เมื่อช่วงกลางปีที่ผ่านมา กล้องดูดาว La Silla ที่ประเทศชิลี ได้ค้นพบดาวเคราะห์ขนาดใกล้เคียงกับโลก ชื่อ Proxima b ที่อยู่ห่างจากโลกของเราราว 4 ปีแสง
ระยะห่างดังกล่าว หากคิดจากขอบเขตเทคโนโลยีการเดินทางในอวกาศในปัจจุบัน ที่เดินทางได้ด้วยความเร็ว 40,000 กิโลเมตร/ชั่วโมง อาจจะต้องใช้เวลาเดินทางถึง 1 แสนปี
ด้วยเหตุนี้ ความคิดเรื่องการเดินทางไปหาโลกใบใหม่ในอวกาศ จึงเป็นเพียงความฝันและจินตนาการที่มนุษย์โหยหา เพื่อหลีกหนีโลกความจริงที่นับวันมีแต่ความสิ้นหวัง ซึ่งไม่ต่างอะไรกับเรื่องรางของคน 2 คน ใน Passengers
Passengers คือเรื่องราวของนักเดินทางอวกาศ 2 คน ชื่อ จิม เพรสตัน (คริส แพตต์) และ ออโรรา เลน (เจนนิเฟอร์ ลอว์เรนซ์) ที่โดยสารมาบนยาน Avalon พร้อมกับผู้โดยสารอีก 5,000 คน เพื่อไปสร้างอาณานิคมบนดาว Homestead II ที่ต้องใช้เวลาในการเดินทางทั้งสิ้น 120 ปี โดยทางบริษัท Homestead ที่เป็นเจ้าของยานและเจ้าของธุรกิจนี้ ได้ออกแบบให้ผู้โดยสารและลูกเรือทั้งหมดเข้านอนรักษาร่างกายอยู่ในแคปซูลจำศีล (Hibernation Pod) ตลอดระยะเวลา 120 ปี แล้วมีกำหนดการให้ทุกคนตื่นก่อนถึงดาวที่หมาย 3 เดือน เพื่อเรียนรู้และปรับตัวให้พร้อมกับการสร้าง ‘โลกใบใหม่’ บนดาวดวงนั้น แต่แล้วความผิดพลาดก็ได้เกิดขึ้น เมื่อ จิม เพรสตัน ถูกปลุกขึ้นมาก่อนถึงที่หมายล่วงหน้าถึง 90 ปี เพียงคนเดียว
ความเปล่าเปลี่ยวเดียวดายของอวกาศ กับการยอมรับว่าตัวเขาเองจะไม่มีโอกาสได้เห็นจุดหมายปลายทางที่ได้ฝันไว้อีก ได้ค่อยๆ กัดกินจิตใจของ จิม เพรสตัน ทีละน้อย เขาไม่มีใครให้คุยด้วย นอกจากหุ่นยนต์บาร์เทนเดอร์ที่ชื่อ อาเธอร์ (ไมเคิล ชีน) แล้วต้องใช้ชีวิตอย่างเดียวดายทุกวันอยู่บนยานลำนั้น จนกระทั่งเขาได้พบกับ ออโรรา เลน
ออโรรา เลน ได้เติมเต็มความรู้สึกของการมีชีวิตของ จิม เพรสตัน และได้เปลี่ยนแปลงโทนภาพยนตร์เรื่องนี้จากแนววิทยาศาสตร์ให้กลายเป็นแนวโรแมนติก ด้วยโลกของทั้งสองที่มีกันเพียง 2 คน (ไม่นับอาเธอร์) หนังค่อยๆ พัฒนาความสัมพันธ์ของตัวละครให้เริ่มรู้สึกรักและผูกพัน ก่อนที่จะถึงจุดวิกฤติที่ทั้งคู่จะต้องเผชิญกับความจริง
ด้วยการกำกับภาพยนตร์ฟอร์มยักษ์เรื่องแรกของ มอร์เทน ไทล์ดัม (Morten Tyldum) ที่เคยเข้าชิงรางวัลออสการ์สาขาผู้กำกับภาพยนตร์เรื่อง The Imitation Game (2014) ทำให้ภาพยนตร์เรื่องนี้ยังมีความไม่ลงตัวอยู่มาก ระหว่างความสมจริงของฉากอวกาศและยานอวกาศ กับเรื่องราวความรักของคนสองคนที่อยู่ๆ ตัวหนังได้เดินเรื่องมาถึงจุดหนึ่ง แล้วกลับกลายเป็นหนังรักที่ไม่สนใจหลักการวิทยาศาสตร์ใดๆ จนแทบไม่น่าเชื่อว่าผู้ที่อยู่เบื้องหลังการเขียนบทของภาพยนตร์เรื่องนี้คือ จอน สเปตส์ (Jon Spaihts) ที่เคยเขียนบทภาพยนตร์อย่าง Prometheus(2012) และ Doctor Strange (2016) มาก่อน
ความเข้าไม่ถึงจุดสมบูรณ์ของความรักของตัวละครทั้ง 2 คน และการเพิกเฉยต่อความเป็นหนังวิทยาศาสตร์ในส่วนของครึ่งหลังของเนื้อเรื่อง ทำให้ภาพยนตร์เรื่องนี้ขาดเสน่ห์และความน่าเชื่อถืออย่างรุนแรง แต่อย่างไรก็ตาม ตัวหนังยังมีความสวยและเซ็กซีของ เจนนิเฟอร์ ลอว์เรนซ์ และบทบาทที่แตกต่างของ คริส แพตต์ ที่ทำให้เราสามารถดูกันแบบเพลินๆ ได้ รวมไปถึงการดีไซน์ฉากของยานอวกาศและเทคโนโลยีในอนาคตที่ทำออกมาได้ค่อนข้างดี จึงถือว่าเป็นข้อดีครึ่งหนึ่งของภาพยนตร์ที่คอหนังอวกาศน่าจะพึงพอใจ
สุดท้ายแล้ว สิ่งที่ภาพยนตร์เรื่องนี้พยายามที่จะบอกก็คงจะคล้ายๆ กับประโยคที่ว่า
“Shoot for the moon, even if you miss, you’ll land among the stars.”
นั่นคือการที่มนุษย์เรานั้นควรฝันให้ไกล เพื่อให้เรามองสูงขึ้นไปยังจุดหมายข้างหน้า เพราะถึงแม้ว่าวันนี้อาจไม่ใช่วันที่เราได้เดินทางไปถึงจุดหมาย แต่การที่เราฝันไว้ให้ไกลเสียก่อน ก็ทำให้อย่างน้อยบนเส้นทางระหว่างการเดินทาง เราก็ได้ค้นพบกับความสุข ความหวัง ประสบการณ์ และความรู้ใหม่ๆ อีกมากมาย
ไม่ว่าการเดินทางนั้นจะยาวนาน 120 ปี หรือ 1 แสนปีก็ตาม
Tags: TheReview, Doctor Strange, Passengers, JonSpaihts, Prometheus, MortenTyldum