หากถามว่าวันนี้คุณเข้าใจว่า ไลฟ์เฮาส์ (Livehouse) เป็นสถานที่แบบใด หลายคนคงนึกภาพออกว่า เป็นสถานที่ดูคอนเสิร์ตขนาดเล็กของศิลปินหน้าใหม่ หรือศิลปินที่มีชื่อเสียงแล้วแต่อยากจัดคอนเสิร์ตในสเกลไม่ใหญ่ และต่างจากร้านเหล้าตรงไม่มีโต๊ะให้นั่งกินดื่ม
แม้ในกรุงเทพฯ มีไลฟ์เฮาส์จำนวนนับนิ้วได้ แต่เชื่อว่าความเข้าใจในไลฟ์เฮาส์ของคนไทยก็เพิ่มมากขึ้น ซึ่ง Blueprint Livehouse ไลฟ์เฮาส์ในซอยสุขุมวิท 26 เป็นอีกหนึ่งสถานที่ที่ตัวตนชัดเจนในเรื่องการสนับสนุนศิลปินให้มีพื้นที่เล่นดนตรี และส่งเสริมให้แฟนเพลงออกมาดูคอนเสิร์ตด้วยราคาบัตรที่สมเหตุสมผล ทำให้มีคนแวะเวียนมาที่ Blueprint Livehouse ตลอด 2 ปี

จากซ้าย แดน-แดเนียล อัลวี ดิษยะศริน, แมคคี-พีระพงศ์ แก้วแท้, ดิว-ศุภกิชญ์ สุภา, เรือบิน-ธรรศ สุวรรณแสง, นิต-ธนิต โบกขรพรรษ และนิว-วิทวัส อินทรสังขา
และเนื่องในโอกาสครบรอบ 2 ปี ของการเปิดกิจการ Blueprint Livehouse เมื่อวันที่ 23 มีนาคมที่ผ่านมา The Momentum พูดคุยกับทีม Co-founder 6 ใน 8 คน ได้แก่ แดน-แดเนียล อัลวี ดิษยะศริน, แมคคี-พีระพงศ์ แก้วแท้, เรือบิน-ธรรศ สุวรรณแสง, นิว-วิทวัส อินทรสังขา, ดิว-ศุภกิชญ์ สุภา และนิต-ธนิต โบกขรพรรษ (ขาด นน-ภัทรชนน โดดเสมอ และเต๊ะ-ธนกาญจน์ ต่างใจเย็น) ถึงความสำคัญของพื้นที่ไลฟ์เฮาส์ขนาด 250 คน ความท้าทายในการทำไลฟ์เฮาส์ในฐานะงานบริการ วิธีรับมือในวันที่คนรุ่นใหม่เริ่มไม่ดื่มแอลกอฮอล์ในคอนเสิร์ต รวมถึงความหวังใหม่ๆ ในวงการดนตรีของไทย และทิศทางของ Blueprint Livehouse เมื่อเข้าสู่ปีที่ 3

บรรยากาศงานคอนเสิร์ตครบรอบ 2 ปี
พื้นที่ความจุ 250 คน ที่มีคนแวะเวียนมานับไม่ถ้วน
หากเราพูดถึงคำว่า คอนเสิร์ต เราจะนึกถึงภาพฮอลล์ขนาดใหญ่ แสงสีเสียงอลังการ แต่นั่นคือพื้นที่สำหรับศิลปินที่โด่งดังมีฐานแฟนเพลงอยู่มาก แนวคิดของไลฟ์เฮาส์จึงตอบโจทย์ศิลปินหน้าใหม่ หรือศิลปินที่แฟนเพลงยังไม่มากนักให้ได้มีพื้นที่เล่นดนตรี และพบปะกับแฟนๆ ได้บ่อยขึ้น ซึ่งนิวในฐานะศิลปินและผู้ร่วมก่อตั้งอธิบายว่า Blueprint Livehouse มีขนาดความจุประมาณ 250 คน ซึ่งเป็นความจุที่เหมาะสำหรับวงดนตรีที่กำลังสร้างฐานแฟนเพลง
“ตอนแรกพื้นที่จัดคอนเสิร์ตมีพื้นที่เล็กไปเลยขนาด 50-100 คน แล้วก็ข้ามไปเป็นฮอลล์ใหญ่ขนาด 500-600 คน มันมีช่องว่างตรงไม่มีพื้นที่ที่จุ 200-300 คน ซึ่งเป็นขนาดที่กำลังน่ารัก แล้วไม่เครียด เหมาะสำหรับศิลปินหน้าใหม่ ศิลปินที่กำลังก่อร่างสร้างตัวขึ้นมา เราเลยอยากทำพื้นที่จุคนสัก 250 คน” นิวอธิบาย

แดน-แดเนียล อัลวี ดิษยะศริน
ในขณะที่แดนเล่าต่อว่า ตัวเลข 250 คนที่วางไว้ พอเริ่มเปิดไลฟ์เฮาส์จริงๆ ในเดือนมีนาคมถึงเมษายน 2566 มีผู้คนเข้าชมไม่ถึง 40 คน แต่เริ่มขายบัตรหมดครั้งแรกตอนเดือนพฤษภาคม กับคอนเสิร์ตของวง PLASUI PLASUI
“เราโตแบบออร์แกนิกมาก พอเปิดได้ 2 เดือน ได้วง PLASUI PLASUI มาเล่น มีแฟนคลับมาเต็ม 250 คน เริ่มคิดว่าไลฟ์เฮาส์มันเป็นไปได้แล้ว คนดูก็จะเริ่มมีหลายรูปแบบ เราก็ต้อนรับทุกแนวเพลง” แดนเล่าถึงช่วงแรกของการเปิดตัวไลฟ์เฮาส์
ด้านแมคคีเสริมว่า ในช่วงแรกที่คนมา Blueprint Livehouse น้อย อาจเพราะเรายังไม่เป็นที่รู้จัก และมีแค่วงดนตรีที่เป็นเพื่อนกันอยู่แล้วมาจัดคอนเสิร์ตที่นี่
“เราเปิด Blueprint Livehouse หลังจากที่ลิโด้ (Lido Connect) เริ่มทำพื้นที่จัดคอนเสิร์ตคล้ายๆ ไลฟ์เฮาส์ขึ้นมา เราเลยเชื่อว่า มีคนเข้าใจอยู่แล้วว่าไลฟ์เฮาส์เป็นอย่างไร แต่ช่วงแรกๆ แบรนด์ของเรายังไม่แข็งแรง คนยังไม่รู้จัก การที่คนจะออกจากบ้านเพื่อมาที่นี่อาจจะมีน้อย เราก็ชวนวงเพื่อนพี่น้องมาเล่น บอกว่าเราทำไลฟ์เฮาส์นะ เรามีโมเดลแบบนี้นะ ก็ต้องขอบคุณหลายวงที่เชื่อใจเราแล้วมาเล่น ทำให้ภาพของไลฟ์เฮาส์ค่อยๆ ชัดขึ้น แล้วหลังจากนั้นมันก็มีหลายๆ วงที่ตามมา” แมคคีเสริม
แม้จำนวน 250 คนจะดูเหมาะสมกับวงดนตรีที่เพิ่งเริ่มตั้งไข่ แต่ในขณะเดียวกันก็เป็นจำนวนที่ไม่มากเกินไป และไม่น้อยเกินไปสำหรับศิลปินที่มีชื่อเสียงอยู่แล้ว Blueprint Livehouse จึงไม่ได้แค่ศิลปินหน้าใหม่เท่านั้น แต่เป็นไลฟ์เฮาส์ที่เปิดรับศิลปินทุกคน
“เราอยากเป็นพื้นที่ให้ศิลปินทุกคน ซึ่งเราก็เคยโดนคนเข้าใจผิดว่าเราสูญเสียตัวตน ถามว่าไม่ได้เป็นพื้นที่แค่ของดนตรีนอกกระแสเหรอ เราก็ต้องอธิบายว่าเราไม่ได้มีอุดมการณ์แบ่งแยกศิลปิน เพราะ 2 ปีที่ผ่านมาเราก็รองรับวงที่มีชื่อเสียงหลายวง ต้อนรับทุกคน อยากให้ทุกคนได้มาเล่นที่นี่จริงๆ” แมคคีกล่าว

นิต-ธนิต โบกขรพรรษ
เช่นเดียวกับที่นิตกล่าวว่า ช่วงแรกมีศิลปินที่มีชื่อเสียงแล้ว มีฐานแฟนเพลงมากเกินความจุ 250 คน อยากมาเล่นที่ Blueprint Livehouse สักครั้งเช่นกัน
“จำได้ว่าตอนเราเปิดแรกๆ บางวงที่ดังแล้ว อยากมาเล่นที่นี่ เขาก็รอให้เราชวน แต่เราไม่ได้ชวน จนเขาส่งข้อความมาว่า เขาอยากเล่นที่นี่ ด้วยความที่เราไม่ใช่ร้านเหล้า แต่คือฮอลล์คอนเสิร์ต ศิลปินเขาอยากอยู่บนเวทีนี้ เราเองก็อยากให้ทุกวงรู้สึกว่าวันหนึ่งเขาจะได้มายืนที่นี่” นิตเล่า
ทั้งนี้ Blueprint Livehouse เป็นจุดเริ่มต้นของศิลปินหน้าใหม่หลายวง และในระยะเวลา 2 ปี วงดนตรีหลายวงก็ได้เติบโต อีกคำถามที่น่าสนใจคือ ทำไมวงเหล่านี้ถึงอยากกลับมาเล่นที่นี่อีกครั้ง
“เวทีนี้มันอาจมีคาแรกเตอร์ที่เขาคิดถึงมากๆ ในสมัยที่เขายังไม่ดัง หรือทำให้ศิลปินได้สัมผัสประสบการณ์อีกแบบหนึ่งที่ไม่เหมือนตอนเล่นเวทีใหญ่ๆ หรือในร้านเหล้า เราเชื่อว่าไม่ว่าจะเป็นวงที่ดังแล้วหรือยังไม่ดัง เขาก็ต้องการพื้นที่แบบนี้ ต้องการโชว์เหมือนวันที่เขายังไม่ดังแบบนี้ เพื่อหล่อเลี้ยงความเป็นศิลปินของตัวเองอยู่ ในขณะที่ศิลปินรุ่นใหม่ เราก็อยากจะเป็นพื้นที่ให้เขาได้มาเล่นตรงนี้ ได้และเล่นเพลงของตัวเองบนเวทีนี้ไปเรื่อยๆ” แมคคีกล่าว
ศิลปินต่างประเทศก็ต้องการไลฟ์เฮาส์เพื่อเข้าถึงแฟนเพลงไทย
แม้ในช่วงแรก Blueprint Livehouse มีแค่คอนเสิร์ตของศิลปินไทยทั้งหน้าใหม่และมีชื่อเสียง ทว่าในปีที่ผ่านมามีศิลปินจากต่างประเทศแวะเวียนกันมาแสดงบนเวทีนี้ด้วย
“ก่อนหน้านี้เราโฟกัสที่วงไทยอย่างเดียว เพราะเราอยากให้วงที่เราชอบได้มาเล่นที่นี่ แต่กลายเป็นว่าตลาดต่างประเทศเวลาศิลปินทัวร์เอเชีย เขาก็อยากมาเล่นที่ไทย แล้วต้องการพื้นที่ตรงนี้เหมือนกัน แม้แต่วงที่มีชื่อเสียงมากๆ ในประเทศเขา เขาก็ยังต้องการพื้นที่แบบนี้ ก็เป็นอีกหนึ่งโอกาสที่เราบังเอิญได้ไปตอบโจทย์เขาได้พอดี” แมคคีเล่า

แมคคี-พีระพงศ์ แก้วแท้
โดยทั่วไป หากศิลปินอยากไปแสดงที่ต่างประเทศ จะต้องติดต่อผ่านโปรโมเตอร์ เพื่อหาสถานที่สำหรับเปิดการแสดง แต่สถานที่ที่ได้อาจไม่ตรงใจหรือมีข้อจำกัดบางอย่าง โปรโมเตอร์เองต้องเป็นคนแบกรับความเสี่ยงในการเช่าที่ และการโปรโมตงานให้ศิลปิน แต่เมื่อเปิด Blueprint Livehouse แล้ว ทำให้ศิลปินที่กำลังมองหาพื้นที่จัดคอนเสิร์ตในไทยสะดวกขึ้น และมีอุปกรณ์ให้พร้อมสรรพ รวมทั้งประหยัดค่าใช้จ่ายไปได้ในบางกระบวนการ
“ศิลปินต่างประเทศเขาสามารถติดต่อมาที่เราได้เลย เราก็กลายเป็น One Stop Service มีทุกอย่างครบสำหรับคอนเสิร์ต” นิตกล่าว
ในขณะเดียวกันแดนได้พูดเสริมถึงประเด็นที่ศิลปินต่างประเทศเองก็มีหมุดหมายที่ต้องการมาเยือนไทย เช่น ศิลปินจากประเทศสิงคโปร์ที่มองว่าไม่ไกล สามารถบินมาเล่นแบบไปกลับได้ ใช้เวลาเดินทางไม่กี่ชั่วโมง และเมื่อถามว่าศิลปินต่างประเทศรู้จัก Blueprint Livehouse ได้อย่างไร เรือบินกล่าวว่า ได้มาจากการไปออกงานต่างประเทศ จึงสร้างคอนเนกชันได้
ปีที่ผ่านมาเราได้เห็นศิลปินจากหลายประเทศในโซนเอเชียมาเล่นที่ไลฟ์เฮาส์แห่งนี้ บางวงเลือกมาไทยเพราะมีฐานแฟนเพลงคนไทยอยู่บ้าง แต่บางวงก็เป็นวงที่คนไทยไม่รู้จัก เราจึงสงสัยว่า หากขายบัตรไม่หมดหรือมีคนมาดูศิลปินต่างประเทศไม่มากนัก ในสถานการณ์แบบนี้ Blueprint Livehouse รู้สึกอย่างไร

นิว-วิทวัส อินทรสังขา
“จริงๆ การมาทัวร์แต่ละครั้งของศิลปินต่างประเทศมันมีความเสี่ยงอยู่แล้ว การมาแต่ละทีต้องมีค่าใช้ง่าย และอาจไม่ได้กำไรกลับไป มันขึ้นอยู่กับตัวศิลปินเองด้วยว่าเขาทำการตลาดของตัวเองในไทยอย่างไร แต่สำหรับศิลปินที่มาไทยครั้งแรก ยังไงก็มันไม่ต่างจากการเป็นศิลปินหน้าใหม่ในเมืองไทยเหมือนกัน อันนี้คือสิ่งเขาต้องตระหนักอยู่แล้ว” นิวอธิบาย
“บางวงเขาก็ไม่ได้คิดว่ามาเล่นแล้วต้องได้เงินกลับไปอย่างเดียว บางงานเขามาเพื่อโปรโมตเพลงด้วย หรือบางครั้งก็ทำให้เขาได้เพิ่มฐานแฟนคลับ ได้เจอคนกลุ่มใหม่ๆ ในไทย บางทีการมาแสดงแต่ละครั้งอาจไม่ใช่แค่เรื่องเม็ดเงินหรือชื่อเสียงเสมอไป แต่เป็นการถูกพูดถึงเมื่อพวกเขากลับมาอีกครั้ง” นิตเสริม
แม้ศิลปินต่างประเทศจะต้องเผื่อใจกับจำนวนผู้ชมที่อาจไม่มากเท่าที่หวัง แต่ในฐานะเจ้าของสถานที่ แมคคีเล่าว่าบางครั้งก็เกิดความกังวลอยู่บ้าง
“ห่วงว่าศิลปินว่าเขาจะเจ็บตัวหรือเปล่า แล้วอีกเรื่องคือความคาดหวัง ซึ่งเราก็ต้องดีลกับศิลปินเหมือนกัน ว่าเขาคาดหวังที่จะได้เจอคนเยอะแค่ไหน จะได้เป็นกระแสในไทยหรือเปล่า เราทำตรงนี้ก็ต้องรับมือทั้งด้านการตลาด และทั้งด้าน Mental Health ของศิลปินด้วยเหมือนกัน”
ทำไลฟ์เฮาส์คืองานบริการ
เมื่อพูดถึงไลฟ์เฮาส์ อีกหลายคำที่ตามมาในหัวอาจเป็น ‘ดนตรี’ ‘ศิลปิน’ หรือ ‘ความบันเทิง’ แต่ไม่ได้คิดถึงคำว่า ‘งานบริการ’ ซึ่งความจริงแล้วไลฟ์เฮาส์คือสถานที่ที่ทำให้ศิลปิน แฟนเพลง ได้รับความสะดวกสบายที่สุดในการมาดูคอนเสิร์ตทุกครั้ง
“มันคืองานบริการ เพราะฉะนั้นหน้าที่ของเราคือการเซอร์วิสคนดูมีความสุขกับโชว์ และบริหารความรู้สึกของศิลปินไปพร้อมกัน เพราะเราอยากให้เขารู้สึกโอเค พร้อมที่สุดกับโชว์ที่เขาเตรียมมา แต่พอเป็นงานบริการย่อมมีเรื่องที่เราไม่คาดคิดล้านแปด เราก็แค่พยายามแก้ปัญหาให้ดีที่สุด ทำให้ทุกคนรู้สึกดีที่สุด ซึ่งเราต้องบริหารความรู้สึกของทั้ง 3 ฝ่าย ทั้งศิลปิน คนดู และสถานที่ซึ่งก็คือเราด้วย” แมคคีพูด

ดิว-ศุภกิชญ์ สุภา
ด้วยความที่เป็นงานบริการมักมีเรื่องราวมากมายให้ต้องรับมือ แล้วตลอดระยะเวลา 2 ปีที่ผ่านมา ในพื้นที่ไลฟ์เฮาส์ต้องเจอความท้าทายแบบใดบ้าง
ดิวเล่าว่า ในช่วงแรกที่เปิดต้องอธิบายว่า ที่นี่ไม่ใช่ร้านเหล้าและไม่มีโต๊ะให้นั่งดื่มแอลกอฮอล์ ขณะเดียวกันแดนบอกว่า บางครั้งก็เกิดปัญหาที่ไม่ได้เตรียมตัวรับมือ เช่น อุปกรณ์ที่อยู่ดีๆ ก็ชำรุดโดยไม่ทันตั้งตัว รวมถึงความคาดหวังของทุกคนที่มา Blueprint Livehouse ในเรื่องของซาวนด์ดนตรีหรือแม้แต่อุณหภูมิในฮอลล์
“คนที่มาเขาก็มีความคาดหวัง อย่างเรื่องแอร์ บางทีงานเดียวกัน ก็จะมีคนบอกว่าร้อน บางคนก็บอกว่าหนาว ซึ่งเราทำอะไรไม่ได้ บางคนชอบอุณหภูมิไม่เหมือนกัน เราก็พยายามทำให้ดีที่สุด” นิตกล่าวพร้อมรอยยิ้ม
“อย่างเรื่องซาวนด์เป็นสิ่งที่คนพูดบ่อยมาก เราขอใช้โอกาสนี้ในการอธิบายเลยว่า ซาวนด์ของแต่ละวงที่มาเล่นที่นี่มันจะขึ้นอยู่กับทางวง กับ Sound Engineer ของวงว่าเขาออกแบบอย่างไร มันเป็นคาแรกเตอร์ของวงที่เขาตั้งใจสื่อออกมา อีกอย่างคือในเพลงเดียวกันบางคนอาจบอกว่าเสียงดังไป แต่บางคนบอกว่าเบาไป การที่ลูกค้าคอมเพลน เราก็ยินดีอธิบาย และขอโทษ” แมคคีกล่าว
ทั้งนี้เขายังเสริมว่า ซาวนด์ที่เราได้ยินขึ้นอยู่กับหลายปัจจัย ทั้งความพร้อมของศิลปิน และ Sound Engineer ในวันนั้น ความพร้อมของอุปกรณ์ สภาพร่างกายของผู้ฟัง รวมไปถึงตำแหน่งที่ยืนในฮอลล์ โดยจุดที่อยู่ด้านหลังสุดของฮอลล์ Blueprint Livehouse เป็นจุดที่ซาวนด์ดี เพราะใกล้กับจุดที่ Sound Engineer ยืนทำงานอยู่ แต่ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับประสบการณ์ และซาวนด์ที่แต่ละคนชอบต่างกันด้วย
อย่างไรก็ตามงานบริการของไลฟ์เฮาส์ที่ต้อนรับทุกคนและทุกแนวเพลง นอกจากปัญหาความไม่พอใจของคนที่มาที่นี่แล้ว ในฐานะที่เป็นพื้นที่ให้กับศิลปินหน้าใหม่ มีแฟนเพลงที่เป็นเด็กรุ่นใหม่เข้ามาจำนวนมาก เราจึงเกิดคำถามว่า มีวัฒนธรรมไหนบ้างที่ไม่ใช่ปัญหา แต่รู้สึกว่าเข้าไม่ถึงหรือตามไม่ทัน
ทีม Blueprint Livehouse เล่าว่า ได้เจอพฤติกรรมหลายแบบที่ไม่เคยเห็นมาก่อน เช่น มีแม่ผู้ปกครองมานั่งรอหน้าไลฟ์เฮาส์ หรือการนั่งรอศิลปินหน้าเวที รวมถึงการวางของสำคัญทิ้งไว้เพื่อจองคิวต่อแถวเข้างาน ซึ่งทั้งหมดนี้ขึ้นอยู่กับว่าในวันนั้นเป็นคอนเสิร์ตของศิลปินวงไหน ซึ่งแฟนเพลงของแต่ละวงจะมีวัฒนธรรมการดูคอนเสิร์ตที่ต่างกัน อย่างไรก็ตามสิ่งเหล่านี้ไม่ได้สร้างความเดือดร้อนแต่อย่างใด
“จริงๆ เราเชื่อว่าหลายๆ วงก็อาจมาสร้างคัลเจอร์ที่นี่ด้วยซ้ำ เพราะบางคนมาแล้วอาจไม่รู้ว่าต้องทำอะไร เด็กรุ่นใหม่อาจไม่กินเหล้า แต่ระหว่างรอศิลปิน พวกเขานั่งเล่น นั่งรอกันไป และเมื่อทำกันมากขึ้น ก็เกิดเป็นคัลเจอร์ใหม่ที่คนรุ่นเราไม่เคยเห็นมาก่อน แต่แฟนเพลงทุกคนเขาก็เป็นคนน่ารักและไม่ได้สร้างปัญหาอะไรเลย” แมคคีกล่าว
ในวันที่คนไม่กินเบียร์ในคอนเสิร์ต
ในประเทศไทยที่แบรนด์แอลกอฮอล์เข้ามาเป็นผู้สนับสนุนหลักในงานคอนเสิร์ตมาอย่างยาวนาน จนทำให้การดื่มแอลกอฮอล์ในคอนเสิร์ตกลายเป็นวิถีประชาได้โดยปริยาย
อย่างไรก็ตาม แต่ช่วงปีที่ผ่านมา หลายคนอาจเริ่มสังเกต และเห็นตรงกันว่า คนรุ่นใหม่หรือ Gen Z ทั้งไทยและต่างประเทศดื่มแอลกอฮอล์ในงานคอนเสิร์ตน้อยลง รวมถึงมีบทความและงานศึกษาในต่างประเทศที่เก็บข้อมูลในเรื่องนี้ ด้วยพฤติกรรมของคนรุ่นใหม่ที่เปลี่ยนแปลงไป นำไปสู่คำถามที่น่าสนใจคือ พฤติกรรมที่เปลี่ยนไปนี้ส่งผลกระทบต่อไลฟ์เฮาส์มากน้อยแค่ไหน และการลดลงของการบริโภคแอลกอฮอล์ ส่งผลต่อรายได้ของสถานที่จัดคอนเสิร์ตหรือไม่
นิวตอบว่า ในช่วงแรกที่จัดคอนเสิร์ตศิลปินหน้าใหม่ และได้พบว่าเด็กรุ่นใหม่ไม่ดื่มแอลกอฮอล์ เป็นคัลเจอร์ช็อกสำหรับเขาเช่นกัน แต่โดยส่วนตัวแล้วเขามองว่านี่อาจไม่ใช่ปัญหา
“ตลอด 3 ปีที่ผ่านมา นี่เป็นเรื่องที่ใหม่สำหรับเรา เพราะโดยปกติแล้ว งานดนตรี คอนเสิร์ตกับเบียร์เป็นของคู่กันเสมอ แต่รู้สึกว่าในเจเนอเรชันใหม่ การมาคอนเสิร์ตไม่จำเป็นต้องดื่มแอลกอฮอล์ หรือสปอนเซอร์ของงานคอนเสิร์ตไม่จำเป็นต้องเป็นแอลกอฮอล์อีกต่อไป
“แต่ถ้าถามว่ากระทบกับไลฟ์เฮาส์ไหม เราว่ามันเป็นสินค้าอย่างหนึ่งที่เราขายในไลฟ์เฮาส์ แต่เราให้ความสำคัญที่โชว์บนเวที อันนี้คือสิ่งที่เราขายเป็นหลัก พอยต์หลักของธุรกิจเราคือขายดนตรี ซึ่งที่จริงเราพูดมาตลอดว่า การดูวงดนตรีไม่จำเป็นต้องกินแอลกอฮอล์” นิวอธิบาย
แมคคีเสริมว่า เรื่องแอลกอฮอล์เป็นหัวข้อที่คุยกันตอนก่อนจะเปิด Blueprint Livehouse และอีกเรื่องที่ให้ความสำคัญคือ ราคาของเครื่องดื่ม
“เราเชื่อว่าไม่จำเป็นต้องเมา เพื่อที่จะสนุกกับโชว์ของศิลปิน ซึ่งเราคุยเรื่องนี้กันหนักมาก โดยเฉพาะเรื่องราคาของสินค้าที่ขาย เพราะเราอยากให้ที่นี่เป็นพื้นที่ของทุกคน รวมถึงเด็กอายุต่ำกว่า 18 ปี ดังนั้นเราไม่อยากโขกราคากับเครื่องดื่ม ทุกคนต้องเข้าถึงน้ำเปล่าที่เป็นความต้องการพื้นฐานได้ในราคาที่โอเค มันน่าจะสำคัญกับประสบการณ์ของคนที่มาเหมือนกัน เพราะการมาดูคอนเสิร์ตมีค่าใช้จ่ายเยอะมาก ทั้งค่าบัตรคอนเสิร์ต ค่าเดินทาง แล้วไหนจะประเทศที่การคมนาคมมันก็ไม่ได้ดีขนาดนั้น การที่เขาดั้นด้นมาเพื่อดูวงที่ชอบ เขามาเพื่ออุดหนุนสถานที่ของเรา แต่มาเจอน้ำขวดละ 70 บาท เรารู้สึกว่าสิ่งนี้มันไม่ใช่” แมคคีกล่าว
เมื่อถามว่า Blueprint Livehouse จะได้กำไรจากการขายเครื่องดื่มมากน้อยแค่ไหน นิตตอบว่าไม่ได้มีกำไรมากนัก
“เครื่องดื่มของเราหลายๆ อย่าง เราขายถูกกว่าร้านอาหารตามห้าง มันไม่ได้ทำให้เรากำไรขนาดนั้น เพราะด้วยคอนเสิร์ตของเราแค่ 2-3 ชั่วโมง แล้วฮอลล์เราก็เป็นห้องแอร์ มันไม่ได้ทำให้คนอยากดื่มอะไรขนาดนั้น” นิตตอบ
อย่างไรก็ตามนิวเสริมว่าการที่คนรุ่นใหม่ดื่มแอลกอฮอล์น้อยลงจะไม่กระทบมากนัก แต่ในการทำธุรกิจ Blueprint Livehouse ก็ต้องหาช่องทางเสริมรายได้เพิ่มเติม เช่นการขายเครื่องดื่มอื่นๆ เพื่อเพิ่มทางเลือกให้กับคนที่มา
เข้าสู่ปีที่ 3
เมื่อถามว่าตลอด 2 ปีที่ผ่านมา Blueprint Livehouse ได้เห็นความหวังอะไรบ้างในอุตสาหกรรมดนตรีของไทย โดยเฉพาะกลุ่มศิลปินหน้าใหม่ นิวตอบว่า ได้มองเห็นศิลปินที่มีศักยภาพสูง แต่ขาดเพียงแค่โอกาสหรือเวทีให้แสดง
“เราเห็นผู้เล่นที่หลากหลายมากขึ้น เราก็ได้เห็นศิลปินหลายคนที่ศักยภาพเยอะมาก เพียงแค่ว่าเขาอาจจะไม่ได้มีสปอตไลต์มาส่องแสงให้เขา เราก็พอมองเห็นว่า ในอนาคตใครมันน่าจะเติบโตไปเป็น Headliner คนต่อไปได้หรือมี Career Path ที่แข็งแรงในฐานะศิลปิน สำหรับเรารู้สึกว่า แค่นี้ก็เป็นความหวังให้เราประมาณหนึ่งแล้วเหมือนกันว่า อย่างน้อยสิ่งที่เราทำมามันไม่ได้ลมๆ แล้งๆ” นิวตอบ
เช่นเดียวกับแมคคีที่เสริมว่า จากการเปิดไลฟ์เฮาส์ พวกเขาได้เห็นตลาดดนตรีนอกกระแสของไทยยังมีคนฟังอยู่ไม่น้อย และมีคนแวะเวียนมาฟังเพลงที่นี่บ่อยครั้ง เป็นการช่วยสนับสนุนให้ศิลปินยังประกอบอาชีพต่อไปได้
ในขณะที่แดนบอกว่า หนึ่งในสิ่งที่ Blueprint Livehouse ได้เห็นคือ การสร้าง Ecosystem หรือระบบนิเวศที่ดีของ Blueprint Livehouse ที่เริ่มมาจากคำพูดของวง Reality Club จากประเทศอินโดนีเซีย ตอนมาเล่นที่นี่
“มีกรณีศึกษาหนึ่งจากวง Reality Club พวกเขาใช้คำว่า Ecosystem เพราะนอกจากจะมาเล่นดนตรีเฉยๆ พอพวกเขามาถึงไทย พวกเขาหลงรักเสน่ห์ที่มากกว่าแค่การแสดงโชว์ แดนว่าที่นี่มี Ecosystem ที่ดีอย่างหนึ่งคือ คุยง่าย ออกไปข้างนอกก็คุยได้ คนกล้าคุยกัน สิ่งนี้นำไปสู่เกิดการ Business Talk หรือแลกเปลี่ยนกันในเรื่องอื่นๆ ได้” แดนกล่าว
“2 ปีที่ผ่านมา Blueprint Livehouse เป็นพื้นที่รองรับความหลากหลายของวงการ จะได้เห็นศิลปิน ผู้จัด ออร์แกไนซ์ต่างประเทศ หรือใครก็ตามที่เขาพยายามหาพื้นที่แล้วมาที่นี่ แล้วตัวพวกเราเองก็ได้ไปงานต่างประเทศ แล้วได้นำเสนอไลฟ์เฮาส์ออกไป เสริมของแดนก็คือทั้งหมดมันเป็นการสร้าง Ecosystem ของซีนนี้” ดิวเสริม
ทั้งนี้นิวบอกว่า 2 ปีที่ผ่านมาได้เห็นไลฟ์เฮาส์ใหม่ๆ เกิดขึ้น คนไทยเริ่มเข้าใจคอนเซปต์ของไลฟ์เฮาส์ว่าคืออะไร และหวังว่าการก้าวเข้าสู่ปีที่ 3 ทิศทางของ Blueprint Livehouse จะยังชัดเจนเช่นเดิม
“เราก็อยากไปต่อในทิศทางเดิมที่เราทำไว้ตั้งแต่ปีแรก ไม่ได้อยากที่จะเปลี่ยนแปลงคาแรกเตอร์ของเรา เราอยากให้คาแรกเตอร์ของ Blueprint มันชัดมาตั้งแต่แรกว่า เราเป็นพื้นที่ให้ศิลปินหน้าใหม่หรือศิลปินเล็กๆ ได้มีเวทีแสดงและเติบโตในวงการ ถ้าไม่อย่างนั้นอีกสิบปีข้างหน้า Headliner ก็จะเป็นหน้าเดิม ไม่มีคนใหม่ขึ้นมาได้ และเราอยากที่จะชัดแบบนี้ต่อไปเรื่อยๆ เพียงแต่ว่าเราต้องพัฒนาคุณภาพ ระบบต่างๆ ให้ทันสมัยมากขึ้น” นิวกล่าว

เรือบิน-ธรรศ สุวรรณแสง
เมื่อถามว่าตลอดระยะเวลา 2 ปีที่ ในสถานที่ให้บริการดนตรีแห่งนี้ วันแบบไหนที่ทำให้แต่ละคนมีความสุขมากที่สุด
นิวตอบว่าเป็นวันที่เขาได้ไปซื้อตู้แอมป์ใหม่ เพราะเขาอยากให้นักดนตรีที่มาเล่นที่นี่ได้ใช้อุปกรณ์ดีๆ และรู้สึกอุ่นใจขณะทำการแสดง ในขณะที่เรือบิน ผู้รับหน้าที่ทำโปสเตอร์เกือบทั้งหมดของ Blueprint Livehouse ตอบอย่างติดตลกว่า เป็นวันที่โดยขโมยโปสเตอร์จะมีความสุขที่สุด เพราะหมายความว่าสิ่งที่เขาออกแบบถูกใจแฟนเพลง เช่นเดียวกับที่แมคคีก็ตอบพร้อมเสียงหัวเราะว่าวันที่มีความสุขที่สุดของเขาคือวันที่ทุกคนบอกว่า แอร์เย็น
“จริงๆ เราก็มีความสุขทุกวัน เราก็ทำวันนี้ให้ดีที่สุด” ดิวตอบ
สำหรับแดนเขาบอกว่าชอบวันที่มีคนมา Blueprint Livehouse จำนวนมาก แต่ไม่ได้หมายความว่าต้องเป็นวันที่ขายบัตรหมดเกลี้ยง แค่จำนวน 100 คน แล้วทุกคนที่มาดูมีความสุขก็ทำให้มีความสุขแล้ว
สำหรับพี่ใหญ่อย่างนิต วันที่มีความสุขที่สุดของเขาคือวันที่เปิด Blueprint Livehouse วันแรก
“โปรเจกต์นี้เกือบจะล้มไปหลายรอบ แต่สุดท้ายก็เกิดขึ้นได้ วันที่เปิดเล่นวันแรก ป้ายขึ้น ของทุกอย่างครบ มันเป็นวันที่มีความสุข เหมือนกับสิ่งที่เราเหนื่อย มันเสร็จแล้ว ตอนนี้ก็รู้สึกว่า 2 ปีแล้วเหรอ มันมาไกลกว่าที่คิด ซึ่งการทำไลฟ์เฮาส์จริงๆ มันไม่ง่ายนะ แล้วก็ไม่รวยด้วย ทุกวันนี้ทุกคนยังต้องทำงานประจำกันอยู่ ไม่สามารถออกจากงานได้ เพราะรายได้จากไลฟ์เฮาส์ไม่สามารถเลี้ยงพวกเราได้ แต่ถึงอย่างนั้นเราก็ยังหวังว่า ในอนาคตมันจะดีกว่านี้” นิตกล่าว
แม้การทำไลฟ์เฮาส์จะไม่ง่าย แต่อย่างไรก็ตามแมคคีได้บอกว่า ท้ายที่สุดอยากให้มีไลฟ์เฮาส์ในประเทศไทยเพิ่มมากขึ้น
“2 ปีที่แล้ว ก่อนเราเปิดไลฟ์เฮาส์ เราปรึกษาพี่ๆ ในวงการ ซึ่งทุกคนก็พูดเหมือนกันหมดว่า อย่าเปิดเลย (หัวเราะ) แต่เขาก็พูดว่าต่อให้ห้ามเราก็ยังคงทำ เพราะมันคือแพสชันเรา แต่หลังจากทำมา 2 ปี ถ้ามีคนมาถามว่าเปิดไลฟ์เฮาส์ดีไหม เราก็คงพูดได้แค่ว่า ถ้าเกิดว่าอยากทำก็ทำเถอะ จะได้รู้ว่ามันเป็นอย่างไร เพราะเราอยากมีเพื่อนในวงการเยอะๆ” แมคคีกล่าวทิ้งท้าย
Fact Box
- Blueprint Livehouse ชั้น 2 Flow House ใน A Square พระราม 4 เลขที่ 120/1 สุขุมวิท 26 แขวงคลองตัน เขตคลองเตย กรุงเทพฯ
- BTS ลงสถานีพร้อมพงษ์ ทางออก 6
- MRT ลงสถานีศูนย์สิริกิติ์ ทางออก 4