“เป้าหมายของเราคืออยากจะสร้างสรรค์คอนเทนต์ที่ตอบรับความต้องการของผู้คนตั้งแต่วินาทีที่เขาเกิดมาและครอบคลุมทุกช่วงเวลาชีวิต” 

ขายหัวเราะ ในความทรงจำของคุณเป็นอย่างไร

เชื่อว่าหลายๆ เสียงจะตอบว่า ‘หนังสือที่อ่านรอระหว่างตัดผม’ ‘หนังสือที่มีทุกบ้าน’ ‘หนังสือที่อ่านได้ตลอดเวลา’ หนึ่งในหนังสือการ์ตูนของบรรลือสาส์นดูจะกลายเป็นทั้งวิถีชีวิตประจำ เป็นความทรงจำของใครหลายคน

แต่ไหนแต่ไร ใครต่อใครต่างจดจำบรรลือสาส์น ด้วยภาพของ ‘บ.ก.วิติ๊ด’ – วิธิต อุตสาหจิต ในฐานะผู้นำบรรลือสาส์นทั้งในการ์ตูนและชีวิตจริง หากในวันที่สื่อต่างๆ เปลี่ยนไป บรรลือสาส์นย่อมเปลี่ยนตาม รวมทั้งการนำโดยผู้บริหารคนใหม่ ลูกไม้หล่นไม่ไกลต้นอย่าง ‘นิว’ – พิมพ์พิชา อุตสาหจิต ลูกสาวคนโตผู้ขยายจักรวาลบรรลือสาส์น ให้กว้างขวางกว่าที่เคย ทั้งในรูปแบบของสำนักข่าวออนไลน์ยอดฮิตของคนรุ่นใหม่อย่าง The MATTER หรือเครือ Salmon ที่ผลิตเนื้อหาออกมาหลากหลาย ทั้งหนังสือ พอดแคสต์ วิดีโอ ที่สด มัน อร่อยสมชื่อ

ท่ามกลางความเปลี่ยนแปลงทั้งภายในและภายนอก สิ่งหนึ่งที่ไม่เปลี่ยนในเครือบรรลือสาส์น ดูจะเป็น ‘DNA อารมณ์ขัน’ และการสอดแทรกเนื้อหาเข้าไปอยู่ในชีวิตประจำวันที่ นิว ผู้บริหารคนปัจจุบัน ดูจะได้รับความมรดกความฮามาจากผู้บริหารในตำนานอย่าง บ.ก.วิธิตไปเต็มๆ 

The Momentum พูดคุยกับพ่อ-ลูกผู้บริหารสองยุคสองสมัย ผู้ ‘ขายหัวเราะ’ สร้างความ ‘มหาสนุก’ ให้กับสังคมไทยมานาน ไม่ว่าจะในนามบรรลือสาส์นหรือบันลือกรุ๊ปในยุคปัจจุบัน

ยุคแรกของการทำ ขายหัวเราะ มีโจทย์ของการสื่อสารเป็นอย่างไร

บ.ก.วิธิต: สิ่งที่เราต้องการจะสื่อสารออกมาตลอด 60 ปี มีอยู่ 4 เรื่องหลักๆ คือ 1. ความคิดสร้างสรรค์ 2. อารมณ์ขัน 3. พลังของการเล่าเรื่อง และสุดท้าย 4. พลังของภาพ ด้วยโจทย์ทั้ง 4 ข้อของเรา งานของบันลือกรุ๊ปในยุคแรกเริ่มจึงกำเนิดออกมาในรูปแบบของ ‘การ์ตูนแก๊ก 3 ช่อง’ เพราะเป็นหนังสือที่สามารถเข้าถึงได้ง่าย เมื่อก่อนความบันเทิงของคนไทยในรูปแบบของนิตยสารและโทรทัศน์ยังมีไม่มากนัก หนังสือการ์ตูนของเราจึงออกมาในรูปแบบที่เขาจะอ่าน และหยุดเมื่อไหร่ก็ได้ ผมจึงดีใจที่หนังสือในเครือบรรลือสาส์นถูกขนานนามให้เป็น ‘หนังสือสามัญประจำบ้าน’

ความสนุกในการทำหนังสือการ์ตูนยุคนั้นคืออะไร

บ.ก.วิธิต: การที่เราได้พบเจอสิ่งใหม่ๆ อยู่ตลอดเวลา จุดเด่นของขายหัวเราะ คือ ในหนังสือ 1 ฉบับ จะมีการผสมปนเปของนักเขียนทั้งมืออาชีพและมือสมัครเล่น คนเขียนเรื่องขำขัน เรื่องสั้น นิยาย และผู้อ่านที่ส่งงานมาร่วมสนุก ในฐานะ บ.ก. เราได้อ่าน และเสพผลงานของพวกเขาเป็นคนแรกๆ ความสนุกคือการที่เราได้เลือกสรร คัดเลือกผลงาน และเกลาสำนวนของผลงานเหล่านี้ตลอดกว่า 40 ปี ในฐานะ บ.ก. ผมไม่เคยมีคำว่าเบื่อเลย ไม่มีวันไหนที่ผมไม่สนุกกับงาน

แล้วบันลือกรุ๊ปในยุคของคุณตั้งใจที่จะให้เป็นอย่างไรบ้าง

นิว: นับตั้งแต่วันที่คุณปู่ได้ก่อตั้งสำนักพิมพ์มาตลอด 67 ปี จนมาถึงรุ่นของนิว เราได้มีการขยายแบรนด์มาตลอด จากแต่ก่อนเรามีเพียง ขายหัวเราะ และบรรลือสาส์น ในปัจจุบันเรามีการขยายตัวทั้ง ‘แนวลึก’ และ ‘แนวกว้าง’

‘แนวกว้าง’ หมายความว่า เราทำคอนเทนต์ให้กับหลากกลุ่มเป้าหมาย และในหลายแพลตฟอร์มมากขึ้น ภายใต้แบรนด์ที่ต่างออกไปจากเดิม ไม่ว่าจะเป็น Salmon House, The MATTER, Salmon Podcast หรือแม้กระทั่ง Vithita Animation วินาทีนี้เราพูดได้ว่าบันลือกรุ๊ปมีคอนเทนต์สำหรับทุกกลุ่มเป้าหมาย และบนทุกแพลตฟอร์ม

สำหรับ ‘แนวลึก’ เราพยายามสร้างคอนเทนต์ที่ตอบโจทย์ประสาทสัมผัสทั้งห้า จุดเริ่มต้นของเราอาจเริ่มจากการอ่าน การใช้สายตามองเพียงเท่านั้น แต่ในปัจจุบันเรามีทั้งภาพเคลื่อนไหวและพอดแคสต์ที่เข้าถึงประสาทสัมผัสของคนได้หลากหลายมากขึ้น ในปัจจุบันภาพรวมของบันลือกรุ๊ปจึงไม่ใช่แค่สื่อใดสื่อหนึ่งเหมือนแต่ก่อนอีกแล้ว แต่เราคือแบรนด์คอนเทนต์ เพราะฉะนั้นเราสามารถอยู่ได้ทุกแพลตฟอร์ม เข้าถึงกลุ่มเป้าหมายได้ในรูปแบบที่ต่างกัน ไม่มีการจำกัดรูปแบบอีกต่อไป

ทุกแบรนด์ในเครือของบันลือกรุ๊ปต่างเป็นแบรนด์ที่เต็มไปด้วย ‘อารมณ์ขัน’ ทำไมจึงใช้สิ่งนี้เป็นแกนหลักในการสื่อสาร

นิว: จริงๆ มีหลายปัจจัยประกอบกัน แต่อย่างที่คุณพ่อบอก ทุกหน่วยงานในบันลือกรุ๊ปจะประกอบไปด้วย 5 แกนหลักนั่นคือ ‘ความคิดสร้างสรรค์’ ‘พลังของการเล่าเรื่องด้วยภาพ’ ‘พลังของการเล่าเรื่อง’ และสุดท้ายที่สำคัญที่สุดคือเรื่องของ ‘อารมณ์ขัน’ อีกอย่างเราวางตำแหน่งให้แบรนด์ต่างๆ ในเครือของบันลือกรุ๊ปเป็นเหมือนกับ ‘เพื่อนของผู้ชมผู้อ่าน’ เพื่อจะได้เติบโตไปกับเขาเสียมากกว่า จึงไม่แปลกที่เราจะสามารถพูดเล่นหยอกล้อกับเขาได้ จึงเป็นสาเหตุที่ทำให้อารมณ์ขันและการมอบความสุขกลายมาเป็นดีเอ็นเอของเรา

สังคมเคยมอง ขายหัวเราะ เป็นการ์ตูน ‘ทะลึ่ง’ และ ‘ไร้แก่นสาร’ ทั้งสองคนมีความเห็นอย่างไรเกี่ยวกับเรื่องนี้ 

บ.ก.วิธิต: เรียกได้ว่าเป็นการ์ตูน ‘ทะเล้น’ จะเหมาะเสียกว่า ทะลึ่งน่าจะใช้กับกรณีนี้ไม่ได้ มันจะมีเส้นบางๆ ขีดอยู่ นักเขียนและทีมงานทุกคนจะรู้ดี 

นิว: เรามองว่าอารมณ์ขันมันเป็นเรื่องของ ‘แพลตฟอร์ม’ ที่ช่วยสื่อให้ผู้ชมของเราเข้าถึง ‘เรื่องอะไรก็ได้’ ไม่ว่าเราจะพูดเรื่องยาก เรื่องที่เขาไม่อยากฟัง หรือเรื่องที่ซับซ้อน การเล่าเรื่องด้วยอารมณ์ขันผ่านคาแรกเตอร์ของเรา มันจึงมีความเป็นมิตรกับผู้ฟังมากขึ้น  ฉะนั้นอารมณ์ขันของเรามันเป็นเครื่องมือมากกว่าความไร้สาระ

อีกอย่างหนึ่งคือแก๊กและอารมณ์ขันของขายหัวเราะ ทำให้เราสามารถแตะได้ทุกดินแดนเลย ไม่ว่าจะเป็นด้านการศึกษาอย่างเช่นในอดีตที่เรามีการ์ตูนอย่าง รามาวตาร หรือว่า สามก๊ก ก็เป็นการ์ตูนในรูปแบบของ ‘Edutainment’ ที่เล่าเรื่องที่แผงไปด้วยความรู้ได้ หรือการทำหนังสือการ์ตูนสำหรับการทำ Content Marketing เพื่อสื่อสารไว้กับแบรนด์ต่างๆ ได้อย่างดี

เมื่อประมาณ 3-4 ปีก่อน เราได้จัดงานนิทรรศการชื่อ ‘อุต สา ฮา กรรม : ผลิตขำ ทำเงิน’ ร่วมกับ TCDC และได้รับคำชมเป็นอย่างมาก โดยมีคนเรียก ขายหัวเราะ ของเราว่าเป็น ‘การ์ตูนไร้สาระที่แหลมคม’ นั่นหมายความว่าการ์ตูนของเรามีมิติ สะท้อนความต้องการของมนุษย์ และวงจรชีวิตของมนุษย์ซ่อนอยู่ จึงเป็นเรื่องที่ตอกย้ำว่าเรื่องของอารมณ์ขันของเรานั้นไม่มีพรมแดน หากไม่มีอุปสรรคทางด้านภาษา เราสามารถหัวเราะในเรื่องเดียวกันได้ในทุกชนชาติ

ขายหัวเราะ ยังเป็นเหมือนจดหมายเหตุหรือหมุดหมายของประวัติศาสตร์ไทยและประวัติศาสตร์โลก เพราะเหตุการณ์สำคัญใดๆ ที่เกิดขึ้นไม่ว่าจะเป็น โควิด-19 ประธานาธิบดีสหรัฐฯ หรือแม้กระทั่งหนังดังๆ จะถูกการ์ตูนของเราเขียนล้อแซวทั้งหมด เมื่อใครกลับมาอ่านก็จะเข้าใจได้ทันที

จุดเปลี่ยนจากสำนักพิมพ์บรรลือสาส์น กลายเป็นบันลือกรุ๊ปที่มุ่งเน้นออนไลน์เต็มที่

บ.ก.วิธิต: ในเรื่องของออนไลน์และสื่อใหม่ (new media) จะเป็นงานในฝั่งของนิวเสียทั้งหมด ส่วนตัวผมยังคงแฮปปี้กับการทำเล่มอยู่ เพราะยังชอบที่จะซึมซับอารมณ์ในการเปิดหน้ากระดาษทีละหน้าอยู่ แต่รูปแบบการทำเล่มของ ขายหัวเราะ ก็ยังคงเป็นแบบเดิม

นิว: แต่พูดได้ว่า คุณพ่อกับคุณแม่เป็นคนที่วางรากฐานได้ดีด้วย เพราะหัวใจหลักของเราคือตัว ‘คอนเทนต์’ ไม่ใช่ ‘สื่อ’ การทำงานของเราหากอยู่ในแกนทั้ง 4 ที่กล่าวไป เราต่อยอดให้ไปอยู่ในรูปแบบใดก็ได้ ซึ่งเป็นสิ่งที่คุณพ่อกับคุณแม่ทำไว้ได้ดีมากๆ จริงๆ 

ในเรื่องของการเปลี่ยนแปลงเข้าสู่ยุคดิจิทัล บริษัทได้มีการเปลี่ยนแปลงมาซักระยะหนึ่งแล้ว อย่าง Vithita Animation คนจะชอบเข้าใจว่าเราเพิ่งก่อตั้ง แต่จริงๆ แล้วได้เริ่มต้นตั้งแต่ปี 2001 แล้ว ส่วนงานออนไลน์ในยุคหลัง เรามีผู้บริหารและทีมงานรุ่นใหม่ที่มาช่วยงานของเรามากขึ้น เช่นแบรนด์ Salmon House, The MATTER และ Salmon Podcast ทำให้เรามีคอนเทนต์ที่หลากหลายและร่วมสมัยมากขึ้น เพื่อให้เข้าถึงกลุ่มเป้าหมายได้มากกว่าเดิม ซึ่งต้องยกเครดิตให้กับทีมงาน

บ.ก.วิธิต: หลังจากที่ประสบความสำเร็จด้านการ์ตูน ช่วงที่เราเห็นว่า ปังปอนด์ เข้าถึงเด็กได้ เราก็มองว่ารูปแบบของแอนิเมชันสามารถทำให้น่าสนใจมากขึ้นได้ก็เลยเกิดการฟอร์มทีมงานขึ้นมา ต้องบอกว่าเป็นการ์ตูนไทยแรกๆ ที่ได้เข้าฉายในโรงหนังด้วย

นิว: นอกจากนั้นยังมี สามก๊ก ปังปอนด์ และหนังที่ทำร่วมกับสหมงคลอย่าง หนูหิ่น และผลงานอื่นๆ ที่ไม่ได้เป็นของเราโดยตรง แต่เราทำคาแรกเตอร์ให้กับลูกค้าในงานโฆษณาต่างๆ ที่เป็นแอนิเมชัน 3 มิติ เรามีการ์ตูนที่ทำร่วมกับการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย ให้ความรู้กับเด็กเกี่ยวกับการประหยัดไฟ และในตอนนี้เรามีอีกบทบาทหนึ่งคือการออกแบบ ‘มาสคอต’ คาแรกเตอร์ของแบรนด์ต่างๆ เราเป็นผู้เชี่ยวชาญในการปั้นคาแรกเตอร์ตั้งแต่ขั้นตอนแรก ไปจนถึงการดีไซน์ตัวละครต่อยอดว่าจะนำไปใช้อย่างไร มีมาสคอตของหลายแบรนด์ที่คนส่วนมากยังไม่รู้ว่าทีมเราช่วยสร้างสรรค์ขึ้นมา เช่น ‘แม่มณี’ ของธนาคารไทยพาณิชย์ หรือว่า ‘ก็อตจิ’ ของ ปตท. เราทำสติกเกอร์ไลน์ที่ได้รับรางวัลทุกปี ปัจจุบันเราได้รับความไว้วางใจให้ทำสติกเกอร์ไลน์ให้กับหลายๆ แบรนด์ และเซเลบดาราอีกหลายคน เรียกได้ว่าอะไรที่เกี่ยวกับการ์ตูนและ character business เราสามารถทำได้ทั้งหมด

แบรนด์ในเครืออย่าง The MATTER หรือ Salmon เริ่มต้นมาได้อย่างไร 

นิว: The MATTER เริ่มต้นจากตอนนั้นวงการข่าวยังไม่มีช่องทางให้ติดตามในช่องทางออนไลน์เหมือนในปัจจุบัน จำเป็นต้องตามข่าวจากรายการทีวีเท่านั้น เราจึงเห็นช่องว่างของโอกาส ทีมผู้บริหารของเราคือ ‘แบงค์’ – ณัฐชนน มหาอิทธิดล และ ‘แชมป์’ – ทีปกร วุฒิพิทยามงคล คิดว่าเราควรมีสำนักข่าวที่เล่าข่าวมีสาระแต่เต็มไปด้วยความสนุกให้คนสนใจและมีความสร้างสรรค์ ที่ไม่สามารถหาได้จากสื่อกระแสหลักทั่วไป เป็นทางเลือกให้กับคนยุคใหม่และแพลตฟอร์มที่คนสามารถถกเถียงความคิดของเขาได้

เมื่อตั้ง The MATTER ขึ้นมา ก็ได้ผลตอบรับที่ดีขึ้นมาก เพราะทีม The MATTER มองว่า ข่าวหนึ่งข่าวมีความเกี่ยวข้องกับคนแต่ละคนที่ไม่เหมือนกัน อย่างข่าวโจรปล้นร้านทอง การรับรู้ของแต่ละคนจะแตกต่างกันไป เราจึงเป็นสำนักข่าวที่มีกลุ่มเป้าหมายที่แตกต่างจากสื่อกระแสหลัก 

อย่างข่าวๆ หนึ่งเราสามารถพาไปดูมุมอื่นได้มากมาย เป็นการนำเสนอมุมมองที่ไม่ใช่มุมมองด้านเดียว เพราะในช่วงหลังๆ ข่าวมีความคล้าย commodity (สินค้า) ไปแล้วเราไม่ได้ต้องการรู้ด้วยซ้ำว่าจุดเริ่มต้นมันมาจากไหน แต่เราให้ความสนใจหรือแง่คิดแบบไหนกับข่าวมากกว่า การนำเสนอข่าวของ The MATTER จึงเป็นเชิงหยิกๆ หยอกๆ ซึ่งเป็นการนำเสนอในรูปแบบใหม่ของข่าวมากกว่า ซึ่งต้องให้เครดิตทีมงานที่เข้าใจสำนักข่าวที่คนรุ่นใหม่อยากได้จริงๆ 

ในส่วนของ Salmon นั้นเรามีอยู่ 4 หน่วยหลักๆ ด้วยกัน ได้แก่ Salmon Books ที่เป็นจุดเริ่มต้นของเรา ที่ก่อตั้งโดยพี่แบงค์เช่นกัน เป็นสำนักพิมพ์ที่มีดีไซน์ เนื้อหา และวิธีการเล่าเรื่องแบบใหม่ๆ เน้นกลุ่มคนรุ่นใหม่ ด้วยเหตุนั้นแซลมอนจึงมีฐานแฟนเยอะมาก 

หลังจากนั้นเราจึงขยายออกมาเป็น Salmon House ซึ่งมาด้วยความพร้อมและโชคที่นักเขียนของเราอย่างพี่เบนซ์ ธนชาติ ต้องการทำคลิปโปรโมตหนังสือของเขาออกที่กับ Salmon Books ชื่อว่า NEW YORK 1st TIME ทำร่วมกับคุณลุงเนลสันที่กลายเป็นไวรัล และพี่วิชัย Creative Director ของเราที่ช่วยขายหัวเราะทำคลิปโปรโมตสติกเกอร์ไลน์ ซึ่งในยุคนั้นยังไม่มีคำว่าคลิปไวรัลเลย แต่มีคนเข้ามาหาเรา และต้องการให้เราทำคลิปที่มีน้ำเสียงและเนื้อหาแบบนั้นให้ 

พี่เบนซ์ พี่วิชัย และทางเราจึงได้ร่วมก่อตั้ง Salmon House ขึ้นมา เป็นโปรดักชันเฮาส์ที่เราภูมิใจ ที่สามารถทำงานหลากหลายและเติบโตขึ้นเรื่อยๆ ในช่วงแรกคนจะเข้าใจว่าเราถนัดทำแต่ในคลิปที่เป็นอารมณ์ขันด้วยลายเซ็นของผู้กำกับเราที่ค่อนข้างจะชัดเจน แต่จริงๆ แล้ว ตอนนี้เราสามารถเล่าได้ทุกเรื่อง ไม่ว่าจะเป็นหนังดราม่าหรือเศร้ายังไงก็ตาม ขึ้นอยู่กับว่าโจทย์ของเราจะเป็นแบบไหน 

เรายังมี Salmon Podcast ที่เป็นน้องใหม่ อย่างที่บอกว่าเราต้องการที่จะขยายคอนเทนต์ของเราให้ครบทุกแพลตฟอร์ม และหลากหลายมากขึ้น อีกทั้งตลาดพอดแคสต์ก็ยังเติบโตขึ้นเรื่อยๆ ซึ่งกลุ่มเป้าหมายก็ยังเป็นกลุ่มที่ใกล้เคียงกัน 

จุดเด่นของเราคือการเล่าเรื่องที่น่าสนใจ ด้วยน้ำเสียงสนุกสนานแบบเพื่อนคุยให้ฟัง คนจะรู้สึกว่าสนุกและเป็นกันเอง รายการที่เป็นเรือธงของเราน่าจะเป็น Untitled Case ที่คนชอบกันมากๆ เนื้อหาเกี่ยวกับเรื่องลึกลับ และต่อยอดไปเป็นอีเวนต์ในโรงหนัง หนังสือขายดี และบอร์ดเกมด้วย ด้วยสามหน่วยนี้ที่มีกลุ่มเป้าหมายเดียวกัน เราจึงคิดว่าเราจะต่อยอดไปเป็นอะไรได้บ้าง ไม่ได้มีลำดับว่าอะไรก่อนอะไรหลัง หรือมีอะไรมาเป็นข้อจำกัดอีกต่อไป 

และยูนิตสุดท้ายที่เป็นศูนย์กลาง คือ Salmon Lab ซึ่งเป็น creative content agency ที่ช่วยดูแลด้านการตลาดให้กับลูกค้าแบรนด์ต่างๆ และเนื่องจากบันลือกรุ๊ปทำคอนเทนต์ได้สำหรับทุกช่องทางและครอบคลุมทุกกลุ่มเป้าหมายอยู่แล้ว Salmon Lab จึงเป็น One-stop solution ด้าน content marketing สำหรับลูกค้าแบรนด์ คือมาหาเราแล้วครบ จบในที่เดียว

ด้วยความหลากหลายของตัวธุรกิจ เคยมีความขัดแย้งเกี่ยวกับทิศทางการทำงานภายในครอบครัวบ้างหรือเปล่า 

บ.ก.วิธิต: หลังจากที่นิวรับงานไป ผมให้เขาตัดสินใจทั้งหมด เพราะเรื่องของ Generation Gap บางครั้ง เราอาจจะมองด้วยมุมมองของคนรุ่นเก่า แต่คนรุ่นหลังอาจจะมีมุมมองที่แตกต่างออกไป ผมจึงยกให้นิวตัดสินใจทั้งหมด 100% 

นิว: แต่จริงๆ แล้ว นิวคุยกับคุณพ่อและคุณแม่เยอะมากในแต่ละวัน เพราะเรามองว่าสิ่งที่นิวขาดไปคือเรื่องของ ‘ประสบการณ์’ ซึ่งเราไม่จำเป็นต้องใช้เวลาเท่ากับคนอื่นในการลองผิดลองถูก แต่ว่าเรามี ‘ทางลัด’ มีโค้ชที่ดี ทำให้เราไม่ต้องเสียเวลามากขนาดนั้น 

ผู้บริหารท่านอื่นเราก็คุยกันอย่างสม่ำเสมอ ว่าเราสามารถทำอะไรร่วมกันได้บ้าง อย่างเช่น ขายหัวเราะจะไปร่วมกับ Salmon Podcast ได้ไหม หรือเสริมพลังอะไรกันได้บ้าง มีการ Cross Unit อยู่เสมอ คีย์ของการทำงานของเราคือการสื่อสาร หากเรามีการทำงานกันอย่างใกล้ชิด นิวมองว่าเราจะมีความขัดแย้งน้อยลง และมีประสิทธิภาพมากขึ้น

นอกจากธุรกิจคอนเทนต์บันลือกรุ๊ปมีความคิดที่จะขยายไปทำธุรกิจอื่นบ้างไหม 

นิว: ถ้าในโลกของคอนเทนต์ตอนนี้ เรายังขยายธุรกิจได้อีกมาก แนวทางทั้ง 4 ของเรา เชื่อมได้กับทุกวงการในโลกนี้เลย เราสามารถเล่าเรื่องการแพทย์อย่างเช่นเรื่องโควิดให้มันสนุกสนานและเข้าใจง่าย หรือคอนเทนต์เกี่ยวกับด้านการศึกษาที่จะคอยสร้างทักษะ Future Skill ให้เด็กอินไปกับการเรียนได้

เรายังสามารถใช้คาแรกเตอร์ที่เรามีเป็นสะพานที่สามารถที่จะเชื่อมต่อกับผู้คน ไม่ว่าจะเป็นในเรื่องของการทำมาร์เก็ตติ้ง สาระความรู้ต่างๆ อีกทั้งการเติบโตในเชิงดิ่งของเราก็ยังสามารถที่จะขยายโปรเจกต์ของเราให้ต่อยอดไปได้อีก เพราะตัวละคร ขายหัวเราะ ของเรามีอีกหลายตัวที่จะต่อยอดไปทำงานอย่างอื่นได้อีกมากอย่างหนูหิ่น และ ปังปอนด์ 

บันลือกรุ๊ปไม่ได้จำกัดว่าอยู่แค่มีเดียแล้ว เรายังมีการจัดงานอีเวนต์อีกด้วย ก่อนหน้านี้เราได้จัดอีเวนต์งานวิ่งของขายหัวเราะ ที่มีชื่อว่า ‘ฮาราธอน’ ซึ่งก็เป็นคอนเทนต์รูปแบบหนึ่งที่คนมีประสบการณ์ร่วมจริง เพราะฉะนั้น พอเราขยายว่าเราทำได้หลายอย่าง จักรวาลคอนเทนต์จึงทำได้อีกเยอะมาก เราจึงอยากจะต่อยอดตัวคอนเทนต์ให้แข็งแรงกว้างขวางมากขึ้นกว่าเดิม

การเคลือบคอนเทนต์ด้วยอารมณ์ขัน อาจทำให้ข้อความที่อยากจะสื่อสารถูกบิดเบือนไปหรือเปล่า

นิว: คิดว่าศิลปะอย่างหนึ่งของคนทำคอนเทนต์คือเรื่องของความพอดี ซึ่งเป็นความท้าทายของเราว่าจะหยิบส่วนผสมของความสนุก และสาระ มารวมกันอย่างไรให้มันไปด้วยกันได้ 

แต่ปัจจุบัน เรื่องความรู้และความสนุกไม่ได้ถูกแยกออกจากกันอย่างเด็ดขาดอีกต่อไปแล้ว ในอดีตเราจะคุ้นชินกับการหาความรู้ที่มันต้องมีความจริงจังมากๆ ซึ่งเราได้เอาศาสตร์และศิลป์มาผสมกันเป็น ‘การเล่าเรื่องยังไงให้ Key Message ยังอยู่แต่ยังคงมีความสนุก แต่คนยังเข้าใจในเรื่องนั้นอยู่’ ซึ่งเป็นจุดหนึ่งที่เป็นความท้าทายของเราเหมือนกัน ซึ่งเราต้องการที่จะพัฒนาในเรื่องนี้ให้ดีขึ้นเรื่อยๆ 

บ.ก.วิธิตมองวงการการ์ตูนไทยไว้อย่างไร พร้อมที่จะก้าวไปยังเวทีโลกหรือยัง

บ.ก.วิธิต: ในเรื่องฝีมือการวาด ผมมองว่ามีความพร้อมแล้ว แต่รูปแบบการทำงานของเรามันไม่เหมือนกัน อย่างญี่ปุ่นหรือเกาหลีอุตสาหกรรมเขามีขนาดใหญ่ เขาจะทำงานเป็นทีม คนคิดเรื่อง ทำสคริปต์ และคนวาด จะแยกส่วนกันอย่างชัดเจน ซึ่งเป็นสิ่งที่ทำให้เขาสามารถขายได้ทั่วเอเชียและทั่วโลก แต่สำหรับของเรายังคงมีข้อจำกัดในด้านของต้นทุน แต่พูดถึงฝีมือ สู้ได้แน่นอน

นิว: คุณพ่ออาจจะไม่ทราบ แต่งานในส่วนของนิวอีกอย่างหนึ่งคือการขายลิขสิทธิ์ ทั้งคาแรกเตอร์ของ ขายหัวเราะ และหนังสือในเครือสำนักพิมพ์ต่างๆ ของเราซึ่งมีการขายลิขสิทธิ์ไปต่างประเทศอย่างต่อเนื่อง ยิ่งตลาดจีนให้ความเชื่อถือเราในเรื่องของ Comic Essay มาก หรืออะไรก็ตามที่ใช้ภาพหรือการ์ตูนเล่าเรื่อง เพราะอุปสรรคทางด้านภาษาน้อยกว่าหนังสือด้านอื่น

อย่าง สามก๊ก เราได้มีการขายลิขสิทธิ์ไปที่เกาหลี และยังมีหนังสืออื่นๆ ที่ขายไปได้ในจีนแผ่นดินใหญ่ ไต้หวัน ฮ่องกง เวียดนาม และก็ล่าสุดผลงานการ์ตูนของพี่อาร์ตจีโน่ ที่ออกกับสำนักพิมพ์แซลมอนบุ๊คส์ ก็สามารถขายไปได้ในประเทศที่ใช้ภาษาฝรั่งเศสอย่างเนเธอร์แลนด์ เบลเยียม และฝรั่งเศส โดยทางสำนักพิมพ์ต่างประเทศซื้อไปติดต่อกันถึง 4 เล่ม ล่าสุดการ์ตูน Know COVID รู้ทันโควิด ที่ขายหัวเราะทำร่วมกับองค์การอนามัยโลก (WHO) ก็ได้รับการแปลเป็นภาษาอังกฤษ เมียนมาร์ ลาว และกัมพูชา ด้วย

แล้วทางบันลือกรุ๊ปมีการผลักดันการ์ตูนไทยให้ไปไกลมากกว่านี้อย่างไร

นิว: จริงๆ แล้วมันคือหมุดหมายของเราเลยในการผลักดัน Soft Power ที่เราเชื่อว่าสามารถที่จะสร้างมูลค่าเพิ่ม พัฒนา Creative Economy ของไทยให้เติบโต โดยใช้ทักษะความคิดสร้างสรรค์ อารมณ์ขัน และการวาดการออกแบบ ที่เป็นจุดเด่นของคนไทย เพราะเรามีดีเอ็นเอของความบันเทิง และความคิดสร้างสรรค์สูงมาก 

ตัวบันลือกรุ๊ปก็ได้เป็นผู้ร่วมก่อตั้งของกลุ่ม TICO ที่เป็นคอมมิวนิตีของนักออกแบบ นักวาดภาพประกอบ และเหล่าครีเอเตอร์ในประเทศไทย จะเห็นได้ว่านักวาดภาพประกอบของไทยไม่แพ้ชาติอื่นเลย เหลือแค่การผลักดันให้ก้าวสู่ก้าวต่อไปให้ทัดเทียมกับชาติอื่นได้เท่านั้นเอง ระบบนิเวศของเรายังไม่แข็งแรงพอ แต่ด้วยบันลือกรุ๊ปเป็นเจ้าหลักของการ์ตูนไทยก็อยากที่จะผลักดันให้ไกลที่สุด เราหวังว่า นอกจากเด็กไทยแล้ว สักวันหนึ่งเราก็อยากให้เด็กต่างชาติหันมามองการ์ตูนของเราด้วยความสนุกเหมือนกัน 

จริงๆ แล้ว ขายหัวเราะ ก็พยายามมาหลายปีที่จะให้ทีมนักเขียนของเราทำงานเป็นรูปแบบ Studio ซึ่งก็ไม่ได้ง่ายสำหรับความคุ้นชินเดิม แต่เป็นสิ่งที่เราต้องทำและเหมาะกับการทำงานในระยะยาว สำหรับขายหัวเราะ เราได้เพิ่มทีม Humour Creative เพื่อช่วยนักเขียนในการทำงาน ในด้านความคิดเพื่อดู Data และดู Trend ให้นักเขียนทำงานได้สะดวกมากขึ้น

แต่หากเทียบกับชาติอื่นๆ เขาได้รับการสนับสนุนจากฝั่งของภาครัฐมากๆ ตอน ปังปอนด์ เปิดตัวแรกๆ ทางประเทศจีนให้ความสนใจและเชิญเราไป เขาสร้างหุ่นปังปอนด์ขนาดตึกสามชั้นเป็นการแสดงไมตรีจิต และต้องบอกได้ว่ามัน ‘ไม่คราฟต์’ เอาเสียเลย แต่เขาเรียนรู้จากเราด้วยความรวดเร็วผ่านไปไม่กี่ปี ด้วยการสนับสนุนของภาครัฐที่ให้รายการการ์ตูนต้องเป็นการ์ตูนที่ผลิตจากผู้ผลิตภายในประเทศเท่านั้น ให้สัดส่วนชาวต่างชาติเพียงแค่ 15% เท่านั้น 

ด้วยการส่งเสริมแบบนี้ทำให้อุตสาหกรรมของเขาเติบโตอย่างก้าวกระโดด เพราะของแบบนี้มันยิ่งทำยิ่งเก่ง วันนี้เราหันไปมองเขา เขาเก่งกว่าเราอย่างมาก เราก็คาดหวังว่าถ้าวันหนึ่งเราได้รับการสนับสนุนจากภาครัฐ สักวันหนึ่งเราจะมีตัวการ์ตูนที่สร้างแรงบันดาลใจให้เด็กๆ ทั้งไทยและต่างชาติได้บ้าง เช่น ทำให้เด็กๆ รักฟุตบอลได้เหมือน กัปตันซึบาสะ 

อยากทราบทรรศนะของคุณต่อวงการการ์ตูนแก๊กของประเทศไทย ในฐานะที่เป็นผู้มาก่อนกาล

นิว: การ์ตูนแก๊กในปัจจุบันมืความหลากหลายขึ้นมากจากในอดีต ทั้งตัวรูปแบบและทางมุข อารมณ์ขันในปัจจุบันก็หลากหลายขึ้นและเฉพาะกลุ่มขึ้นด้วย เทคโนโลยีแพลตฟอร์มต่างๆ เองก็มีผล เพราะแต่ละแพลตฟอร์มจะมีความเหมาะกับแก๊กต่างประเภทกัน เช่น แก๊กในหนังสือการ์ตูนจะเน้นความหลากหลาย อ่านเพลินต่อเนื่อง แต่ในโซเชียลมีเดีย จะเน้นแก๊กกระชับที่การมีส่วนร่วมของผู้อ่านเป็นพิเศษ เช่น คอมเมนต์หรือแชร์ เพราะฉะนั้นจึงเหมาะกับแก๊กกระแส แก๊กที่คนอินในขณะนั้น และเป็นแก๊กที่เข้าใจได้ง่าย จับความสนใจผู้คนได้ทันทีในแว็บแรกของวินาทีที่คนอ่านไถนิ้วไปถึง 

อย่าง ขายหัวเราะ เอง ตัวแก๊กในหนังสือการ์ตูนก็หลากหลายและพัฒนาขึ้นจากตอนเริ่มต้นมากๆ มีการปรับตัวตามความชอบคนอ่าน การทดลองเล่นสนุกของทีมนักเขียน และการขยายแพลตฟอร์มของเรา ด้วยความที่ปัจจุบันเรามีช่องทางหลากหลาย ทำให้การเล่าแก๊กของเราหลากหลายตามไปด้วย

อย่างใน TikTok ของขายหัวเราะ ก็มีการนำเสนอแก๊กที่แปลกใหม่ไม่ซ้ำกับใครเลย แม้จะเป็นแก๊กสามช่องที่เคยเล่นมาแล้วในหนังสือการ์ตูน เพราะมีเรื่องของจังหวะ การตัดต่อ การขยับแอนิเมชัน และดนตรีเข้ามาด้วย ทำให้ตอนนี้ TikTok ขายหัวเราะได้รับความนิยมและเติบโตอย่างรวดเร็วจนเป็นที่จับตามองมาก แม้จะเป็นแก๊กเดียวกันแต่ถ้าถูกเล่าผ่านช่องทางที่ต่างกัน ก็ทำให้รูปแบบการนำเสนอและอารมณ์ที่ได้ต่างกันด้วย การเลือกนำเสนอ พลิกแพลง และผสมผสานแต่ละช่องทางอย่างสร้างสรรค์ จึงเป็นงานที่สนุกและท้าทายสำหรับเรา

อีกจุดที่ต่างคือ ในอดีตมันยากมากที่แก๊กจะกลายเป็นมีม (Meme) ได้ เนื่องจากเป็นการสื่อสารจากนักวาดทางเดียว ซึ่งต้องทำให้โดนใจตลาดและผลิตซ้ำจนกลายเป็นภาพจำให้ได้ ซึ่ง ขายหัวเราะ เองมีมีมที่เป็นเอกลักษณ์และเป็นจุดเด่นของแบรนด์มากมาย เนื่องจากเราโชคดีที่แฟนๆ ให้การตอบรับแก๊กของเราอย่างดี จดจำแก๊กที่นักเขียนชอบแซว อินและสนุก เปิดโอกาสให้นักเขียนมีกำลังใจเอามาล้อแซวบ่อยๆ และนักเขียนขายหัวเราะก็สนุกในการแซวแก๊กล้อกันไปมาร่วมกับนักเขียนท่านอื่นด้วย

หลายๆ แก๊กเหล่านั้นกลายเป็นภาพจำของ ขายหัวเราะ โดยเฉพาะ ซึ่งแก๊กและตัวละครที่เป็นมีมของ ขายหัวเราะ หรือที่แฟนๆ รู้จักกันในชื่อ ‘แก๊กคลาสสิก’ เช่น แก๊กติดเกาะ หลงทางกลางทะเลทราย โจรมุมตึก หรือตัวคาแรกเตอร์เช่น มนุษย์เมีย เทพารักษ์ หรือตัว บ.ก. และนักเขียนเอง ก็ถูกล้อแซวใน ขายหัวเราะ จากอดีตจนถึงปัจจุบันทั้งนั้น

ในยุคปัจจุบัน มีมนั้นเกิดง่ายขึ้นมาก เนื่องจากทุกคนทั้งนักวาดและคนอ่าน สามารถช่วยกันผลิตซ้ำมีมได้สะดวกและรวดเร็วขึ้นมากด้วยการช่วยโพสต์หรือแชร์ ซึ่งเป็นพลังของหลายคนช่วยๆ กันทำให้เกิดมุขๆ หนึ่งขึ้น ไม่ได้มาจากนักวาดฝั่งเดียวอีกต่อไป แต่ในขณะเดียวกันมีมแบบนี้ก็กลายเป็นทรัพย์สินสาธารณะเช่นกัน หมายความว่าใครๆ ก็สามารถเล่นได้ ไม่ได้เป็นจุดเด่นของนักวาดคนใดเป็นพิเศษ ซึ่งอาจทำให้มีมนั้นอายุยาวขึ้นหรือสั้นขึ้น จะเฉพาะกลุ่มมากหรือเป็นที่แพร่หลายมากก็เป็นไปได้เหมือนกัน

การ์ตูนแก๊กในอดีตและปัจจุบัน มีรูปแบบและจุดแข็งแตกต่างกันไปตามกาลเวลา แต่ไม่ว่าจะเป็นแบบไหน ขายหัวเราะเชื่อว่าแก๊กต่างๆ ของ ขายหัวเราะ ก็จะมีวิวัฒนาการต่อไปได้อีกหลากหลายมาก ตราบใดที่รสนิยมของคนอ่านและเทคโนโลยีไม่หยุดนิ่ง แก๊กของเราก็จะไม่หยุดนิ่งเช่นกัน เราเชื่อในพลังของความคิดสร้างสรรค์ว่าไม่มีขีดจำกัด การปรับตัวและความหลากหลายก็เป็นสิ่งสำคัญที่เราให้คุณค่า ถ้าเราอยากให้วงการการ์ตูนของเราเติบโตได้อย่างยั่งยืน

แนวทางการใช้ตัวการ์ตูนในเชิงการศึกษาให้ความรู้เริ่มได้อย่างไร

นิว: เราเริ่มแนวทางนี้มานานแล้ว แต่คนอื่นอาจจะยังไม่เห็นชัด อย่าง สามก๊ก หรือ รามาวาตาร หลังๆ จะมีการเล่าเรื่องที่แทรกสาระเข้าไปมากขึ้น เพราะเราให้ความสำคัญกับเรื่องของ ‘การเรียนรู้ตลอดชีวิต’ เรามองว่าต่อไปทุกคนบนโลกต้องการที่จะเรียนรู้ไปตลอดชีวิตเท่านั้น 

เพราะฉะนั้นการ์ตูนของเราจะมีการสื่อสารทั้งเรื่องของความรู้ และการสร้าง Growth Mindset เข้าไปด้วย แต่จะมีความสนุกเข้ามาบาลานซ์ อย่างเช่น มหาสนุก Happy Learners เป็นการ์ตูนที่เราจะเสริมสร้าง Future Skill ให้กับเด็กๆ หรือผู้อ่านโดยเฉพาะ มีกลุ่มเป้าหมายเป็นเด็กประถม เพราะเราเชื่อว่าถ้าทุกคนได้รับสื่อที่รู้สึกว่าเขาแฮปปี้ และยินดีที่จะเรียนรู้ เขาก็จะเกิดการเรียนรู้ได้อย่างมีความสุข

การทำงานของบันลือกรุ๊ปยุคนี้ต้องการที่จะสลัดภาพจำเดิมของบรรลือสาส์น ไปอย่างไร

นิว: ไม่ได้คิดว่าเราจะต้องสลัดภาพลักษณ์ของ ขายหัวเราะ เดิมออกไป เพราะมันคือจุดเริ่มต้นที่คุณพ่อก่อตั้งมา ที่สำคัญคือเป็นแบรนด์ที่แฟนๆ รัก ที่เติบโตมาด้วยกัน คิดว่ายังคงเป็นสิ่งที่เรายังรักษาต่อไป แต่สิ่งที่อยากทำมากขึ้นคือการที่เราจะต่อยอดให้เติบโตมากขึ้น โดยการทำให้แบรนด์ทุกแบรนด์ของเรามีความใกล้ชิดกับคนอ่าน เป็นความบันเทิงที่ร่วมสมัย เข้าถึงกลุ่มคนทุกเพศทุกวัย และจะเป็นบริษัทคอนเทนต์ที่สร้างความบันเทิงให้กับคนไทยตั้งแต่วินาทีที่เขาเกิดมา จนถึงช่วงเวลาที่เขาเติบโตขึ้น จนครบช่วงเวลาชีวิตของเขา

สิ่งที่คุณพ่อดีใจที่สุดไม่ใช่การที่มีคนมาบอกว่า ขายหัวเราะเก่งอย่างนู้นอย่างนี้ แต่เป็นการที่คนอื่นเข้ามาบอกกับเขาว่า ‘ขอบคุณที่ ขายหัวเราะ  ทำให้เขากลายเป็นคนรักการอ่าน’ ทำให้เรามีกำลังใจในสร้างความสุขต่อไปเรื่อยๆ 

แล้วทาง บ.ก.วิธิตมีความคาดหวังอย่างไรต่อผู้บริหารรุ่นใหม่อย่างลูกสาวของคุณบ้าง

บ.ก.วิธิต: สำหรับผมคงไม่ได้มีการตั้งความคาดหวัง เพราะเชื่อว่าตัวนิว เองก็สามารถทำได้ดีอยู่แล้ว เพราะเขารู้ว่าตัวเองกำลังทำอะไร รู้ว่าอะไรที่ควรทำและไม่ควรทำ

อาจจะต้องให้เขาลดความคาดหวังของตัวเองลงไปเสียด้วยซ้ำ เพราะทุกวันนี้เขาทำมาตรฐานไว้ได้ดีเกินไปมาก และภูมิใจที่ได้เห็นบันลือกรุ๊ปยุคใหม่ภายใต้การบริหารงานของลูกสาวตัวเอง

Tags: , , , , , ,