หากมองย้อนกลับไปตลอดช่วง 2 – 3 ปีที่ผ่านมา น่าจะสังเกตเห็นว่า วัฒนธรรมการกินอาหารทั่วโลกมีการเปลี่ยนแปลงไปจากเดิมไม่น้อย ผลิตภัณฑ์เนื้อเทียมจากพืช หรือที่หลายคนเรียกติดปากว่า ‘แพลนต์เบส’ (Plant Based) เริ่มเข้ามาเป็นตัวเลือกใหม่แก่นักชิมสายสุขภาพ ทั้งผู้กินมังสวิรัติ เจ หรือแม้แต่ผู้มีอาการย่อยโปรตีนเนื้อสัตว์ยากเองก็ตาม กระทั่งกลายเป็นตลาดอุตสาหกรรมแขนงใหม่ที่มีมูลค่าทางการตลาดสูงขึ้นทั่วโลก

เช่นเดียวกับประเทศไทย เมื่อต้นปี 2022 ศูนย์วิจัยธนาคารกรุงไทย (Krungthai COMPASS) ได้ออกมาเผยข้อมูลแนวโน้มค่าเฉลี่ยการเติบโตของตลาดธุรกิจแพลนต์เบส โดยคาดว่ามีอัตราค่าเฉลี่ยเติบโตขึ้นถึงปีละ 10 เปอร์เซ็นต์ และคาดว่าอีก 2 ปีข้างหน้าจะมีมูลค่าสูงถึง 4.5 หมื่นล้านบาท ซึ่งสาเหตุหลักนอกจากเรื่องของเทรนด์บริโภคเพื่อสุขภาพแล้ว ยังเป็นเพราะการกินอาหารประเภทเนื้อเทียมสามารถช่วยลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ ส่วนหนึ่งของต้นตอภาวะเรือนกระจกที่มาจากอุตสาหกรรมฟาร์มปศุสัตว์

สำหรับแบรนด์อาหารแพลนต์เบสที่มาจากฝีมือคนไทยจริงๆ ณ เวลานี้ อาจยังคงมีอยู่ไม่เยอะนัก แต่แบรนด์แรกๆ ที่หลายคนนึกถึง เชื่อเหลือเกินว่าย่อมต้องมีชื่อของ ‘More Meat’ ปรากฏออกมาแน่นอน เพราะเป็นหนึ่งในแบรนด์ผู้ริเริ่มปลุกกระแสการกินเนื้อเทียมจากพืชตั้งแต่ปี 2018 ขณะเดียวกัน เรื่องรสชาติยังมีความแตกต่างออกไปจากแบรนด์อื่นๆ เมื่อพวกเขานำ ‘เห็ดแครง’ ที่ผู้คนพากันส่ายหัวไม่รู้จัก มาเป็นส่วนประกอบสำคัญนอกเหนือไปจากวัตถุดิบพื้นฐานอย่างถั่วเหลือง

คอลัมน์ The Chair พาชวนไปสนทนากับ 3 พี่น้องผู้บริหาร More Meat คือ ‘แรมโบ้ – กันตพงศ์, ‘เทอร์โบ’ – วรกันต์ และ ‘มินนี่’ – กัญญ์วรา แห่งตระกูล ธนโชติวรพงศ์ ว่าพวกเขามีแนวคิดบริหารแบรนด์สตาร์ทอัพนี้กันอย่างไร ท่ามกลางตลาดธุรกิจแพลนต์เบสในไทยที่เติบโตพุ่งพรวด เรื่องราวจุดเริ่มต้นของแบรนด์ ไปจนถึงโอกาสการเติบโตสู่ตลาดแพลนต์เบสโลก

นับตั้งแต่ More Meat เริ่มเป็นที่รู้จักเมื่อปี 2019 จนถึงตอนนี้พวกคุณก้าวไปถึงจุดไหนแล้ว

วรกันต์: ล่าสุดเรามีส่งออกผลิตภัณฑ์ไปวางขายในซูเปอร์มาร์เก็ตที่ลอนดอน ประเทศอังกฤษ และได้มีโอกาสไปร่วมออกบูธงาน Plant Based World Conference & Expo 2021 ที่นิวยอร์ก สหรัฐอเมริกา 

กัญญ์วรา: เราถือเป็น 1 ใน 2 ตัวแทนสตาร์ทอัพจากประเทศไทย ที่มีโอกาสได้ไปร่วมงานคู่กับทางแบรนด์ Thai Union ซึ่งเราถือว่าเป็นพันธมิตรทางธุรกิจกันอยู่แล้ว และ More Meat ยังได้โอกาสออกโชว์รายละเอียดตัวผลิตภัณฑ์ ซึ่งต่างชาติที่มาดูเราเขารู้สึกตื่นเต้นมาก เพราะเขาไม่เคยเห็นแบรนด์แพลนต์เบสที่ไหนเอาเห็ดแครงมาเป็นวัตถุดิบ และเขายังไม่เคยรู้จักด้วยว่าเห็ดแครงหน้าตาเป็นยังไง ตรงจุดนี้ต้องบอกว่าเรารู้สึกภูมิใจมากๆ ค่ะ เพราะเราได้ไปยืนอยู่ตรงจุดที่เรียกว่ามีตลาดแพลนต์เบสใหญ่ที่สุดในโลก

ช่วยย้อนความกลับไปหน่อยว่า More Meat มีจุดเริ่มต้นเป็นมาอย่างไร

วรกันต์: เราเริ่มต้นทำ More Meat กันตั้งแต่ประมาณปี 2017-2018 โดยตอนนั้นเรา 3 พี่น้อง มีความสนใจเรื่องของปัญหาสังคมทั้ง สุขภาพ เศรษฐกิจการเกษตร ภาวะโลกร้อน หรือแม้แต่สิทธิสัตว์ เราเลยมองว่าเรื่องของ ‘อาหาร’ นี่แหละเป็นสิ่งที่ตอบโจทย์ปัญหาเหล่านั้นได้ตรงตัวที่สุด จากนั้นเลยเริ่มลงมือศึกษาผลิตภัณฑ์แพลนต์เบสมีอะไรบ้าง ประจวบพอดีกับที่ตอนนั้นเทรนด์อาหารแพลนต์เบสอย่าง Beyond Meat กับ Beyond Burger กำลังเป็นที่นิยมในต่างประเทศ เราเลยลงมือติดต่อแบรนด์เหล่านั้นว่า ขอนำสินค้าคุณเข้ามาขายในประเทศไทยได้ไหม เขาก็โอเคตกลงยินดี 

พอตกลงกันได้เราก็นำสินค้าจำพวก ชีส เนื้อ Beyond Burger เข้ามาขายทำตลาดแพลนต์เบสในประเทศ ด้วยวิธีขายส่งออกออนไลน์ไปตามร้านอาหารมังสวิรัติทั่วไป กระทั่งขายไปได้เกือบ 1 ปี ก็มีคำถามอินบ็อกซ์มาจากลูกค้าอายุประมาณ 70 ปี ว่าอาหารประเภทนี้เขาสามารถกินได้ไหม ซึ่งตอนนั้นเราไม่สามารถตอบเขาได้เต็มปาก เพราะเราเป็นแค่คนรับมาขาย ไม่ได้รู้ถึงกรรมวิธีผลิตเบื้องหลัง จุดนั้นเลยทำให้รู้สึกแล้วว่า เราควรผลิตอาหารแพลนต์เบสเป็นของตัวเองจริงๆ จังๆ โดยเราตั้งเป้าหมายอื่นๆ ด้วย คือ 

1. วัตถุดิบที่ More Meat นำมาใช้ต้องสามารถสนับสนุนอาชีพเกษตรกรไทย และยกระดับมูลค่าผลผลิตเพาะปลูกได้ 

2. มีโภชนาการที่ครบถ้วน มีเนื้อละเอียดนำไปประกอบอาหารได้หลายแบบ ไม่ใช่แค่แปรรูปเป็นเนื้อเบอร์เกอร์หรือไส้กรอกเท่านั้น  

3. ต้องมีราคาสินค้าจับต้องได้ เพื่อตอบโจทย์ลูกค้า 

ก่อนหน้านั้นพวกคุณทำอาชีพอะไรกันมาก่อน

กันตพงศ์: เป็นเทรดเดอร์นำเข้า-ส่งออก สินค้าทั่วไป

วรกันต์: ตัวผมเป็นพนักงานเกี่ยวกับบริษัทเอเจนซีโฆษณา

กัญญ์วรา: เป็นแอร์โฮสเตสของสายการบินหนึ่งค่ะ และส่วนตัวเป็นคนรักษาสุขภาพไม่กินเนื้อสัตว์อยู่แล้ว พี่ๆ อีกสองคนก็เช่นกัน

 อีกประเด็นจริงๆ ต้องบอกว่าตระกูลเราทำธุรกิจเกี่ยวกับผลิตภัณฑ์อาหารเพื่อสุขภาพมาก่อนหน้า เช่น แอปเปิลไซเดอร์ เนยถั่ว น้ำผึ้ง จุดนี้เลยส่งผลให้พวกเรารู้สึกสนใจเกี่ยวกับเทรนด์อาหารเพื่อสุขภาพตั้งแต่เด็ก และพอมาร่วมทำ More Meat ก็พยายามเอาจุดเด่นของแต่ละคนมาใช้ในการทำงาน 

ใช้เวลานานไหมในการตั้งต้นพัฒนาสูตรให้ลงตัวตามที่ตั้งเป้าไว้

กัญญ์วรา: เราใช้เวลาพัฒนาสูตรและกระบวนการผลิตเกือบหนึ่งปี ซึ่งค่อนข้างเป็นเวลาที่นานพอสมควร ตอนแรกเรามีตัวเลือก 2 ข้อ คือ หนึ่ง จ้างบริษัทต่างประเทศที่เขามีไอเดียและเชี่ยวชาญเรื่องแพลนต์เบสให้มาช่วย เพื่อเป็นการย่นระยะเวลาไปได้ 3-4 เดือน หรือ สอง เราลงมือพัฒนา และรีเสิร์ชข้อมูลวัตถุดิบเอง

แต่อย่างที่เกริ่นไปว่าเราต้องการช่วยเหลือเกษตรกรไทย บวกกับที่อยากนำนวัตกรรมหรือข้อมูลงานวิจัยที่มีอยู่ในไทยมาสนับสนุน เราจึงเลือกวิธีที่ 2 สุดท้ายเลยได้รับความช่วยเหลือจากอาจารย์มหาวิทยาลัยหนึ่ง ให้เขามาช่วยเหลือเกี่ยวกับวิทยาศาสตร์การอาหาร โดยใช้เทคนิคและจินตนาการของอาจารย์ได้เต็มที่ ก็มีการปรับปรุงหลายต่อหลายครั้งจนสุดท้ายออกมามีหน้าตาเป็นแบบที่เห็น

แล้วทำไมถึงมาลงเอยกับพืชที่แทบไม่มีใครรู้จักอย่างเห็ดแครง 

วรกันต์: หลายคนอาจจะคิดว่าส่วนผสมหลักทั่วไปของอาหารจำพวกแพลนต์เบส คือ ถั่วชนิดต่างๆ แต่ด้วยความที่เราเคลมว่าผลิตภัณฑ์ของเรามีคุณค่าสารอาหารครบถ้วน ทว่าในถั่วกลับขาดสารอาหารจำพวกกรดอะมิโน หรือ เบต้ากลูแคน ที่มีสรรพคุณกระตุ้นภูมิคุ้มกันในร่างกาย เราเลยต้องลงมือค้นหาว่ามีพืชตัวใดสามารถเข้ามาเป็นส่วนผสมเติมเต็มตรงนั้นได้บ้าง โดยที่ต้องตวงสัดส่วนให้พอเหมาะไม่รู้สึกว่าเนื้อสัมผัสเป็นเห็ดเกินไป หรือเป็นถั่วเกินไป เราเลยตัดสินใจลองเลือกเห็ดประเภทต่างๆ เช่น เห็ดเข็มทอง เห็ดชิตาเกะ และอีกสารพัดเห็ดมาลอง จนท้ายสุดมาเจอกับ ‘เห็ดแครง’ ที่พอนำมาผสมแล้วมีเนื้อสัมผัสที่ดี และมีราคาต้นทุนไม่สูงเกินไป

กัญญ์วรา: อยากเสริมว่าปกติส่วนตัวเป็นคนที่เซนซิทีฟเรื่องกลิ่นมาก พอนำเห็ดชนิดอื่นมาลองผสมก็รู้สึกว่ามีกลิ่นที่แรงไป ไม่เหมาะกับคนกินเท่าไหร่นัก แต่กับเห็ดแครงเราสัมผัสได้ว่าแทบจะไม่มีกลิ่น ซึ่งตรงตามที่เราตั้งใจไว้ว่าจะไม่ให้เนื้อของ More Meat มีสารปรุงแต่งเจือปน แถมรสสัมผัสพอชิมเข้าไปยังให้ความรู้สึกคล้ายกับได้กินเนื้อสัตว์จริงๆ 

พอจะบอกได้หรือเปล่า ว่านำเข้ามาจากแหล่งเพาะปลูกใด

วรกันต์: มีสองที่ครับ ปีแรกที่ทำเราเริ่มนำเข้าจากชาวบ้านในจังหวัดสงขลา ส่วนอีกที่มาจากชาวบ้านในจังหวัดสุราษฎร์ธานี โดยทั้งสองที่เขาลงมือทำกันเป็นโรงเรือนเพาะปลูกโดยอาศัยความรู้จากรัฐวิสาหกิจ 

แสดงว่าลองผิดลองถูกกันมาเยอะพอสมควร

วรกันต์: ใช่ครับ ลองตั้งแต่ปั้นกับมือเหมือนปั้นดินน้ำมัน จนมาหน้าตาเหมือนขนมถั่วแปบบ้าง ลูกชิ้นบ้าง

กันตพงศ์: มีกินไม่ได้ด้วยครับ คายทิ้งก็มี (หัวเราะ)

กัญญ์วรา: ถึงขนาดวันแรกเราพยายามศึกษาจากงานวิจัยของต่างประเทศ หรือดูตามแชนเนลยูทูบที่เขาสอนสูตรกรรมวิธี แล้วเราก็ไปซื้ออุปกรณ์และวัตถุดิบมาลองทำเองที่บ้าน แต่เอาเข้าจริงมันไม่ได้ง่ายเหมือนเราอบขนมทำกินเอง

(เห็ดแครง วัตุดิบหลักสำคัญที่นำมาใช้)

กังวลไหมว่าผลตอบกลับจะไม่ดีเท่าที่ควร เพราะเทรนด์อาหารแพลนต์เบสในไทยยังถือว่าใหม่มากๆ

วรกันต์: ไม่เลยครับ เรารู้สึกสนุกตลอดเวลาที่ได้ลงมือทำ และเรายังรู้สึกดีที่เป็นแบรนด์ผลิตภัณฑ์อาหารทางเลือกให้กับผู้สูงอายุ หรือผู้มีปัญหาด้านสุขภาพ อย่างเพื่อนของมินนี่ (กัญญ์วรา) ที่ป่วยด้วยมะเร็ง ไม่สามารถกินอาหารจำพวกเนื้อแดงได้ เราก็สามารถช่วยเหลือเขาได้ ส่วนเรื่องความเสี่ยง เราแทบไม่ได้นึกถึงอยู่แล้วครับ เพราะมันเสี่ยงตั้งแต่วันแรกที่เราคิดลงทุนไปกับมัน (หัวเราะ)

นอกจากการนำเห็ดแครงมาใช้ ยังมีอะไรอีกบ้างที่ทำให้ More Meat แตกต่างจากแบรนด์แพลนต์เบสอื่นๆ

กัญญ์วรา: เรามีการนำเทคโนโลยี Big Data AI มาใช้ในการเก็บข้อมูล เพื่อนำไปพัฒนาสินค้าให้แตกต่างจากผลิตภัณฑ์ของเจ้าอื่น 

วรกันต์: อีกเรื่องคือนวัตกรรมการรักษาคุณภาพให้สดใหม่อยู่เสมอ เพื่อตอบโจทย์ปัจจัยด้านการส่งออก ช่วงแรกเรามีชาเลนจ์ว่า ถ้าเราใช้เห็ดแครงที่เป็นเห็ดสดมาเป็นส่วนประกอบหลัก พอลูกค้านำมาละลายออกจากช่องฟรีซอาจเกิดรสชาติไม่เหมือนเดิม เพราะด้วยธรรมชาติของเห็ดที่พอบ่มเชื้อไปนานๆ รสชาติจะเปลี่ยนแปลงได้ง่าย  เราเลยต้องนำโจทย์ที่ว่ามาแก้ไขในส่วนไลน์การผลิตใหม่ ทั้งการฆ่าเชื้อวัตถุดิบก่อนและหลังแพ็กในแล็บ ควบคุมอุณหภูมิหลังการผลิตให้อยู่ในอุณหภูมิติดลบ 40 องศาเซลเซียส เพื่อให้เห็ดไม่เกิดการบ่มเชื้อต่อ

กันตพงศ์: เราลงมือตรวจสอบตั้งแต่การนำเข้าวัตถุดิบ ว่ามีเกรดเป็นอย่างไร มีวัตถุปนเปื้อนหรือเปล่า บรรจุมาในแพ็กเกจรูปทรงแบบไหน จนถึงกรรมวิธีการผลิตในโรงงานที่ใช้มาตรฐานแบบเดียวกับโรงงานขนาดใหญ่ เรียกได้ว่าตอนนี้มีคุณภาพถึงขั้นส่งออกต่างประเทศได้สบายๆ 

ช่วยขยายความนิดหนึ่งว่า More Meat คือนิยามผลิตภัณฑ์ประเภทแพลนต์เบส ที่เหมาะแก่การนำไปปรุงเมนูอาหารไทยไหม

วรกันต์: ต้องบอกว่าเหมาะกับอาหารเอเชียมากกว่า ด้วยความที่ผลิตภัณฑ์ More Meat มีลักษณะคล้ายกับหมูสับ ซึ่งเมนูอาหารเอเชียส่วนใหญ่นิยมนำมาทำกัน หรือจะนำไปทำเมนูอะไรก็ได้ เพราะเราออกแบบมาให้ไม่มีการปรุงรส แต่งสี และเจือกลิ่น ฉะนั้นรสชาติจะเป็นอย่างไรก็ขึ้นอยู่กับคนปรุง

กลยุทธ์ทางการตลาดล่ะ พวกคุณจัดการกันแบบไหน

วรกันต์: ด้วยความที่เราเป็นแบรนด์สตาร์ทอัพขนาดเล็ก ไม่มีงบทำการตลาดไปสู้กับแบรนด์ที่ใหญ่กว่า เราจึงใช้กลยุทธ์ที่เรียกว่า Collaborative Marketing ร่วมกับบริษัทหรือผลิตภัณฑ์อื่นเพื่อหารค่าการตลาด ด้วยวิธีการเอาฐานลูกค้าที่แต่ละฝั่งมีอยู่มารวมกัน รวมถึงร่วมกันทำโฆษณาให้มีความน่าดึงดูดต่อกลุ่มผู้บริโภคหน้าใหม่ ไม่ใช่แค่คนกินเจ คนกินมังสวิรัติ ตามแต่ก่อน ยกตัวอย่างเช่น V Farm ที่นำแพลนต์เบสจาก More Meat ไปแปรรูปเป็นเมนูลาบทอด เป็นอาหารแช่แข็ง หรือแม้แต่ทำงานร่วมกับร้านอาหารมังสวิรัติ และแบรนด์น้ำยาล้างผักที่มีกลุ่มลูกค้าใกล้เคียงกัน

นอกเหนือจากนั้น ในส่วนของกลยุทธ์โซเชียลมีเดีย เรายังพยายามพูดคุยกับผู้บริโภคอยู่เสมอให้เขารู้สึกถึงความใกล้และความจริงใจจากเรา มากกว่าแค่ซื้อผลิตภัณฑ์ไปประกอบอาหารเฉยๆ จุดนี้ถือเป็นพื้นฐานหลักของแบรนด์เรา

พวกคุณคิดว่าตัวเองอยู่ในจุดไหนของตลาดธุรกิจแพลนต์เบส ทั้งในประเทศและต่างประเทศ

วรกันต์: ถ้าในส่วนตลาดโลกผมว่า More Meat ยังไม่ถึงขั้นเรียกตัวเองว่า Well-Known brand ได้ แต่ปัจจุบันเราก็พยายามทำให้ผู้บริโภคประเทศอื่นได้รู้จักกับเรามากยิ่งขึ้น เหมือนที่เราได้ไปออกบูธในประเทศสหรัฐฯ ซึ่งเป็นตลาดธุรกิจแพลนต์เบสที่ใหญ่ที่สุดในโลก หรือในแง่ของช่องทางโซเชียลเราก็ได้กลุ่มผู้บริโภคของประเทศออสเตรเลีย และสวีเดน ที่มาจากการเสิร์ชหาแบรนด์แพลนต์เบสในไทย โดยเราพยายามชูให้เขาเห็นว่าแบรนด์ผลิตภัณฑ์แพลนต์เบสไทยมีวัตถุดิบ Exotic ต่างไปจากชาติอื่นๆ 

ส่วนในประเทศแน่นอนอยู่แล้ว เราคือผู้นำเทรนด์เจ้าแรกๆ ที่โดดลงมาทำ จนมีเจ้าอื่นทยอยทำตามมา แต่ในแง่วัตถุประสงค์หลักเราต่างออกไป เพราะเราต้องการพัฒนาสินค้าให้ตอบโจทย์กับเรื่องสุขภาพมากยิ่งขึ้น ไม่ใช่จบแค่ที่สูตรเดียว ผมนิยามว่าเราเป็นนักวิจัยอาหาร ที่ทำอาหารเพื่อสุขภาพ ทำโภชนาการ ทำผิวสัมผัส และทำรสสัมผัสให้ดีขึ้น โดยใช้พืชท้องถิ่นที่มีอยู่ในประเทศ

ช่วงเวลาวิกฤตเศรษฐกิจแบบนี้ More Meat ต้องปรับปรุงต้นทุนมากน้อยเพียงใด

กันตพงศ์: ต้องปรับเรื่องของวัตถุดิบบ้างพอสมควร เพื่อให้สอดคล้องกับราคาต้นทุน แต่ในแผนงาน เราพยายามคงคุณภาพให้เหมือนเดิม ไม่ได้อยากให้สินค้ามีราคาสูงขึ้นตาม กลับกันสิ่งที่เรามองอยู่ เราพยายามทำให้สินค้าของเรามีราคาที่ลูกค้าสามารถจับต้องได้ เราจึงพยายามตรึงราคา และมองหาช่องทางปรับลดคอสต์ต้นทุนแทน

ด้วยความที่ต้องบริหารธุรกิจร่วมกันในครอบครัว จุดนี้ทำให้เกิดความยุ่งยากโดยเฉพาะเรื่องความเกรงใจกันบ้างหรือเปล่า

กัญญ์วรา: ส่วนตัวมองว่าจะทำงานกับคนในครอบครัวหรือไม่ ย่อมต้องมีความคิดเห็นขัดแย้งกันบ้างอยู่แล้ว แต่เรามีความเป็นมืออาชีพ ค่อนข้างเข้าใจเหตุผลในการพูดคุยเสมอ อย่างตัวเราเป็นซีอีโอที่ตำแหน่งใหญ่กว่าพี่ชายทั้งสองคน แต่ก็ได้รับความเคารพซึ่งกันและกันเสมอ 

อยากบอกอะไรกับคนที่ยังไม่เปิดใจหรืออยากลองหันมากินอาหารแพลนต์เบส

กัญญ์วรา: ต้องลอง  ต้องกล้าที่จะเลือก (ยิ้ม) เพราะการกินอาหารไม่ต่างจากการลงทุนสุขภาพของเราในอนาคต มาลองดูว่าอาหารแพลนต์เบสที่เขาบอกว่าดีหนักดีหนา จริงๆ แล้วเป็นอย่างไร

วรกันต์: ส่วนใหญ่คนเลือกกินอาหารแพลนต์เบสมีอยู่ 3 ปัจจัย คือ หนึ่ง เพื่อสุขภาพ สอง เพื่อสิ่งแวดล้อม และ สาม เพื่อชีวิตสัตว์ เราอยากให้คุณตอบคำถามกับตัวเองให้ได้ก่อนว่า คุณเลือกกินเพราะเหตุผลใด เพราะคนไทยส่วนใหญ่เลือกกินเพื่อสุขภาพ ต่างจากฝั่งยุโรปที่กินเพราะเรื่องสิ่งแวดล้อม แต่ไม่ว่าอย่างไรเราอยากให้เปิดใจแล้วลองกิน รับรองว่าไม่เสียหายอะไรแน่นอน

Fact Box

  • More Meat เคยได้รับรางวัลประกวดทางธุรกิจมากมาย ยกตัวอย่างเช่น รางวัลรองชนะเลิศรายการ Asian Entrepreneurship Award 2021 (AEA) ที่รวมแบรนด์ธุรกิจชื่อดังจาก 13 ประเทศในทวีปเอเชีย เพื่อเข้าแข่งขันเกี่ยวกับนวัตกรรมที่ตอบโจทย์กับสังคมและสิ่งแวดล้อมโลก และรางวัล Outstanding Food Rescue Awards สาขา Start Up Business ที่มอบให้กับแบรนด์สตาร์ทอัพที่มีส่วนช่วยเหลือสิ่งแวดล้อมโลก
  • ปัจจุบัน More Meat มีการจับมือร่วมกับแบรนด์ธุรกิจชื่อดังอื่นๆ อาทิ V Food ที่มีผู้บริหาร คือ อภิรักษ์ โกษะโยธิน อดีตผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร และแบรนด์ร้านอาหารมังสวิรัติชื่อดังที่มีอยู่หลายสาขาอย่าง Veganerie
  • สามารถติดตามสินค้าใหม่ๆ จาก More Meat ได้ทาง https://www.morefoods.in/
Tags: , , ,