“นักกีฬาก็มีนักจิตวิทยาคอยดูแลนะ อย่างวิวก็มีคนเดียวกับที่ดูแลเทนนิสเลย”
หากใครได้ดูถ่ายทอดสด การแข่งขันแบดมินตันชายระหว่าง วิว-กุลวุฒิ วิทิตศานต์ และวิกเตอร์ อเซลเซน (Viktor Axelsen) ในรอบชิงชนะเลิศโอลิมปิก 2024 จะได้ยินหนึ่งในทีมนักพากย์ของการแข่งขันครั้งนั้นพูดถึงนักจิตวิทยาของทีมชาติไทย ที่คอยแนะนำให้นักกีฬาสามารถรับมือความกดดันของสถานการณ์แข่งขันในแต่ละครั้ง
สิ่งที่น่าสนใจคือ นักจิตวิทยาเหล่านี้เป็นใคร พวกเขาดูแลนักกีฬาอย่างไรบ้าง ที่สำคัญคือตำแหน่งนี้จำเป็นกับนักกีฬามากขนาดไหน
คำถามดังกล่าวนำพาให้เรามารู้จักกับ อาจารย์ปลา-ผศ.ดร.วิมลมาศ ประชากุล ผู้สวมบทบาทการเป็น ‘นักจิตวิทยาการกีฬา’ ที่คร่ำหวอดอยู่วงการกีฬามาเกือบ 20 ปี
The Momentum ชวน ผศ.ดร.วิมลมาศมาพูดคุยถึงจุดเริ่มต้นของเส้นทางอาชีพนี้ การก้าวเข้าสู่บ้านทองหยอด ลงลึกถึงกระบวนการฝึก รวมถึงถามคำถามสำคัญว่า ทำไมการดูแลสภาพจิตใจของนักกีฬาถึงเป็นสิ่งที่ควรให้ความสำคัญในวงการกีฬา
เริ่มทำงานในตำแหน่งนักจิตวิทยาการกีฬาได้อย่างไร
ถ้าให้เล่าย้อนกลับไปเลยว่า ทำไมถึงมีแนวโน้มมาเป็นนักจิตวิทยาการกีฬา คือด้วยนิสัยเราด้วยที่ชอบกิจกรรม ตอนเด็กๆ ก็มีไปแข่งกีฬาระดับโรงเรียน ระดับจังหวัด เพราะชอบที่จะมีส่วนร่วมในการแข่งขัน จนมาเรียนปริญญาตรี ตอนนั้นสอบติดวิทยาศาสตร์การกีฬากับวิทยาศาสตร์คอมพิวเตอร์ ก็ไปปรึกษาคุณพ่อว่าจะเลือกอะไรดี คุณพ่อเขาก็ถามว่า “จะเลือกทำงานกับคนหรือทำงานกับเครื่อง” เรารู้ชัดเลย อย่างเราต้องทำงานกับคน ก็เลยเลือกเรียนวิทยาศาสตร์การกีฬา
ส่วนจุดที่ว่า ทำไมถึงมาเลือกอาชีพจิตวิทยาการกีฬา เพราะตอนเรียนปริญญาตรีมีอาจารย์ที่ปรึกษาคือ ดร.พิชิต เมืองนาโพธิ์ ท่านเป็นนักจิตวิทยาการกีฬามือหนึ่งของประเทศไทยอยู่แล้ว เราก็มีโอกาสที่จะได้ติดตามไปศึกษา ไปดูเวลาเขาทำงาน ก็จะมีอาชีพนักจิตวิทยาการกีฬาอยู่ในใจมาตลอด
จนเรียนจบปริญญาตรี ก็ไปสมัครเป็นนิสิตทุนของคณะวิทยาศาสตร์การกีฬาของมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ กำแพงแสน เขาก็ให้เลือกว่าจะเชี่ยวชาญในสาขาไหน เพราะตอนนั้นสาขาของวิทยาศาสตร์การกีฬามีหลายสาขา ตอนนั้นในหัวเราจริงๆ ก็ชอบการจัดการ แต่รู้สึกว่าการจัดการต้องมีปัจจัยอื่นๆ ถึงจะไปรอด และเราก็มีอาจารย์พิชิตเป็นต้นแบบอยู่แล้ว เลยตัดสินใจเลือกเรียนจิตวิทยาการกีฬา พอจบปริญญาโท ก็ไปต่อปริญญาเอกด้านนี้ต่อ จนได้กลับมาทำงานที่มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ นี่ก็เป็นจุดเริ่มต้นว่าทำไมถึงมาเป็นนักจิตวิทยาการกีฬา
ในเวลาต่อมา คุณได้เข้ามาทำงานที่โรงเรียนแบดมินตันบ้านทองหยอดได้อย่างไร
โรงเรียนบ้านทองหยอดเป็นคนติดต่อเข้ามา แต่จริงๆ ตั้งแต่โอลิมปิกครั้งที่แล้ว (2020) เราเป็นคนดูแลเทนนิส (พาณิภัค วงศ์พัฒนกิจ) แล้วน้องก็ได้เหรียญทองกลับมา ทำให้คุณกร (กร ทัพพะรังสี) ผู้บริหารโรงเรียนบ้านทองหยอด ติดต่อมาว่า อยากให้มาช่วยดูแลนักกีฬาที่บ้านทองหยอด แต่หลังจากนั้นก็เงียบหายไป ไม่มีการประสานงานต่อ
จนกระทั่งเดือนมีนาคม 2567 ที่ผ่านมา คนที่ติดต่อมาคือลูกศิษย์ที่เป็นผู้ฝึกสอน (Physical Trainer) ซึ่งเขาทำงานอยู่ที่บ้านทองหยอดอยู่แล้ว เล่าว่าตอนนี้เขาอยากได้นักจิตวิทยามาดูแลนักกีฬา เขาถามว่าเราสะดวกไหม เราก็บอกว่าสะดวก
เลยได้เข้าไปคุยกับโค้ชเป้ (ภัททพล เงินศรีสุข) ได้พูดถึงตอนที่คุณกรเคยติดต่อมา โค้ชเป้ก็บอกว่า “อ๋อ เราคือคนที่เขาอยากให้เข้ามาดูแลตั้งนานแล้ว” เราก็คุยแนวทางกันว่าเขาต้องการอะไรบ้าง จริงๆ เขาก็อยากให้ช่วยดูไปถึงการแข่งขันอื่นด้วย แต่เราก็ขอเป็นโครงการระยะสั้นก่อน คือดูแลเมย์ (รัชนก อินทนนท์) กับวิว (กุลวุฒิ วิทิตศานต์) จนถึงโอลิมปิกก่อน
การจะดูแลนักกีฬาของนักจิตวิทยาการกีฬามีขั้นตอนอย่างไรบ้าง
เริ่มจากตั้งเป้าหมายในการฝึก อย่างที่บอกว่าเราขอเป็นการฝึกระยะสั้น คือเตรียมความพร้อมไปสู่โอลิมปิก ดังนั้นเป้าหมายของเรา คือทำอย่างไรก็ได้ให้น้องทั้ง 2 คนมีเครื่องมือพร้อมพอที่จะไปรับมือกับความกดดันที่จะเกิดขึ้นในโอลิมปิก
พอตั้งเป้าหมายได้แล้ว เรามานั่งคุยกันก็รู้สึกว่าน้องทั้ง 2 คนเปิดใจรับฟัง ให้ข้อมูล และรู้สึกว่าทำงานด้วยกันได้ จึงไปบอกกับผู้บริหารและโค้ชเป้ว่า โอเค เราจะทำตามเป้าหมายนี้กัน
ในกระบวนการฝึกของทั้ง 2 คน เราตกลงกันว่าจะเข้าไปที่โรงเรียนบ้านทองหยอดด้วย แต่ถ้าไม่ว่าง เราจะนัดออนไลน์กัน ความถี่คืออย่างน้อยสัปดาห์ละครั้ง และตอนที่น้องมีแข่งเราก็ขอติดตามไปด้วย เพราะเราจะได้รู้จักนักกีฬาและบริบทของการแข่งขันแบดมินตันว่า สิ่งที่เขาต้องเผชิญในแต่ละวันมีอะไรบ้าง ซึ่งช่วงนั้นมีแข่ง ‘Toyota Thailand Open 2024’ พอดี เราก็ได้ไปช่วงนั้น แล้วก็ได้ไป ‘PETRONAS Malaysia Open 2024’ แต่ถ้ากรณีที่น้องไปแข่งรายการอื่นๆ ก็จะนัดออนไลน์กัน ซึ่งน้องทั้ง 2 คนก็ให้ความร่วมมือเป็นอย่างดี
อยากให้ยกตัวอย่างวิธีการฝึก ปกติคุณสอนอะไรบ้าง
วิธีการฝึกเราจะสอนในเบื้องต้นว่า สิ่งที่จะทำให้เกิดความมั่นใจคืออะไร ‘การโฟกัส’ ให้ความสนใจกับเรื่องไหน สิ่งที่ถูกต้องคืออะไร มันมีข้อจำกัดอะไร แล้วเราควรโฟกัสอะไรบ้างในแบดมินตัน
เช่น ในสนามเราต้องรู้ว่ามีข้อจำกัดคือ หัวสมองเราไม่สามารถโฟกัสหลายสิ่งหลายอย่างได้ในเวลาเดียวกัน และเวลาที่เราโฟกัสอะไรอย่างใดอย่างหนึ่ง มันใช้พลังงานทั้งสิ้น ดังนั้นเราต้องโฟกัสให้ถูก
อย่างแรกคือเราต้องพูดคุยกับน้องว่า สิ่งที่จะทำให้เล่นแบดมินตันได้ดีมีอะไรบ้าง แล้วสอนให้โฟกัสอยู่กับปัจจุบัน เพราะอดีตควบคุมไม่ได้ อนาคตควบคุมไม่ได้ มีแต่ปัจจุบันเท่านั้นที่เราสามารถเปลี่ยนแปลงบางสิ่งบางอย่างได้ เช่น เราไปโฟกัสว่า ทำไมเขาตีแรงจัง ทำไมตีเท่าไรก็ไม่ลงสักที ทำไมกรรมการขานผิด หรือไปโฟกัสเสียงกองเชียร์ แบบนี้มันไม่ได้อะไรขึ้นมา สุดท้ายก็มีแต่จะอารมณ์เสีย สิ่งเหล่านี้เราไปควบคุมไม่ได้ หันมาโฟกัสกับวิธีการเล่นในขณะนั้นจะดีกว่า
เพราะเมื่อไรที่มี ‘ความอยาก’ เข้ามา ถ้าเราอยากจะหยอดให้ตายอย่างไร เราก็จะจับไม้แน่นกว่าปกติ พอจับแน่นกว่าปกติ แทนที่จะหยอดข้ามก็ไปหยอดติดหรือหยอดสูงไป ก็ให้อยู่กับกระบวนการที่ถูกต้อง อันนี้คือการโฟกัส
อีกหนึ่งวิธีคือ ต้องมี ‘สติ’ คือรู้ตัวทันว่า ตอนนั้นเล่นด้วยความอยาก เล่นด้วยความกลัว เล่นด้วยความกังวล หรือเล่นด้วยความอยากที่จะเอาแต้มคืน ล้วนแล้วแต่จะทำให้การเล่นไม่เป็นปกติ
เราต้องรู้ตัวก่อน เมื่อรู้ตัวแล้วก็ให้ ‘หายใจ’ เป็นการหยุดหรือการเคลียร์ความคิดที่ไม่เกี่ยวข้องออกไปก่อน แล้วดูว่าถ้าเราต้องการจะหยอดเราต้องทำอย่างไร การหยุดแล้วหายใจคือการเรียกสติกลับมา แล้วค่อยทบทวนว่าต้องการจะทำอะไร ควบคู่ไปกับเรื่องเทคนิค
เสร็จแล้วก็จะมีการฝึก ‘จินตภาพ’ จินตภาพถึงสิ่งที่ทำได้ดีในโซนของเรา คำว่า ‘โซน’ คือสภาวะที่นักกีฬามีความพร้อมทั้งอารมณ์ ความคิด ความตื่นตัวที่เหมาะสม สิ่งที่ทำให้น้องเล่นได้ดีคืออะไร ซึ่งแต่ละคนก็จะไม่เหมือนกัน เมย์กับวิวก็ไม่เหมือนกัน ซึ่งเราก็จะค่อยๆ หาไปทีละคน
จากนั้นก็ให้จินตภาพตอนโซนที่เราเล่นดี เก็บแต้มได้ ทำแต้มนำ ความรู้สึกตอนนั้นเป็นแบบไหน ให้เก็บภาพนั้นไว้ ขณะเดียวกันก็จะมีโซนที่เราเล่นไม่ดีเลย เปิดเกมไม่ดี ทำอะไรก็ไม่ได้ อึดอัดไปหมด เราต้องรู้ทัน แล้วดึงตัวเองกลับมาอยู่ที่วิธีการเล่นให้ได้
ถ้าน้องนำวิธีการนี้ไปฝึกในทุกวัน เวลาเจอสถานการณ์จริงก็จะสามารถจัดการได้ง่าย แต่ถ้าสมมติว่าไม่เคยฝึกเลย ‘รู้จัก เข้าใจ ใช้เป็น’ มันไม่เหมือนกัน ใครก็รู้ว่าต้องอยู่กับปัจจุบัน รู้ว่าต้องอยู่กับงานตรงหน้า แต่พอเจอสถานการณ์จริงที่กดดัน ถ้าไม่เคยฝึกมาก่อนก็ทำไม่ได้ เลยต้องมีทักษะตรงนี้มาเสริม
ระหว่างทางการฝึกกับนักกีฬา เจออุปสรรคอะไรบ้างไหม
อุปสรรคจะเป็นเรื่องของเวลาที่อยู่ด้วยกันมากกว่า แต่ถ้าเป็นตัววิวจะเป็นความอยาก อยากที่จะได้แต้มได้คะแนน พอดีอาทิตย์ที่แล้วไปคุยกับน้องและโค้ชมาว่า หลังจากที่เราฝึกแล้วเห็นความแตกต่างอะไรขึ้นมาบ้าง โค้ชก็ให้ความเห็นมาว่า เมื่อก่อนเวลาที่เขาเสียคะแนนเขาเสียเลย แต่หลังจากที่ฝึก ถ้าเสียแล้วก็เอาแต้มกลับมาได้
คุณคิดเห็นอย่างไรกับวิธีการที่โค้ชกดดันนักกีฬา
มันเป็นวิธีที่ไม่ควรใช้ แต่โค้ชบางคนก็ใช้แล้วสําเร็จ
โดยหลักการเริ่มต้น ควรจะเป็นการสร้างแรงเสริมทางบวก (Positive Approach) ซึ่งมันจะส่งผลต่อความมั่นใจ (Self-Esteem) และส่งผลต่อการพัฒนานักกีฬา นั่นคือหลักการพื้นฐานที่ควรจะเริ่มต้นก่อน
โค้ชดูเหมือนจะเป็นตัวแปรสำคัญของนักกีฬา คุณได้ให้คําแนะนําโค้ชด้วยไหม
จริงๆ ทุกคนต้องเข้าใจคอนเซปต์เดียวกัน เพราะเวลาที่มีการสอนนักกีฬาก็จะให้ทุกคนมารับทราบด้วยกัน ไม่ถึงกับว่าสอนโค้ช แต่บอกโค้ชว่าเราทำอะไรบ้างดีกว่า บางทีโค้ชเป้ก็จะมาถามว่า น้องทั้งสองคนเป็นอย่างไรบ้าง เวลาคุยก็จะพูดคุยกันหมด ทั้งผู้ฝึกสอน โค้ช หรือตัวนักกีฬาเอง เราจะทำงานเป็นทีม แต่ละคนมีบทบาทต่างกัน แต่ก็เข้าใจและพัฒนาไปด้วยกัน อันนี้คือคีย์สำคัญที่ทำให้การฝึกประสบความสำเร็จ
ถ้านักกีฬาเตรียมตัวและเตรียมใจมาพร้อมมาก แต่พอไปแข่งกลับแพ้ติดกัน เหมือนเจอความล้มเหลวซ้ำๆ อาจารย์มีวิธีรับมืออย่างไร
ต้องดูพื้นฐานก่อนว่า ทำไมเขาถึงเล่นกีฬา ตอนที่ทุกคนเริ่มเล่น ก็ไม่ได้เริ่มเล่นเพราะว่าต้องการชนะ แต่เป็นการเล่นเพราะชอบและสนุก ยกตัวอย่าง กีฬาวอลเลย์บอล เราเล่นเพราะชอบเล่นกับเพื่อน เล่นกอล์ฟ เพราะตีกอล์ฟแล้วมันลอยโด่งออกไปแล้วรู้สึกดี ให้เขารับรู้ว่าจริงๆ ที่เขาเริ่มเล่นกีฬาเพราะอะไร
ต้องปรับวิธีคิดให้นักกีฬารู้สึกว่า ชัยชนะไม่ใช่ทุกอย่างของการเป็นนักกีฬา ชัยชนะเป็นแค่ช่วงเวลาแวบเดียวเอง แต่กีฬาให้อะไรเยอะกว่านั้น มันให้รสชาติของการต่อสู้อย่างสมศักดิ์ศรี รสชาติของการพัฒนาตัวเอง การมีวินัย การมีเป้าหมาย การมีความภาคภูมิใจ มันสามารถสร้างขึ้นได้ในระหว่างที่เราฝึกซ้อมในแต่ละวัน ไม่ใช่ว่าต้องชนะถึงจะรู้สึกดีใจ ไม่ใช่แบบนั้น เราควบคุมผลแพ้-ชนะไม่ได้
เสน่ห์ของกีฬาคือ เราไม่รู้ว่าใครจะแพ้ ใครจะชนะ จนกว่าจะจบการแข่งขัน นั่นหมายความว่า ถ้าเราเคยชนะเขา ก็ไม่ได้หมายความว่าเราจะชนะเขาอีก เช่นเดียวกัน ถ้าเราเคยแพ้เขา ก็ไม่ได้หมายความว่าเราจะแพ้อีก เพราะกีฬาจะให้โอกาสคนที่เตรียมตัวพร้อมในครั้งนั้นเสมอ
มีการฝึกสอนให้นักกีฬารับมือกับสื่อด้วยใช่ไหม
เราไม่ถึงขนาดสอนให้ตอบสัมภาษณ์อย่างไรให้ดูสวยงาม แต่จะดูว่านักกีฬามีวิธีการรับมือกับสื่อไหม สื่อมีผลกับนักกีฬาไหม
ส่วนวิธีการสัมภาษณ์ ก็ให้พูดตามความรู้สึกเรา แต่ว่าไม่ได้สร้างความกดดันให้กับตัวเรา เช่น นักกีฬาบางคนพูดว่า “ผมอยากได้เหรียญครับ” แต่ถ้าไม่ได้เหรียญก็กลายเป็นว่า อ้าว พูดกับคนทั้งประเทศไปแล้ว ก็ไม่กล้าไปมองหน้าใคร ถ้าจะพูดว่า “อ๋อ ผมไม่หวังหรอกครับ” นั่นก็ขายข่าวไม่ได้อีก
เราก็บอกให้ตอบกลางๆ นะ ถ้าอยากได้ใช่ไหม บอกไปเลยว่าอยากได้ แต่ต้องเข้าใจว่าชัยชนะเป็นสิ่งที่ควบคุมไม่ได้ เช่น “อยากได้ครับ แต่ผมก็รู้ว่าทุกคนที่มาโอลิมปิกก็คงเตรียมตัวมาอย่างดี ผมเองก็จะเตรียมตัวอย่างดีเพื่อไปแสดงศักยภาพให้เต็มที่ที่สุด”
ถ้าเป็นคอมเมนต์เชิงลบในสื่อโซเชียลมีเดีย ก็ขอบคุณเขาที่เขาเข้ามาคอมเมนต์เรา แต่ถามว่าเราต้องเปิดรับทั้งหมดไหม เราไม่ต้องรับมันทั้งหมด ดูแล้วคัดกรองว่าอันไหนจะมีประโยชน์ต่อเรา
สิ่งที่จะทําให้นักกีฬาเข้มแข็งพอที่จะรับทุกฟีดแบ็กคือ การที่เรารู้สึกว่าเราเตรียมพร้อม เราซ้อมมาดี เราเล่นได้เต็มศักยภาพ คําว่า ‘เล่นได้เต็มศักยภาพ’ ไม่ได้หมายความว่าต้องชนะเสมอไป แค่เราทำเต็มที่แล้ว คำพูดเชิงลบต่างๆ ก็จะไม่มีผลต่อเรามาก
นอกจากฝึกให้นักกีฬารับมือกับความผิดหวัง มีคำแนะนำสำหรับกองเชียร์ที่ผิดหวังจากนักกีฬาที่แข่งแพ้ไหม
กองเชียร์ต้องถามตัวเองก่อนว่า เชียร์เพื่อสนับสนุนนักกีฬาหรือว่าเชียร์ที่ผลเท่านั้น ถ้าเชียร์นักกีฬาแล้วนักกีฬาแพ้ เขาต้องรีบสนใจความรู้สึกนักกีฬาว่า นักกีฬาคือคนที่เสียใจ เขาต้องเป็นกำลังใจให้นักกีฬา แต่ถ้าเชียร์เพราะแค่อยากรู้สึกถึงชัยชนะ เราว่ามันเป็นสิ่งที่ควบคุมไม่ได้
กองเชียร์ต้องเปลี่ยนวิธีคิดว่า เราต้องใส่ใจถึงความรู้สึกของนักกีฬาหรือของทีมตัวเองที่เรารักบ้าง ไม่ใช่ผลการแข่งขันเพียงอย่างเดียว
ถ้าเทียบกับต่างประเทศ สถานการณ์ของอาชีพนักจิตวิทยาการกีฬาในประเทศไทยตอนนี้เป็นอย่างไร
เราอยู่ในวงการนักจิตวิทยาการกีฬามา 17-18 ปีแล้ว ตั้งแต่ปี 2545 ประเทศไทยก็ดีขึ้นเรื่อยๆ แต่จำนวนนักจิตวิทยาในประเทศไทยยังมีน้อยอยู่ คือง่ายๆ ตอนนี้สถานการณ์เราคล้ายกับนักจิตแพทย์ทั่วไป เมื่อก่อนใครไปหาจิตแพทย์จะรู้สึกว่า เธอต้องเป็นโรคประสาท จะถูกตีตราว่าไม่ดี จริงๆ มันเป็นเรื่องปกติมากเลย ถ้าเรารู้สึกไม่โอเค เราก็คุยกับจิตแพทย์ เราจะได้โอเค ได้ไปทำงานต่อ แต่ตอนนี้คิดว่า มีการยอมรับมากขึ้นในสายวิทยาศาสตร์การกีฬาก็เช่นกัน
แต่ต้องบอกว่า นักจิตวิทยาการกีฬาไม่ใช่จิตแพทย์นะ อาชีพนักจิตวิทยาการกีฬาจะมีหน้าที่ฝึกสมรรถภาพจิตใจของนักกีฬาเพื่อให้แสดงศักยภาพออกมาได้ดีที่สุด นั่นคือบทบาทหลัก แต่ถ้านักกีฬาบางคนที่เป็นโรคซึมเศร้า หรือมีแนวโน้มจะมีสมาธิสั้นก็ต้องส่งไปหาจิตแพทย์เฉพาะทาง
วันนี้มองว่าอาชีพนักจิตวิทยาการกีฬาสําคัญในวงการกีฬาขนาดไหน
มันสำคัญ แต่ไม่ใช่แค่ปัจจัยเดียว เราเป็นหนึ่งในองค์ประกอบที่ต้องฝึกของนักกีฬา เพื่อให้แสดงความสามารถได้สูงสุด นักกีฬา 1 คนหรือ 1 ทีม จะประสบความสำเร็จได้ ต้องประกอบไปด้วยทักษะหรือเทคนิค ร่างกาย และจิตใจที่ดี พร้อมด้วยองค์ประกอบด้านสิ่งแวดล้อมที่ช่วยส่งเสริมด้วย เช่น ทีมงานที่พร้อม อุปกรณ์ สถานที่ในการฝึก และการได้มีโอกาสไปแข่งขัน
ตอนแรกทักษะต้องดีก่อน พอมีทักษะดีกว่าคุณก็จะมีโอกาส ทักษะดีแล้วร่างกายคุณก็ต้องดีด้วย เพราะต่อให้ทักษะดีแต่ร่างกายไม่ถึง เจอเกมลากยาวหน่อย ทักษะดีก็ไม่มีประโยชน์ ต่อมาคือเรื่องสภาพจิตใจ ทักษะดีแล้ว ร่างกายเยี่ยม แต่ควบคุมตัวเองในวันแข่งขันไม่ได้ คุณก็เอาทั้ง 2 อย่างนี้ออกมาไม่ได้ แต่ถึงจะควบคุมจิตใจได้ แต่ถ้าทักษะไม่ถึง ร่างกายไม่พร้อม ก็ไม่สามารถทำได้ ต้องฝึกทักษะ 3 อย่างนี้ไปพร้อมกัน เพราะมันเป็นองค์ประกอบที่จะพัฒนานักกีฬาสู่ความเป็นเลิศ
ทั้งหมดก็คือ เราส่งเสริมให้เขาแสดงศักยภาพได้ดีตอนที่เขาแข่งขัน และมีความพึงพอใจในการเป็นนักกีฬา ถ้าถามว่าการฝึกนี้นักกีฬาจะได้อะไร เขาจะได้มีวิธีการคิด เครื่องมือ ทุกสิ่งอย่างที่ทําให้พัฒนาขึ้นจนกระทั่งประสบความสําเร็จ
Tags: นักจิตวิทยาการกีฬา, เมย์ รัชนก, วิว กุลวุฒิ, วิมลมาศ ประชากุล