ย้อนกลับไปเมื่อหลายสิบปีที่แล้ว ฟังก์ชันของงานศิลปะหรือสถานที่จำพวกอาร์ตแกลเลอรี น่าจะจำกัดอยู่แค่เพื่อ ‘ความสวยงาม’ หรือ ‘จรรโลงใจ’ เป็นหลัก นั่นจึงทำให้ศิลปะเป็นเรื่องของคนในแวดวงและเจาะจงจำเพาะกลุ่มเท่านั้น
อย่างไรก็ดี ปัจจุบันกำแพงดังกล่าวด้วยถูกทลายลงตามความคิดของผู้คนที่มอง
เรื่องของศิลปะเป็นอุตสาหกรรมประเภทหนึ่ง ซึ่งสามารถถ่ายทอดความสร้างสรรค์ออกมาได้ทุกแง่มุม ทั้งชีวิตผู้คน แนวคิดปรัชญา ปัญหาสิ่งแวดล้อม และอื่นๆ อีกมากมาย แม้กระทั่งเรื่องของการเมือง ที่ครั้งหนึ่งเคยเป็นเส้นขนานของกันและกัน
ดังเช่นที่เทศกาลศิลปะร่วมสมัยนานาชาติ หรือบางกอก อาร์ต เบียนนาเล่ (Bangkok Art Biennale) เริ่มต้นทำตั้งแต่ปี 2018 ที่นอกจากจะเป็นเวทีแสดงผลงานจากเหล่าศิลปินมากฝีมือ ขณะเดียวกันยังเป็นหมุดหมายสำคัญในการผนวก ‘ความเป็นเมือง’ กับ ‘วัฒนธรรม’ เข้ากับศิลปะ ตามรอยต้นกำเนิดเทศกาลศิลปะระดับโลกอย่าง เวนิส เบียนนาเล่ (Venice Biennale) ที่จัดขึ้นครั้งแรกเมื่อปี 1895 ณ เมืองเวนิส ประเทศอิตาลี
ในปีนี้ บางกอก อาร์ต เบียนนาเล่ กำลังจะก้าวสู่การจัดงานครั้งที่ 4 เราจึงถือโอกาสชวนศาสตราจารย์ ดร.อภินันท์ โปษยานนท์ ประธานอำนวยการและผู้อำนวยการศิลป์ บางกอก อาร์ต เบียนนาเล่ มาย้อนรอยถึงความสำเร็จเทศกาลศิลปะร่วมสมัยนี้ และเป้าหมายต่อไปในอนาคต ที่กำลังจะไปเยือนต้นกำเนิดเบียนนาเล่อย่างเมืองเวนิส รวมถึงประเด็นการยกระดับวงการศิลปะไทยสู่ Creative Economy
นับตั้งแต่การจัดงานบางกอก อาร์ต เบียนนาเล่ ครั้งแรกเมื่อปี 2018 จนถึงครั้งล่าสุดเมื่อปี 2022 ในสายตาของคุณการจัดงานแต่ละครั้งที่ผ่านมามีพัฒนาการหรือความแตกต่างกันอย่างไรบ้าง
ตอนที่เราจัดครั้งแรก เราอยู่ในยุครัฐบาลของคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) บรรยากาศก็มีทั้งการต่อต้าน มีทั้งการเสนอแนวความคิดที่หลากหลายแตกต่างกันไป ซึ่งวงการศิลปะเราเองก็ทราบกันดีว่า ศิลปินต้องการอิสระในการแสดงออก เพราะฉะนั้นก็จะมีเนื้อที่สื่อถึงเรื่องการเมืองกับสังคม
ต้องบอกว่า บางกอก อาร์ต เบียนนาเล่ก่อตั้งขึ้นมาก่อนเมื่อปี 2017 ในนามของมูลนิธิ โดยมีนโยบายที่อยากจะทำให้กรุงเทพมหานครเป็นพื้นที่หรือปลายทางสำคัญ สำหรับผู้ที่มาเยือนประเทศไทยและสนใจมาดูศิลปะนานาชาติ แต่ขณะเดียวกันก็เป็นที่ที่พร้อมเปิดโอกาสให้ศิลปินได้แสดงออกผลงาน ไม่ใช่แค่ศิลปินที่มีชื่อเสียงอยู่แล้ว แต่รวมไปถึงศิลปินหนุ่มสาวดาวรุ่งที่พร้อมจะแจ้งเกิด ขณะเดียวกัน เราก็ดึงศิลปินต่างชาติเข้ามาร่วมงานด้วย เช่น ยาโยอิ คุซามะ (Yayoi Kusama) หรือโยชิโตโมะ นาระ (Yoshitomo Nara) เหล่านี้เป็นศิลปินที่มีชื่อเสียงและสามารถสร้างกระแสให้กับบางกอก อาร์ต เบียนนาเล่
สำหรับหัวเรื่องของบางกอก อาร์ต เบียนนาเล่ ครั้งที่ 1 มีชื่อว่า Beyond Bliss สุขสะพรั่ง พลังอาร์ต ที่หมายถึงความสุขสะพรั่งจากงานอาร์ต ขณะที่ครั้งที่สองใช้ชื่อว่า Escape Routes ศิลป์สร้างทางสุข ที่หมายถึงการหาทางออกด้วยการค้นคว้าและการหาอิสรภาพ แต่ในเวลาเดียวกันพอโควิด-19 มาทำให้ทุกอย่างเปลี่ยนแปลงไปหมด หลายๆ คนต้องปรับสถานภาพการงาน การเงิน การใช้ชีวิต ขณะเดียวกันมหกรรมต่างๆ ทั่วโลกถ้าไม่เลิกก็เลื่อนจัด แต่เรามองว่า การที่เราตั้งไว้ว่าจะต้องจัดทุกๆ 2 ปี ทำให้เราตัดสินใจลุยต่อดีกว่า ลุยไปทั้งๆ ที่การเดินทางยากลำบาก งานสามารถจัดได้แต่ก็มีแค่คนในประเทศที่เข้ามาดู
ขณะเดียวกัน การจัดงานครั้งที่สองก็มีเรื่องของ ‘ศิลปะ’ และ ‘ความสงบ’ เข้ามาเกี่ยวข้อง สอดคล้องกับแนวคิดของเราที่วางเส้นทางการจัดงานไว้ เช่น วัดโพธิ์กับวัดประยุรวงศาวาสวรวิหาร ที่เป็น River Routes หรือ City Routes ที่ประกอบด้วยหอศิลป์กรุงเทพฯ กับวัน แบงค็อก เหล่านี้เราจะจัดกระจายไปทั่วพื้นที่ต่างๆ ของ กทม.
ยกตัวอย่างผลงานประติมากรรมขนาดสามตันครึ่ง โดย อนิช กาปูร์ (Anish Kapoor) ที่นำไปจัดแสดงไว้บนศาลาการเปรียญ วัดโพธิ์ ก็สามารถดึงดูดผู้ชมได้จำนวนมาก ขณะเดียวกันก็เป็นการตั้งคำถามว่า แท้จริงศิลปะเยียวยาจิตใจผู้คนได้ไหม ศิลปะอยู่กับชีวิตเราได้หรือเปล่า ทั้งหมดนี้เป็นการเปิดโอกาสในแง่มุมใหม่ๆ ระหว่างคนกับศิลปะ และแสดงให้เห็นว่ามรดกวัฒนธรรมสามารถผนวกกับศิลปะร่วมสมัยได้อย่างไร
และล่าสุดกับปี 2022 ที่ใช้ชื่อหัวเรื่องว่า CHAOS : CALM โกลาหล : สงบสุข ที่พูดถึงความวุ่นวายกับความสงบ ซึ่งมียอดคนดูเข้างานตลอดสี่เดือน มากกว่าหนึ่งล้านคน
ดังนั้น จะเห็นว่าธีมเรื่องจากครั้งที่หนึ่งถึงครั้งที่สามมีความสอดคล้องกันมาตลอด ในขณะเดียวกันเราก็เรียนรู้ และพัฒนาจากประสบการณ์ที่ผ่านมา จากตอนแรกที่คนดูไม่เข้าในว่า อะไรคือบางกอก อาร์ต เบียนนาเล่ บางคนคิดว่าเป็นเทศกาลเบียร์เสียด้วยซ้ำ (หัวเราะ)
แต่ตอนนี้ผู้คนเข้าใจเรามากขึ้น ส่วนหนึ่งเพราะจัดอย่างต่อเนื่อง กับอีกส่วนหนึ่งเพราะภาษาศิลปะที่เราใช้ กับอีกกรณีหนึ่งนั่นคือการใช้เครื่องมือประเภท Virtual Reality (VR) หรือ Augmented Reality (AR) เพื่อสร้างปฏิสัมพันธ์โดยเฉพาะกับกลุ่มคนดูรุ่นใหม่ให้รู้สึกสนุกไปกับการดูงานศิลปะ
นั่นยังรวมไปถึงการจัดพื้นที่ให้ศิลปินได้แสดงความสามารถต่อหน้าคนดูหลายวันต่อเนื่อง อย่าง มารีน่า อบราโมวิช (Marina Abramović) ที่ขึ้นชื่อในด้านนี้ก็เคยมาแสดง และส่งลูกศิษย์หลายรายมาร่วมงานกับเรา
จากที่ฟังเหมือนการจัดงานแต่ละครั้งมีขนาดที่ใหญ่โตขึ้นเรื่อยๆ อยู่ตลอด
เราจะพยายามสร้างงานในขนาดที่ไม่ใหญ่จนเกินไป แต่ดูเหมือนทุกครั้งก็ใหญ่กว่าเดิมจริงๆ นั่นแหละ (หัวเราะ) เพราะว่าศิลปินทุกคนก็อยากมาร่วมด้วย ทำให้การเปิดรับสมัครศิลปินที่จะเข้าร่วม ที่เราเปิดแบบ Open Call ต้องมีทีมภัณฑารักษ์ร่วมคัดเลือก
อย่างปี 2022 มีศิลปินจากทั่วทุกมุมโลก ทั้งจากแอฟริกา อเมริกาใต้ ออสเตรเลีย ศรีลังกา ฯลฯ สมัครเข้ามารวมกว่า 700 คน ก่อนจะคัดออกเหลือแค่ 15 คน โดยรวมแล้วถือเป็นโอกาสที่ดี ที่เราจะได้เห็นงานใหม่ๆ จากศิลปินมากฝีมือที่แอบซ่อนอยู่ ไปพร้อมกับแลกเปลี่ยนวัฒนธรรมกับพวกเขา
ที่น่าสนใจ คือบางกอก อาร์ต เบียนนาเล่ เลือกที่จะไม่เซนเซอร์ผลงานของศิลปินที่เข้าร่วม เหตุใดถึงตัดสินใจเช่นนั้น?
ในสังคมปัจจุบัน วัฒนธรรมการเซนเซอร์ผลงานตัวเองในวงการศิลปะมีอยู่ทั่วไป ด้วยความหวังที่ว่าจะเพิ่มโอกาสในการจัดแสดง การหวังที่จะได้ทุน ดังนั้น การเซนเซอร์ตัวเองก็เพื่อได้เข้าไปอยู่ในกรอบ ในลู่ที่ใครก็ตามตั้งไว้
เพียงแต่เรามองกลับกัน เรามองว่าควรเปิดช่องให้มีการแสดงออก เพราะเราเคารพสิทธิของศิลปิน ไม่ว่าจะเป็นเรื่อง Gender, Transgender หรือเรื่องปัญหาการเมืองที่มีความละเอียดอ่อนเองก็ตาม โดยที่ให้สังคมเห็นว่า เราให้โอกาสแต่ก็ไม่ได้อยู่ข้างใดข้างหนึ่ง เพราะถ้าเราเซนเซอร์ก็จะเกิดคำวิพากษ์วิจารณ์ทั้งจากสังคมและศิลปินว่า เราไม่ใช่หน่วยงานภาครัฐ แล้วทำไมถึงยังมาเซนเซอร์เขาอีก
สำหรับคุณ ศิลปะสามารถ ‘เยียวยาจิตใจ’ ได้จริงๆ หรือเปล่า
ผมมองว่าเป็นเรื่องของปัจเจก เปรียบเหมือนยาโดสนี้ใช้ได้กับคุณหรือเปล่า การเยียวยาด้วย ‘ศิลปะบำบัด’ (Art Therapy) ก็เป็นอีกหนึ่งวิธีรักษาจิตใจเช่นกัน ไม่ว่าจะดูงานศิลปะ ฟังเพลง หรืออะไรก็ตามที่ทำให้เกิดความสงบ
ยกตัวอย่างเมื่อปี 2022 กับกรณีของ อริญชย์ รุ่งแจ้ง ที่เสนอว่า เขาอยากจะทำเรื่องของสังคมซึ่งเกี่ยวข้องกับกลุ่มทะลุฟ้า เราก็บอกโอเค งั้นมาทดลองทำกัน และผลสุดท้ายก็ทำออกมาสำเร็จในรูปแบบงาน Video Installation เล่าถึงบทสัมภาษณ์เด็กกลุ่มนั้นว่าเขารู้สึกอย่างไร เพราะสังคมไม่เคยถามความรู้สึกของพวกเขาเลย มีแต่ถูกสังคมตีกรอบ เพราะว่าเขาใช้ชื่อกลุ่มแบบนี้ ดังนั้นในวิดีโอเราจะได้เห็นเด็กกลุ่มนี้แสดงออกถึงสิ่งที่เขาคิด สิ่งที่เขาเผชิญ ว่าอะไรทำให้เขารู้สึกนึกคิดอย่างที่เราเห็น ขณะเดียวกันเราก็เชิญเด็กในกลุ่มมาร่วมงานเพื่อพูดคุยกับคนดู
บางคนอาจจะบอกว่านี่ไม่ใช่งานศิลปะ แต่สำหรับอริญชย์ เขามองว่านี่คือสื่อในการสื่อสารไปยังทุกฝ่ายได้เข้าใจเด็กเหล่านี้มากขึ้น และเด็กเหล่านี้ก็จะได้มีโอกาสส่งสารไปถึงสังคม นับเป็นการบริหาร ‘ความเสี่ยง’ ไปพร้อมกับศิลปะ แต่สุดท้ายก็บริหารออกมาได้ด้วยดี
แม้จะมีคำชื่นชม แต่ขณะเดียวกันสังคมก็ตั้งคำถามโดยเฉพาะการจัดงานศิลปะที่เกี่ยวข้องกับเมืองว่า สุดท้ายแล้วสังคมได้อะไรกลับไป ในประเด็นนี้คุณคิดเห็นเช่นไร
ที่เราเห็นมีปัญหาคือรูปแบบวิธีการจัดงาน อย่างต่างประเทศเช่นในเมืองมิลานเขาจัดเต็มทุกอย่าง แต่ของบ้านเราเน้นแค่แสง สี เสียง แล้วดีไซน์วีก (Design Week) เปิดให้คนถ่ายภาพเซลฟี ขณะเดียวกันผู้จัดไม่ได้แสดงตัวตนอย่างจริงจัง แต่เป็นห้างร้านหรือองค์กรเอกชนที่ออกมาโชว์พลังเสียมากกว่า นั่นมาสู่คำถามของผู้คนในละแวกนั้นว่า เขาได้อะไร ชีวิตเขาดีขึ้นตรงไหนบ้าง
ผมมองว่าการถูกวิพากษ์วิจารณ์บางครั้งก็เป็นสิ่งดี เพื่อที่คนจัดอย่างเราจะได้นำไปพัฒนาให้ดีขึ้น เพื่อคำนึงถึงการต่อยอดสู่คุณภาพชีวิตคน ทั้งในชุมชนหรือย่านนั้นๆ ก็ตาม พูดเหมือนง่ายแต่เวลาทำก็เจออุปสรรค
ในกรณีของบางกอก อาร์ต เบียนาเล่ ที่เราเข้าไปขอใช้พื้นที่ในชุมชนกะดีจีน กับ ชุมชนวัดประยุรวงศาวาส วรวิหาร ซึ่งตรงนั้นเป็นแหล่งหลากหลายทางวัฒนธรรม มีทั้งคนจีน คริสต์ และพุทธ เราก็ต้องทำความเข้าใจกับผู้คนในชุมชนกับวัดว่า เรามาทำอะไร และเมื่อเราร่วมงานกับพื้นที่นั้นต่อเนื่องคนในละแวกก็จะยิ่งเข้าใจเรามากขึ้น จนกลายเป็น Community Based ที่เกื้อกูลกันและกัน
ในปี 2024 นี้ ถือเป็นช่วงสุกงอมของบางกอก อาร์ต เบียนนาเล่ ที่จะได้ไปเฉิดฉายในต้นกำเนิดเทศกาลเบียนนาเล่ ที่เมืองเวนิส ประเทศอิตาลี
มหกรรมเวนิส เบียนนาเล่ ถือเป็นมหกรรมที่มีเสน่ห์และสำคัญที่สุดของโลก ที่เริ่มต้นขึ้นตั้งแต่ปี 1895 ความหมายของคำว่าเบียนนาเล่นอกจากที่แปลตรงตัวในภาษาอิตาลีว่า ‘ทุกๆ สองปี’ อีกนัยหนึ่งยังเป็นการใช้ศิลปะขับเคลื่อนสังคมและเศรษฐกิจ หรือ ที่ในสมัยนี้นิยมเรียกว่า Creative Economy
ย้อนกลับไปปี 2017 เราไปแถลงข่าวที่เวนิสว่า ประเทศเรากำลังจะจัดบางกอก อาร์ต เบียนนาเล่ ส่วนหนึ่งเพราะเราชื่นชมเวนิสที่มีความคล้ายกับกรุงเทพฯ ซึ่งถูกยกให้เป็นเวนิสแห่งตะวันออก ถึงตรงนี้เราเลยอยากเล่นการปฏิสัมพันธ์ระหว่างสองเมืองนี้ว่า มีความคล้ายหรือภาพทับซ้อนกันอย่างไร
ขณะเดียวกันเราไม่ได้ไปในนามของประเทศไทยเพียงอย่างเดียว แต่เรายังไปในนามตัวแทนของภูมิภาคอาเซียน โดยสถานที่ที่เราได้จัดแสดงจะอยู่ติดกับ Grand Canal Venice ซึ่งเป็นพื้นที่คลองที่สวยงามากของเวนิส โดยเราจะมีงานจัดแสดงที่มาจากประเทศลาว กัมพูชา เวียดนาม สิงคโปร์ มาเลเซีย อินโดนีเซีย และฟิลิปปินส์
ผมว่านี่เป็นความแปลกใหม่ เพราะส่วนใหญ่งานจัดแสดงที่เกิดขึ้นในเวนิสจะเน้นเป็นของประเทศนั้นๆ แต่ครั้งนี้เป็นการรวมไปเป็นกลุ่ม ซึ่งศิลปินจากประเทศเล็ก เช่นลาว เขารู้สึกเป็นเกียรติและดีใจมาก เพราะหากเขาอยู่ในประเทศเขาจะไม่มีวันได้แสดงผลงานแบบนี้
สาเหตุหลักที่บางกอก อาร์ต เบียนนาเล่ ชักชวนศิลปินจากชาติอาเซียนมาร่วมงานดังกล่าว เพราะคุณมองว่าภูมิภาคนี้รุ่มรวยไปด้วยมรดกวัฒนธรรม ซึ่งสอดคล้องกับเรื่องของศิลปะ
ใช่ เรามองว่าความมีวัฒนธรรมร่วมในหลายๆ ประเพณี แม้หลายคนจะมองว่าเราทะเลาะกันเรื่องมรดกวัฒนธรรมร่วมมาตลอด ดังกรณีไทยกับกัมพูชา ส่วนหนึ่งที่เกิดกระแสดังกล่าว เพราะบ้านเขาต้องการปลุกความเป็นชาตินิยมในช่วงที่มีการหาเสียงเลือกตั้ง
อย่างไรก็ตาม เรามองว่าความเป็นวัฒนธรรมร่วมสามารถแบ่งปันกันได้ เพื่อนำไปสู่การนำเสนอผลงานที่น่าสนใจ แต่ในเวลาเดียวกันเราก็ตั้งคำถามกับตัวเองว่า เราเข้าใจในตัวเพื่อนบ้านมากแค่ไหน ในเมื่อเราถูกหล่อหลอมให้มองบรรดาชาติตะวันตกในฐานะประเทศที่พัฒนาแล้ว แต่เรากลับไม่ค่อยมองส่วนที่อยู่ใกล้เรา แต่เมื่อเราหันมามองซึ่งกันและกัน จะเห็นว่าเราต่างมีอะไรมากกว่าที่คิด ซึ่งตรงกับธีมของเวนิส เบียนนาเล่ครั้งนี้ที่ใช้คำว่า Foreigners Everywhere มีความหมายสื่อถึงคนต่างชาติที่หลั่งไหลเข้ามาในเวนิส
เพราะขณะเดียวกันเราและเพื่อนบ้านอาเซียนต่างก็เป็น Foreigners Everywhere ของกันและกัน นี่จึงเป็นโอกาสที่เราจะได้ทำงานและเรียนรู้พวกเขามากยิ่งขึ้น จากการทำงานกับเพื่อนบ้านเหล่านี้
ช่วยเล่าถึงผลงาน ‘The Spirits of Maritime Crossing: วิญญาณข้ามมหาสมุทร’ ที่เป็นไฮไลต์สำคัญ ที่บางกอก อาร์ต เบียนนาเล่ จะนำไปเผยแพร่ในงานดังกล่าวให้เราฟังหน่อย
The Spirits of Maritime Crossing คือหนังสั้นความยาว 30 นาที ที่ได้ มารีน่า อบราโมวิช มาเป็นนักแสดงนำ ซึ่งในเนื้อหาสื่อถึงความเชื่อมโยงระหว่างกรุงเทพฯ กับเวนิส
เนื้อหาในเรื่องเล่าถึงดวงวิญญาณดวงหนึ่ง (แสดงโดย อบราโมวิช) ที่ลอยขึ้นมาจากสุสานที่เวนิส ก่อนจะล่องลอยไปตามสถานที่สำคัญต่างๆ ในเมืองดังกล่าว จากนั้นจึงมาโผล่ที่ท่าเตียน ในกรุงเทพฯ ซึ่งระหว่างการเดินทาง ดวงวิญญาณดวงนั้นจะแสวงหาสิ่งสำคัญบางอย่าง โดยมีคนชี้เบาะแสซึ่งเป็นบุคคลที่เธอเจอระหว่างทาง เช่น นักแสดงหนังตะลุงที่นำทางเธอไปเจอ ‘เจ้าวานร’ ที่แสดงโดย พิเชษฐ์ กลั่นชื่น
โดยเจ้าวานรจะนำทางเธอต่อไปยังวัดแขก, วัดเล่งเน่ยยี่, โรงสักยันต์ และจบลงที่วัดโพธิ์ โดยวิญญาณนี้จะค้นพบว่าตัวเองเป็นใครและรู้ว่าตัวเองได้ตายไปแล้วจากการบอกของเจ้าอาวาสวัดโพธิ์ ผลสุดท้ายวิญญาณก็จะกลับไปยังจุดเริ่มต้นซึ่งก็คือเวนิส
จากที่เล่าน่าจะพอคาดเดาบรรยากาศได้ว่ามีความเหนือจริง ออกแนวความฝัน แต่กระบวนการทำงานมีความยากลำยากอยู่พอสมควร อย่างตัวมารีน่าเขาเป็นคนที่ใส่ใจกับทุกรายละเอียด ทำอะไรจะต้องเป๊ะ แม้ตอนนั้นจะอายุ 74 ปีแล้วก็ตาม
โดยช่วงที่เราถ่ายทำมาริน่าเองก็มีอาการบาดเจ็บเพิ่งไปผ่าตัดเข่ามา แต่เธอก็แสดงสปิริตพยายามซ้อมคิวตลอด มีฉากหนึ่งที่เธอจะต้องนั่งเพ่งมองตัวเธอเองในกระจกร่วมกับตัวละครของพิเชษฐ์ กลั่นชื่น พอเธอซ้อมหลายเทกเก้าอี้ที่ใช้ในฉากก็ถึงกับหัก เราก็เลยเก็บเก้าอี้นี้ไว้ในฐานะบันทึกประวัติศาสตร์
แม้แต่เรื่องของการออกกองตามสถานที่ถ่ายทำต่างๆ ก็เป็นเรื่องยาก อย่างตอนเราไปถ่ายที่วัดแขก เจ้าหน้าที่เขาก็ถามว่าเรามาทำไม ด้านในวัดกำลังมีพิธีอยู่ อย่างวัดโพธิ์เราก็ต้องเข้าไปถ่ายทำในช่วงที่ไม่มีนักท่องเที่ยว และก็ต้องบินไปถ่ายที่เวนิส ซึ่งต้องไปถ่ายแบบกองโจร ใช้คนแค่ 4-5 คน จนถูกตำรวจจับที่มหาวิหารซานมาร์โค (San Marco) เพราะเขาเห็นเราลับๆ ล่อๆ แถมเป็นคนเอเชียอีก (หัวเราะ)
ไหนจะตอนตัดต่อที่มารีน่าเขาดูรายละเอียดทุกซีน ถ้าเธอไม่ชอบก็ต้องถ่ายทำใหม่ รวมเบ็ดเสร็จใช้เวลาถ่ายทำ 10 วัน แต่ความจริงเราเตรียมการหนังสั้นเรื่องนี้มาตั้งแต่ก่อนจะมีโควิด-19 เสียด้วยซ้ำ
เบื้องต้นเราเปิดตัวหนังสั้นเรื่องนี้แล้วที่งานเทศกาลศิลปะในเซนต์มอริส (St. Moritz) ประเทศสวิตเซอร์แลนด์, ฮ่องกง และที่สามย่านมิตรทาวน์ กรุงเทพฯ ก่อนจะไปแสดงตลอด 8 เดือนที่เวนิส
ที่น่าสนใจ คือ ณ เวลานี้ การจัดงานเทศกาลศิลปะไม่ใช่แค่เรื่องของความสวยงาม แต่เป็นส่วนหนึ่งของ ‘เศรษฐกิจสร้างสรรค์’ (Creative Economy) ที่จะช่วยส่งเสริมศักยภาพและนำรายได้เขาสู่ประเทศ
ถ้ายกตัวอย่างกรณีกรุงเทพฯ กับเวนิส ที่เราทำงานกับกงสุลของเวนิสมาโดยตลอด กระทั่งเรามารู้ภายหลังว่า นายกเทศมนตรีของเวนิสวางแผนที่จะทำสัญญาในรูปแบบของการเป็น ‘บ้านพี่เมืองน้อง’ ระหว่างเวนิสกับกรุงเทพฯ เพราะเขามองว่า สัญญานี้จะส่งผลดีที่ไม่ใช่แค่เรื่องของการท่องเที่ยว แต่ยังเป็นเรื่องของธุรกิจต่างๆ
และเขามองว่าไม่ใช่แค่ตัวเมืองเวนิสเองที่มีเสน่ห์ แต่รอบๆ ข้างเช่นเมืองปาโดวา (Padova) วินเซนซ่า (Vincenza) ก็มีเสน่ห์ไม่แพ้กัน นั่นยังโยงไปถึงเมืองแฟชั่นอย่างมิลาน (Milan)
เพียงแต่การนำโดยใช้ศิลปะเป็นตัวเชื่อมโยง จะนำไปสู่ผลพวงอื่นๆ เช่นเรื่องของการท่องเที่ยว การค้า การแลกเปลี่ยนวัฒนธรรม หรือแม้แต่เรื่องของความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ ดังวันที่ 18 เมษายนนี้ ที่นายกเทศมนตรีจากเวนิส ตัวแทนสถานทูตกรุงโรม รวมถึงเอกอัครราชทูตอิตาลีประจําประเทศไทย รับปากว่าจะมาร่วมเปิดงานแสดงของเราด้วย
ผมมองว่าเรื่องของ Creative Economy ในอนาคตจะไม่ใช่แค่เรื่องระหว่างประเทศ แต่จะเชื่อมโยงไปถึงระดับทวิภาคีได้เป็นอย่างดี
ในสายตาของคุณ อุตสาหกรรมศิลปะในไทยกำลังอยู่ในจุดไหน
ผมคิดว่าอุตสาหกรรมศิลปะของไทยกำลังอยู่ในจุดที่ดี เราเห็นการตั้งหมุดหมายเชิงวัฒนธรรมร่วมกับศิลปะ ไม่ว่าจะการจัดบางกอก อาร์ต เบียนนาเล่ หรือการจัดเชียงราย เบียนนาเล่ ที่ได้กระแสตอบรับล้นหลาม ซึ่งถ้าหากรัฐบาลจะผลักดันเศรษฐกิจผ่านงานศิลปะแบบนี้ต่อไปก็ย่อมเป็นผลดี
แต่ขณะเดียวกันรัฐบาลก็ต้องพึงระวังด้วยกับการวางแผน ถ้าเกิดทำอะไรที่เหมารวมหรือฉาบฉวยเกินไป ผลลัพธ์ที่ได้ย่อมไม่ตรงเป้า ฉะนั้นควรมีทีมงานเฉพาะทางด้านที่เป็นผู้ศึกษารากลึก ผมดีใจที่รัฐบาลมีหน่วยงาน THACCA (Thailand Creative Content Agency) แต่ทักก้าไม่ใช่ทักกี้ และไม่ใช่ทักษิณ (หัวเราะ)
รัฐต้องพึงระลึกว่า นี่ไม่ใช่แค่เรื่องของการนำศิลปะมาเสิร์ฟการเมือง เพราะเรื่องของการเมืองเดี๋ยวก็มาเดี๋ยวก็ไป ฉะนั้น ถ้าจะวางโครงสร้างและพัฒนาวงการศิลปะ วงการออกแบบ หรือวงการดนตรี เราต้องทำงานอย่างเป็นรูปธรรมและมืออาชีพ เรายังต้องพัฒนาอีกเยอะหากเทียบกับสิงคโปร์ ฮ่องกง เกาหลีใต้ หรือญี่ปุ่น
อย่างที่รัฐบาลเคยบอกว่า อยากจะทำอาร์ตแฟร์โดยนำโมเดลอาร์ต บาเซิล (Art Basel) ที่จัดในประเทศสวิตเซอร์แลนด์มาใช้ ถามว่าเป็นเรื่องที่ดีไหม ดีแน่นอน แต่ว่าหากศึกษาลึกลงไปจะพบว่า บริบทภายในอาร์ต บาเซิล ไม่ได้มีแค่โมเดลเดียว ซึ่งความจริงนั่นเป็นโมเดลที่ล้าสมัยไปแล้ว ดังนั้น เราต้องศึกษาก่อนว่าเรามีศักยภาพแค่ไหน และจุดอ่อนของเราในเรื่องของการทำอาร์ตแฟร์ คือเรายังขาดผู้ซื้อที่มีกำลังมากพอในพื้นที่ต่างๆ ที่จะจัดงาน และเมื่ออาร์ตแกลเลอรีเจ้าใหญ่ที่เราเชิญ เช่น จากนิวยอร์กหรือจากลอนดอน ถ้าเขามาแล้วเขาขายงานไม่ได้ ต่อไปเขาก็จะไม่กลับมาร่วมงานอีก
นั่นหมายความว่าถ้าโมเดลอุตสาหกรรมศิลปะแข็งแรง ศิลปินก็จะสามารถยืนหยัดใช้อาชีพนี้เลี้ยงปากเลี้ยงท้องได้อย่างแท้จริง
ถูกต้อง เพราะระบบนิเวศทางศิลปะของบ้านเราทุกวันนี้ยังไม่ครบวงจร มีเรื่องดีที่รัฐบาลพยายามลดหย่อนภาษีให้กับผู้ซื้องานศิลปะ แต่ในแง่ของกระบวนการซื้อขายทุกวันนี้กลับยังไม่เป็นไปตามระบบ เพราะตัวนักสะสมเองยังคุ้นเคยกับการซื้อผลงานโดยตรงผ่านศิลปิน ซึ่งทำให้อาร์ตแกลลอรีขาดทุนจนไม่สามารถยืนหยัดต่อไปได้
แต่ผมว่าปัจจุบันเรากำลังมาถูกทางแล้วนะ ศิลปินรุ่นใหม่หลายคนเริ่มเข้าใจปัญหาตรงนี้ เพราะถ้าเป็นอย่างนี้ต่อไปก็จะมีแต่ผลเสีย และระบบนิเวศทางศิลปะบ้านเราก็จะไม่มีวันครบวงจร
Fact Box
- คำว่า ‘เบียนนาเล’ ที่ในภาษาอิตาลีหมายถึง ‘ทุกๆ สองปี’ โดยเวนิส เบียนนาเล่ หรือ La Biennale di Venezia จัดขึ้นครั้งแรกเมื่อปี 1895 ในฐานะเทศกาลศิลปะช่วงฤดูร้อน ที่สามารถขับเคลื่อนสังคมและเศรษฐกิจแก่ประเทศ ก่อนคำว่าเบียนนาเล่จะกลายเป็นโมเดลงานเทศกาลศิลปะ ที่จัดขึ้นในเมืองสำคัญทั่วโลก เช่น เซาเปาโล ซิดนีย์ รวมไปถึงกรุงเทพฯ
- มหกรรมศิลปะร่วมสมัยนานาชาติ เวนิส เบียนนาเล่ ครั้งที่ 60 (The 60th International Art Exhibition, La Biennale di Venezia) จะมีขึ้นตั้งแต่วันที่ 20 เมษายน-24 พฤศจิกายน 2567 โดยผลงาน The Spirits of Maritime Crossing : วิญญาณข้ามมหาสมุทร คือหนึ่งในไฮไลต์สำคัญของงานนี้
- มารีน่า อบราโมวิช คือศิลปินชาวเซอร์เบียร์ ที่ขึ้นชื่อในเรื่องความสามารถของการแสดงสด โดยผลงานที่ทำให้เธอเป็นที่รู้จักกว้างขวาง คือ Rhythm 0 (1974) กับการท้าทายพฤติกรรมด้านลบของมนุษย์ ด้วยการเตรียมอุปกรณ์ 72 ชนิด โดยให้คนดูเลือกอุปกรณ์เหล่านั้นทำอะไรก็ได้กับเรือนร่างของเธอ
- นอกจากจะเป็นประธานอำนวยการและผู้อำนวยการศิลป์ บางกอก อาร์ต เบียนนาเล่ ในอดีต ดร.อภินันท์ โปษยานนท์ ยังเคยดำรงตำแหน่งในกระทรวงวัฒนธรรม ได้แก่ ผู้อำนวยการศิลปวัฒนธรรมร่วมสมัย (พ.ศ. 2546-2551), อธิบดีกรมส่งเสริมวัฒนธรรม (พ.ศ. 2552-2553 และ 2553-2554), รองปลัดกระทรวงวัฒนธรรม (พ.ศ. 2554-2557) และปลัดกระทรวงวัฒนธรรม (พ.ศ. 2557-2559)
- นิทรรศการ The Spirit of Maritime Crossing : วิญญาณข้ามมหาสมุทร ได้รับการจัดอันดับ 1 ใน 10 นิทรรศการที่ควรชมในเวนิสเบียนนาเล โดยเบอร์ลินอาร์ตลิงก์ (Berlin Art Link) นิตยสารศิลปวัฒนธรรมและศิลปะร่วมสมัย