‘สิ่งแวดล้อม’ เป็นรากฐานของชีวิตและลมหายใจของมนุษย์ แม้มนุษย์จะวิวัฒน์จากการอยู่ป่ามาอยู่ในเมืองมานานนับพันปี แต่เราก็ไม่อาจลบล้างความจริงที่ว่า ‘มนุษย์กับต้นไม้ไม่อาจแยกขาดจากกันได้’
มีงานวิจัยจำนวนมากพิสูจน์ออกมาแล้วว่า การอยู่ใกล้ต้นไม้ส่งผลดีต่อสุขกายและสุขภาพใจอย่างไร แต่ภาพหนุ่มสาววิ่งเข้าไปหลบฝนใต้ต้นไม้ใหญ่เหมือนฉากหนังรักโรแมนติก อาจพลิกล็อกกลายเป็นฉากดราม่าสลดใจ หากต้นไม้ต้นนั้นอยู่ใน ‘กรุงเทพมหานคร’ เมืองที่อุบัติเหตุจากต้นไม้เกิดขึ้นได้ตลอดเวลา
ข่าวโศกนาฏกรรมต้นไม้ใหญ่ล้มทับผู้อื่นจนบาดเจ็บหรือเสียชีวิต กลายเป็นความจำฝังหัวที่คนไทยรับรู้ร่วมกันว่า การอยู่ใต้ต้นไม้ไม่ใช่เรื่องปลอดภัย ต้นไม้ถูกใส่ร้ายป้ายสีให้เป็น ‘ผู้ร้าย’ คนประสบอุบัติเหตุถูกนิยามว่า ‘ดวงซวย’ ทั้งที่ความจริง เหตุการณ์เหล่านั้นสามารถป้องกันได้ หากต้นไม้ได้รับการดูแลอย่างดีจากผู้เชี่ยวชาญ
หลายปีที่ผ่านมาอาชีพ ‘รุกขกร’ หรือหมอต้นไม้ เริ่มเป็นที่รู้จักมากขึ้น ทว่าน้อยคนนักจะรู้ว่าในประเทศไทยผู้ที่สามารถเรียกตัวเองว่า ‘รุกขกร’ ได้อย่างเต็มปาก มีแค่เพียงหยิบมือ หนึ่งในก็คือ ผศ.ดร. พรเทพ เหมือนพงษ์ อาจารย์ประจำภาควิชาวนวัฒนวิทยา คณะวนศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ซึ่งหมวกอีกใบหนึ่งของเขาคือ ‘รุกขกร’ ผู้ผ่านการรับรองจากสมาคมรุกขกรรมนานาชาติ (ISA) ถึง 3 แขนง อีกทั้งเขายังเป็นผู้ร่วมผลักดัน ‘สมาคมรุกขกรรมไทย’ ขึ้นมา เพื่อสร้างมาตรฐานการดูแลต้นไม้ของไทยให้ใกล้เคียงกับระดับนานาชาติ
ประสบการณ์คลุกคลีอยู่กับต้นไม้ทั่วกรุงเทพฯ มานานหลายปี พรเทพเห็นบางสิ่งจากมุมมองคนตัดต้นไม้ที่ถูกสังคมโจมตี มุมมองจากภาครัฐที่อยากเปลี่ยนแปลงแต่ก็มีข้อจำกัด มุมมองของคนธรรมดาที่โหยหาสีเขียวมาเติมเต็มจิตใจ รวมถึงมุมมองของรุกขกรที่อยากเห็นต้นไม้มีอายุขัยยืนยาวโดยไม่ล้มไปใส่ใครเข้าสักวัน
ทุกคนเข้าใจว่า ‘รุกขกร’ คือคนที่ดูแลต้นไม้ แต่แท้จริง นิยามของอาชีพรุกขกรคืออะไร
รุกขกร ในภาษาอังกฤษอยู่ในหมวด Scientist หรือนักวิทยาศาสตร์ที่มีองค์ความรู้เกี่ยวกับต้นไม้ ตั้งแต่ต้นไม้คืออะไร ไปจนถึงการนำต้นไม้ไปทิ้ง การตัดต้นไม้ทิ้งให้ถูกวิธีทำยังไง คือเป็นคนที่มีความรู้รอบด้าน รุกขกรไม่ใช่คนปีนต้นไม้นะครับ ภาพจำเรามักมองว่ารุกขกรคือคนที่มีเชือก ใส่หมวกกันน็อก แล้วก็ปีนต้นไม้ แต่จริงๆ ไม่ใช่ คนที่ทำหน้าที่นั้นเป็นส่วนย่อยส่วนหนึ่งของรุกขกร เรียกว่า Pre-worker คนปีนต้นไม้อาจจะไม่ใช่รุกขกรก็ได้ แต่ในส่วนของรุกขกรนั้น ต้องบอกได้ว่านี่คือต้นไม้อะไร ปัญหาของต้นไม้ต้นนี้คืออะไร จะแก้ปัญหาต้นไม้ต้นนี้ได้ยังไง หรือคำถามว่าพื้นที่ตรงนี้ปลูกอะไรดี รุกขกรต้องบอกเขาได้ว่า ควรจะปลูกต้นนี้ เพื่อลดปัญหาที่อาจจะเกิดขึ้นในอนาคต สิ่งเหล่านี้คืองานที่เกี่ยวข้องกับรุกขกรทั้งหมด
เมื่อต้นไม้มีหลากหลายชนิด แต่ละพื้นที่ก็มีปัจจัยแวดล้อมต่างกัน รุกขกรจะต้องประเมินอะไรบ้าง ก่อนจะเริ่มดำเนินการ
ขึ้นอยู่กับภารกิจของงานนั้นๆ ด้วย เริ่มตั้งแต่ว่ามีพื้นที่ว่างๆ อยู่พื้นที่หนึ่ง แล้วเขาอยากได้ป่าข้างๆ บ้านเขา เขาควรจะปลูกต้นอะไร ตอนจบจะเกิดพื้นที่แบบไหน ทั้งหมดคือหน้าที่ของรุกขกรหมดเลย คุณจะวางแผนปลูกต้นอะไรบ้าง หน้าตามันจะเป็นยังไง ถ้าหน้าฝน หน้าร้อน หน้าหนาว ต้นไม้จะเป็นยังไง หรือบางครั้งรุกขกรต้องแก้ปัญหาที่เกิดขึ้น อย่างเช่น อยู่ดีๆ ต้นไม้แห้งตายทั้งสวน รุกขกรก็จะถูกเรียกเข้าไปช่วยดูว่าเกิดอะไรขึ้น จะแก้ปัญหายังไง รวมถึงทำหน้าที่ประเมินต้นไม้ที่มีความเสี่ยงด้วย ผมมักจะเจอคำถามว่า ‘ต้นไม้จะล้มไหม จะล้มเมื่อไหร่’ ผมก็ต้องตอบว่าผมไม่รู้ ผมไม่ใช่หมอดู ไม่ใช่นักพยากรณ์ (หัวเราะ) แต่ที่ผมสามารถบอกได้คือ การประเมินว่ามีโอกาสจะล้มขนาดไหน
เรียกว่าดูตั้งแต่งานในภาพรวม จนถึงปีนต้นไม้ก็ต้องปีน รุกขกรต้องปีนต้นไม้ได้นะ ปีนต้นไม้ขึ้นไปดูว่าปัญหาข้างบนคืออะไร ควรจะตัดต้นไหน แต่หน้างาน รุกขกรอาจจะไม่ได้ทำงานหนักมาก อาจจะดูเป็นงานสบายๆ ยืนชี้สั่งๆ แล้วก็มีคนมารับงานเรา คนเหล่านี้จะมารับงานจากรุกขกรอีกทีว่าเขาต้องทำอะไรบ้าง เราก็จะทำงานสัมพันธ์กันขาดกันไม่ได้ ประเทศไทยถึงมีการรับรอง 2 แบบ รุกขกรจึงเหมือนเป็นหัวหน้า คอยรับผิดชอบงานทั้งหมด
แล้วอะไรเป็นจุดเริ่มต้นที่ทำให้คุณหันมาสนใจการทำงานเป็นรุกขกร
จริงๆ ผมมีอาชีพเป็นอาจารย์นะครับ ไม่ได้มีอาชีพเป็นรุกขกร (หัวเราะ) แต่ว่าผมมีส่วนเกี่ยวข้องในการสอนเรื่องของรุกขกร รุกขกรนี่ไม่ใช่คำใหม่นะ ซึ่งต้องอ้างถึง ศาสตราจารย์ เดชา บุญคำ ท่านเป็นภูมิสถาปนิกและเป็นอดีตอาจารย์ที่คณะสถาปัตยกรรม จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ที่ทำงานเกี่ยวกับเรื่องของเมือง โดยเฉพาะเรื่องของต้นไม้ และได้บัญญัติคำว่า ‘รุกขกร’ หรือ arborist ขึ้นมาเมื่อ 40 ปีที่แล้ว
เมื่อก่อนผมเคยทำงานที่กรมป่าไม้ก่อนมาเป็นอาจารย์ พอย้ายมาอยู่ที่นี่ ผมรู้สึกว่ามีเหตุการณ์ต้นไม้ล้มบ่อย แต่ประมาณ 6-7 ปีที่แล้ว มีเหตุการณ์หนึ่งตอนนั้นเป็นข่าวดังมาก คือเหตุการณ์ต้นไม้ล้มที่ชิดลม มีน้องผู้หญิงเสียชีวิตจากเหตุการณ์นั้น ผมฟังแล้วรู้สึกสนใจข่าวนี้มากเลยขึ้นรถไฟฟ้าไปดู ปรากฏว่ามันเป็นต้นไม้ที่เกิดขึ้นบนฟุตบาทเล็กๆ แต่ต้นไม้มีขนาดใหญ่ประมาณ 10 คนโอบ คือต้นใหญ่มาก ยอดมันสามารถข้ามไปถึงอีกฝั่งของถนนได้เลย ซึ่งมันสวยมาก แต่วันหนึ่งไอ้ต้นนี้มันถูกตราหน้าว่าเป็นฆาตกรฆ่าคนตาย แล้วผมเป็นคนรักต้นไม้ เรียนวนศาสตร์ ทำงานกรมป่าไม้ มาเป็นอาจารย์อยู่คณะวนศาสตร์อีก เรารู้สึกไม่แฟร์ที่จะไปยกความผิดทั้งหมดให้ต้นไม้ ทั้งที่ต้นไม้ก็อยู่ของมันเฉยๆ แค่วันหนึ่งมันไม่ไหวแล้ว ให้ที่ฉันอยู่ฉันแค่นี้เอง แล้วฉันตัวใหญ่ ฉันก็ต้องล้มสิ แต่กลายว่าเป็นความเคราะห์ร้ายของน้องคนนั้นที่ผ่านมาตรงนั้นพอดี
เราเลยรู้สึกว่า ในเมื่อเราสนใจเรื่องนี้ เรามาทำเรื่องนี้ดีกว่า ผมก็พยายามศึกษาว่าในโลกนี้มีวิธีการที่เราดูแลต้นไม้ได้ยังไงบ้าง จนเจอว่าองค์กรหนึ่งชื่อว่า ‘สมาคมรุกขกรรมนานาชาติ’ (International Society of Arboriculture) หรือเราเรียกสั้นๆ ว่า ISA องค์กรนี้เป็นองค์กรระดับโลก ที่สร้างมาตรฐานการดูแลต้นไม้ในเขตเมือง ซึ่งในตอนนั้น เมืองไทยเรายังไม่มีมาตรฐานตัวนี้เลย ไม่มีมาตรฐานใดๆ เลย กฏหมายก็ไม่มี ถ้าคุณจะตัดต้นไม้ คุณเอาบันไดไปพาด มีมีด มีขวาน ก็ปีนขึ้นไปตัดได้เลย แล้วเรียกกันว่า ‘คนตัดต้นไม้’
ผมจึงคิดว่าเราควรรู้ว่ามาตรฐานของโลกนี้คืออะไร ก็เลยตัดสินใจบินไปสอบใบรับรองการเป็นนักรุกขกรระดับนานาชาติ เมื่อ 4-5 ปีที่แล้ว พอกลับมาผมก็รู้แล้วว่าบ้านเรายังห่างไกลกับความเป็นมาตรฐานในการดูแลต้นไม้มากๆ คือเราไม่มีเลย เท่ากับศูนย์หรือติดลบเลยด้วยซ้ำ ถ้าเราย้อนหลังกลับไปดูสิ่งที่เขาทำนะครับ ไม่มีประเทศไหนในโลกที่เขาตัดต้นไม้แบบนี้ และก็ไม่มีประเทศไหนในโลกที่เขาปลูกต้นไม้แบบนี้ ไม่มีหรอก มีแค่ที่ประเทศไทยที่กำลังบอกว่า ‘นี่คือมาตรฐานของตัวเอง แต่เราไม่เคยออกไปดูข้างนอกเลย’ ถึงตรงนั้น ผมคิดว่าการที่ผมได้รับการรับรองคนเดียวแทบไม่มีประโยชน์อะไรเลย คนๆ เดียวจะเปลี่ยนแปลงอะไรได้ แต่สิ่งที่เราทำได้คือ เอาความรู้ตรงนั้นมาเผยแพร่ต่อในฐานะการเรียนการสอน การอบรม
ผมสร้างชมรมกับนิสิตขึ้นมาชื่อชมรมว่า KU Arborist หรือ Kasetsart University Arborist เป็นชมรมที่นิสิตที่สนใจเรื่องของการดูแลต้นไม้มารวมกลุ่มกัน เราจัดอบรมกันบ่อยมาก ก่อนโควิดเราก็เพิ่งจัดไป สิ่งที่เราต้องการคือได้เผยแพร่ความรู้ให้ได้มากที่สุดเท่าที่เราจะทำได้ ใครมาเชิญไปบรรยายที่ไหนเราไปหมด ให้ข้าวกล่องเดียวเราก็ไป (หัวเราะ) เพราะผมคิดว่าการกระจายความรู้เป็นทางเดียวที่ทำให้ต้นไม้ของเราดีขึ้นได้ เราไม่หวงแหนความรู้ใดๆ ทั้งสิ้น เราส่งมอบทุกอย่างให้ทุกทีม ให้ทุกคน หลังจากนั้นก็เลยเกิดการแพร่หลายของอาชีพที่เรียกว่า ‘รุกขกร’ ขึ้นมา
ทุกคนจะได้ยินคำว่ารุกขกรบ่อยขึ้น มีอาจารย์หลายท่านเข้ามาสอนเรื่องนี้มากขึ้น มีคนที่เรียกตัวเองว่ารุกขกรมากขึ้นเรื่อยๆ ซึ่งเป็นเรื่องน่ายินดี คนยิ่งเยอะ ยิ่งช่วยกันทำงาน แต่จนถึงจุดหนึ่งมันเริ่มควบคุมกันไม่ได้ เพราะทุกคนสามารถเรียกตัวเองว่ารุกขกรได้หมด คุณปีนต้นไม้เป็นก็เรียกว่ารุกขกร คุณปีนต้นไม้ไม่เป็นแต่มีผ้าขาวม้าคาดเอวก็เป็นรุกขกร มีรถกระบะคันหนึ่งกับบันไดอันหนึ่งก็เรียกรุกขกร ก็คือเป็นรุกขกรเต็มประเทศไปหมด แต่ปัญหาคือผมได้รับโทรศัพท์บ่อยๆ ว่า “อาจารย์ ทำไมรุกขกรถึงตัดต้นไม้แบบนี้” คือสภาพต้นไม้มีแต่ลำต้น หัวกุดหมด ผมก็คิดว่านี่ฝีมือรุกขกรเหรอ ผมไม่เคยสอนนะ แล้วผมก็ไม่รู้จักคนเหล่านี้ด้วยว่าคือใคร
นั่นจึงเป็นที่มาของการพยายามสร้างมาตรฐานของประเทศไทย ถึงเราจะมีมาตรฐานนานาชาติแล้ว ทุกประเทศสามารถใช้ได้ แต่ถ้าเรามองประเทศอื่น แต่ละประเทศเขามีมาตรฐานของตัวเองเป็น National standard หมด อย่างญี่ปุ่นก็มีของเขา สิงคโปร์ก็มี มาเลเซียก็มี แต่บ้านเราไม่มีอะไรเลย ถ้าจะนำเอามาตรฐานนานาชาติเอามาใช้ยิ่งยากขึ้น เพราะมาตรฐานเขาสูงและละเอียดมาก ผมมองว่ายังอีกไกลที่เราจะไปถึงตรงนั้น เราจึงต้องสร้างมาตรฐานของประเทศไทยขึ้น
2 ปีที่ผ่านมา เราได้จัดตั้ง ‘สมาคมรุกขกรรมไทย’ ขึ้น ซึ่งก็ล้อมาจากของนานาชาตินั่นแหละ แต่ย่อส่วนลงมาให้เป็นในประเทศไทย แล้วก็รวบรวมคนที่มีองค์ความรู้ มีทักษะเรื่องต้นไม้ มาช่วยกันร่างมาตรฐานขึ้นว่า คนจะเป็นรุกขกร คนที่ดูแลต้นไม้ การตัดแต่ง การทำงานที่ปลอดภัย หรือต้นไม้ที่ดี เป็นยังไง เมื่อมีรายละเอียดแล้ว เราก็มีการจัดสอบขึ้นทะเบียนการเป็นรุกขกร คุณจะเรียกตัวเองว่ารุกขกรได้ คุณจะต้องจะต้องสอบกับทางสมาคม โดยสมาคมจะเป็นคนออกข้อสอบในหัวข้อที่รุกขกรต้องรู้อย่าง ไซเลม (xylem) โฟลเอม (phloem) คุณต้องรู้ว่าอยู่ตรงไหน ถ้าคุณไม่รู้อย่าเรียกตัวเองว่า ‘รุกขกร’ (ไซเล็ม คือการทำหน้าที่ลำเลียงน้ำและแร่ธาตุจากรากไปยังส่วนต่างๆ ส่วนโฟลเอมคือการทำหน้าที่ลำเลียงอาหารที่ได้จากการสังเคราะห์แสงจากใบไปยังส่วนต่างๆ ) ตอนนี้เราเริ่มมีการจัดสอบไปแล้วหนึ่งครั้ง และมีรุกขกรที่สมาคมรับรองไปประมาณ 20 คน ซึ่งเราหวังว่าจุดนี้จะเป็นจุดเริ่มต้นของการพัฒนาโครงการหรืออุตสาหกรรมการดูแลต้นไม้ของบ้านเราให้ดียิ่งขึ้นกว่าเดิม
ปัจจุบัน รุกขกรในไทยที่ได้รับรองจาก ISA รวมคุณแล้วมี 2 คน ใช่ไหม
ถ้าเป็น arborist ตอนนี้มี 2 คน น้องอีกคนจบคณะพาณิชยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ไม่ได้เรียนเรื่องต้นไม้มาเลย แต่เขามีความกระหาย มีความใคร่รู้เรื่องต้นไม้ ฉะนั้น ใครก็สามารถเป็นรุกขกรได้ ถ้ามีความตั้งใจเพียงพอ แต่ในระดับนานาชาติเขาจะรับรองเฉพาะทางมาก รุกขกรรับรองใบหนึ่ง จะปีนต้นไม้ก็อีกใบหนึ่ง จะดูเรื่องความเสี่ยงก็อีกใบหนึ่ง จะดูเรื่องสายไฟก็อีกใบหนึ่ง คือมันเป็นเรื่อง specialist หรือเฉพาะทางเหมือนหมอเลย ดังนั้น คนที่เป็นรุกขกรระดับนานาชาติในประเทศไทยจึงมี 2 คน แต่ผมมีใบรับรองเรื่องการปีนต้นไม้อีกหนึ่งใบ เรื่องการประเมินความเสี่ยงอีกหนึ่งใบ ผมจึงได้การรับรองทั้งหมด 3 เรื่องด้วยกัน ส่วนที่ทางสมาคมรุกขกรไทยให้การรับรองมี 2 เรื่อง คือรุกขกรและคนปีนต้นไม้ ตอนนี้กำลังเตรียมการจัดสอบด้วย
คิดว่าสถานการณ์การตัดหรือการดูแลต้นไม้ของทางภาครัฐในปัจจุบันดีขึ้นไหม
ดีขึ้น แต่ยังไม่อยู่ในระดับที่น่าพอใจ เมื่อก่อนมันแย่กว่านี้เยอะ (หัวเราะ) ส่วนหนึ่งอาจจะไม่ใช่เพราะการเข้าไปทำงานของรุกขกรอย่างเดียว แต่เกิดจากกระแสของสังคมที่มีความตระหนักต่อเรื่องต้นไม้ด้วย พอมีโซเชียลมีเดีย มีสื่อเข้ามาเกี่ยวข้อง ถ้าตัดต้นไม้ไม่ดีจะมีการถ่ายรูปแชร์ผ่านเฟซบุ๊กเลย คนที่ตัดก็จะเริ่มระแวงแล้วว่าจะถูกจะถ่ายรูปไปลงโซเชียลไหม ดังนั้น การตระหนักของคนตัดต้นไม้ก็มี
ผมคาดหวังว่าต้นไม้ของเราจะไม่ถูกตัดแบบในอดีตอีก ซึ่งมันยังไม่ใช่ เรายังเห็นการตัดต้นไม้แบบหัวด้วนๆ หัวกุดๆ ตามสองข้างทางอยู่ ก็หวังว่าวันหนึ่งเราจะสามารถไปถึงจุดเดียวกับสิงคโปร์ได้ ประเทศสิงคโปร์ไม่มีการตัดต้นไม้แบบกรุงเทพฯ นะครับ (หัวเราะ) ไม่มีเลยสักต้นเดียว คุณไปเดินดูได้
ในสิงคโปร์ ต้นไม้หนึ่งต้น รุกขกรต้องแวะไปดูอย่างน้อยปีละครั้ง เหมือนแวะไปเยี่ยมเพื่อน คำว่าไปเยี่ยมก็คือไปดูว่าเพื่อนสบายดีไหม เจ็บป่วยอะไรหรือเปล่า ทรงเป็นยังไง ผุพังตรงไหนไหม เป็นลักษณะการดูแลในรูปแบบนั้น ต้นไม้เขาถึงเป็นอย่างที่เห็น แต่พอย้อนมาดูบ้านเรา ถ้าไม่มีปัญหาอะไร เราจะเข้าไปดูไหม ก็คงไม่ ปล่อยให้มันสะสมไปเรื่อยๆ หรืออย่างประเทศญี่ปุ่น เขาจะมอบให้รุกขกรดูแลต้นไม้เพียงคนเดียว คนอื่นไม่ต้องดูแล ไม่ต้องเข้าไปยุ่ง คนที่จะเข้าไปยุ่งกับต้นไม้คือรุกขกร และต้องเป็นคนที่ถูกรับรองว่าเป็นรุกขกรนะ ห้ามเรียกตัวเอง
ผมเสนอกับทาง กทม. ไปว่า ให้บรรจุอาชีพรุกขกรสิ ลอกแนวคิดของประเทศสิงคโปร์ไปเลย เขามีรุกขกรอยู่ในหน่วยงาน เราก็บรรจุรุกขกรแล้วมอบหมายภาระงานไปเลย เขตจตุจักรมีต้นไม้กี่ต้น รุกขกรมีเวลา 365 วัน หักวันหยุดเหลือ 200 วัน ก็เวียนกันไปดูแลต้นไม้ เอาต้นไม้ขนาดใหญ่หรือต้นไม้ที่ขึ้นอยู่ริมถนนเสี่ยงจะล้มใส่ผู้คนก่อนก็ได้ จากต้นไม้ 100 ต้น ต้นที่มีปัญหาที่ต้องการดูแลจริงๆ มีไม่เกิน 5 ต้นหรอก แต่เราจะรู้ไหมว่าต้นไหนบ้าง ถ้าเราไม่เข้าไปดู เพราะฉะนั้น ไม่ได้แบบว่าต้นไม้ในกรุงเทพฯ 5 ล้านต้น รุกขกรต้องเข้าไปตัดแต่งทุกต้น อาจจะเหลือแค่หลักพันต้น ซึ่งอยู่ในวิสัยที่เขาสามารถทำได้ เพียงแต่เขาไม่ทำ
ทางภาครัฐได้พยายามเข้ามาคุยกับรุกขกรเพื่อทำงานร่วมกันบ้างไหม
คุยตลอด คุยไปจนถึงระดับผู้ว่าฯ ซึ่งคนระดับสูงส่วนมากเขาเซย์เยสหมด เอาเลยครับ สอนเลยครับ เราก็เข้าไปสอน เข้าไปอบรม ในระดับสั่งการพวกเขาไม่ได้มีปัญหาใดๆ ไม่เคยมีหน่วยงานไหนไม่รับข้อเสนอของเรา ไม่ว่าจะเป็นการไฟฟ้าหรือกรมทางหลวง กรมทางหลวงนี่ทำงานใกล้ชิดกันมาก ถึงขนาดทำคู่มือให้เลยนะว่าดูแลต้นไม้ยังไง (หัวเราะ) อธิบดีหรือรองอธิบดีเอาหมด แต่ปัญหาจริงๆ ไม่ได้อยู่ตรงนั้น ปัญหาจริงๆ อยู่ที่ผู้ปฏิบัติงาน
พวกพี่ๆ ชุดเขียวต่างหากที่เป็นคนปฏิบัติ เขาเป็นคนที่ไปดูแลต้นไม้ ไม่ใช่ผู้ว่า ถามว่าเขาไม่รู้เหรอว่าต้องดูแลต้นไม้ยังไง ถ้าเป็นเมื่อก่อนอาจจะใช่ แต่หลังๆ มานี้ เราไปอบรมให้ทุกเขตใน กทม. ทำงานร่วมกับมูลนิธิ ทำงานร่วมกับสมาคม ทำงานร่วมกับเครือข่ายที่เกี่ยวกับต้นไม้หลายๆ ส่วน เพื่อช่วยกันสร้างองค์ความรู้ให้เกิดกับพี่ๆ ชุดเขียวที่เขาทำงานภาคสนาม ทุกเขตผ่านการอบรมเรื่องรุกขกรหมด แต่ถามว่าแล้วคนเหล่านั้นไปไหน
ผมเคยถามตอนที่กลับมาเจอกันอีกรอบว่า พี่ได้กลับไปดูแลต้นไม้แบบที่อาจารย์สอนไหม เขาก็บอกว่าอาจารย์ ผมน่ะอยากทำมาก แต่ว่าผมไม่มีโอกาสได้ทำตามแบบที่อาจารย์สอนเลย ข้อจำกัดของเขาพูด 3 ชั่วโมงก็ไม่จบ เช่น มีเวลาในการดูแลต้นไม้บนถนนทั้งเส้นแค่วันเดียว แล้วถนน 2 ฝั่งยาว 3-4 กิโลเมตร บางครั้งให้เวลาแค่ครึ่งวัน บางครั้ง 2 ชั่วโมง เพราะอะไร เพราะเขาต้องไปทำงานอื่นด้วย ถ้าฝนตกท่อตัน พี่ๆ ชุดเขียวต้องวางเลื่อยก่อน แล้วไปลอกท่อ หรือต้องไปปีนป่ายจัดซุ้มจัดไฟตามงานต่างๆ มันเป็นภาระที่เขารับทุกสิ่งทุกอย่างไว้หมด ไม่ใช่มีหน้าที่ดูแลต้นไม้อย่างเดียว แต่เขามีหน้าที่ดูแลทุกอย่างตามที่นายสั่ง ดังนั้นเขาเถียงไม่ได้ เห็นใจเขานะ ต้นไม้ทั้งเส้น ครึ่งวันคุณจะทำยังไงให้จบ การทำให้จบบางครั้งเขาก็ต้องทำแบบนั้น โดยไม่สามารถไปต่อรองว่าขอเวลา 1 เดือน เป็นไปไม่ได้อยู่แล้ว นี่เป็นความจำเป็นของเขา
ถ้าคุณให้รุกขกรหรือ pre-worker ไปทำงานตัดแต่งต้นไม้ ต้นหนึ่งต้องใช้เวลา 2 วัน หรืออาจจะ 3-4 วันด้วยซ้ำ งานแบบละเอียดนะ อย่างเร็วๆ ก็ครึ่งวัน สำหรับ 1 ต้น ต้นไม้ทั้งถนนมีกี่ต้น คุณก็คูณเวลาไป ถ้าจะทำแบบนั้น คุณต้องให้เวลาเขา คุณต้องให้สรรพวิชาความรู้เขา อุปกรณ์ต่างๆ ก็ต้องให้เขา เมื่อก่อน กทม.ไม่มีอุปกรณ์สำหรับการปีนต้นไม้เลย พี่ชุดเขียวเขาต้องเอามือโอบต้นไม้แล้วปีนขึ้นไป เกิดอุบัติเหตุบาดเจ็บบ้าง หรือแม้กระทั่งเสียชีวิตก็มี แต่ไม่ได้เป็นข่าว นั่นคือความเจ็บปวดของคนทำงานด้านนี้ พอตัดต้นไม้เสร็จแล้วยังโดนด่าอีก
ผมแอ่นอกปกป้องคนเหล่านี้ตลอด เพราะเรารู้ว่าเขาไม่ได้อยากทำหรอก ทีนี้ ทำยังไงถึงจะแก้ปัญหานี้ได้ ก็ย้อนกลับไปถึงที่ระดับนโยบายอีกว่า บรรจุตำแหน่งรุกขกรขึ้น เพื่อชี้ว่าต้นไม้ต้นนี้ต้องทำอย่างไรกับมัน แล้วไปจ้างข้างนอกเลย ที่สิงคโปร์ไม่มี pre-worker หรือคนตัดต้นไม้ของตัวเองนะ เขาจ้าง subcontract เอา มีคนไทยไปรับจ้างตัดแต่งต้นไม้ที่สิงคโปร์แล้วมีชื่อเสียงดังมาก คนไทยมีฝีมือ แต่ไม่ทำงานที่ไทย ไปทำงานที่อื่น เพราะบ้านเราไม่มีอาชีพชื่อนี้ด้วย เขาเอาไปตีรวมกับคนทั่วๆ ไปที่มีรถซาเล้งคันหนึ่ง มีเลื่อยอันหนึ่ง แต่คนพวกนี้เขาเป็นคนมีความรู้ มีวิชา มีฝีมือ และค่าแรงก็ต่างกันเยอะ ต่างกันเป็นสิบเป็นร้อยเท่าของบ้านเรา เรื่องอะไรเขาจะกลับมาทำที่นี่ คนเก่งๆ เขาจึงไปอยู่เมืองนอกหมด นั่นคือปัญหาอีกเหมือนกัน แต่หวังว่าการพูดของเรามันจะสร้างผลกระทบที่เกิดขึ้นจริงในเชิงรูปธรรมว่า ควรจะมีการบรรจุตำแหน่งเจ้าหน้าที่รุกขกรลงในตำแหน่งที่เปิดสอบ หรืออย่างน้อยตำแหน่งลูกจ้างก็ได้ และหวังอีกว่าจะไม่มอบงานอื่นๆ ให้เขานอกจากเรื่องต้นไม้ ไม่อย่างนั้นเขาก็ไม่สามารถทำให้สำเร็จได้
หมายความว่าในระดับผู้บริหารของหน่วยงานต่างๆ ค่อนข้างโอเคกับการดูแลต้นไม้ให้ถูกวิธี แต่ปัญหาคือภาระงานอื่นๆ ที่มอบหมายให้ฝ่ายปฏิบัติงานใช่ไหม
แน่นอนว่าเขาสนับสนุน แต่ผมคิดว่าปัญหาอยู่ตรงกลางระหว่างถ่ายทอดลงจากข้างบนลงมาสู่ข้างล่าง ผู้บริหารระดับกลางทางเขาต้องรับงานหลายหน้า อย่างผู้อำนวยการสำนักสิ่งแวดล้อม อะไรก็คือสิ่งแวดล้อมไปหมด ฝนตก น้ำท่วม น้ำเน่า ฝุ่น ถนน ทั้งหมดคือสิ่งแวดล้อม ต้นไม้เป็นเสี้ยวหนึ่งของสิ่งแวดล้อม ซึ่งเราก็เข้าใจปัญหาของเขา แต่เราอยากให้เขาหยิบเอาเรื่องต้นไม้มาวางไว้บนโต๊ะ และมองว่ามันเป็นเรื่องสำคัญอีกเรื่องหนึ่ง ที่ไม่น้อยไปกว่าเรื่องฝุ่น PM2.5 หรือไม่น้อยไปกว่าคาร์บอนมอนอกไซด์ในอากาศ ไม่น้อยไปกว่าเรื่องโลกร้อน เพราะคนในเมืองขาดต้นไม้ไม่ได้
เอาจริงๆ เราไม่ค่อยรู้นะ เวลาเราต้องการคลายเครียด เราจะไปไหนกัน เราจะไปเดินห้างไหม ก็อาจจะเกิดความเครียดมากกว่าเดิมที่ไม่มีเงิน แต่อยากได้ งานวิจัยทั่วโลกบอกว่าคนที่อยู่ใกล้พื้นที่สีเขียวเครียดน้อยกว่าคนที่อยู่ไกลออกไปเท่าตัว คือถ้าคุณเดินไปสวนสาธารณะได้ภายใน 15 นาที คุณจะเป็นคนที่มีความสุขมากกว่าคนที่อยู่ไกลออกไป ง่ายๆ เลยว่า บ้านของคุณสามารถเดินไปสวนสาธารณะได้ไหม ถ้าบ้านคุณอยู่ใกล้สวนสาธารณะระยะทางไม่เกิน 1 กิโลเมตร ถึงจะมีความสุข มันได้รับการพิสูจน์มาแล้วว่าต้นไม้สร้างความสุขให้กับคุณ โดยที่คุณไม่ต้องเสียเงิน
ทำไมเราถึงเร่งสร้างนู่นสร้างนี่ มีห้างสรรพสินค้าขึ้นเป็นดอกเห็ดเต็มไปหมด แต่พื้นที่สวนสาธารณะลดลง ในความน้อยนั้น คุณภาพก็ใช่ว่าจะดี นั่งๆ อยู่เราต้องลุ้นว่าวันนี้จะมีกิ่งไม้หล่นใส่เราหรือเปล่า แล้วยังมีความเจ็บปวดของคนที่ต้องเข้าไปใช้อีก อย่างสวนรถไฟ วันเสาร์-อาทิตย์ คุณไปดูเถอะ คนแย่งกันเพื่อจะนั่งใต้ต้นไม้ เพราะมันร่ม ซึ่งเราไม่มีอะไรแบบนั้นให้เขาเลย มันเป็นความสุขที่เราไม่จำเป็นต้องจ่ายเงิน และควรจะมีกันทุกคนหรือเปล่า
กรุงเทพฯ ไม่ใช่พื้นที่สำหรับคนรวยอย่างเดียวนะ คนจนอย่างผมก็มีเยอะที่ต้องการไปนั่งใต้ต้นไม้ ซื้อส้มตำซื้อข้าวเหนียวไปนั่งกับลูก แค่เท่านี้เขาก็มีความสุขแล้ว หลายปีก่อนมีข่าวว่าพ่อแม่ลูกซื้อส้มตำไปนั่งกินกันใต้ต้นไม้ แล้วต้นไม้ล้มทับตายทั้งบ้าน เจ็บปวดซ้ำเติมไปอีก นั่นคือความเจ็บปวดของคนทั่วๆ ไปแบบเรา ถ้าผมมีเงินเยอะผมไปเดินเอ็มโพเรียมก็มีความสุขแล้ว แต่คนส่วนใหญ่เราไม่ได้มีชีวิตแบบนั้น เรายังต้องการพื้นที่สีเขียวและต้นไม้ที่สวนอยู่
แต่พื้นที่สวนสาธารณะในกรุงเทพฯ ก็ยังห่างไกลอัตราที่ควรจะมีอยู่มาก
ใช่ ถ้าหารตามสัมมโนประชากร พื้นที่สวนสาธารณะในกรุงเทพฯ จะเหลือ 3 ตารางเมตรต่อคน แต่ถ้าเราบวกประชากรแฝงเข้าไปอีก ที่มีประมาณ 10 ล้านคน แล้วหาร 2 มันจะเหลือประมาณ 1.1 กว่าๆ ตารางเมตร ซึ่งห่างไกลกับเส้นมาตรฐานขององค์การอนามัยโลก (WHO) ที่กำหนดว่าเมืองที่มีสิ่งแวดล้อมที่ดีควรมีพื้นที่สีเขียวอยู่ที่ 9 ตารางเมตรต่อคน
ที่นี้ลองไปมองเมืองอื่นๆ บ้าง ถ้าเรื่องพื้นที่สีเขียว เราชอบเทียบกับสิงคโปร์ เพราะสิงคโปร์เป็นประเทศที่อยู่ในสภาพแวดล้อม สภาพอากาศ สภาพอะไรต่างๆ เหมือนกับประเทศไทย โดยเฉพาะมีความเป็นเมืองแบบกรุงเทพฯ มาก ถ้าใครเคยไปสิงคโปร์ ลืมตามานึกว่าอยู่กรุงเทพฯ เลย คล้ายกันมาก แต่ความต่างที่ชัดเจนคือสิงคโปร์ต้นไม้เยอะ สิงคโปร์มีพื้นที่สีเขียวเกือบๆ 70 ตารางเมตรต่อคน ทั้งที่ความหนาแน่นของเมืองเขาไม่ต่างจากกรุงเทพฯ
มองให้ลึกไปกว่านั้น ผมว่าต้นไม้ของเขามากกว่า 90% เหมือนกับกรุงเทพฯ แต่ว่าต้นไม้ของเขาสามารถปล่อยให้มีขนาดใหญ่ได้ ถ้าคุณได้ไปเดินที่ออร์ชาร์ด (Orchard) แหล่งช้อปปิ้งชื่อดัง คุณจะเจอต้นประดู่ที่มีความสูง 20-30 เมตร อยู่ริมถนนหน้าห้างดังๆ และผมก็มีคำถามว่า เขาไม่กลัวต้นไม้หักหรือเกิดอุบัติเหตุเหมือนที่หน่วยงานบ้านเราชอบอ้างหรือ บ้านเราถ้าต้นไม้โตหน่อยก็ตัดแล้ว ผมเคยเข้าไปคุยกับหน่วยงานที่รับผิดชอบว่าทำไมคุณต้องตัดต้นไม้ด้วย มันแตกขึ้นมาได้ปีหนึ่ง คุณก็ตัดอีกแล้ว ส่วนใหญ่เขาจะตอบว่าต้นไม้มักจะชอบหัก หล่น หรือฉีกจนเกิดอุบัติเหตุ แล้วหน่วยงานเขาต้องเป็นคนรับผิดชอบ
พอเกิดเหตุการณ์แบบนี้ขึ้นมา สุดท้ายหน่วยงานเขาต้องเป็นคนแบกรับภาระทุกอย่างที่เกิดขึ้น ไม่ว่าจะเป็นการถูกฟ้องร้องเรียกค่าเสียหาย การลงโทษจากหน่วยงานต้นสังกัด เพราะฉะนั้นต้องทำให้ปัญหาหมดไป ถ้าต้นไม้ไม่มีกิ่งมันก็ไม่หัก ก็เลยตัดกิ่งต้นไม้ออกไปเลย แต่พอย้อนกลับไปคำถามว่า แล้วทำไมสิงคโปร์ถึงไม่ต้องตัด มันจะโยงไปถึงการดูแลต้นไม้ การดูแลต้นไม้ของสิงคโปร์กับที่กรุงเทพฯ ค่อนข้างต่างกันโดยสิ้นเชิง ไม่ว่าจะด้วยวิธีการหรือคนดูแล
เท่ากับว่าการที่ตัดไม้ในกรุงเทพฯ ส่วนหนึ่งเพราะหน่วยงานต้องการตัดความรับผิดชอบที่จะเกิดขึ้นกับตัวเองใช่ไหม
ผมคิดว่ามันเป็นการแก้ปัญหาทางเลือกหนึ่งของเขาแล้วกัน คือเขาแก้ปัญหาที่ต้นเหตุที่ว่า ถ้าต้นไม้หักก็ไม่ต้องมีต้นไม้ซะ ปัญหาจะได้จบ เหมือนผมเป็นผู้ประเมินความเสี่ยงต้นไม้ มันมีวิธีการหนึ่งที่เขาบอกว่า ถ้าคุณต้องการให้ความเสี่ยงหมดไป คุณต้องตัดต้นไม้ออก นั่นคือทางออก ไม่มีวิธีการไหนที่ทำให้ความเสี่ยงหมดไปนอกจากตัดออก นี่คือหลักการ แต่เราสามารถบริหารจัดการความเสี่ยงนั้นได้ด้วยการตัดแต่งหรือดูแลให้ถูกวิธี ทำให้ความเสี่ยงลดลงมาจนถึงระดับที่ต่ำมาก
ข้อจำกัดเรื่องพื้นที่มักถูกยกมาเป็นเหตุผลว่า ทำไมกรุงเทพฯ ถึงไม่สามารถเพิ่มพื้นที่สีเขียวหรือพื้นที่สาธารณะได้มากกว่านี้ แล้วถ้าเราแค่ดูแลต้นไม้ที่มีอยู่ให้ดีขึ้นล่ะ
กรุงเทพฯ มีพื้นที่แค่ล้านไร่ มันก็คงได้แค่ล้านไร่แหละ (หัวเราะ) ผมไม่สามารถจะเปลี่ยนห้างสรรพสินค้าให้กลายเป็นพื้นที่สีเขียวได้ อันนี้ยอมรับ เรามีพื้นที่สีเขียวเท่านี้ เราไม่มีทางเพิ่มขึ้นได้ บางครั้งอาจจะมีคนบอกว่า นี่ไงใต้ทางด่วน เอาต้นไม้ไปแขวนไว้ที่เสาสิ ถามว่ามันเขียวไหม มันก็เขียวนะ แต่ใครจะไปนั่งมองเสาใต้ทางด่วน
ผมจึงอยากให้เน้นไปที่คุณภาพของต้นไม้ ต้นไม้ที่ปลูกตอนนี้มันสวยไหม คุณภาพชีวิตของต้นไม้เขาดีไหม เพราะมันส่งผลกระทบไปถึงคนที่เข้าไปใช้บริการต้นไม้เหล่านั้นด้วย คุณกล้าไปนั่งใต้ต้นไม้ตอนลมพัดไหม ผมไม่กล้าแล้วคนหนึ่ง ยิ่งทำงานด้านนี้ ผมยิ่งมองเห็นว่าต้นไม้ในกรุงเทพฯ มันพร้อมที่จะทำให้ใครสักคนตายได้เสมอ พร้อมที่จะทำให้คนบาดเจ็บหรือเสียชีวิตได้ตลอดเวลา บางครั้งฝนตกปุ๊บ ผมเดินออกจากต้นไม้เลย เพราะผมไม่รู้จะเกิดอะไรขึ้น
ถ้าเราเข้าไปดูเรื่องคุณภาพของต้นไม้ เราจะสามารถทำอะไรให้ดีได้มากขึ้นกว่านี้อีกเยอะ เคยมีคนถามผมว่า ควรทำยังไงกับต้นไม้ที่เป็นอยู่ทุกวันนี้ดี ผมบอกว่าตัดทิ้งแล้วปลูกใหม่คือทางออกที่ดีที่สุดในตอนนี้ ถ้าเราไม่เริ่ม มันก็ไม่ได้เริ่มสักที แต่เราจะดันทุรังอยู่กับสิ่งนี้ต่อไปหรือ มันเหมือนฝังระเบิดเวลาไว้ในสวนที่ต้นไม้จะล้มแหล่ ไม่ล้มแหล่ แต่เขาก็บอกว่าตัดไม่ได้ ถ้าตัดอาจจะโดนร้องเรียน แต่ถ้ามันล้มใส่คนตาย คุณจะอธิบายได้ยากกว่านี้ นั่นคือสิ่งที่เราอยากทำมาก คือทำให้ต้นไม้คุณภาพดีขึ้น
บ่อยครั้งอันตรายที่เกิดจากต้นไม้ นำไปสู่การรับรู้ร่วมกันของคนในสังคมว่า การอยู่ใต้ต้นไม้อาจไม่ปลอดภัย
ถูกต้อง กลายเป็นว่าคนมองว่าการอยู่ใกล้ต้นไม้เป็นสิ่งอันตราย เป็นสิ่งที่ไม่น่าเข้าใกล้ เพราะไม่รู้ว่ากิ่งมันจะหล่นลงมาเมื่อไหร่ ซึ่งไม่ควรจะเกิดความรู้สึกนี้ ต้นไม้เขาเป็นเพื่อน เขามีแต่ให้อย่างเดียวเลยนะ ให้ทั้งออกซิเจน ให้ร่มเงาอะไรต่างๆ ทำไมเราถึงรู้สึกกลัว เพื่อนไม่ควรจะกลัวเพื่อนใช่ไหมครับ แล้วการที่เรากลัว ก็เพราะเราไม่รู้ว่าจะเกิดอะไรขึ้นกับเพื่อนของเรา แล้วมันจะเกิดผลกระทบกับเราด้วยไหม เคสต้นไม้ล้มใส่หรือหักใส่คนจนบาดเจ็บหรือเสียชีวิตในต่างประเทศมีไหม มี แต่น้อยมาก คือถ้าต้นไม้สักต้นหนึ่งล้มใส่คน คงจะเป็นข่าวดังระดับชาติเลย แต่บ้านเรารู้สึกชิลๆ อ๋อ ต้นไม้ล้มเหรอ (หัวเราะ) เดี๋ยวมันก็ล้มอีก ซึ่งจริงๆ แล้วเราไม่ควรรู้สึกชินชากับมัน ไม่ควรมองว่าเป็นเรื่องปกติ ไม่ควรมองว่ามันป้องกันไม่ได้ จริงๆ ทุกอย่างป้องกันได้หมด ถ้าเราใส่ใจกับมันมากกว่านี้
ส่วนใหญ่อันตรายจากต้นไม้เกิดจากอะไร
ต้นไม้เป็นสิ่งมีชีวิต มันเสื่อมสภาพตามอายุเหมือนคน คนหนุ่มคนสาวแข็งแรง คนแก่ก็ต้องอ่อนแอลงไป ต้นไม้ก็เช่นเดียวกัน ต้นไม้เขตร้อน ถ้าอยู่ในสภาพแวดล้อมดีๆ อากาศดีๆ ดินดีๆ สามารถอายุยืนได้ถึง 300-400 ปี แต่ต้นไม้เหล่านั้นพอมาอยู่ในสภาพแวดล้อมเมืองแบบเรา มันถูกทำให้ต้องอยู่ในสภาพที่เกิดความเครียดตั้งแต่เกิดจนแก่ เพราะฉะนั้น อายุเขาจะสั้นลงมากจนน่าตกใจ
ในกรุงเทพฯ คุณหาต้นไม้ที่อายุเกิน 100 ปี ผมว่าแทบจะหาไม่ได้แล้ว ทั้งที่ความเป็นจริงเขาควรมีอายุได้ถึง 400 ปี เช่น ต้นตะเคียนหรือยางนา บ้านเราตอนนี้ กลายเป็นว่าต้นไม้อายุสั้นเหมือนคนที่อายุสั้น เหมือนคนที่พอโตได้หน่อย ก็ป่วยเป็นโรคมะเร็งแล้วตายไป แต่ด้วยความอายุสั้นของเขา ก่อนจะตาย จะเกิดสิ่งที่เรียกว่าความเสี่ยง ความเสี่ยงอันตรายที่เกิดจากร่างกายที่อ่อนแอของเขา เช่น อยู่ดีๆ กิ่งก็หักลงมา มันเกิดขึ้นได้ตลอดเวลา เพราะโครงสร้างด้านในอาจจะถูกเชื้อราเข้าไปทำลาย หรืออาจจะเกิดจากการที่เราเอาดินไปถมที่โคนต้นจนรากของเขาตายไปหมด ส่วนมากเราไม่ค่อยเข้าใจว่ารากของต้นไม้ต้องหายใจนะ การเอาปูนไปถมเพื่อทำถนน เอาดินไปถมเพื่อจะสร้างบ้านอะไรเหล่านี้ ทำให้ต้นไม้ตาย ไม่ใช่ว่ารากอยู่ในดินแล้วจะอยู่ได้ เหตุผลเหล่านี้เรามักไม่รู้ และพวกนี้จะสะสมไปเรื่อยๆ จนวันหนึ่งที่เขาแบกรับไม่ไหว นั่นคือสิ่งที่เกิดขึ้นว่าทำไมต้นไม้ล้มบ้าง หักบ้าง
อีกส่วนหนึ่งที่เกี่ยวข้องก็คือการเป็นเมือง ถ้าถามว่าต้นไม้ในป่ากิ่งหักหรือล้มเหมือนกันไหม ก็ล้มก็หักเป็นปกติ แต่มันไม่ล้มโดนใคร พอมาอยู่ในเมือง ถ้าวันหนึ่งต้นไม้หัก มันมีโอกาสที่จะโดนใครได้มากกว่าอยู่ในป่า แต่ถ้าเราสามารถจะดูแลให้เกิดเหตุการณ์แบบนั้นได้น้อยลง มันมีหลักการ มีวิธีการอยู่
การเอาต้นไม้เข้ามาอยู่ในเมืองย่อมหลีกเลี่ยงไม่ได้ที่รากต้นไม้จะต้องถูกอัดอยู่ภายใต้คอนกรีต แต่จะทำอย่างไรให้ต้นไม้สามารถเติบโตได้โดยที่ทางเท้าไม่พัง หรือต้นไม้ไม่อ่อนแอจนเสี่ยงล้มลงมาทับผู้คน
เป็นเรื่องยากที่จะทำให้ต้นไม้กับทางเท้าไม่สู้รบกัน แต่มีวิธีการออกแบบอยู่ว่าทำยังไงให้ต้นไม้สามารถเติบโตใต้ทางเท้าได้ เรามีโครงสร้างของพื้นทางเท้าที่ทำให้ต้นไม้อยู่ข้างล่างได้ โดยที่ไม่ใช่แค่เอาปูนไปราดแล้วจบแค่นั้น มันมีวิธีการที่จะทำให้เกิดระยะถอยร่นระหว่างต้นไม้กับตัวอาคาร หรือถนนที่ต้นไม้แต่ละชนิดสามารถอยู่ได้ สมมติผมอยากปลูกต้นนนทรี ระยะร่นของพื้นซีเมนต์กับต้นไม้ต้องเท่ากับ 1 เมตร เป็นอย่างน้อย และทุกที่ต้องทำแบบนี้ แต่ปัญหาคือบ้านเราไม่มีมาตรฐานนั้น คุณอยากทำก็ทำ คุณอยากราดซีเมนต์คุณก็ราด แต่ถ้าถามว่าทางเท้าอยู่ร่วมกันกับต้นไม้ได้ไหม อยู่ร่วมกันได้แน่นอน ถ้าเรารู้ว่าเราจะอยู่ร่วมกันยังไง
คนส่วนใหญ่ไม่รู้ว่าต้นไม้เรียนรู้ที่จะอยู่กับคอนกรีตได้ ถ้าค่อยๆ อยู่ไป หมายถึงว่าปลูกปุ๊บคอนกรีตมาเลย พวกนี้อาจจะอยู่ได้นาน แต่ถ้าอยู่จนแก่แล้วคอนกรีตมาที่หลัง พวกนี้ปรับตัวไม่ได้ เหมือนเอาคนแก่ไปไว้อีกที่หนึ่งที่เขาไม่เคยอยู่ นึกภาพปู่ย่าตายายเราที่อยู่ต่างจังหวัด แล้วเราพาเขาไปอยู่กรุงเทพฯ เขาก็อยู่ไม่ได้ เหมือนกันกับต้นไม้ใหญ่ที่เอาซีเมนต์ไปราดเขาทีหลัง หรือกรณีต้นไม้ที่ไม่เคยถูกตัด โดยหลักการ เราไม่ควรตัดต้นไม้ต้นใหญ่ เราไม่ควรปีนขึ้นไปตัด เราควรตัดต้นที่ความสูงท่วมหัวเรา ซึ่งการตัดจะทำให้เห็นอนาคตว่าต้นไม้จะโตออกมาเป็นยังไง แต่บ้านเราไปตัดเอาตอนแก่ มันเหมือนเอาคนอายุ 80 ไปผ่าตัดหัวใจ ด้วยความหวังว่าเขาจะอยู่อีก 100 ปี แล้วการที่บ้านเราตัดแบบนั้น มันยิ่งกว่าผ่าตัดหัวใจอีก คือเป็นการผ่าตัดใหญ่มาก คุณเล่นเอาออกหมดเลย ต้นไม้จะอยู่รอดได้ยังไง
ในความเป็นจริง ต้นไม้ยิ่งแก่ยิ่งไม่ควรตัด หรืออาจจะต้องสื่อสารกันออกไปว่าต้นไม้ต้นใหญ่อย่าไปยุ่งเลย ถ้ามันไม่ได้อันตราย ไม่เสี่ยงถึงขั้นกิ่งหักกิ่งผุ ก็ปล่อยเขาไป อย่าไปยุ่ง อย่าไปตัด เขามีชีวิตที่สมบูรณ์ของเขาอยู่แล้ว เขามีใบเท่านี้เพราะเขาอยากมีเท่านี้ เขาไม่ได้อยากมีมากหรือน้อยกว่านี้
ทราบมาว่าในประเทศอังกฤษมีหน่วยงานคอยประเมินราคาต้นไม้โดยเฉพาะ หรือที่สิงคโปร์ก็มีการเก็บข้อมูลต้นไม้แต่ละต้น แล้วประเทศไทยเราเป็นอย่างไรบ้าง
ไม่มี (หัวเราะ) แต่เรื่องการประเมินราคา จริงๆ เคยมีเคสหนึ่งเขาส่งข้อมูลการประเมินราคาต้นไม้มาให้ผมดู เป็นต้นไม้ใหญ่เลยนะ อยู่กลางกรุงเทพฯ เลย เขาประเมินมาว่าต้นไม้ต้นนี้สูงมากประมาณตึก 7-8 ชั้น ตัวเลขประเมินราคาอยู่ที่ 3,000 บาท ผมขยี้ตาเลยว่าเลข 0 มันหายไปหรือเปล่า (หัวเราะ) ปรากฏว่าเขายืนยันจริงๆ ว่า 3,000 บาท ผมจึงขอดูวิธีการประเมินว่าตัวเลขนี้มาได้ยังไง ปรากฎว่าผู้ประเมินเขาประเมินว่า ถ้าโค่นต้นไม้ต้นนี้ แล้วตัดไปขายเป็นไม้ฟืน จะนำไปขายได้กี่บาท ผมก็เลยเข้าใจว่า ไม่แปลกหรอกถ้าจะได้ราคา 3,000 บาท ในเมื่อเขาประเมินแบบนี้ ถ้าเอาไปขายให้ลุงขับซาเล้ง 3,000 บาท อาจแพงไปด้วยซ้ำ
แต่ความเป็นจริง เราควรจะมองไปถึงประโยชน์ที่เป็นประโยชน์ในการตอบแทนเชิงนิเวศด้วย ซึ่งเรียกว่า ecological services คือเราไม่ได้มองให้เป็นมูลค่าของไม้ที่จะนำไปขายเป็นฟืน เพราะต้นไม้มันช่วยให้เรามีสุขภาพดี ไม่ต้องเข้าโรงพยาบาล ซึ่งมีการประเมินเป็นตัวเลขนะว่า คนที่เข้าไปใช้บริการสวนสาธารณะ เขาไม่ต้องไปหาหมอ ไม่ต้องไปแอดมิดด้วยโรคความดัน โรคหัวใจ หรือโรคคอเลสเตอรอลต่างๆ ตรงนี้ประเมินเป็นมูลค่าได้เท่าไหร่ ต้นไม้ต้นหนึ่งช่วยให้ตึกลดแอร์ลงได้เท่าไหร่ ช่วยลดเกิดการสูญเสียหน้าดินได้เท่าไหร่ แล้วเงินที่เราสูญเสียไปกับน้ำปุ๋ยไปเท่าไหร่ มูลค่ามันมหาศาลมากกว่า 3,000 บาทเยอะ ยังไม่นับมูลค่าที่เป็น aesthetic หรือความสวยงาม
โรงแรมหนึ่งมีต้นไม้ใหญ่ กับโรงแรมข้างๆ กันที่ไม่มีต้นไม้ มูลค่าต่างกันนะ ห้องที่หันหน้าไปทางต้นไม้ราคาจะทวีคูณ การตลาดที่มีต้นไม้เข้าไปเกี่ยวข้อง มันเป็นการตลาดอีกชั้นหนึ่งเลย โรงแรมที่โล้น มีแต่พื้น มีลานจอดรถเป็นซีเมนต์ ก็จะราคาหนึ่ง โรงแรมที่ทางเดินเป็นดิน มีต้นจามจุรี ก็จะอีกราคาหนึ่ง คอนโดมิเนียมที่อีกฝั่งสามารถหันไปเห็นต้นไม้ได้ ก็จะอีกราคาหนึ่ง ฝั่งที่เห็นตึกราคาหนึ่ง นี่คือมูลค่าของต้นไม้ที่เราไม่เคยคิด อย่างเช่น ห้องฝั่งต้นไม้ 3 ล้าน ห้องฝั่งตึก 2 ล้าน เท่ากับต้นไม้ต้นนี้สร้างมูลค่าเพิ่มห้องละ 1 ล้านบาท แล้วคุณมีกี่ห้องก็คูณเข้าไป
บางคนอาจจะไม่เชื่อว่าคนจะซื้อห้องเพราะต้นไม้ แต่คนซื้อครับ ผมทำงานกับพวกโครงการเหล่านี้เยอะมาก แต่ละโครงการพยายามทุกสิ่งอย่างเพื่อที่จะรักษาต้นไม้ไว้ ถ้าเอาต้นไม้ไปใส่ห้องได้ เขาคงทำไปแล้ว เพราะเขารู้ว่ามูลค่ามันจะเกิดขึ้นได้เพราะต้นไม้ ไม่ใช่แค่เอาต้นไม้ไปฝืนขายได้ 3,000 บาท จะเห็นว่าทุกอย่างมันเกี่ยวข้องกันหมด
ผมเคยไปทำงานที่บ้านหลังหนึ่ง เป็นบ้านของคนที่มีฐานะดี เขาบอกว่าต้นไม้ต้นนี้เขาเห็นมาตั้งแต่เด็ก จนตอนนี้เขาอายุเยอะแล้ว เขาตื่นมาเขาจะเห็นต้นไม้ต้นนี้ยื่นกิ่งเข้ามาตรงกระจกห้องนอนเขา แล้วก็จะมีกระรอก 2 ตัวเดินมาเกาะ นี่คือมูลค่าที่ประเมินค่าไม่ได้ คือแทบจะไม่ต้องประเมินเลย เขาแทบจะยอมทุกสิ่งทุกอย่าง เสียเงินเท่าไหร่เขาไม่ว่า ขอแค่ต้นไม้ต้นนี้ยังอยู่ที่เดิม มูลค่ามันมากกว่าที่เราคิดไว้เยอะมากๆ บางคนยอมจ่ายเงินแบบที่ไม่ต้องพูดถึงเรื่องตัวเลขเลย
อันนี้พูดถึงตลาดที่มีระดับมากๆ ที่รุกขกรเข้าไปเกี่ยวข้อง ผมเคยเจอเคสหนึ่งที่แบบว่าเป็นลานจอดรถ มีรถแพงๆ คันละเป็นสิบล้านจอดอยู่เต็มเลย แล้วมีต้นไม้อยู่ต้นหนึ่งผุหมดแล้วทั้งต้น เอนไปทางรถของเขา ผมบอกว่าน่าจะตัดต้นไม้ออกนะ เพราะผมคิดว่ามันน่าจะล้มในเร็ววันนี้ เดี๋ยวอาจจะเกิดอุบัติเหตุกับรถที่จอดอยู่ได้ เขาบอกว่า “รถผมจะซื้อกี่คันก็ได้ แต่ต้นไม้ต้นนี้ผมปีนตั้งแต่เด็กๆ ปีนเล่นตั้งแต่คุณพ่อคุณปู่ยังอยู่ ผมไม่ยอมตัด ไม่ยอมให้มันหายไปหรอก ผมจะเอาไว้แบบนี้ ล้มก็ช่าง” ซึ่งเข้าใจได้ว่ามูลค่าของต้นไม้เป็นสิ่งที่เราคาดไม่ถึงจริงๆ ถ้าวันนั้นเขาไม่ยื่นข้อมูลมาให้ผม เขาก็ประเมินต้นไม้ไปแค่ราคา 3,000 บาท เพราะเขาไม่รู้ แต่เขาจะทำประกันชีวิตให้ต้นไม้ เขาเลยอยากรู้ว่าบริษัทประกันจะตีเป็นวงเงินเท่าไหร่ ซึ่งพอมันผูกพันกับเขา ตัวเลขเปลี่ยนไปถึง 20 ล้านเลยนะ (หัวเราะ)
สรุปแล้วต้องอย่าลืมใช่ไหมว่า ‘ต้นไม้เป็นสิ่งมีชีวิต’
ใช่ อย่าลืมว่าต้นไม้เขาเป็นเพื่อนเรา เขาพูดได้ (หัวเราะ) ผมชอบเอาหูไปแนบต้นไม้ ผมได้ยินเสียงนะ มันเป็นเสียงบางอย่างที่เกิดในต้นไม้ และ forest bathing หรือการอาบป่าก็กำลังเป็นเทรนด์มากในบ้านเรา แต่ญี่ปุ่น ยุโรป อเมริกา เขานำไปก่อนแล้ว เพราะการอาบป่าช่วยเรื่องการเยียวยาความเจ็บปวดทางจิตให้ดีขึ้น เวลาไปเดินในสวนแล้วถอดรองเท้ามันทำให้จิตใจผ่อนคลาย อารมณ์เดียวกับนั่งสมาธิเลย แต่เราไม่ได้เคร่งขนาดนั้น แค่ฟังเสียงต้นไม้กระทบกัน ก็รู้สึกว่าจิตใจมันได้รับการเยียวยา โดยที่เราไม่ต้องเสียเงินสักบาท
Tags: Arborist, รุกขกร, วันสิ่งแวดล้อมโลก, สิ่งแวดล้อม, The Frame