แม้ว่าการประกาศรางวัล Academy Awards บนเวทีออสการ์ครั้งที่ 89 จะสิ้นสุดลงไปแล้ว แต่ก็มีเสียงวิพากษ์วิจารณ์กันหนาหู เมื่อเกิดความผิดพลาดในการประกาศรางวัลภาพยนตร์ยอดเยี่ยม จากเดิมที่ เฟย์ ดันอเวย์ นักแสดงหญิงรุ่นใหญ่ได้ประกาศว่า La La Land เป็นผู้ชนะ (เพราะได้รับจดหมายผิดซอง อ่านต่อ) กลับกลายเป็นว่ารางวัลนี้ตกเป็นของ Moonlight ภาพยนตร์แนว coming of age กำกับโดย แบร์รี เจนกินส์ (Barry Jenkins)

ผลลัพธ์ที่พลิกโผนี้อาจทำให้หลายๆ คนนึกถึงกรณีการเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐฯ ที่หักปากกาเซียนแทบทุกสำนัก คนจำนวนไม่น้อยแสดงความไม่พอใจต่อทีมงานที่ขาดความเป็นมืออาชีพ บ้างเห็นตรงกันว่าฮอลลีวูดจงใจส่งสารตอบโต้ โดนัลด์ ทรัมป์ อย่างเจ็บแสบ ด้วยการยกย่องความหลากหลายบนเวทีอันทรงเกียรติมากกว่าจะเชิดชู ‘อเมริกา’ อย่างที่ผ่านมา

ทางฝ่ายสื่อมวลชนหลายสำนักได้ออกมาสนับสนุนการประกาศผลครั้งนี้ Bloomberg พาดหัวข่าวว่า “Moonlight คว้ารางวัลภาพยนตร์ยอดเยี่ยมในนาทีสุดท้าย สร้างประวัติศาสตร์ภาพยนตร์ของคนผิวสี” ขณะที่เว็บไซต์ Vox กล่าวชื่นชมว่าเป็นรางวัลที่คู่ควร

ท่ามกลางเสียงที่แตกออกเป็นหลายกระแส The Momentum ชวน ก้อง-ก้อง ฤทธิ์ดี นักวิจารณ์ภาพยนตร์ชื่อดัง ต๊ะ-จักรพันธุ์ ขวัญมงคล บรรณาธิการนิตยสาร The Hollywood Reporter Thailand และ เอิร์ธ-นิโรธ รื่นเจริญ พิธีกร-แฟนพันธุ์แท้ออสการ์ มาร่วมพูดคุยกันถึงชัยชนะของภาพยนตร์เรื่องนี้ว่าเปลี่ยนประวัติศาสตร์เวทีออสการ์และภาพยนตร์ไปอย่างไร

ลบข้อครหา #OscarSoWhite เชิดชูความหลากหลาย และ Anti-Trump

เมื่อผลออกมาว่า Moonlight ชนะรางวัลภาพยนตร์ยอดเยี่ยม หลายคนจึงคาดเดากันว่าออสการ์พยายามจะลบล้างข้อครหาจากปีที่แล้วว่าเป็นเวทีที่มีแต่คนขาว หรือ #OscarSoWhite อีกทั้งยังเป็นการตอกหน้าทรัมป์ที่มีทัศนคติเชิงลบต่อผู้หญิงและความหลากหลายทางเชื้อชาติและศาสนาอย่างดุเดือด

อธิบายสั้นๆ ภาพยนตร์เรื่อง Moonlight บอกเล่าเรื่องราวชีวิตของชีรอน (Shiron) เกย์ผิวสีที่พยายามดิ้นรนต่อสู้เพื่อมีชีวิตอยู่และค้นหาตัวตนในแต่ละช่วงวัย โดยคว้ารางวัลไปทั้งสิ้น 3 สาขา ได้แก่ สาขาภาพยนตร์ยอดเยี่ยม สาขานักแสดงสมทบชายยอดเยี่ยม และสาขาบทภาพยนตร์ดัดแปลงยอดเยี่ยม จากบทละครเวที “In Moonlight Black Boys Look Blue”

ต๊ะ-จักรพันธุ์ ขวัญมงคล บรรณาธิการนิตยสาร The Hollywood Reporter Thailand กล่าวว่า Moonlight นำเสนอประเด็นความหลากหลายได้ชัดเจนก็จริง ทั้งในแง่เพศสภาพ ผิวสี และเชื้อชาติ แต่มองว่าคณะกรรมการออสการ์ควรตัดสินคุณค่าที่ตัวหนังมากกว่าประเด็นทางการเมืองในปัจจุบัน

“ผมคิดว่าคณะกรรมการให้ความสำคัญกับประเด็นเรื่องความหลากหลาย ซึ่งมีไม่กี่เรื่องที่พูดถึงเรื่องความหลากหลายหรือเป็นตัวแทนของความหลากหลายในปีที่ผ่านมา คือ Hidden Figures, Fences และ Moonlight

“ผมยังไม่ได้ดู Fences เพราะฉะนั้นผมก็ไม่รู้ว่ามันดีกว่าหรือไม่ แต่คณะกรรมการน่าจะประทับใจ Moonlightมากกว่า Hidden Figures ตรงแง่ที่ว่ามันมีทั้งเรื่องผิวสี เพศที่ 3 หรือเพศทางเลือก ถ้าพูดกันตรงๆ เลยก็คือมันเป็น 2 ประเด็นสำคัญที่แอนตี้ทรัมป์ (anti-Trump) ในตัวของมันเอง

“ในแง่ของความเป็นหนัง โปรดักชันของหนังเรื่องนี้มันค่อนข้างใหม่ ผู้กำกับก็กำกับเรื่องที่ 2 นักแสดงก็หน้าใหม่เกือบหมด ทุนสร้างเล็ก เมื่อเทียบกับ Hidden Figures ซึ่งเป็นหนังแบบที่ออสการ์ชอบและแมสพอสมควร ทั้งที่พูดถึงความหลากหลายเหมือนกัน

“สำหรับผมนะ ผมคิดว่ามันไม่ได้ชนะโดยตัวหนังของมันทั้งหมด เพราะอีกส่วนหนึ่งมันคือนัยยะทางการเมืองที่คณะกรรมการต้องการจะสื่อถึงบางอย่าง แต่โดยตัวหนังมันธรรมดามากเลยสำหรับผม มันเป็นหนังแบบ ‘เราต้องยอมรับในสิ่งที่เราเป็น เราเลือกเกิดไม่ได้ แต่เราเลือกจะเป็นได้’”

เปิดพื้นที่ให้กับหนังอินดี้ทุนต่ำ

ด้านก้อง-ก้อง ฤทธิ์ดี มองว่าแม้ผลจะออกมาพลิกล็อก แต่ก็เป็นการเปิดพื้นที่ให้กับหนังอินดี้ทุนต่ำคุณภาพดีบนเวทีระดับโลก

“มันพูดถึงเรื่องของคนผิวดำในยุคซึ่งปัญหาเรื่องความสัมพันธ์ทางด้านเชื้อชาติในอเมริกากำลังคุกรุ่น และมันก็มีประเด็นทางด้านสังคมและการเมืองด้วย ถ้าเป็น La La Land เมสเสจนี้ก็อาจจะไม่ค่อยชัด แต่เรื่องนี้มันก็ยังพอจะมีจุดที่คนพูดถึงได้บ้าง

แต่การที่มันได้รางวัลจากการประกาศผิด และไม่ได้รางวัลเยอะ (3 รางวัล) มันก็มีความลักลั่นบางอย่าง ทำให้หนังเสียราศีไปนิดหนึ่ง

“แต่อย่างน้อยมันแสดงให้เห็นว่าออสการ์พยายามแก้ตัวจากที่ไม่เคยให้ความสำคัญกับหนังที่คนอื่นทำ ทำหนังเหมือนเครื่องจักร ยังไม่นับว่ามันเป็นหนังอาร์ตอินดี้ ทุนสร้างน้อย ดูยากๆ หน่อย เป็นเรื่องของความรู้สึกอารมณ์ ไม่ได้มีพล็อตหรืออะไรอย่างที่ขนบธรรมเนียมออสการ์ชอบ ได้เงินน้อยกว่าเรื่องอื่น เพราะมันเข้าโรงฉายน้อย ฉะนั้นองค์ประกอบต่างๆ มันไม่ได้เอื้อเลยที่จะได้ ถึงแม้ว่าจะมีคนเชียร์เยอะ ผมคิดว่ามันจะไปต้าน La La Landไม่ไหว แต่สรุปว่ามันได้ ซึ่งก็ดี”

แหวกขนบ เกินความคาดหมาย แต่ก็สมศักดิ์ศรี

ขณะที่ เอิร์ธ-นิโรธ รื่นเจริญ มองว่าจริงอยู่ที่การเมืองและกระแส#OscarSoWhite มีผลต่อการตัดสินของคณะกรรมการ แต่ภาพยนตร์เรื่องนี้ก็สมควรได้รับรางวัลดังกล่าวเช่นเดียวกัน

Moonlight เป็นภาพยนตร์ที่ยอดเยี่ยมมากครับ เป็นหนังอาร์ตที่สวยงามและมีเนื้อหาที่กล้าหาญ มันพูดเรื่องการสำรวจตัวตนของคนผิวสีที่ค่อยๆ เรียนรู้ว่าตัวเองเป็นเกย์ จริงๆ หนังมันค่อนข้างจะปัจเจก ค่อนข้างจะส่วนตัวมาก แต่ว่ามันก็มี Art Form ที่เด่นชัดที่สุด ทุกอย่างก็ยอดเยี่ยมไปหมด เป็นหนังที่ได้รับคำวิจารณ์สูงมากในปีนี้ ได้คะแนนจากเว็บรวมบทวิจารณ์ Metacritic ประมาณ 99 คะแนน

La La Land มันเป็นหนังขวัญใจมหาชนและเป็นตัวเต็ง เพราะกวาดรางวัลก่อนหน้านี้มาหมด ตั้งแต่ Critics’ Choice Awards ลูกโลกทองคำ สมาพันธ์ทุกสมาพันธ์กวาดมาเรียบ

“สไตล์การนำเสนอมันก็มีความเป็นเอกลักษณ์ชัดเจน หนังมันจะมีความเป็นหนังอาร์ตแบบเอเชีย เน้นอารมณ์ท่วมท้นมากกว่าเรื่องราวเสียอีก แล้วมันก็เป็นหนังที่มีวิธีการเล่าเรื่องหรือว่าการใช้ภาพที่เป็นศิลปะ

“หนังเรื่อง Moonlight ได้รางวัลมันสะท้อนให้เห็นว่าเหล่าคนในอุตสาหกรรมภาพยนตร์ต้องการเปลี่ยนจุดยืนทางด้านแนวคิด เพื่อเปิดโอกาสให้กับความหลากหลายทางด้านเพศ เชื้อชาติ สีผิว และ Moonlight ก็เป็นภาพยนตร์เกี่ยวกับเกย์เรื่องแรกที่ได้รางวัลนี้ มันเหมือนเป็นการแก้มือให้กับ Brokeback Mountain ไปด้วย”

ยอมรับความแตกต่างแล้วไงต่อ ออสการ์จะก้าวหน้าหรือถอยหลัง

ถึงจะเป็นสัญญาณอันดีที่ปีนี้ออสการ์เปิดกว้างและยอมรับความหลากหลายของผู้คนทั้งเบื้องหน้าและเบื้องหลังในอุตสาหกรรมภาพยนตร์ แต่นั่นก็ไม่ได้หมายความว่าออสการ์กอบกู้ความน่าเชื่อถือของเวทีกลับมาได้ภายในข้ามคืน เพราะความผิดพลาดที่เกิดขึ้นในการประกาศรางวัลกลับยิ่งทำให้คนสงสัยว่าเป็นสคริปต์ที่ออสการ์จงใจ ‘เซต’ ขึ้นมาเรียกกระแสหรือไม่

จึงเป็นเรื่องน่าเสียดายอยู่ไม่น้อยที่ความผิดพลาดครั้งนี้กลับกลบข้อดีของหนังเรื่องนี้มากพอสมควร

เมื่อ The Momentum ถามว่าการที่ Moonlight คว้ารางวัลสูงสุดไปครองสะท้อนถึงความก้าวหน้าของงานประกาศรางวัลระดับโลกนี้หรือไม่

ก้อง ฤทธิ์ดี ตอบว่าเรื่องนี้ต้องจับตาดูกันต่อไป

“ไม่กล้าบอกว่าก้าวหน้าหรือเปล่า แต่มันก็เปิดกระแสมาได้ เหมือนกับทำลายเขื่อนได้สักเขื่อนหนึ่ง แต่ก็ยังมีอีกหลายเขื่อน หรืออาจเป็นการเปิดประตูบานแรกไปก่อน อย่างน้อยหนังแบบนี้ก็ยังได้รางวัลใหญ่ที่สุดของออสการ์ได้ ต่อไปเราก็ไม่รู้ว่ามันจะเป็นยังไง แต่นี่คือกระแสสังคมในตอนนี้ที่ทางฝั่งฮอลลีวูด ซึ่งแสดงตัวว่าเป็นหัวก้าวหน้า อาจจะต้องยิ่งแสดงออกมากขึ้นเพื่อพิสูจน์ว่าตัวเองปรับตัวตามสังคม หรือว่าแรงกระเพื่อมของสังคมที่เปลี่ยนไป

“แต่ก็น่าแปลก โอบามาเป็นประธานาธิบดีผิวดำตั้งนาน ก็ไม่เห็นมีใครสนใจคนผิวดำ แต่พอโอบามาไปปุ๊บ ได้ทันที มันก็แปลกดี”

ฝ่าย จักรพันธุ์ ขวัญมงคล กล่าวว่าออสการ์ล้มเหลวในความพยายามครั้งนี้

“ออสการ์พยายามจะสร้างความน่าเชื่อถือมากขึ้น หรือพยายามที่จะฟังเสียงรอบข้างมากขึ้น มันเป็นผลมาจากปีที่แล้วที่โดนล้อว่า #OscarSowhite ปีนี้เขาก็เลยให้ Moonlight ซึ่งส่วนตัวผมรู้สึกว่ามันไม่จำเป็นต้องให้ด้วยเหตุผลนี้ก็ได้ แล้วก็ตัดสินหนังในแง่ความเป็นหนังมากกว่า ออสการ์พยายามทำสิ่งนี้อยู่ครับ แล้วก็โชคร้ายที่ไม่สำเร็จ”

อ้างอิง:

Tags: ,