วิกฤตเศรษฐกิจที่เกิดขึ้นในตุรกีกลายเป็นที่สนใจไปทั่วโลก ทั้งในแง่ที่เกี่ยวข้องกับการเมืองระหว่างประเทศระหว่างสหรัฐอเมริกากับตุรกี เสถียรภาพการเมืองในประเทศทั้งที่เพิ่งผ่านการเลือกตั้งมาไม่นาน หรือแม้แต่ความกังวลใจว่าวิกฤตครั้งนี้จะระบาดลุกลามไปยังประเทศอื่นๆ เหมือนที่เคยเกิดขึ้นกับเอเชียในปี 1997 โดยมีจุดกำเนิดที่ประเทศไทย

กลุ่มประเทศที่กังวลเรื่องสถานการณ์ในตุรกีมากที่สุด ก็คือประเทศฝั่งยุโรปที่เพิ่งฟื้นตัวจากวิกฤตใหญ่ไปไม่นาน ที่ต่างก็เกรงว่า โรคติดต่อทางเศรษฐกิจครั้งนี้อาจจะฉุดประเทศต่างๆ กลับลงสู่หุบเหวที่เพิ่งปีนขึ้นมาอีกครั้ง ทั้งที่สิบกว่าปีที่ผ่านมา ตุรกีเป็นประเทศที่ถูกจับตามองไปทั่วโลกว่าจะก้าวขึ้นมาเป็นยักษ์ทางเศรษฐกิจรายล่าสุด เศรษฐกิจเติบโตดีต่อเนื่อง แม้ทั่วโลกจะเผชิญกับวิกฤตเศรษฐกิจครั้งใหญ่แต่ตุรกีก็ผ่านมาได้รับความบอบช้ำเพียงเล็กน้อย

โดยเฉพาะเมื่อเทียบกับประเทศบ้านใกล้เรือนเคียงอย่างกรีซหรือไซปรัส ยิ่งเมื่อรัฐบาลตุรกีประกาศความตั้งใจที่จะเข้าสู่สหภาพยุโรป ด้วยความที่เป็นประเทศขนาดใหญ่ที่มีประชากรมากถึง 78.7 ล้านคนและค่าแรงที่ถูกกว่ากลุ่มประเทศยุโรปตะวันตกมาก ตุรกีจึงถูกคาดหมายว่าจะกลายเป็นแหล่งผลิตสำคัญเพื่อส่งสินค้าเข้าสู่ตลาดยุโรป นักลงทุนจากทั่วโลกต่างจัดให้ตุรกีเป็นหนึ่งในประเทศที่น่าลงทุนที่สุด

แต่แล้วเศรษฐกิจที่ดูเหมือนจะไปได้ดีในช่วงทศวรรษก่อนหน้า ก็เป็นการเจริญเติบโตบนรากฐานที่เปราะบาง รอยร้าวที่เคยซ่อนอยู่เริ่มปรากฎชัด บทความนี้จะทบทวนถึงช่วงเวลาที่ผ่านมาของเศรษฐกิจตุรกีเพื่อทำความเข้าใจสาเหตุของวิกฤตเศรษฐกิจที่กำลังเกิดขึ้นอยู่นี้

ตุรกีเผชิญหน้ากับวิกฤตเศรษฐกิจมาแล้วหลายครั้ง แต่ครั้งที่รุนแรงมากที่สุดครั้งหนึ่งเกิดขึ้นเมื่อปี 1999 – 2001 ซึ่งมีลักษณะคล้ายคลึงกับที่เกิดขึ้นกับประเทศไทยในช่วงก่อนหน้านั้น วิกฤตครั้งดังกล่าวเป็นสาเหตุของการปฏิรูประบบเศรษฐกิจครั้งใหญ่ นำโดย เคเมล เดอร์วิส (Kemel Dervis) อดีตนักเศรษฐศาสตร์ธนาคารโลกที่ได้รับแต่งตั้งให้เป็นรัฐมนตรีเศรษฐกิจ

ภายใต้การช่วยเหลือทางการเงินจากกองทุนการเงินระหว่างประเทศ หรือไอเอ็มเอฟ แนวทางการปฏิรูปของนายเคเมลจึงไม่แตกต่างจากหลายๆ ประเทศลูกหนี้ไอเอ็มเอฟทั้งหลาย รวมทั้งไทยด้วย กล่าวคือ การลอยตัวค่าเงินลีรา การให้ธนาคารกลางเป็นอิสระจากรัฐบาล และมุ่งเน้นไปที่การรักษาเสถียรภาพทางเศรษฐกิจมากกว่าการเจริญเติบโต รวมถึงการออกกฎหมายเกี่ยวกับการดำเนินนโยบายการคลังเพื่อควบคุมให้รัฐบาลใช้จ่ายอย่างเคร่งครัดและโปร่งใสขึ้น

นอกจากนี้เพื่อแก้ปัญหาการล่มสลายของสถาบันการเงิน รัฐบาลจึงเข้าควบคุมกิจการธนาคารสำคัญๆ อันนำไปสู่การสืบสวนการทุจริตและลงโทษผู้บริหารระดับสูงของธนาคารจำนวนมาก ซึ่งส่งผลให้ความเชื่อมั่นของประชาชนที่มีต่อภาคการเงินกลับมาอีกครั้ง

นอกจากเศรษฐกิจแล้ว ในช่วงเดียวกันนี้ ตุรกียังปฏิรูปด้านอื่นๆ ซึ่งช่วงเวลานั้น ตุรกีประสบความสำเร็จหลายๆ อย่าง เช่น การปฏิรูปด้านสุขภาพที่อัตราการตายของทารกและเด็กลดลงไปใกล้เคียงกับกลุ่มประเทศพัฒนาแล้ว จำนวนคนยากจนที่ลดลง ความเหลื่อมล้ำทางรายได้ รวมทั้งช่องว่างของชนบทกับเมืองก็ลดลงเช่นกัน ด้านการศึกษาที่คะแนนสอบวัดผล PISA เพิ่มขึ้นในทุกกลุ่มวิชา ภาคเอกชนเองก็พัฒนาจนผลิตภาพการผลิต (productivity) เพิ่มสูงกว่าค่าเฉลี่ยของกลุ่มประเทศ BRIC (Brazil Russia India China) ด้วยซ้ำ (ดูรายละเอียดเพิ่มเติมในรายงานธนาคารโลก (2014))

เศรษฐกิจที่เติบโตมาร่วมทศวรรษ ส่งผลให้ตุรกีขยับขึ้นมามีขนาดเศรษฐกิจใหญ่เป็นลำดับที่ 17 ของโลก มีผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศต่อหัวเพิ่มเป็น 11,000 ดอลลาร์สหรัฐฯ ต่อคนต่อปีใกล้เคียงกับเกณฑ์ที่จะถูกจัดเป็นประเทศรายได้สูงที่ 12,056 ดอลลาร์สหรัฐฯ ต่อคนต่อปี (ไทยอยู่ที่ประมาณ 5,900 ดอลลาร์สหรัฐฯ ต่อคนต่อปี)

เมื่อทุกอย่างกำลังไปได้สวย ทุกคนต่างมองโลกในแง่ดี รัฐบาลตุรกีรอฉลองการก้าวขึ้นสู่การเป็นประเทศรายได้สูง แต่ไม่ใช่ว่าไม่มีใครมองเห็นรอยร้าวลึกๆ ที่ซ่อนอยู่นี้ นักเศรษฐศาสตร์ชื่อดังอย่าง ดานี่ รอดริก (Dani Rodrik) เคยวิจารณ์การเจริญเติบโตของเศรษฐกิจตุรกีเอาไว้เมื่อปี 2015 ว่า จริงๆ แล้วอัตราการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจของตุรกีในช่วง 2002 -2014 นั้น โดยเฉลี่ยแล้วไม่ได้สูงกว่ากลุ่มประเทศกำลังพัฒนาอื่นๆ เลย (ตามภาพประกอบ 1) จะเห็นว่าเศรษฐกิจตุรกีในปี 2014 เทียบกับปี 2002 ที่เริ่มปฏิรูปเศรษฐกิจ โตขึ้นเพียงร้อยละ 50 ซึ่งใกล้เคียงกับประเทศกำลังพัฒนาอื่นๆ ยังไม่ต้องพูดถึงว่าต่ำกว่าประเทศอย่างจีนและอินเดียอยู่มาก    

ที่มา Rodrik (2015)

ซึ่งปัญหาสำคัญในมุมมองของรอดริกก็คือ การที่เศรษฐกิจตุรกียังต้องพึ่งพาเงินทุนจากต่างประเทศ โดยเฉพาะอย่างยิ่งการกู้ยืมของภาคเอกชน จากภาพประกอบที่ 2 แกนตั้งแสดงตัวเลขการดุลบัญชีเดินสะพัดต่อผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (Current Account to GDP) ซึ่งจะแสดงถึงตัวเลขสุทธิของเงินลงทุนที่ผ่านเข้าออกประเทศ หากตัวเลขดังกล่าวติดลบ ก็หมายความว่ามีเงินทุนไหลเข้าประเทศมากกว่าเงินทุนในประเทศออกไปลงทุนข้างนอก ซึ่งส่วนใหญ่ก็คือจากยุโรปนั่นเอง ในขณะที่แกนนอนแสดงการเติบโตของผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศต่อประชากร (GDP per capita growth) เมื่อเราลากเส้นแสดงความสัมพันธ์ (สีแดง) ก็จะเห็นความสัมพันธ์ที่ผกผันกันของตัวชี้วัดทั้งสอง นั้นคือช่วงเวลาที่เศรษฐกิจตุรกีเติบโตดี การขาดดุลบัญชีเดินสะพัดก็จะยิ่งสูงและการกู้เงินจากต่างประเทศก็จะยิ่งสูงขึ้นด้วยเช่นกัน  

ที่มา Rodrik (2015)

สาเหตุหลักที่ทำให้เศรษฐกิจตุรกีต้องพึ่งพาเงินลงทุนจากต่างชาติเป็นหลัก มาจากเงินออมในประเทศที่อยู่ในระดับต่ำ (ตามภาพประกอบที่ 3) เนื่องจากดอกเบี้ยในประเทศที่ถูกกดให้ต่ำมาเป็นเวลานานจนทำให้คนไม่ออมเงิน และเมื่อเอกชนต้องการจะลงทุน จึงหนีไม่พ้นการหันไปกู้เงินจากต่างประเทศเป็นหลัก โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ในช่วงวิกฤตเศรษฐกิจที่เม็ดเงินจากประเทศพัฒนาแล้วต่างมองหาแหล่งรายได้ใหม่ๆ ที่ให้ผลตอบแทนสูงกว่าในประเทศของตน ภาคเอกชนตุรกีจึงนิยมไปกู้เงินจากต่างประเทศเพื่อมาใช้จ่ายในประเทศ

ที่มา Rodrik (2015)

ในขณะที่ปัจจัยการเมืองเองก็ไม่ใช่ว่าจะไม่เกี่ยวข้อง นักเศรษฐศาสตร์ชื่อดังเชื้อสายตุรกีอย่าง ดารอน อเชโมกูล (Daron Acemoglu) ร่วมกับ มูรัต อูเชอร์ (Murat Ucer)  ได้ศึกษาถึงการเปลี่ยนแปลงเชิงสถาบันที่เกิดขึ้นกับตุรกี อันส่งผลต่อเศรษฐกิจในปัจจุบัน โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ตั้งแต่หลังปี 2011 ที่การใช้จ่ายของภาครัฐบาลจำนวนมากไม่จำเป็นต้องทำให้สอดคล้องกับกฎหมายด้านการบริหารการคลังที่เคยกำหนดไว้ เช่น การใช้จ่ายด้านป้องกันประเทศ โครงการพัฒนาที่อยู่อาศัยของรัฐบาล (State Housing Development Administration) หรือการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานขนาดใหญ่ที่เป็นการทำร่วมกับภาคเอกชน

อีกปัจจัยที่เชื่อมโยงการเมืองเข้ากับเศรษฐกิจ คือ อัตราดอกเบี้ย กฎเหล็กที่ธนาคารกลางในปัจจุบันส่วนใหญ่ใช้เมื่ออัตราเงินเฟ้อเพิ่มขึ้นเกินกว่าเป้าหมายที่ตั้งไว้ ก็ต้องขึ้นอัตราดอกเบี้ยเพื่อควบคุมไม่ให้เศรษฐกิจร้อนแรงเกินไปจนเกิดภาวะฟองสบู่ แต่ ประธานาธิบดี เรเจป ทายยิป แอร์โดอัน ก็แสดงจุดยืนเกี่ยวกับอัตราดอกเบี้ยผ่านการแสดงความเห็นต่อสาธารณะมาโดยตลอดว่า ดอกเบี้ยจะต้องรักษาไว้ในระดับต่ำเพื่อให้เศรษฐกิจขยายตัวต่อไปได้ เพราะเมื่อเศรษฐกิจดีแล้ว อัตราเงินเฟ้อที่พวกนักเศรษฐศาสตร์กลัวก็จะหายไปเอง ในทางกลับกัน อัตราดอกเบี้ยที่สูงต่างหากที่เป็นสาเหตุของเงินเฟ้อที่สูง นิตยสารดิ อีโคโนมิสต์ถึงขั้นเปรียบเทียบแนวคิดนี้ว่าเป็นความเชื่อว่าโลกแบนของโลกเศรษฐศาสตร์เลยทีเดียว

ผลก็เป็นไปตามที่ทุกคนกังวล คือการใช้อัตราดอกเบี้ยต่ำอย่างต่อเนื่อง กลายเป็นตัวเร่งให้อัตราเงินเฟ้อเพิ่มสูงขึ้น แม้ธนาคารกลางตุรกีจะเปลี่ยนมาใช้เงินเฟ้อเป็นเป้าหมายทางการเงิน (Inflation Targeting) ตั้งแต่การปฏิรูปเศรษฐกิจในปี 2001 โดยธนาคารกลางตุรกีกำหนดเป้าเงินเฟ้อไว้ที่ร้อยละ 5 ซึ่งอัตราเงินเฟ้อของตุรกีก็อยู่สูงกว่าระดับนี้มาโดยตลอด ก็แสดงให้เห็นถึงการขาดอิสระทางการตัดสินใจของธนาคารกลาง

ทั้งหมดนี้จึงทำให้อเชโมกูลและอูเชอร์สรุปว่า โครงสร้างการบริหารเศรษฐกิจในยุคหลังของตุรกีนั้นแตกต่างจากสิ่งที่เคยทำไว้ในช่วงการปฏิรูปในปี 2001 ที่เคยทำให้เศรษฐกิจตุรกีเติบโตได้ดีมาก่อน (รายละเอียดอ่านเพิ่มเติมใน Acemoglu and Ucer (2015))  

ที่มา: Federal Reserve Bank of St. Louis

บทเรียนที่เคยเกิดขึ้นซ้ำแล้วซ้ำอีกในหลายประเทศรวมทั้งไทยในปี 1997 ก็วนกลับมาเป็นเดจาวูของตุรกี เมื่อเงินเฟ้อยังไม่มีทีท่าจะลดลง การขาดดุลบัญชีเดินสะพัดควบคู่ไปกับการใช้จ่ายเกินตัวของรัฐบาลอันนำไปสู่ภาวะที่เรียกว่าขาดดุลบัญชีคู่ (Twin Deficit) เงินทุนสำรองระหว่างประเทศเริ่มลดลง ในขณะที่หนี้จากต่างประเทศยังคงสูงขึ้น ทั้งหมดนี้กลายเป็นสัญญาณเตือนสำคัญของวิกฤตเศรษฐกิจที่จะกำลังมาถึง

เหล่านักลงทุนทุกคนที่เคยแห่กันเข้ามาแสวงโชคกับตุรกีเมื่อทศวรรษก่อนก็หมดความเชื่อมั่นและพากันถอนเงินลงทุนต่างๆ ออกไปเพื่อหาแหล่งลงทุนที่มีความเสี่ยงน้อยกว่า สิ่งแรกที่ตามมาก็คือ การอ่อนค่าลงอย่างต่อเนื่องของค่าเงินลีรา

ที่มา: Federal Reserve Bank of St. Louis

ค่าเงินลีราที่เคยอยู่ที่ 3 ลีราต่อดอลลาร์สหรัฐฯ ในช่วงปี 2016 ก็อ่อนค่าลงมาต่อเนื่อง จนต้นเดือนสิงหาคมก็ไปแตะระดับ 7 ลีราต่อดอลลาร์สหรัฐฯ และล่าสุดก็ยังมีแนวโน้มจะอ่อนค่าลงต่อไป ผลโดยตรงที่เกิดขึ้นกับเศรษฐกิจในตุรกีคือ หนี้ต่างประเทศที่กู้มาก็เพิ่มมูลค่าขึ้นไปจนยากจะชดใช้คืน เช่นเดียวกับราคาสินค้านำเข้า โดยเฉพาะน้ำมันที่แพงขึ้นจนทำให้เงินเฟ้อพุ่งสูงถึงร้อยละ 15.9 ในเดือนมิถุนายน แม้สุดท้ายธนาคารกลางตุรกีจะยอมขึ้นดอกเบี้ยแล้วก็ตาม แต่ก็ยังไม่มีใครแน่ใจว่าจะเป็นการตัดสินใจที่ทันท่วงทีหรือไม่

วิบากกรรมของตุรกียังไม่จบลงแค่นั้น เมื่อคลื่นแห่งสงครามการค้าก็ได้ซัดเข้ากระทบเศรษฐกิจที่กำลังง่อนแง่นของตุรกี เมื่อประธานาธิบดีทรัมป์ประกาศขึ้นภาษีนำเข้าเหล็กและอลูมิเนียมซึ่งเป็นสินค้าส่งออกสำคัญของตุรกี โดยข้ออ้างในการขึ้นภาษีคือการเรียกร้องให้รัฐบาลตุรกีปล่อยตัวบาทหลวง แอนดรูว์ บรุนสัน (Andrew Brunson) ซึ่งถูกควบคุมตัวไว้ด้วยข้อหาให้การสนับสนุนรัฐประหารที่ล้มเหลวในปี 2016

แม้ว่าผลการเลือกตั้งในเดือนมิถุนายนที่ผ่านมาจะเป็นการการันตีให้ประธานาธิบดีแอร์โดอันยังคงอยู่ในอำนาจต่อไป แต่สถานการณ์ทางเศรษฐกิจที่ยังขึ้นหน้าหนึ่งหนังสือพิมพ์อยู่ทุกวัน อัตราการว่างงานที่พุ่งไปเกินร้อยละ 10 เงินเฟ้อที่ยังไม่ลดลง เศรษฐกิจก็เริ่มชะลอตัว สถานการณ์ของตุรกีในช่วงยามข้างหน้าจึงน่าติดตามยิ่ง เพราะต้องไม่ลืมว่า เสถียรภาพทางการเมืองกับความกินดีอยู่ดีของประชาชน เป็นสิ่งที่ตัดกันไม่ขาด

 

อ้างอิง

Tags: , , ,