ปีพ.ศ.2563 เป็นปีที่ประวัติศาสตร์โลกต้องบันทึกไว้ว่าแทบทุกประเทศทั่วโลกเผชิญกับการระบาดครั้งใหญ่ของไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ที่ได้รับชื่อว่าโควิด-19 หลายคนอาจคาดหวังว่าประวัติศาสตร์หน้านี้จะมีบทสรุปแสนสุขว่านักวิทยาศาสตร์ชั้นแนวหน้าได้ผลิตวัคซีนต้านโควิด-19 ได้สำเร็จ จัดจำหน่ายแจกจ่ายไปทั่วโลก แล้วประชาชนทุกหมู่เหล่าก็กลับมาใช้ชีวิตสงบและปกติสุขอีกครั้ง

ผู้เขียนขอดับฝันสักหน่อยว่าวัคซีนที่ว่าอาจไม่ได้มาเกิดขึ้นง่ายดายโดยมีอุปสรรคสำคัญคือกลไกตลาดตามระบอบทุนนิยมในปัจจุบัน

โมเดลธุรกิจของบริษัทผู้คิดค้นยาและวัคซีนคือการลงทุนมูลค่ามหาศาล รับความเสี่ยงมโหฬาร โดยพยายามอย่างดีที่สุดเพื่อให้มั่นใจว่ายาหรือวัคซีนที่ผลิตคิดค้นออกมาได้นั้นจะ ‘ปัง’ และนำกำไรกลับคืนสู่บริษัท 

แต่ทั่วโลกต่างประสบปัญหาขาดแคลนวัคซีนโรคระบาดในบางโรคมาเนิ่นนาน เพราะโรคเหล่านั้นไม่ได้สร้างแรงจูงใจให้บริษัทเหล่านั้นผลิตคิดค้นวัคซีน ตัวอย่างคลาสสิกคือ โรคระบาดในประเทศกำลังพัฒนา เช่น มาลาเรีย และไข้เลือดออก ที่แต่ละปีคร่าชีวิตผู้คนจำนวนมากแต่ถูกมองข้ามโดยบริษัทยา วัคซีนเหล่านี้ถูกขนานนามว่า ‘วัคซีนกำพร้า (Orphan Vaccine)’ เนื่องจากไม่มีผู้สนใจพัฒนาต่อโดยมีเหตุผลสำคัญคือตลาดผู้ที่จะซื้อวัคซีนเหล่านี้มีขนาดเล็กเกินไปจนไม่คุ้มค่าที่จะพัฒนาวัคซีนนั่นเอง

โรคระบาดกำเนิดใหม่ (emerging infectious disease) ก็เผชิญกับชะตากรรมที่คล้ายคลึงกัน เนื่องจากบริษัทยามองไม่เห็นอนาคตในการทำกำไรระยะยาวจากการพัฒนาวัคซีนดังกล่าว โรคระบาดอย่าง ซิกา (Zika) ซาร์ส (SARS) และเมอร์ส (MERS) ซึ่งเคยขึ้นหน้าหนึ่งของสื่อในรอบสองทศวรรษที่ผ่านมาจึงยังไม่มีวัคซีนที่ได้รับการอนุมัติให้ใช้ทางการแพทย์ หากโรคดังกล่าวกลับมาระบาดอีกครั้ง 

ในบทความนี้ ผู้เขียนจะพาไปรู้จักกระบวนการของบริษัทยาว่าทำไมการพัฒนาวัคซีนหนึ่งตัวถึงใช้ต้นทุนมหาศาล แนวทางการแก้ปัญหา รวมถึงความท้าทายภายหลังการค้นพบวัคซีนโควิด-19

ทำไมการพัฒนาวัคซีนถึงราคาแพง?

หากจะเทียบการเลือกพัฒนาวัคซีนเพื่อรับมือกับโรคใดโรคหนึ่งของบริษัทยากับการพนันก็คงไม่ผิดนัก แถมยังเป็นการพนันระยะยาวเพราะวัคซีนทั่วไปอาจใช้เวลาวิจัยและพัฒนาตั้งแต่ 7 ถึง 20 ปี เริ่มจากการศึกษาขั้นต้น การทดลองภาคสนาม การขออนุมัติโดยภาครัฐ การเริ่มต้นผลิตและการจัดจำหน่าย ซึ่งแต่ละขั้นตอนจำเป็นต้องใช้เงินทุนมหาศาลและไม่ได้รับรองว่าที่ลงทุนลงแรงไปหลายปีจะออกดอกผลมาให้เก็บเกี่ยว

การพัฒนายาหรือวัคซีนชนิดหนึ่งอาจใช้เงินลงทุนตั้งแต่หลักร้อยล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือสูงถึงหนึ่งพันห้าร้อยล้านดอลลาร์สหรัฐ การศึกษาชิ้นหนึ่งที่ได้รับการอ้างอิงบ่อยครั้งระบุว่า การพัฒนายาชนิดใหม่หนึ่งชนิดจะใช้ต้นทุนเฉลี่ย 802 ดอลลาร์สหรัฐ สาเหตุก็เนื่องจากการยาหรือวัคซีนที่พัฒนาขึ้นนั้น ไม่ใช่ทุกตัวที่จะประสบผลสำเร็จ บ้างติดขัดตั้งแต่ขั้นตอนแรกคือการศึกษาค้นคว้า บ้างมีปัญหาระหว่างการทดสอบทางคลินิกซึ่งต้องพึ่งพาอาสาสมัคร และจำนวนไม่น้อยต้องเผชิญกับกำแพงการขอใบอนุญาตและอนุมัติสิทธิบัตรยาจากภาครัฐ

สมมติว่าบริษัทยาเริ่มต้นค้นคว้ายา 30 ชนิดแต่มี 3 ชนิดที่ฝ่าด่านอรหันต์มาจนสามารถขายเชิงพาณิชย์ได้ ยาที่นำมาจำหน่ายจึงต้อง ‘แบกรับ’ ต้นทุนของการพัฒนายาอีก 27 ชนิดซึ่งล้มเหลวระหว่างทาง จึงไม่น่าแปลกใจที่ยาและวัคซีนจะแพงแสนแพงหากเทียบกับต้นทุนการผลิตต่อชิ้น อีกทั้งยังเป็นการลงทุนที่มีความเสี่ยงสูงลิบสำหรับบริษัทยา

ตัวเลขข้างต้นนั้นสูงเกินไปในแวดวงการพัฒนาวัคซีน เพราะการศึกษาเมื่อ พ.ศ. 2561 พบว่าการค้นคว้าวัคซีนชนิดใหม่สำหรับใช้เพื่อการพาณิชย์นั้นมีโอกาสสำเร็จเพียง 6 เปอร์เซ็นต์เท่านั้น

ในโลกของทุนนิยมซึ่งผู้บริหารในอุตสาหกรรมยาต้องแสวงหากำไรสูงสุดให้ผู้ถือหุ้น กลไกตลาดจึงจูงใจให้พวกเขาและเธอเลือกพัฒนาวัคซีนและยาซึ่งมีโอกาสสร้างกำไรสูงกว่า จึงไม่น่าแปลกใจหากเราจะเห็นสถิติเงินลงทุนเพื่อวิจัยและพัฒนาวัคซีนของโรคระบาดซึ่งถือว่าเป็นโรคระบาดอันดับต้นๆ ของโลก เช่น เอดส์ วัณโรค และมาลาเรีย เป็นสัดส่วนเพียง 1 ใน 100 ของเงินลงทุนเพื่อวิจัยและพัฒนาของโรคที่ระบาดในประเทศร่ำรวย

วัคซีนโรคระบาดกำเนิดใหม่ จูงใจอย่างไรให้เกิด?

แม้ว่าโรคระบาดกำเนิดใหม่อาจไม่มีตลาดที่ชัดเจนนัก แต่ภาครัฐมักเป็นผู้เล่นรายแรกๆ ที่ขยับตัวเพื่อทุ่มเงินลงทุนคิดค้นวัคซีน เช่น การระบาดของซิกาซึ่งถูกประกาศเป็นวิกฤตภัยด้านสุขภาพโดยองค์การอนามัยโลกเมื่อ พ.ศ. 2559 หลังจากนั้นเพียง 7 เดือนก็มีบริษัทคิดค้นวัคซีนที่พร้อมเข้าสู่กระบวนการทดสอบทางคลินิกซึ่งนับว่ารวดเร็วจนน่าตื่นตะลึง แต่จวบจนปัจจุบัน วัคซีนดังกล่าวก็ยังไม่มีกำหนดคลอดส่วนหนึ่งเพราะเงินลงทุนหดหายไปพร้อมกับระดับการระบาด

การทดสอบทางคลินิกของวัคซีนเป็นกระบวนการที่ยุ่งยากแต่จำเป็นเพื่อให้มั่นใจว่าวัคซีนดังกล่าวสามารถยับยั้งการติดเชื้อได้จริงและไม่มีผลข้างเคียง ซึ่งการทดสอบจะแบ่งออกเป็น 3 ระยะ ระยะแรกคือทดสอบในผู้ใหญ่ที่มีสุขภาพดี ระยะที่สองคือผู้ใหญ่จำนวนหนึ่งซึ่งอยู่ในพื้นที่ที่มีการระบาด และระยะสุดท้ายคือการทดสอบในประชาชนหลักพันคนในพื้นที่ที่มีการระบาด แต่ละขั้นตอนอาจใช้เวลา 6 ถึง 8 เดือน และถึงแม้วัคซีนที่ดูมีอนาคตจะเดินมาถึงขั้นนี้ ก็จำเป็นต้องผ่านการประเมินอย่างถี่ถ้วนโดยผู้กำกับดูแลนั่นคือองค์การอาหารและยาก่อนจะสามารถผลิตและจัดจำหน่ายเชิงพาณิชย์

แนวทางหนึ่งเพื่อให้ค้นพบวัคซีนและนำเข้าสู่สายพานการผลิตได้ทันเวลาคือการร่วมลงทุนโดยภาครัฐเพื่อลดความเสี่ยงของบริษัทยา หรือการทำสัญญาซื้อล่วงหน้าเพื่อเป็นการ ‘สร้างตลาด’ ให้บริษัทยามั่นใจว่าเมื่อผลิตสินค้าออกมาแล้วจะมีผู้ซื้อ ในทางกลับกันก็ตอบโจทย์ฝั่งรัฐบาลในแง่ความมั่นคงด้านสุขภาพของประชาชน

สำหรับโควิด-19 รัฐบาลสหรัฐฯ ได้ออกกฎหมายทุ่มงบประมาณกว่าสามพันล้านดอลลาร์สหรัฐเพื่อการวิจัยและพัฒนาวัคซีน ยารักษา และชุดทดสอบ กลุ่มพันธมิตรความร่วมมือด้านนวัตกรรมเพื่อรับมือโรคระบาด (Coalition for Epidemic Preparedness Innovations: CEPI) องค์กรไม่แสวงหากำไรซึ่งรวบรวมภาครัฐ ภาคเอกชน และภาคประชาสังคมเพื่อรับมือการระบาดได้ทุ่มเงิน 23 ล้านดอลลาร์สหรัฐเพื่อคิดค้นวัคซีน โดยสนับสนุนดาวเด่นอย่างโมเดอนา (Moderna) ยูนิคอร์นในอุตสาหกรรมคิดค้นยาสัญชาติอเมริกันซึ่งคาดว่าจะทดลองวัคซีนระยะที่หนึ่งในต้นเดือนเมษายนนี้

ล่าสุด บริษัทยายักษ์ใหญ่จอห์นสันแอนด์จอห์นสันได้แถลงว่าพบตัวยาที่เป็นไปได้ว่าจะเป็นวัคซีนป้องกันโควิด-19 บริษัทฯ และรัฐบาลสหรัฐฯ จะจับมือทุ่มเงินกว่าพันล้านดอลลาร์สหรัฐเพื่อเตรียมสายพานการผลิตและคาดว่าจะเริ่มเดินเครื่องได้ในต้นปี พ.ศ. 2564 แม้จะยังไม่รู้แน่ชัดว่าตัวยาดังกล่าวจะป้องกันการติดเชื้อโควิด-19 ได้จริงหรือไม่ก็ตาม

ความท้าทายหลังค้นพบวัคซีน

หากบริษัทใดบริษัทหนึ่งค้นพบวัคซีนและเริ่มต้นการผลิตเพื่อจัดจำหน่ายได้จริง อาจนำไปสู่ความท้าทายที่เราต้องเตรียมพร้อมรับมือ นั่นคือวัคซีนดังกล่าวควรจำหน่ายในราคาเท่าใด และใครควรได้รับวัคซีนก่อน?

ในประเด็นแรก บริษัทผู้พัฒนายาอย่างจอห์นสันแอนด์จอห์นสันประกาศอย่างชัดเจนว่าจะจำหน่ายวัคซีนใน ‘ราคาที่เอื้อมถึง’ โดยจะเป็นการจำหน่ายแบบไม่หวังผลกำไรภายใต้ภาวะของการระบาดครั้งใหญ่ แต่แถลงการณ์ดังกล่าวอยู่ภายใต้บริบทของประเทศพัฒนาแล้ว จึงน่าสนใจว่าบริษัทที่กำลังพัฒนาวัคซีนอยู่ในปัจจุบันจะทำอย่างไรหากประเทศปลายทางซึ่งจำเป็นต้องใช้วัคซีนอย่างเร่งด่วนไม่มีเงินจ่าย

ในประเด็นที่สอง แน่นอนว่าผู้ที่เป็นกลุ่มเปราะบางและเสี่ยงที่จะมีอาการรุนแรงหากติดเชื้อ รวมถึงแพทย์และพยาบาลซึ่งทำงานอยู่แนวหน้า บุคคลเหล่านี้ควรเป็นผู้ได้รับวัคซีนก่อน ซึ่งรัฐบาลแต่ละประเทศควรจะมีกระบวนการเพื่อให้มั่นใจได้ว่าวัคซีนที่ได้รับมาจะถูกนำไปใช้ตามกรอบแนวทางข้างต้น

นี่คือข้อเสนอสวยหรูที่ดูจะขัดกับข้อเท็จจริงซึ่งเคยเกิดขึ้นในอดีต เช่น การระบาดของไวรัส H1N1 เมื่อ พ.ศ. 2552 เมื่อประเทศที่มีกำลังซื้อสูงกว้านซื้อวัคซีนและทิ้งให้ประเทศยากจนเผชิญภาวะขาดแคลน แม้แต่อินเดียซึ่งเป็นผู้ผลิตวัคซีนจำหน่ายในกลุ่มประเทศกำลังพัฒนา ยังตัดสินใจใช้วัคซีนที่ผลิตได้เพื่อปกป้องประชาชนภายในประเทศก่อนที่จะเริ่มส่งออกไปยังประเทศที่มีการระบาดรุนแรง

ท่ามกลางการถกเถียงว่าเราควรจะใช้วัคซีนอย่างไรหรือใครควรได้วัคซีนก่อน ผู้เชี่ยวชาญกลับคาดการณ์ว่ากว่าวัคซีนจะพร้อมผลิตและจัดจำหน่ายได้จริง การระบาดก็น่าจะขึ้นถึงจุดยอดและเบาบางลงแล้ว อย่างไรก็ดี วัคซีนที่ค้นพบได้นั้นก็น่าจะช่วยรักษาได้หลายล้านชีวิต หากไวรัสดังกล่าวกลายเป็นโรคภัยไข้เจ็บปกติและระบาดเป็นครั้งคราวเช่นเดียวกับไข้หวัดตามฤดูกาล

เอกสารประกอบการเขียน

Making Markets for Vaccines: Ideas to action

The economics of finding a vaccine for COVID-19

Everything You Need to Know About Coronavirus Vaccines

Coronavirus vaccine: how soon will we have one?

COVID-19 Vaccine Shipped, and Drug Trials Start

Coronavirus vaccine: when will it be ready?

TO DEVELOP A COVID-19 VACCINE, PHARMA AND THE FEDERAL GOVERNMENT WILL HAVE TO BREAK OLD PATTERNS

The Economics of Vaccines

Why The Market For Emergency Vaccines Is Like No Other

Where’s The Vaccine?

Tags: , ,