หากลองไล่เรียงชื่อวงดนตรีเจนใหม่ๆ ในแวดวงดนตรีไทยยุคปัจจุบันที่น่าจับตามองที่สุด หนึ่งในนั้นต้องมีชื่อของ ‘Tilly Birds’ จากค่าย Gene Lab ในเครือแกรมมี่ ที่ประกอบไปด้วยสามสมาชิก ‘เติร์ด’ – อนุโรจน์ เกตุเลขา, ‘บิลลี่’ – ณัฐดนัย ชูชาติ และ ‘ไมโล’ – ธุวานนท์ ตันติวัฒนวรกุล

แต่ใครจะรู้ว่า Tilly Birds ก่อตั้งวงมานับสิบปี ตั้งแต่เติร์ดและบิลลี่อยู่ชั้นมัธยมปลาย (ในชื่อวง Skinny Jeans Hero) ก่อนเปลี่ยนชื่อวง และได้พบกับไมโลในรั้วมหาวิทยาลัย ผ่านร้อนผ่านหนาว และเดินหน้าทำเพลง จนได้ร่วมงานกับค่าย Gene Lab ผ่านการประกวดรายการ Band Lab ซึ่งนับเป็นก้าวสำคัญที่พาพวกเขาเข้าสู่ซีนดนตรีของไทย

หลังจากปล่อยอัลบั้มแรก ผู้เดียว ในปี 2563 และความสำเร็จของเพลง คิด(แต่ไม่)ถึง ในที่สุด ชื่อของ Tilly Birds และเพลงของพวกเขาก็ได้รับความนิยมอย่างรวดเร็ว ด้วยเนื้อร้องที่น่าสนใจ และซาวด์ดนตรีที่มีเอกลักษณ์ แม้บทเพลงของพวกเขาจะพูดถึง ‘ความสัมพันธ์’ อันเป็นสิ่งที่วงดนตรีส่วนใหญ่พูดถึง แต่ ‘ภาษาในเพลง’ ของ Tilly Birds กลับมีความโดดเด่นและมีชั้นเชิง จนมีหลายคนยกให้บทเพลงของพวกเขาเปรียบเสมือน ‘บทบันทึกความสัมพันธ์ของคนยุคใหม่’

สิ้นปี 2563 เพลง คิด(แต่ไม่)ถึง เป็นเพลงไทยที่มียอดสตรีมสูงสุดบน Spotify

เข้าสู่ปี 2564 พวกเขาเดินหน้าทำอัลบั้มใหม่กันอีกครั้ง กระทั่งสำเร็จออกมาช่วงปลายปีในชื่อ It’s Gonna be OK ห่างกับอัลบั้มแรกเพียงแค่ปีเดียว น่าสนใจว่าในยุคที่ศิลปินส่วนใหญ่เลือกปล่อยเพลงเป็นซิงเกิล แต่พวกเขากลับ ‘อิน’ มากกว่าในการทำเพลงเป็นอัลบั้ม

เพื่อนเล่น ไม่เล่นเพื่อน, ลู่วิ่ง, เดอะแบก, เบื่อคนขี้เบื่อ เหล่านี้คือบทเพลงบางส่วนอัลบั้มที่สองของ Tilly Birds ที่ช่วยต่อยอดเส้นทางความสำเร็จให้พวกเขาอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะเพลง เพื่อนเล่น ไม่เล่นเพื่อน ที่มียอดวิวทะลุหลักร้อยล้าน และอีกหลายเพลงที่ประสบความสำเร็จไม่แพ้กัน

สิ้นปี 2564 Tilly Birds คว้ารางวัล Best​ Asian Artist Thailand จากเวที 2021 Mnet Asian Music Awards ซึ่งเป็นงานประกาศรางวัลทางดนตรีในประเทศเกาหลีใต้

ตลอดปี 2564 ที่ผ่านมาจึงเป็นปีที่น่าสนใจสำหรับ Tilly Birds ในหลายแง่มุม ทั้งการเริ่มต้นปีด้วยเรื่องราวที่หม่นมืด ผ่านช่วงยากลำบากระหว่างปี การทำงานเพลงในยุคโรคระบาด การเติบโต ไปจนถึงบทเพลงต่างๆ ที่พวกเขาสร้างสรรค์ขึ้น

น่าจับตามองว่า ในปี 2565 นี้  Tilly Birds จะเดินหน้าอย่างไรต่อในซีนดนตรีไทย แต่ไม่ว่าจะอย่างไร เราเชื่อว่ามันต้องไม่ธรรมดา

 

*สัมภาษณ์เมื่อช่วงปลายเดือนธันวาคม 2564

 

อยากให้ Tilly Birds รีแคปชีวิตปีนี้ให้ฟังว่าเป็นอย่างไรบ้าง อย่างที่ทราบว่าเป็นอีกปีที่หนักหน่วงของคนดนตรี แต่ในแง่ของการทำงาน ปีนี้พวกคุณก็มีอัลบั้มใหม่อย่าง It’s Gonna be OK

บิลลี่: มันเป็นปีที่เริ่มแบบมืดๆ ทั้งเรื่องโควิดและเรื่องส่วนตัวของเติร์ด แต่พวกเราก็เปลี่ยนความมืดให้กลายเป็นอัลบั้มนี้ ซึ่งเป็นสิ่งที่วงแพลนกันไว้แต่แรก กระทั่งสามารถคลอดอัลบั้มออกมาได้ช่วงปลายปี มันเหมือนข้ามเวลาจากต้นปีมาปลายปีเลย เพราะช่วงตรงกลางไม่มีอะไรเลย (หัวเราะ) ไม่ได้ไปไหน ไม่ได้ทำอะไร นอกจากแค่ปล่อยผลงาน ทำผลงาน แต่ความจริงก็มีงานเล็กๆ น้อยๆ เช่น บางคนก็เริ่มได้ไปทำงานให้คนอื่นบ้าง

ไมโล: เราทำงานในอัลบั้มนี้กันเร็วมาก คือเราสามคนเหมือนได้เลือกสาย เลือกอาชีพอย่างชัดเจนแล้ว จากตอนแรกที่ต่างคนก็ต่างจับนู่นทำนี่ พอทุกคนเลือกอาชีพนักดนตรีจริงจัง มันก็ส่งต่อกันเป็นสายพาน บวกกับเรามีทีมที่มาช่วยเขียนเนื้อเพลงให้ ทำให้วิธีการทำงานมีมิติมากขึ้น รวดเร็วขึ้น

เติร์ด: พอพวกเราได้ทำอัลบั้มแรก (ผู้เดียว, 2563) มาแล้ว ก็เหมือนเข้าใจ Workflow ของการทำงานในระดับหนึ่ง อัลบั้มนี้เลยทำงานเร็ว เราได้โครงสร้างของการทำงานอัลบั้มนี้มาก่อนแล้วว่า ต้องทำเพลงประมาณไหน แต่ในรายละเอียดของแต่ละเพลง ก็อาจไม่ได้เร็วขนาดนั้น เพราะต้องมานั่งดูกันว่า เพลงนี้ได้หรือยัง อย่างเพลง เพื่อนเล่น ไม่เล่นเพื่อน กว่าจะได้ท่อนฮุกก็แก้เนื้อมาประมาณหนึ่ง หรือกว่าจะเสร็จจริงๆ ก็ใช้เวลาพอสมควร

 

ปีนี้มีข้อจำกัดในการใช้ชีวิตเยอะมาก พวกคุณมีวิธีการทำงานกันอย่างไร

เติร์ด: เราว่าข้อจำกัดหลักจะเป็นเรื่องการเคอร์ฟิว เพราะปกติพวกเราจะทำเพลงกันถึงเช้าเลย พอเคอร์ฟิวเข้ามาเลยทำให้ทำงานยากขึ้น ความจริงพวกเราห่างหายจากการทำเพลงไปช่วงหนึ่งเลยนะ แล้วเพิ่งจะกลับมาทำงานกันอีกครั้งตอนปลายปี

บิลลี่: แต่การประกาศเคอร์ฟิวมันมาตอนอัลบั้มแต่งเสร็จแล้ว ในแง่การทำเพลงเลยไม่กระทบมาก จะกระทบเยอะช่วงถ่ายเอ็มวีมากกว่า

เติร์ด: มันทำให้เราต้องไปถ่ายเอ็มวีเพลง ลู่วิ่ง กันเอง เพราะเชื่อว่าถ้าเราถามผู้กำกับคนไหน ก็คงไม่มีใครกล้าออกกองถ่ายช่วงนั้น บวกกับตัวเพลงที่พวกเรารู้สึกว่าน่าจะทำเอ็มวีกันเองได้ แต่สิ่งหนึ่งที่โควิดส่งผลมากคือ ทำให้สล็อตการปล่อยเพลงมันเลื่อนมาชนกันวุ่นเลย ช่วงตั้งแต่สิงหาคมเป็นต้นมา เราแทบจะปล่อยเพลงกันเดือนต่อเดือน

บิลลี่: อีกอย่างที่ไม่พูดไม่ได้คือ นอกจากโควิดกระทบกับการปล่อยเพลง การโชว์ผลงานก็เปลี่ยนไป กว่าพวกเราจะได้เล่นเพลง เพื่อนเล่น ไม่เล่นเพื่อน แบบสดๆ ต่อหน้าคนดู ตัวเพลงก็ร้อยล้านวิวไปแล้ว เพราะก่อนหน้านั้นมันไม่สามารถเล่นได้เลย

 

การที่เพลงมียอดวิวร้อยล้านวิวก่อนได้เล่นสด มีข้อดีสำหรับวงบ้างไหม

เติร์ด: ไม่ค่อยเห็นข้อดีเลย (หัวเราะ) คือฟังก์ชันของเพลงสำหรับฟังมันก็อย่างหนึ่ง แต่อีกฟังก์ชันคือการไปเอ็นจอยในคอนเสิร์ต ซึ่งพอไม่ได้เล่นคอนเสิร์ต เราก็รู้สึกแห้งๆ อยากเล่นเพลง ลู่วิ่ง เพลง เดอะแบก แบบสดๆ อยากให้คนร้องตาม แต่มันไม่มีฟีลนั้นเลย

อัลบั้มใหม่ It’s Gonna be OK ห่างจากอัลบั้มแรกแค่ปีเดียว ถือว่าเป็นระยะเวลาที่เร็วไหมในการทำสองอัลบั้มติดกัน ยิ่งเป็นในยุคนี้ที่ศิลปินมักหลีกเลี่ยงการปล่อยเพลงเป็นอัลบั้ม

บิลลี่: ตรงกันข้าม พวกเราจะพยายามหลีกเลี่ยงการปล่อยซิงเกิล เพราะชอบทำเป็นอัลบั้มมากกว่า แต่ว่าอัลบั้มนี้ ด้วยโจทย์ต่างๆ ที่บีบให้พวกเราต้องทำ ตอนแรกพูดตรงๆ ก็ไม่คิดว่าจะรอด แต่พอทำแล้วเหมือนเจอล็อกของมัน เริ่มเห็นโครง แล้วก็รู้สึกว่า มันน่าจะทำได้และออกมาโอเค

ไมโล: เราพอใจมากกับการที่มันกำเนิดมาเป็นสองอัลบั้มได้ ด้วยระยะเวลาสองปี อย่างที่บิลลี่บอก โจทย์มันต่าง สถานการณ์มันต่าง มันบีบมาให้เป็นแบบนี้ ความจริงส่วนตัวเราไม่ได้รู้สึกว่ามันเหมาะสมเหมาะควรขนาดนั้น แต่ในมุมที่ว่า ศิลปินทุกวันนี้หลีกเลี่ยงการปล่อยเพลงเป็นอัลบั้ม มันเลยทำให้การทำอัลบั้มของพวกเราสมเหตุสมผลขึ้นมา เพราะพอเราเข้ามาในซีนเพลงป็อป แล้วด้วยเพลงที่แจ้งเกิดพวกเรา (เพลง คิด(แต่ไม่)ถึง) มันก็ต้องมีการแข่งขันเหมือนกัน แต่เราก็ต้องยึดอุดมการณ์ของเราที่จะทำเพลงเป็นอัลบั้ม ขณะเดียวกันก็ต้องสอดคล้องกับการโปรโมตเพลงเป็นซิงเกิลเหมือนคนอื่น ถึงตรงนี้เราเลยรู้สึกว่าวงยังทำได้ดี ทั้งการได้ทำสิ่งที่ต้องทำและยังอยู่ในอุดมการณ์ของเรา 

 

อัลบั้ม It’s Gonna be OK มีพัฒนาการจากอัลบั้ม ผู้เดียว ในแง่ไหน หรือมันเติบโตขึ้นอย่างไรบ้าง

เติร์ด: เพลงเราโตขึ้นในแง่แนวคิด เนื้อหาที่พูดไม่ใช่แค่รักวัยรุ่น เพราะในอัลบั้มแรกจะเป็นเรื่องนี้ ขณะเดียวกันมันก็มีเพลงที่ค่อนข้างลึกและโต แต่ในอัลบั้มนี้จะเห็นได้ชัดกว่า อย่างเพลง เดอะแบก หรือ เธอไม่ได้อยู่คนเดียว หรือ ถ้าเราเจอกันอีก สามเพลงนี้เป็นเพลงที่แนวคิดโตขึ้น เหมือนเราพูดเรื่องที่มันลึกขึ้น ไม่ได้ผิวเผิน ถ้าเทียบกับอัลบั้มแรก

บิลลี่: มันโตขึ้นอีกหนึ่งขยัก คือทุกคนรู้แล้วว่าเราต้องไปทางไหน ตอนอัลบั้มแรกยังเหมือนหาทิศทางอยู่ แต่อัลบั้มนี้คือ เราเจอแล้วพุ่งไปเลย กับระยะเวลาแค่นี้ แต่ที่บอกว่าโตขึ้นอีกขยักหนึ่ง คือด้วยวงเองก็รู้ว่ามันยังไม่ถึงเวลาที่ต้องรีบโตขนาดนั้น เอาแค่นี้ก่อน แต่หลายสิ่งก็เป็นความตั้งใจของพวกเรานะ

 

อยากให้ขยายความคำว่า ‘โตขึ้นหนึ่งขยัก’ รวมถึงความตั้งใจที่ว่าคืออะไร

บิลลี่: อย่างอัลบั้มแรกมันจะจบแบบระเบิด และมีทิ้งท้ายนิดหนึ่ง แต่ว่าอัลบั้มนี้มันเปิดมากับสิ่งที่พวกเราคิดว่ารู้แล้ว และจบที่การปล่อยวางไปทำสิ่งอื่น ถ้าเป็นดนตรีคือ มันเริ่มด้วยอิเล็กทรอนิกส์ และไปจบที่ออร์แกนิก ดังนั้นพอจบอัลบั้มนี้ก็ไม่รู้ว่ามันจะนำไปสู่อะไรที่โตกว่านี้หรือเปล่าในอนาคตข้างหน้า แต่ที่แน่ๆ ณ จุดนี้ก็เหมือนเราได้เดินไปต่ออีกนิดหนึ่งแล้ว

ไมโล: เราอยากเรียกว่าเป็นท่าหนึ่งที่ไม่เคยทำ การทำอัลบั้มแรกที่มี 13 เพลง กับการทำอัลบั้มนี้ที่มี 8 เพลง แนวคิดมันคนละแบบ พอมี 13 เพลง มันสามารถวางลูกเล่นได้ สมมติคิดเป็นหนังยาวเรื่องหนึ่ง มันก็คิดได้เป็นองก์ 1-2-3 อัลบั้มแรกทำแบบนั้นได้ แต่อัลบั้มนี้ทำแบบนั้นไม่ได้ เราเลยค่อนข้างทรีตมันเหมือนจากเอไปบี จากแดงไปน้ำเงิน คือไล่เฉดสีไปให้เป็นเส้นตรง และเล่าเหมือนเป็นเนื้อเดียวกันไปเลย ซึ่งมันจะมีบางเพลงที่รู้สึกว่าวงได้โตขึ้นมาในหลายมิติ อย่างเพลง ถ้าเราเจอกันอีก ก็เป็นพาร์ตที่คนอาจจะไม่เคยเห็นทิลลีเบิร์ดส์ทำถึงขนาดนี้ คือดนตรีมีความแกรนด์ เน้นอารมณ์มาก ตั้งใจมาก ละเมียดละไมมาก 

ส่วนความตั้งใจของพวกเรา อย่างเช่นเพลง เธอไม่ได้อยู่คนเดียว ก็เป็นเพลงที่บิลลี่ซึ่งเป็นโปรดิวเซอร์หลักไม่ได้วางเป้าหมายมาก มันเป็นเพลงที่เราสร้างมาจาก 0 เหมือนเป็นกระดาษว่างเปล่า แล้วให้คนทุกคนมาลองสาดสี ให้แม้กระทั่งน้องที่มาช่วยเขียนเนื้อเพลงมากดเครื่องซินธ์ให้เป็นสีสันในเพลง กลายเป็นวิธีการหนึ่งที่พวกเราก็อินไปด้วย เพราะรู้สึกว่ามันมีความเป็นศิลปะดี

 

ถึงตรงนี้คิดว่าคนฟังเข้าใจสิ่งที่ Tilly Birds ต้องการจะสื่อในอัลบั้มนี้ขนาดไหน

บิลลี่: เราคิดว่านี่น่าจะเป็นอัลบั้มที่เข้าใจง่ายที่สุดของทิลลีเบิร์ดส์ ไม่น่าจะง่ายกว่านี้อีกแล้ว มันสะท้อนให้เห็นว่าทุกคนเข้าใจว่าเราจะสื่ออะไรทันทีเลย ความจริงตอนแรกก็เหมือนจะมีงงๆ ว่า It’s Gonna be OK คืออะไร แต่พอได้ฟังทั้งอัลบั้มรอบเดียวเขาก็เข้าใจ

 

สิ่งหนึ่งอาจเพราะเพลงของ Tilly Birds พูดถึงเรื่องความสัมพันธ์ที่ทุกคนรู้สึกเชื่อมโยง โดยเฉพาะความสัมพันธ์ของคนยุคนี้ที่ก็มีบริบทต่างจากยุคก่อนๆ ความจริงแล้วพวกคุณอินกับเรื่องความสัมพันธ์ขนาดไหน หรือแง่มุมไหนบ้าง

เติร์ด: เราว่าแต่ละคนน่าจะมีคำตอบไม่เหมือนกัน อย่างเราเป็นคนมองความสัมพันธ์ค่อนข้างละเอียดอ่อน หมายความว่า อย่างวงเราก็มองเป็นครอบครัว ค่ายเราก็มองเป็นครอบครัว หรือเพื่อนกลุ่มที่สนิทเราก็มองเขาเป็นครอบครัว รู้สึกว่าเรามีอะไรเราก็คุยกัน รับฟังกัน เข้าใจกัน เหมือนกับว่าครอบครัวไม่ได้ประยุกต์กับคนที่เป็นสายเลือดเราเท่านั้น แต่สามารถประยุกต์กับคนที่ไม่ได้เป็นญาติกัน แต่ว่าเราสนิทกันและเราเข้าใจกัน เราเลยเป็นคนที่สนิทกับใครง่าย เวลาที่อกหักหรือผิดหวังจึงไปสุดเหมือนกัน เพราะเวลารู้สึกกับใครก็รู้สึกมาก

ไมโล: เราขอตอบในพาร์ตที่เกี่ยวข้องกับวง ความจริงเราอาจจะไม่อินขนาดนั้นในหลายเพลง เพราะเราไม่ได้เป็นคนเขียน แต่เราดูในบริบทที่ว่า เพลงทิลลีเบิร์ดส์มีเรื่องความสัมพันธ์ก็จริง เพราะว่าเพลงพวกเราเขียนจากเรื่องจริงของคนแต่ง เรื่องที่เขาอิน ซึ่งในอีกด้านหนึ่งก็มีคนที่รู้สึกชื่นชอบ แต่พวกเราจะคุยกันตลอด ไม่ใช่ปล่อยให้เติร์ดเขียนไปเรื่อยๆ บางทีเรากับบิลลีก็จะบอกว่ามันธรรมดาไป ยังไม่รู้สึกว่าใช่ในการเล่าเรื่องแค่นี้ มันก็จะมีการพัฒนาต่อว่า แล้วจะเล่ามุมไหนได้บ้าง หรือเล่าด้วยวิธีการใดได้บ้าง ให้เกิดมาเป็นเพลงที่มีจุดยืนของแต่ละเพลง ซึ่งข้อนี้เป็นจุดยืนที่วงให้ความสำคัญมาก จะไม่มีเพลงไหนที่คิดมาซ้ำเลย แม้ว่าจะพูดถึงเรื่องความสัมพันธ์แทบทุกเพลงก็ตาม แต่เรามั่นใจว่า หนึ่ง เราเป็นวงที่อยู่ในวัยเท่าๆ กับคนฟัง ก็รู้สึกว่าอยากพูดเรื่องนี้ แต่พูดในมุมที่เราตกผลึกแล้ว อย่างเพลง เดอะแบก ก็พูดถึงความสัมพันธ์ที่อึดอัดได้สุดจริงๆ หรือเพลง ฉันมันเป็นใคร ก็พูดถึงการปลดปล่อยตัวตน เพลง คิด(แต่ไม่)ถึง อาจจะดูเป็นเพลงเรียบง่าย แต่ก็ให้ความรู้สึกตามความหมายของเพลง คือความเหงา ก็ต้องเหงาให้สุดจริงๆ

บิลลี่: เราอยากเสริมเติร์ดคือ สมาชิกทั้งสามคนจะมีมุมมองความสัมพันธ์นี้หรือแบ็กกราวด์ทางดนตรีไม่เหมือนกัน แต่พอทุกคนสวมชื่อทิลลีเบิร์ดส์ ทุกคนมองไปในทิศทางเดียวกัน เวลาทำเพลงก็จะมีการเสริมกัน ผลักกันไปในตัวตลอดเวลา สมมติเห็นด้วยสองคน แต่มีคนหนึ่งแย้ง ก็ต้องหาจุดที่ดีที่สุดที่ทั้งสามคนไปด้วยกันได้ อย่างที่ไมโลพูด ถ้าเติร์ดเขียนเพลงมา เราเห็นด้วย ไมโลไม่เห็นด้วย ก็ต้องคุยกันเพื่อหาจุดที่ดีที่สุด ให้เพลงนั้นมีจุดยืนที่ชัดที่สุด และไม่ซ้ำกัน ในอัลบั้มนี้ก็มีเพลงหนึ่งมีจุดยืนซ้ำกับเพื่อน ก็ต้องตกรอบไป ซึ่งเราว่าเพลงนั้นน่าจะดังด้วย เพราะว่าพวกเราจะไม่ยอมให้มีเพลงซ้ำกันในอัลบั้ม ถึงแม้มันจะดังได้ก็ไม่เป็นไร

 

ศิลปินหลายวงก็พูดเรื่องความสัมพันธ์ แต่พวกคุณคิดว่าทำไมความสัมพันธ์ในแบบของเพลง Tilly Birds ถึงได้รับความนิยมมาก

เติร์ด: ถ้าพูดในฐานะที่เป็นคนเขียนเนื้อเพลง ส่วนใหญ่จะ Based on ประสบการณ์ของเรา มีจากคนอื่นบ้าง แล้วพยายามเขียนให้มันตีแผ่มากที่สุด เหมือนเพลง ถ้าเราเจอกันอีก ซึ่งมีแบ็กกราวด์ที่ค่อนข้างเศร้า แต่เราก็พยายามตีแผ่เนื้อหาเพลงนี้ให้ไม่ใช่แค่คนที่เจอแบบเรา แต่คนที่เจอการจากลาแบบอื่นก็เข้าใจด้วย คือพยายามจะให้มันกว้างที่สุด เราก็ตกใจว่าบางเพลงอย่างเช่น เธอไม่ได้อยู่คนเดียว เป็นเพลงที่ค่อนข้างส่วนตัว เพราะเราเขียนให้คนที่มีความหมายในชีวิต แต่กลายเป็นว่ามันทำงานกับคนฟังหลายคนมาก คนไทยชอบเพลงอกหัก เสพเพลงเศร้าเยอะมาก (หัวเราะ)

ไมโล: มุมหนึ่งที่น่าสนใจคือเติร์ดเป็นคนพูดตรงๆ ซื่อสัตย์ต่อความรู้สึกมาก เพลงที่เขาเขียน ด่าคือด่า เศร้าคือเศร้า พอวงโตมาเรื่อยๆ มันก็มีการปรับเพิ่มขึ้น แต่ยังมีไวบ์การด่า การแซะ การเสียดสีอยู่ แม้กระทั่งในเพลงที่ร้อยล้านวิว แต่เรา approach คนฟังด้วยกิริยาที่ดูแล้วเหมาะสม คือคนทั่วไปสามารถหยิบสิ่งนี้ใส่คนนั้นได้ง่ายขึ้น กว้างขึ้น หลายโอกาสมากขึ้น เพลงทิลลีเบิร์ดส์จะไม่ใช่เพลงที่เศร้าแล้วจมอยู่กับตัวเอง แต่จะกล้าว่าฝ่ายตรงข้ามเลยว่าเขาไม่ดี ด้วยวิธีต่างๆ เช่น อย่าทำแบบนี้สิ เราเท่ากันหรือเปล่า ฉะนั้นเพลงพวกเราก็อาจจะเป็นเครื่องมือในการพูดเรื่องความสัมพันธ์แทนจิตใจคนแบบตรงๆ และมีหลายรูปแบบ

บิลลี่: เห็นด้วยว่าทิลลีเบิร์ดส์จะมีการเสียดสีบางอย่างอยู่ อัลบั้มนี้อาจจะเบาลงนิดหน่อย แต่จะไม่หายไป ซึ่งมันดันไปขมวดอยู่เพลงเดียว (หัวเราะ) คือ เบื่อคนขี้เบื่อ แล้วเพลงนี้ก็กลายเป็นเพลงด่าคนในความสัมพันธ์ที่แรงที่สุด ในมุมหนึ่งก็ด่าคนฟังด้วย ว่ามึงเบื่อใช่ไหม เอาเพลงนี้ไป ซึ่งเติร์ดชอบ (หัวเราะ)

เติร์ด: เราชอบสุดในอัลบั้ม อัลบั้มที่แล้วเราก็ชอบเพลงที่ด่าที่สุดในอัลบั้มเหมือนกัน ไม่เข้าใจตัวเอง (หัวเราะ)

 

ในฐานะที่เติร์ดเป็นคนเขียนเพลง คุณมีวิธีคิดในการเอารูปแบบหรือเนื้อหาความสัมพันธ์ที่อาจจะดูคลีเช่มาคิดพลิกแพลงอย่างไรให้มันกลายเป็นภาษาเพลงที่น่าสนใจ เช่น เพื่อนเล่น ไม่เล่นเพื่อน หรือ เดอะแบก

เติร์ด: อันนี้เป็นสิ่งที่เราบอกตัวเองตลอดเวลาเขียนเพลง ไม่ว่าเขียนให้ตัวเองหรือเขียนให้คนอื่น คือทำยังไงก็ได้ให้ไม่ซ้ำเรื่องที่คนอื่นเคยพูด เป็นมุมมองที่คนไม่เคยมองมุมนี้ หรือให้มันใหม่ที่สุด ไม่อย่างนั้นเราก็จะมีแต่เพลงเนื้อหาใกล้กัน ซ้ำกัน หมายถึงว่า เนื้อหาแบบเฟรนด์โซน ผิดหวัง มันก็เยอะแหละ แต่เราจะพูดยังไงให้เป็นตัวเราและน่าสนใจที่สุด ซึ่งเราได้วิธีคิดมาจากครูที่สอนฟิล์มว่า บิ๊กไอเดียคืออะไร แล้วเล่าจะเล่ายังไงให้ไม่เหมือนคนอื่น ก็เลยเอามาประยุกต์กับการเขียนเพลง

 

ตอนทำเพลงพวกคุณคิดเลยไหมว่าเพลงไหนต้องดังแน่ๆ

บิลลี่: หลังๆ เราก็มีเซนส์นะ แต่ก็จะมีพลาดอยู่ดี เช่น บางเพลงที่คิดว่าดังแต่ก็ไม่ดัง หรือเพลงที่คิดว่าดังแล้วดังจริงก็มี ประสบการณ์จะสอนเอง แล้วสมัยนี้เราว่าไม่ใช่แค่เพลงอย่างเดียว มันคือเอ็มวี คือช่วงเวลาที่ปล่อยเพลง คืออะไรหลายอย่าง เพราะว่าถ้าเราปล่อยเพลงดัง แล้วหวังให้เพลงต่อไปดัง อันนั้นจะยากมาก เพราะคนยังฟังเพลงเดิมอยู่เลย ซึ่งเป็นสิ่งที่โดนในอัลบั้มนี้เหมือนกัน

ไมโล: เคยคุยกันเล่นๆ ในวงว่าเพลงนี้น่าจะสิบล้าน เพลงนี้ห้าสิบล้าน เพลงนี้สามสิบล้านพอ หรือบางเพลงอย่าง ‘เบื่อคนขี้เบื่อ’ คิดไว้ว่าน่าจะมีแค่พวกเราสามคนฟังกันเอง แต่กลายเป็นว่าหลายคนชอบ ซึ่งคนฟังไม่รู้หรอกว่าทีแรกเราคิดว่าคงได้ทำฟังกันเองสามคน

เติร์ด: เคยถามกันเล่นๆ ว่า สมมติเพลงอย่าง เบื่อคนขี้เบื่อ, เพลง ฉันมันเป็นใคร หรือเพลง เลิก! ได้ร้อยล้านวิวขึ้นมา จะเป็นยังไง จะมีคนเอาไปคัฟเวอร์ไหม เพราะมันไม่ใช่เพลงที่ร้องตามหรือเล่นตามง่าย รู้ไหมว่าเราเป็นคนมูเตลูมาก ก่อนที่จะปล่อยอัลบั้มที่แล้ว เราเคยใช้เวลาหนึ่งวันในการตระเวนไปบน 4-5 ที่ มีย่านาค มีพระพิฆเนศ พระพรหมณ์ เราบนว่าขอให้เพลงไหนได้กี่ล้านวิว ปรากฏว่าไม่ตรงสักอันเลย (หัวเราะ) แต่ก็ดี ไม่ต้องไปแก้บน

หลายเพลงของ Tilly Birds ประสบความสำเร็จมาก มีความกดดันบ้างไหมในการทำเพลงถัดไป

บิลลี่: ไม่เหลือ (หัวเราะ) ถ้าความกดดันเป็นหมอนวด เราจะให้นวดทุกวันเลย คงจะหายเมื่อย

เติร์ด: พวกเราอยากให้ในหนึ่งปีมีเพลงฮิตหรือเพลงที่ทำงานสักเพลง เพื่อที่จะได้ต่อยอดในส่วนของเรื่องงาน แต่อย่างที่บอกว่าสมัยนี้มันการันตีไม่ได้ร้อยเปอร์เซ็นต์ว่าทำเพลงไหนแล้วมันจะมาแน่ๆ แวดวงดนตรีตอนนี้อะไรก็เกิดขึ้นได้

ไมโล: ช่วงแรกจะกดดันเรื่องการเติบโตของฐานคนฟัง พอพวกเราเลือกทางได้แล้ว คือมาอยู่ซีนเพลงป็อบ เรามีเพลงที่ Breakthrough คือ คิด(แต่ไม่)ถึง ก็จะกดดันอีกแบบว่า จะอยู่ซีนนี้ยังไงให้เรายังรู้สึกว่ายังโอเคกับตัวเรา ฐานแฟนเดิมหรือที่เพิ่มมาใหม่ เขาจะมองเราแบบไหน หรือมองว่าพวกเราเป็นอะไร จำพวกเราได้ไหม แต่หลังๆ ก็ไม่ขนาดนั้น เพราะคนที่ตามเราส่วนใหญ่ก็ตามด้วยเพลงจริงๆ

 

พวกคุณมองแพลนปีหน้าอย่างไร (2022) ซึ่งอาจจะยาก เพราะทุกวันนี้เราแทบไม่สามารถมองเหตุการณ์เป็นระยะยาวได้เลย

ไมโล: ใช่ เพราะเหตุการณ์ต่างๆ สามารถเปลี่ยนแผนเราได้หมด แต่ภาพรวมในปี 2021 คือเรามีเป้าค่อนข้างชัดว่าต้องมีอัลบั้มสอง ส่วนปีหน้าอาจไม่ได้มีเป้าหมายที่ตั้งไว้ขนาดนั้น คือเรียกว่าคงไม่แน่นเท่าสองปีที่ผ่านมา เพราะเราก็ปล่อยไปสองอัลบั้มแล้ว

บิลลี่: ยังไม่มีอัลบั้มใหม่แน่นอน (หัวเราะ)

เติร์ด: ให้พวกเราพักบ้าง (หัวเราะ)

ไมโล: นอกจากนี้ พวกเราต่างคนก็เริ่มที่จะหาไซด์โปรเจ็กต์ ซึ่งก็มีพาร์ตที่เป็นของวงด้วย และส่วนตัวด้วย เติร์ดก็เขียนเพลงให้หลายๆ คน บิลลี่กับเราก็โปรดิวซ์ให้คนอื่นๆ ความจริงคิดว่าปีหน้าอาจจะได้กลับมาทัวร์มากขึ้น แต่ถ้าพูดกัน ณ ตอนนี้ อะไรมันก็การันตีไม่ได้ในสถานการณ์โรคระบาด ก็เลยพูดยากนิดหน่อย แต่จะมีเพลงใหม่แน่ๆ

บิลลี่: ถ้าทัวร์ได้ด้วยจะดีมาก อยากเอาเพลงอัลบั้มที่พวกเราปล่อยไปเล่นให้ได้เยอะที่สุด

ไมโล: ที่อยากที่สุดคืออยากเล่นคอนเสิร์ตใหญ่ แต่ขนาดทัวร์ยังยากเลย คอนเสิร์ตก็น่าจะยาก (หัวเราะ)

เติร์ด: แต่เรารู้สึกว่าปีหน้าช่วงปลายปีแอบเหมาะนะ เพราะเราปล่อยมาสองอัลบั้มแล้ว แล้วจะมีเพลงใหม่ปล่อยอีก

ไมโล: เราว่าจัดสองชั่วโมงก็ยังได้ พวกเราอยากทำมานานแล้ว

บิลลี่: เราว่ามันถึงจุดที่ต้องทำแล้ว

 

Tilly Birds อยากจัดคอนเสิร์ตที่ไหน

เติร์ด: (หัวเราะ) เรื่องนี้เคยคุยกันเล่นๆ อยู่นะ

บิลลี่: พวกเราจะไม่มองอะไรที่ใหญ่เกินไป อย่างธันเดอร์โดมนี่ใหญ่ไป พวกเราจะมีสเต็ปของตัวเอง เรามองประมาณ Voice Space หรือ Moonstar Studio อยากจัดประมาณนี้ ไม่ใหญ่กว่านี้ และไม่เล็กกว่านี้

ไมโล: ประมาณนี้กำลังดี

Fact Box

‘Tilly Birds’ เป็นวงดนตรีจากค่าย Gene Lab ในเครือจีเอ็มเอ็ม แกรมมี่ ที่ประกอบไปด้วยสามสมาชิก ‘เติร์ด’ - อนุโรจน์ เกตุเลขา, ‘บิลลี่’ - ณัฐดนัย ชูชาติ และ ‘ไมโล’ - ธุวานนท์ ตันติวัฒนวรกุล ออกอัลบั้มแรก ผู้เดียว ในปี 2563 มีเพลงฮิตอย่าง คิด(แต่ไม่)ถึง และออกอัลบัมที่สอง It's Gonna be OK ในปี 2564 มีเพลงฮิตอย่าง เพื่อนเล่น ไม่เล่นเพื่อน, ลู่วิ่ง, เดอะแบก

Tags: , , , , , , ,