“ผมไม่แน่ใจว่ากองนิตยสารจะเหมาะไหม เราถ่ายซีนอื่นๆ เพิ่มด้วยได้ไหมครับ”
‘เบลล์’ – จิรเดช โอภาสพันธ์วงศ์ เอ่ยขึ้นทันทีเมื่อเห็นฉากประกอบบทสัมภาษณ์เป็นกองนิตยสาร a day magazine ตั้งขึ้นเป็นกรอบ รอให้เขาไปนั่งอยู่ตรงกลาง
ในขณะที่ทีมช่างภาพหาอุปกรณ์ประกอบการถ่ายรูปใหม่ จิรเดชขออภัยที่ต้องให้ปรับไอเดียที่วางไว้ หากนี่คือความจำเป็น เพราะ a day ไม่ใช่แค่นิตยสารอีกต่อไปแล้ว
หลังจากถ่ายรูป เราเดินขึ้นไปคุยกันต่อบนชั้น 5 พื้นที่ทำงานของกองบรรณาธิการ a day จิรเดชยื่นสติ๊กเกอร์ข้อความ ‘Super Market’ สีเขียวฟอนต์ส้มสดสะดุดตา ให้หนึ่งแผ่น นั่นคือหนึ่งในบรรดา ‘โปรดักต์ใหม่’ ในวันที่ a day ไม่ได้ ‘เล่าเรื่อง’ ผ่านนิตยสารเท่านั้นอีกต่อไป หากสื่อสารผ่านช่องทางและรูปแบบที่หลากหลาย ร่ายมาตั้งแต่พอดแคสต์ ซีรีส์ วิดีโอ สารคดี ไปจนถึงซับเจ็กต์อย่างรองเท้า กระเป๋า ไอศครีม โดยการร่วมมือกับแบรนด์ต่างๆ อย่างที่จิรเดชบอกว่า a day เล่าเรื่องอะไรก็ได้ ผ่านอะไรก็ได้ ตราบใดที่ความคิดสร้างสรรค์นั้นเป็นแก่นแกนของเรื่องนั้น
“คนมักมองว่าความคิดสร้างสรรค์เป็นสิ่งที่มีก็ดี ไม่มีก็ได้ แต่เราว่าในยุคที่เต็มไปด้วยข้อจำกัด ความคิดสร้างสรรค์ทำให้เราเห็นโอกาส เห็นทางออกของปัญหา ถ้ามองอย่างนี้ต้องเรียกว่าเป็นสิ่งจำเป็นเลยนะ”
ถอดรหัส ‘ความคิดสร้างสรรค์’ ดีเอ็นเอของแบรนด์ที่อยู่ในทุกเรื่องเล่า ในทุกรูปแบบการเล่าเรื่องของ a day ตลอด 21 ปีที่ผ่านมา จิรเดช บรรณาธิการบริหารคนที่ 5 ของ a day เชื่อมั่นว่าความคิดสร้างสรรค์จะนำพา a day ให้ก้าวต่อไป อย่างที่เขาเปรียบเปรยว่าเป็นดั่ง ‘แสงสว่างท่ามกลางความมืด’
โดยเฉพาะในช่วงเวลานี้ ที่เสรีภาพในการมีชีวิตที่ดีตกอยู่ในยุคสมัยแห่งอนธการ
Super Market: space for stuff & style คืออะไร เกี่ยวข้องอย่างไรกับ a day
เรื่องแฟชั่นและไลฟ์สไตล์เป็นสิ่งที่ a day สนใจอยู่แล้ว แค่กลืนไปกับคอนเทนต์อื่นๆ ที่เราพูดถึง เลยรู้สึกว่าน่าจะมีพื้นที่เล่าเรื่องนี้โดยเฉพาะได้นะ แต่ถ้าจะทำคอลัมน์ก็ไม่พิเศษเท่าไหร่ อยากลองทำอะไรที่ต่างไปเลย อยากให้มันอยู่ได้ด้วยตัวเอง ให้แข็งแรงพอ ใครจะไปรู้ว่าวันหนึ่งพื้นที่นี้อาจแปลงร่างเป็นร้านค้า เป็นแบรนด์แฟชั่น เป็นโปรดักต์ เราไม่มีภาพจำกัดเลยว่ามันจะกลายเป็นอะไร พื้นที่นี้อาจกลายเป็นอะไรก็ได้ โดยที่ไม่ต้องติดกับภาพ a day เหมือนที่วันนี้ a day เองก็ไม่ได้จำกัดว่าเป็นแค่เว็บฯ คอนเทนต์อีกต่อไปแล้ว แต่อะไรที่ใช้เล่าเรื่องได้ เราลองหมด
การตอบว่าเป็นไปได้ทุกอย่างอาจฟังกำปั้นทุบดิน แต่เราเชื่ออย่างนั้นจริงๆ คนอาจสงสัยว่าจาก a day จะต่อยอดกลายเป็นร้านค้าได้ยังไง ฟังดูเพ้อฝันใช่ไหม แต่เราว่าถ้ามีคนติดตามที่แข็งแรงพอจำนวนหนึ่ง ประกอบกับคอนเทนต์ที่เราว่า a day ก็เป็นเนิร์ดข้อมูลพอตัว แค่เอามาเล่าให้สนุก อ่านง่าย เป็นมิตร เราไม่ได้แค่มารีวิว อัพเดทสินค้าออกใหม่ แต่เล่าไปถึงเบื้องหลังการออกแบบ อย่างคอลเล็กชันล่าสุดที่ยูนิโคลร่วมกับมุราคามิ เราก็จะเจาะ insight กันไปเลยว่าทำไมต้องเป็นลายนี้ หรือรุ่นนี้ได้มาจากคู่สีของหน้าปกเล่มไหน ทำให้เรื่องแฟชั่นสนุก เข้าถึงง่าย
ชื่อ Super Market มาจากโจทย์ที่อยากได้ชื่อป็อปๆ แต่ก็มีความหมายในตัวเอง นึกภาพตามนะ Super Market คือพื้นที่สบายๆ ใส่ยีน 501 ใส่คอนเวิร์สไปเดินได้ เป็นมิตร เป็นคอนเซ็ปต์ที่ตรงกัน แต่ในความง่ายๆ สบายๆ ก็มีความพิเศษอยู่ คำนี้เลยไม่ได้เขียนตามปกติ แต่จับแยกเป็นสองคำคือ Super กับ Market กลายเป็นตลาดที่มีความพิเศษขึ้นมา
a day มีรูปแบบในการเล่าเรื่องใหม่เต็มไปหมด แล้วอะไรคือความเป็น a day ที่คงเดิม ไม่เปลี่ยนแปลงไม่ว่าจะเล่าเรื่องอะไร ผ่านการนำเสนอแบบไหน
จริงอยู่ที่ชื่อมันต่าง และเราก็อยากให้โปรดักต์ใหม่ๆ ที่ออกมาอยู่ได้ด้วยตัวมันเอง แต่ทุกอย่างที่ทำล้วนเป็นการต่อยอดจากดีเอ็นเอของ a day ล่าสุดเราเพิ่งประกาศแท็กไลน์ที่สรุปความเชื่อของ a day ออกมาในประโยคเดียว คือคำว่า ‘For all things creative’ หรืออะไรก็ตามที่ถูกมองผ่านแว่นความคิดสร้างสรรค์ จะธุรกิจ กีฬา แฟชั่น เพศ ฯลฯ เราเล่าได้หมดเลย เรื่องพวกนี้ฟังเผินๆ คนอาจจะงงว่า a day เล่าทำไม แต่พอ x creativity เข้าไป กลายเป็นเรื่องที่ a day สนใจ และเล่าได้หมดจริงๆ
พอตกผลึกเป็นประโยคเดียวแล้วฟังดูง่ายนะ แต่เบื้องหลังมันมี pain point ที่ยาวนานมาก อย่างเราทำงาน a day รอบแรกเจ็ดปี ออกไปอยู่ The Cloud ปีกว่า กลับมารอบนี้เพิ่งครบรอบสองปีที่เป็นบรรณาธิการบริหารไปเมื่อต้นปี เราอยู่กับ a day มานาน มีคำถามบ่อยมากว่าจริงๆ แล้ว a day สนใจเรื่องอะไร ดูอย่างหน้าปกนิตยสารแต่ละเดือนมันเล่าเรื่องสารพัดเลย ข้อดีคือเล่าเรื่องอะไรก็ได้ แต่ข้อควรระวังคือแล้วคุณเป็นใครล่ะ คุณเชื่อเรื่องอะไรอย่างแท้จริง มันไม่ถึงกับไม่รู้นะ แต่เป็นมวลๆ จนกระทั่งเราถอดออกมาเป็นคำพูดได้ว่ามันคือความคิดสร้างสรรค์ที่เราสนใจด้วยกัน เออ มันจริง นี่คือสิ่งที่ a day เชื่อ
พอมีประโยค ‘For all things creative’ มันตอบคำถามได้หมด ตอบว่าทำไมเราเลือกตัวละครสัมภาษณ์แบบนี้ เราเล่าเรื่องนี้ไปทำไม หรือพูดให้ถึงที่สุดก็คือมิชชันของเราคืออะไร ที่ผ่านมาคำว่าความคิดสร้างสรรค์ฟังดูเป็นเรื่องเฉพาะกลุ่มพอตัว แต่ยิ่งนานไป เรายิ่งเห็นว่าไม่ใช่แบบนั้นเลย ความคิดสร้างสรรค์อยู่ในทุกอย่างเลย เรากินข้าวข้างทางก็เจอ ไปม็อบก็เจอ เช่น การตั้งชื่อเมนู หรือการใช้คำแทนคำต้องห้าม นี่แหละความคิดสร้างสรรค์ เลยเกิดมิชชันนี้ขึ้นมาคือเราอยากทำให้ความคิดสร้างสรรค์เป็น norm เป็นเรื่องปกติ ไม่ใช่พริวิเลจ
ทำไมการทำให้ความคิดสร้างสรรค์เป็นเรื่อง ‘ปกติ’ ถึงสำคัญ ถึงขั้นยึดเป็น ‘มิชชัน’
เราเพิ่งอ่านเจอประโยคหนึ่งบอกว่า “ความคิดสร้างสรรค์คือการมองเห็นแสงสว่างท่ามกลางความมืดมืด” เราอ่านแล้วก็รู้สึกว่า เฮ้ย จริงว่ะ ถามตัวเองดูว่าเราต้องการความคิดสร้างสรรค์ตอนไหน ตอนที่เราเจอข้อจำกัด ต้องแก้ปัญหา ถูกไหม ถ้าเราไม่มีความคิดสร้างสรรค์ เราก็คงทำได้แค่อยู่กับข้อจำกัดนั้นต่อไป แต่ทุกคนน่าจะเคยเจอโมเมนต์ที่เราคิดอะไรออกแล้วเหมือนมีแสงสว่างวาบ ความคิดสร้างสรรค์สำหรับเราเป็นแสงสว่างแบบนั้น
คนมักมองว่าความคิดสร้างสรรค์เป็นสิ่งที่มีก็ดี ไม่มีก็ได้
แต่เราว่าในยุคที่เต็มไปด้วยข้อจำกัด ความคิดสร้างสรรค์ทำให้เราเห็นโอกาส เห็นทางออกของปัญหา ถ้ามองอย่างนี้ต้องเรียกว่าสิ่งจำเป็นเลยนะ
ไม่จำเป็นว่าต้องทำงานครีเอทีฟก็ได้ ถ้าคุณทำธุรกิจ แล้วขายไม่ดีช่วงนี้ บางทีหยอดความคิดสร้างสรรค์เข้าไปหน่อย เกมเปลี่ยนเลย
เราเพิ่งตกผลึกกับคำว่า ‘For all things creative’ ก็จริง แต่มันไม่ได้มาลอยๆ นี่เป็นดีเอ็นเอของ a day มาแต่แรกแล้ว มันอยู่ในความขบถแบบยุคพี่โหน่ง (วงศ์ทนง ชัยณรงค์สิงห์ – ผู้ก่อตั้ง) อยู่ในคำว่าความสร้างสรรค์และแรงบันดาลใจในหลายคอนเทนต์ของ a day เพียงแค่ที่ผ่านมาไม่เคยพูดออกมาชัดๆ มันเลยเป็นมวลๆ แต่สะกดออกมาไม่ได้ว่าสิ่งที่เราเชื่อนี้เรียกว่าอะไร
มันส่งผลต่างไปอย่างไร เมื่อความเชื่อที่เป็นนามธรรม ถูกเปล่งให้เป็นรูปธรรมผ่านคำพูด ผ่าน tagline ต่างๆ
เยอะนะ ที่ชัดเลยคือทีมทำงานกันง่ายขึ้น เวลาคุยงานในกองบรรณาธิการ ไอเดียมันล้นโต๊ะไปหมด งานแบบนี้มันเรียกร้องการเห็นภาพตรงกันมาก เวลาน้องๆ มาถามว่าสัมภาษณ์คนนี้ดีไหม ทำเรื่องนี้ได้หรือเปล่า คำถามพวกนี้ต้องไม่ใช่ บ.ก. เป็นผู้ตัดสินนะ ต้องกลับไปที่แบรนด์เสมอ ถ้าขึ้นอยู่กับคนใดคนหนึ่งจะแกว่งมากเลย
ที่สำคัญมากอีกอย่างคือมันทำให้ทุกงานมีความหมาย เราไม่ได้ทำงานให้สัมภาษณ์เสร็จๆ ไป หรือทำงานเพื่อยอดไลก์อีกต่อไปแล้ว แต่เป้าหมายคือการต่อจิ๊กซอว์ภาพใหญ่ให้เกิดขึ้น ซึ่งในช่วงแรกที่เราทำงานมันไม่เห็นภาพนี้ เห็นแต่งานรายวันตรงหน้า แล้วมันทำให้เราวิตกตลอดเวลา ยิ่งเราต้องคุมทิศทางรวมด้วยว่า a day จะเดินหน้าไปไหน แต่การวิ่งทุกวันโดยไม่รู้ว่าเรากำลังพาทีมวิ่งไปไหนนี่เหนื่อยมากเลยนะ เรารู้แค่ว่าเดือนหน้าเราจะทำปกนี้ มีวิดีโอนี้ สัมภาษณ์คนนี้ แต่รู้แค่นั้นไม่พอ มันสงสัยตลอดว่าสิ่งที่ทำมันถูกหรือเปล่า แต่พอเรามีภาพใหญ่ที่ชัดปุ๊บ ทีนี้เราตอบได้เลยว่าอะไรใช่ ไม่ใช่ ในยุคที่ข้อมูล ข่าวสารเต็มไปหมด น่าเล่าไปหมด
การมีกรอบนี้จะตัดสิ่งที่ไม่ใช่เรื่องของเราออกไปได้ และสิ่งที่เราเลือกทำก็มีเหตุผลว่าทำไปเพื่ออะไร มันไปเติมเต็มเป้าหมายเรื่องการทำให้ความคิดสร้างสรรค์เป็นปกติของสังคมนี้ได้ยังไง
เป้าหมายที่ใหญ่และต้องใช้เวลาเช่นนั้น คุณจะบอกได้อย่างไรว่าสิ่งเหล่านี้ได้เกิดขึ้นแล้วระหว่างทาง
เรามีเป้าหมายเป็นรูปธรรมอยู่สองข้อคือ พื้นที่ออฟไลน์และออนไลน์ ในพื้นที่ออฟไลน์เราอยากให้ a day อยู่ในชีวิตประจำวันของผู้คนจริงๆ ไม่ใช่แค่มีเดียหรือที่อ่านอย่างเดียวอีกต่อไป อาจเป็นอีเวนต์ที่คนไปเที่ยวได้ เป็นไอศครีมที่กิน เป็นเสื้อที่ใส่ เป็นอะไรอีกมากมาย เราไม่ได้มองว่าเราต้องเล่าเรื่องผ่านแม็กกาซีน หรือเว็บไซต์เท่านั้นแล้ว เรารู้แล้วว่าเราจะเราเรื่องผ่านมุมใด และเล่าผ่านอะไรก็ได้ ส่วนในแง่ออนไลน์ เราอยากให้ a day เป็นแพลตฟอร์มที่คนนึกถึงเมื่อต้องการความคิดสร้างสรรค์ เป็นเหมือน Netflix แห่งวงการคอนเทนต์เมื่อพูดเรื่องครีเอทีฟ ให้งานแต่ละชิ้นต่อยอดตัวเองได้
ทั้งนี้สองพื้นที่มันเชื่อมต่อกันได้ อย่างที่บอกว่าเราไม่เชื่อเรื่องการเล่าเรื่องผ่านเครื่องมือเดียวอีกต่อไปแล้ว คอนเทนต์แทบทุกชิ้นแทบจะมีการต่อยอดหมด เป็นพอดแคสต์บ้าง เป็นอีเวนต์บ้าง แล้วเวลาบอกว่าเครื่องมือหลากหลาย เราไม่ได้หมายถึงเฟซบุ๊ก อินสตาแกรม ทวิตเตอร์เท่านั้นนะ เราอยากให้มันหลุดจากภาพจำการเล่าเรื่องไปเลย เหมือนที่บอกว่าเป็นอะไรก็ได้ ในเมื่อเราบอกว่าเชื่อในความคิดสร้างสรรค์ แล้วเรายังติดวิธีการเดิมๆ มันก็ไม่ได้นะ ความคิดสร้างสรรค์เลยต้องอยู่ทั้งเรื่องที่เราเล่า และวิธีที่เราเล่า เราไม่ได้อยากเป็นคนที่เล่าเรื่องความคิดสร้างสรรค์เท่านั้น เราอยากเป็นคนที่เล่าเรื่องอย่างสร้างสรรค์ด้วย เราพูดเรื่องไหน เราก็ต้องทำเรื่องนั้นก่อน
ลองช่วยยกตัวอย่างการเล่าเรื่องอย่างสร้างสรรค์ในช่วงที่ผ่านมา
เอาเล่ม สถาน ณ กาลไม่ปกติ (ฉบับ 241 ประจำเดือนกันยายน 2563) แล้วกัน เล่มนี้เราทำขนาดเล็กเป็นครั้งแรก เพราะเป็นการรวบรวมเรื่องสั้น และเป็นเล่มที่ตอบคำถามที่ถูกถามบ่อยๆ ว่าทำไมแม็กกาซีนต้องมีอยู่ เพราะเรื่องสั้นนี้เอาลงออนไลน์ก็ได้ ทำไมต้องพิมพ์ ความเชื่อของเราก็คือ สิ่งใดจะอยู่ได้ สิ่งนั้นต้องมีประโยชน์ ยกตัวอย่างวงการดนตรี ทำไมเทปตาย ซีดีตาย ก็เพราะมีเครื่องมืออื่นที่ฟังเพลงได้เหมือนกัน แต่ทำไมคอนเสิร์ตไม่ตายล่ะ ก็เป็นการฟังเพลงเหมือนกันนี่ คำตอบก็คือประสบการณ์มันต่างไป ทั้งการเรียงลำดับเพลง มวลผู้คน แสงสีเสียง ถ้าแม็กกาซีนจะอยู่ได้ต้องให้ประสบการณ์ที่ต่างไปแบบนี้ อย่างเล่มนี้มันก็มีการเรียงลำดับบท ขนาดฟอนต์ ภาพประกอบ หรือคำนำ ที่พออ่านรวมกันแล้วให้ประสบการณ์การอ่านที่ต่างไปจากการอ่านแยกบทบนออนไลน์
เมื่อต้นปีที่ประกาศว่านิตยสาร a day magazine จะมีขนาดเล็กลง ปรับความถี่เหลือสองเดือนต่อหนึ่งฉบับ เป็นการปรับเปลี่ยนเพื่อตอบโจทย์อะไร
เอาจริงนะ ไอเดียเรื่องเปลี่ยนขนาดของ a day magazine เป็นเรื่องที่คุยตั้งแต่เรากลับมาทำงานวันแรกเมื่อสองปีที่แล้ว (หัวเราะ) เราถามตัวเองว่าขนาดเราเป็นเนิร์ดนิตยสาร ทุกวันนี้จะซื้อสักเล่มเรายังคิดแล้วคิดอีกเลย จะแบกไปทำงานยังไง จะพกไปตอนเดินทางยังไม่อยากพกเลย ไหนจะเรื่องที่เก็บอีก เก็บแล้วทิ้งยากด้วยนะ ตัดใจลำบาก คนมักมองว่าการลดขนาดเป็นเรื่องการลดต้นทุน แต่เวลาทำงานและตัดสินใจ เราไม่ได้คุยกันเรื่องนี้หรอก คือประหยัดได้ก็ดี แต่มันไม่ใช่โจทย์หลัก โจทย์หลักของเราคือทำยังไงให้ตอบโจทย์คนอ่าน และตอบโจทย์เป้าหมายใหญ่ของ a day
ก็เลยเป็นเรื่องที่คุยกันไปมาอยู่สองปี จนปีนี้เข้าปีที่ 21 ฉบับแรกที่ปรับขนาดเป็นทางการคือฉบับ Mamuang (ฉบับ 245 ประจำเดือนมกราคม 2564) เป็นวาระปีใหม่ด้วย รู้สึกว่าเป็นเวลาที่เหมาะสมกับการปรับเรื่องสำคัญ ได้มองไปข้างหน้าสักที เพราะถ้ามัวแต่เสียดายอดีต เราอาจเสียอนาคตไปด้วยก็ได้ แต่ไม่ใช่ว่าอยากเปลี่ยนแล้วเปลี่ยนเลยนะ เรามีการทำสำรวจ เอาตัวเลขมาดูจริงๆ จนพบว่า 80-90% ของผู้อ่านเขาเห็นด้วยกับเรื่องปรับขนาด ทีนี้ก็มั่นใจเลยว่าเป็นสิ่งที่ตอบโจทย์ทั้งเขาและเรา ไม่ลังเลแล้ว
ผู้อ่าน a day จากวัยรุ่นในยุคแรก จน 21 ปีผ่านไปเติบโตเป็นชาววัยกลางคนไปหมดแล้ว คุณปรับเนื้อหาอย่างไรให้ตอบโจทย์ผู้อ่านจากต่างยุคสมัย
เวลาเราพูดคำว่า target audience มันมักเป็นการเอาหลักประชากรศาสตร์มาแบ่งเป็นเพศ อายุ ที่อยู่ รายได้ อะไรพวกนี้ ถ้าเป็นแต่ก่อนมันอาจได้นะ ด้วยปัจจัยของราคา จุดจำหน่าย คนที่ขึ้นปก แต่ด้วยความที่ตอนนี้ a day ไม่ใช่แค่แม็กกาซีนแล้ว คอนเทนต์เราก็ขึ้นออนไลน์แทบทั้งหมดแล้ว ในวันที่ใครๆ ก็เข้าถึงเราได้ เราจะมาแบ่งกลุ่มผู้อ่านแบบนั้นไม่ได้แล้ว
จริงอยู่ที่เรายังเล่าเรื่องความคิดสร้างสรรค์ เล่าให้สนุก ด้วย mood and tone มันจึงดูทันสมัยอยู่เสมอ แต่ความทันสมัยไม่ได้เกี่ยวกับวัย แต่เป็นใครก็ได้ที่สนใจเรื่องความคิดสร้างสรรค์ มันไม่ขึ้นกับเพศ อายุ หรือภูมิลำเนา
คนมักบอกว่าผู้อ่าน a day เป็นวัยรุ่น คนรุ่นใหม่ แต่เราว่าคำที่เหมาะกว่าคือคน ‘ร่วมสมัย’ หรือทันสมัย ถ้าคุณอายุหกสิบ แต่ยังสนใจเรื่องใหม่ๆ ไม่ปิดกั้นความคิด เราก็มองว่าคุณเป็น target audience ของ a day เหมือนกัน
ตัวคุณเองเริ่มจากผู้อ่าน เด็กฝึกงาน a team junior ทำงานรอบแรกเจ็ดปี และสองปีในครั้งนี้กับบทบาทบรรณาธิการบริหาร คุณมอง a day เหมือนหรือต่างไปในแต่ละช่วงอย่างไร
ตอนเรากลับมาครั้งนี้มีโจทย์ใหญ่คือ a day จะอยู่รอดได้ยังไง เป็นช่วงที่ใครๆ ก็พูดว่าแม็กกาซีนซบเซา เราพูดเรื่องความทันสมัย แต่คนมองว่าสิ่งพิมพ์กำลังจะตาย สิ่งที่เป็นจุดขายจู่ๆ ก็กลายเป็นข้อจำกัด คำถามคือแล้วจะทำยังไง ตอนนั้นเราก็ไม่มีคำตอบนะ คิดแค่ว่าลองดูวะ ก็ลองคลำหาดีเอ็นเอของมันมาตลอด มีโมเมนต์เล่มชนเล่มอยู่เหมือนกัน ว่าจบเล่มนี้แล้วไงต่อ แต่ที่ทำให้ยังคิดว่ามันไปได้ เพราะเราอยู่กับ a day มานาน เราเห็นต้นทุนบางอย่างที่แข็งแรงมากของแบรนด์นี้
เรามองว่า a day ไม่ใช่สื่อ แต่เป็น culture จะมีสักกี่แบรนด์ที่ถ้าเอาโลโก้ไปติดกับโปรดักต์สักอย่างแล้วไม่ขัดหูขัดตา ไม่ดูเป็นของแจกสวัสดีปีใหม่ เรื่องนี้ต้องให้เครดิตรุ่นพี่ก่อนหน้าเรามากๆ ที่เขาสร้างคาแรกเตอร์ a day ได้แข็งแรงขนาดนี้ ส่งผลทั้งภาพจำภายนอก และส่งผลต่อการหาคำตอบว่าแล้ว a day จะไปยังไงต่อ ที่เราบอกว่ามิชชันเป็นเรื่องความคิดสร้างสรรค์ เป้าหมายเป็นการเล่าเรื่องแบบใหม่ๆ ไม่ได้มาจากเรานะ แต่มาจากต้นทุนตั้งต้นที่ทำให้เราเห็นว่า a day เข้าไปอยู่ในชีวิตประจำวันผู้คนได้ คาแรกเตอร์มันไปไกลกว่ามีเดีย ซึ่งเป็นสิ่งที่ต้องสะสมมา ไม่ใช่จู่ๆ จะสร้างขึ้นมาได้เลย
คำถามตั้งต้นว่า ‘นิตยสารจะอยู่อย่างไร’ ในตอนแรกทำให้เราหลงทางเหมือนกันนะ ถามมาแบบนี้ ความเป็นไปได้เหลือนิดเดียว จนช่วงหนึ่งเรารู้สึกว่าคำถามนี้ผิดแต่แรก แล้วมันพาเราตีโจทย์ผิดไปหมดเลย หลงอยู่กับการหาทางให้คนซื้อนิตยสาร หาทางทำให้นิตยสารแตกต่าง คำถามมันบีบให้เราอยู่ในกรอบมากๆ
ใช้เวลาสักพักนั่นแหละถึงจะรู้ว่าคำถามที่ต้องตอบจริงๆ ไม่ใช่จะทำนิตยสารให้รอดอย่างไร แต่เราจะทำให้ a day ไปต่อได้ยังไง เปลี่ยน subject แค่นี้ กลายเป็นว่าความเป็นไปได้มหาศาลเลย เหมือนเกิดใหม่เลยนะในความรู้สึกเรา ลองคิดดูว่าถ้าเรายังดันทุรังตอบคำถามว่าทำยังไงนิตยสารจะรอด เราคงไม่เห็นพอดแคสต์ Super Market ไม่เห็นความเป็นไปได้อื่นๆ เลย
คำถามใหญ่ๆ ถูกตอบไปแล้วในปีที่ 20 แล้วในการก้าวเข้าสู่ทศวรรษที่สามของ a day มีคำถามอะไรใหม่ๆ ที่คุณและทีมต้องตอบอีกไหม
เราว่าคำถาม a day จะไปต่อได้ยังไง เป็นคำถามที่ต้องตอบไปอีกเรื่อยๆ ระหว่างทางมีคำถามรายทางอยู่ เช่น ในสถานการณ์บ้านเมืองแบบนี้ เราจะอยู่อย่างไรให้มีคุณค่าที่สุด คนทำสื่อจะรู้ดีว่าการทำงานแบบนี้ ไม่ใช่แค่เลี้ยงปากเลี้ยงท้องนะ แต่บางเรื่องถ้าเราไม่เล่า มันทำให้รู้สึกผิดได้เลย เช่น ช่วงสลายการชุมนุม ต่อให้เราไม่ใช่สื่อการเมือง แต่ถ้าความไม่เป็นธรรม ความรุนแรงอยู่ตรงหน้า เราจะนิ่งเฉยได้ยังไง
เพราะดูเหมือนจะมีคนไม่น้อยที่รู้สึกแปลกใจว่า a day ยุคนี้พูดเรื่องการเมืองด้วยหรือ
อย่างที่บอกว่าข้อดีของ a day คือเล่าได้ทุกอย่าง คำถามคือเราจะเล่ายังไง คนตัดสินใจไม่ใช่เรา แต่เป็นดีเอ็นเอของ a day ที่ต้องหามุมสร้างสรรค์ของเรื่องนั้นให้เจอ อย่างน้องในกองฯ บอกว่าอยากเป็นปากเสียงให้กับม็อบ เราก็จะชวนเขาหาด้านความคิดสร้างสรรค์มาเล่า อาจมีคนบอกว่า ติ๋มว่ะ ไม่เล่าตรงๆ แต่เราต้องรู้จักตัวตนของเรา เราไม่เงียบ แต่เราต้องเล่าด้วยน้ำเสียงของเรา ด้วยความเชื่อของเรา ถ้าคุณเล่าไปหมด สุดท้ายคนจะงงว่าคุณเป็นใคร จะเล่าอะไรกันแน่ ทำไมเล่าเรื่องนี้ ไม่เล่าเรื่องนั้น มันจะมีคำถามไปหมด ถ้าคุณไม่ชัดเจนกับตัวเอง
เราไม่ประกาศกล้าว่า a day เป็นสื่อที่ต่อสู้เพื่อมวลชน นั่นไม่ใช่ตัวตนของเรา แต่โดยพื้นฐานที่สุดของคนทำงานสื่อสารไม่ว่าประเภทไหน ก็คือการบอกเล่าเรื่องราวที่มีคุณค่า เราไม่ใช่ journalist ตามความหมายของนักข่าว เรามองว่า a day เป็น ‘นักเล่าเรื่อง’ มากกว่าด้วยซ้ำ
การที่ a day พูดเรื่องการเมืองมากขึ้นช่วงที่ผ่านมาก็มีความเห็นต่างกันไปนะ บางคนก็ไม่ชอบใจที่เราหันมาพูดเรื่องการเมือง บางคนมองว่าเราพูดน้อยไป เรามองแค่ถ้าเราบอกว่าเราพูดเรื่องร่วมสมัย แล้วนี่เป็นประเด็นร่วมสมัย ก็เป็นสิ่งที่เราต้องสื่อสาร แต่ต้องเล่าในแบบของเรา เช่น สถาน ณ กาลไม่ปกติ ห่อหุ้มเป็นเรื่องสั้น แต่ข้างในนี่โอ้โฮ นักเขียนเขียนเรื่องสังคม การเมืองทั้งนั้น มันเป็นประเด็นของยุคสมัยน่ะ คุณจะปฏิเสธได้ยังไง
วัยที่ 21 ถ้าเทียบเป็นคนก็เป็นช่วงเปลี่ยนผ่านจากวัยรุ่นสู่การเป็นผู้ใหญ่ คุณมอง a day ในวัยนี้อย่างไร และอยากให้เติบโตต่อไปอย่างไร
มีคำพูดของพี่หนึ่ง (วรพจน์ พันธุ์พงศ์) ที่เราหยิบมาพูดถึงบ่อยๆ ทุกวันนี้เราก็ยังเชื่อแบบนั้นอยู่ คือการเติบโตมีทั้งแบบกว้างและลึก อย่างน้องๆ ในกองฯ ตอนนี้เขากำลังเติบโตแบบกว้าง คือลองขยับจากการเขียน ไปจัดพอดแคสต์ ทำวิดีโอ ถ่ายภาพ หรือบางคนโตขึ้นข้างบน ไปเปิดบริษัทเอง มีชื่อเสียงจากงานของตัวเอง โตตามความสำเร็จอย่างที่คนเข้าใจกัน แต่การเติบโตอีกแบบที่คนไม่ค่อยพูดถึงคือการโตลงลึก คือฝึกฝนตัวเองจนเชี่ยวชาญด้านใดด้านหนึ่งอย่างแท้จริง อย่างพี่หนึ่งที่แกก็ไม่ได้โตไปเป็นเจ้าของบริษัท ไม่ได้ทำสื่อหลายประเภท แต่แกก็นับว่าเป็นมาสเตอร์ของการสัมภาษณ์ การเขียนที่คนรุ่นใหม่มองเป็นแบบอย่างอยู่เสมอ
ถ้าเทียบกับ a day ในการเติบโตเชิงกว้าง เราก็อยากให้ a day เห็นความเป็นไปได้อย่างไร้ขีดจำกัด ส่วนเชิงบนคงหนีไม่พ้นยอดติดตาม อาจฟังดูธุรกิจมากเลยนะ แต่จริงๆ ก็คือเพื่อให้สิ่งที่เราตั้งใจนำเสนอเข้าถึงคนมากขึ้นมากกว่า ส่วนในเชิงลึก เราก็อยากให้ a day ชัดเจนในเรื่องความครีเอทีฟ ทั้งในเรื่องที่เล่า และวิธีการเล่า
ถ้าความคิดสร้างสรรค์คือแสงสว่างในความมืด คิดว่าความคิดสร้างสรรค์จะตอบโจทย์สถานการณ์บ้านเมืองที่อาจเรียกได้ว่ามืดแปดด้านอย่างช่วงเวลานี้ได้อย่างไร
จริงนะ เรารู้สึกว่าสถานการณ์ช่วงนี้น่าห่วงไปหมด เศรษฐกิจ โรคระบาด การเมือง ความเหลื่อมล้ำ ถามว่าครีเอทีฟจะไปช่วยเรื่องนี้อย่างไร เรามองว่าความคิดสร้างสรรค์ที่แท้จริงจะสร้างคุณค่าได้ด้วย ถ้าจะให้ดีคือช่วยแก้ปัญหาได้ เอาง่ายๆ ถ้าไม่มีความคิดสร้างสรรค์ หลายธุรกิจคงล้มไปหมดแล้ว หรือสถานการณ์การเมืองตอนนี้ที่มีข้อจำกัดไปหมด แต่มันเห็นเลยว่ายิ่งมีข้อจำกัด คนเรายิ่งหาทางสร้างสรรค์ ดูอย่าง ‘ราษแดนซ์’ ‘ราษสเก็ต’ หรืออีกหลายกลุ่มที่เคลื่อนไหวในช่วงที่ผ่านมา ทุกคนล้วนมีมุมที่ใช้ความคิดสร้างสรรค์มาสื่อสารในวันที่เสรีภาพถูกจำกัดทั้งนั้น
ไม่รู้คนอื่นเป็นไหมนะ เวลาเจองานครีเอทีฟจัดๆ เราจะมีสองความคิดผุดขึ้นมาทันทีคือ คิดได้ไงวะ กับทำไมเราคิดไม่ได้วะ (หัวเราะ) คือมันบิดนิดเดียวเอง อะไรที่ดูธรรมดาก็พิเศษขึ้นมาเลย ความคิดสร้างสรรค์มันเป็นแบบนี้ มันเหมือนแสงสว่างวาบๆ เหมือนเวลามืดแปดด้าน แล้วหาทางออกได้ก็สว่างขึ้นมาเลย เราถึงมองว่าความคิดสร้างสรรค์สำคัญมาก เป็นทางออกของปัญหาในทุกระดับของชีวิตเลย
*สัมภาษณ์เมื่อวันที่ 9 มีนาคม 2564
Fact Box
- จิรเดช โอภาสพันธ์วงศ์ อดีต a team junior (โครงการรับนักศึกษาฝึกงานของ a day) รุ่นที่ 5 ก่อนที่จะกลับมาร่วมงานกองบรรณาธิการ a day ครั้งแรกเป็นเวลา 7 ปี ขยับไปเป็นบรรณาธิการบทสัมภาษณ์ที่ The Cloud ประมาณปีเศษ และล่าสุด เขาคือบรรณาธิการบริหารคนที่ 5 ในช่วงเปลี่ยนผ่านเข้าสู่ทศวรรษที่ 2 ของ a day นอกจากนี้ จิรเดชยังเป็นเจ้าของนามปากกา jirabell ที่มีผลงานหนังสือมาแล้วหลายเล่ม อาทิ เราไม่ได้อยู่คนเดียวอยู่คนเดียว, The Fairy Tale of Underfox, รักเขาเท่าทะเล, Between Hello and Goodbye: ครู่สนทนา
- a day ก่อตั้งขึ้นเมื่อปี 2543 ด้วยการระดมทุนสาธารณะ (crowdfunding) เพื่อเริ่มต้นทำนิตยสารรายเดือน ปัจจุบัน a day มีสื่อรูปแบบหลากหลายทั้งออฟไลน์ และออนไลน์ ไปจนถึงโปรดักต์ใหม่ๆ ภายใต้ดีเอ็นเอหลักของ a day ที่เชื่อในเรื่องความคิดสร้างสรรค์ ตามสโลแกนที่กล่าวว่า “For all things creative”
- ติดตาม a day ทาง https://adaymagazine.com
FB: facebook.com/adaymagazine/
IG: @adaymagazine
Twitter: @adaymagazine
YouTube: youtube.com/user/adaymagazinechannel