นภ พรชำนิ และภรรยาของเขา เพลิน ประทุมมาศ ย้ายกลับมาอยู่เมืองไทยอย่างถาวรเมื่อวันที่ 1 พฤศจิกายน ที่ผ่านมา หลังจากใช้ชีวิตอยู่ที่เมืองซานฟรานซิสโก รัฐแคลิฟอร์เนีย สหรัฐอเมริกา เป็นเวลา 10 ปีเต็ม
หนึ่งวันถัดจากนั้น นภชวนทีมงาน The Momentum ขึ้นรถตู้ที่เขาใช้เดินทางในกรุงเทพฯ เพื่อพูดคุยถึงเรื่องราวชีวิตช่วง 10 ปีที่ไม่ได้อยู่เมืองไทยเต็มเวลา จนถึงอีกสองสัปดาห์ก่อนที่เขาจะขึ้นเวทีคอนเสิร์ต The Story of Nop Ponchamni คอนเสิร์ตเดี่ยวครั้งแรกในรอบ 16 ปีของเขา ซึ่งจะเกิดขึ้นในวันที่ 18 และ 19 พฤศจิกายน ที่จะถึงนี้
บทสนทนาที่เกิดขึ้นระหว่างการเดินทางฝ่าจราจรจากย่านอโศกไปถึงพระราม 4 จึงอัดแน่นไปด้วยเรื่องราวระหว่างทางของเขาที่นำมาสู่คอนเสิร์ตใหญ่ครั้งนี้ ซึ่งจะตามมาด้วยอัลบัมชุดใหม่ที่เขาวางแผนไว้ว่าน่าจะเสร็จประมาณปลายปีหน้า
ย้ายกลับมาอยู่เมืองไทยถาวรแล้วแบบนี้ จะคิดถึงซานฟรานซิสโกบ้างไหม
คิดถึงทุกวันแน่นอน เพราะซานฟรานซิสโกเป็นเหมือนบ้านที่สองของผมไปแล้ว เป็นที่ที่ทำให้ผมมีแรงบันดาลใจใหม่ๆ แต่ทุกๆ แรงบันดาลใจที่ผมได้รับจากที่นั่น ผมก็จะเอามาใส่ในอัลบั้มชุดใหม่ของผม รวมทั้งใช้เป็นแรงขับเคลื่อนในการทำโปรเจกต์ของผมในอนาคตด้วย
ช่วงเวลาที่อยู่ที่นั่น มันเหมือนกับเราได้ไปรีชาร์จพลังใหม่ๆ มา 10 ปี เป็น 10 ปีที่ผมได้รับพลังงานที่ดีๆ มากมายที่น่าจะช่วยให้ผมทำงานที่นี่ต่อได้อีก 4-5 ปีสบายๆ แล้วก็ทำให้ผมมีมุมมอง แนวความคิดใหม่ๆ ที่ถ้าเกิดผมอยู่ที่เมืองไทยก็อาจจะไม่ได้แนวความคิดนี้มา
แนวความคิดใหม่ๆ ที่ได้รับจากช่วงที่อยู่อเมริกามีอะไรบ้าง
สมมติว่าถ้าเราอยู่เมืองไทย หลายๆ อย่างในชีวิตมันจะเป็นรูปแบบที่เราคุ้นเคย ตื่นมาทำอะไร ในทีวีมีรายการอะไร มีคนพูดเรื่องอะไรบ้าง ไม่ค่อยมีอะไรที่มันเปิดโลกทัศน์สักเท่าไร แต่การอยู่ที่อเมริกา ทุกข้อมูลข่าวสารที่เราเปิดรับมันเป็นข้อมูลใหม่ทั้งสิ้น เอาง่ายๆ แค่วิธีการรายงานข่าวของเขา วิธีการสัมภาษณ์คน วิธีการออกความคิดเห็น วิธีการให้ข้อคิดของคนอเมริกันจะต่างจากบ้านเรา เป็นการเปิดโลกทัศน์ให้คนดูคนฟังตลอดเวลาว่าทุกคนมีความคิดของตัวเอง จะไม่มีการนำความคิดใครมาใส่ให้อีกคนได้
ช่วงอยู่ที่นั่น ผมเลยตื่นตาตื่นใจทุกวัน เพราะได้เห็นว่าคนอเมริกันนี่มันสุดจริงๆ ในแง่ของการค้นหาตัวเอง ในแง่ของการปากกัดตีนถีบ ทุกอย่างต้องหามาได้จากตัวเอง อเมริกาสอนให้ผมเรียนรู้แล้วก็เข้าใจว่า ถ้าเรามีความมุ่งมั่นอะไรสักอย่าง เราก็สามารถทำให้ประสบความสำเร็จด้วยตัวเองได้ ขอแค่ให้เวลากับมันและมีความมุ่งมั่นก็จะทำได้เอง
ช่วงอยู่ที่นั่น ผมตื่นตาตื่นใจทุกวัน เพราะได้เห็นว่าคนอเมริกันนี่มันสุดจริงๆ ในแง่ของการค้นหาตัวเอง ในแง่ของการปากกัดตีนถีบ ทุกอย่างต้องหามาได้จากตัวเอง
ชีวิตของ นภ พรชำนิ ในอเมริกาเริ่มต้นอย่างไร
ผมกับเพลินไปกันสองคนกับหมาอีกหนึ่งตัว ตอนปลายปี 2007 แล้วความที่เพลินไปเรียนต่อปริญญาโท เรื่องเรียนก็ต้องเป็นหลัก ผมเองก็ไม่ได้มีรายได้อะไรที่นั่น เพราะฉะนั้น เราก็ต้องประหยัดให้ได้มากที่สุด เลือกเช่าบ้านที่อยู่ใกล้มหาวิทยาลัย เราเริ่มต้นกันแบบนั้น จนถึงทุกวันนี้ ผ่านมา 10 ปีก็ยังเหมือนเดิม เรายังพยายามใช้เงินประหยัดที่สุดเท่าที่จะทำได้ เพราะว่าค่าครองชีพสูง ผมเองก็ไม่ได้มีงานทำที่นั่น ยังต้องกลับมาทำงานที่เมืองไทย เงินที่ได้ที่นี่พอเทียบเป็นเงินที่อเมริกามันก็ไม่ได้มาก อเมริกาเลยเป็นที่ที่ฝึกให้ผมทำนู่นทำนี่เป็น ทำความสะอาดเป็น ซักผ้าเป็น ซึ่งเมื่อก่อนก็ไม่ได้ทำสิ่งเหล่านี้เองเพราะมีคนทำให้
บินกลับมาทำงานที่เมืองไทยบ่อยแค่ไหน
ปีหนึ่งก็อย่างน้อยห้าครั้ง แต่ละครั้งก็จะกลับมาประมาณเดือนหนึ่ง เพราะฉะนั้นผมจะอยู่ที่เมืองไทยประมาณห้าเดือน อยู่ที่นั่นสักเจ็ดเดือน ช่วงที่กลับมาตอนแรกๆ ผมต้องรับผิดชอบทำคอนโดของที่บ้านด้วย แต่ตอนนี้เสร็จเรียบร้อยไปแล้ว นอกนั้นก็กลับมาช่วยพี่บอยบ้าง กลับมาช่วยเลิฟอีสบ้าง กลับมาช่วย P.O.P บ้าง
ความคิดที่จะทำงานเพลงเดี่ยวอีกครั้งเริ่มต้นขึ้นตั้งแต่ตอนไหน
ช่วงที่ผ่านมา ถึงจะไม่ได้มีงานเพลงของตัวเองคนเดียว แต่ผมก็ได้ทำโปรเจ็กต์บอย-ป๊อด โปรเจ็กต์บอย-นภ ทำคอนเสิร์ต มันก็เหมือนเราได้ฝึกฝนการทำงานเพลงตลอดเวลา เพียงแต่ผมยังไม่ได้ source ในการเขียนเพลงให้ตัวเองเท่าไรนัก ถือว่ายังไม่เจอเรื่องที่จะเขียน ตอนที่ทำโปรเจกต์สุดท้ายให้ P.O.P เมื่อสี่ปีที่แล้ว ก็ยังเป็นโปรเจ็กต์งานกลุ่มอยู่ คือคิดร่วมกันกับเพื่อนๆ ว่า P.O.P น่าจะพูดเรื่องอะไรกับคนฟัง แต่พอถึงช่วงนั้น ผมเพิ่งเริ่มที่จะมีความรู้สึกว่า เราพร้อมหรือยังนะที่จะเขียนเพลงให้ตัวเอง ก็เลยเป็นที่มาของการเริ่มต้นคิดงานเดี่ยวช่วงสัก 2-3 ปีที่แล้ว
ยังอยู่เบื้องหลังตลอด อย่างงานคอนเสิร์ตก็ถือว่าอยู่เบื้องหลังนะ มีอยู่เบื้องหน้าแค่ช่วงที่ออกไปถือไมโครโฟนเท่านั้นเอง ทำหน้าที่นักร้องเฉพาะตอนนั้น พอร้องเพลงเสร็จก็กลับมาอยู่เบื้องหลังเสมอ
เวลาเขียนเพลงให้ P.O.P กับเขียนเพลงที่เป็นงานเดี่ยวของตัวเองต่างกันอย่างไร
ต่างกันตรงที่เวลาเขียนเพลงให้ P.O.P ถึงจะเริ่มมาแบบส่วนตัว เริ่มจากตัวเราก่อนก็จริง แต่เวลาจะเริ่มเขียนเนื้อร้องจะต้องปรึกษาเพื่อนๆ เสมอว่า ถ้ามีไอเดียแบบนี้ จะเขียนเพลงออกมาแบบไหนดี เพราะว่าเราจะต้องพรีเซนต์ร่วมกัน มันต้องผ่านการเคาะจากเพื่อนๆ ก่อน พอคุยกัน เราก็จะเคาะออกมาเป็นเรื่อง เขียนเองบ้าง ให้พี่บอยหรือไม่ก็ บอย-ตรัย ช่วยเขียนบ้าง แต่โดยรวมก็คือมันเป็นโปรเจกต์งานกลุ่ม
แต่ถ้าเป็นงานเดี่ยวของผมเอง ผมร่างขึ้นมาปุ๊บ ผมก็คิดของผมเอง วิเคราะห์เองว่าเราอยากจะเล่าเรื่องนี้ อยากจะแต่งเพลงนี้ให้เกี่ยวกับเรื่องนี้ อยากให้ท่วงทำนองมันเป็นแบบนี้ อยากจะ arrange แบบนี้ คืองานเดี่ยวเป็นงานที่เราควบคุมการผลิตเอง เพราะฉะนั้นมันก็จะออกมามีความเป็นตัวเรา 80-90 เปอร์เซ็นต์ แต่ถ้าเป็น P.O.P จะต้องแชร์เท่าๆ กันหมด
อยากให้ช่วยเล่าถึงเพลง ‘หมุนตามเธอไป’ (Situation) ซิงเกิลเดี่ยวครั้งแรกในรอบ 12 ปีที่เพิ่งปล่อยออกมาเมื่อสองเดือนก่อน
เพลง ‘หมุนตามเธอไป’ นี่ ทำนองมาก่อนเนื้อร้อง เนื้อเพลงตามมาหลังจากที่ได้ทำนองและโครงสร้างของเพลงเรียบร้อยแล้ว ผมพยายามเขียนเพลงนี้เป็นโครงขึ้นมาก่อน แต่ปรากฏว่า เขียนแล้วมันเสร็จออกมาภายในวันเดียวเลย ไม่น่าเชื่อเหมือนกันว่าจะเขียนได้เร็วมาก เพราะปกติผมจะไม่ค่อยได้เขียนคำร้องเพลง แต่กับเพลงนี้เหมือนมันออกมาเองเลย
เนื้อเพลงจะเล่าถึงการที่เราต้องไปรักคนคนหนึ่ง แต่มันสายไป แล้วเราต้องหมุนตามเขาไปเรื่อยๆ จนไม่เหลือความเป็นตัวเอง มันเหมือนกับเราแพ้ในทุกรูปแบบ เป็นความแพ้ที่ไม่อยากเอาจะเอาชนะด้วยนะ เรายอมหมดทุกอย่าง ซึ่งถ้ามองดีๆ มันคือความรักที่โรแมนติกมากๆ แต่เป็นความโรแมนติกที่เศร้ามากตรงที่ว่ามันไม่มีคำตอบว่าคนสองคนนี้จะได้อยู่ด้วยกันนานแค่ไหน รู้แต่ว่ามันต้องผูกพันกันโดยอะไรสักอย่างถึงได้มาเจอกัน ทำให้เกิดสถานการณ์ที่ทำให้มีความรู้สึกนี้ขึ้นมา ซึ่งผมชอบความรู้สึกนั้น แล้วก็อยากจะรู้ว่าคนอื่นรู้สึกอย่างไร ก็เลยเขียนออกมาเป็นลักษณะนี้
เนื้อเพลงจะเล่าถึงการที่เราต้องไปรักคนคนหนึ่ง แล้วเราต้องหมุนตามเขาไปเรื่อยๆ จนไม่เหลือความเป็นตัวเอง มันเหมือนกับเราแพ้ในทุกรูปแบบ เป็นความแพ้ที่ไม่อยากเอาจะเอาชนะด้วยนะ
ส่วนพาร์ทของดนตรี ผมเชิญน้องๆ กลุ่ม The Groovetomatix 11 ที่เป็นอาจารย์สอนแจ๊ซทั้งหมดมาร่วมเขียน ร่วมเรียบเรียงด้วย เพราะผมพยายามให้มันทันสมัยมากขึ้น มีองค์ประกอบที่ละเอียดมากขึ้น แต่ก็ยังให้อยู่ในโครงสร้างของความเป็นป๊อปที่ยังฟังง่ายอยู่ โดยตั้งใจให้เวลาฟังเพลงหรือเข้าไปอยู่ในเพลงแล้ว คนฟังจะรู้สึกได้ถึงการดีไซน์ที่ละเมียดละไมขึ้น สวยหรูขึ้น ต่างจากเดิมที่เคยทำมาในอดีต ซึ่งตรงส่วนนั้นคือ 20 เปอร์เซ็นต์ ที่เหลือของการทำงานเดี่ยวที่เป็นส่วนที่มีคนอื่นเข้ามาเป็นผู้แต่งร่วม ผู้เรียบเรียงร่วม มาช่วยทำให้ความฝันเราเป็นจริงในสไตล์ของเรา
ช่วง 10 ปีที่ยังทำงานเพลงอยู่ แต่ไม่ได้ทำเต็มเวลา มองว่าวงการเพลงเปลี่ยนไปอย่างไรบ้าง
เปลี่ยนไปเยอะมากทั้งในเรื่องของธุรกิจและการฟังเพลง ผมมองว่าคนฟังเพลงหรือทำกิจกรรมใดๆ ที่เกี่ยวกับการฟังเพลงลดลงไปเยอะมาก สมัยก่อนคนยังฟังเพลงแบบเป็นเรื่องเป็นราว แต่เดี๋ยวนี้คนเล่นอินเทอร์เน็ตหรือทำอะไรหลายอย่างแทน คือสำหรับบางคนแล้ว เพลงเป็นแค่ส่วนประกอบเล็กๆ ของเขาเท่านั้น ไม่ใช่สิ่งที่สำคัญอีกต่อไป ไม่ได้ฟังเพลงเพื่อให้เป็นแรงบันดาลใจ
ในฐานะคนทำงานเพลง เราก็ต้องพยายามสร้างงานที่ทำให้เวลาของคนฟังที่เขามีให้เรามีค่าด้วย ให้เขามาฟังเพลงเราปุ๊บแล้วรู้สึกได้ว่า เพลงของนภมีค่าในการฟังนะ แล้วก็ฟังต่อไปเรื่อยๆ เพราะถ้าเกิดเพลงเรามันไม่คุ้มค่าในการฟัง เขาก็จะไม่ฟัง เพราะฉะนั้นในเรื่องของการทำงาน ผมยังใส่ใจในการทำงานทุกๆ อณูเหมือนเดิม ไม่ได้ให้ความสำคัญน้อยลง แต่กลับต้องพิถีพิถันมากขึ้น เพื่อที่จะทำให้คนฟังมีอรรถรสในการฟังเพลงของเรา สี่นาทีที่เขาอยู่กับเรา เขาต้องเห็นภาพแล้ว เขาต้องได้จินตนาการแล้ว เพลงที่ผมแต่งแต่ละเพลง ผมมั่นใจว่าต้องใช้เวลาในการฟังพอสมควร พอฟังสักพักก็จะเข้าใจแล้วก็จะผูกพันกับเพลงนั้นไปเอง
ความเปลี่ยนแปลงเหล่านี้ทำให้วิธีการทำงานของเราเปลี่ยนไปบ้างไหม
เหมือนเดิมครับ เพราะเมื่อก่อนผมก็ทำงานแบบนี้ เพียงแต่เข้มข้นขึ้นเพราะเราใส่ ingredient บางอย่างเพิ่มเข้าไป เหมือนเป็นอาหารจานเดิม แต่เราทำให้มันมีกลิ่นนี้นะ หรือว่ามีรสชาติที่ละมุนขึ้น เพราะอยากจะให้คนฟังได้มีความสุขและมีประสบการณ์ใหม่ๆ ในการฟังเพลง
ทุกวันนี้ฟังเพลงแนวไหนบ้าง
ตอนนี้จะไปแนวแจ๊ซเลย ชอบฟังแจ๊ซแบบ big band แล้วก็ชอบฟังเปียโนโซโล่ มีความฝันว่าอยากเล่นเปียโนได้เก่งๆ ถ้ามีเวลาว่างก็คิดไว้ว่าอยากจะพยายามฝึกเปียโนให้เก่งกว่าเดิม อยากเล่นแบบฟรีสไตล์ได้เลย เพราะผมคิดว่าเรามีพื้นฐานในการเขียนเพลงอยู่แล้ว ถ้าเกิดเราสามารถเล่นสเกลได้ก็น่าจะมีอะไรแปลกๆ ใหม่ๆ ออกมาได้มากกว่าเดิม เพราะว่ามุมมองความคิดของเราเปิดกว้าง สามารถทดลองอะไรได้ แต่แค่ตอนนี้ยังขาดเวลาในการฝึกฝน
นับจากอายุตอนนี้ ผมยังเหลือเวลาประมาณ 15 ปีในการฝึกเปียโน ถ้าได้เรียนรู้เพิ่มก็อาจจะมีการเล่นเปียโนโซโล่ให้คนฟังได้บ้าง ปกติเวลาขึ้นคอนเสิร์ต ผมจะไม่เล่นดนตรี จะ concentrate เรื่องการร้องอย่างเดียว แต่ถ้าอายุ 60 แล้ว ผมเล่นเปียโนคนเดียวบ้าง ไม่มีร้องเลย ก็น่าจะสนุกดีไปอีกแบบ
ถ้าเป็นศิลปินไทยยุคใหม่ๆ มีคนไหนหรือวงไหนที่ชอบฟังบ้าง
ผมฟังหมดเลย ฟังแบบเปิดกว้างมาก แล้วก็ชอบหลายคนเลย ที่เก่งมากๆ ก็อย่างแสตมป์ หรืออย่างทางสมอลล์รูมก็เก่งหลายวง Polycat นี่ก็เก่งมาก ถ้าค่ายผมเองก็จะมีวง Liberty ที่สุดยอดมาก แล้วในไทยยังมีศิลปินแจ๊ซอีกหลายคนที่เก่งมากๆ ซึ่งในอนาคตผมจะพยายามสร้างผลงานร่วมกับนักดนตรีที่มีความสามารถเหล่านี้ รวมรวมเป็นทีมขึ้นมาให้ได้ เพื่อจะสร้างผลงานให้คนไทยได้ฟังในรูปแบบที่หลากหลายมากขึ้น คือยังอยู่บนพื้นฐานของความเป็นป๊อปที่ฟังง่าย แต่อาจจะเป็นป๊อปแบบแจ๊ซ ป๊อปแบบอาร์แอนด์บี หรือป๊อปแบบโซล จะพยายามทำให้คนที่มีฝีมือเหล่านี้มายืนแถวหน้าให้คนได้รู้จักพวกเขา ตรงนี้เป็นหน้าที่ของโปรดิวเซอร์อย่างพวกเราที่จะเปิดพื้นที่ สร้างผลงานของศิลปินให้เป็นที่รู้จักให้ได้มากที่สุด
ปกติเวลาขึ้นคอนเสิร์ต ผมจะไม่เล่นดนตรี จะ concentrate เรื่องการร้องอย่างเดียว แต่ถ้าอายุ 60 แล้ว ผมเล่นเปียโนคนเดียวบ้าง ไม่มีร้องเลย ก็น่าจะสนุกดีไปอีกแบบ
แล้วแนวเกิร์ลกรุ๊ปอย่าง Sweat16! หรือ BNK48 นี่ได้ฟังด้วยไหม
ฟังผ่านๆ ครับ แต่ว่าเอาใจช่วยอยู่ตลอด เพราะเราทำงานในวงการดนตรี เราจะรู้ว่าเวลาทำงานเพลงขึ้นมาสักงาน กว่าจะเป็นที่รู้จักได้มันต้องใช้แรง ใช้ความสามารถ ต้องใช้หยาดเหงื่อทุ่มเทหลายๆ อย่าง เพราะฉะนั้นเลยเอาใจช่วยทุกคนที่มีความตั้งใจ แล้วยิ่งน้องๆ อย่าง BNK48 หรือ Sweat16! นี่ต้องทำงานหนักมาก เนื่องจากว่าเป็นกลุ่มใหญ่ แต่ละวงมีคนเยอะมาก การจะทำให้คนจำตัวเองได้นี่ไม่ใช่เรื่องง่ายๆ เลย
กับเวลากว่าสองทศวรรษในวงการเพลง คุณมองว่าตัวเองเป็นนักร้อง เป็นนักแต่งเพลง เป็นโปรดิวเซอร์ หรือเป็นทุกอย่างรวมกัน
ตอนอยู่ที่อเมริกา เวลาเพื่อนๆ ฝรั่งถามว่า ยูเป็นซูเปอร์สตาร์เหรอ ผมจะบอกว่า No, I’m not. I’m not famous at all. I’m a songwriter and producer. ผมจะพูดเสมอว่าผมเป็นนักแต่งเพลงกับเป็นโปรดิวเซอร์มากกว่า เพราะเวลาโปรดิวซ์งานเราจะรู้เลยว่า องค์ประกอบของการสร้างงานชิ้นหนึ่งจะต้องประกอบไปด้วยอะไรบ้าง ไม่ใช่แค่เรื่องร้องเพลง มันคือเรื่องคน เรื่องไอเดียต่างๆ การเป็นโปรดิวเซอร์ต้องครอบคลุมหลายๆ อย่าง ดึงเอาความร่วมมือร่วมใจและความถนัดของแต่ละคนมารวมให้เกิดเป็นงานได้ ไม่อย่างนั้นมันจะออกมาแค่เพลงเดียว แต่ไม่ได้เป็นโปรเจ็กต์
ถ้าเป็นนักร้อง ผมคงต้องเป็นคนที่ประกอบอาชีพร้องเพลง แต่ผมไม่ใช่แบบนั้น ถ้ามีคนถามว่า พี่นภคะ รับงานนี้ไหมคะ แสนห้าแต่ว่าให้ร้องเพลงนี้ๆ ซึ่งแม่งไม่ใช่เพลงกูสักหน่อย ถ้าทำแบบนั้น ป่านนี้คงรวยไปแล้ว (หัวเราะ) คือถ้าไม่ใช่เพลงผม ผมจะไม่ร้องเลย ยกเว้นว่าเป็นเพลงที่เราชอบและอยากจะเล่าให้คนฟังได้รู้ว่า เพลงนี้มันเพราะจริงๆ มันโดนใจหรือมีความหมายกับผม
ทุกวันนี้ก็เลยยังมองว่าตัวเองเป็นคนเบื้องหลังมากกว่าเป็นคนเบื้องหน้าหรือเปล่า
ใช่ ยังเหมือนเดิมครับ ก็ยังอยู่เบื้องหลังตลอด อย่างงานคอนเสิร์ตก็ถือว่าอยู่เบื้องหลังนะ มีอยู่เบื้องหน้าแค่ช่วงที่ออกไปถือไมโครโฟนเท่านั้นเอง ทำหน้าที่นักร้องเฉพาะตอนนั้น พอร้องเพลงเสร็จก็กลับมาอยู่เบื้องหลังเสมอ
อยากให้ช่วยเล่าถึงประสบการณ์ทัวร์คอนเสิร์ตในอเมริกาว่าเป็นอย่างไรบ้าง
ทัวร์คอนเสิร์ตที่อเมริกานี่ ผมตั้งใจทำเองเลยครับ โทรไปติดต่อเมืองนั้นเมืองนี้เอง บอกเขาว่า พี่นภอยากไปเล่นนะ ช่วยจัดให้หน่อยได้ไหม ทุกคนก็จะถามกลับมาคำถามเดียวกันว่า “พี่นภค่าตัวเท่าไหร่พี่ ผมไม่มีตังค์จ้างพี่หรอก” ผมบอกว่า ลืมเรื่องเงินไปได้เลย เอาว่าเราไปเล่นกันสนุกๆ ดีกว่า ขอแค่เงินไว้จ่ายค่านักดนตรี ค่าเดินทาง ค่าที่พักก็พอ เรื่องค่าตัวไม่ต้อง เพราะฉะนั้นทุกเมืองที่ไปเขาก็จะมีความสุขมากเพราะว่ามันไม่ติดลบ ไม่อย่างนั้นเขาก็ต้องควักเงินเป็นหมื่นเหรียญเพื่อมาจัดงาน ใครจะมีความสุขบ้าง ก็คงเครียดตั้งแต่เริ่มต้นแล้ว ต้องคิดว่าจะขายบัตรเท่าไรถึงจะไม่ขาดทุน แต่พอเป็นแบบนี้มันคือมาลุยด้วยกัน สนุกด้วยกัน ได้เงินเท่าไรเดี๋ยวค่อยมาแบ่งกัน ถ้าเกิดขาดทุนก็ไม่ต้องแบ่งนะ ขาดทุนไปด้วยกัน แต่ที่ผ่านมาก็ยังไม่ขาดทุน
เมืองที่เคยไปทัวร์คอนเสิร์ตมา ก็มีนิวยอร์ก วอชิงตันดีซี พิตส์เบิร์ก ชิคาโก แอลเอ แล้วก็ซานฟรานซิสโกเองด้วย ผมลุยเองหมดทุกอย่าง เช่ารถ ขับรถเอง พาน้องๆ ขึ้นรถกันไป อย่างตอนอยู่เมืองไทย ถ้ามีงานก็จะต้องมีคนถือกีตาร์มาให้ ตั้งเครื่องเสียงไว้ให้ แล้วก็ขึ้นไปร้องเพลง มีไฟส่อง แต่ทัวร์คอนเสิร์ตนี่ผมเอาเครื่องเสียงมาวางเอง ต่อสายเอง เป็นช่วงที่เหมือนได้กลับไปเป็นเด็กใหม่ แล้วก็สนุกมาก เป็นการรีชาร์จตัวเอง แล้วพอเราทำอะไรทุกอย่างเอง เราก็จะไม่กลัวเลยว่าจะทำอะไรไม่ได้เพราะเรารู้แล้วว่า ถ้ามีความตั้งใจจริง เราทำได้หมด แล้วก็ทำสำเร็จมาแล้วในทุกๆ ที่ที่เราไป
องค์ประกอบของการสร้างงานชิ้นหนึ่ง ไม่ใช่แค่เรื่องร้องเพลง มันคือเรื่องคน เรื่องไอเดียต่างๆ การเป็นโปรดิวเซอร์ต้องครอบคลุมหลายๆ อย่าง ดึงเอาความร่วมมือร่วมใจและความถนัดของแต่ละคนมารวมให้เกิดเป็นงานได้
การทัวร์คอนเสิร์ตในอเมริกามีส่วนทำให้เราตัดสินใจจัดคอนเสิร์ตใหญ่ที่จะมีขึ้นครั้งนี้ด้วยหรือเปล่า
มีส่วนนะ ถ้าเปรียบเทียบ ก็เหมือนกับการที่เราสร้างบ้าน สร้างตึก คือผมมองว่าคอนเสิร์ตใหญ่ก็เหมือนเป็นตึกสูง ส่วนที่ผ่านมา เราจัดคอนเสิร์ตย่อยๆ ทั้งหลายก็เหมือนไปสร้างบ้าน แต่ตึกใหญ่ก็ยังเป็นความฝันที่อยากทำเสมอถ้ามีโอกาส เพียงแต่มันต้องใช้งบประมาณเยอะกว่าเวลาสร้างอย่างอื่น แล้วเราก็ต้องคิดด้วยว่า เราจะทำอย่างไรให้คอนเสิร์ตใหญ่ของเราเป็นที่น่าจดจำของคนฟังและคนเล่นด้วย ถ้าเกิดเราเล่นเพลงเดิมๆ สไตล์เดิมๆ คนก็จะได้ดูแต่อะไรซ้ำๆ ไม่มีอะไรใหม่
แต่ที่ตัดสินใจจัดคอนเสิร์ตเพราะผมมั่นใจว่า ตึกนี้มีองค์ประกอบใหม่ๆ แล้ว มีฟังก์ชันใหม่ๆ ให้คนมาดู ซึ่งก็คือ The Groovetomatix 11 วงแจ๊ซแบบ big band ที่ผมมั่นใจว่า คนฟังแล้วจะรู้สึกว่า โห…แม่งโคตรเท่ มันต้องอย่างนี้สิวะ ไม่ใช่มาแล้วเจออะไรซ้ำๆ ผมอยากให้เขารู้สึกว่า เขาเป็นคนกลุ่มแรกเลยนะที่จะได้ฟังอะไรแบบนี้ไปด้วยกัน
คอนเสิร์ตครั้งนี้มันเหมือนเป็นจุดเริ่มต้นในการเดินทางครั้งใหม่ของผม เพราะหลังจากนี้ ผมตั้งใจว่าจะยกทีมของผมไปเล่นให้ทั่วประเทศ อยากไปเล่นที่จังหวัดไหนก็จะติดต่อไป แล้วก็จะไม่ใช่แค่จัดคอนเสิร์ตแต่จะมีเวิร์กช็อปที่จะช่วยเหลือสังคมไปด้วย ทำให้เพลงของเราเป็นสื่อกลางในการดึงแฟนเพลงมาเจอกัน แล้วให้เขาได้มีโอกาสทำอะไรเพื่อสังคมของเขา คิดว่านี่คือสิ่งที่จะทำต่อจากนี้ไปอีก 4-5 ปี
ประสบการณ์ฟังเพลงที่คนดูจะได้จากคอนเสิร์ตครั้งนี้จะเป็นอย่างไรบ้าง
คอนเสิร์ตชื่อว่า The Story of Nop Ponchamni มันก็คือเรื่องราวของเราเองก่อนที่ทุกคนจะได้เจอกัน เรามีความทรงจำอะไรเกี่ยวกับเพลงไหนบ้าง แต่ละเพลงมีความหมายกับเรากอย่างไร และอยากให้คนฟังได้ฟังเพลงอะไรบ้างในคอนเสิร์ต คือมันมีเพลงในใจที่ไม่ค่อยได้ร้องในคอนเสิร์ตที่ผ่านมาหลายเพลงที่จะเอามาร้องในคอนเสิร์ตครั้งนี้ แล้วก็เชื่อว่าคนจะร้องตามได้และต้องมีเพลงที่โดนใจเขา แล้วก็ในคอนเสิร์ตครั้งนี้ทุกเพลงจะถูกเรียบเรียงใหม่ ให้เขาฟังแล้วรู้สึกซูเปอร์พีค ให้เขาจำเพลงนั้นไปได้ตลอดชีวิตจากคอนเสิร์ตนี้
นอกจากนี้ ในคอนเสิร์ตครั้งนี้และทุกๆ คอนเสิร์ตต่อจากนี้ มีอีกเรื่องที่ตั้งใจทำ คือการทำให้คนเข้าใจเรื่องของเด็กที่มีความต้องการพิเศษผ่านคอนเสิร์ตด้วย เพื่อให้สังคมบ้านเราเข้าใจและยอมรับเด็กที่มีความต้องการพิเศษมากขึ้น ดึงเขาเข้ามาอยู่เป็นหนึ่งในสังคมเรามากขึ้น ซึ่งตรงนี้เป็นสิ่งที่เราตั้งใจทำ และมันก็ซัพพอร์ตกับงานของเพลิน เพราะเพลินเรียนจบปริญญาโทและเอกด้านนี้และทำงานด้านนี้ โดยงานเขาจะเน้นไปที่เด็กเล็ก 0-5 ขวบเป็นหลัก ซึ่งเรื่องงานสำหรับเพลินแล้ว ไม่มีอะไรที่ผมเป็นห่วงเขาอีกต่อไป เพราะเขามีแพลนจะทำอะไรอีกหลายอย่างมากหลังจากกลับมา แต่ผมก็จะคอยซัพพอร์ตเขาในแง่ที่ว่า สิ่งที่เขาทำมันจะเกิดประโยชน์เป็นเท่าทวีคูณถ้าผมช่วยเขาด้วย
มีซิงเกิลใหม่แล้ว ขั้นต่อไปก็คืออัลบั้มใหม่ อยากรู้ว่าตอนนี้มีเพลงสำหรับอัลบั้มชุดนี้ทั้งหมดกี่เพลงแล้ว
แต่งไว้ 3-4 เพลงแล้ว ในชุดใหม่ก็จะมีความเป็น big band jazz เป็นหลัก ซึ่งพอเป็นเพลงสไตล์นี้ มันจะมีเรื่องของจังหวะเข้ามาเป็นองค์ประกอบ แต่ละเพลงในอัลบั้มจะต้องมีจังหวะแตกต่างกัน เพลงหนึ่งเป็นสวิง อีกเพลงเป็นบัลลาด อีกเพลงเป็นบอสซาโนวาก็ได้ แต่ต้องให้ต่างกัน เราอยากให้เพลงสามารถเปลี่ยนแปลงความรู้สึกคนฟังได้ว่า โห…เพลงนี้มันเปลี่ยนไปได้ขนาดนี้เลยเหรอ ทำให้เราซึ้งก็ได้ สนุกก็ดี
เวลาเขียนเพลง ผมคิดว่าคนฟังเขามีจินตนาการของเขาเอง อยากให้คนฟังได้เป็นตัวของตัวเอง แล้วเอาเพลงที่ฟังไปใช้ประกอบในชีวิตประจำวันของเขา แต่จะไม่ได้คิดว่าแต่งเพลงเพื่อให้คนฟังชอบ แบบนั้นไม่ใช่แนวทางของผม ถ้าคิดแต่ว่าต้องแต่งเพลงที่คนชอบเท่านั้น คนฟังก็จะคุ้นแต่กับเมโลดี้เดิมๆ ที่มันฟังแล้วติดหู แล้วเมื่อไรเขาจะได้ออกไปจากสิ่งเดิมๆ ผมเลยมีความรู้สึกว่าต้องพยายามทำงานเพลงตัวเองให้ฉีกไปจากกฎเกณฑ์เดิมให้ได้ ให้คนฟังได้ต่อยอดตัวเอง พอเราคุยกันเรื่องเพลงนี้ปุ๊บ เราก็จะรู้สึกได้เลยว่า แฟนเพลงเราก้าวออกมาจาก safe zone ในการฟังเพลงของเขาอีกหนึ่งก้าวแล้ว
คอนเสิร์ตต่อจากนี้ มีอีกเรื่องที่ตั้งใจทำ คือการทำให้คนเข้าใจเรื่องของเด็กที่มีความต้องการพิเศษผ่านคอนเสิร์ตด้วย เพื่อให้สังคมบ้านเราเข้าใจและยอมรับเด็กที่มีความต้องการพิเศษมากขึ้น ดึงเขาเข้ามาอยู่เป็นหนึ่งในสังคมเรามากขึ้น
กลับมาทำงานเพลงอย่างเต็มตัวคราวนี้ คิดว่าแฟนเพลงที่เป็นวัยรุ่นจะรู้จักชื่อของ นภ พรชำนิ มากน้อยแค่ไหน
เรื่องนี้เป็นความท้าทายอย่างหนึ่งนะ แต่ผมมั่นใจในเพลงของผมอย่างหนึ่งว่า ไม่ว่าจะเป็นเด็กหรือผู้ใหญ่ เวลาได้ยินเพลง เขาจะไม่สนใจว่าเพลงนี้ร้องโดยใคร แต่จะสนใจว่ามันเพราะหรือเปล่า และเขาสามารถมีประสบการณ์ร่วมกับเพลงนั้นๆ ได้ไหม
อย่างเพลง ‘หมุนตามเธอไป’ ผมตั้งใจเขียนให้คนมีประสบการณ์ร่วมในแบบตัวเอง ไม่ว่าคุณจะอายุ 22, 35 หรือ 70 ก็ฟังได้หมด ไม่ได้โฟกัสไปที่กลุ่มใดกลุ่มหนึ่ง จะเป็นใครก็ได้ ขอให้ชอบในการฟังเพลงและพร้อมที่จะฟัง รับรองว่าถ้าฟังแล้วคุณจะเข้าสู่ห้วงแห่งอวกาศของเพลงนี้
ทำงานเพลงมาตั้งแต่อายุ 22 จนถึงตอนนี้ที่อายุ 45 ปี ชอบอะไรในวัยนี้ของตัวเองบ้าง
ผมรู้สึกว่าตัวเองเป็นผู้ใหญ่เต็มตัวเมื่อสักประมาณห้าปีที่แล้ว ตอนที่ได้เริ่มทำงานเพื่อคนอื่นอย่างเต็มที่ โดยที่ไม่ได้คิดถึงตัวเองเป็นหลัก ช่วงอยู่ที่นั่น ผมทำหน้าที่เหมือนเป็นคนเชื่อมจุดต่างๆ เข้าด้วยกันในการจัดกิจกรรมต่างๆ อย่างการสนับสนุนให้น้องๆ นักเรียนไทยที่นั่นได้เผยแพร่วัฒนธรรมไทยโดยที่เราเป็นคนเข้าไปหาเขาเอง รวมไปถึงการจัดกิจกรรมเพื่อในหลวงรัชกาลที่ 9 ที่งานสุดท้ายเพิ่งจบไปเมื่อวันที่ 25 ตุลาคมที่ผ่านมา ซึ่งหลังจากนี้ผมก็จะยังช่วยกิจกรรมของคนไทยที่นั่นอยู่ ถึงจะย้ายกลับมาแล้วก็ตาม
ผมว่าความเป็นผู้ใหญ่มันต้องผ่านจุดที่เราทำอะไรบางอย่างโดยที่ไม่หวังผลตอบแทน การทำโปรเจกต์เพื่อสังคมช่วงอยู่ที่อเมริกาทำให้เราได้ฝึกฝนตัวเอง และการทำทุกอย่างด้วยตัวเองโดยที่ไม่ต้องมีใครมาทำอะไรให้อย่างที่เล่าให้ฟัง มันทำให้รู้สึกเหมือนกับว่าเราสอบผ่านและไม่มีเวทีไหนที่เราจะขึ้นไม่ได้แล้ว ทุกอย่างมันคือการเรียนรู้ แล้วการที่เราทำอะไรโดยที่ไม่ได้มีผลตอบแทน มันทำให้เราก้าวข้ามจากความเป็นเด็กไปสู่ความเป็นผู้ใหญ่ที่มีความรับผิดชอบ ก้าวไปสู่ความไม่ยึดติดว่าต้องมีตัวตน
ถ้าถามว่าคิดว่าตัวเองแก่ไปไหมสำหรับทุกสิ่งทุกอย่างที่ทำอยู่ตอนนี้ ทั้งเรื่องงานเพลงและเรื่องกิจกรรมเพื่อส่วนรวม ผมคิดว่าไม่นะ เพราะถ้าอายุน้อยกว่านี้ บางเรื่องที่เราทำ คนก็อาจจะไม่เชื่อถือเท่าตอนนี้ เพราะฉะนั้นอายุนี้กำลังดีแล้วครับ
ถ่ายภาพโดย ขจรศิริ อุ่ยมานะชัย
Tags: หมุนตามเธอไป, P.O.P, Loveis, Interview, Concert, Music, เพลง, นภ พรชำนิ