หากย้อนกลับไปช่วงปี 2564 – 2566 จัส-พรประเสริฐ หลวงราช หนุ่มลาวจากอีกฝั่งของลำน้ำโขง เริ่มทำเพลงด้วยตนเอง ด้วยการเปิดยูทูบแล้วค้นหา ‘How to record my vocal’ ก่อนจะพัฒนาทักษะของตนเองต่อ จนนำไปสู่การปล่อยเพลง glitter butterfly และ Old Man ในฐานะศิลปินอิสระ ซึ่งก็ได้การตอบรับจากแฟนคลับชาวลาวเป็นจำนวนมาก 

รวมถึงแฟนเพลงชาวไทยด้วยเช่นกัน เพราะในวันนี้ พรประเสริฐในวัย 24 ปี ถูกทาบทามโดย ค่ายเพลงสมอลล์รูม (Smallroom) ชักชวนเขามาเปิดตัวในฐานะศิลปินใหม่ของค่ายในนาม JUST” เช่นเดียวกับชื่อของเขา พร้อมปล่อยเพลงใหม่อย่าง เพลง Radio เพลงฟังง่ายสบายหูกับส่วนผสมที่ลงตัวของภาษาลาวและภาษาอังกฤษ ตามมาด้วยเพลง Hate Myself และ Love Myself 

เพื่อทำความรู้จักกับศิลปินรายนี้มากขึ้น The Momentum จึงชวน JUST” มานั่งคุยถึงเรื่องชีวิต การทำเพลง ซีนดนตรีในประเทศลาวที่คนไทยยังไม่ค่อยรู้ การปรับตัวเมื่อต้องมาอยู่ไทย รวมถึงความรู้สึกหลังได้ขึ้นแสดงเปิดตัวที่ประเทศไทย และได้เจอแฟนเพลงชาวไทยครั้งแรก

Who is JUST”? 

จากเนื้อเพลงภาษาลาว หลายคนคงพอเดาได้ว่า พรประเสริฐคือศิลปินที่คิดและเขียนเนื้อเพลงด้วยตนเอง เมื่อถามถึงจุดเริ่มต้นการทำเพลงด้วยตนเองเช่นนี้ เขาเล่าว่า เริ่มต้นตอนที่ได้ทุนการศึกษาไปเรียนที่มหาวิทยาลัยเซี่ยงไฮ้ (Shanghai University) ประเทศจีน ในสาขาวิชาการตลาด

“ช่วงปีแรกของการไปเรียนที่ประเทศจีน ต้องฝึกฝนภาษาจีนและเรียนหนักมาก เลยมองหากิจกรรมผ่อนคลายให้กับตัวเอง ซึ่งผมชอบฟังเพลงอยู่แล้ว ชอบฟังเพลงฝั่งสหรัฐอเมริกา แล้วรู้สึกว่าอยากทำเพลงบ้าง เพราะประเทศลาวยังไม่มีเพลงแบบนี้ เลยเริ่มลองทำเพลงเอง” นักดนตรีรายใหม่ของสมอลล์รูมเล่า

สิ่งที่น่าสนใจคือ พรประเสริฐไม่ได้เรียนด้านดนตรี รวมถึงครอบครัวของเขาก็ไม่ได้มีส่วนเกี่ยวข้องกับดนตรี แต่เขาเรียนรู้วิธีการทำเพลงจากยูทูบ

“ตอนนั้นเปิดยูทูบ แล้วพิมพ์ค้นหา ‘How to record my vocal’ เข้าไปดูคลิปสอนทำเพลง เก็บประสบการณ์มาเรื่อยๆ จนเป็นผมในทุกวันนี้ครับ ส่วนชื่อ JUST” ที่ต้องมีเครื่องหมายฟันหนู (”) เพราะต้องการเน้นย้ำว่า เป็นชื่อของผม มันคือตัวผมจริงๆ ไม่ใช่แค่คำหนึ่ง” พรประเสริฐกล่าว

JUST” arrived

“ประเทศไทยยังไม่มีซีนนี้ คือสิ่งที่พี่รุ่ง (รุ่งโรจน์ อุปถัมภ์โพธิวัฒน์) พูดกับผม” 

พรประเสริฐเล่าว่า มาอยู่ภายใต้สังกัดสมอลล์รูมจากการที่คนในค่ายบังเอิญฟังเพลงของเขาในยูทูบ แล้วส่งให้รุ่งโรจน์ ผู้บริหารค่ายสมอลล์รูมฟัง จากนั้นเขาจึงได้รับการติดต่อจากทางค่าย เพราะผู้บริหารชอบเพลง และมองว่าในประเทศไทยยังไม่มีซีนดนตรีแบบที่เขาทำอยู่ ซึ่งคือแนวอาร์แอนด์บี ชิล ฮอป (R&B Chill Hop)

ดังนั้นแม้จะสังกัดค่ายสมอลล์รูมแล้ว แต่พรประเสริฐยังคงทำเพลงด้วยตนเองเหมือนตอนที่เขาเป็นศิลปินอิสระที่บ้านเกิด

“ตอนอยู่ลาว ผมทำเพลงเองทั้งหมด แต่จะมีกลุ่มเพื่อนที่ลาวช่วยบ้าง เป็นคอมมูนิตีเล็กๆ มารวมกลุ่มกันช่วยกันทำเพลง พอมาอยู่ไทยก็ทำเพลงเองเหมือนเดิม แต่ไม่ว่าเราจะทำเองหรืออยากให้ค่ายช่วย ค่ายจะช่วยสนับสนุนเราทั้งหมด ส่วนเรื่องแนวเพลงก็ยังเหมือนเดิมครับ” พรประเสริฐกล่าว

พรประเสริฐไม่ได้มีส่วนร่วมแค่ส่วนของการทำเพลง เพราะในส่วนของมิวสิกวิดิโอที่ปล่อยออกมาก็เป็นฝีมือของเขาด้วย และเหตุผลที่เขาลงมือทำด้วยตนเอง เกิดจากความชอบในการเล่าเรื่อง ทั้งการเล่าผ่านบทเพลงและภาพเคลื่อนไหว ซึ่งวิธีการทำมิวสิกวิดิโอก็เป็นสิ่งที่เรียนรู้จากการอยู่ในทีมโปรดักชันที่ลาว

“ผมชอบที่เพลงมีเอ็มวีช่วยเล่าเรื่องในส่วนที่ดนตรีเล่าไม่ได้ มันเหมือนเป็นส่วนขยายของเพลงอีกที ผมจึงเริ่มศึกษาจากโลกออนไลน์ก่อนเลยว่า การทำเอ็มวีเพลงมีวิธีการอย่างไร ส่วนเอ็มวีทั้ง 3 เพลงที่ปล่อยออกไปภายใต้สมอลล์รูม ผมเป็นคนทำเองแทบทุกขั้นตอน สำหรับเพลง Radio แทบจะเป็นผม 100% เลย คือให้เพื่อนมาช่วยตั้งกล้อง มาช่วยดู โปรดักชันแบบทำกันเอง” ศิลปิน นักแสดง และผู้กำกับเพลง Radio เล่า

แม้ก่อนหน้านี้ พรประเสริฐมีชื่อเสียงในประเทศลาวแล้ว แต่เขาเล่าว่า พ่อแม่ของเขาเพิ่งทราบว่า เขาเป็นศิลปินเมื่อปีที่แล้ว จากการเห็นรูปภาพบนโลกออนไลน์ว่า เขาขึ้นร้องเพลงในเฟสติวัลที่ลาว จึงได้รู้ว่าลูกตนเองเป็นคนดัง เพราะก่อนหน้านั้นเขาไม่เคยเล่าให้พ่อแม่ฟังว่า กำลังทำเพลงอยู่ แม้พ่อแม่จะสงสัยเล็กน้อย ตอนที่พรประเสริฐเฉลยว่ากำลังทำเพลงอยู่ แต่สุดท้ายก็ให้การสนับสนุนอย่างดี

“ตลอด 3 ปีที่ผมทำเพลง พ่อแม่ผมไม่รู้ว่าผมทำอะไร รู้แค่ว่าผมอยู่ในทีมโปรดักชันที่ลาว เพื่อหาเงินไปทำอะไรสักอย่าง เขาเพิ่งมารู้ว่า ผมเป็นศิลปินที่ลาว ตอนที่เห็นรูปผมในอินเทอร์เน็ต เห็นว่า ลูกขึ้นโชว์ในเฟสติวัลลาว เขาเลยมาถาม ผมเลยบอกพ่อแม่ว่าผมทำเพลง ตอนนี้เริ่มมีรายได้แล้วนะ เขาก็โอเค ไม่ได้ขัดขวางอะไร เพราะเขารู้สึกว่า ลูกมีความสุขดี หาเงินได้ด้วยตัวเอง” 

แม้วันนี้ JUST” เป็นศิลปินที่มีชื่อเสียงในลาวแล้ว น่าสนใจว่าเพราะเหตุใด จึงตัดสินใจย้ายจากบ้านเกิดมาเป็นศิลปินในไทย พรประเสริฐให้คำตอบว่า เหตุผลเป็นเรื่องการเติบโตในฐานะศิลปิน

“ก่อนที่ผมจะมาอยู่กับสมอลล์รูม ผมมีงานแสดงที่ลาวแล้ว มีฐานแฟนเพลงอยู่ที่ลาวอบอุ่นมาก ผมมองว่าตัวเองก็กำลังเติบโตในฐานะศิลปินที่ลาว แต่โอกาสที่สมอลล์รูมหยิบยื่นให้ มันทำให้ผมรู้สึกว่า สามารถเติบโตได้มากขึ้นไปอีก ไม่ใช่เพียงแค่ในประเทศลาว เลยตัดสินใจมาอยู่กับสมอลล์รูม” 

สำหรับการปรับตัวเมื่อต้องย้ายมาทำงานในกรุงเทพฯ พรประเสริฐเล่าว่า ไม่ได้เป็นปัญหา เพราะใช้ชีวิตคาบเกี่ยวสองประเทศระหว่างลาว-ไทยอยู่แล้ว แต่สิ่งที่บอกว่ายากคือ การเป็นคนเบื้องหน้าที่ต้องออกกล้อง หรือพูดคุยสื่อสารกับคนอื่น ด้วยพื้นฐานเป็นคนขี้อาย ส่วนในเรื่องของภาษานั้น คนลาวเองเข้าใจภาษาไทยดีอยู่แล้ว ในขณะเดียวกันแฟนเพลงชาวไทยก็ชื่นชอบภาษาลาว

“ผมพยายามไม่ให้ภาษาเป็นกำแพงระหว่างคนฟัง อยากให้เพลงมันคือเพลง คนฟังสามารถรู้สึกได้ว่าศิลปินสื่อสารอะไร โดยไม่ต้องเป็นภาษาที่เราเข้าใจก็ได้ อยากทำลายกำแพงตรงนั้น เลยเลือกที่จะใช้ภาษาลาวผสมอังกฤษไปเลย ฟีดแบ็กหลักๆ คนไทยจะบอกว่า ภาษาลาวดูน่ารักดี” 

IN Laos

คำถามง่ายๆ ที่คนไทยอาจยังไม่ทราบคือ คนลาวฟังเพลงแบบไหน คำตอบของพรประเสริฐคือ คนลาวก็ฟังเพลงเหมือนกับคนไทย และคนลาวก็ฟังเพลงไทย เพราะภาษาไทยกับภาษาลาวไม่ได้แตกต่างกันมาก สามารถสื่อสารกันได้เข้าใจ แต่ความแตกต่างจริงๆ ระหว่างเพลงป็อปของไทยกับลาว เท่าที่สัมผัสได้คือ เพลงป็อบของลาวจะมีความอะคูสติกมากกว่า มีเครื่องดนตรีที่น้อยชิ้นกว่าเพลงป็อป รวมถึงทีป็อป (T-Pop) ของไทย

“สมัยเรียนมัธยม ผมก็ฟังเพลงไทย เพราะอยู่โรงเรียนเพื่อนเปิดเพลงไทย แต่พอกลับบ้านก็ฟังเพลงร็อก พวกวง AC/DC” 

พรประเสริฐเล่าต่อว่า ตลาดเพลงลาวแทบจะเหมือนตลาดเพลงไทย ทั้งฝั่งเพลงแมสและเพลงอินดี้ เพียงแต่หากเป็นฝั่งอินดี้ตลาดเล็กกว่ามาก ด้วยจำนวนประชากรลาวที่น้อยกว่าประชากรไทย ซีนดนตรีอินดี้ของไทยจึงมีความหลากหลายมากกว่า สำหรับลาวแล้ว ความนิยมในซีนอินดี้เป็นเพลงกลุ่มเล็ก ทำให้ต้องศิลปินต้องขวนขวาย พยายามมากขึ้นในการเติบโตในตลาดที่ลาว

“แต่การที่ประชากรลาวน้อยก็มีข้อดีอย่างหนึ่งคือ คนรู้จักผมได้เร็วมาก ก็เริ่มโตเร็วมากในตลาดลาว” เขาเล่า

หากพูดถึงศิลปินอินดี้หรือศิลปินหน้าใหม่ ในประเทศไทยพอจะมีคอนเสิร์ตหรือเฟสติวัลที่ให้พื้นที่กับศิลปินเหล่านี้ได้ขึ้นแสดงอยู่บ้าง แต่หากเป็นบ้านพี่เมืองน้องอย่างประเทศลาว พรประเสริฐเล่าว่า มีอยู่น้อย แต่ยังพอมีเฟสติวัลที่คล้ายคลึงกับไทยอยู่

“สมมติว่า ถ้านับเป็น 10 งานต่อปี จะมีอยู่ 3-4 เจ้า ที่ยอมให้ศิลปินไม่มีค่าย หรือศิลปินอิสระแต่มีผลงานโดดเด่นได้ขึ้นแสดง หนึ่งในนั้นก็จะมีงานวังเวียงมิวสิกเฟสติวัล (VangVieng Music Festival) เขาก็จะคอยซัพพอร์ตศิลปินหน้าใหม่ ถ้าไม่ใช่เฟสติวัลก็จะเป็นตามงานอีเวนต์ เช่น คริสต์มาส ฮาโลวีน หรือว่าอีเวนต์ตามห้าง ก็เหมือนกับที่ไทยเลย คล้ายกันมาก” 

ช่วงที่ The Momentum ได้นั่งพูดคุยกับพรประเสริฐ เป็นตอนที่เขายังไม่เคยขึ้นแสดงในไทย พรประเสริฐบอกว่า เขามีความตื่นเต้นกับ ‘Smallroom Bangkok Pop Music Label – ANNOUNCE GIG’ โชว์ครั้งแรกในประเทศไทยในอีกไม่กี่วันที่จะถึง

“ตื่นเต้นนิดหน่อย มันเป็นเพราะอาจยังไม่รู้ว่า คนที่ฟังเพลงเราจากฝั่งไทยเขาจะตอบสนองต่อเราอย่างไร ถ้าเจอแฟนเพลงแล้วอาจจะตื่นเต้นน้อยลง แต่ตอนนี้ยังไม่เห็นภาพตรงนั้น เลยตื่นเต้นนิดหน่อย” ก่อนที่หลังจากงานจบ เขาเล่าว่า หลังจากงานจบรู้สึกโล่งไม่น้อย แต่ตลอดการแสดงก็รู้สึกสนุก ภายในงานมีบรรยากาศที่อบอุ่นมาก

เมื่อถามว่า เป้าหมายต่อไปที่อยากทำในสมอลล์รูมคืออะไร เขาให้คำตอบว่า เป็นคอนเสิร์ตเดี่ยว และชวนเพื่อนศิลปินทั้งไทยกับลาวมาร่วมคอนเสิร์ตด้วยกัน

“สิ่งที่อยากทำต่อไป คิดว่าน่าจะเป็นคอนเสิร์ตเดี่ยวในนาม JUST” จากสมอลล์รูมสักวัน พอทำในนามสมอลล์รูมคือ ความสำเร็จในจุดที่เราเข้ามาในค่ายนี้ แล้วก็อยากชวนเพื่อนๆ พี่น้องในวงการศิลปินทั้งฝั่งลาวและฝั่งไทยมาร่วมแจมกัน ให้เขาได้รู้จักกันในงานน่าจะสนุก” พรประเสริฐกล่าวทิ้งท้ายถึงเป้าหมายของตนเอง

Fact Box

  • เพลงของ JUST” ภายใต้สังกัดสมอลล์รูม มีด้วยกัน 3 เพลงคือ Radio, Hate Myself และ Love Myself ซึ่งภาพรวมเป็นแนวอาร์แอนด์บี ชิล ฮอป (R&B Chill Hop)
  • เพลงที่ทีมงานสมอลล์รูมบังเอิญได้ฟัง และทำให้เข้ามาอยู่สมอลล์รูมคือเพลง glitter butterfly 
  • แม้จะสังกัดค่ายสมอลล์รูมแล้ว แต่เขายังคงทำเพลงด้วยตนเองเหมือนตอนที่เป็นศิลปินอิสระที่บ้านเกิด

Tags: , , , , , ,