่มีคำว่า ‘บุญ’ หรือ ‘ความดี’ มาเกี่ยวข้อง แต่เป็นเรื่องการหาผลกำไรเพียงเท่านั้น
ผมว่าสิ่งนี้น่าสนใจ เพราะหากเราเล่าผ่านแนวคิดของคนรุ่นก่อนย่อมถูกเซนเซอร์ด้วยคำว่า บุญ-บาป, ความดี-ความชั่ว หรือแตะต้องได้-ไม่ได้ แต่พอเป็นคนรุ่นใหม่ที่เขาไม่สนใจเรื่องนี้ เขาจะทำพุทธพาณิชย์ได้เต็มที่กว่า
เหตุใดจึงต้องมีการเดินเรื่องผ่านกลุ่มตัวละครนำถึงสามคนด้วยกัน
เพราะผมอยากได้การดำเนินเรื่องแบบเป็นกลุ่มมากกว่า ผมอยากเห็นความสัมพันธ์ของเพื่อน รวมถึงรูปแบบการตั้งบริษัทหรือทำธุรกิจขึ้นมา ที่ต้องมีความเป็นนิติบุคคลหน่อย เลยคิดว่าการมีตัวละครสามคนที่แตกต่างแต่สอดรับเรื่องต่างๆ เข้าด้วยกันน่าจะลงตัว
อย่างวิน (แสดงโดย เจมส์-ธีรดนย์ ศุภพันธุ์ภิญโญ) ก็จะเป็นคนคอยบงการ เป็นตัวละครที่มีความซับซ้อนทางความคิด ส่วนเกม (แสดงโดย พีช-พชร จิราธิวัฒน์) ก็เป็นเหมือนคนคอยเจรจา เอาไอเดียของวินไปทำงานร่วมกับคนอื่นๆ และเดียร์ (แสดงโดย แอลลี่-อชิรญา นิติพน) ก็เป็นเหมือนทีมหลังบ้านที่คอยประสานงานกับสองคนนี้อีกที คือนอกจากตัวละครจะคอยซัพพอร์ตด้วยกันเองแล้ว เรายังสามารถเล่าเส้นเรื่องอื่นๆ ที่น่าสนใจของตัวละครต่อไปได้อีก
จุดประสงค์ของการสร้างตัวละครพระดลคืออะไร
พระดลคือตัวแทนของศาสนาพุทธในสายปฏิบัติอย่างชัดเจน ผมอยากจะลองนำเสนอว่า ถ้าตัวแทนของศาสนาอย่างพระสงฆ์ ถูกนำมาใช้เป็นเครื่องมือในการตลาดจะเกิดอะไรขึ้น เขาจะใช้ความศรัทธาของตัวบุคคลมาใช้ในธุรกิจได้อย่างไร
คือถ้าเกิดพระต้องมาอยู่ในวัดที่ข้อปฏิบัติแตกต่างออกไป พระที่เคยอยู่ในกรอบของการภาวนาแทบจะทุกวินาทีของลมหายใจ พอเขาออกไปอยู่อีกสถานหนึ่ง ซึ่งเป็นที่ที่การเจริญสมาธิถูกรบกวนโดยสิ่งเร้ารอบๆ จะเป็นอย่างไร
บทพระดลผมมองว่า พี่ปั๊บ (พัฒน์ชัย ภักดีสู่สุข) เป็นตัวเลือกแรกมาตลอด เป็นคนที่ผมนึกได้ตั้งแต่ตอนที่เขียนบท ก็คิดมาตลอดว่าบทนี้ต้องเป็นเขา แต่ด้วยความที่ผมเห็นว่าเขาเป็นนักร้อง มีวงของตัวเอง และกำลังมีทัวร์คอนเสิร์ต ก็เลยรู้สึกว่าเป็นไปได้ยากมาก จึงยังไม่ได้ติดต่อหรือพูดคุยใดๆ ทำให้เราต้องคัดเลือกหานักแสดงในบทนี้เยอะมากๆ แต่สุดท้ายก็ยังหาไม่ได้ จนทีมงานเสนอมาว่า ลองติดต่อพี่ปั๊บดีกว่าไหม ซึ่งก็ตรงจากที่เราต้องการแต่แรก
ก่อนจะแคสต์บทก็ไปทำการบ้าน ไปดูพอดแคสต์ที่พี่ปั๊บเคยให้สัมภาษณ์ ไปดูวิธีการใช้ชีวิตของเขา ซึ่งผมรู้สึกว่า พี่ปั๊บมีวิธีการใช้ชีวิตที่น่าสนใจ แม้กระทั่งจังหวะในการพูดหรือกระทั่งวิธีการหายใจก็ตาม ขณะเดียวกันยังเป็นคนที่ผ่านการตกตะกอนทางความคิดมาพอสมควร ผมเลยคิดว่าพี่ปั๊บน่าจะพาตัวละครพระดลไปได้ไกลมากๆ บทนี้เลยตกเป็นของเขาในที่สุด
ตัวละครและสถานที่ภายในเรื่องอ้างอิงมาจากเรื่องจริงบ้างไหม
ไม่เลย ไม่ได้มีความตั้งใจจะอ้างถึงใครหรือสถานที่ไหนโดยเฉพาะ
ทุกอย่างในสาธุเกิดขึ้นจากการศึกษาและลงพื้นที่เยอะมาก อย่างเรื่องวัดภุมราม เราก็รีเสิร์ชกันเยอะมาก เพราะต้องหาวัดสำหรับการทำธุรกิจที่ต้องอยู่ในเกณฑ์ คือไม่ใหญ่จนเจริญอยู่แล้ว และไม่เล็กจนไม่สามารถจะบริหารให้โตได้
สุดท้ายเราไปเจอวัดหนึ่งที่สุพรรณบุรี ซึ่งตอบโจทย์เรื่องสถานที่มาก มีพื้นที่สีเขียว พื้นที่กว้างขวาง มีศาลาที่สวยงาม ที่สำคัญคือเก่าและขลัง ไปช้ากว่านี้นิดเดียวอาจกลายเป็นมรดกทางวัฒธรรมของไทยไปแล้ว
ตัวคุณเองมองเรื่องพุทธพาณิชย์อย่างไรบ้าง
ผมมองว่าคนที่ยังอยู่ในวงเวียนของพุทธพาณิชย์ เกิดจากทางเลือกหรือสถานการณ์บางอย่างที่บังคับให้เขาต้องทำแบบนั้น ต้องเข้าใจก่อนว่านี่ไม่ใช่เรื่องผิดอะไร
แต่เมื่อไรก็ตามที่มีคนบางกลุ่มใช้ความเชื่อของผู้คนมาแสวงหาผลประโยชน์มหาศาล เข้าสู่ตัวเองด้วยกิจการพุทธพาณิชย์ ผมว่านั่นไม่ถูกต้องแล้ว
แต่ถามว่าจะต้องมีหรือหมดไปไหม สุดท้ายเรื่องนี้ขึ้นอยู่กับ ‘คนศรัทธา’ ตราบใดที่ยังมีคนที่พร้อมทำพุทธพาณิชย์ และมีคนที่ศรัทธาพร้อมจ่ายเงินให้กับธุรกิจแบบนี้อยู่ พุทธพาณิชย์ก็จะยังคงอยู่ต่อไป แต่สิ่งที่จะเปลี่ยนแปลง คือการที่ทำให้เห็นภาพว่า เรื่องนี้มันมีช่องโหว่อยู่นะ เพื่อสร้างองค์ความรู้ใหม่ๆ ให้รู้จัก ให้เท่าทันคนรูปแบบนี้
ซึ่งซีรีส์เรื่องนี้ก็จะทำหน้าที่ตรงนั้น ฉายภาพความเป็นไปได้ในการหากินกับศาสนาพุทธให้เป็นรูปธรรมมากขึ้น แล้วให้คนดูมาตัดสินเองว่าจะเอาอย่างไรต่อ
คุณคิดเห็นกับคำว่า ‘ราคาตามแต่ศรัทธา’ อย่างไรบ้าง
จริงๆ มันอ้างอิงมาจากความเชื่อของทุกคนที่มีมูลค่า สุดท้ายแล้วเราอาจจะคิดว่า ของพวกนี้ไม่มีจริง มองไม่เห็น จับต้องไม่ได้ แต่ความเชื่อของผู้คนมีมูลค่าเสมอ
คนที่จะไปหาที่พึ่ง หาที่ยึดเหนี่ยว คนเหล่านี้คือคนที่มีความทุกข์ ทำให้เขาต้องแสวงหาบางอย่าง อาจเป็นสิ่งที่มองไม่เห็นอย่าง ‘ความเชื่อ’ เพื่อทำให้เขารู้สึกดี โดยให้เงินหรือทรัพย์สินเป็นการตอบแทน ดังนั้น ความศรัทธาจึงไม่สามารถกำหนดได้ตายตัว เพราะเป็นเรื่องส่วนบุคคลว่าพวกเขาศรัทธามากน้อยขนาดไหน
สุดท้ายแล้วการทำพุทธพาณิชย์ควรมีทางออกควรแบบไหนจึงจะเหมาะสม
ผมว่าเราต้องมาดูกันที่เจตนาของคนในธุรกิจนี้มากกว่านี้
ถ้าพูดถึงพุทธพาณิชย์ทั่วไป เช่นการใช้เงินหลักร้อย หลักพัน หรือหลักสิบล้าน ถ้าจุดประสงค์คือการสร้างโบสถ์ สร้างศาลา เพื่อให้คนปฏิบัติธรรม การใช้เงินมหาศาลไม่ใช่เรื่องผิด แต่ถ้ามีผลประโยชน์อื่นๆ แอบแฝง แบบนี้ถึงต้องมาคุยกันแล้วว่าจะหาทางออกแบบไหน
สำหรับการกระทำของกลุ่มตัวละครในเรื่อง คุณมองว่าเป็นสิ่งที่ถูกต้องไหม
อยู่ที่ว่าเรามองผ่านมุมไหน ถ้าเรามองผ่านคนที่ศรัทธาศาสนาพุทธ เราอาจใช้คำว่า ‘บาป’ ในการก้าวเท้าเข้าไปลบหลู่ศาสนา หรือในมุมของกฎหมาย เราอาจใช้คำว่า ‘ผิดกฎหมาย’ ฐานยักยอกทรัพย์
แต่อย่างตัวละครในเรื่อง สุดท้ายแล้วเขาอ้างและใช้คำว่า ‘ช่องโหว่ทางธุรกิจ’ พวกเขาจึงมองเรื่องนี้ไม่ใช่เรื่องผิด เพราะทุกฝ่ายต่างได้ผลประโยชน์ คนให้เงินก็อิ่มบุญ วัดและศาสนาก็ถูกทำนุบำรุง ส่วนพวกเขาก็ได้กำไร เรื่องนี้เลยอยู่ที่มุมมองของแต่ละคน
พอทำซีรีส์ที่พูดถึงการทำพุทธพาณิชย์ที่สร้างกำไรและหากินกับวัดแบบนี้ คุณกลัวว่าจะมีชาวพุทธบางส่วนไม่พอใจบ้างไหม
เตรียมใจไว้แล้วว่าจะต้องมี มันเป็นสิ่งที่เราควบคุมไม่ได้
เพราะในเมื่อเราอยากจะเล่าเรื่องนี้ และจริงใจที่จะเล่าแล้ว ก็ไม่มีอะไรต้องกังวล ผมพูดอยู่เสมอว่า ซีรีส์เรื่องนี้ไม่ได้มีเป้าหมายโจมตีศาสนา หรือไปตัดสินว่าอะไรถูกผิด แต่มันคือการสร้างสถานการณ์สมมติว่า ถ้าเกิดมีคนเห็นช่องโหว่ของศาสนาตรงนี้ แล้วมาใช้หาผลประโยชน์ จะมีหน้าตาออกมาอย่างไร
ดังนั้นจึงอยากให้ลองดูก่อน แล้วคนที่คิดแบบนี้น่าจะเข้าใจว่า เราไม่ได้สร้างมันออกมาเพื่อสร้างผลกระทบกับฝ่ายใด แต่เพื่อให้ได้องค์ความรู้หรือมีข้อคิดใหม่ๆ เพิ่มเติม
คิดว่าอะไรคือ ‘สาร’ สำคัญของเรื่องที่อยากถ่ายทอดให้ผู้ชม
ตั้งใจอยากให้คนดูเห็นระบบที่สร้างด้วยมนุษย์ กิเลส ผลประโยชน์ และการบิดเบือนในวาระต่างๆ อย่างในประเด็นศาสนา เราอยากสื่อให้เห็นช่องโหว่ที่น่าเป็นห่วงของมัน ที่ในอนาคตอาจต้องเข้ามาดู มาตรวจสอบให้ชัดเจนมากยิ่งขึ้น
มากกว่าการให้เหตุผลเพียงแค่ว่า “มันเป็นเรื่องของศาสนา อย่าไปสงสัย เดี๋ยวจะบาปเอา”
Fact Box
ซีรีส์สาธุสามารถชมได้แล้วทางเน็ตฟลิกซ์ ตั้งแต่วันนี้เป็นต้นไป โดยมีทั้งหมด 9 ตอน