โดยปกติแล้ว การสัมภาษณ์วงดนตรีถึงความกังวลต่อการสูญเสียแฟนคลับในช่วงที่ห่างหายไปจากวงการเพลง ควรจะต้องได้คำตอบประมาณว่า ‘ยังคงคิดถึงแฟนเพลงอยู่เสมอ’ หรือ ‘กำลังเตรียมเซอร์ไพรส์ให้สมกับการรอคอย’ เพื่อแสดงถึงความห่วงใยที่ยังมีต่อแฟนคลับ

แต่สำหรับวงที่ชื่อ สี่เต่าเธอ คำตอบกลับแตกต่างออกไป

“พวกเราคิดเรื่องแฟนเพลงน้อยมาก แค่กลับมาสนุกกันเองก็พอแล้ว เหมือนพวกเราไม่ได้อยู่ในวงการดนตรี และไม่ได้อยู่ในประวัติศาสตร์อยู่แล้ว จึงไม่ได้มองเรื่องการคงอยู่ของตัวเองเท่าไร”

เป็นเรื่องน่าสนใจไม่น้อยที่วงดนตรีอันเป็นที่รักของใครหลายคนมีวิธีตอบคำถามที่สุดแสนจะ ‘อินดี้’ ไม่แพ้แนวทางการทำเพลงของพวกเขา แต่เมื่อได้พูดคุยให้ลึกลงไป เรากลับได้พบเรื่องราว ความคิด และแนวทางการทำวงดนตรี ที่น่าสนใจไม่แพ้กัน โดยเฉพาะชื่อของ ‘สี่เต่าเธอ’ ที่หลายคนคิดว่าต้องได้รับแรงบันดาลใจมากมาจากวงสี่เต่าทอง หรือ The Beatles แต่ในความเป็นจริงไม่ได้เป็นเช่นนั้น

The Momentum ชวนอ่านบทสัมภาษณ์ของ คงเดช จาตุรันต์รัศมี (นักร้องนำ), ตั๊ก-สฤษฎ์พร เมตตาจิต (กีตาร์), กุ่ย-อภิเชฐ กำภู ณ อยุธยา (เบส), ปูน-กิรเดช เกตกินทะ (กลอง) และ ซุง-กิตติกร ซุง (กีตาร์) สมาชิกของ สี่เต่าเธอ วงดนตรีอัลเทอร์เนทีฟ-ป็อปรุ่นใหญ่ของเมืองไทย ถึงจุดเริ่มต้นและการเดินทางตลอด 26 ปี ที่ช่วยเติมเต็ม ชีวิต ความฝัน มิตรภาพ ให้กับสมาชิกในวงเสมอมา

ย้อนกลับไปจุดเริ่มต้น วงสี่เต่าเธอ เกิดขึ้นมาได้อย่างไร

คงเดช: ทุกอย่างเริ่มจากวงของ ซุง ตั๊ก ปูน คือพวกเขามีวงชื่อ สามเกลอ อยู่แล้ว เป็นวงที่ตั้งขึ้นมาด้วยความชอบ ไม่ได้มีความรู้ดนตรี หรือไปเรียนด้านดนตรีมาเลย

ตั๊ก: ตอนนั้นวงสามเกลอเล่นเพลงของตัวเอง เพราะพวกเราเล่นดนตรีไม่เป็น จึงแกะเพลงของคนอื่นไม่ได้

คงเดช: นี่กลายเป็นธรรมชาติที่สานต่อมาจนถึงวงสี่เต่าเธอเลย คือพวกเราไม่ใช่วงที่เกิดจากการเป็นนักดนตรีที่เล่นคัฟเวอร์เพลงคนอื่น

ปูน: เพราะมันยากไป (หัวเราะ)

คงเดช: ตอนนั้น วงสามเกลอจะทำเพลงแนวบริทป็อป (Brit-Pop) ตามแนวทางวงอังกฤษส่วนใหญ่ ซึ่งความจริงมันเก่ากว่านั้นอีก คือตั้งแต่ยุค Style Council, Aztec Camera, The Smith, Pretender 

ตั๊ก: ฟังแล้วจะมีความรู้สึกมึนๆ ไม่สดใส จนเกือบจะเป็นแนวชูเกซ (Shoegaze) แล้ว 

ปูน: จากนั้นพอจบมัธยม พวกเราก็เข้ามหาวิทยาลัย เรียนด้านภาพยนตร์ด้วยกัน ซึ่งตอนนั้นอยู่คนละที่แล้ว แต่พอดีการเรียนภาพยนตร์มันต้องทำหนังธีสิส เราก็เลยได้เจอเพื่อนของปูนกับตั๊กที่ชื่อคงเดช แล้วก็มารวมตัวกัน 

ซึ่งก็กลายเป็น สี่เต่าเธอ ใช่ไหม

คงเดช: ที่เล่าไปเป็นการรู้จักกันในฐานะเพื่อนกันก่อนมากกว่า เพราะอย่างที่บอกว่าสามคนนั้นเขามีวงสามเกลอกันอยู่ ตอนนั้นวงนี้ถึงขั้นจะได้ออกเพลงกับค่ายด้วยซ้ำ ส่วนเรากับกุ่ยที่ไม่ได้มีวงก็มองตากันปริบๆ ก็เลยชวนกันมาทำวงชื่อ Home Sick ทำเพลงสไตล์ Synthesizer Lo-fi 

แต่ในที่สุด วงสามเกลอก็ไม่ได้ออกอัลบั้มกับค่าย ซุงก็ติดภารกิจต้องไปต่างประเทศ ทำให้สามเกลอคล้ายคลึงกับว่าวงจะแตก พวกเราเลยมารวมตัวกันกลายเป็นวงสี่เต่าเธอ

ในวันที่คุยกันว่าจะมาเริ่มทำเพลงกันในชื่อวง สี่เต่าเธอ บรรยากาศเป็นอย่างไร

คงเดช: พอซุงติดภารกิจและต้องหยุดทำวง ตอนนั้นเราก็ได้เจอกับ พี่รุ่ง (รุ่งโรจน์ อุปถัมภ์โพธิวัฒน์) ซึ่งตอนนั้นกำลังทำวง Crub ได้เจอพี่เมย์ (ภควัฒน์ ไววิทยะ) และพี่อู่ (ไตรเทพ วงศ์ไพบูลย์) ที่ตอนนั้นทำค่าย Boop Records กันอยู่ ซึ่งเขาก็เห็นงานพวกเรามาตลอด ก็ชวนพวกเราว่าทำเพลงต่อไหม พวกเราเลยมารวมตัวกันอีกรอบเป็นสี่เต่าเธอ และเป็นศิลปินเบอร์แรกของ Boop Records

ซุง: เขาไม่ได้เห็นแค่เราซ้อมดนตรีนะ แต่เห็นเรากินนอนอยู่ที่นั่นเลย นอนแทบจะเป็นภารโรง 

วงสามเกลอ รวมตัวกับ Home Sick ปรับตัวกันอย่างไร มีอะไรเปลี่ยนแปลงบ้างไหม 

คงเดช: เอาเข้าจริงหลายอย่างก็เปลี่ยนไปนะ

ตั๊ก: สำหรับเราเรื่องนี้ไม่ง่ายเลย มันมีความรู้สึกหดหู่ตอนที่เพื่อนออกไป 

คงเดช: (ชี้ไปที่ซุง) มึงอะ

ซุง: เออ กูเอง (หัวเราะ)

คงเดช: ตอนนั้นต้องปรับวิธีการเล่นดนตรีกันใหม่หมด เช่น ตั๊กเล่นเบสตอนอยู่สามเกลอ ก็ต้องมาเล่นกีตาร์แทน กุ่ยที่เล่นคีย์บอร์ด ก็ต้องมาเล่นเบสแทน เราเองก็เริ่มหัดเล่นกีตาร์ตอนฟอร์มวงสี่เต่าเธอ แล้วจนถึงทุกวันนี้ก็ยังไม่มีใครเล่นอะไรเก่งเลยนะ เราเล่นดนตรีเพื่อแต่งเพลง เราเล่นดนตรีสำหรับเพลงของตัวเองเท่านั้น ไม่ได้มีทักษะความเป็นนักดนตรีเลย

กุ่ย: พวกเราจะให้ความสำคัญกับการทำเพลงในสตูดิโอมากกว่า คือสนุกกับการได้คิดมากกว่าการได้เล่น 

ในขณะเดียวกันคุณเลือกจะไม่ทำวงนี้เลยก็ได้ ถ้าต้องมีการปรับตัวเยอะ เหตุใดจึงพยายามเข็นวงสี่เต่าเธอออกมา

คงเดช: เพราะคือผู้คนกลุ่มนี้ด้วย เหมือนพวกเรามีความคิดบางอย่างคล้ายกัน เราเองไม่เคยคิดจะมาร่วมวงกับใคร จนมาเจอเพื่อนกลุ่มนี้ ทั้งที่ๆ ก่อนหน้านั้นสมัยมัธยมศึกษา เราก็เคยอยู่วงดนตรีเดียวกับป๊อด (ธนชัย อุชชิน) สมัยมหาวิทยาลัยก็อยู่วงเดียวกับ เล็ก (สุรชัย กิจเกษมสิน) แต่สุดท้ายก็ไม่ได้ทำวงดนตรีกับพวกนั้นต่อ 

แต่กลุ่มนี้มันแตกต่าง คือไม่ใช่คนที่เล่นดนตรีเก่งสักเท่าไร แต่เป็นคนที่มองหรือคุยเรื่องต่างๆ คล้ายกัน ชอบภาพยนตร์เหมือนกัน ชอบถ่มถุยชีวิตตัวเองเหมือนกัน ก็เลยรู้สึกว่า เราอยากใช้เวลากับเพื่อนกลุ่มนี้ในการสร้างอะไรบางอย่างขึ้นมา 

ตั๊ก: ผมเชื่อว่าคนเราเวลาถึงจุดตกต่ำที่สุด มันจะถูกบังคับให้เข็นอะไรบางอย่างออกมา อย่างช่วงนั้นคือผมดีดกีตาร์เล่นอยู่ที่หอของคงเดช ซึ่งเป็นอพาร์ตเมนต์เก่าๆ ไม่มีแอร์ พัดลมยังแชร์ไม่ถึงกันเลย ตอนนั้นคือ Broke สุดๆ โมเมนต์ตรงนั้นมันต้องตกต่ำจริงๆ ถึงจะมีแรงฮึดทำอะไรสักอย่างขึ้นมา

ดังนั้น สี่เต่าเธอ จึงเกิดขึ้นมาเพราะเพื่อนกลุ่มนี้

คงเดช: เราชอบใช้ชีวิตกับคนกลุ่มนี้ ถ้าต้องทำอะไรที่มันยากมากๆ เราก็อยากทำกับคนที่รู้สึกโอเคด้วย 

ซุง: พอเราสื่อสารเรื่องทำเพลงมันคุยกันง่ายกว่าด้วย

ตั๊ก: ไม่ง่ายนะ 

ทุกคน: (หัวเราะ)

ซุง: คือตอนแรกเหมือนง่าย แต่กลายเป็นว่าเพลงหนึ่งเพลงเราแตกวิธีออกไป 100 วิธี ทุกคนชอบอะไรเหมือนกัน แต่พอถึงเวลามันกลับไม่เหมือนกันสักที 

กุ่ย: หนึ่งเพลงใช้เวลาทำยาวนานมาก ถ้ามีใครไม่ชอบก็ต้องเริ่มต้นใหม่

คงเดช: มันไม่ใช่วิธีแบบประชาธิปไตยด้วยนะ เพราะต้องเห็นด้วยกันทั้งหมด แล้วก็ไม่ใช่เผด็จการ เพราะไม่มีใครเป็นใหญ่เลย วิธีนี้มันเลยทำให้ช้า และไม่ค่อยมีเพลงออกมา แต่เอาจริงๆ เวลาทำเพลงไม่ได้คิดถึงคนฟังเลย ไม่เคยคิดว่ามันจะฮิตหรือเปล่าด้วยซ้ำ เอาแค่ 5 คนฟังแล้วชอบก็พอ 

พอวงสี่เต่าเธอเกิดขึ้น มองทิศทางเอาไว้อย่างไร

ปูน: ตอนทำอัลบั้มชุดแรกมีข้อจำกัดเรื่องเวลาที่เร่ง ดังนั้นพอทำเสร็จ 1 เพลง ก็ต้องทำต่อทันที มันจึงไม่ค่อยมีเวลามาคุยเรื่องนี้กัน 

คงเดช: ธรรมชาติของการทำเพลงยุคนั้น คือทำแล้วต้องออกเป็นอัลบั้ม ดังนั้นศิลปินจึงมีเพลง 4-5 เพลงตุนเอาไว้ก่อน และต้องรีบปั่นที่เหลือให้เป็นอัลบั้ม 

แต่ถ้าถามว่าทิศทางเป็นแบบไหน ตอนนั้นก็ไม่ได้คิดว่าต้องเป็นแบบไหนไปเลย โชคดีที่ตอนนั้นมีพี่รุ่ง พี่เมย์ มาช่วย ก็เป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้สี่เต่าออกมาได้ แต่มันก็เขย่าจากรสนิยมที่ชอบแนวบริทป๊อบกัน ตามทิศทางของยุคในช่วงนั้น เพียงแต่สี่เต่าเธอชอบที่จะให้มันดูสวยงาม ชอบเสียงเมโลดี้เพราะๆ 

เรื่องหนึ่งที่น่าสนใจของ สี่เต่าเธอ คือชื่อของวง ที่เวลาเห็นก็อดคิดถึงวงสี่เต่าทอง หรือ The Beatles ไม่ได้ ตรงนี้คุณมีความตั้งใจให้มันคล้ายคลึงกันไหม 

คงเดช: ถ้าเป็นสมัยก่อน เราจะมีคำตอบไว้แก้ตัวว่า เพราะเรารู้สึกว่าเธอมีค่ามากกว่าทอง เราก็เลยเป็นสี่เต่าเธอ แทนที่จะเป็นสี่เต่าทอง แต่ความเป็นจริงเราเป็นคนเลวกว่านั้นเยอะ

ความจริงมันเริ่มมาจากตอนที่เราทำเพลงกันอยู่ แล้วมีเพื่อนผมโทรมาแล้วบอกว่า ‘เฮ้ย มึงทำวงดนตรีกันอยู่เหรอ กูตั้งชื่อให้’ แล้วมันก็พูดชื่อ สี่เต่าเธอ ออกมา พวกเราก็หัวเราะกันเอิ้กอ้าก แล้วตัดสินใจใช้เลย ซึ่งก็น่าประหลาดมากที่ไม่ค่อยมีใครคิดไปทางร้ายเท่าไร

ตั๊ก: แต่ความจริงความหมายมันลามก มันเกี่ยวกับอวัยวะเพศหญิง

คงเดช: เราว่านี่คือตัวอย่างของประวัติศาสตร์ที่ผิดพลาดของบางอย่างเกิดมาจากความไร้สาระ และไม่มีเหตุผลใดๆ แต่มันก็อยู่มาเกือบ 30 ปี หลายคนก็รู้สึกว่าต้องมีอะไรแน่ๆ ซึ่งสุดท้ายมันก็ไม่มีอะไร 

ซึ่งวงเราแม่งมีความเป็นแบบนั้นตลอด ไม่มีอะไรจริงๆ มึงอย่าเอาอะไรกับกูมากเลย ตอนออกเพลงแรกๆ คือจะไม่ทำตัวเป็นฮีโร่เลย จะไม่แต่งเพลงสั่งสอนใคร 

ตั๊ก: กูยังเอาตัวไม่รอดเลย (หัวเราะ)

ยืนยันตรงนี้ สี่เต่าเธอ ไม่มีความข้องเกี่ยวกับสี่เต่าทอง

ตั๊ก: ไม่มีความข้องเกี่ยวใดๆ 

คงเดช: ที่เราตอบว่าเพราะเธอสำคัญกว่าทอง เราหลอกพวกคุณมาตลอด (หัวเราะ) 

แล้วถ้าไม่ใช่สี่เต่าทอง วงดนตรีไหนที่ส่วนใหญ่เป็นแรงบันดาลใจให้วงสี่เต่าเธอ 

คงเดช: มีหลายวงหมุนเวียนเปลี่ยนไปเรื่อยๆ ถ้าในยุคนั้นนอกจากวงบริทป็อปที่พูดถึงไป ก็มีวงญี่ปุ่นอย่าง Pizzicato Five หรือวงต่างประเทศอย่าง Saint Etienne 

หลังจากปล่อยอัลบั้มแรกไป ผลตอบรับเป็นอย่างไรบ้าง 

กุ่ย: มันดีแบบงงๆ เพลงก็ได้ขึ้นอันดับ เป็นที่รู้จักอยู่บ้าง

คงเดช: แต่เอาเข้าจริงๆ พวกเราไม่เคยรู้สึกว่าวงประสบความสำเร็จเลย เพราะยุคนั้นอาจมีตัวเปรียบเทียบเยอะมาก

ปูน: คำแปลตรงนั้นคือ พวกเราไม่ได้คิดว่าจะเป็นอาชีพได้ แค่อยากพิสูจน์ว่ากูทำได้ 

คงเดช: นั่นก็เป็นสาเหตุที่เราไม่ค่อยทำเพลงชุดใหม่ออกมา เพราะเราใช้ชีวิตด้วยอาชีพอื่นๆ เรื่องทำวงดนตรีเดี๋ยวค่อยว่ากัน ค่อยไปทำตอนที่มีความสุขและอยากทำจริงๆ ดีกว่า 

ถ้าเป็นวงดนตรีอื่นๆ หากมีคนแฟนเพลงตอบรับ ก็คงรีบปล่อยเพลงใหม่ตามออกมาไม่ขาดสาย ให้ความนิยมเพิ่มขึ้นต่อไป 

ตั๊ก: อาจเพราะตอนนั้นแฟนเพลงไม่เยอะพอทำให้เรารู้สึกว่าจะอยู่กับมันได้ เราจำได้ว่าไปเบิกเงินอัลบั้มแรกมา ได้คนละ 80,000 ก็มีแวบหนึ่งคิดในใจ ‘กูรวยแล้ว’ แต่ในใจลึกๆ ก็รู้นะว่าเงินจำนวนนี้แลกมากับหลายปีที่ลงแรงไป ดังนั้นมันไม่คุ้มเลยในแง่ของการทำเป็นอาชีพ มันเป็นรางวัลที่ทำให้รู้สึกภูมิใจมากกว่า 

กุ่ย: เราไม่ได้ประสบความสำเร็จเหมือนวงดนตรีอื่นๆ ก็อยู่กลางๆ งงๆ 

คงเดช: ไม่ใช่ว่าผลตอบแทนไม่มากพอ แต่ตลอดเวลาก็รู้สึกอยู่แล้วว่ามีอย่างอื่นที่อยากทำด้วย ส่วนสี่เต่าเธอก็อยากเก็บไว้ทำตอนมีความสุขดีกว่า เพราะเราเห็นคนที่ต้องมานั่งคิดว่า จะทำเพลงใหม่อย่างไรให้มันดัง ให้มันติดชาร์ต มันเครียดไปสำหรับเรา 

ปูน: เราไปตามเขาไม่ไหว

ตั๊ก: เราสู้เขาไม่ได้

กุ่ย: อีกอย่างการใช้ชีวิตเป็นนักดนตรีกลางคืน มันไม่ใช่เรา

ปูน: ง่วง นอนเร็ว 

ซุง: เราไม่ชอบออกคอนเสิร์ต เราชอบเวลาที่ทำเพลงในสตูดิโอ ชอบเวลาคิด ชอบเวลาทะเลาะกันมากกว่า 

ปูน: เราไม่ชอบเวลาแสดงสดแล้วมีซูเปอร์เซียนมายืนจ้องตอนเล่น เราก็คิดในใจ พี่ อย่ามาอะไรกับพวกผมมากเลย  

คงเดช: เอาจริงๆ นะ พูดแบบซีเรียส เวลานักดนตรีรวมรุ่นชวนไปเล่นดนตรี ไปแจมกัน พวกเราก็คิดในใจเสมอ แจมอะไร เพลงตัวกูเองยังเอาไม่รอดเลย

กุ่ย: ทุกวันนี้คือใช้คำว่าฝันร้ายเลยนะ เวลาไปตามงานแต่งงาน แล้วเขาเรียกสี่เต่าเธอขึ้นไปเล่นดนตรี คือฉิบหาย กูไม่พร้อม 

ปูน: ครั้งหนึ่งไปออกงาน 7 สีคอนเสิร์ต ต้องไปตีกลองกับ พี่ติ๊ก ชีโร่ (มนัสวิน นันทเสน) ที่เขาชวนมือกลองรุ่นใหม่ ซึ่งตอนนั้นมี เชษ (วรเชษฐ์ เอมเปีย), ต่อ (ต่อตระกูล ใบเงิน) แล้วก็เรา ไปตีกลองบนเวที ส่งกันไป ส่งกันมา ตอนนั้นจำได้ว่าฝีมือเราสู้เขาไม่ได้แน่ๆ เลยใช้วิธีตีให้ท่าทางมันดูยิ่งใหญ่ไว้ก่อนแล้วต้องสั้นที่สุด (หัวเราะ)

คงเดช: จำได้ว่าเพื่อนๆ นั่งรอดูอยู่บ้าน เอาใจช่วย ไอ้ปูน มึงอย่าทำให้วงเสียชื่อ (หัวเราะ)

แต่สุดท้าย สี่เต่าเธอ ก็ได้ปล่อย The Love Boat อัลบั้มที่ 2 ออกมา แรงขับเคลื่อนในการทำอัลบั้มนี้ของพวกคุณคืออะไร

ตั๊ก: เพราะพวกเรายังมีสิ่งที่อยากทำ และเป็นสไตล์ที่ไม่เหมือนเดิมด้วย

คงเดช: เรามีเพลงที่อยากทำ เพราะได้ฟังเพลงหลากหลายมากขึ้น มีไอเดียมากขึ้น 

ต้องเล่าเรื่องนี้ก่อนคือ หลังจากปล่อยอัลบั้มชุดแรกออกไป ค่าย Boop Records ก็ยุบตัวลง พวกเราเลยไปรวมตัวกันทำห้องอัดเล็กๆ แล้วคิดว่าจะเพลงโฆษณา ซึ่งตอนนั้นก็เริ่มทำเดโมอัลบั้ม 2 กันบ้างแล้ว พอดีกับตอนนั้นพี่รุ่งจะทำค่าย Smallroom พอดี เขาก็เลยให้มาออกกับ Smallroom เป็น Smallroom 001 เป็นศิลปินและอัลบั้มแรกของค่าย 

กุ่ย: เพลงก็จะเป็นแนวดิสโก้ที่แตกต่างไป จำได้ว่าตอนนั้นเราเริ่มสนใจดนตรีแนวนี้กันมากขึ้น เพราะมันเป็นดนตรีในช่วงยุคสงคราม เป็นยุคที่โลกภายนอกแม่งโคตรจะเละเทะ จนทุกคนต้องหนีความวุ่นวาย แต่งตัวเว่อร์ๆ เข้าไปเต้นในดิสโก้กัน เป็นความหวือหวาที่สี่เต่าเธอเดินทางไปในตอนนั้น 

เพลงในอัลบั้ม The Love Boat ที่ถ่ายทอดความเป็นดิสโก้ได้ดีที่สุดตามความคิดของพวกคุณคือเพลงไหน

คงเดช: คงเป็นเพลง หนุ่มเท้าไฟ แล้วก็ สเตอริโอ ซึ่งเป็นเพลงที่เราตั้งใจเขียนให้เห็นเป็นภาพ เป็นฉาก 

จากอัลเทอร์เนทีฟกลายเป็นดิสโก้ แฟนเพลงสี่เต่าเธอเข้าใจไหมในตอนนั้น

ตั๊ก: จำได้ว่าผมอ่านวิจารณ์ก็มีทั้งคนที่ตั้งคำถาม แล้วคนที่ชอบไปเลยก็มี 

คงเดช: เราคิดว่า ตัวเองไม่จำเป็นต้องมานั่งอธิบายด้วยว่าทำไมถึงเปลี่ยนแนวเพลงแบบนี้ เราคิดว่าถ้าคนชอบสี่เต่าเธอ ก็คงเข้าใจวิธีคิดของพวกเราเอง 

หากแนวดนตรีเปลี่ยนไป อะไรที่ยังคงความเป็น สี่เต่าเธอ แบบดั้งเดิมเอาไว้อยู่ 

กุ่ย: ยังมีการเล่าเรื่องด้วยภาพ ยังมีการเล่นดนตรีแบบที่ไม่ลงตัว  (หัวเราะ) แนวคิดก็ยังเหมือนเดิมในการทำ เอาจริงๆ แทบไม่ได้รู้สึกว่าอะไรเปลี่ยนเท่าไรเลย แต่รู้สึกว่าได้คิดอะไรเต็มที่มากกว่าเดิม เพลงดิสโก้มันซับซ้อนมาก บางเพลงขึ้นมาเป็นดนตรีป็อปแต่จบเป็นดิสโก้ หรือบางเพลงเป็นอัลเทอร์เนทีฟแต่ลงด้วยดิสโก้ มันสนุกดีตอนได้คิดเพลงขึ้นมา

ด้วยความที่เรียนและชื่นชอบภาพยนตร์กัน อยากรู้ว่าหากจะให้เทียบสี่เต่าเธอเป็นตัวละครในโลกภาพยนตร์ควรจะเป็นตัวละครไหน จากเรื่องอะไร 

คงเดช: คิดออกอยู่กลุ่มหนึ่งคือ The Lone Gunmen ใน X-Files คือมีความสุขกับสิ่งที่ทำ มันเป็นกลุ่มคน 3 คน ที่คุยกันเอง หัวเราะกันเอง เป็น Super Geek ที่คนอื่นจะไม่เข้าใจ

แล้วถ้าเพลงของสี่เต่าเธอจะไปอยู่ในหนังสักเรื่อง ควรจะเป็นเรื่องไหนดี 

กุ่ย: อยากอยู่ในหนังสักเรื่องของพี่เจ้ย (อภิชาติพงศ์ วีระเศรษฐกุล) เพลงของ Smallroom ชอบไปอยู่ในหนังของแก สี่เต่าเธอก็อยากเป็นหนึ่งในนั้นบ้าง 

ปูน: อยากให้วง Black Pink เอาไปร้องบ้าง จะได้ดัง (หัวเราะ)

คงเดช: ส่วนเพลงคงเป็น แก่นรัก 

หลังจากอัลบั้ม The Love Boat พวกคุณก็หายไปถึง 12 ปี กว่าจะปล่อยเพลงอีกครั้งหนึ่ง มันเกิดอะไรขึ้น 

คงเดช: มันเป็นจังหวะชีวิตของพวกเรามากกว่า จาก The Love Boat (2543) ไป สิริมงคล (2550) มันคือการขยับตัวเองจากวิ่งไล่ความฝันวัยหนุ่มไปสู่การอยู่กับชีวิตจริง เพราะตอนนั้น พวกเราก็อายุเกือบๆ 30 แล้ว ต้องทำมาหาเลี้ยงชีพกัน หลายคนก็เริ่มมีครอบครัว 

การเจอกันของวงสี่เต่าเธอมันเริ่มห่างหายกันไปอัตโนมัติ เราก็เริ่มทำหนัง คนอื่นก็มีภารกิจอื่นๆ เพียงแต่เราก็ไม่ได้บอกว่า เลิกทำวงสี่เต่าเธอกันเถอะ อะไรแบบนั้น มันก็ทำกันต่อในสภาพแบบนานทีปีหน ใช้เวลาเยอะ จนพอซุงกลับมา ก็อาศัยไปซ้อมกันหลังเลิกงาน ทำให้สี่เต่าเธอทั้ง 5 คน ได้เริ่มทำเพลงอีกครั้ง

ตั๊ก: เนี่ย เดี๋ยวคนก็สงสัยอีกว่าทำไมสี่เต่าเธอถึงมี 5 คน 

คงเดช: (หัวเราะ) กูก็ไม่รู้จะอธิบายอย่างไร สี่เต่าเธอแม่งเป็นความผิดพลาดทางประวัติศาสตร์ทุกอย่างเลย ตั้งแต่ชื่อ ตั้งแต่จำนวนคน

หายไปนานขนาดนั้น กลัวคนฟังเขาไม่รอพวกคุณไหม

กุ่ย: เราคิดเรื่องพวกนั้นน้อยมาก เอาแค่กลับมาสนุกกันดีกว่า

คงเดช: คือเหมือนพวกเราไม่ได้อยู่ในวงการดนตรี ไม่ได้อยู่ในประวัติศาสตร์อยู่แล้ว จึงไม่ได้มองเรื่องการคงอยู่ของตัวเองเท่าไร

ตั๊ก: เราคิดถึงการเล่นด้วยกัน การได้กลับมาทำงานมากกว่า ไม่ได้คิดถึงคนอื่น คิดถึงแค่พวกเรากันเอง 

คงเดช: ในหนึ่งปีไม่ได้เล่นดนตรีด้วยกัน แค่นัดกันกินสุกี้ก็ประโลมใจแล้ว 

อีพีอัลบั้ม สิริมงคล กับช่วงวัยกลางคนของพวกคุณ แตกต่างจาก 2 อัลบั้มที่ผ่านมาไหม

กุ่ย: ไม่ขนาดนั้น เราไม่ได้รู้ตัวว่าตัวเองเปลี่ยนอะไรเลย ยังรู้สึกว่าเป็นคนเดิมอยู่  

คงเดช: ส่วนหนึ่งอาจเป็นเพราะวงสี่เต่าเธอเวลาเขียนเพลง เราไม่ได้เริ่มจากตอนนี้รู้สึกอย่างไร คิดอะไรอยู่ มันเป็นการเขียนเพลงที่ขึ้นจากคำบางคำ หรือบางท่อน บางทีไม่มีคอนเซปต์ ไม่มีอะไรทั้งสิ้นเลย บางเพลงก็เกิดจากหนังที่ไม่ได้สร้างเพราะมันแพงเกินไป หรือบางเพลงมีเนื้อร้องนิดเดียว แต่มันเป็นคำที่เรารู้สึกดีในการส่งเสียง คนในวงเล่นกันแล้วมีความสุข มันก็กลายเป็นเพลงขึ้นมา พวกเราจะมีวิธีเขียนเพลงแบบนี้มากกว่า 

ซุง: มีความสุขอะไร ทุกวันนี้ยังเล่นไม่ได้เลยเนี่ย 

ย้อนกลับไปปี 2563 พวกคุณเคยสัมภาษณ์รายการหนึ่งแล้วบอกว่ามีเพลงใหม่ที่เตรียมปล่อยให้แฟนเพลงได้ฟัง ทำไมปัจจุบันเราจึงยังไม่เห็นวงสี่เต่าเธอปล่อยเพลงใหม่ มันเกิดอะไรขึ้น

คงเดช: ตอนนั้นพวกเราทำเพลงกันเกือบจะเสร็จแล้ว 1 เพลง แต่พอมีหลายเหตุการณ์เข้ามาทั้งโควิด-19 หรือ ซุงหูดับไปข้างหนึ่ง เพลงก็เลยถูกทิ้งระยะ จนพวกเราไม่แน่ใจว่าจะปล่อยดีไหม จะมีคนฟังหรือเปล่า ก็เลยช่างมัน

มีสิ ทุกวันนี้หลายคนก็ยังรออยู่ 

คงเดช: (หัวเราะ) แต่จริงๆ วงเราคิดอะไรทำนองนี้มาตลอด คิดว่าพวกเราเป็นวงที่ไม่จำเป็นต่อโลก ต่อผู้คนเลย แต่มันจำเป็นกับพวกเรา 5 คน เท่านั้น

อีกอย่างคือการปล่อยเพลงสำหรับพวกเรามันเหนื่อย เพราะต้องวางแผน ต้องโปรโมท ต้องขึ้นคอนเสิร์ต อีกสารพัดอย่าง 

มีโอกาสไหมที่แฟนเพลงจะได้ฟังเพลงใหม่ของสี่เต่าเธอ

ซุง: เพลงมีแล้ว แต่ไม่ให้ฟัง (หัวเราะ) 

กุ่ย: เดี๋ยวคงได้ฟังกันในช่วงเวลาที่คาดไม่ถึง 

ทุกวันนี้ชอบเพลงศิลปินใหม่ๆ คนไหนบ้างไหม

ปูน: เราชอบ Tilly Bird 

ตั๊ก: Polycat ก็เก่งมาก เคยคัฟเวอร์เพลง Stereo ด้วย เราดีใจมาก เหมือน J-Pop เหมือนวงญี่ปุ่นที่เราชอบ หรืออย่างวง Sqweez Animal ก็ชอบมาก

คงเดช: อันหลัง ไม่ถือว่าใหม่แล้ว (หัวเราะ) แต่เห็นด้วยกับตั๊กเรื่องวง Polycat สำหรับเรา นะ (รัตน จันทร์ประสิทธิ์) เป็นนักแต่งเพลงที่เก่งมากสำหรับเรา วิธีเลือกคำหรือว่าเรื่องที่จะเล่าดีมาก 

นอกจากนี้ก็จะมีวงต่างประเทศก็ฟังอยู่เรื่อยๆ พวก Tyler, the Creator หรือ Beenee 

สุดท้ายมองว่าการเล่นดนตรีร่วมกับเพื่อนทั้ง 5 คนภายใต้ชื่อ สี่เต่าเธอ ในตลอดเวลาที่ผ่านมา ให้อะไรกับพวกคุณบ้าง

ตั๊ก: สำหรับผมคือมันมอบความฝันที่จะได้มีวงดนตรี ได้ทำเพลงที่เราชอบ ซึ่งมันก็สำเร็จแล้วในวันนี้

คงเดช: ของเราคือสี่เต่าเธอได้ให้เพื่อนกลุ่มนี้มา ถ้าเราไม่ได้ทำวงดนตรี เราก็อาจรู้จักกันแค่ระดับหนึ่ง แล้วความสัมพันธ์ก็อาจเป็นอย่างอื่นไป แต่ว่าการที่ได้เจอเรื่องต่างๆ ทั้งดีทั้งแย่ ได้ทะเลาะกัน ได้ดีใจ ได้เสียใจ ได้มีความสุขอยู่กับคนกลุ่มนี้ สำหรับเรามันสำคัญมาก

ซุง: ผมรู้สึกว่าทุกครั้งที่ สี่เต่าเธอ แต่งเพลงเสร็จออกมาแล้ว มันเหมือนเราได้สำเร็จความใคร่ในอะไรบางอย่าง มันเป็นความรู้สึกที่สุดยอดสุดๆ เป็นความภูมิใจที่ได้ทำสิ่งหนึ่งร่วมกันมา

กุ่ย: ผมว่ามันเป็นที่ที่อนุญาตให้ทำในสิ่งที่ไม่ถูกต้อง ปกติเวลาคุณเล่นดนตรี หรือผมทำงานอย่างอื่น จะมีสิ่งถูกต้องแต่ไม่ถูกใจ แต่อยู่ในวงนี้เราจะได้ทำสิ่งที่ไม่ถูกต้อง แต่โคตรถูกใจเรา มันได้เป็นตัวเราจริงๆ 

ปูน: ผมไม่ค่อยมีอะไรเก๋ เพื่อนให้เล่นก็เล่น เอาไงก็เอา แต่เอาเข้าจริงมันก็เป็นประสบการณ์แบบ one take ที่ดี คอนเสิร์ตครั้งแรก ออกอัลบั้มครั้งแรก แต่งเพลงครั้งแรก มันเป็นประสบการณ์ที่อยากให้ทุกคนได้เจอ


Tags: , , ,