หากใครชื่นชอบการอ่านหรือชมการสัมภาษณ์ โดยเฉพาะกับผู้คนที่มีชื่อเสียงในแวดวงต่างๆ เชื่อว่าต้องคุ้นเคยกับชุดคำถามเหล่านี้ “อะไรคือคุณสมบัติที่คุณชื่นชอบที่สุดในตัวผู้ชาย?”, “อะไรคือคุณสมบัติที่คุณชื่นชอบที่สุดในตัวผู้หญิง?”, “นักดนตรีที่คุณชื่นชอบที่สุดคือใคร?”, “จิตรกรที่คุณชื่นชอบที่สุดคือใคร?” ฯลฯ
แต่จะมีใครเคยสงสัยไหมว่าชุดคำถามเหล่านี้มาจากไหน? และทำไมคำถามเหล่านี้จึงแพร่หลายในการใช้สัมภาษณ์
บทความนี้จะพาเราไปพบกับที่มาของคำถามเหล่านี้และเหตุผลว่าทำไมชุดคำถามเหล่านี้จึงเป็นที่โด่งดังไปทั่วโลก
เกมถามตอบในห้องนั่งเล่น
ย้อนกลับไปในช่วงปลายศตวรรษที่ 19 มีการละเล่นอย่างหนึ่งที่แพร่หลายอยู่ในหมู่คนรู้หนังสือของประเทศอังกฤษ นั่นคือเกมเกี่ยวกับถ้อยคำหรือการถามตอบ และโดยมาก เกมเหล่านี้จะเล่นกันในร่ม จึงทำให้รู้จักกันในชื่อ Parlour Game (เกมในห้องนั่งเล่น) หนึ่งในเกมที่เป็นที่ชื่นชอบมากในขณะนั้นคือ Confession Album (อัลบั้มแห่งการสารภาพ)
ใน Confession Album จะมีชุดคำถามประมาณ 20-40 ข้อเกี่ยวกับความรู้สึกนึกคิดด้านต่างๆ ให้ผู้เล่นตอบ โดยการเขียนชื่อผู้ตอบและคำตอบลงไป โดยเจ้าของอัลบั้มจะเป็นคนเชื้อเชิญเพื่อนหรือคนรู้จักให้ตอบชุดคำถามเหล่านั้นและเก็บไว้เป็นของที่ระลึกส่วนตัว ต่อมา Confession Album ได้แพร่หลายไปสู่ประเทศสหรัฐอเมริกา ฝรั่งเศส และเยอรมัน
ในปี 1886 ที่ประเทศฝรั่งเศสเด็กผู้หญิงคนหนึ่งชื่ออ็องตัวแน็ต ฟอร์ (Antoinette Faure) ได้ขอให้เพื่อนผู้ชายคนหนึ่งของเธอตอบแบบสอบถามที่ชื่อ Confession. An Album to Record Thoughts, Feelings, & c. ซึ่งเป็นอัลบั้มนำเข้าจากอังกฤษ นั่นหมายถึงว่าคำถามต่างๆ ถูกเขียนขึ้นเป็นภาษาอังกฤษทั้งหมด แต่เพื่อนของเธอได้เลือกเขียนคำตอบเป็นภาษาฝรั่งเศส
ลีลาการตอบของเพื่อนผู้ชายของเธอซึ่งในตอนนั้นอายุสิบสามปี มีลักษณะของความช่างคิด ยอกย้อน และอ่อนไหว มีเค้าลางของสิ่งที่ต่อมาถูกเรียกว่า Proustian Style ตามชื่อสกุลของเขา
เด็กชายคนนั้นชื่อ Marcel Proust (มาร์แซล พรูสต์)
จากนั้นผ่านไปอีกเจ็ดปี พรูสต์ในวัยหนุ่มได้ตอบแบบสอบถามคล้ายกันนี้อีกครั้งในอัลบั้มภาษาฝรั่งเศสชื่อ Les Confidences de Salon
ในช่วงเวลาที่พรูสต์ตอบแบบสอบถามทั้งสองนั้น ถ้ามีใครสักคนบอกเขาว่า ต่อมาแบบสอบถามที่เขาตอบนั้นจะมีความสำคัญและได้รับการเผยแพร่ไปทั่วโลกเขาคงหัวเราะให้กับสิ่งที่เขาได้ยิน เพราะในขณะนั้นอัลบั้มคำถามเป็นที่นิยมมาก ผู้คนมีชื่อเสียงมากมายทั้งในยุโรปและสหรัฐอเมริกาล้วนแล้วแต่เคยเล่มเกมตอบคำถามเหล่านี้ แล้วทำไมต้องเป็นเขา เด็กหนุ่มวัยรุ่นที่เพิ่งเริ่มเขียนหนังสือเป็นจริงเป็นจัง
ต่อมาพรูสต์ประสบความสำเร็จและโด่งดังจากนวนิยายเล่มสำคัญของโลกชื่อ À la recherche du temps perdu หรือ In Search of Lost Time (การค้นหาวันเวลาที่สูญหาย)
แต่นั่นก็เป็นช่วงเวลาที่สูญหายของแบบสอบถามด้วย
ในปี 1924 หลังการเสียชีวิตของพรูสต์จากอาการปอดบวม ลูกชายของอ็องตัวแน็ต ฟอร์ ที่ชื่อ อ็องเดร แบร์จ (André Berge) ซึ่งเป็นนักจิตวิเคราะห์ ได้พบอัลบั้มแบบสอบถามอยู่ในกองหนังสือเก่าของแม่ และนำแบบสอบถามของพรูสต์มาตีพิมพ์เป็นบทความชื่อ About a Lucky Find เผยแพร่ในวารสารเกี่ยวกับวรรณกรรมฝรั่งเศสชื่อ Les Cahiers du Mois
โดยแบร์จ นำเสนอการวิเคราะห์ทางจิตวิทยาผ่านการพิจารณาจากคำตอบต่างๆ ที่พรูสต์เขียนลงไปในแบบสอบถาม เช่นคำถามที่ว่า “ความทุกข์ในความเห็นของคุณ” คำตอบแรกที่พรูสต์เขียนลงไปในแบบสอบถามคือ “การอยู่ห่างไปจากแม่” แต่พรูสต์ก็ขีดฆ่าคำว่า “การอยู่ห่าง” ออก และเขียนคำว่า “การถูกพรากออกจาก” ลงไปแทน แบร์จกล่าวว่า “การขีดฆ่าเช่นนี้ทำให้เราเห็นอย่างชัดเจนถึงความกระอักกระอ่วนใจอยู่เป็นนิตย์ของนักจิตวิทยาผู้ยิ่งใหญ่ผู้นี้ เขาพยายามสะท้อนเฉดความคิดเกี่ยวกับเรื่องทั้งหลายอันยากจะเข้าใจด้วยการปรับเปลี่ยนถ้อยคำอย่างแยบยล”
การนำเสนอบทความของแบร์จ ถือว่าเป็นครั้งแรกของการให้ความสำคัญและยกย่องต่อการตอบแบบสอบถามของพรูสต์ และสามารถเรียกได้ว่าเป็นจุดกำเนิดของชื่อ Proust Questionnaire
แต่นี่ก็ไม่ใช่สาเหตุเดียวที่ทำให้ชุดคำถามนี้โด่งดังภายใต้ชื่อเสียงของพรูสต์
Proust Questionnaire ในศตวรรษที่ 20
ในช่วงกลางของศตวรรษที่ 20 คำตอบของแบบสอบถามที่มีรูปแบบคำถามอันหลากหลายจากนักเขียนและปัญญาชนในด้านวรรณกรรมได้เริ่มถูกตีพิมพ์ในนิตยสารที่เผยแพร่ในยุโรปและในอังกฤษ
หลังจากที่แบบสอบถามเป็นที่รู้จักแพร่หลายกันในยุโรป ในปี 1993 นิตยสาร Vanity Fair ในสหรัฐอเมริกาได้เริ่มตีพิมพ์คอลัมน์ที่ใช้รูปแบบของแบบสอบถามลักษณะนี้ โดยใช้ชื่อ Proust Questionnaire โดยมีคำตอบแบบสอบถามของผู้ที่มีชื่อเสียงโด่งดังเป็นจำนวนมากจากทุกแวดวง ไม่ว่าจะเป็นเดวิด โบวี่ (David Bowie), โดนัลด์ ทรัมป์ (Donald Trump), จอห์นนี่ แคช (Johnny Cash), หรือ มาร์กาเร็ต แอ็ทวูด (Margaret Atwood)
แต่กระแสของความโด่งดังของแบบสอบถามไม่ได้มาจากแวดวงสิ่งพิมพ์เพียงอย่างเดียวเท่านั้น หากยังมีแรงส่งจากรายการโทรทัศน์อีกด้วย
ในช่วงปี 1990-2001 รายการทอล์กโชว์ทางโทรทัศน์ที่ได้รับความนิยมอย่างแพร่หลายในฝรั่งเศสชื่อ Bouillon de Culture ของแบร์นาร์ด์ ปีโวต์ (Bernard Pivot) ได้หยิบยืมและดัดแปลงลักษณะแบบสอบถามของพรูสต์ โดยเปลี่ยนแปลงคำถามตามความคิดของปีโวต์เองมาใช้ในช่วงปิดรายการ โดยผู้ที่เข้าร่วมตอบคำถามท้ายรายการเป็นผู้ที่มีชื่อเสียงโด่งดัง เช่น อุมแบร์โต เอโค (Umberto Eco), วูดดี้ อัลเลน (Woody Allen) เป็นต้น รายการของปีโวต์ประสบความสำเร็จอย่างสูงในฝรั่งเศส และได้เป็นแรงบันดาลใจให้ เจมส์ ลิปตัน (James Lipton) เจ้าของรายการ Inside the Actor Studio ในสหรัฐอเมริกา นำรูปแบบของการตอบแบบสอบถามไปใช้กับรายการของตัวเองในปี 1994
เขากล่าวถึงแบบสอบถามของปีโวต์ ไว้ในหนังสืออัตชีวประวัติว่า มันเป็นแบบทดสอบทางวาจาที่บอกเล่าเกี่ยวกับตัวตนผู้ที่ตอบแบบสอบถามกว่าการถามตอบเป็นชั่วโมง
และจากความโด่งดังของตัวพรูสต์เอง และจากรูปแบบของการปรับใช้และนำเสนอแบบสอบถาม ทำให้ Proust Questionnaire กลายเป็นสัญลักษณ์ของการให้เกียรติแก่ผู้ที่ได้รับเชิญไปตอบคำถาม โดยมีการให้เหตุผลเชิงวิเคราะห์เกี่ยวกับเรื่องนี้กันว่า เนื่องจากในการสัมภาษณ์โดยทั่วไปนั้น ผู้สัมภาษณ์ในสื่ิอต่างๆ ได้ดัดแปลงคำถามให้เข้ากับหัวข้อหรือประเด็นที่ต้องการสื่อ แต่การที่คำถามในแบบสอบถามของ Proust Questionnaire ไม่มีการเปลี่ยนแปลงนั้น ได้สร้างสถานะพิเศษแก่ตัวแบบสอบถามและผู้ทำแบบสอบถามในด้านของความคิดเห็น ความชอบ และรสนิยม ไปสู่ความดึงดูดใจเชิงปรัชญาที่อยู่เบื้องหลังคำตอบของแต่ละบุคคล
แต่การให้คุณค่ากับ Proust Questionnaire แบบนี้ ไม่ได้เป็นการจำกัดหรือล้อมรั้วศักดิ์สิทธิ์ที่สงวนไว้แก่เหล่าผู้คนที่มีชื่อเสียง เพราะนั่นเป็นเพียงภาพที่ปรากฏมาจากสื่อ และการให้ความหมาย ตัวตนของแบบสอบถาม ก็ทำหน้าที่ไกลออกไปจากการละเล่นและการให้ความหมายเชิงสัญลักษณ์ เพราะมันถูกประยุกต์ไปใช้กับแบบทดสอบทางจิตวิทยาในการสัมภาษณ์งาน เป็นเครื่องมือในการสร้าง วิเคราะห์ และพัฒนาบุคลิกภาพของตัวละครในบทละคร นวนิยาย ภาพยนตร์ หรือแม้แต่คำถามลองใจใครสักคน
และหากมอง Proust Questionnaire ด้วยสายตาของ involuntary memory (การฟื้นตื่นฉับพลันของความทรงจำหลับใหล) ซึ่งเป็นมโนทัศน์สำคัญของ In Search of Lost Time นวนิยายเรื่องเอกของเขา เมื่อวันหนึ่งที่เวลาล่วงไป ถ้อยคำสั้นๆ ที่ใช้ในตอบคำถามแต่ละข้อของแต่ละคนก็อาจเป็นจุดเริ่มต้นของการย้อนคืนความทรงจำอันยิ่งใหญ่เช่นเดียวกับขนมมัดแล็นและชาไลม์ของมาร์แซล พรูสต์
000
แบบสอบถามและคำตอบทั้งสองชุดของมาร์แซล พรูสต์
Confessions. An Album to Record Thoughts, Feelings, &c.
(แบบสอบถามที่พรูสต์ตอบครั้งแรกเมื่ออายุ 13)
Your favourite virtue.
คุณธรรมที่คุณชื่นชอบ
– Toutes celles qui ne sont pas particulières à une secte, les universelles.
– ทุกคุณธรรมที่ไม่จำกัดอยู่กับนิกายใดนิกายหนึ่ง หมายถึงคุณธรรมแบบที่เป็นสากล
Your favourite qualities in a man.
คุณสมบัติที่คุณชื่นชมในตัวผู้ชาย
– L’intelligence, le sens moral.
ความเฉลียวฉลาด, ความตระหนักทางศีลธรรม
Your favourite qualities in a woman.
คุณสมบัติที่คุณชื่นชมในตัวผู้หญิง
– La douceur, le naturel, l’intelligence.
ความอ่อนโยน, ความเป็นธรรมชาติ, ความเฉลียวฉลาด
Your favourite occupation.
กิจกรรมที่คุณชื่นชอบ
– La lecture, la rêverie, les vers, l’histoire, le théâtre.
อ่านหนังสือ, เคลิ้มฝัน,โคลงกลอน, ประวัติศาสตร์ การละคร
Your chief characteristic.
ลักษณะเด่นของคุณ
– (ไม่ตอบ)
Your idea of happiness.
ความสุขในความเห็นของคุณ
– Vivre près de tous ceux que j’aime avec les charmes de la nature, une quantité de livres et de partitions, et pas loin un théâtre français.
การได้มีชีวิตอยู่กับคนที่ผมรักในธรรมชาติที่งดงาม รายรอบไปด้วยหนังสือและโน้ตดนตรี และอยู่ไม่ไกลนักจากโรงละครฝรั่งเศส
Your idea of misery.
ความทุกข์ในความเห็นของคุณ
– การถูกพรากออกจากแม่
Your favourite colour and flower.
สีและดอกไม้ที่คุณชอบ
– Je les aime toutes, et pour les fleurs, je ne sais pas.
ผมชอบทุกสี ส่วนดอกไม้นั้น ผมไม่รู้
If not yourself, who would you be?
ถ้าไม่ใช่ตัวคุณเอง คุณอยากเป็นใครที่สุด?
– N’ayant pas à me poser la question, je préfère ne pas la résoudre. J’aurais cependant bien aimé être Pline le jeune.
ความที่ผมไม่เคยตั้งคำถามเรื่องนี้ ผมจึงเลือกที่จะไม่ตอบ แต่ถึงอย่างนั้น ผมอยากเป็นพลินีผู้เยาว์
Where would you like to live?
คุณอยากใช้ชีวิตอยู่ที่ไหน
– Au pays de l’idéal, ou plutôt de mon idéal.
ในดินแดนแห่งอุดมคติ หรือให้ยิ่งกว่านั้น ดินแดนแห่งอุดมคติของผม
Your favourite prose authors.
นักเขียนที่คุณชื่นชอบ
– George Sand, Aug. Thierry.
จอร์จ ซองด์, โอกุสแต็ง เธียร์รี
Your favourite poets.
กวีที่คุณชื่นชอบ
– Musset. มุซเซต์
Your favourite painters and composers.
จิตรกรและนักแต่งเพลงที่คุณชื่นชอบ
– Meissonnier, Mozart, Gounod.
เมสซอนนีเย, โมสาร์ท, กูโนด์
Your favourite heroes in real life.
วีรบุรุษที่คุณชื่นชอบในชีวิตจริง
– Un milieu entre Socrate, Périclès, Mahomet, Musset, Pline le Jeune, Aug. Thierry.
ส่วนผสมกันของโสคราติส, เพอริแคลส, มาโฮเมต์, มุซเซต์, พลินีผู้เยาว์ และโอกุสแต็ง เธียร์รี
Your favourite heroines in real life.
วีรสตรีที่คุณชื่นชอบในชีวิตจริง
– Une femme de génie ayant l’existence d’une femme ordinaire.
ผู้หญิงอัจฉริยะที่มีชีวิตแบบผู้หญิงธรรมดาคนหนึ่ง
Your favourite heroes in fiction.
วีรบุรุษที่คุณชื่นชอบในเรื่องแต่ง
– Les héros romanesques poétiques, ceux qui sont un idéal plutôt qu’un modèle.
วีรบุรุษแบบในนวนิยายอันงดงาม คนที่เป็นตัวแทนของอุดมคติมากกว่าเป็นแบบอย่าง
Your favourite heroines in fiction.
วีรสตรีที่คุณชื่นชอบในเรื่องแต่ง
– Celles qui sont plus que des femmes sans sortir de leur sexe, tout ce qui est tendre poétique, pur, beau dans tous les genres.
ผู้หญิงที่เป็นมากกว่าผู้หญิงโดยไม่หลุดจากความเป็นหญิงคือทุกอย่างที่อ่อนโยน, ละมุนละไม, บริสุทธิ์และงดงามในทุกท่วงที
Your favourite food and drink.
อาหารและเครื่องดื่มที่คุณชื่นชอบ
– (ไม่ตอบ)
Your favourite names.
ชื่อที่คุณชอบ
– (ไม่ตอบ)
Your pet aversion.
สิ่งที่คุณไม่ชอบ
– Les gens qui ne sentent pas ce qui est bien, qui ignorent les douceurs de l’affection.
คนที่ไม่สัมผัสถึงสิ่งที่ดี คนที่ไม่รู้จักความอ่อนหวานแห่งเสน่หา
What characters in history do you most dislike ?
บุคคลในประวัติศาสตร์คนไหนที่คุณเกลียดชังที่สุด?
– (ไม่ตอบ)
What is your present state of mind ?
สภาวะจิตใจคุณตอนนี้เป็นอย่างไร
– (ไม่ตอบ)
For what fault have you most toleration?
คุณมีความผ่อนปรนให้ความผิดใดมากที่สุด
– Pour la vie privée des génies.
ให้กับเรื่องส่วนตัวของเหล่าอัจฉริยะ
Your favourite motto.
คำขวัญประจำตัวของคุณ
– Une qui ne peut pas se résumer parce que sa plus simple expression est ce qu'[il y] a de beau, de bon, de grand dans la nature.
ไม่สามารถสรุปออกมาได้เพราะมันคือการแสดงออกที่เรียบง่ายที่สุดของความสวยงาม ความดี และความยิ่งใหญ่ในธรรมชาติ
Marcel Proust par lui-même
(แบบสอบถามที่พรูสต์ตอบเมื่ออายุ 20)
Le principal trait de mon caractère.
ลักษณะที่โดดเด่นที่สุดในตัวผม
– Le besoin d’être aimé et, pour préciser, le besoin d’être caressé et gâté bien plus que le besoin d’être admiré.
ความปรารถนาที่จะถูกรัก หรือถ้าจะให้เฉพาะเจาะจงกว่านั้น การถูกสัมผัสอย่างอ่อนโยนและตามอกตามใจมากกว่าการได้รับความชื่นชม
La qualité que je désire chez un homme.
คุณสมบัติที่ผมต้องการในตัวผู้ชาย
– Des charmes féminins. เสน่ห์แบบผู้หญิง
La qualité que je désire chez une femme.
คุณสมบัติที่ผมต้องการในตัวผู้หญิง
– Des vertus d’homme et la franchise dans la camaraderie.
คุณธรรมแบบผู้ชายและมิตรภาพแบบตรงไปตรงมา
Ce que j’apprécie le plus chez mes amis.
สิ่งที่ผมชื่นชอบที่สุดในตัวเพื่อนของผม
– D’être tendre pour moi, si leur personne est assez exquise pour donner un grand prix à leur tendresse.
ความอ่อนโยนที่มีต่อผม หากตัวพวกเขาเองละเอียดอ่อนเพียงพอที่จะให้ค่ากับเรื่องอ่อนโยน
Mon principal défaut.
ข้อบกพร่องหลักของคุณ
– Ne pas savoir, ne pas pouvoir “vouloir”.
ความไม่รู้, การขาด “ความมุ่งมั่น”
Mon occupation préférée.
กิจกรรมที่ผมชื่นชอบ
– Aimer.
การรัก
Mon rêve de bonheur.
ผมฝันเรื่องความสุขไว้อย่างไร
– J’ai peur qu’il ne soit pas assez élevé, je n’ose pas le dire, j’ai peur de le détruire en le disant.
ผมเกรงว่ามันไม่สูงส่งพอ ผมไม่กล้าเอ่ยถึงมัน เกรงว่าการเอ่ยถึงมันจะเป็นการทำลายมันลงไป
Quel serait mon plus grand malheur?
อะไรน่าจะเป็นเรื่องโชคร้ายที่สุดของผม
– ne pas avoir connu ma mère ni ma grand-mère.
การไม่ได้รู้จักทั้งแม่และยายของผม
Ce que je voudrais être.
ผมอยากเป็นคนแบบไหน
– Moi, comme les gens que j’admire me voudraient.
เป็นตัวเองในแบบที่คนอื่นที่ผมชื่นชมอยากให้ผมเป็น
Le pays où je désirerais vivre.
ผมอยากอยู่ในประเทศไหน
– Celui où certaines choses que je voudrais se réaliseraient comme par un enchantement et où les tendresses seraient toujours partagées.
ในที่ซึ่งสิ่งที่ผมต้องการเป็นจริงขึ้นมาอย่างน่าอัศจรรย์ และในที่ซึ่งความรักใคร่ได้รับการแบ่งปันอยู่เสมอ
La couleur que je préfère.
สีที่ผมชื่นชอบ
– La beauté n’est pas dans les couleurs, mais dans leur harmonie.
ความงามไม่ได้ขึ้นอยู่กับสีสันหากแต่เป็นความสอดคล้อง
La fleur que j’aime.
ดอกไม้ที่ผมรัก
– La sienne- et après, toutes.
ดอกไม้ของเธอ แต่นอกเหนือจากนั้นคือทั้งมวล
L’oiseau que je préfère.
นกที่ผมชอบ
– L’hirondelle.
นกนางแอ่น
Mes auteurs favoris en prose.
นักประพันธ์ที่ผมชื่นชอบ
– Aujourd’hui Anatole France et Pierre Loti.
ในตอนนี้คือ อนาโตล ฟร็องซ์ และ ปิแยร์ โลติ
Mes poètes préférés.
กวีที่ผมชื่นชอบ
– Baudelaire et Alfred de Vigny.
โบดแลร์ และ อัลเฟรด เดอ วิญญี่
Mes héros dans la fiction.
วีรบุรุษในนวนิยายที่ผมชื่นชอบ
– Hamlet.
แฮมเล็ต
Mes héroïnes favorites dans la fiction.
วีรสตรีในนวนิยายที่ผมชื่นชอบ
– Bérénice.
เบเรนีซ
Mes compositeurs préférés.
นักประพันธ์เพลงคนโปรดของผม
– Beethoven, Wagner, Schumann.
บีโธเฟน วากเนอร์ ชูมาน
Mes peintres favoris.
จิตรกรคนโปรดของผม
– Léonard de Vinci, Rembrandt.
เลโอนาร์โด ดาวินชี่ เรมบรันด์ท
Mes héros dans la vie réelle.
วีรบุรุษของผมในชีวิตจริงของคุณ
– M. Darlu, M. Boutroux.
คุณดาร์ลู, คุณบูทรูซ์ (ศาสตราจารย์)
Mes héroïnes dans l’histoire.
วีรสตรีในประวัติศาสตร์ที่ผมชื่นชอบ
– Cléopâtre.
คลีโอพัตรา
Mes noms favoris.
ชื่อที่ผมชอบที่สุด
– Je n’en ai qu’un à la fois.
โดยรวมผมมีชื่อเดียว
Ce que je déteste par-dessus tout.
ผมไม่ชอบอะไรมากที่สุด
– Ce qu’il y a de mal en moi.
คุณสมบัติที่แย่ที่สุดในตัวผม
Caractères historiques que je méprise le plus.
บุคคลในประวัติศาสตร์คนไหนที่ผมเกลียดชังที่สุด?
– Je ne suis pas assez instruit.
ผมไม่ค่อยรู้เท่าไหร่
Le fait militaire que j’admire le plus.
เหตุการณ์อะไรในประวัติศาสตร์ด้านทหารที่ผมชื่นชอบที่สุด
– Mon volontariat!
การอาสาเข้าเป็นทหารของตัวผมเอง
La réforme que j’estime le plus.
การปฏิรูปที่ผมให้ความสำคัญมากที่สุด
– (ไม่ตอบ)
Le don de la nature que je voudrais avoir.
ผมอยากได้พรสวรรค์อะไรมากที่สุด
– La volonté, et des séductions.
พลังความมุ่งมั่นและเสน่ห์ที่เกินต้านทาน
Comment j’aimerais mourir.
ผมอยากตายแบบไหน
– Meilleur – et aimé.
ตายแบบที่ดีหน่อยและคนยังรัก
État présent de mon esprit.
สภาวะจิตใจคุณตอนนี้เป็นอย่างไร
– L’ennui d’avoir pensé à moi pour répondre à toutes ces questions.
รำคาญที่ต้องมาคิดเรื่องของตัวเองในการตอบคำถามพวกนี้
Fautes qui m’inspirent le plus d’indulgence.
ผมผ่อนปรนให้กับความผิดใดมากที่สุด
– Celles que je comprends.
ความผิดที่ผมเข้าใจ
Ma devise.
คำขวัญประจำตัวของผม
– J’aurais trop peur qu’elle ne me porte malheur.
ผมไม่อยากพูดถึงมัน กลัวว่ามันจะนำมาซึ่งโชคร้าย
*ขอขอบคุณผู้จงใจนิรนาม ในความช่วยเหลือด้านภาษาฝรั่งเศส
อ้างอิง
- Kindley, E. (1970). Questionnaire. New York, NY: Bloomsbury Academic.
- https://www.library.illinois.edu/rbx/kolbproust/proust/qst/#top
- http://www.openculture.com/2014/06/the-manuscript-of-the-proust-questionnaire.html
- https://thegreatestbooks.org/lists/108
Fact Box
- ในปี 2003 แบบสอบถามที่พรูสต์ตอบครั้งแรกเมื่ออายุ 13 ได้ถูกซื้อไปโดย เฌราร์ด์ ดาเรล (Gérard Darel) ดีไซเนอร์ชาวฝรั่งเศส ด้วยราคา 120,000 ยูโร หรือเกือบห้าล้านบาทตามค่าเงินในขณะนั้น ส่วนแบบสอบถามฉบับที่สองนั้น ไม่มีข้อมูลแน่ชัดว่าอยู่ในครอบครองของผู้ใด
- อ็องตัวแน็ต ฟอร์ (Antoinette Faure) เพื่อนของพรูสต์คือลูกสาวของเฟลิกซ์ ฟอร์ (Félix Faure) ประธานาธิบดีฝรั่งเศสในช่วงปี 1895-1899
- นวนิยาย In Search of Lost Time (การค้นหาวันเวลาที่สูญหาย) ได้รับการยกย่องว่าเป็นหนึ่งในร้อยหนังสือดีของศตวรรษที่ 20 จากการทำสำรวจของหนังสือพิมพ์ Le Monde ของฝรั่งเศสในปี 1999
- In Search of Lost Time ยังไม่ได้รับการแปลเป็นภาษาไทย สำหรับผู้ที่สนใจหาข้อมูลของนวนิยายเรื่องนี้ในภาษาไทยสามารถค้นหาข้อมูลเพิ่มเติมได้จาก
- ยอกอักษรย้อนความคิด โดย นพพร ประชากุล
- วิจักษ์ วิจารณ์วรรณกรรมฝรั่งเศส โดย นพพร ประชากุล
- กงเบรย์ โลกใบแรกของมาร์แซ็ล บทแปลโดย วชิระ ภัทรโพธิกุล บรรณาธิการแปลโดย นพพร ประชากุล
- เนื่องจากคำถามที่พรูสต์ตอบทั้งสองครั้งมีบางคำถามที่คล้ายคลึงกัน และมีบางคำถามที่พรูสต์ไม่ได้ตอบ ปัจจุบันจึงมีการดัดแปลงโดยการตัดทอนบางส่วนออกและเรียบเรียงคำถามใหม่โดยคงความหมายเดิม สำหรับผู้ที่สนใจสามารถดูเพิ่มเติมและทดลองทำแบบสอบถามได้ที่
- แบบทดสอบของรอร์ชาร์ค (Rorschach Test) คือการทดสอบทางจิตวิทยาด้วยรอยหมึกที่คิดค้นโดย แฮร์มันน์ รอร์ชาร์ค วิธีการคือให้ผู้เข้ารับการทดสอบดูภาพหยดหมึกที่หยดบนกระดาษที่พับครึ่งแล้วกางออก เมื่อผู้เข้ารับการทดสอบบอกว่าเห็นเป็นภาพอะไรก็จะนำมาแปลความหมายทางจิตวิทยา