โยโย่แลนด์
อีเวนต์ยักษ์ใหญ่สุดไวรัลในโลกออนไลน์
พื้นที่กว้างขวางสุดลูกหูลูกตา
เชื่อว่าภาพจำข้างต้นคงฝังอยู่ในความทรงจำของใครหลายคน หากพูดถึง ‘ซีคอนสแควร์ ศรีนครินทร์’ ศูนย์การค้าเก่าแก่นับ 3 ทศวรรษ ในชานเมืองของกรุงเทพมหานคร ที่เป็นมากกว่าห้างสรรพสินค้าทั่วไป แต่ยังเป็นศูนย์รวมความทรงจำที่อยู่คู่กับคนไทยมาเนิ่นนาน โดยเฉพาะในมิติของการเป็นสถานที่พักผ่อนหย่อนใจและใช้เวลาร่วมกับครอบครัว
เมื่อกาลเวลาผ่านไป ถึงคราวต้อง ‘ปรับเปลี่ยน’ ท่ามกลางพลวัตของสังคมและโลกธุรกิจ ซีคอนสแควร์ยังคงเน้นย้ำวิถีในการอยู่คู่กับสังคมและผู้คน ด้วยการแยกพื้นที่ 2.7 หมื่นตารางเมตรของห้างฯ รวมถึงเปลี่ยนแปลงวิธีการทำงานครั้งใหญ่ ตั้งแต่ระดับโครงสร้างจนถึงแนวคิดให้แตกต่างจากเดิม โดยมีสิ่งสำคัญคือ ‘ความเป็นชุมชน’ และ ‘ผู้คน’
จึงทำให้ MunMun Srinakarin ถือกำเนิดขึ้นมา เพื่อตอบโจทย์ไลฟ์สไตล์คนรุ่นใหม่ อีกทั้งไม่กี่ปีที่ผ่านมา พื้นที่แห่งนี้ยังถูกจับตามองในฐานะ ‘หมุดหมายศิลปะทางตะวันออก’ ภายใต้ MMAD – MunMun Art Destination ศูนย์กลางศิลปะอันหลากหลายที่รวมทุกสิ่งอย่าง ชนิดที่ว่า ครบและจบในที่เดียว นับเป็นการกระจายความเป็นศิลปะให้เข้าถึงในทุกพื้นที่
วันนี้ MunMun ก้าวสู่การเปลี่ยนแปลงครั้งสำคัญอีกครั้ง กับการเป็น ‘ห้างสรรพศิลป์คราฟท์’ แห่งแรกในประเทศไทย พื้นที่รวม ‘ความเยอะ’ ของศิลปะและไลฟ์สไตล์เข้าด้วยกัน ไม่ว่าจะในแง่ของการจัดแสดงงานศิลปะ ตลาดงานศิลปะ อีเวนต์หลากหลาย อาหาร และกาแฟ โดยมีจุดมุ่งหมายสำคัญคือ การรองรับพื้นที่สำหรับคนละแวกใกล้เคียง และเติบโตไปพร้อมกับคนรุ่นใหม่
ด้วยวิธีคิดที่แปลกใหม่ ไม่ซ้ำใคร พร้อมเปลี่ยนแปลงกับความท้าทายรอบด้าน The Momentum จึงขอนั่งจับเข่าคุยกับผู้บริหารของซีคอนสแควร์ และ MunMun Srinakarin ที่เปรียบเสมือนเหล่ากลุ่ม The Avengers แห่งหมุดหมายศิลปะของกรุงเทพตะวันออก นำโดย จักรพล จันทวิมล ผู้อำนวยการสำนักสื่อสารการตลาด บริษัท ซีคอนสแควร์ จำกัด (มหาชน), ณัฐพร เหลืองประเสริฐ ผู้จัดการฝ่ายสื่อสารการตลาด, พิมลพรรณ งามขำ ผู้จัดการฝ่ายกิจกรรม MunMun Srinakarin, เมธี อิฐวัฒนถาวรกุล ผู้ช่วยผู้จัดการฝ่าย Production และนริศ วุฒิสกนธิ์ Project Director MMAD – MunMun Art Destination
คุณเป็นที่รู้จักในฐานะทายาทรุ่นที่ 3 ของธุรกิจรองเท้าผ้าใบอย่าง ‘นันยาง’ การที่ต้องสวมหมวกอีกใบในบทบาทผู้บริหารของซีคอนสแควร์ มีความแตกต่างอย่างไรบ้าง
จักรพล: ผมทำบริษัทนันยางเป็นระยะเวลา 10 ปี ซึ่งนันยางคือบริษัทแรกในเครือที่มีอายุประมาณ 70 ปี และเป็นสินค้าที่ไม่มีรายละเอียดอะไรมาก คือการเป็นรองเท้าแตะ รองเท้าผ้าใบที่รูปลักษณ์เหมือนกัน
ดังนั้นโจทย์ของเราคือ จะทำอย่างไรให้สินค้าที่เหมือนเดิม สามารถถ่ายทอดเรื่องราวในอดีตได้ โดยที่คนตั้งแต่รุ่นพ่อ รุ่นเรา จนถึงรุ่นหลาน ยังมีความชื่นชอบคงเดิมอยู่ หรืออาจบอกได้ว่า สินค้ายังเหมือนเดิม แต่กลุ่มลูกค้าเปลี่ยนไป ทำอย่างไรให้เราสื่อสารกลุ่มเป้าหมายได้ ซึ่งก็ขึ้นอยู่กับบริบทที่แตกต่างกันออกไป
แต่เมื่อประมาณ 5 ปีที่แล้ว ผมมีจังหวะเปลี่ยนลู่ทางมาทำงานร่วมกับซีคอนสแควร์ แน่นอนว่า มันแตกต่างกันสิ้นเชิงเลย เนื่องจากนันยางเป็นสินค้าที่จับต้องได้ เราทำรองเท้าส่งไปให้ลูกค้าทั่วประเทศ แต่ขณะเดียวกัน ซีคอนสแควร์คือสถานที่ที่เราให้บริการ และต้องการทำให้คนทั่วประเทศมาที่นี่แทน
อย่างไรก็ตาม หลักการของทั้งสองสิ่งยังคล้ายคลึงกันอยู่คือ ทำอย่างไรให้สินค้าและบริการของเรามีความโดดเด่นที่แตกต่างจากคู่แข่ง และตอบโจทย์ความต้องการของลูกค้า โดยคำนึง 3 เสาหลักคือ เราต้องความโดดเด่น ความพิเศษ และความแตกต่าง ที่ต้องอธิบายให้ได้ว่า มันแตกต่างจากตลาด ตัวเลือก หรือคู่แข่งอย่างไร
นอกจากนี้เราต้องดูด้วยว่า ลูกค้ามีพฤติกรรมหรือความต้องการอย่างไร และต้องตอบโจทย์เขา เหล่านี้คือกลยุทธ์ที่เราวางและยึดถือไว้ตลอด
ปกติแล้ว ซีคอนสแควร์มองกลุ่มเป้าหมายแบบไหนเป็นพิเศษ
จักรพล: ขออธิบายในภาพรวมก่อน ปกติศูนย์การค้าทุกที่มักมีเป้าหมายคือ คนที่อาศัยรอบๆ พื้นที่ หรืออยู่ห่างสักประมาณ 10 กิโลเมตรรอบศูนย์การค้า ยกเว้นศูนย์การค้าระดับประเทศที่อยู่กลางเมือง ซึ่งเขาอาจจะมองถึงคนต่างชาติและคนไทยทั้งหมดเป็นหลัก
หากย้อนกลับไปในอดีต ซีคอนสแควร์เปิดมาแล้ว 30 ปี เดิมทีเราเป็นศูนย์การค้าที่ใหญ่ มีขนาดมากกว่า 5 แสนตารางเมตร หรือเทียบได้กับเอาสนามฟุตบอลมาเรียงกันประมาณ 100 สนาม ตอนนั้นห้างของเราใหญ่ที่สุดติด 1 ใน 5 ของโลก ในขณะที่ถนนศรีนครินทร์ยังไม่มีอะไร แต่เราก็ตัดสินใจสร้างศูนย์การค้าขึ้นมา และเป็นจุดเริ่มต้นของหลายอย่างที่ไม่เคยเกิดขึ้นในประเทศไทย เช่น โรงหนังมัลติเพลกซ์หรือโรงหนังที่มีหลายโรง และฉายหนังเรื่องเดียวกันพร้อมกันได้ มี เทสโก้ โลตัส (โลตัส ในปัจจุบัน) ที่แรก สวนสนุกโยโยแลนด์ (YoYo Land) ในร่มขนาดใหญ่ ลานโรเลอร์เบลด หรือแม้แต่มินิกอล์ฟ
แน่นอนว่า สภาพแวดล้อมแบบนี้ดึงดูดให้ทุกคนมาซีคอนสแควร์ได้ แต่ระยะเวลาผ่านไป 10-15 ปี วิวัฒนาการของศูนย์การค้าก็เริ่มพัฒนาตามกันมา ดังนั้นความใหญ่ ความหลากหลาย ความครบเครื่องที่มีร้านอาหาร ธนาคาร หรือบริการทุกอย่าง จะไม่ใช่ความแตกต่างอีกต่อไป เพราะทุกที่ก็มีเหมือนกัน หลายอย่างจึงต้องพัฒนาเปลี่ยนแปลงตาม
ซีคอนสแควร์จึงพัฒนาไปเรื่อยๆ หลากหลายรูปแบบ เช่นซีคอนฮอลล์ ส่วนกลางที่จัดกิจกรรมทุก 2 อาทิตย์ เพื่อจะทำให้เห็นว่า เวลาคุณมาที่นี่จะมีกิจกรรมไม่ซ้ำ คล้ายๆ จิตวิทยากับลูกค้าในอีกแง่หนึ่ง เขาจะได้รู้สึกไม่ซ้ำและมีอะไรให้ทำต่อเนื่อง
ดังนั้นกลุ่มลูกค้าของเราก็ยังเป็นกลุ่มครอบครัวเสียส่วนใหญ่ หรือเป็นคนละแวกศรีนครินทร์ บางนา บางกะปิ จนถึงชลบุรีหรือฉะเชิงเทรา รวมถึงการที่ซีคอนสแควร์อยู่ในโซนกรุงเทพฯ ฝั่งตะวันออก ซึ่งเป็นเมืองหนึ่งที่พัฒนาเร็วที่สุดในประเทศไทย โดยสิ่งที่เห็นสังเกตเห็นได้ชัดคือ การมีอสังหาริมทรัพย์หรือหมู่บ้านราคาแพงเกิน 10 ล้านบาท ซึ่งตั้งอยู่รอบๆ เยอะมากในรอบ 5 ปี นอกจากนี้ก็ยังมีโรงเรียนนานาชาติ รถไฟฟ้า ถนนที่เชื่อมหลายจุดไปถึงสุวรรณภูมิ จึงอาจบอกได้ว่า ผู้คนละแวกนี้มีกำลังซื้อสูงขึ้น
จากสถานการณ์ข้างต้น นี่คือโอกาสของเราที่ยังสามารถดึงคนกลุ่มนี้ให้เข้ามาเพิ่มเติมได้ เพราะจุดหนึ่งของซีคอนสแควร์ เราก็ไม่ได้มองว่า ต้องเป็นเบอร์หนึ่งของประเทศ หรือเป็นจุดหมายให้ทุกคนต้องมาหา เราเน้นย้ำว่า เราให้บริการหรือเป็นจุดหมายปลายทางสำหรับคนในย่านนี้ เนื่องจากเมืองขยายออกมา เราก็ต้องพัฒนาตนเองให้ตอบรับกับพวกเขา โดยที่ไม่ต้องเข้าเมืองได้
แล้วซีคอนสแควร์ที่มีอายุนานถึง 30 ปี ปรับตัวกับความท้าทายใหม่อย่างไรบ้าง
จักรพล: การปรับตัวในศูนย์การค้ามีความท้าทายและยากพอสมควร โดยเฉพาะศูนย์การค้าขนาดใหญ่ เพราะมันมีองคาพยพมากมาย นับตั้งแต่โครงสร้างในเชิงบริหารที่ปรับปรุงยาก คนหลายภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง หรือการบำรุงรักษา ผู้เช่า หรือปัจจัยอื่นๆ ที่เราควบคุมไม่ได้ ยังไม่รวมถึงคู่แข่งที่เก่ง มีความหลากหลาย พัฒนา และกลุ่มลูกค้ามีความเปลี่ยนแปลงอย่างชัดเจน
ยอมรับตามตรงว่า นี่คือจุดที่ยากของเรา แต่ถ้าไม่ปรับตัว สิ่งที่อยู่มานานก็จะแก่ลงไป เราจำเป็นต้องปรับด้วยการสร้างพื้นที่ที่เรียกว่า MunMun Srinakarin ขึ้นมา ซึ่งกรอบแนวคิดของเราขณะนั้นคือ ซีคอนสแควร์ต้องทำอะไรใหม่ๆ
เราจึงแยกพื้นที่ของห้างฯ ราว 2.7 หมื่นตารางเมตรออกมา โดยปรับแนวคิด โครงสร้าง และแยกทีมงานออกมาเป็นเอกเทศ และไม่เกี่ยวข้องกับสิ่งเดิมหมดเลย หรือในแง่หนึ่ง ถ้าเป็นในมุมของสตาร์ทอัพ (Start-Up) คุณจะเรียกพื้นที่ตรงนี้ว่า แซนด์บ็อกซ์ (Sandbox) หรือกระบะทรายที่เล่นได้ ล้มแล้วไม่เจ็บ
ตอนนั้นเราคิดหลายรูปแบบว่า จะทำอะไรดี เพราะด้วยความเป็นแซนด์บ็อกซ์ เราต้องลองอะไรหลายอย่าง โดยคิดว่า มันต้องเปลี่ยนแปลงและเป็นแบรนดิงของซีคอนสแควร์ ซึ่งส่วนนี้คือแนวคิดพื้นฐาน เป็นเมล็ดพันธุ์หรือจุดเริ่มต้นเลย
ขณะเดียวกันหากมองในภาคปฏิบัติ เรามองพื้นที่นี้โดยนึกถึงคำว่า คอมมูนิตี (Community) ที่มีผู้คนหลากหลาย โดยก็แบ่งพื้นที่เป็น 4 หมวดคือ พื้นที่สำหรับภาพถ่าย อาหาร กาแฟ จนถึงคริปโตเคอร์เรนซี (Crytocurrency) และก็มีแยกย่อยลงไปอีก เช่น พื้นที่เพื่อความยั่งยืน กลุ่มคนรักรถ รักสัตว์ และไลฟ์สไตล์ มีหมดเลย
จนกระทั่งมาสักระยะ 2 ปีหลัง พื้นที่ตรงนี้มีความชัดเจนขึ้น เพราะอะไรที่มาไม่ถูกทาง เราก็ไม่ทำ แต่อันไหนที่ดี เราก็ทำมากขึ้น ซึ่งก็คือเรื่องศิลปะ มันจึงเป็นที่มาว่า จาก MunMun คอมมูนิตีสำหรับคนรักสนุก ชอบอะไรมันๆ ก็กลายเป็นพื้นที่สำหรับศิลปะ จนเราเริ่มปรับโซนที่เรียกว่า MMAD – MunMun Art Destination
นริศ: ต้องย้อนกลับไปว่า เมื่อก่อนซีคอนสแควร์เปรียบเสมือน Tangible Asset หรืออะไรที่จับต้องได้ มีความแปลกใหม่ ใหญ่ และดัง แต่สิ่งที่ยังขาดคือ พื้นที่ในเชิง Emotional หรือสิ่งที่จับต้องไม่ได้ เราจึงรู้สึกว่า MunMun ถูกสร้างขึ้นมาเพื่ออุดช่องโหว่ข้างต้น คือโลกเปลี่ยนแปลง เราก็ต้องเปลี่ยนแปลงตามโลกจนอยู่จุดที่ตรงกันพอดี คือเรื่องของอารมณ์ความรู้สึก หรือความเป็นชุมชนมากขึ้น
ตามที่คุณจักรพลเล่า เราปรับไปมาเรื่อยๆ จนมีจุดหนึ่งร่วมกันคือ การนำศิลปะมาชนกัน เพราะยุคหลังนี้ 3-4 ปีที่ผ่านมา ศิลปะที่เคยอยู่ชั้นบนมาตลอด เป็นอะไรที่สูงส่ง จับต้องไม่ได้ ใช้จิตวิญญาณในการเข้าชม พัฒนากลายเป็นอะไรที่จับต้องได้มากขึ้น เหมือนอาร์ตทอยในทุกวันนี้ หรือแม้แต่ของกิน สิ่งของ หรือการดีไซน์อะไรก็ตาม
เราจึงรู้สึกว่า ศิลปะไม่ได้อยู่ไกลตัวขนาดนั้น และในเมื่อมันจับต้องได้ง่ายขนาดนี้ จนอยู่ในจุดที่ทุกอย่างโด่งดังขึ้นมาทั่วประเทศ หรือกลายเป็นเรื่องไวรัลเต็มฟีด สุดท้ายเราจึงสร้างพื้นที่นี้ขึ้นมาและดูว่า ศิลปะจะเข้าไปอยู่ได้อย่างไร ก็เริ่มจากนิทรรศการประเภทรูปภาพ จิตรกรรม ประติมากรรม ของเล่น โมเดล หรือแม้แต่ศิลปะเชิงแนวคิด (Conceptual Art) ก็ตาม
ท้ายที่สุดเราพบว่า MunMun มีนิทรรศการขั้นต่ำ 10 อย่าง ยังไม่รวมกิจกรรมอื่นๆ หรือเวิร์กช็อปอีก 20 รายการต่อเดือน ก็รู้สึกว่า ทำไมงานอาร์ตเยอะขนาดนี้ จนเคยเชิญนักข่าวมาแล้วเขาบอกว่า “พี่ เดินไม่ทั่ว เดินแค่ 3 นิทรรศการก็จุกแล้ว” (หัวเราะ)
นอกจากนี้ พื้นที่ตรงนี้ยังมีงานศิลปะทั้งในมิติกว้างและลึก โดยศิลปะเชิงกว้างหมายถึง การมีผลงานเยอะมาก ขณะที่ด้านลึกคือความหลากหลาย เพราะเรามีตั้งแต่งานระดับคลาสสิก จนถึงอาร์ตทอย หรือแม้แต่งานของนักเรียนก็ตาม
จักรพล: ก็บอกได้ว่า เราลองผิดลองถูกกันไปเรื่อยๆ จนถึงทุกวันนี้ ผมก็ยังไม่สามารถบอกว่า นี่คือจุดที่ใช่หรือยัง เพราะเราก็ทำไปเรื่อยๆ มันไม่มีใครรู้ และผมเชื่อว่า ทุกคนที่ทำงานประเภทเดียวกันหรือแม้แต่ศูนย์การค้าก็ไม่รู้
คุณต้องลองและทำไปเรื่อยๆ จนกระทั่งเห็นว่า นี่คือจุดที่เป็นไปได้ ก็ไปต่อ ซึ่งก็นำมาสู่การเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ของวันนี้ โดยเราเปิดโซน ‘ห้างสรรพศิลป์คราฟท์’ ที่เล่นกับคำว่า ‘ห้างสรรพสินค้า’ นับเป็นบทบาทใหม่ที่พัฒนาจากแนวคิดข้างต้น เพราะก็เริ่มเห็นความสำเร็จ และการตอบรับจากกลุ่มคนมากขึ้น
แนวคิดของการทำห้างสรรพศิลป์คราฟท์คืออะไร
จักรพล: ต้องอธิบายว่า ความเยอะที่ผ่านมาของ MunMun ในช่วงหลายปี มันยังไม่กลมกล่อมเท่าไร ค่อนข้างสื่อสารยาก แต่เป็นการเปลี่ยนแปลงที่ชื่อว่า ห้างสรรพศิลป์คราฟท์ เป็นการรวมศิลปะและงานคราฟต์ให้จบและกลมกล่อม เข้าใจได้ในหนึ่งคำ
คือก่อนหน้านี้ ศิลปะมันกว้างมาก พอเราเริ่มจับทางได้ว่า มันสามารถเข้าไปอยู่ได้ในทุกมุม หรือประเภทย่อยลงมาบางอย่าง เพราะแน่นอนว่า เวลาเราพูดคำว่าศิลปะ เราก็จะแบ่งประเภท 4 รูปแบบ เช่น รูปภาพ หรือประติมากรรม แต่ถ้าลงลึกไปในรายละเอียดในมิติของลูกค้า เขาก็แบ่งงานคร่าวๆ ได้ 4 ระดับเช่นเดียวกันคือ มือสมัครเล่น มือจริงจัง มืออาชีพ และปรมาจารย์อย่าง อาจารย์ถวัลย์ ดัชนี, อาจารย์เฉลิมชัย โฆษิตพิพัฒน์ ซึ่งท่านเคยมาที่นี่หลายครั้ง และบอกว่า พื้นที่ตรงนี้คือแหล่งศิลปะที่ดีที่สุดในประเทศไทย เราก็ดีใจมาก
ตรงนี้คือสิ่งที่เราพูดในทีม ซึ่งก็คือความแมสของงาน ที่เข้าถึงได้ทั้งมือสมัครเล่นหรือมือใหม่ มันก็ได้เห็นว่า งานบางส่วนรองรับสำหรับลูกค้าทั่วไป ขณะที่กลุ่มผู้ประกอบการคนอื่นที่เขาทำแกลเลอรี ก็รับรู้ว่า ที่นี่ก็เน้นงานระดับปรมาจารย์ ระดับเทพ หรือมืออาชีพเหมือนกัน ซึ่งเราสามารถรองรับได้ทุกกลุ่ม นี่เป็นโจทย์แรกเลย
เอาเข้าจริง ผมก็เป็นคนหนึ่งที่ไม่ได้รู้จักอะไรเลย ซึ่งก็เป็นโจทย์หนึ่งที่ว่า ทำอย่างไรให้กลุ่มคนเหล่านี้มีส่วนร่วม รู้สึกสนุก หรือไปจนถึง เขามาแล้วรู้สึกเท่ มีอะไรทำ มาแล้วดูมีสไตล์ อินเทรนด์
ทั้งหมดนี้เป็นที่มาของห้างสรรพศิลป์คราฟท์ เพราะเวลาที่คนมาห้างก็อยากมาสนุก อะไรได้หลากหลายอย่าง ซึ่งเป็นจุดที่เราถนัดและโดดเด่นคือ เราครบ เรามีร้านอาหาร เรามีพื้นที่ มีเรื่องศิลปะ งานคราฟต์ ความเป็นชุมชน หรือไปให้ถึงขีดสุดคือ เราอยากนำวัฒนธรรมทั้งหมดมาอยู่จุดนี้ด้วย
นอกจากนี้ในมุมของผู้ผลิต การที่มีงานศิลปะเยอะย่อมหมายความว่า ตลาดหรือวงการมันกว้างขึ้นเยอะและมีหน้าใหม่เสมอ เช่น นักเรียน นักศึกษา เข้ามาเพิ่มด้วยเช่นกัน และเวทีที่เขาแสดงออกก็ไม่ค่อยมีมากนัก โดยเฉพาะเวทีออฟไลน์ ที่ได้พบหน้าคร่าตากันโดยตรง
ทุกวันนี้ซีคอนสแควร์ทำงานกับศิลปินมากกว่าหลายพันรายแล้วในช่วง 3 ปีที่ผ่านมา ซึ่งมีทั้งคนที่ยังทำต่อ ไม่ได้ทำแล้ว และคนที่อาจจะรอเวลาและโอกาสอยู่ ในมุมนี้ผมว่า พื้นที่ตรงนี้คืออีกเวทีหนึ่งให้ทุกคนได้แสดงออก โดยเฉพาะศิลปินไทย
พิมลพรรณ: ที่ผ่านมา ซีคอนสแควร์จัดอีเวนต์หลากหลาย เช่น งานนรกในซีคอนฮอลล์ แต่ก็ต้องยังสนับสนุนความเป็นศิลปะในพื้นที่ ซึ่งก็มีงานทั้งเราคิดกันเอง หรือมีโมเดลจากผู้เชี่ยวชาญในด้านนั้นๆ เพื่อเป็นกระบอกเสียงให้เราว่า พื้นที่ของเราเหมาะสมกับงานชนิดนั้น
และที่สำคัญเลย งานเหล่านี้คือการประชาสัมพันธ์ว่า ทำไมทุกคนต้องเข้าไปในเมืองเพื่อชมงานศิลปะ ในเมื่อซีคอนสแควร์ก็มีพื้นที่นี้เช่นเดียวกัน เช่น Cheese Market ที่อยู่ในศูนย์การค้าในเมืองมาตลอด แต่ที่นี่ก็จัด หรือแม้แต่งานคราฟต์ happenning ที่จัดในหอศิลป์ (หอศิลปวัฒนธรรมกรุงเทพ: BACC) ทางซีคอนฯ เองก็จัดทุกเดือน
นั่นหมายความว่า คุณจะสามารถมาซีคอนสแควร์ เดินมาทางฝั่ง MunMun เพื่อหาของคราฟต์ที่เหมาะสมกับตนเอง หรือแม้กระทั่งเวิร์กช็อปต่างๆ ก็ได้ คือนอกจากคุณได้ใช้เวลากับตนเองทั้งวันแล้ว คุณยังนั่งทำกิจกรรมแปลกใหม่
เรียกได้ว่า ถ้ามาที่นี่ทุกสัปดาห์ เรายืนยันได้ว่า คุณจะพบงานใหม่ทุกสัปดาห์ เช่น สัปดาห์นี้มา คุณเจองานอีเวนต์แมวกับงานศิลปะ พออาทิตย์ถัดมาก็เจองานอีเวนต์งู โดยเป็นนิทรรศการที่เล่นสีกับการถ่ายภาพของงู
นอกจากนี้ เราสังเกตได้ว่า กลุ่มคนที่มามีอายุน้อยลง แต่งตัวมากขึ้น แตกต่างจากสมัยก่อนที่รู้สึกว่า มาซีคอนสแควร์ก็มาซื้อของเฉยๆ กินปิ้งย่างกลับบ้าน ไม่ต้องแต่งหน้า แต่พอมีโซนนี้ ลูกค้าเริ่มแต่งตัวมากขึ้น เหมือนกับว่า เขาก็มีสไตล์ของเขา หรือที่ที่อยู่ของเขา
อาจบอกได้ว่า เราโตไปพร้อมกับเขา จากเด็กๆ คนอาจจะรู้สึกว่า มาซีคอนสแควร์เพื่อโยโยแลนด์ แต่พอวันนี้อยู่วัยทำงาน เขาก็มา MunMun แทน หลายคนจึงรู้สึกว่า ซีคอนสแควร์ไม่ได้โบราณ แต่เขาโตตามฉัน ตามไลฟ์สไตล์ เราก็พยายามสร้างพื้นที่ หรืออีเวนต์ให้เหมาะกับไลฟ์สไตล์ของแต่ละคนโดยที่ไม่ซ้ำกันเลย
เมื่อพูดถึงการจัดผลงานของศิลปินไทย MunMun มีการคัดเลือกหรือใช้นโยบายอะไรเป็นพิเศษไหม
พิมลพรรณ: ซีคอนสแควร์ไม่มีข้อจำกัดอะไรในการเลือกจัดงานเลย แต่ข้อกำกับอย่างหนึ่งคือ มาแล้วต้องรู้สึกเท่ เป็นงานอีเวนต์ที่รู้สึกเป็นตัวของคนไลฟ์สไตล์ยุคปัจจุบัน
ถ้าดูพื้นที่ชั้น 1 เรามีพื้นที่หลายประเภทมาก แต่ต้องคุมธีมภายใต้ความเท่ เราจัดงานแมว งานงู งานคราฟต์ งานคอนเสิร์ตได้หมด แต่จัดแล้วต้องเท่ จะมาแล้วรู้สึกว่า เหมือนกับเดินในงานทั่วไปไม่ได้ มาแล้วต้องอยากบอกต่อว่า ฉันอยู่ที่นี่นะ
นริศ: เนื่องจากเราไม่ได้นำเสนอตนเองในฐานะแกลเลอรี หรือผู้เชี่ยวชาญทางศิลปะ แต่ MunMun คือพื้นที่ของศิลปะ เพราะฉะนั้นผลงานที่เราคัดเลือกคือผ่านพาร์ตเนอร์ของตนเอง
ต้องย้อนกลับไปว่า เมื่อจะทำพื้นที่ศิลปะ สิ่งที่ต้องบอกคนทั่วไปคือ เราจริงจังด้านนี้ เพราะด้วยความที่เป็นห้าง เราจัดอีเวนต์มาเป็นหมื่นเป็นแสน คนจะเข้าใจว่า เราคือผู้จัดอีเวนต์ แต่พอเราทำพื้นที่ศิลปะชัดเจนมากขึ้น เราก็ต้องทำให้คนเข้าใจว่า พื้นที่นี้จริงจัง เพราะฉะนั้นเราก็ไปหาก่อนว่า ใครเก่งด้านศิลปะ แน่นอนก็คือหอศิลป์
ตอนนั้นก็ประจวบเหมาะกับวิสัยทัศน์ของรองผู้ว่าฯ กรุงเทพฯ (ศานนท์ หวังสร้างบุญ) และคุณแดง ฉัตรวิชัย (พรหมทัตตเวที) ที่อยากขยายพื้นที่ศิลปะออกมาภายใต้โครงการ ‘หอศิลป์สี่มุมเมือง’ ซึ่งเป็นจังหวะที่ตรงกันว่า ถ้าอย่างนั้น MunMun มาเป็นพื้นที่มุมเมืองแรกของฝั่งกรุงเทพฯ ตะวันออกกัน
นอกจากนั้น เรายังร่วมมือกับ TCDC (ศูนย์สร้างสรรค์งานออกแบบ: Thailand Creative & Design Center) ซึ่งเริ่มต้นจากประเด็น Creative Food และ Visual Art รวมถึงงานนิทรรศการแบบ Bangkok Design Week ด้วย
จักรพล: จริงๆ TCDC คือพาร์ตเนอร์แรกของเรา เพราะตอนแรกเรามองว่า เขาคือจุดแรกของเราที่เริ่มต้นมาพร้อมกัน หลังจากนั้นจึงค่อยมาเป็น BACC ในฐานะศิลปะจนยกระดับขึ้นมา ตามมาด้วยแบรนด์ เช่น แกลเลอรีอื่นๆ ก็ทยอยเข้ามา จนสุดท้ายแล้ว งาน Bangkok Design Week ก็เข้ามาเป็นส่วนหนึ่งที่สำคัญด้วย ซึ่งก็ตอบโจทย์ในเรื่องที่เป็นในเรื่องดีไซน์มากขึ้น
จริงๆ เรายังจับพาร์ตเนอร์ถึง 4 เสาหลักคือ ภาครัฐ เอกชน การศึกษา และสังคม โดยที่มีเราเป็นตัวเชื่อม ไม่ใช่ศูนย์กลาง ซึ่งนี่คือโครงสร้างที่สำเร็จในหลายวงการ เพราะเราไม่สามารถเดินได้โดยตัวคนเดียวได้ การร่วมมือจึงเป็นคำใหญ่ที่ต้องเกิดขึ้น
ในตอนแรกที่ซีคอนสแควร์หันมาทำด้านนี้ ไม่มีใครเชื่อว่า เราจะทำได้ เราจึงจำเป็นต้องแยกตัวออกมา แต่คำถามคือจะเริ่มต้นอย่างไร เพราะทีมเรายังเริ่มไม่ได้ ก็ต้องมีพาร์ตเนอร์ที่สามารถขับเคลื่อนอะไรใหญ่ๆ ก็ต้องเป็น 4 เสาหลักนี้ เพราะภาครัฐมีแนวทาง นโยบาย งบประมาณ และทิศทาง ขณะที่ภาคเอกชนมีกำลัง ภาคการศึกษามีองค์ความรู้ ส่วนภาคสังคมมีแนวคิดที่จะพาทุกคนไปในทางเดียวกันได้
พอสุดท้ายมีศิลปะเป็นแกนกลาง มันไม่มีขอบเขตหรือความขัดแย้งที่เราเห็นในปัจจุบัน ทุกอย่างในที่นี่ปรับเข้าหากันได้อย่างลงตัว และเกิดพลังขึ้นมา
ในมุมเบื้องหลังการทำงานหลังบ้านเป็นอย่างไร โดยเฉพาะการทำงานกับคนรุ่นใหม่
เมธี: จริงๆ แล้ว เราตั้งเป้าว่า เราอยากนำความคิดของทีมมาประยุกต์ใช้ มันจึงเป็นที่มาว่า ทุกๆ ไอเดียที่ทีมนำเสนอต้องเกิดขึ้นจริง โดยที่ทีมเรามีเด็กๆ ที่สนใจกับศิลปะเยอะ และเขาก็มีแรงกระตุ้นในการทำงาน
เขาภูมิใจกับงานที่เขาทำ และอยู่ที่นี่ จริงๆ แล้วเด็กกลุ่มนี้ที่ทำงานด้วย เขาก็คือคนศรีนครินทร์ที่เสพศิลปะไปในกลางเมืองเหมือนกัน
พิมลพรรณ: คือในมุมมองคนทำงาน เด็กรุ่นใหม่ค่อนข้างเยอะ ตอนแรกเราจะรู้สึกว่า มันจะยากไปไหม เขาจะเข้าใจไหม แต่กลายเป็นว่า เขาทำงานแบบมีความสุขมากและมืออาชีพมาก เหมือนศิลปะเป็นเรื่องใกล้ตัวพวกเขา ส่วนหนึ่งอาจเพราะไลฟ์สไตล์ของเขามีศิลปะเป็นส่วนหนึ่งของชีวิต เขาชอบในการออกไปคุยกับศิลปิน ออกไปคุยกับพาร์ตเนอร์ ไปอยู่ในชุมชนอื่นๆ ซึ่งมันก็ต่อยอดแวดวงไปได้เรื่อยๆ
เรารู้สึกว่า เขาทำงานอย่างมีความสุข ทั้งได้ทำงานในพื้นที่เท่ๆ แบบนี้ และรู้จักคนในวงการที่เขาอยากรู้จัก ซึ่งมันเป็นส่วนหนึ่งของชีวิตเขา
แล้วด้านการสื่อสารในมุมของ MunMun ถึงสาธารณชน มีความยากง่ายไหม
ณัฐพร: จริงๆ ตอนนี้การเตรียมเนื้อหาหน้าบ้านครบถ้วนแล้ว โดยขณะนี้สิ่งที่เราพยายามทำต่อคือ การบอกว่าเราเป็นจุดหมายปลายทางหนึ่งของงานศิลปะ
แน่นอนว่า ก็ต้องมาทำการบ้านค่อนข้างเยอะ และเป็นความท้าทายว่า เราจะพูดกับใคร แพลตฟอร์มไหนจะเข้าไปถึงเขา ซึ่งทุกอย่างค่อนข้างสำคัญในมุมของการสื่อสาร
นอกจากนี้ พอเกิด MunMun ห้างสรรพศิลป์คราฟท์ ที่คอนเซปต์คือความเยอะ เราก็ต้องสื่อสารว่า เรามีอะไรเยอะ แล้วเยอะอย่างไร ก็ต้องพูดให้ครบว่า ทุกคนมาแล้วจะเจอทุกอย่างที่ครบ ทั้งของกินหรือการช็อปปิง มาอีทอาร์ต จอยอาร์ต คือทุกอย่างมาแล้วจบ ไม่ว่ามีไลฟ์สไตล์อย่างไร คุณจะได้รับทุกอย่าง
มีคนบางส่วนมองว่า การที่ซีคอนสแควร์เปิดพื้นที่สำหรับศิลปะในชานเมือง มักไม่ค่อยเป็นจุดสนใจของผู้คน ในฐานะผู้บริหารและทีมงาน คุณคิดเห็นอย่างไรบ้าง
จักรพล: ตอบได้ 2 แนวทางตามหลักบริหารธุรกิจและการตลาด มีเรื่องเล่าเกี่ยวกับธุรกิจรองเท้าว่า บริษัทส่งเซลส์ 2 คนไปดูงานที่ประเทศแอฟริกา คนหนึ่งกลับมาบอกว่า ขายไม่ได้แน่นอนเพราะไม่มีคนใส่รองเท้า ขณะที่อีกคนบอกว่า โอกาสมาแล้ว เพราะแอฟริกาไม่มีคนใส่รองเท้าเลย ดังนั้นที่มาอันเดียวคือไม่มีคนใส่รองเท้าในแอฟริกา แต่ต่างคนต่างมองไม่เหมือนกัน เราจึงเชื่อว่า โอกาสมีเต็มไปหมดทุกที่ เพียงแต่เราจะสร้างโอกาสให้ตนเองอย่างไร
พอเปรียบเทียบกับสถานการณ์ปัจจุบัน แน่นอนว่า พื้นที่นี้มีความท้าทาย แต่เราต้องการความเปลี่ยนแปลง เพราะฉะนั้นความท้าทายข้างต้นก็เป็นเรื่องที่เราต้องสู้กันมัน
ซีคอนสแควร์ทำศูนย์การค้าใหญ่มาก มีโซนที่คนเยอะมาก เราก็ต้องบอกได้อย่างเต็มปากว่า ถ้าพาคนมาได้มันก็ไม่ยาก แต่ถ้าเราต้องการทำให้พื้นที่ที่สร้างเรื่องราว มีแบรนดิง มีประโยชน์ มีคุณค่าให้กับพื้นที่และองค์รวมทั้งหมด มันต้องใช้เวลาและความพยายาม
ดังนั้น KPI ของเราไม่ได้วัดคนที่ปริมาณ แต่วัดความพอใจและความสุข หรือแม้แต่การที่เรายังสามารถขยายไปต่อเรื่อย ดังนั้น คนของซีคอนสแควร์ไม่ได้ลดลงเลย แต่กลับเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ เอง โดยที่ MunMun ก็มีอะไรเพิ่มขึ้น หลังได้รับการตอบรับมากขึ้น แต่แน่นอนก็ยังมีความท้าทายที่ต้องทำอยู่
นริศ: อันนี้อาจจะต้องถามกลับไปด้วย เพราะทุกครั้งมักมีคำพูดว่า MMAD อยู่ชานเมือง แม้ว่าในความจริงแล้ว วันธรรมดาเรามีกลุ่มเป้าหมายอยู่ 6 หมื่นคน เสาร์-อาทิตย์มีมากถึงแสนกว่าคน
เราต้องถามว่า คนเหล่านี้ไม่มีใครชอบศิลปะเลยหรือ เรากำลังบอกว่า คนที่ไปเดิน BACC ไม่มีคนลาดกระบัง คนสมุทรปราการ คนศรีนครินทร์เลยหรือ เราว่าก็ไม่น่าจะใช่
เราคิดว่าเหตุผลที่ทำให้เกิดภาพจำว่า คนพื้นที่นี้ไม่สนใจงานศิลปะ เป็นเพราะตรงนี้มันไม่มีพื้นที่สำหรับศิลปะในช่วงก่อนหน้า
ก่อนหน้านี้ คุณอยากมาเดิน ซื้อของ ก็มาซีคอนสแควร์ โดยที่ไม่มีใครนึกถึงเลยว่า มาดูงานศิลปะ แต่ปัจจุบัน เรากำลังทำให้คุณเห็นว่า ศิลปะไม่จำเป็นต้องกระจุกกลางเมือง
วันนี้เสาหลักหนึ่งที่เราต้องทำให้ได้คือ การเอาศิลปะมาที่นี่ คือเราพร้อมให้บริการกว้างขึ้นและส่งข้อความ ถ้าวันนี้พื้นที่นี้ชัดเจน และคุณสามารถมาแสดง เสพ กินงานศิลปะได้ วันนี้จึงเป็นการประกาศว่า เราจริงจังในพื้นที่ศิลปะฝั่งตะวันออกเพื่อรับคนมากขึ้น แล้วถ้ามันแข็งแรงมากขึ้นในทุกมิติผ่าน 4 เสาหลักที่ตั้งขึ้นมา ในท้ายที่สุดที่นี่จะเป็นพื้นที่สำหรับศิลปะจริงๆ โดยไม่ต้องขายว่า แม้จะชานเมือง แต่เราคือศิลปะ
ดังนั้นอะไรคือความท้าทายอื่นๆ ที่พวกคุณต้องรับมือหลังจากนี้
จักรพล: แน่นอนว่า เรายังรองรับคนได้อยู่ แต่ศิลปะก็ยังไม่ครอบคลุมเท่าไร เหล่านี้เราต้องศึกษาพัฒนาและไปหาสิ่งที่เพิ่มเติมต่อไป หรือพูดอีกอย่างคือ เรายังไม่รู้อะไร เรารู้น้อยมาก ต้องลองไปเรื่อยๆ
แต่สิ่งสำคัญคือ เรื่องที่เราไม่รู้ หลายคนก็ไม่รู้เหมือนกัน ก็ต้องทำไปเรื่อยๆ นี่คือก้าวแรกที่เหมือนกับการขับรถออกมา จะเผชิญอย่างไรต่อ ก็ต้องทำต่อไปเรื่อยๆ
แล้วคุณมองความคืบหน้าของพื้นที่ตรงนี้ ตั้งแต่วันแรกจนถึงปัจจุบันอย่างไรบ้าง
จักรพล: ต้องยอมรับว่า พื้นที่โซนศิลปะคนไม่เยอะ หากเทียบกับโซนอาหาร จริงๆ แล้ว การที่เป็นชุมชนหนึ่งขนาดใหญ่ มันต้องมีองค์ประกอบที่หลากหลาย มีพื้นที่ที่เร็วบ้าง ช้าบ้าง เหมือนจังหวะดนตรี
หากพูดไปอาจจะดูแก้ต่าง แต่พื้นที่ศิลปะที่มีคนเยอะแน่นๆ ผมว่า มันก็ไม่ใช่พื้นที่ที่คนจะมาพักผ่อนเหมือนกัน แต่แน่นอน ก็ต้องยอมรับว่า เราก็ยังทำพื้นที่ที่รองรับคนได้สมควร ซึ่งต้องมีหลายองคาพยพเข้ามาพัฒนา
อย่างไรก็ตาม ความคืบหน้า 2-3 ปีที่ผ่านมา จนมาถึงการเป็นห้างสรรพศิลป์คราฟท์ ผมว่า มีความชัดเจนมากขึ้น ทั้งในแง่ปริมาณและคุณภาพ หรือความตั้งใจในการมา เราเห็นได้ว่า คนก็มาเยอะขึ้นตลอดเวลา มีการบอกต่อมากขึ้น แต่ก็ยอมรับว่า หนทางยังอีกยาวไกลสำหรับการพัฒนาให้มันสมบูรณ์แบบ
พูดถึงอดีตและปัจจุบันแล้ว คุณมองพื้นที่ตรงนี้ในอนาคตแบบไหน
จักรพล: เราเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ จากห้างสรรพสินค้าสู่ห้างสรรพศิลป์คราฟท์ ดังนั้นเราอยากให้ห้างสรรพศิลป์คราฟท์มีความครบจบภายในที่เดียว เป็นทางเลือกใหม่ให้กับกลุ่มคนที่อยากมาพักผ่อนหย่อนใจ โดยไม่ต้องเสียเงินเลยก็ได้ คุณเสียแค่เวลามาที่นี่ แต่เป็นพื้นที่ทำให้คนได้ทำในสิ่งชอบ
พื้นที่ตรงนี้ก็คือเวทีแสดงออกสำหรับกลุ่มคนผู้สร้างผลงาน แต่ก็ต้องอาศัยกลุ่มคนตรงกลางคือ นักสะสม ผู้ซื้อ คนที่มองเห็นศักยภาพศิลปินที่จะไปต่อได้ในอนาคต คนที่เห็นโอกาสจากนักศึกษาที่ผลิตผลงาน หรือองคาพยพที่เกี่ยวข้องด้วย
Fact Box
- MunMun Srinakarin ห้างสรรพศิลป์คราฟท์ ประกอบด้วยพื้นที่ 3 คอนเซปต์หลัก ได้แก่ Event Ground พื้นที่จัดกิจกรรม, MMAD - MunMun Art Destination พื้นที่จัดแสดงงานศิลปะ และ MunMun Kitchen Club - Food & Coffee Community
- ห้างสรรพศิลป์คราฟท์ ยังมีแคมเปญสำรวจความเยอะของศิลปะภายใต้ ‘1 วัน 1,000 อาร์ต’ ที่รวบรวมงานศิลปะมากกว่า 1,000 ชิ้น โดยมีไฮไลต์ 4 งานหลักคือ DayDream ความฝัน ความหวัง, Jigsaw Wall Art, MMAD CUBE และ INTO THE CLOUD สามารถเข้าชมตั้งแต่วันนี้จนถึง 31 ตุลาคม 2567