หนังเกี่ยวกับอะไร

หนังเล่าชีวิตสามช่วงวัยของ ‘ไชรอน’ เด็กผิวสีที่ถูกแม่ซึ่งติดยาปล่อยปละละเลย มิหนำซ้ำยังถูกรังแกจากเพื่อนที่โรงเรียนอีก เขามีที่พึ่งเดียวคือบ้านของ ‘ฮวน’ (มาเฮอร์ชาลา อาลี) คนขายยาแถวนั้นที่บังเอิญเห็นชีวิตวัยเด็กของเขาถูกทำร้ายทั้งจากแม่และเพื่อน แล้วเขาจะต้องต่อสู้เพื่อเติบโตขึ้นอย่างไรในสภาพแวดล้อมที่การใช้ชีวิตช่างดูยากลำบากเหลือเกิน

สิ่งที่ควรรู้ก่อนไปดูหนัง

หนังได้คะแนนเฉลี่ยจากนักวิจารณ์ Metacritic 99/100 (จาก 48 บทวิจารณ์) เข้าชิง 8 รางวัลออสการ์ รวมถึงสาขาใหญ่อย่างภาพยนตร์ยอดเยี่ยม, ผู้กำกับยอดเยี่ยม, และบทดัดแปลงยอดเยี่ยม

สิ่งที่ชอบที่สุดจากหนัง

1. ไม่ค่อยแปลกใจที่เห็นหลายคนอ้างอิงถึงหว่องกาไว เพราะโดยเนื้องานของแบร์รี เจนกินส์ เขาเลือกกำกับ Moonlight ด้วยความนิ่งเงียบ เพื่อฉายสะท้อนให้เห็นถึงความเปลี่ยวเหงาอ้างว้างของตัวละคร ในระหว่างที่ดูเราก็สัมผัสได้ว่าหนังมันมีโมเมนต์ชวนให้รู้สึกถึงคนที่โหยหาความรัก ตั้งแต่ความอบอุ่นจากครอบครัวที่ขาดหายไปจากแม่แท้ๆ

แต่โชคดีที่เขาได้ความรักชดเชยจากครอบครัวของฮวน ความรักวัยหนุ่มสาวที่ยากลำบากกว่าปกติ เพราะ ‘ความเป็นอื่น’ ในสังคมคนผิวสี จนเมื่อเป็นผู้ใหญ่ก็ยังไม่สามารถแสดงออกถึงเพศสภาพอย่างเปิดเผย ซึ่งความนิ่งเงียบของหนังมันเลยขับเน้นอารมณ์เดียวดายข้างในตัวไชรอนแต่ละช่วงวัยได้เป็นอย่างดี

2. เรามองว่า Moonlight เล่าน้อยแต่ได้มาก หนังมันหยิบมาแค่เหตุการณ์สั้นๆ ของสามช่วงวัยมาร้อยเรียงให้เห็นช่วงชีวิตที่ขรุขระ เราเห็นปัญหาที่เขาเผชิญแค่นี้ก็พอจะคิดต่อขยายความเอาเองได้ว่าส่วนที่เหลือคงจะสาหัสไม่แพ้กัน

3. อันนี้ไม่รู้ว่าถูกหรือผิดหลักจิตวิทยาพื้นฐาน เพราะเราอิงจากตัวเราเองว่าตอนเด็กอายุประมาณนั้นก็จะดูผู้ใหญ่ที่เก่งๆ เป็นต้นแบบให้นับถือ พอช่วงวัยรุ่นก็เริ่มแคร์สังคมเพื่อนวัยเดียวกัน อยากได้รับการยอมรับจากเพื่อนฝูง และพอเป็นผู้ใหญ่ก็คือการหล่อหลอมประสบการณ์ให้นับถือตัวเองและมองย้อนไปถึงสิ่งที่ตัวเองมองข้ามไปในบางช่วงวัย ซึ่งความน่าสนใจของหนังคือมันบอกเล่าผ่านตัวละครชนชั้นชายขอบมากๆ คือเป็นคนผิวสีที่สับสนในเพศสภาพของตัวเอง และการเล่าผ่านสามช่วงวัยก็ทำให้เห็นชัดเจนว่าเส้นทางชีวิตมันคาดเดาไม่ได้จริงๆ

4. ประทับใจในการกำกับหนังที่เนื้อหาหนักหน่วงไม่ให้คนดูจิตตกมากเกินไปจนลืมสนใจอารมณ์ข้างในของตัวละคร

5. อาจจะไม่ใช่คนที่อินกับภาพรวมทั้งหมดของหนังมากนัก แต่บอกเลยว่าอินกับฉากจบมาก เรียบง่ายแต่ทรงพลัง ต้องให้เครดิตระหว่างทางเกือบสองชั่วโมงที่ผลักเน้นให้เห็นความเคว้งคว้างข้างในตัวละครออกมาได้อย่างยอดเยี่ยม

สิ่งที่ไม่ชอบที่สุดจากหนัง

เรารู้สึกว่าตัวหนังมันสมบูรณ์ในสิ่งที่ผู้กำกับอยากจะเล่าแล้วล่ะ ถึงแม้ Moonlight เป็นหนังที่เราไม่ได้ชอบสุดๆ แต่กลับนึกหาจุดที่ไม่ชอบหรือเสียดายไม่เจอ อย่างเช่นว่าถ้าหากหนังลงรายละเอียดเชื่อมต่อกันมากกว่านี้มันก็จะไม่ใช่การเล่าแบบมินิมัล และก็คงจะจำเจกับหนังแนว coming of age ทั่วไป หรือว่าพวกตระกูลชีวประวัติ (ซึ่งเราชอบการแบ่ง 3 องก์ เป็น 3 ช่วงวัย และเล่าน้อยๆ แบบนี้)

เราเรียนรู้อะไรจากหนัง

สภาพแวดล้อมของสังคมที่ย่ำแย่สามารถส่งผลกระทบต่อเราได้ไม่ว่าในทางใดก็ทางหนึ่ง แต่สุดท้ายเราจะเป็นอย่างไรมันก็ขึ้นอยู่กับตัวเราเลือกกำหนดเอง  ชีวิตเป็นอะไรที่คาดเดาไม่ได้ มันไม่มีคำตอบตายตัวว่าตอนเด็กเป็นแบบนี้ แล้วโตขึ้นจะต้องเป็นแบบไหน จะว่าไปผู้ใหญ่เองยังสามารถเปลี่ยนแปลงกลับตัวกันได้ตลอดเวลา

เกร็ดเล็กเกร็ดน้อยจากหนัง

นักแสดงทั้ง 3 คนที่รับบทไชรอนแต่ละช่วงวัยนั้นไม่ได้เจอกันเลยตลอดระยะเวลาการถ่ายทำ ซึ่งเป็นเทคนิคที่ แบร์รี เจนกินส์ ผู้กำกับ Moonlight ต้องการให้แต่ละคนสร้างบุคลิกของตัวเองขึ้นมาโดยไม่ได้รับอิทธิพลจากนักแสดงในวัยอื่น เทคนิคเดียวกันนี้ยังถูกใช้กับตัวละครเควินอีกด้วย

มีเพียง นาโอมี แฮร์ริส (Naomie Harris) ที่รับบทเป็นแม่ของไชรอน เป็นนักแสดงคนเดียวที่ปรากฏตัวในทั้งสามช่วงวัยของไชรอน

หนังเรื่องนี้เหมาะกับใคร

จากเสียงตอบรับของคนใกล้ตัว เราเชื่อว่าคนที่เป็นเพศทางเลือกน่าจะมีแนวโน้มชอบหนังสูงกว่าชายหญิงปกติ เนื่องด้วยตัวเนื้อหามันพูดถึงเด็กผิวสีที่สับสนในตัวเอง อยู่ในสภาพแวดล้อมที่เหยียดเพศ และอารมณ์ของหนังก็ขับเน้นความเดียวดายภายในจิตใจตัวละครออกมา

และก็เชื่อว่าคนที่ถูกจริตกับผลงานกำกับของหว่องกาไว น่าจะมีแนวโน้มเข้าถึงหนังได้ไม่ยาก

ควรชวนใครไปดู

เหมือนเช่นเคยของเทศกาลหนังออสการ์ ควรชวนคนที่ติดตามการประกาศผลรางวัลออสการ์ไปดู ต่อให้เป็นแนวหรือไม่ใช่แนวที่เขาชอบก็ควรไปดูเพื่อจะลุ้นรางวัลได้สนุกยิ่งขึ้น คิดว่าสุดท้าย Moonlight จะไม่กลับบ้านมือเปล่าแน่นอน มีรางวัลติดมือกลับไปด้วยแน่ๆ แต่จะเป็นสาขาอะไรบ้างไปลุ้นกันเอง

ความคุ้มค่าต่อเงินที่เสียไป

พูดตรงๆ ว่าหนังไม่ใช่ทางของตลาดเมืองไทยเลย (หนังดราม่าคนผิวสีขายยากอยู่แล้ว) เทียบกับ Fences ที่ เดนเซล วอชิงตัน แสดงนำและมีลุ้นได้ออสการ์ด้วยแต่กลับไม่เข้าฉายในไทยทั้งๆ ที่หน้าหนังน่าจะทำเงินมากกว่า Moonlight

เราจึงยิ่งรู้สึกว่าหนังดีๆ แบบนี้ควรไปสนับสนุนกันเยอะๆ ส่วนหนึ่งก็เพื่อเป็นแรงผลักดันให้คนนำเข้าหนังมองเห็นว่ากลุ่มคนดูหนังประเภทนี้ยังมีอยู่ ซึ่งการไปดู Moonlight วันนี้มันจะส่งผลดีต่อการนำเข้าหนังในอนาคตแน่นอน

ดังนั้นเรื่องความคุ้มค่าต่อเงินที่เสียไป แค่ตัวหนังเข้าชิง 8 รางวัลออสการ์ เป็นดราม่าน้ำดีที่เล่าเรื่องน่าสนใจ และเป็นหนังขวัญใจนักวิจารณ์ เราก็คิดว่ามันคุ้มที่จะเสียเงินไปดูในโรงแล้ว ไม่ว่าสุดท้ายคุณจะชอบหนังมาก-น้อย หรือไม่ชอบก็ตาม

ขอ 3 พยางค์จากหนังเรื่องนี้

เคว้ง ได้ ใจ

Tags: ,