ยอดตัวเลขผู้ติดเชื้อโควิด-19 รายวันที่พุ่งสูงขึ้นไม่มีท่าจะหยุด ทำให้ประเทศไทยที่เมื่อปีก่อนได้รับเสียงชื่นชมจากนานาชาติว่า สามารถจัดการกับโควิด-19 ได้ดี บัดนี้เกิดวิกฤตเตียงไม่พอ ผู้ป่วยจำนวนมากต้องรอคอยการช่วยเหลือ บางครั้งก็รอไม่ไหวจนอาการทรุดหนักถึงขั้นเสียชีวิต และเมื่อจำนวนผู้เสียชีวิตไม่ใช่เพียงแค่ตัวเลข แต่คือผู้เป็นที่รักของใครสักคน ภาคประชาชนและภาคเอกชนจึงต่างร่วมแรงร่วมใจกันเข้ามาช่วยบรรเทาสถานการณ์นี้ 

ดร.พิมพ์ขวัญ บุญจิตต์พิมล ผู้บริหารไวทัล โกลว์ สกิน แอนด์ เอสเธติก เซ็นเตอร์ (Vital Glow Skin & Aesthetic Center) ภายใต้โรงพยาบาลนวมินทร์ 9 และ ดร.มานะ เตชะไพฑูรย์ สามีของเธอ คือส่วนหนึ่งของผู้ที่ให้ความช่วยเหลือ โดยการจัดสร้างโรงพยาบาลสนามและศูนย์พักคอยเตียงขึ้นมา 4 แห่ง ภายใต้การดำเนินงานของมูลนิธินวมินทร์รวมใจ’ ที่เพิ่งก่อตั้งขึ้นเมื่อต้นปี

ขณะเดียวกัน ดร.พิมพ์ขวัญก็เป็นคณะผู้บริหารของโรงพยาบาลนวมินทร์ 9 ที่ต้องลงมาช่วยรับเรื่องผู้ป่วยโควิด-19 ด้วยตัวเอง เพราะบุคลากรไม่เพียงพอ เธอเห็นถึงความท้อแท้ของคนด่านหน้า และความร้อนใจของผู้ป่วยที่ต้องการความช่วยเหลือ ถึงขั้นที่เธอต้องเอ่ยปากว่านี่เป็นงานที่หินที่สุดในชีวิตการทำงาน” 

สถานการณ์การทำงานของบุคคลการทางแพทย์โรงพยาบาลนวมินทร์ 9 ปัจจุบันเป็นอย่างไร

พิมพ์ขวัญ: ตอนนี้ก็คือค่อนข้างหนักมาก ทางโรงพยาบาลจะรับคนไข้ 2 กลุ่ม เป็นคนไข้ทั่วไปกับคนไข้ประกันสังคม และพิมพ์เป็นคนรับคนไข้โควิดเข้ามา Swab (เก็บตัวอย่างเชื้อบริเวณลำคอและหลังโพรงจมูก) พิมพ์เลยเห็นสถานการณ์หลายๆ อย่าง เราก็พยายามที่จะขยายในเรื่องของเตียง ผ่านแคมเปญระดมทุนสร้างศูนย์พักคอยเตียงทั้งหมด 4 แห่ง ได้แก่ มีนบุรี บางกะปิ คลองสามวา และบางเขน เพราะเราคิดว่าสถานการณ์โควิดน่าจะอยู่ไปอีกสักพัก แต่ถ้าในอนาคตโควิดหมดไป กรณีฉุกเฉินมีเหตุเตียงเต็ม เราก็สามารถเอาตรงนี้มารองรับได้ เพราะในอนาคตเราไม่รู้จะมีโรคอะไรมาอีกหรือเปล่า จริงๆ โควิดก็เป็นโรคที่ไม่มีใครคาดฝันมาก่อน

ตอนนี้ดีมานด์มากกว่าซัพพลาย เลยทำให้คนไม่มีที่ไป เข้าไม่ถึงการแพทย์ และอาจเสียชีวิตได้ เราพยายามจะทำให้คนไทยเข้าถึงการแพทย์ได้เร็วที่สุด ได้เยอะที่สุด บางคนอาจจะบอกว่าทำไมโทรเบอร์โรงพยาบาลไม่ติดเลย แต่ที่โทรไม่ติดเพราะคนโทรเยอะจริงๆ และบุคลากรไม่ได้หยุดจริงๆ ตอนนี้พยาบาลก็ขาดด้วย และพิมพ์ทำหน่วยออกตรวจโควิดตามบ้านด้วย เพราะพิมพ์รู้ว่าบางคนที่เขาอยู่บ้านคนเดียว ถ้าเขาติดโควิดและไม่ได้ตรวจ ไม่มีใครพาไปเลย เขาจะทำอย่างไร แค่หนึ่งคนเราก็รับ เพราะเราเห็นว่ากลุ่มที่ต้อง Home Isolation มีอยู่เยอะมาก 

โรงพยาบาลนวมินทร์แก้ปัญหาอย่างไร เมื่อบุคลากรทางการแพทย์ขาดแคลน

พิมพ์ขวัญ: เราเองก็มีเครือข่ายอย่าง เช่น โรงพยาบาลนวมินทร์ 9, โรงพยาบาลนวมินทร์ 1, โรงพยาบาลนวมินทร์ 3 และคลินิกเครือข่ายของเรา ก็จะมีการสับเปลี่ยนแพทย์และพยาบาลมาดูในส่วนของโควิดมากขึ้น เพราะตอนนี้คลินิกรักษาโรคทั่วไปก็มีเคสไม่เยอะมาก อย่างโรงพยาบาลตอนนี้เป็นเคสโควิดหมดเลย เตียงเต็มไปด้วยคนไข้โควิด เรียกว่าเราปรับไปบริการคนไข้โควิดส่วนใหญ่เลยก็ว่าได้ เพราะโควิดมันไม่ใช่แค่ปัญหาระดับชาติ มันเป็นปัญหาระดับโลกเลย ถ้าทุกโรงพยาบาลช่วยกัน พิมพ์เชื่อว่าปัญหาจะคลี่คลายลง แต่ถ้าสมมติถ้าผู้ป่วยโควิดมากขึ้นเรื่อยๆ ทุกวัน แล้วเขาไม่สามารถเข้าถึงการแพทย์ไม่ได้ อัตราการเสียชีวิตก็จะยิ่งมากขึ้น มันจะยิ่งลงเหว

ทางสมาคมโรงพยาบาลก็มีการประชุมกันเรื่อยๆ ว่าเราจะมีนโยบายรับมืออย่างไรกับคนไข้ที่ล้นขนาดนี้ เพราะถ้าย้อนกลับไปดูเดือนที่แล้ว กฎหมายออกมาว่าใครตรวจ PCR โรงพยาบาลไหน จะต้องไปรักษาที่โรงพยาบาลนั้น แต่กลายเป็นว่าโรงพยาบาลเอกชนหลายๆ ที่ไม่รับตรวจโควิดเพราะว่าเตียงเต็ม ตอนนี้เลยออกกฎใหม่ว่า ถ้าตรวจ PCR แล้ว จะไปรับเตียงที่ไหนก็ได้ เราก็ต้องปรับเปลี่ยนไปตามสถานการณ์

ในความเป็นจริง โรงพยาบาลได้รับผลกระทบในแง่ของรายได้จากสถานการณ์โควิด-19 ไหม 

พิมพ์ขวัญ: ถามว่าได้รับผลกระทบไหม มันก็ได้รับผลกระทบ แต่ไม่เท่ากับที่อื่นที่เขาต้องปิดไปเลย คือถ้าให้เราเลือก เราก็เลือกสภาพปกติดีกว่า เพราะสภาพแบบนี้มันต้องรับมือกับความเครียด กับชีวิตคนเยอะเกินไป ปกติสถานการณ์โรงพยาบาลทั่วๆ ไปที่เราให้บริการ เราก็มีอัตราคนป่วยและเสียชีวิต แต่มันไม่ได้เยอะเท่าตอนนี้ คือตอนนี้คนทุกข์ทรมานมาก แล้วเราเองก็เห็น ถึงแม้ผลกระทบของเราจะไม่ได้เยอะเท่าที่อื่น แต่เราก็ไม่ได้อยากให้เกิดสถานการณ์แบบนี้ 

ส่วนลูกค้าต่างชาติ ก่อนจะมีโควิดเราก็มีดีลกับประเทศลิเบีย จีน ตะวันออกกลาง และได้เซ็น MOU กับทางญี่ปุ่นเพื่อสร้างบ้านพักผู้สูงอายุ แต่เนื่องด้วยสถานการณ์โควิด เราก็เลยต้องเลื่อนการเปิดส่วนนี้ ที่ชั้น 5 ทั้งหมดที่เราจะทำโครงการนี้จึงต้องเปลี่ยนเป็นเตียงรับผู้ป่วยโควิดแทน แม้กระทั่งตัวพิมพ์เองที่มีแผนจะเปิดร้านแม่และเด็กที่โรงพยาบาลก็ยังไม่ได้เปิดเลย เพราะเปิดไปก็ไม่มีคนมาเดินซื้อของอยู่ดี 

เนื่องจากบุคลากรทางการแพทย์ส่วนใหญ่เป็นผู้หญิง และบทบาททางเพศมักผูกติดกับภาระงานในครอบครัวด้วย เมื่อสถานการณ์โควิด-19 เลวร้ายลงเช่นนี้ มันกระทบกับพวกเขาอย่างไรบ้าง

พิมพ์ขวัญ: พยาบาลบางคนคือต้องแยกอยู่กับครอบครัวเลย เพราะเขาเป็นด่านหน้า บุคลากรทางการแพทย์บางคนเขาก็มีลูกเล็ก ไม่อยากเอาเชื้อไปติดลูก หรือหมอบ้างคนที่ดูแลคนไข้โควิดก็ต้องไปเช่าคอนโดฯ อยู่อีกทีหนึ่งเพื่อที่จะทำงานตรงจุดนี้ ไม่ได้อยู่บ้านตัวเองด้วยซ้ำ ถามว่าเขาได้เงินดีไหม เขาไม่ได้ได้เงินดีเลยนะ แต่ด้วยความที่อาชีพแพทย์ พยาบาล และบุคลากรทางการแพทย์ เขาต้องมีจริยธรรมในจุดนี้ เขาจึงให้ใจเต็มมากๆ เลย โดยที่บางคนไม่ได้เจอครอบครัวเลยด้วยซ้ำ ซึ่งบุคลากรทุกคนทั้งเบื้องหน้าเบื้องหลังเขารู้ว่ามีความเสี่ยงหมด และการเป็นบุคลากรทางการแพทย์มันต้องพร้อมให้เรียกใช้งานตลอดเวลา เมื่อคุณเลือกเป็นบุคลากรทางการแพทย์ คุณต้องอุทิศตัวเองเพื่อคนไข้ ไม่มีเวลาเลิกงานตายตัว 

อย่างตัวพิมพ์เอง ตอนนี้พิมพ์มีลูกเล็ก ถึงแม้จะ Work from Home แต่เราก็ไม่กล้าจ้างพี่เลี้ยง เพราะอาจเพิ่มความเสี่ยงได้ และด้วยความที่เราเป็นหน่วยออกไปตรวจโควิดตามบ้าน เราก็ต้องบริหารตรงจุดนี้ เราก็ต้องดีลกับผลแล็บ ถ้าเป็นบวก เราก็ต้องไปดีลกับอีกที่ให้โทรตามคนไข้ ต้องดูเรื่องของเตียง ดีลสารพัด เหมือนเราดูภาพใหญ่ทั้งหมดเลย มันเหนื่อยมากจริงๆ ทุกวันนี้ไม่เคยได้นอนพอเลย เพราะเราต้องตื่นมาให้นมลูกทุก 3 ชั่วโมง ตื่นมาก็ตอบคนไข้ไปด้วย 

อย่างที่ทราบกันดีว่าโควิด-19 ไม่ได้มีผลกระทบแค่สุขภาพกาย แต่มีผลต่อสภาพจิตใจของผู้คนด้วย ในฐานะผู้บริหาร คุณมีวิธีช่วยให้กำลังใจบุคลากรทางการแพทย์อย่างไร 

พิมพ์ขวัญ: ตอนนี้สถานการณ์เข้าขั้นว่าเหนื่อยจนบางคนร้องไห้เลยนะ เราได้แต่ปลอบใจ ในฐานะที่เราก็เป็นหนึ่งในบุคลากรทางการแพทย์ เราเองก็เข้าใจเขา ได้แต่ปลอบใจว่าเดี๋ยวทุกอย่างก็ดีขึ้น ทุกคนมีความสำคัญมาก ถ้าเขาหายไปหนึ่งคน อาจจะทำให้คนไข้อีกหลายๆ คนต้องทรมานหรือมีอัตราการเสียชีวิตเยอะขึ้น เพราะฉะนั้นเขามีความสำคัญมาก พิมพ์ทำให้ทุกคนรู้ว่า ถ้าเขาหยุด มีคนได้รับผลกระทบแน่นอน หรือกระทั่งหนึ่งสายที่ไม่ได้รับการโทรกลับ อาจจะหมายถึงสายเกินไปก็ได้ คือเราต้องพยายามทำเต็มที่ในจุดนี้ ช่วยกันให้กำลังใจ พิมพ์เชื่อว่าทุกคนก็ท้อแหละ แต่เขาเห็นเขาก็อยากช่วย ขนาดพิมพ์เองยังคิดว่าถ้าเราหยุดทำงานไปวันหนึ่งต้องแย่แน่เลย 

ตั้งแต่คุณเริ่มเข้ามาช่วยบริหารงานโรงพยาบาลนวมินทร์ 9 สถานการณ์โควิด-19 ถือเป็นช่วงหนักที่สุดเลยไหม

พิมพ์ขวัญ: หนักสุด แต่มีสองอย่าง คือหนักสุดในช่วงแรก ตอนเริ่มทำงานเมื่อ 7 ปีก่อน พิมพ์เพิ่งเรียนจบปริญญาเอกมา ตอนนั้นเริ่มเปิดไวทัล โกลว์ สกิน แอนด์ เอสเธติก เซ็นเตอร์ (Vital Glow Skin & Aesthetic Center) และเราต้องมีการประสานงานกับคนภายในโรงพยาบาล เพราะเราไม่ได้แยกตัวออกมา ด้วยความที่โรงพยาบาลเราเปิดมาเกือบ 30 ปี พิมพ์ก็เจอบุคลากรหลายคนที่อยู่กับเรามาเกิน 20 ปี ซึ่งเราจะทำอย่างไรให้เขารู้สึกว่า จากเด็กคนหนึ่งที่เขาเคยเจอตอน 5 ขวบ ตอนนี้โตมาอายุ 30 ปีแล้วนะ เราก็ต้องพยายามที่จะทำให้คนเหล่านี้ยอมรับเราให้ได้ในบทบาทคนทำงานคนหนึ่ง

พิมพ์ไม่ได้เข้ามาเป็นผู้บริหารเลย พิมพ์เข้ามาในลักษณะคนทำงานก่อน หลังจากนั้นก็ค่อยๆ พัฒนาเลเวลตัวเองขึ้นมาเรื่อยๆ ตามอายุงาน ตามประสบการณ์ที่มี งานตรงจุดนี้เป็นลักษณะที่ว่าคุณต้องไปทำงานจริงๆ ต้องลงไปคลุกคลีกับมัน แล้วคุณจะรู้ว่าขั้นตอนการทำงานเป็นอย่างไร จะประสานงานกับใคร ภาพใหญ่ของโรงพยาบาลเป็นอย่างไร 

ตอนแรกพิมพ์เข้าไป พิมพ์ก็ถามว่าไม่มีคลาสสอนหรือว่าบริหารโรงพยาบาลอย่างไร ด้วยความที่ตอนเรียนปริญญาโท พิมพ์เรียนสาขา International Health Management ที่ Imperial College London ประเทศอังกฤษ แต่เรากลับรู้สึกว่าแทบไม่ค่อยได้ใช้ ส่วนใหญ่ใช้ประสบการณ์ทำงานจริงๆ ในโรงพยาบาลมากกว่า พิมพ์เข้าไปแต่ละแผนกเพื่อให้รู้ไปเลยว่าแผนกนี้เขาทำอะไร มีใครดูแลตรงจุดไหนบ้าง และทำอย่างไรให้ได้ใจบุคลากรทางการแพทย์ที่ทำงานกับโรงพยาบาลของเรา ไม่ใช่ว่าเราเป็นลูกของ CEO (นพ.ประจักษ์ บุญจิตต์พิมล) แล้วเราจะสั่งเขาให้ทำอย่างนี้นะ อย่างนั้นนะ มันต้องเป็นลักษณะเหมือนเพื่อนร่วมงานกันมากกว่า 

ที่โรงพยาบาลนวมินทร์ 9 เราไม่ได้อยู่กับแบบลำดับชั้น เราอยู่กันแบบครอบครัว การที่เราจะเป็นหนึ่งในสมาชิกครอบครัวได้จำเป็นต้องใช้เวลา อันนี้มันจึงยากในเชิงจิตวิทยา ในการอดทนให้ได้รับการยอมรับว่าเราเป็นหนึ่งในสมาชิกของโรงพยาบาล ยากคนละแบบกับโควิด โควิดยากในเนื้องาน และไม่ใช่แค่เนื้องาน มันหนักใจด้วย ในหนึ่งวัน พิมพ์จะเจอผู้ป่วยประมาณ 100-200 เคสนะ ทุกคนกำลังร้อนใจ รู้สึกว่าโรงพยาบาลจะทิ้งเขาหรือเปล่า และที่พิมพ์ต้องลงมาทำงานนี้เองเพราะบุคลากรไม่พอจริงๆ แต่เราก็พยายามช่วยเหลือเขาด้วยการให้คนทำ Home Isolation เข้ามารับยาที่โรงพยาบาลได้นะ หรือเอ็กซเรย์ปอดดูว่าปอดมีฝ้าแล้วหรือยัง

ตอนนี้คุณผ่านจุดพิสูจน์เพื่อให้ได้รับการยอมรับจากบุคลากรต่างๆ ในโรงพยาบาลแล้วใช่ไหม

พิมพ์ขวัญ: ใช่ แต่ใช้เวลานะ เพราะเราอยู่มา 7 ปีแล้ว คือใช้เวลามาเรื่อยๆ เพิ่งมาเริ่มเข้าที่เข้าทางเมื่อ 2-3 ปีที่ผ่านมานี้เอง 

จากประสบการณ์ทำงานที่ผ่านมา คิดว่าความท้าทายต่อจากนี้ในการบริหารธุรกิจโรงพยาบาลคืออะไร 

พิมพ์ขวัญ: ถ้ามันมีโรคอะไรที่หนักแบบนี้ พิมพ์ว่าเราก็คงจะรับมือได้ดีมากขึ้นแล้วแหละ เพราะว่าก่อนหน้านี้ถ้าย้อนกลับไปช่วงโควิด-19 ระลอกแรก ตอนนั้นทุกคนวางใจว่าโควิด-19 จัดการง่าย แค่แป๊บเดียวก็ดีขึ้นแล้ว พอมาตอนนี้ เรารู้ว่าเราต้องมีศูนย์พักคอยเตียง เรารู้แล้วว่าเราต้องขยายเตียงเพิ่ม เรารู้แล้วว่าต้องมี Hospitel รองรับ ตอนนี้เราก็เตรียมความพร้อมมากขึ้น การบริหารรับมือกับสถานการณ์ต่างๆ ก็อาจจะง่ายขึ้นในอนาคตแน่นอน เพราะเราเจอของหนักมาแล้ว โรงพยาบาลก็ไม่เคยคิดว่าจะเจอสถานการณ์ที่คนเสียชีวิตมากขนาดนี้ ตอนโรคซาร์สเมื่อประมาณ 10 กว่าปีที่แล้ว ยังไม่ได้หนักและยาวนานเท่านี้เลย

หลายๆ โรงพยาบาลนำระบบการแพทย์ทางไกล (Telemedicine) มาช่วยปรับวิธีให้บริการคนไข้ทั่วไป โรงพยาบาลนวมินทร์ 9 มีการปรับตัวอย่างไรบ้าง

พิมพ์ขวัญ: อย่างศูนย์ไวทัล โกลว์ เราทำเกี่ยวกับผิวพรรณ ศัลยกรรมแปลงเพศ และปลูกผม ส่วนตรงนี้ถามว่ายังมีคนไข้เข้ามาทำไหมในช่วงโควิด มี และมีเยอะด้วย แต่บางคนที่ไม่สามารถเข้ามาโรงพยาบาลได้ ก็สามารถวิดีโอคอลกับคุณหมอ และคุณหมอก็จ่ายยาไปให้เขาที่บ้าน เรามีบริการตรงนี้อยู่ ถ้าเป็นโรคอื่นๆ นอกเหนือจากเรื่องนี้ เราให้คนไข้นัดคุยผ่านวิดีโอคอลกับคุณหมอด้วยเหมือนกัน เพราะเราเข้าใจว่าบางคนอาจจะอยู่ต่างจังหวัดบ้าง หรือไม่สะดวกใจจะเข้ามาโรงพยาบาล และในอนาคต แพลตฟอร์มออนไลน์ที่ติดต่อกับคุณหมอก็จะแข็งแรงขึ้น เพราะตอนนี้เราเพิ่งเริ่มทำ แล้วตอนนี้เรื่อง Home Isolation เราก็ดีลกับแอพพลิเคชันที่ดูแล Home Isolation โดยตรงเลย 

ในฐานะที่คุณพิมพ์ลงมาช่วยประสานงานช่วยเหลือผู้ป่วยโควิด-19 คิดว่าสถานการณ์โควิด-19 ที่รุนแรงขึ้นเรื่อยๆ เช่นนี้ ต้องดำเนินการอย่างไรให้ทุกอย่างดีขึ้น

พิมพ์ขวัญ:ในความคิดของพิมพ์นะคะ ไม่ว่าจะเป็นหน่วยงานทางภาครัฐเอง หรือว่าโรงพยาบาลเอกชนทุกแห่ง ถ้าเราร่วมมือกันแล้วเรามองผลประโยชน์ของประชาชนเป็นหลัก พิมพ์ว่าเราจะสามารถผ่านเรื่องนี้ไปได้แน่นอน และอยากจะให้ประชาชนทุกคนมีกฎกับตัวเองเลยว่า เราจะต้องสวมหน้ากากอนามัย และทุกอิริยาบถของเราสำคัญมาก เราจะละเลยมาตรการต่างๆ ไม่ได้เลย 

อยากพูดคุยถึงส่วนของมูลนิธินวมินทร์รวมใจบ้าง ทราบมาว่าทั้งคุณพิมพ์และคุณมานะเพิ่งก่อตั้งมูลนิธิฯ เมื่อต้นปีที่ผ่านมา มูลนิธิฯ นี้ตั้งใจจะดำเนินงานในรูปแบบไหนบ้าง

พิมพ์ขวัญ: เราโฟกัสไปที่เรื่องของเด็ก สตรี และกลุ่ม LGBTQ+ ตอนแรกเราตั้งใจจะส่งเสริมเรื่องการศึกษาให้แก่เด็ก สตรี และทุกๆ คน เพราะสมมติเขาได้รับการศึกษา มันจะส่งผลระยะยาวให้เขาสามารถสร้างรายได้ให้ครอบครัวได้ กับอีกส่วนหนึ่งเป็นความช่วยเหลือสำหรับเด็กด้อยโอกาส เช่น เกิดมาอาจจะไม่ครบ 32 เราก็จะมีแพทย์ผู้เชี่ยวชาญ สามารถทำให้เขากลับมาเป็นใช้ชีวิตเหมือนคนปกติได้ 

มานะ: งานในส่วนมูลนิธิฯ ก็คือการช่วยเหลือสังคมนั่นแหละ มันเกิดมาจากการที่เราทำกันเองภายในองค์กรหรือในโรงพยาบาลของเราอยู่แล้ว ทั้งเรื่องส่งเสริมความเสมอภาคหรือความเท่าเทียมกัน แต่การช่วยเหลือภายใต้องค์กรเป็นการช่วยเหลือมุมแคบ การมีมูลนิธิฯ ขึ้นมาก็สามารถช่วยเหลือได้มากกว่า และทำโครงการที่ใหญ่ได้มากขึ้น โดยเรามีความช่วยเหลือเกี่ยวกับกองทุนสำรองสำหรับเพศทางเลือก คนที่เป็นเพศทางเลือกสามารถส่งเรื่องเข้ามาได้ว่ามีปัญหาอะไร เราจะมีทีมวิเคราะห์สถานการณ์ของเขา และจะส่งความช่วยเหลือไป อาจจะเป็นรูปแบบของสิ่งของ แต่ตอนนี้โครงการที่เร่งด่วนเข้ามาคือศูนย์พักคอย มันอาจจะไม่ได้เกี่ยวเนื่องกับความเท่าเทียมทางเพศมากนัก แต่ก็เป็นโครงการที่เราสามารถช่วยเหลือคนในสถานการณ์ที่เขาแย่ได้ 

สรุปแล้ว งานหลักของมูลนิธินวมินทร์รวมใจมี 2 ส่วน ส่วนแรกคือสนับสนุนเรื่องความเท่าเทียม อีกส่วนเป็นการช่วยเหลือกลุ่มผู้ด้อยโอกาสในสังคมใช่ไหม 

พิมพ์ขวัญ: ใช่ค่ะ แต่ขึ้นอยู่กับสถานการณ์ด้วย อย่างเช่นตอนนี้ช่วงโควิด เราก็ต้องโฟกัสเรื่องนี้ก่อนเป็นพิเศษ แต่เดือนมิถุนายนที่ผ่านมาเป็นเดือน Pride Month เราก็มีการทำแคมเปญกองทุนฉุกเฉินให้กับกลุ่ม LGBTQ+ และมีการจัดงานเสวนาHAPPY PRIDE MONTH เพราะคุณคือคนสำคัญของเราที่เชิญอาจารย์และสมาคม LGBTQ+ มาแลกเปลี่ยนประสบการณ์และให้ความรู้ผ่านทางออนไลน์เป็นหลัก 

ภาพรวมความเท่าเทียมทางเพศในสายงานการแพทย์เป็นอย่างไรบ้าง ที่ผ่านมามีการพูดว่าบุคลากรทางการแพทย์หญิงได้ค่าแรงน้อยกว่าบุคลากรทางการแพทย์ชาย หรือผู้หญิงไม่ค่อยเติบโตทางหน้าที่การงานเท่าผู้ชาย 

พิมพ์ขวัญ: จริงๆ ในประเทศไทยตอนนี้หลายที่ก็มีความเท่าเทียมกันเยอะมากแล้วนะ พิมพ์ว่ามันอยู่ที่ความสามารถของแต่ละคน อยู่ที่การกระทำ คำพูด และวิจารณญาณของเขามากกว่าจะมาดูว่าใครเป็นผู้หญิง ผู้ชาย หรือ LGBTQ+ อย่างการบริหารในโรงพยาบาลที่พิมพ์มีโอกาสได้สัมผัส ก็ไม่ได้มีเรื่องลักษณะนี้เกิดขึ้น โดยเฉพาะในโรงพยาบาลนวมินทร์ 9 ที่ผู้นำส่วนใหญ่เป็นผู้หญิงด้วยซ้ำ ผู้บริหาร ผู้อำนวยการ ประมาณเกินครึ่งหนึ่งเป็นผู้หญิงหมดเลย ตอนเด็กๆ เราก็ยังเห็นเขาเป็นพยาบาล เป็นหัวหน้าพยาบาล แต่ตอนหลังขึ้นมาเป็นรองผู้อำนวยการ คือเขาก็ไต่ขึ้นมาเรื่อยๆ ด้วยความสามารถของเขาจริงๆ และไม่ได้มีผลกระทบว่าผู้ชายได้เงินเดือนเยอะกว่า จะแพทย์ผู้ชายหรือผู้หญิง ทุกคนได้เงินเดือนเท่ากันหมด เรตไม่ได้ขึ้นอยู่กับเรื่องเพศ แต่ขึ้นอยู่กับความสามารถเป็นหลัก 

หรือพยาบาลเองถามว่ามี LGBTQ+ ไหม มีนะคะ แต่เนื่องว่าเขาเป็นบุคลากรทางการแพทย์ เราไม่สามารถที่จะให้บุรุษพยาบาลแต่งเครื่องแบบโดยใส่กระโปรงได้ เราเปิดเสรีทางความคิด ทางจิตใจของเขา แต่เขาต้องอยู่ในกฎเกณฑ์ของเราเหมือนกัน เพื่อให้ภาพลักษณ์ดูน่าเชื่อถือ และอีกเรื่องคือการปฎิบัติกับคนไข้ ถ้าคนไข้แปลงเพศมาแล้ว รูปร่างเป็นผู้หญิงเลย แต่ในบัตรประชาชนยังเป็นนาย เราก็จะเทรนบุคลากรของเราที่ให้บริการตรงด่านหน้าทั้งหมดว่าเวลาเรียกชื่อให้ใช้คำว่าคุณแทน เพราะเราไม่รู้หรอกว่าเขาจะนิยามตัวเองว่าเป็นเพศอะไร แต่ถือเป็นเรื่องที่เกี่ยวกับสภาพจิตใจซึ่งเซนซิทิฟมาก 

มานะ: ตามจริงเราจะแบ่งเป็นสองอย่าง คือนโยบายปฏิบัติต่อคนที่มาใช้บริการ ตรงนี้เราจะไม่มีการแบ่งแยก ไม่มีการใช้สายตาหรือท่าทีที่เหยียดหยามเขา แม้กระทั่งบริการที่เรามีทั้งหมด ก็จะมีบริการที่คัดสรรให้สำหรับคนทุกเพศจริงๆ หรือคอร์สสำหรับเพศทางเลือกโดยเฉพาะก็มี 

ส่วนคนที่เป็นบุคลากรของเราเอง ถึงประเทศไทยจะมีนอร์มอยู่ว่าผู้ชายเป็นช้างเท้าหน้า ผู้หญิงเป็นช้างเท้าหลัง แต่องค์กรเราไม่ได้มองแบบนั้น เรามองว่าไม่ได้อยู่ที่เพศ แต่อยู่ที่คุณว่าคุณมีศักยภาพมากน้อยแค่ไหน ซึ่งถ้ามองในตัวเลขความเป็นจริงที่เกิดขึ้นในโรงพยาบาล ระดับที่เป็นผู้บริหารของโรงพยาบาลประกอบไปด้วยผู้หญิงมากกว่า 60 เปอร์เซ็นต์ ตัวเลขมันก็สะท้อนว่าเราไม่ได้มานั่งจำกัดว่าต้องเป็นผู้ชายหรือต้องเป็นผู้หญิง

ถ้าอย่างนั้นคุณมองเห็นปัญหาอะไรของกลุ่ม LGBTQ+ จึงอยากจะมีกองทุนสำรองเพื่อพวกเขา 

มานะ: คนที่เป็นเพศทางเลือกยังมีปัญหาของเรื่องการรับสิทธิ์บางอย่างที่ไม่ครอบคลุม เช่น พวกเขาต้องมีการใช้ยาคุม การตรวจโรคเอดส์ หรืออะไรสักอย่างที่คนทั่วไปอาจไม่ได้เล็งเห็นว่ามีความจำเป็น รวมถึงความต้องการอื่นๆ ที่เขาไม่ได้รับสิทธิ์เหมือนคนทั่วๆ ไป มันก็เลยมีความยากลำบากของเขา ยิ่งถ้าเขาไม่ได้อยู่ในครอบครัวที่มีพร้อมที่จะสามารถจัดหาสิ่งเหล่านั้นได้ 

พิมพ์ขวัญ: เราเห็นว่าความเท่าเทียมทางเพศมีความสำคัญ เพราะบางประเทศก็กีดกันว่า เธอเป็นผู้หญิงต้องอยู่แต่บ้าน ห้ามทำงาน หรือเพื่อนเราที่เป็นสาวประเภทสองหลายคนก็ต้องบินไปแต่งงานที่ต่างประเทศ หรือเวลาเขาเดินกับแฟนเขาที่เป็นผู้ชาย เขาต้องโดนคนมองหรือหัวเราะ เราเห็นอะไรพวกนี้แล้วรู้สึกไม่ค่อยโอเคเท่าไร เลยจุดประกายให้เราอยากทำประเด็นนี้ สมมติทุกคนมีความเท่าเทียมกันจริงๆ พิมพ์ว่าประเทศชาติอาจจะก้าวไกลกว่านี้เยอะ เพราะทุกคนได้โชว์ศักยภาพของตัวเองออกมาได้อย่างเต็มที่จริงๆ โดยไม่ได้มองเรื่องเพศ

หากสถานการณ์โควิด-19 ดีขึ้น มูลนิธินวมินทร์รวมใจมีส่วนไหนที่อยากผลักดันต่อไหม 

มานะ: วัตถุประสงค์ดั้งเดิมของเราที่จัดตั้งมูลนิธิฯ ขึ้นมาเพื่อส่งเสริม 3 เรื่องหลักๆ คือการศึกษา ส่งเสริมอาชีพ และด้านการแพทย์ แต่ประเด็นที่เราเน้นที่สุดเป็นด้านการแพทย์ เนื่องจากเราเป็นโรงพยาบาล เราก็อยากจะช่วยเหลือด้วยการเอาแพทย์ผู้เชี่ยวชาญไปช่วย เพราะเดิมที ก่อนหน้านี้เราก็มีโครงการที่ช่วยเหลือสังคม เรื่องตรวจร่างกายหรือตรวจสุขภาพอยู่แล้ว แต่เราก็อาจจะทำอะไรที่เข้มข้นมากขึ้น ถ้าเขาเกิดมาพิการหรือเกิดอุบัติเหตุเราก็ช่วยรักษาเขา 

ส่วนด้านการศึกษาจะเป็นในลักษณะให้ทุนการศึกษาหรือให้เขามาเรียนรู้ในสถานที่ของเราเท่าที่สามารถทำได้ หรือให้ทุนไปเรียนเมืองนอก ซึ่งเขาอาจจะขาดโอกาส แต่มีศักยภาพ เมื่อเขาเรียนจบมา เราก็อาจมีงานซัพพอร์ตให้เขาทำเลย เราคิดว่าพอช่วยให้ร่างกายเขาปกติ มันเกิดคำถามว่าแล้วอย่างไรต่อ ก็ต้องให้การศึกษาเขา ถ้าเขาเรียนจบมาก็ต้องมีงานมารองรับ ให้มันต่อเนื่องครบวงจรชีวิตของคน แต่ก็ไม่ได้หมายความว่าสามารถช่วยได้ทุกคน เราก็พยายามที่จะช่วยให้ได้มากที่สุด ถ้าตรงไหนที่เราช่วยไม่ได้ก็จะประสานหน่วยงานอื่นให้ พ้นจากวิกฤตโควิดไปแล้ว มูลนิธิฯ จะต้องเร่งดำเนินงานต่างๆ ตามนโยบายที่เราวางไว้ต่อไปแน่นอน

Fact Box

  • ‘มูลนิธินวมินทร์รวมใจ’ เพิ่งก่อตั้งขึ้นมาเมื่อช่วงต้นปี 2564 โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อสนับสนุนกิจกรรมที่ส่งเสริมความเท่าเทียมของผู้หญิง เพศทางเลือก เด็ก และคนชรา ผ่านการช่วยเหลือที่เกี่ยวข้องกับความเชี่ยวชาญหลักด้านการแพทย์ การศึกษา และการสร้างอาชีพ 
  • สามารถติดตามกิจกรรมและขอความช่วยเหลือจากมูลนิธินวมินทร์รวมใจได้ทาง
    เบอร์โทรศัพท์ 09-4390-4466
    อีเมล์ [email protected]
    เฟซบุ๊ก มูลนิธินวมินทร์รวมใจ
Tags: , ,