อิเกีย (IKEA) วอลโว่ (Volvo) สปอติฟาย (Spotify) เครื่องบินกริพเพน

ความเป็นสวีดิชอยู่ในชีวิตประจำวันมากกว่าที่หลายคนคิด ประวัติศาสตร์ความสัมพันธ์ระหว่างไทยกับสวีเดนก็เชื่อมโยงสืบเนื่องมาอย่างยาวนานนับตั้งแต่ 156 ปีก่อน 

เท่านั้นยังไม่พอ ในแต่ละปีมีคนสวีเดนเดินทางเยือนไทยมากกว่า 2 แสนคน ไทยเป็นประเทศที่ได้รับความนิยมมากเป็นลำดับต้นๆ ในเอเชีย มีคนไทยมากกว่า 7 หมื่นคนอาศัยอยู่ในประเทศสวีเดน ประเทศเล็กๆ ในแถบสแกนดิเนเวียนที่มีประชากรเพียง 10 ล้านคน 

ความแน่นแฟ้นของทั้ง 2 ประเทศนำมาซึ่งความร่วมมือหลากหลายเรื่อง นอกจากเรื่องเศรษฐกิจ การทหาร และการเมืองแล้ว สวีเดนยังโดดเด่นเรื่อง ‘หนังสือภาพ’ สำหรับเด็ก

Pippi Langstrump ปิ๊ปปี้ ถุงเท้ายาว ของผู้ประพันธ์อย่าง แอสตริด ลินด์เกรน (Astrid Lindgren) เป็นการ์ตูนสำหรับเด็กที่มีชื่อเสียงยาวนานกว่า 80 ปี และเป็น ‘แรงบันดาลใจ’ ให้กับเด็กทั่วโลก ขณะที่วรรณกรรมจำนวนมากล้วนมีต้นทางจากประเทศนี้

ใน ‘เทศกาลหนังสือภาพสำหรับเด็ก’ หรือ Children’s Picture Book Festival ปีนี้ สถานเอกอัครราชทูตสวีเดนเป็นผู้สนับสนุนคนสำคัญ ด้วยเชื่อว่า ‘การอ่าน’ ยังมีความสำคัญต่อพัฒนาการเด็ก และหนังสือภาพเด็กที่ดีจะช่วยให้พัฒนาการของเด็กเติบโตอย่างก้าวกระโดด เป็นประชากรคุณภาพต่อไป

The Momentum ชวน อันนา ฮัมมาร์เกรน (Anna Hammargren) ท่านทูตหญิงชาวสวีเดนนั่งคุยกันเบาๆ ตั้งแต่เรื่องเล็กๆ อย่าง ‘หนังสือเด็ก’ บทบาทเอกอัครราชทูต ไปจนถึงเรื่องใหญ่อย่างความสัมพันธ์ไทย-สวีเดน

“ถ้าให้เลือกหนึ่งคำที่สะท้อนความเป็นสวีดิชมากที่สุด คุณจะเลือกคำไหน” เราเริ่มต้นถามท่านทูต

“ขอเลือกคำว่า ‘ฟิกา’ ละกัน”

ฟิกา (Fika) ในภาษาสวีเดน หมายถึง การพักจิบกาแฟ จิบชา และกินของหวานเล็กๆ กัน ท่านทูตบอกว่า โดยมากมักจะเป็น คาเนลบุลลา (Kanelbullar) หรือ Cinnamon Roll จากนั้นก็มีบทสนทนาเล็กๆ ระหว่างกันอย่างผ่อนคลาย

“สำหรับเรา คนสวีดิช ฟิกาไม่ใช่เพียงการดื่มกาแฟ จิบชา แต่คือการปฏิสัมพันธ์กันระหว่างเพื่อนร่วมงาน มีบทสนทนาเล็กๆ ระหว่างการทำงาน ที่อาจสร้างบรรยากาศอันเป็นมิตรมากยิ่งขึ้น

“และในหลายครั้ง ความคิดใหม่ๆ ไอเดียใหม่ๆ ก็เกิดขึ้นระหว่างการแลกเปลี่ยนกับเพื่อนร่วมงานที่อาจจะอยู่ต่างแผนก อาจไม่ได้คุยกันทุกวัน แต่เมื่อพูดคุยกันมากขึ้น คุณก็จะได้แนวคิดที่คุณคาดไม่ถึง จริงไหม” ท่านทูตขยายความให้เราฟัง

จากนั้นบทสนทนาในช่วงสายวันอาทิตย์อันรื่นรมย์ก็เริ่มต้นขึ้น

สังคมสวีเดน หนังสือภาพเด็ก และ ‘เมื่อทุกคนเดินจากไป’ 

ท่านทูตอันนาเริ่มเล่าให้ฟังว่า สวีเดนให้ความสำคัญกับการเรียนรู้ในวัยเด็กเป็นอย่างมาก การ์ตูน-หนังสือภาพสำหรับเด็ก ถือเป็นส่วนหนึ่งของวัฒนธรรมสวีเดน เช่นเดียวกับตัวท่านทูตเองที่โตมากับหนังสือเด็กมีชื่อหลายเล่ม

“สิ่งสำคัญที่ทำให้เด็กเรียนรู้ก็คือ มีหนังสือดีๆ โดยเฉพาะหนังสือภาพที่กระตุ้นเด็กๆ ให้มีความคิดสร้างสรรค์ เห็นสิ่งรอบตัวกว้างขึ้น เปิดจินตนาการ และส่งเสริมทักษะในวัยเยาว์”

สำหรับท่านทูต เธอมีหนังสือในความทรงจำ 2 เล่ม หนึ่งคือหนังสือชื่อ The Wild Baby (Den Vilda Bebin) ซีรีส์วรรณกรรมเยาวชนที่เล่าเรื่องเด็กทารกชื่อ ‘เบน’ กับการผจญภัยไปยังที่ต่างๆ สร้างเรื่องต่างๆ ที่ตามมาด้วยปัญหา โดยปราศจากผู้ปกครอง และอีกหนึ่งเรื่องเป็นนิทานภาพเรื่องดังที่ชื่อว่า Karlsson on the Roof เกี่ยวกับชายผู้ที่มี ‘ใบพัด’ อยู่บนหัว หากเขากดปุ่มเมื่อไร ก็จะเปิดโลกการผจญภัยไปได้ไกลขึ้น

เรื่องหลังเขียนขึ้นโดย แอสตริด ลินด์เกรน (Astrid Lindgren) ซึ่งน่าจะเป็นนักเขียนนิยายภาพเด็กที่โด่งดังที่สุดในสวีเดน 

“ทั้ง 2 เรื่องว่าด้วยการผจญภัย ว่าด้วยการประสบกับสถานการณ์ต่างๆ ซึ่งหลายครั้งก็ออกจะดูเปิ่นๆ ใช่ มันไม่ใช่เรื่องที่เล่าแล้วดู ‘มีความรู้’ เท่าไรนัก แต่ทั้ง 2 เรื่องต่างก็มีตัวเดินเรื่องหลักเป็นเด็ก เด็กที่บางครั้งก็แก้ปัญหาด้วยแนวคิดที่คาดไม่ถึง ด้วยแนวคิดที่ตลก ยากจะเป็นจริง ทว่าเมื่อย้อนกลับไปดู แนวคิดพวกนี้ก็เป็นแนวคิดที่ผู้ใหญ่อย่างเราเอามาปรับใช้ได้เหมือนกัน”

ย้อนกลับไปมองวัยเด็กอันแสนสุข ท่านทูตอันนาเล่าให้ฟังว่า เธอตื่นเต้นเสมอเมื่อนึกถึงภาพที่แม่เธอหยิบหนังสือเล่มใหม่ๆ มาฝาก นั่งอ่านด้วยกัน บนเก้าอี้ตัวเดียวกัน หัวเราะไปด้วยกัน พร้อมกับที่แม่ของเธอชวนให้ดูภาพในหนังสือนิทานเหล่านี้ และช่วยกัน ‘ตีความ’ ว่าภาพเหล่านี้หมายถึงอะไร

แล้วทำไมสวีเดนถึงได้สนใจเรื่อง ‘การเรียนรู้’ ผ่านนิทานภาพเหล่านี้เหลือเกิน เราตั้งคำถามกับท่านทูตด้วยความสงสัย

“คิดว่าน่าจะด้วยสภาพสังคม เมื่อร้อยกว่าปีก่อน เราไม่ใช่ประเทศที่ร่ำรวยนัก แต่หนทางที่จะทำให้ฐานะของประเทศดีขึ้น ก็ต้องผ่านการปฏิรูปการศึกษา และทางที่จะปฏิรูปการศึกษา ก็คือต้องทำให้เด็กมีการเรียนรู้ที่ดีขึ้น ขณะเดียวกันเมื่อพวกเราเห็นว่า หนทางที่จะทำให้เรื่องเหล่านี้ดีขึ้นคือผ่านหนังสือภาพ หนังสือนิทานเหล่านี้ ทั้งรัฐ ทั้งเอกชน ทั้งภาคประชาชนต่างก็สนับสนุนนิยายภาพเหล่านี้กันอย่างแข็งขัน” ท่านทูตเล่าให้ฟัง

บทสนทนาต่อไป เราชวนให้ท่านทูตเลือกหนังสือนิทานภาพสักเล่มที่จัดแสดงในงานนี้

Everyone Walks Away หนังสือที่เขียนโดย อีวา ลินด์สตรอม (Eva Lindström) คือหนังสือภาพที่ท่านทูตเลือก

ไม่นานมานี้ Everyone Walks Away เพิ่งแปลเป็นภาษาไทยโดยสำนักพิมพ์นานมีบุ๊คส์ และมี นายแพทย์ประเสริฐ ผลิตผลการพิมพ์ เขียนคำนิยมตอนหนึ่งว่าเป็น “นิทานเหงาๆ เหมาะมากสำหรับเด็กที่คิดว่าตัวเองไม่มีเพื่อน”

“เรื่องนี้น่าจะตรงใจกับหลายๆ คน เพราะพูดถึงการที่เด็กคนหนึ่งรู้สึกเหงา รู้สึกไม่เป็นส่วนหนึ่งของแก๊ง เป็นส่วนหนึ่งของสังคม แต่จะทำอย่างไรต่อ จะจัดการกับความรู้สึกนั้นอย่างไร หนังสือเล่มนี้น่าจะพูดแทนใจใครหลายๆ คน ไม่เฉพาะเด็ก แต่เมื่อผู้ใหญ่อย่างเราเล่าเรื่องนี้ให้เด็กฟัง ก็อาจสะท้อนมุมมองบางอย่างให้พวกเขาได้”

กล่าวสำหรับลินด์สตรอม ผู้เขียนหนังสือเล่มนี้ ท่านทูตเล่าให้ฟังว่า ลินด์สตรอมเพิ่งได้รับรางวัล ALMA Award ซึ่งเป็นรางวัลที่ใหญ่ที่สุดในวงการหนังสือวรรณกรรมเด็ก โดยเกิดขึ้นเพื่อระลึกถึง แอสตริด ลินด์เกรน (Astrid Lindgren) นักประพันธ์หนังสือเด็กที่มีชื่อเสียงที่สุดในสวีเดน และรางวัลที่ได้รับก็เป็นรางวัลใหญ่มาก คิดเป็นเงินไทยกว่า 15 ล้านบาท ถือเป็นรางวัลสำหรับวรรณกรรมเด็กที่มีมูลค่าสูงที่สุดในโลก โดยนักเขียนหนังสือสำหรับเด็กสามารถส่งเรื่องราวของตัวเองเข้ามาชิงรางวัลดังกล่าว และเคยมีนักเขียนไทยได้เข้าชิงรางวัลเมื่อไม่กี่ปีที่แล้ว สะท้อนให้เห็นว่า สวีเดนให้ความสำคัญกับวรรณกรรมสำหรับเด็ก-นิทานสำหรับเด็กมากเพียงใด

“ที่สำคัญคือรางวัลนี้ไม่ได้มอบให้เฉพาะปัจเจกบุคคล แต่ยังมอบให้องค์กรที่ช่วยสร้างบรรยากาศแห่งการเรียนรู้ ส่งเสริมการอ่าน และมีส่วนช่วยวงการวรรณกรรมเด็กให้แผ่ขยายไปไกลขึ้น

ชั้นล่างของ TCDC สถานที่จัดงานเทศกาลหนังสือภาพสำหรับเด็ก มีการจัดแสดงงานของลินด์เกรนพร้อมกับกิจกรรมเวิร์กช็อปอีกหลายหัวข้อ เพื่อสะท้อนให้เห็นความสำคัญของการอ่านและวรรณกรรมสำหรับเด็ก

เพราะ ‘นิทานเด็ก’ คือการเผยแพร่วัฒนธรรมสวีดิชอย่างหนึ่ง

แล้วทำไมสวีเดนถึงสนใจเผยแพร่วัฒนธรรมเรื่องนี้ให้กับไทย เราถามท่านทูตต่อ

อันที่จริงมีหลากหลายเรื่องราวที่สวีเดนพร้อมถ่ายทอดให้ไทย ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของ ‘การออกแบบ’ ที่กลายเป็นสไตล์ติดตัว เป็นอัตลักษณ์อย่างหนึ่งของชาติเล็กๆ ชาตินี้ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องเทคโนโลยี ที่สวีเดนเองเป็นผู้นำด้านการสื่อสาร-โทรคมนาคม รวมถึงมีเทคสตาร์ทอัพน้อยใหญ่จำนวนมากอยู่ในสตอกโฮล์ม (Stockholm) หรือเรื่องอุตสาหกรรมภาพยนตร์ที่หลายชาติในกลุ่มประเทศนอร์ดิกก็โดดเด่นไม่แพ้ชาติอื่นในยุโรป รวมถึงเรื่องสิ่งแวดล้อม เรื่องความยั่งยืน ที่ท่านทูตก็ให้ความสนใจเป็นพิเศษ

“สถิติจากยูนิเซฟ (UNICEF) ที่สะท้อนว่า มีเด็กไทยเพียง 1 ใน 3 เท่านั้นที่มีหนังสือเด็กมากกว่า 3 เล่มที่บ้าน ฉะนั้นเราอยากสร้างความเป็นไปได้ในแง่นี้ ในแง่ที่ทำให้เด็กไทยมีหนังสือนิทาน มีนิยายภาพที่มีคุณภาพมากขึ้นอยู่ในบ้าน ส่งเสริมการอ่าน และสร้างการเรียนรู้ไปพร้อมกัน โดยอาศัยบทเรียนจากสวีเดน”

ตั้งแต่ 30 พฤศจิกายน-15 ธันวาคม 2567 สิ่งที่สถานทูตสวีเดนพยายามถ่ายทอดคือ การถ่ายทอดความรู้ว่าด้วย ‘การอ่าน’ และการสร้างสรรค์นิยายภาพเหล่านี้ ไปจนถึงองค์ความรู้ว่าด้วยพัฒนาการเด็ก ที่ท่านทูตเชื่อว่าเป็นวัฒนธรรมสากล โดยมีจุดมุ่งหมายให้เด็กไทยเติบโตอย่างมีคุณภาพ มีความรู้ มีพัฒนาการที่สมวัยมากขึ้น โดยเริ่มต้นผ่านการอ่านหนังสือที่มีคุณภาพดีเหล่านี้

ขณะเดียวกันอิเกีย (IKEA) ยังสนับสนุนพื้นที่ห้องสมุดสไตล์โคซี่อันแสนอบอุ่นไว้ในนิทรรศการ เผื่อผู้ปกครองคนไหนหรือโรงเรียนใดมาดูงานแล้วอยากสร้างห้องสมุดแบบเดียวกัน ก็สามารถถอดแบบจากงานนี้ได้

ท่านทูตบอกว่า แนวคิดของอิเกียมีการสร้างพื้นที่ให้เด็กเล็กสามารถเข้าถึงหนังสือนิทานเหล่านี้ได้ง่ายที่สุด อาจด้วยหมอนหนุนนุ่มสบาย อาจด้วยสีอันฉูดฉาด หรือด้วยเฟอร์นิเจอร์ที่ออกแบบสำหรับเด็ก พร้อมกับมีชั้นหนังสือที่มีนิทานภาพอันหลากหลายล้วนเป็นสิ่งที่เด็ก พ่อแม่ และครู ต่างพึงปรารถนา 

“เราคิดว่าส่วนหนึ่งที่วัฒนธรรมการอ่านเราแข็งแรง เกิดจากการมีห้องสมุดที่มีคุณภาพดี วัฒนธรรมของเรายังส่งเสริม ‘ห้องสมุดสาธารณะ’ ในทุกหนทุกแห่ง และเป็นที่นิยมของบรรดาผู้ปกครอง ขณะเดียวกันชั่วโมงการอ่านและเวิร์กช็อป ว่าด้วยการอ่านที่เกิดขึ้นสม่ำเสมอสอดคล้องกับการเรียนในหลักสูตรปกติ ยังเป็นส่วนสำคัญอย่างมากในระบบการศึกษาของเรา

“ฉันคิดว่าสิ่งเหล่านี้ประกอบสร้างสวีเดนขึ้นมา สร้างคนของเราให้มีคุณภาพในที่สุด”

‘ขอนแก่น’ จังหวัดที่ท่านทูตชอบมากที่สุด

ช่วงเวลานี้ เดือนธันวาคม เป็นช่วงเวลาที่คนสวีเดนมาเที่ยวไทยมากเป็นพิเศษ ด้วยอากาศในกรุงสตอกโฮล์มขณะนี้อยู่ที่ติดลบ 1 องศาเซลเซียสในช่วงกลางวัน และกำลังจะกลายเป็นติดลบ-หนาวเย็นลงเรื่อยๆ นั่นทำให้ไม่ว่าจะเป็นจังหวัดภูเก็ตหรือในกรุงเทพฯ ชาวสวีดิชต่างก็มาสัมผัสอากาศอันอบอุ่นที่เมืองไทย

“เพราะอากาศหนาว (ยิ้ม) เหตุผลง่ายๆ เลย” ท่านทูตตอบคำถามทันที เมื่อเราถามว่าทำไมคนสวีเดนถึงชอบเมืองไทยนัก

“แต่มากไปกว่านั้นก็คือ คนไทยมีจิตใจเป็นมิตร วัฒนธรรมไทยมีความหลากหลาย มีหลายเรื่องให้เรียนรู้ อาหารไทยก็เป็นที่นิยมที่นั่น และถูกปากคนสวีเดนไม่น้อย คุณอาจไม่รู้ว่า นอกจากแหล่งท่องเที่ยวเชิงประวัติศาสตร์ในกรุงเทพฯ และแหล่งท่องเที่ยวฝั่งทะเลอันดามันแล้ว คนสวีเดนจำนวนไม่น้อยยังชื่นชอบ ‘เชียงใหม่’ เพราะรอบนอกเชียงใหม่ก็ค่อนข้างเงียบสงบ และมีหลายอุทยานแห่งชาติให้ได้เดินป่า สำรวจธรรมชาติ”

กับอีกเรื่องหนึ่งที่ทำให้หลายคนอิจฉาก็คือ ตามกฎหมายสวีเดนนั้นให้ความสำคัญกับ Work-life Balanced ไม่น้อย โดยคนสวีเดนสามารถลาหยุดได้ขั้นต่ำ 25 วันหากทำงานมาแล้ว 1 ปี และจะทบไปมากขึ้นเรื่อยๆ นั่นทำให้คนสวีเดนจำนวนไม่น้อยลาหยุดเพื่อมาอยู่เมืองไทยกันยาวๆ

เมื่อถามท่านทูตถึงจังหวัดที่เธอชอบ ท่านทูตอันนาเลือก ‘ขอนแก่น’ ซึ่งทำให้เราค่อนข้างแปลกใจ

“อันที่จริงขอนแก่นเป็นจังหวัดที่น่ารัก นักท่องเที่ยวหลายคนอาจจะมองข้าม แต่สำหรับฉันเห็นว่า มีกิจกรรมหลายอย่างให้ทำที่นั่น มีมหาวิทยาลัยที่มีคุณภาพ รวมถึงมีสถานที่ทางศิลปวัฒนธรรมที่ไม่ด้อยไปกว่าจังหวัดอื่นๆ

“และโดยส่วนตัว ในฐานะคนที่ชอบงานฝีมือ งานหัตถกรรม ขอนแก่นถือเป็นตัวเลือกที่ดีที่เดียว”

เมื่อเดือนตุลาคมที่ผ่านมา ท่านทูตอันนาเดินทางเยือนขอนแก่น เพื่อพบปะกับผู้แทนจากหน่วยงานรัฐบาล ภาคเอกชน ภาควิชาการ และองค์การประชาสังคม พร้อมทั้งยังมีโอกาสจัด Roadshow ที่มหาวิทยาลัยขอนแก่น โดยแลกเปลี่ยนทั้งเรื่องความเท่าเทียมทางเพศ สิทธิมนุษยชน และเรื่องสวัสดิภาพ ‘เด็ก’ ที่สวีเดนให้ความสนใจเป็นแกนกลาง

ข้อมูลที่น่าสนใจพบว่า มีคนสวีเดนอาศัยอยู่ในขอนแก่นและภาคอีสานราว 1,000 คน ขณะเดียวกันคนไทยส่วนมากในสวีเดนส่วนใหญ่ก็เป็นคนอีสาน

“แน่นอนว่าความเข้มแข็งของขอนแก่นทำให้เป็นจังหวัดที่ฉันชื่นชม” ท่านทูตอันนาระบุ 

1 ปีเศษหลังดำรงตำแหน่งเอกอัครราชทูต แน่นอนว่าหน้าที่สำคัญคือ การส่งเสริม ‘ความร่วมมือ’ ระหว่าง ‘รัฐต่อรัฐ’ และอำนวยความสะดวกต่อประชาชน-นักลงทุนจากสวีเดน แน่นอนว่า งานของทูตสวีเดนเกี่ยวพันกับหลายภาคส่วน เมื่อเดือนที่แล้วท่านทูตเพิ่งติดตามรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศของสวีเดนในระหว่างการเยือนไทย พร้อมกับ ชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร เพื่อดูงานด้านเศรษฐกิจสร้างสรรค์แถวย่านตลาดน้อย-เยาวราช หลายโครงการของสวีเดนคือ การถ่ายทอดองค์ความรู้ให้กับ กทม.ทั้งเรื่องการเปลี่ยนผ่านสีเขียวและการพัฒนาเมืองอัจฉริยะ

ขณะเดียวกันเมื่อปลายสัปดาห์ที่ผ่านมา อันนาได้เข้าพบกับ ภูมิธรรม เวชยชัย รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม เพื่อหารือเกี่ยวกับความร่วมมือทางอุตสาหกรรมป้องกันประเทศที่มีมายาวนาน ซึ่งรวมถึงระบบเครื่องบินขับไล่กริพเพนด้วย

แต่สำหรับเธอ สิ่งที่สนใจจะถ่ายทอดยังมีอีกหลายเรื่อง ไม่ว่าจะเป็นเรื่องการทำงานร่วมกันเพื่อลดภาวะ ‘โลกรวน’ หรือการถ่ายทอดองค์ความรู้ว่าด้วยความยั่งยืนจากบริษัทเอกชนสวีเดนไปยังรัฐบาลไทย และบริษัทเอกชนไทยที่สนใจเรื่อง ESG (Environment, Social, Governance) 

“ข้อสำคัญคือ เรามีบริษัทสวีดิชจำนวนมากที่ทำงานในเรื่องพลังงานสะอาด, พลังงานแสงอาทิตย์, การจัดการขยะที่ต้องการถ่ายทอดองค์ความรู้เหล่านี้ให้กับคนไทย ซึ่งในฐานะนักการทูต เราอยากเป็นตัวกลางในการผลักดันเรื่องเหล่านี้ให้ทุกคนตระหนักถึงปัญหาร่วมกัน และหาทางออกให้กับโลกใบนี้ร่วมกัน” 

‘โซเชียลมีเดีย’ เครื่องมือชั้นดี เผยแพร่ Branding ประเทศ

หากใครติดตามเฟซบุ๊กแฟนเพจ Embassy of Sweden in Bangkok จะพบหลายโพสต์ที่ทันสมัย ทันกระแส หยิกแกมหยอกแบบแสบๆ คันๆ แต่ได้สาระ-ความรู้เสมอ 

เมื่อครั้งซีรีส์ สืบสันดาน ออกฉายทางเน็ตฟลิกซ์ (Netflix) เพจสถานทูตสวีเดนได้ดึงภาพจากหนังเป็นบทสนทนาระหว่าง ‘อารยา’ แห่งตระกูลเทวสถิตย์ไพศาล และ ‘ไข่มุก’ ที่ตอบโต้เรื่อง ‘ชั่วโมงการทำงาน’ ในฐานะคนรับใช้ของตระกูล

เพจสถานทูตระบุว่า ‘ไข่มุก’ ให้ความสำคัญกับการทำงาน Work-life Balance แบบสวีเดน และให้ข้อมูลเรื่อง ‘ชั่วโมงการทำงาน’ ว่า พนักงานสวีเดนทำงานเฉลี่ยปีละ 1,441 ชั่วโมง ซึ่งน้อยกว่าค่าเฉลี่ยของกลุ่มประเทศ OECD (ประเทศที่พัฒนาแล้วในยุโรปและอเมริกาเหนือ) ราว 18% แต่ผลิตภาพก็ยังคงเทียบเท่ากับประเทศอื่นๆ ในสหภาพยุโรป พร้อมกับข้อความ “สวีเดนให้ความสำคัญกับความสมดุลระหว่างชีวิตและการทำงานเป็นอันดับแรก” เรียกยอดเอนเกจเมนต์ให้สูงลิ่ว

ขณะเดียวกันเมื่อกระแสข่าวเรื่อง ‘ภาษีมูลค่าเพิ่ม’ หรือ VAT กำลังมาแรง เพจของสถานทูตสวีเดนก็ออกมาโพสต์ว่า VAT นั้นสำคัญไฉน พร้อมออกมาให้ข้อมูลว่า ในสวีเดนภาษีมูลค่าเพิ่มสินค้า-บริการอยู่ที่ราว 25% 

มีเหตุผล มีนโยบายอะไรอยู่เบื้องหลังโซเชียลมีเดียของสถานทูตหรือเปล่า เราถามท่านทูต

ท่านทูตอันนายิ้ม ก่อนจะหันหน้าไปถามทีมงานในคำถามเดียวกับเรา

“ไม่มีหรอก เราตั้งใจที่จะสื่อสารข้อความ และสื่อสารแบรนดิงของสวีเดนออกไปให้คนไทยรับรู้เป็นวงกว้างมากที่สุด

“ความตั้งใจของเราคือ การถ่ายทอดภาพลักษณ์ สื่อสารงานของเราออกไปยังคนไทย แต่ก็ตองมีงานที่ซีเรียสอย่างภารกิจของสถานทูตฯ และในเวลาเดียวกัน ก็ต้องสอดแทรกด้วยอารมณ์ขัน เป็นสาระเบาๆ ที่ถ่ายทอดความเป็นสวีดิชลงไป 

“เราอาจลงเรื่องขนมปังกรอบ Knäckebröd เราอาจถ่ายทอดเรื่องวิธีการกินมีตบอล แต่ในเวลาเดียวกัน เราก็ต้องการถ่ายทอดความสัมพันธ์ระหว่างไทย-สวีเดน ไปพร้อมๆ กัน นั่นคือวิธีที่เราเลือกใช้ในการเข้าถึงคนหลากหลายกลุ่ม-หลากหลายวัย”

ทั้งหมดคือการสอดแทรกวัฒนธรรม-สอดแทรกความเป็นสวีเดนลงไปยังทุกโพสต์… ท่านทูตทิ้งท้าย

หนังสือที่ดี คือหนังสือที่สามารถทำให้เด็กเกิด ‘คำถาม’ ต่อได้อีกหลายข้อ

หนึ่งในคนสำคัญที่สถานทูตเชิญมาร่วมในงานที่ TCDC คือ แอนนา ฮัลล์เกรน (Anna Hällgren) ผู้เชี่ยวชาญด้านการเรียนรู้ และผู้เชี่ยวชาญด้านหนังสือภาพเด็กชาวสวีเดนมาถ่ายทอดความรู้ให้กับเด็กไทย 

ในวันที่พูดคุย แอนนาเพิ่งเดินทางมาจากสวีเดนได้ 1 วัน ก่อนเปิดเวิร์กช็อปเพื่อทำความรู้จัก Pippi Langstrump ปิ๊ปปี้ ถุงเท้ายาว ในช่วงเช้าให้กับบรรดานักเล่าเรื่อง ผู้ปกครอง และเด็กๆ ที่สนใจ ก่อนที่ตอนบ่ายจะบรรยายเรื่อง ‘สิทธิเด็ก’ ในการเข้าถึงเรื่องราว เข้าถึงนิทาน และหนังสือภาพสำหรับเด็กที่ดี

ก่อนหน้านี้เธอเคยทำหน้าที่เป็น ‘บรรณารักษ์’ และทำหน้าที่เป็นนักพัฒนาวรรณกรรมเด็กมากว่า 30 ปี โดยมีประสบการณ์ทำงานทั้งในประเทศ และต่างประเทศ นอกจากนี้เธอยังเป็นหนึ่งในคณะกรรมการเพื่อจัด Reading Lists ให้กับเด็กอนุบาล เด็กปฐมวัย ไปจนถึงมหาวิทยาลัย ซึ่งประกอบไปด้วยหนังสือภาพ หนังสือนิทาน วรรณกรรมเยาวชน ไปจนถึงบทกวี เพื่อให้คนสวีเดนเข้าถึงวรรณกรรมในรูปแบบที่หลากหลายมากที่สุด

หลังพูดคุยกับท่านทูต เรามีเวลานั่งพูดคุยกับแอนนาถึง ‘เป้าหมาย’ ของสวีเดนในการสร้างหนังสือเด็ก และสภาพแวดล้อมที่เอื้อกับการเรียนรู้ของเด็กมากที่สุด 

“ทุกคนควรมีสิทธิในการเข้าถึงหนังสือที่ดีตั้งแต่ยังเด็ก เพื่อเปิดโลกให้พวกเขามีจินตนาการ เปิดโลกให้รู้จักคำพูดต่างๆ เป็นจุดเริ่มต้นในการฝึกพัฒนาการ เป็นจุดเริ่มต้นในการมองเห็นภาพ มองเห็นงานศิลปะ ลากเส้นต่อจุดทุกจุดเข้าด้วยกัน พร้อมกับได้เรียนรู้วิธีการอ่าน วิธีการตีความจากภาพ ไปพร้อมๆ กัน”

นอกจากนี้ยังเชื่อมความสัมพันธ์ในครอบครัว ระหว่างลูก-พ่อ-แม่ เมื่อได้เริ่มลงมืออ่านด้วยกัน

“เมื่อนั่งอยู่พร้อมกันทั้งครอบครัว เราได้อ่านออกเสียง เราได้เห็นภาพที่เล่าเรื่องๆ เด็กๆ ได้ถามคำถามว่าสิ่งนี้คืออะไร สิ่งนั้นคืออะไร เด็กๆ ได้วาดภาพตาม เป็นการเสริมสร้างจินตนาการ ตั้งแต่ยังอยู่ในวัยเพิ่งเริ่มเรียนรู้”

เพราะหากประเทศต้องการพลเมืองที่เข้มแข็ง ก็เป็นเรื่องดีหากเริ่มต้นจากการอ่านหนังสือ และเรียนรู้เรื่องผู้คนผ่านหนังสือเพื่อเริ่มต้นเปิดโลก

“ในสังคมประชาธิปไตย ถือเป็นเรื่องสำคัญมากในการอ่าน อ่าน อ่าน และตีความ พร้อมกับบอกให้เด็กๆ เล่าความรู้สึกจากสิ่งที่พวกเขาอ่านนั้น” แอนนาสรุปความ

คุณมีหนังสือที่คุณชอบเป็นพิเศษไหม 

แอนนาบอกว่า เธอเป็นแฟนหนังสือของลินด์เกรน นักเขียนหนังสือภาพสำหรับเด็กผู้โด่งดัง ดังจนถูกตั้งเป็นชื่อรางวัลสำหรับผู้ที่อุทิศตัวให้กับวงการหนังสือภาพสำหรับเด็ก

“สำหรับฉัน เธอเป็นผู้หญิงที่แข็งแกร่งที่สุด มีหัวใจที่ใหญ่ที่สุด พร้อมช่วยเหลือเด็กที่อ่อนแอ และแม้ว่าเธอจะมีชื่อเสียง มีฐานะมั่นคงแล้ว แต่เธอก็พร้อมจะช่วยเหลือคนอื่นเสมอ”

หนึ่งในงานสร้างสรรค์สำคัญคือการผจญภัยของ ‘ปิ๊ปปี้’ ตัวการ์ตูนเด็กที่เธอพาตุ๊กตามานั่งด้วยระหว่างให้สัมภาษณ์ ปี 2025 ที่จะถึงนี้ปิ๊ปปี้จะมีอายุครบ 80 ปี เรื่องของปิ๊ปปี้คือการผจญภัยที่สร้างแรงบันดาลใจ ไม่เฉพาะกับสวีเดน แต่แปลเป็นอีกเป็น 70 ภาษาทั่วโลก รวมถึงภาษาไทย

“สำหรับสังคมที่เปิดกว้าง การมีหนังสือภาพดีๆ ที่ให้ความรู้เกี่ยวกับคุณค่าของมนุษย์ ถือเป็นเรื่องสำคัญมาก เพราะหนังสือเหล่านี้ยังช่วยเปิดใจให้เราเข้าใจความเห็นอกเห็นใจผู้อื่น และช่วยให้เราเข้าใจด้วยว่าเราต้องการอะไร และเราอยากเติบโตขึ้นเป็นผู้ใหญ่แบบไหน”

แล้วทำไมสวีเดนถึง ‘เก่ง’ ในเรื่องเหล่านี้นัก

แอนนาบอกว่า ในอดีตสวีเดนเป็นเพียงชุมชนเล็กๆ มีเพียงไม่กี่หมู่บ้าน และมีชาวไร่เพียงไม่กี่คน 

สิ่งหนึ่งที่ยึดเหนี่ยวชาวสวีเดนเข้าไว้ด้วยกันก็คือ การรวมตัวกันในช่วงเย็น เล่าเรื่อง เล่าตำนานต่างๆ บนโต๊ะกินข้าว เรื่องเล่าต่างๆ ถูกส่งต่อ และเริ่มถูกบันทึกเป็นวรรณกรรม และนิยายภาพ

ทั้งหมดถูกพัฒนาขึ้นเรื่อยๆ โดยให้ความสำคัญทั้งกับเรื่อง และภาพ ทั้งภาคราชการ ภาคประชาสังคมต่างช่วยกันยกระดับให้หนังสือภาพสำหรับเด็กเหล่านี้ ‘พรีเมียม’ มากขึ้น เข้าถึงเด็กได้มากขึ้น อีกทั้งเครือข่ายห้องสมุด ทั้งห้องสมุดโรงเรียน ห้องสมุดสาธารณะ ต่างก็มีส่วนช่วยส่งผ่านเรื่องนี้ไปยังเด็กสวีเดนทั่วประเทศ พัฒนาเรื่องราวให้มีเนื้อหาหลากหลายมากขึ้น สร้างแรงบันดาลใจได้มากขึ้น

และหนังสือภาพสำหรับเด็กเหล่านี้ยังมีส่วนสำคัญในการทำให้มุมเล็กๆ สำหรับอ่านนิทานในห้องสมุด กลายเป็นมุมยอดนิยมในห้องสมุดทั่วประเทศ เพราะพ่อแม่ต่างก็พาลูกไปใช้เวลาว่างกับหนังสือภาพเหล่านี้

ขณะเดียวกันแอนนายังทำงานกับ Bokstart หน่วยงานราชการที่ทำหน้าที่ ‘เยี่ยมบ้าน’ ช่วยแนะนำหนังสือให้กับพ่อแม่ผู้ปกครอง และนั่งอ่านหนังสือกับพ่อแม่ให้เด็กๆ ฟัง

“สิ่งที่เราอยากสร้างคือ อยากสร้างให้ทุกบ้านต้องมีห้องสมุดเล็กๆ หากพ่อแม่ไม่ได้มีเงินให้มากนัก เราก็มอบหนังสือให้พวกเขา 5-10 เล่ม ทุกๆ 6 เดือน 1 ปี 3 ปี และ 5 ปี”

แล้วเพราะอะไรคุณถึงสนใจในการทำงานด้านนี้

“ตอนฉันเกิด พ่อแม่ฉันอายุไม่มากนัก เขาอายุ 17-19 ปีเท่านั้น และไม่ได้มีการศึกษาที่มากพอ แต่ในเวลาต่อมา เมื่อพวกเขามีลูก พวกเขาก็เริ่มเข้าสู่โลกของการอ่าน และรู้ว่าการอ่านสำคัญขนาดไหน สำหรับตัวฉันเอง สิ่งสำคัญที่เปิดโลกให้กับฉัน ก็คือช่วงเวลาที่พวกเขานั่งอ่านหนังสือให้ฉันฟัง เล่าถึงนิทาน พาฉันเข้าสู่โลกของวรรณกรรมอันทรงคุณค่า ราวกับว่า พาเข้าสู่โลกแห่งเวทมนตร์

“จากนั้นห้องสมุดก็กลายเป็นบ้านของฉัน หนังสือกลายเป็นสิ่งที่ทำให้ฉันได้แรงบันดาลใจที่อุ่นใจที่สุด และทำให้ตัวฉันแข็งแกร่งมากยิ่งขึ้น”

และเมื่อเป็น ‘บรรณารักษ์’ ความรู้สึกต่อไปก็คือต้องการถ่ายทอดเรื่องเดียวกันให้เด็กๆ ได้รู้สึกแบบเดียวกัน

สิ่งสำคัญอีกอย่างหนึ่งสำหรับการอ่านในเด็กก็คือ นอกจากทำหน้าที่ในการสร้าง ‘แรงบันดาลใจ’ แล้ว ยังต้องทำให้เด็กสงสัยและตั้งคำถามต่อไป

เพราะถึงที่สุด สิ่งสำคัญที่ทั่วโลกพูดถึงไม่ใช่เพียงการอ่าน และการ ‘รู้หนังสือ’ เท่านั้น หากแต่คือการเรียนรู้ตลอดชีวิต

ก่อนจากกัน เราชวนแอนนาสอนภาษาสวีดิชเราอีก 1 คำ แอนนาเลือกคำว่า ชาร์เล็ค (kärlek) ซึ่งมีความหมายว่า ‘ความรัก’ 

“จริงๆ ความรักคือทุกสิ่ง ไม่ว่ารักแฟน รักครอบครัว รักลูก หรือรักเพื่อน เพราะฉะนั้น นี่คือคำที่ฉันอยากให้แฟนๆ The Momentum ได้เรียนรู้” แอนนาทิ้งท้าย

Tags: , , , , , , ,