หลายปีที่ผ่านมา กาแฟไทยมีชื่อเสียงมากขึ้นเรื่อยๆ ตัวเลขจากกระทรวงพาณิชย์สะท้อนว่าในช่วงเวลา 3 ปีที่ผ่านมา ตลาดกาแฟไทยเติบโตเฉลี่ย 8.55% ต่อปี และในปี 2566 มีมูลค่าตลาดรวมแล้วกว่า 3.4 หมื่นล้านบาท เป็นหนึ่งในสินค้าที่มีความต้องการเติบโตสูงที่สุด

ที่น่าสนใจก็คือในบรรดาตลาดกาแฟทั้งหมด มีมูลค่าของ ‘กาแฟสด’ คิดเป็นกว่า 16% ซึ่งทำให้ตลาดทั้งของผู้ประกอบการ ที่ทำหน้าที่จำหน่าย Specialty Coffee ไปจนถึงต้นน้ำอย่างเกษตรกรผู้ปลูกเมล็ดกาแฟเติบโตอย่างก้าวกระโดด

ทว่าเมื่อโตในเชิงปริมาณแล้ว สิ่งหนึ่งที่ต้องพัฒนาอีกอย่างคือ ‘คุณภาพ’ มีความพยายามจากหลายภาคส่วนในการ ‘ดัน’ ให้เมล็ดกาแฟไทยมีคุณภาพทัดเทียมกับหลายประเทศจากอเมริกาใต้ ไม่ว่าจะเป็นโคลัมเบีย บราซิล เอกวาดอร์ หรือประเทศข้างเคียงในแถบอาเซียนอย่างอินโดนีเซีย

จึงเป็นที่มาของการจัดงาน Thailand Best Coffee Beans ซึ่งไม่ได้มุ่งหวังเพียงการหาเมล็ดกาแฟที่ดีที่สุด แต่ต้องเป็นกาแฟที่ ‘รักโลก’ ตามหลักเกษตรเชิงฟื้นฟู และช่วยลดปัญหาฝุ่นละอองขนาดเล็ก PM2.5 ทั่วประเทศ

The Momentum สนทนากับ รพีภัทร์ จันทรศรีวงศ์ อธิบดีกรมวิชาการเกษตรถึงโครงการ Thailand Best Coffee Beans และ ‘โอกาส’ ของกาแฟไทย

อธิบดีกรมวิชาการเกษตรกล่าวถึงโครงการนี้ว่า เป็นโครงการที่จัดต่อเนื่องเป็นปีที่ 4 เพื่อมอบให้ ‘สุดยอดกาแฟ’ โดยแบ่งรางวัล แบ่งการประกวดออกเป็น 2 ประเภท ได้แก่ ‘สุดยอดเมล็ดกาแฟไทย’ หรือ Thailand Best Coffee Beans และประกวดการปฏิบัติทางการเกษตรที่ดีสำหรับสวนกาแฟเพื่อความยั่งยืนตามหลักเกษตรเชิงฟื้นฟู (GAP & Generative) เป็นการพัฒนากาแฟไทยตั้งแต่ ‘ต้นน้ำ’ คือเกษตรกรที่เพาะเมล็ดกาแฟ เรื่อยไปจนถึงการพัฒนาเมล็ดกาแฟถึงขั้นจัดจำหน่ายและส่งออก

ทั้งนี้ ผู้ชนะเลิศจะได้รับถ้วยรางวัลพระราชทาน พร้อมเงินรางวัลกว่า 1 แสนบาทต่อ 1 ประเภท รวมเงินรางวัลทั้งรายการแล้ว 7 แสนบาท โดยเพิ่งปิดรับสมัครไปเมื่อวันที่ 7 มิถุนายนที่ผ่านมา

คำถามก็คือในมุมมองของคนที่อยู่ในแวดวงอย่างอธิบดีรพีภัทร์ เขามองตลาด ‘กาแฟไทย’ แบบไหน?

“จริงๆ แล้วพูดในภาพตลาดโลกได้เลยว่าความต้องการเมล็ดกาแฟในตลาดโลกนั้นมหาศาล แล้วก็ในเรื่องของราคา ราคาเมล็ดกาแฟในปัจจุบันนั้นสูงขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ โดยเฉพาะกาแฟพิเศษ กาแฟที่มีอัตลักษณ์ กลิ่น รส หรือกาแฟที่มีอัตลักษณ์ท้องถิ่นที่เราเรียกว่า GI (Geographical Indication) เป็นตลาดที่มีการเติบโตอย่างต่อเนื่อง”

ขณะเดียวกัน จุดเด่นสำคัญก็คือความต้องการกาแฟนั้นชัดเจนว่า ผู้บริโภคมีหลายช่วงอายุ ตั้งแต่เด็กนักเรียนไปถึงคนทำงาน ซึ่งสะท้อนว่าตลาดกาแฟเติบโตมาโดยตลอด

ถ้าเทียบเมล็ดกาแฟไทยกับต่างประเทศ คิดว่าต่างกันอย่างไร?

รพีภัทร์ระบุว่า ในบรรดาประเทศแถบศูนย์สูตรที่ปลูกกาแฟ ประเทศไทยอยู่ในเขตแนวแบ่งแดนแบบเดียวกัน เช่น บราซิล 

“แต่กาแฟของประเทศไทยแตกต่างตรงที่ว่า กาแฟไทยเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม กาแฟหลายประเทศ ประเทศใหญ่ๆ จะปลูกในลักษณะที่ว่าแบบปลูกอย่างเดียว เป็นแปลงใหญ่ แต่ตรงนี้แตกต่างกับไทย ของไทยปลูกแบบเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม ไม่ได้ทำลายสิ่งแวดล้อม ซึ่งผมอยากให้เป็นจุดเด่น เป็นตลาดของกาแฟไทย 

“ผมอยากมองเป้าว่า กาแฟทุกเมล็ดของไทยเป็นกาแฟรักษ์โลก รักสิ่งแวดล้อม ถ้าเราพัฒนากระบวนการปลูกของเรา ให้เป็นเรื่องรักษ์โลก ดูแลสิ่งแวดล้อม และสามารถลดคาร์บอนฟุตพรินต์ได้ จะทำให้กาแฟไทยเป็นสุดยอดกาแฟโลก”

ทั้งนี้ กรมวิชาการเกษตรดำเนินการตั้งแต่มองหาสายพันธุ์ที่เหมาะสม เช่น ภาคเหนือ ภาคอีสาน ภาคใต้ รวมถึงการใช้ ‘ชีวภัณฑ์’ กำจัดแมลงศัตรูพืช การลด-เลิกใช้สารเคมี รวมถึงพัฒนาเมล็ดพันธุ์ คั่วบด หมัก ให้ได้รสชาติตามที่ผู้บริโภคต้องการ

ไม่เพียงเท่านั้น กรมวิชาการเกษตรยังได้ดึงผู้ประกอบการร้านกาแฟมาร่วมพัฒนาคุณภาพเมล็ดกาแฟให้ตรงกับความต้องการผู้บริโภค เป็นต้นว่าพันธุ์ไทย อเมซอน เนสท์เล่ หรือแบล็คแคนยอน เพื่อให้เกิดความหลากหลายในหลายมิติ

อีกทั้งโครงการสุดยอดกาแฟไทยปีนี้ ยังเชิญกรรมการผู้เชี่ยวชาญจากวงการกาแฟโลกเข้ามา โดยต้องการทำให้กาแฟไทยก้าวไปสู่กาแฟระดับโลกอย่างแท้จริง

‘โลกร้อน’ กระทบวงการกาแฟ

ข้อสำคัญก็คือ ขณะนี้การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ อากาศที่ร้อนขึ้น ทำให้คุณภาพของเมล็ดกาแฟลดลง และผลผลิตก็ลดลง

ทั้งหมดนี้ยังไม่นับรวมปัญหาฝนไม่ตกต้องตามฤดูกาล ปัญหาแมลงศัตรูพืชทำลายไร่กาแฟจนเสียหาย และอากาศที่เปลี่ยนไปยังทำให้ ‘กลิ่น’ และ ‘รส’ กาแฟ เปลี่ยนแปลงอย่างไม่สามารถควบคุมได้

ด้วยเหตุนี้จึงมีความสำคัญอย่างยิ่งที่กรมวิชาการเกษตรต้องเข้าไปดูแล ในเรื่องการจัดหาสายพันธุ์ให้เหมาะสม พัฒนาพันธุ์ให้ทนร้อน ทนแล้ง ทนต่อศัตรูพืชให้มากขึ้น และในเวลาเดียวกันก็ต้องจัดการกับทรัพยากรธรรมชาติอย่างยั่งยืน ให้คนอยู่กับป่า ป่าอยู่กับคน และไร่กาแฟต้องไม่ส่งผลทำลายป่าไปมากกว่านี้ 

“ผมอยากให้กาแฟทุกเมล็ดของประเทศไทยเป็นกาแฟที่มีจุดยืนในฐานะกาแฟที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม การเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมก็คือการจัดการกับทรัพยากรธรรมชาติอย่างยั่งยืน เกิดความยั่งยืนในเรื่องของ Sustainable ให้อยู่ให้ได้​”

รพีภัทร์ ในฐานะข้าราชการลูกหม้อกระทรวงเกษตรฯ ไม่ได้ทำงานเพียงคนเดียว แต่ยังมีองคาพยพของกระทรวงเกษตรฯ ทั้งเกษตรจังหวัด เกษตรอำเภอ และเกษตรตำบล ในการลงไปให้คำแนะนำพี่น้องเกษตรกรช่วยปลูกกาแฟ

คำถามสำคัญก็คือในฐานะคนกินกาแฟคนหนึ่ง กาแฟไทยมีจุดเด่นอย่างไร และอยู่ตรงไหนในบรรดากาแฟทั่วโลก

ถึงตรงนี้ อธิบดีกรมวิชาการเกษตรบอกว่า กาแฟไทย โดยเฉพาะในพื้นที่ภาคเหนือที่ได้รางวัลหลายปีติดต่อ ขณะเดียวกันตลอดหลายปีที่ผ่านมา ทั้งกาแฟสด กาแฟดริป และกาแฟกลุ่มพิเศษ ล้วนมีคอมมูนิตี้ที่ใหญ่ขึ้นเรื่อยๆ

“กาแฟทั่วไปอาจจะเข้มอย่างเดียว หรือมีนม น้ำตาล ซัดเข้าไป เลยไม่มีรสชาติความเป็นเอกลักษณ์ หรืออัตลักษณ์ แต่ตอนนี้ผู้บริโภคเปลี่ยนไป ฉะนั้น โครงการสุดยอดกาแฟไทย จะเฟ้นหาเน้นหาเมล็ดกาแฟที่ดีที่สุด เด่นชัดที่สุด และตอบในเรื่องการจัดการทรัพยากรยั่งยืน เป็นมิตรสิ่งแวดล้อม แล้วก็เป็นกาแฟที่ปล่อยคาร์บอนต่ำ

“ผมอยากให้ผู้บริโภคทั่วโลก เวลาเห็นเม็ดกาแฟไทยแล้วเขารู้ทันทีว่า เป็นกาแฟที่เป็นมิตรสิ่งแวดล้อม ไม่ว่าจะรายใหญ่ รายย่อย เห็นตรงกันว่าเราปล่อยคาร์บอนต่ำ สุดท้ายแล้วไม่ทำลายโลก 

“ผมอยากเห็นว่ากาแฟไทยมีชื่อเสียงในระดับโลกเหมือนกับที่เรากินรู้จักสตาร์บัคส์ก็จะรู้จักว่าเป็นกาแฟอเมริกา” อธิบดีกรมวิชาการเกษตรบอกกับเรา

 

Fact Box

ติดตามรายละเอียดของโครงการ Thailand Best Coffee Beans ได้ทางเว็บไซต์กรมวิชาการเกษตร

Tags: , , , ,